เกาะพะลวย ? ที่ไหนนะ เป็นคนสุราษฎร์แท้ๆ ยังไม่รู้จัก... นี่คือคำตอบของใครหลายคนเมื่อผมบอกว่ากำลังแบกเป้เดินทางไป “เกาะพะลวย” ซึ่งเหตุผลหลักของการไม่เป็นที่รู้จัก คงไม่มีอะไรมากกว่า เกาะแห่งนี้ไม่ใช่เกาะท่องเที่ยว ไม่มีชื่อเสียงด้านท่องเที่ยว และคงจะไม่ได้เติบโตไปในทิศทางนั้นนั่นเอง

ผมรู้จักเกาะพะลวยเมื่อสักสี่ห้าปีก่อน ตอนไปหมู่เกาะอ่างทอง แล้วคุยกับเจ้าหน้าที่ว่ามีเกาะแห่งนี้อยู่ในอุทยานฯ ด้วย แต่ไม่สบโอกาสไปเยือนสักที จนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง บังเอิญมาร่วมกิจกรรมสำรวจที่เที่ยวชุมชนในสุราษฎร์ (อ่านรีวิว > http://wp.me/p7ca93-1tO) เลยถือโอกาสอยู่ต่อเพื่อเที่ยวเกาะพะลวยด้วยเลย

รู้จักกันคร่าวๆ เกาะพะลวยมีพื้นที่เป็นอันดับ 4 จากบรรดา 108 เกาะของสุราษฎร์ เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอ่างทอง แต่เป็นเขตอุทยานฯ แค่ครึ่งเกาะ อีกครึ่งเกาะเป็นชุมชน ตามการปกครองขึ้นกับอำเภอเกาะสมุย ชาวบ้านส่วนมากทำประมง ทำสวนยาง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาะบริสุทธิ์หรือเกาะพลังงานสะอาดเพราะเป็นต้นแบบการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเช่น กังหันลม หรือโซลาร์เซลส์

สำหรับการเดินทาง ต้องขึ้นเรือที่ตลาดอำเภอดอนสัก (ท่าเรือในตลาด ไม่ใช่ท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามไปสมุยนะ) มีเรือทุกวัน วันละรอบเดียว 13.00 น. แต่มีสองเจ้าสลับวิ่งกันคู่กับวันคี่ ราคา 150 บาท นั่งเรือกินลมชมวิวประมาณสองชั่วโมง ไม่ไกลหรอกครับแต่เรือวิ่งช้า (ฮา...)

ส่วนบนเกาะจะเป็นยังไงไปเที่ยวกันได้เลย


(1)

ทริปพะลวยครั้งนี้ผมตั้งต้นจากตัวเมืองสุราษฎร์ วิธีเดินทางไปตลาดอำเภอดอนสักง่ายมากคือมีคิวรถตู้ สุราษฎร์-ดอนสัก อยู่ที่ตลาดเกษตร 2 ค่ารถ 70 บาท เน้นว่าให้ขึ้นคิวภายในตลาดเกษตร 2 อย่าขึ้นรถของเอเยนซี่ทัวร์ที่พาไปท่าเรือเฟอร์รี่เกาะสมุยนะครับ เพราะราคาตรงนั้นตั้ง 150 บาท ดักนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

ถนนโล่งรถไม่มีติด ผมมาถึงตลาดอำเภอดอนสักบ่ายแก่ๆ จากข้อมูลทีแรกที่ได้มาคือเรือไปพะลวยมีเฉพาะวันคู่ก็เลยไม่รีบเพราะวันนี้เป็นวันคี่ แต่พอสอบถามคนแถวตลาดถึงรู้ว่ามีเรือทั้งวันคู่และคี่เพียงแต่ขึ้นคนละท่าเท่านั้น อ้าว... ถือว่าพลาดไปหนึ่งวันเลยสิเนี่ย เพราะเรือออกไปเรียบร้อย

ช่างเถอะ ผมสายเรื่อยเปื่อยอยู่แล้ว หาที่พักดีกว่า แถวตลาดพอมีอยู่สองสามที่ ซึ่งผมสะดุดใจที่นี่ที่สุด บ้านศรีสุธรรม เหมือนอพาร์ตเมนต์มีทั้งรายวันและรายเดือน อยู่แถวคิวรถตู้ คืนละ 500 บาท ห้องใหม่ สะอาด หาของกินง่าย เซเว่น โลตัส เดินไปแป๊บเดียว เขามีจักรยานให้ยืมปั่นเที่ยวแถวนี้ด้วย


ตัดฉับมาอีกวัน เรือออกบ่ายโมง สักตอนเที่ยงค่อยแพ็คกระเป๋าเช็คเอาต์ลงมาจะได้ไม่ต้องรอนาน ตรงสี่แยกใหญ่ที่ตลาด เดินเข้าไปสุดซอย นี่คือท่าเรือออกวันคี่

ส่วนท่าเรือวันคู่อยู่ห่างไปสัก 500 เมตร อยู่ในซอยนี้แหละ ถึงแล้วก็ซื้อตั๋ว 150 บาท คนใช้บริการเกือบทั้งหมดเป็นคนเกาะพะลวยนั่นไง

ความแตกต่างของเรือวันคู่กับคี่นอกจากขึ้นที่ตลาดคนละท่า ยังขึ้นเกาะคนละท่าด้วย เรือวันคี่ขึ้นที่อ่าวสาม เรือวันคู่ขึ้นที่อ่าวสอง (เกาะพะลวยมีสี่อ่าว เรียกง่ายๆ ว่า อ่าวหนึ่ง อ่าวสอง อ่างสาม อ่าวสี่) ซึ่งหากขึ้นเกาะที่อ่าวสองจะสะดวกกว่าเยอะ

บ่ายโมงนิดๆ ที่เรือออกจากฝั่งอากาศดีเชียว แต่แล่นไปแล่นมายิ่งเข้าใกล้เกาะพะลวย เอ๊ะ... ทำไมมันสภาพเป็นแบบนี้ ดำทะมึนมาเชียว แต่เชื่อไหมครับว่าฝนไม่ตกนะเอ้อ ลมแรงพัดเมฆฝนลอยผ่านไปเลยซะอย่างนั้น

เรือฝ่าคลื่นลมมาถึงเกาะพะลวยก่อนบ่ายสามโมงนิดหน่อย ภาพแว่บแรกที่ท่าเรือบ่งบอกเลยว่าที่นี่ไม่ใช่เกาะท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง ไม่มีรถโดยสาร ไม่มีรถรับจ้าง ไม่มีมอเตอร์ไซค์วิน ผู้คนลงจากเรือก็มีรถมารับแล้วทยอยจากไปทีละสองสามคน แป๊บเดียวท่าเรือกลับมาเงียบสงัด

ผมสอบถามเรื่องที่พักจากคนแถวท่าเรือ ได้ความว่าบนเกาะมีที่พักไม่กี่แห่ง จากสามแยกท่าเรืออ่าวสอง เลี้ยวขวาจะพบที่พักแบบรีสอร์ หากตรงไปจะมีโฮมสเตย์คืนละ 500 บาท คงไม่ต้องบอกหรอกนะว่าผมเลือกเดินทางไหน (ฮา...)

สามแยกที่ท่าเรือครับ มีป้ายบอกเกี่ยวกับโครงการติดต่อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเยอะแยะเลย

ตรงสามแยกแหงนหน้ามองหน่อยเดียวก็เจอโฮมสเตย์ที่ว่า ชื่อพะลวย โฮมสเตย์ ด้านหน้าเป็นร้านขายของชำกับอาหารตามสั่ง จริงๆ เรียกโฮมสเตย์คงไม่ถูก ใช้คำว่าบังกะโลหรือเกสต์เฮ้าส์เหมาะกว่า

ตกลงกันง่ายๆ สตางค์ยังไม่ต้องจ่าย บัตรประชาชนไม่ต้องให้ เพราะเราติดเกาะไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว (ฮา...) บังกะโลมีระเบียงให้นั่งอาบลมชมซีวิวไกลๆ บรรยากาศสงบเงียบ ห้องน้ำเล็กๆ น้ำบาดาลสีขุ่น ไฟฟ้ามีแค่หกโมงเย็นถึงเช้าตรู่ แต่นั่นไม่เป็นปัญหาอะไรเลย สำหรับผมคือโอเคมากแล้วล่ะ

และนี่คือโฉมหน้าของกังหันผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ทุกบ้านยังมีแผงโซลาร์เซลส์ เท่าที่พูดคุยคือภาครัฐแจกกังหันและโซลาร์เซลส์ให้ชาวบ้านครัวเรือนละหนึ่งชุด ใครอยากมีเพิ่มก็ได้แต่ต้องเสียเงินซื้อ

วันนี้ผมไม่เร่งรีบเพราะสภาพอากาศเชิญชวนให้ขี้เกียจกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ที่ห้องพักมากกว่า นานแล้วที่ไม่ได้มาใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่ต้องมัวแต่หยิบกล้องมาถ่ายภาพ สบายใจจริงเชียว...


(2)

นอนให้สบายตื่นสายนิดหน่อย หลับเต็มอิ่มสดชื่นอากาศกำลังดี พักบังกะโลคืนละห้าร้อยไม่คิดว่าจะมีอาหารเช้า ปรากฎว่ามีเซ็ตนี้มาตั้งรอที่ระเบียงห้อง ช่างดีงามยิ่งนัก

กินข้าวเหนียวหมู จิบกาแฟอยู่ระเบียงนั่นแหละ นกแก๊ก (นกเงือกพันธุ์เล็ก) ฝูงหนึ่งสัก 7-8 ตัว บินโผผ่านหน้าทำเอากาแฟแทบพุ่ง คว้ากล้องมาถ่ายภาพไว้ได้นิดหน่อยถึงจะไม่ชัดนักก็เถอะ การมีนกแก๊กอาศัยอยู่และเห็นตัวง่าย แสดงว่าเกาะพะลวยยังเต็มไปด้วยธรรมชาติจริงๆ

วันนี้ผมตั้งใจสำรวจเกาะ วิธีคือมอเตอร์ไซค์เช่าครับ ที่พักมีให้เช่าวันละ 200 บาท สภาพรถสมบุกสมบันพร้อมลุย ถนนบนเกาะมีเส้นหลักเส้นเดียว ไม่ต้องกลัวหลง ไม่ต้องใช้แผนที่ จากอ่าวหนึ่งวนเป็นครึ่งวงกลมผ่านอ่าวสอง จนสิ้นสุดที่อ่าวสาม ส่วนอ่าวสี่อยู่ในเขต อช.หมู่เกาะอ่างทอง ต้องเดินเท้าเข้าไป

ผมเลือกไปทางอ่าวหนึ่งก่อนเหตุผลเพราะมันชื่ออ่าวหนึ่ง (ฮา...) ถนนระหว่างทางไปก็อย่างที่เห็นครับ ฝุ่นแดงคละคลุ้ง โชคดีว่ามีผ้าปิดตาปิดปากไปด้วยพอดี

สิ่งที่เห็นทุกบ้านเรือนคือกังหันสีเขียวสดใสแบบนี้ แต่คำว่าบ้านเรือนบนเกาะพะลวยหาได้เยอะแยะหรอกนะ ตั้งกันห่างๆ หลวมๆ ทั้งเกาะมีอยู่ประมาณร้อยครัวเรือน ประชากรตามทะเบียนราษฎร์คือสี่ร้อย แต่อยู่จริงๆ คงไม่ถึงตัวเลขนั้น

แว้นมอเตอร์ไซค์มาเรื่อยๆ เจอทางตันสุดถนน วนรถกลับสิครับ

เลี้ยวเข้าซอยออกสู่ท้องทะเล นี่แหละสภาพของอ่าวหนึ่งยามน้ำลง ไม่มีชายหาด ไม่มีหาดทราย เป็นพื้นเลนเกือบทั้งหมด มีการนำก้อนหินมากั้นร่องน้ำสำหรับเดินเรือบางจุด (ชาวบ้านไม่ได้ทำเองนะเพราะถ้าทำก็ผิดกฎหมาย กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องนี้) มีเพิงพักชาวเลกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ภาพที่เห็นต้องใช้คำว่าที่นี่ดิบสุดๆ ไปเลย



ถ่ายรูปสักพัก ขี่รถเลยมาอีกหน่อย เจอชาวบ้านกำลังเก็บอวนเลยเข้าไปเลียบๆ เคียงๆ นั่งคุย อย่างที่บอกครับว่าอาชีพหลักของคนพะลวยคือทำประมง กุ้งหอยปูปลาที่จับได้เอาขึ้นเรือไปขายที่ตลาดดอนสัก เป็นชีวิตซึ่งเรียบง่ายเหลือเกิน

หนึ่งสิ่งที่เห็นแล้วเสียดายนิดหน่อย คือปลาเล็กปลาน้อยติดอวนเยอะมาก รวมถึง ปู กับกั้งตัวเล็กๆ พวกนี้เขาไม่เอาครับ ปลาบางอย่างไม่มีราคา บางอย่างตัวเล็กไป สิ่งที่ทำคือโยนทิ้งให้ตายฟรีๆ ถามว่ากินไม่ได้หรือ คำตอบคือกินได้ครับ แต่มันมีเยอะจนกินไม่หมด แถมกินมาตั้งแต่เกิดจนเบื่อไปข้างแล้วล่ะ

ไม่ได้ตำหนิอะไรนะครับ แต่คิดแบบเข้าใจมากกว่า เราคนเมืองอะไรก็เป็นเงินเป็นทองต้องเสียเงินซื้อ ส่วนชาวบ้านเดินลงทะเลหว่านแหสองทีก็ได้ปลาเยอะแยะ ด้วยความแตกต่างของสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงสร้างให้คนแต่ละพื้นที่ดำเนินชีวิตหรือมีลักษณะความคิดไม่เหมือนกัน รวมทั้งเรียกร้องไขว่คว้าในสิ่งที่ไม่เหมือนกันด้วย

เอาล่ะ อย่ามีสาระเดี๋ยวเครียดมาก เที่ยวต่อดีกว่า

จากอ่าวหนึ่งไปอ่าวสอง ผ่าน อ่างทอง บีช รีสอร์ท แวะเข้าไปสักหน่อย โอ้โห... ที่นี่เยี่ยมจริงๆ ห้องพักอย่างดีคืนละ 1,200 บาท ชายหาดส่วนตัว ร่มรื่น แบ็คแพ็คมานอนคนเดียวคงไม่คุ้ม แต่ถ้าพาหวานใจมาพักผ่อน บรรยากาศแบบนี้ผมยอมจ่ายครับ (ฮา...)

ไปอีกนิดนึงถึงอ่าวสอง จอดรถริมทางแวะถ่ายรูปสักหน่อย เขาหินปูนสูงๆ ที่เราเห็นคือ เขาพ่อตาเสี้ยม เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเกาะพะลวย จริงๆ มีทั้งหมดสามยอดคือ ตาเสี้ยม ตาสัก ตาแสง

กระเถิบไปหน่อยตรงชายหาดนั่นคือ เกาะพะลวย อีโค่ รีสอร์ท คืนละ 900 บาท ถ้านอนเกินหลังละสองคนเพิ่มคนละ 200 บาท จากการสอบถามที่นี่อนุญาตให้กางเต็นท์ด้วยนะครับ ถือเป็นรีสอร์ทแห่งแรกบนเกาะพะลวย เจ้าของคืออดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะพะลวยนี่แหละ ครูพีระพล

ไปที่อีโค่ รีสอร์ท ผมเลยรู้ว่ามีจุดชมวิวซึ่งครูพีระพลไปบุกเบิกทำไว้บนเขา ชมวิวได้รอบทิศ ทางขึ้นอยู่ระหว่างอ่าวสองไปอ่าวสาม มีป้ายบอกตัวเบ้อเร้อ แต่ถนนหนทางโหดเอาเรื่อง ปกติจะใช้โฟร์วีลขึ้นไป ความยากในการใช้มอเตอร์ไซค์ขึ้นไปผมให้ 9/10 เลยล่ะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง ทางเลยเละเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ถือว่าคุ้มมากครับ ด้านบนจัดทำจุดชมวิวอย่างดี เสียดายว่าท้องฟ้าหม่นไปนิด ไม่อย่างนั้นภาพคงอลังการน่าดู ฝั่งนี้มองไปไกลเห็นชายหาดของเกาะเชือก บนหาดมีชุมชนชาวเลเล็กๆ อาศัยอยู่

อีกฝั่งเป็นมุมซึ่งมองออกไปจากอ่าวสาม และยอดหินปูนสามยอดที่เรียงกันคือเขาพ่อตาทั้งสามนั่นเอง

อ้อ... ที่นี่เห็นติดป้ายค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ต่างชาติ 50 บาท แต่ผมไปไม่มีใครอยู่เพราะฉะนั้นก็ฟรีสินะ

ลงจากจุดชมวิวแบบลำบากสุดๆ ก็ไปต่อที่อ่าวสาม ลักษณะคล้ายที่อ่าวหนึ่ง แต่มีพื้นที่ป่าโกงกางมากกว่า ตรงนี้เป็นอ่าวที่เรือวันคี่มาพาขึ้นเกาะ แถวนี้ไม่มีที่พัก เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกไปตอนต้นคือเราเดินทางด้วยเรือวันคู่จะสะดวกกว่า

โค้งอ่าวอีกมุมเพิ่งลงต้นโกงกางปลูกป่าชายเลน หวังว่าจะอยู่รอดกลายเป็นป่าต่อไป

ถนนมาสิ้นสุดเท่านี้ครับ มีบ้านสวนอยู่หลังหนึ่ง นั่งคุยกับคุณป้าเจ้าของซึ่งเป็นคนเกาะพะลวยแท้ๆ ได้ความว่าแต่ก่อนพะลวยคึกคักกว่านี้มาก แต่เพราะความลำบากลำบนทำให้คนรุ่นถัดไปย้ายออกกันหมด ปล่อยที่สวนให้รกร้างก็เยอะ เหลือแค่ชาวเลเป็นหลัก อย่างป้าแกก็ซื้อที่ดินทำสวนอยู่ชุมพร หลายเดือนทีถึงจะกลับมาพะลวยสักครั้ง

ได้คุยกับผู้คนท้องถิ่นแบบนี้ทำให้เราเข้าถึงพื้นที่และความเป็นมาเป็นไปมากขึ้นเยอะเลย

จากตรงนี้จะไปอ่าวสี่ต้องเดินเท้าเท่านั้นเพราะเป็นเขตอุทยานฯ ไม่ถึงกับโหด ขึ้นๆ ลงๆ เล็กน้อย ร่องทางชัดเจน ระยะทางผมคาดคะเนเอาเองราวหนึ่งกิโลเมตร เดินเรื่อยๆ 15-20 นาที

และสิ่งที่พบเมื่อพ้นจากแนวป่าคือ... ชายหาดสวยมาก สวยสุดๆ สวยล้ำ สวยบรรเจิดจริงๆ

มีเวลาพอให้เดินเล่นสักพัก โค้งหาดตรงนี้ผมให้เต็มสิบเรื่องความสวยตามธรรมชาติ อาจมีเรื่องให้ขัดใจตรงเศษขยะและความสะอาด เป็นเรื่องธรรมดาของเกาะแบบนี้แหละครับ ขยะพัดพามากับน้ำกับลม แล้วใครจะเก็บล่ะในเมื่อคนบนเกาะมีอยู่เท่านี้ ตรงนี้ก็ไม่มีคนอยู่ แถมไม่ใช่เกาะท่องเที่ยวอีกต่างหาก

มองจากอ่าวสี่ออกไปเห็นเกาะวัวตาหลับ ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ และผาจันทร์จรัสอันโด่งดัง

เดินข้ามมาอีกฝั่งของสันทราย น้ำตื้นสุดๆ มองเห็นหมู่บ้านชาวเลเล็กๆ ของอ่าวสี่ด้วย




ใกล้เย็นผมรีบเดินกลับทั้งที่มุมอ่าวสี่พระอาทิตย์ตกสวยมาก เพราะไม่ลืมว่ามาเพียงลำพัง กลับค่ำมืดมีปัญหาจะเป็นเรื่องใหญ่ ว่าแล้วไปถ่ายแสงอัสดงที่อ่าวสามแทนแล้วกัน เจอคนมาเที่ยวอีกสองคนซึ่งขึ้นเรือพร้อมกันเมื่อวาน ไปพักอยู่ที่ อ่างทอง บีช รีสอร์ท เท่ากับว่ามีพวกเราแค่สามคนเป็นนักท่องเที่ยวบนเกาะพะลวยเท่านั้นเอง



(3)

ถึงจะอยากอยู่ต่อแต่วันเวลาหมดเสียแล้ว เรือเข้าพะลวยวันละเที่ยวก็ต้องออกวันละเที่ยวเช่นกัน ทั้งเรือวันคู่และคี่ต่างออกจากเกาะ 7.00 น. เมื่อคิดในแง่การวางแผนเดินทาง ไม่ว่าจะมากี่วัน พักที่ไหน วันสุดท้ายควรจัดคิวให้ลงล็อกพักที่พะลวย โฮมสเตย์ วันคู่ จะเวิร์คสุดๆ

เรือออกเจ็ดโมง เดินแค่สองนาทีจะรีบทำไมใช่ไหมล่ะ ? แต่ตอนตีห้าสี่สิบ ฟ้ายังไม่สว่างก็มีเสียงเคาะประตูห้องโป๊กๆ “หนุ่มๆ วันนี้เรือออกหกโมงเช้านะ น้ำมันแห้งออกช้าไม่ได้” ป้าผู้ดูแลที่พักมาปลุกผม

ตาเหลือกสิครับงานนี้ ฟันไม่ต้องแปรง น้ำไม่ต้องอาบ ยัดของลงเป้แล้วจ้ำอ้าวออกจากห้องอย่างด่วน แต่ป้ายังยิ้มบอกใจเย็นๆ นั่งกินกาแฟสักแก้วไม่ต้องรีบ เด็กเรือเพิ่งทยอยไปบอกตามบ้านต่างๆ ว่าเรือต้องออกเร็ว กว่าจะถึงท่าเรือกันครบคงอีกสักพัก

อ้าว... แล้วจะให้รีบทำไมล่ะนี่

บนเรือของทะเลสดๆ ที่จะเอาไปขายตลาดดอนสักเพียบครับ ปู กั้ง กุ้ง ปลา ปลาหมึก ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าที่เห็นถือว่าน้อยนะ เพราะช่วงนี้อากาศแปรปรวนเลยไม่ค่อยได้ออกเรือกัน ปกติเยอะกว่านี้หลายเท่า




สุดท้ายเรือออกจากท่าตอนหกโมงครึ่ง เป็นอะไรที่ขำดีครับ สะท้อนให้เห็นถึงความง่ายๆ แบบชาวบ้าน และเป็นความง่ายๆ แบบเกาะพะลวย เกาะซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็อยากให้ใครที่ชอบอะไรดิบๆ ลองมาเที่ยวกันดู

บอกนิดหน่อยครับว่าภาพพะลวยที่เห็นคือเดือนพฤษภาคม แถมเป็นช่วงอากาศไม่ดี คลื่นลมก็พัดเข้าฝั่งทำให้ขยะเยอะ ความจริงทะเลสุราษฎร์สวยที่สุดราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน นั่นทำให้ผมต้องหาโอกาสกลับมาพะลวยอีกครั้งในช่วงที่ว่า แล้วเชื่อได้เลยว่าภาพพะลวยคราวหน้ากับคราวนี้จะแตกต่างกันอย่างแน่นอน


รู้สักนิดหากคิดจะเที่ยวเกาะพะลวย

  • มีเรือทุกวัน แต่ขึ้นจากตลาดดอนสักคนละท่า (ท่าเรือในตลาดอนสักไม่ใช่ท่าเรือเฟอร์รี่นะ) สลับกันวิ่งระหว่างท่าวันคู่กับท่าวันคี่ ท่าวันคู่ขึ้นเกาะที่อ่าวสอง ท่าวันคี่ขึ้นเกาะที่อ่าวสาม ออกจากดอนสักเวลาเดียวกัน 13.00 น. และออกจากเกาะพะลวยเวลาเดียวกัน 7.00 น.
  • เนื่องจากเป็นเรือท้องถิ่น อาจมีการหยุดวิ่งหรือไม่ให้บริการโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า (คือคนบนเกาะจะรู้กันแต่นักท่องเที่ยวไม่รู้หรอก) ดังนั้นควรโทรศัพท์สอบถามก่อนเดินทางทุกครั้ง เรือวันคู่ ติดต่อ 091-705-5598, 089-971-4832 เรือวันคี่ ติดต่อ 084-839-4160
  • บนเกาะพะลวยมีที่พักเพียง 3 แห่ง อ่างทอง บีช รีสอร์ท ที่อ่าวหนึ่ง คืนละ 1,200 บาท ติดต่อ 085-150-2521 เกาะพะลวย อีโค่ บีช รีสอร์ท ที่อ่าวสอง คืนละ 900 บาท ติดต่อ 093-637-2282, 095-083-9277 และ พะลวย โฮมสเตย์ ใกล้ท่าเรืออ่าวสอง คืนละ 500 บาท ติดต่อ 097-135-1722, 089-292-1103
  • การเข้าพักบนเกาะพะลวยควรติดต่อจองห้องพักล่วงหน้าทุกครั้ง เนื่องจากมีแค่สามแห่ง แต่มักมีกรุ๊ปศึกษาดูงาน หรือช่างจากหน่วยงานรัฐฯ มาดูแลระบบไฟฟ้าพลังงานทดแทน พักครั้งละจำนวนมากและอยู่ยาวหลายวัน
  • บนเกาะสามารถเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่เที่ยวจากที่พัก ราคา 200 บาท ต่อวัน
  • หากต้องการเรือเที่ยวหมู่เกาะอ่างทอง เกาะวัวตาหลับ สามารถให้ที่พักติดต่อ ราคาประมาณ 3,500 บาท ต่อลำ นั่งได้ไม่เกิน 8 คน พาเที่ยวแบบเดย์ทริปทั้งวัน ขณะที่กิจกรรมอื่นๆ เช่น ตกปลา ตกหมึก ติดต่อสอบถามบนเกาะได้เลย แนะนำลองนั่งเรือหางยาวเที่ยวเกาะใกล้เคียงอย่าง เกาะเชือก เกาะส้ม ก็น่าจะเข้าท่าอยู่
  • ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเที่ยวเกาพะลวยและทะเลสุราษฎร์คือกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ส่วนฤดูมรสุมคือราวตุลาคมถึงธันวาคม


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง

http://www.facebook.com/alifeatraveller




นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller

 วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เวลา 12.39 น.

ความคิดเห็น