ทริปนี้ผมจากบ้านในเมืองที่โอบล้อมด้วยตึกแถว

สู่

"บ้านในวง" โอบกอดด้วยขุนเขา







ป่าเขาเขียว เที่ยวล่องแพ

แลภูผางาม ตามรอยสงครามโลก

สองบรรทัดบนคือค็อนเซ็บ / คำขวัญประจำบ้านในวง อ.ละอุ่น จ.ระนองทริปหนีกรุงหนนี้ ผมมีธงบินไปลงระนอง หาที่เที่ยวใหม่ๆ ต่อเนื่องไปชุมพร

วกกลับระนองให้ทันขึ้นเครื่องบินกลับ รวม 4วัน 3คืน ไม่มีแผน ไร้แพลน ผมหาที่เที่ยวด้วยวิธีทันสมัยตั้งสเตตัสถามบนเฟสบุ๊คซะเลย

เพื่อน fb ที่สนิทอินบ๊อกซ์มากระซิบบอกไประนองต้องห้ามพลาด นี่เลย อำเภอละอุ่น พร้อมประสานงานให้เสร็จสรรพ

วันนั้นคนที่นั่นจะขึ้นมาธุระในเมืองพอดี ลงเครื่องบินแล้วหาทางพาตัวเองเข้าเมืองเท่านั้น นัดเจอกันแล้วเค้าจะพาเราเข้าละอุ่นเอง แจ่มเป็ดสิงานนี้

ตีห้า ห้าสิบ อีกสิบนาทีหกโมง ฟ้าสว่างโร่ สมเป็นฟ้าเดือนกค. ที่โลกซีกเหนือเส้นศูนย์สูตรโค้งหัวให้ดวงตะวัน

ในมือผมมีตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพ-ระนอง 2 ใบ จัดของใส่เป้เรียบร้อยแล้ว

แบบเอาไปให้น้อยที่สุด สายๆ วันนี้จะไปสนามบิน แบกเป้ไปรอแท็กซี่ที่ปากซอย ต่อบีทีเอสไปลงจตุจักรแล้วต่อ airport bus A1 ไปดอนเมือง แถ่นแท้น

ชีวิตเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้ง จะทิ้งบ้านในเมืองที่โอบล้อมด้วยตึกแถวอันน่าเบื่อ สักสามสี่วัน






นกแอร์มีเที่ยวบินไปกลับ กรุงเทพ-ระนอง วันละ 2 รอบ เช้า เย็น เครื่องออกที่ดอนเมือง

ขาไปมีรอบ 9:20 และ 16:55

ขากลับจากระนองมีรอบ 10:05 และ 18:45

ใช้เวลาทำการบิน 1ชั่วโมง 25 นาทีโดยประมาณ

ทายมาผมไปรอบไหน... เฉลย ไปรอบเช้า กลับรอบเย็น .... เพื่อเที่ยวได้เต็มพิกัด

เดินทางพร้อมด้วยเพื่อนอีกคน ที่ได้จากประกาศหาเพื่อนร่วมเดินทางในเฟสบุ๊ค

แม้การเดินทางคนเดียวเป็นเรื่องท้าทาย น่าตื่นเต้น ผจญภัย และออกนอก comfort zone อย่างแท้จริง แต่การเดินทางสองคนก็มีข้อดีหลายประการที่มองข้ามไม่ได้นะค้าบ











ได้นั่งเครื่องบินใบพัดอีกแล้ว เครื่องบินใบพัดใหม่เอี่ยมอ่องรุ่น Q400 NextGen นกแอร์นำเข้าจากแคนาดาเมื่อปีที่แล้ว พร้อมบริการ 6 ลำภายในประเทศ

เห็นใบพัดแล้วหลายคนคงคิดว่าได้ขึ้นไปนั่งฟังเสียงครางกระหึ่ม แต่เดี๋ยวก่อนซาร์ร่าห์ "Q" ย่อมาจาก "Quiet"

เพราะเครื่องยนต์ทำงานเงียบกว่ามาตรฐานสากล ICAO Chapter 4 อยู่ถึง 15 เดซิเบลเงียบดีนะ จอร์จรับประกัน อิอิ









สิบเอ็ดโมงเป๊งเล้งนาฬิกา //ใครไม่รู้จักเล้งนากาแปลว่าเกิดไม่ทันจขบ.นะค้าบ แฮ่ะๆ สิบเอ็ดโมงตรงเราก็มายืนเฉิดฉายอยู่หน้าสนามบินระนอง คนให้บริการรถตู้เมล์ เดินมาถาม

เข้าเมืองมั้ยครับ จีพีเอสในมือผมบอกระยะทางเข้าเมืองแค่ประมาณ 20 กิโลแต่สนนราคาค่าบริการหัวละ 200บาท อ่ะโห พกตังค์มาน้อยแบบผม ขอใช้แผนสองครับ .... >

โบกรถ

มองๆ หารถกระบะหลังว่างๆ ที่มารับญาติลงเครื่อง เจอปั๊บ พี่ เข้าเมืองรึเปล่า ผมสองคนขอติดรถไปด้วยน้า ยิ้มกว้างที่สุด

คันแรกก็ได้เลย คนใต้ใจดี ส่วนรถตู้ก็ค้อนขวับ เหอะๆ








ฟ้าระนองแจ่มเกินคาด ระนองถือเป็นจังหวัดที่ฝนตกชุกที่สุดของประเทศเลยนะ แล้วนี่ยังไงโบกรถมาฟ้าไร้วี่แววฝนนะ แดดไม่มี ไม่ร้อนไม่อบอ้าว แต่แล้วอยู่ไม่อยู่ฝนก็ลงเม็ด เอาล่ะสิ ยังไงเนี่ย

ทำท่าจะเปียกปอนแน่ เพราะเม็ดเริ่มใหญ่ ดีว่าผ่านศาลาริมทาง เจ้าของรถรู้ใจจอดให้ลงก่อน จากตรงนี้ยังอีกเพียง 5-6 โลเท่านั้นก็ถึงในเมือง หลบฝนในศาลากัน





ติดฝนอยู่นานนับชั่วโมง หิวก็หิว และจู่ๆเหมือนนางฟ้าจำแลง แปลงกายมาเป็นแม่ค้า เดินฝ่าฝนเข้ามาในศาลา ขายของกินครับ ข้าวกล่องก็มี ข้าวเหนียวหมูแดดเดียวก็มา รอดไปหนึ่งมื้อ

ระหว่างรอฝนซา ก็โทรแจ้งคนละอุ่นที่จะมารับ บอกพิกัดตำแหน่งสักพัก ก็ได้พบกัน คุณสมชาย (หนุ่ย) ทิศกระโทก (เสื้อเขียว) กับคู่หู คุณอะไรนะ ตอนนี้นึกชื่อไม่ออกติดอยู่ที่ปาก แฮ่ะๆ

สองคนแห่งบ้านในวง อ.ละอุ่น ควบรถกระบะมาหลับหลังจากเสร็จธุระ นับเป็นโชคดีต่อที่สอง ที่จะพาให้เราถึงปลายทางของวันนี้ไม่ต้องลำบากลำบนหารถ








การเดินทางสู่ละอุ่นเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนาว แต่เดี๋ยวก่อน ที่กินไปตะกี๊ยังแค่รองท้อง ยังหิวกันอยู่ เจ้าถิ่นใจดีเลยพาแวะในเมือง

มาจัดกันเต็มๆ อิ่มๆ อีกรอบที่ร้านป้าสาว น้องคนลวกบะหมี่เป็นสาวชาวพม่า หน้าตาน่ารักแถมลวกบะหมี่อร่อยอีกต่างหาก อย่างนี้ต้องเบิ้ล อิอิ

คนข้างบนน้องพม่า ส่วนคนข้างล่างคือป้าสาวครับ โปรดอย่าสับสน



เริ่มเดินทางกันได้ยัง..... ยัง ยัง

ล้อหมุนออกจากร้านป้าสาว เค้าก็พามาเดินเล่นยืดเส้นยืดสายชมสถานที่น่าแวะยอดนิยมในเขตเทศบาลเมืองระนองก่อน ใครมาถึงถิ่นเมืองระนองไม่แวะไม่ได้


สวนสาธารณะรักษะวาริน
Public Park
เทศบาลเมือง จ.ระนอง

N9° 57.522' E98° 39.068'





รักษะวาริน เป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ มี 3 บ่อ บ่อพ่อ บ่อแม่ บ่อลูก อุณหภูมิในบ่อสูงราว 65 องศาเซลเซียส ใครจะเอามือไปจุ่มทดสอบความร้อนก็ระวังๆ หน่อยนะ

นอกจากบ่อทั้งสามแล้ว รอบๆ บริเวณเค้ามีทำบ่อแช่เท้า บ่อลงอาบ ที่เป็นบริเวณที่อุณหภูมิน้ำจะไม่ค่อยสูงมาก คือแต่ละจุดความร้อนไม่เท่ากันล่ะ ไล่ๆ ลดหลั่นอุณหภูมิลงไป

น้ำพุร้อนที่นี่เป็นแหล่งเดียวในไทยที่ไม่มีสารกำมะถันเจือปน มีแต่แร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก






ผมลองไปหย่อนเท้าที่บ่อแช่เท้า หูยยยย ร้อนโฮก ต้องทำสมาธิอยู่นาน แต่ก็หย่อนไม่สำเร็จ กลัวขนหน้าแข้งจะสุกหมด แต่คุณหนุ่ยเจ้าถิ่นหย่อนเท้าได้หน้าตาเฉยมาก 555








ภายในสวนสาธารณะรักษาะวารินร่มรื่น มีคลองหาดส้มแป้นไหลผ่าน ที่ผมชอบที่สุดในนี้ก็คือ ศาลาที่เป็นลานโล่งๆ เป็นศาลาบำบัด คลายเมื่อย

คือใต้แผ่นพื้นจะเป็นน้ำร้อนไหลผ่าน เค้าคงทำเป็นท่อหรือไงไม่ทราบนะครับ คนนิยมเข้ามานั่งนอนกัน ผมลองนอน ติดใจ

แต่ว่านอนนานเกินไปก็ไม่ไหว หลังแดงแน่ 555 เพื่อนคู่หูผมก็ลองทดสอบนอนด้วยครับ ถ่ายภาพมาให้ดูการนอน เห็นใบหน้าแล้วเดาดูว่าชิลแค่ไหน










จากเมืองระนอง สู่ บ้านในวง อ.ละอุ่น หมู่บ้านในวงล้อมของขุนเขา

คุณหนุ่ย นำเราเดินทางสู่บ้านในวงโดยใช้เส้นทางระนอง-ชุมพร หรือถนนเพชรเกษม (เส้นสีน้ำเงิน) แกบอกว่ามีอีกเส้นทาง (เส้นสีเทา) ซึ่งใกล้กว่า

แต่อยากพาเส้นนี้เพราะว่าอยากพาแวะรายทางครับ มีอะไรให้แวะมั่ง มากันๆ









และจุดแวะรายทางแรกก็มาถึง

น้ำตกปุญญบาล

N10° 03.911' E98° 40.209'

น้ำตกข้างทางที่คุ้มค่าน่าแวะ

น้ำตกปุญญบาลอยู่ในพื้นที่ดูแลของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี บริเวณหลักกม.598

ทริปนี้เราโชคดีมากครับ หลังจากเจอฝนเมื่อก่อนเที่ยง จนป่านนี้ฝนก็ยังไม่ตกอีกเลย และจนท.อช.ยังบอกเราว่าฝนตกมาหลายวัน เพิ่งจะหยุดตกวันนี้แหละ

แถมช่วงนี้น้ำตกกำลังงามมากๆ ด้วย ผมเองเคยขับรถผ่านน้ำตกนี้มาหลายครั้ง ก็เพิ่งครั้งนี้ล่ะครับที่น้ำตกปุญญบาลดูสวยงามที่สุดกว่าทุกครั้ง

แถมคนน้อยมากอีกต่างหาก คงเป็นเพราะว่าวันนี้เป็นวันธรรมดานั่นเอง






นี่ครับ ข้างทางแบบที่เห็น หลายคนที่เคยลงใต้ผ่านเส้นทางสายนี้คงคุ้นเคยกันดี ขับรถเข้าโค้งมาก็เห็นน้ำตกปุญญบาลเลยไม่ว่าจะมาจากขาไหน จะขาขึ้นหรือขาล่อง ขับรถมาไกลๆ



เหนื่อย เมื่อย ง่วง ปวดอึปวดฉี่ เลี้ยวเลยครับ แวะยืดเส้นยืดสายเข้าห้องน้งห้องน้ำ และพักสายตาด้วยการชื่นชมน้ำตกสวย





ปุญญบาลไหลตกจากผาสูงราว 20 เมตร สู่แอ่งน้ำตื้นๆ เหมาะเล่นน้ำ ก่อนจะลดหลั่นไหลเป็นสายธารลาดใต้สะพาน ลอดถนนเพชรเกษรสู่เบื้องล่างล่องไหล่เขาต่อไป











ข้างๆ น้ำตกมีร้าน OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จำหน่ายผลิตภัฒฑ์ทำจากมุก ระนองขึ้นชื่อเรื่องมุกแท้ มุกแท้ระนองเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดด้วยนะครับ




มุ่งหน้าต่อ สู่พื้นที่ อำเภอละอุ่น

แถ่นแท้น เบื้องหน้าเรานี่คือคลองละอุ่น ไหลผ่านไปทางซ้ายของภาพราว ๆ สองโลก็จะไปโผล่ไปรวมกับลำน้ำกระบุรี ที่กั้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่า จากนั้นไหลไปทิศตต. อีกราว

20 โลสายน้ำนี้ก็จะออกสู่ทะเล

ที่ตรงสะพานนี้ เป็นสะพานข้ามคลองละอุ่น เป็นถนนเพชรเกษม ถ้ามาจากระนองจะไปละอุ่น จะไปบ้านในวง อย่างที่เรากำลังจะไปกัน ก็ไม่ต้องข้ามสะพาน ให้ U-Turn กลับรถวก

มาอีกฝั่งแล้วเลี้ยวซ้ายเชิงสะพานไปยังถนนมุ่งหน้าบ้านในวงกันได้เลย




สองฝั่งคลองบริเวณนี้มีบ้านเรือนริมคลองสีสันน่ามองน่าจอดถ่ายภาพ จัดซะเลย จากนั้นเราก็เดินทางต่อ แต่ช้าแต่เรายังไม่กลับรถนะครับ ขอข้ามสะพานไปฝั่งโน้น

เพื่อจะไปอีกหนึ่งจุดแวะรายทาง ข้างไปแล้วก็กลับรถมาคอสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายเลาะชายคลองฝั่งโน้น นั่นคือ

การเดินทางต่อ ย้อนเวลาสู่อดีต สู่

พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2

N10° 10.464' E98° 43.045'







อาจจะเป็นวันธรรมดาอีกแล้วครับ เข้ามาถึงคนไม่มีเลย พิพิธภัณฑ์ปิด แต่ไม่เป็นไร ตั้งใจมาชมภายนอกพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว เพราะว่าคุณหนุ่ยชวนขับรถเลี้ยวมาชมหัวรถจักร




หัวรถไฟไอน้ำยุคสงครามโลก ที่เคยมีอดีตอยู่ที่นี่ครับ ใครสนใจแวะมาได้ เลี้ยวจากเชิงสะพานมาแค่ร้อยสองร้อยเมตรเองไม่เสียเวลา



ได้ดูหัวรถจักร ได้ชมคลองละอุ่นอีกมุมมองหนึ่งด้วย เป็นมุมมองย้อนกลับไปหาสะพาน






หมดจุดแวะรายทางแล้วครับ การเดินทางจริงจังมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านกลางวงล้อมของขุนเขาจะเริ่มล้อหมุน ณ บัดนาว

ย้อนกลับข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 4091 ต่อเนื่อง 4159 ระยะทางราว 36 กิโล สู่จุดหมายปลายทางบ้านในวง อ.ละอุ่น จ.ระนอง

เดี๋ยวจะทำแผนที่ประกอบคำอธิบายไว้ให้ข้างล่าง





เส้นทางเลาะเลี้ยวเคี้ยวคดเป็นทางสายภูเขาที่สวยงามมาก เพลินตาแช่มชื่นหัวใจมาก











ป่าเขาเขียวขจี แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อำเภอละอุ่น











ทางราดยางดำ แอสฟัลอย่างดี


และในที่สุดเราก็มาสู่หุบเขา

บ้านในวง หมู่บ้านในวงล้อมของขุนเขา









ทุเรียนเป็นพื้นเศรษฐกิจหลักของที่นี่เลยครับ เราแล่นผ่านกิจกรรมช่างทุเรียนเรียงขึ้นรถตลอดทาง แวะเข้าไปมองใกล้ๆ หมอนทองนั่นเอง คุณหนุ่ยเข้าไปพูดคุย

ทักทาย แป๊บเดียวหิ้วติดมือวางใส่รถหนึ่งลูกใหญ่ๆ แพล็บๆ










นี่ครับ แผนที่เส้นทางสู่บ้านในวง เส้นม่วงๆ คือเส้นทางที่เราใช้ จากปากทางเพชรเกษมตรงเชิงสะพานคลองละอุ่น มุ่งเข้ามาระยะประมาณ 36 โล ผ่านมาตามเส้นทางภูเขา

สู่ปลายทางที่เป็นหุบเขา อันเป็นพื้นที่ของบ้านในวง บ้านในวงแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นในวงเหนือกับในวงใต้ ในแผนที่ไม่ได้แสดงการแบ่งไว้ เส้นสีเหลืองทาบหมายเลข 4139

คือถนนสายบ้านในวง-แยกเขาปีบ อ.ทุ่งตะโก ชุมพร ซึ่งเป็นทางสายหลักไปออกชุมพร ปลายทางจริงๆ ของเราวันนี้คือ ศูนย์ประสานงามกลุ่มท่องเที่ยวบ้านในวงครับ





และแล้วก็มาถึงซะที

บ้านในวง ละอุ่น ระนอง หมู่บ้านในวงล้อมของขุนเขา

N10° 01.276' E98° 51.785'


มารู้จักบ้านในวงกัน

บ้านในวงโฮมสเตย์ ตั้งอยู่เลขที่ 41/1 หมู่ที่ 2 หมู่บ้าน คอกช้าง ตำบล ในวงเหนือ อ.ละอุ่น จ. ระนอง คุณสมชาย ทิศกระโทก หรือคุณหนุ่ย คนที่อาสามารับ ขับพาเรามาก็คือ

ตัวแทนกลุ่มจัดการท่องเที่ยวบ้านในวง นี่ล่ะครับ

ประวัติความเป็นมาคร่าวๆ (ลอกมาจากเวปบ้านในวงโฮมสเตย์)

เมื่ออดีตกว่า ๒,๐๐๐ ปี พื้นที่บริเวณตำบลในวงในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคโบราณ

โดยอาศัยอยู่ในถ้ำและล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชุมชนได้ขุดพบวัตถุโบราณหลายชิ้น

บางชิ้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มีการเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ศิลปากรที่ ๑๕ และพิพิธภัณฑ์ถลาง จังหวัดภูเก็ต ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่ชุมชน

สมัยยุคบุกเบิกชุมชน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ กลุ่มคนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ คือ ชาวจังหวัด สุราษฎร์ธานี และชาวจังหวัดบุรีรัมย์ มีการเข้ามาจับจองที่ทำกินที่อยู่อาศัย

ทำอาชีพปลูกกาแฟ ล่าสัตว์ การเดินทางช่วงแรกยากลำบากมาก เพราะไม่มีถนน ต้องเดินเท้าเข้ามากว่า ๑๐ กิโลเมตร ในการขนข้าวของเข้ามา

จนมาถึงปัจจุบัน อาชีพของคนบ้านในวง คือ ทำสวนผลไม้เป็นหลักโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และกาแฟ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ตำบลในวงใต้และตำบลในวงเหนือเดิมเป็นพื้นที่บ้านปากแพรก หมู่ที่ ๕ ตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้จัดตั้งเป็นตำบล ๒ ตำบล ๖ หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ ๓๑,๐๐๘ ไร่ มีประชากร ๒,๑๑๒ คน มีครัวเรือน ๘๖๕ ครัวเรือน

ประชากรส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ก็เรียกได้ว่าบ้านในวงเป็นแผนดินอีสานในปักษ์ใต้ก็ว่าได้ล่ะครับ สำหรับประวัติเพิ่มเติมและข้อมูลอื่นๆ อย่างละเอียด คลิกเลย>> website: บ้านในวง Home Stay







ถ้าย้อนไปมองแผนที่ข้างบนจะเห็นว่าหมู่บ้านนี้มีโฮมสเตย์หลายหลัง (สามเหลี่ยมน้ำเงิน) ราคาเข้าพักโฮมสเตย์ก็ราวๆ คืนละสองร้อยกว่าบ้าน ส่วนที่พักคืนนี้ของเราเราเลือกพักที่นี่

ศูนย์ประสานงานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านในวง เพราะว่าคุณหนุ่ยถามให้เลือกว่าจะเอาพักสบายแต่ไม่มี Wifi หรือเอาพักสบายน้อยลงหน่อยแต่ WiFi แรงกระฉูดครับ สนนราคาคืนละ

ร้อยเดียวด้วย โอ้ว เลยเลือกพักที่นี่ล่ะครับ สักพักคุณหนุ่ยวานน้องคนนึงควบกระบะสี่ประตูสีขาวมาอาสาพาเราขึ้นไปยังจุดชมวิว เอาใจคนชอบถ่ายภาพกันหน้าดู ไปกัน








ตรงนี้เรียกว่า จุดชมวิวทะเลหมอกบ้านหมอลำ คือที่บ้านในวงมีถนนขึ้นสู่สันภูเขาหลายสาย หลายทิศทางครับ และตรงนี้น่าจะเป็นสายที่ใกล้เดินทางสะดวกสุด มุมมองจะย้อนกลับ

ลงไปยังที่ตั้งของหมู่บ้านทั้งหมด สำรวจเสร็จก็กลับลงข้างล่าง ได้เวลามืดค่ำพอดี พักผ่อนรอสัมผัสกับบรรยากาศเช้าวันใหม่ในวันพรุ่งกัน




Good Morning บ้านในวง

ตื่นเช้าคุณหนุ่ยมารอรับแต่เช้า มาพาเรากลับขึ้นมาบนจุดชมวิวทะเลหมอกนี้กันอีกครั้ง มาชมทะเลหมอก แต่ว่าโชคไม่ค่อยเข้าข้างเราสักหน่อย หมอกหนาๆ ไม่มาตามนัด

มันมากระปิดกระปอยอย่างที่เห็น เป็นเพราะเมื่อวานอากาศแจ่มทั้งวัน ปัจจัยของทะเลหมอกที่นี่คือ วันไหนฝนตก ตามด้วยแดดออกเปรี้ยงๆ ตลอดวัน เช้าวันรุ่งขึ้นลุ้นหมอกหนา

ตระการตากันได้เลย

อยากเห็นหมอกตระการตาที่จุดชมวิวนี้เป็นอย่างไร คลิกดูตรงนี้ได้เลยครับ >> กูเกิ้ลรูปภาพ ทะเลหมอกบ้านในวง



อดเห็นทะเลหมอกแต่ได้เห็นหมู่บ้านในวงล้อมของขุนเขากันชัดๆ แทนนะครับ ก็คุ้มค่าอยู่ เป็นภาพที่สวยสดงดงามไปอีกแบบว่ามั้ยครับ



เล่าด้วยภาพครับ



















จากนั้นสายๆ ก็กลับลงมาที่พัก กินข้าวเช้าพักผ่อน



ชมบรรยากาศรอบๆ บ้านครับ เที่ยวง่ายๆ อยู่แบบบ้านๆ ได้เปิดหูเปิดตา สัมผัสวิถีชีวิต นับเป็นกำไรชนิดนึงที่เราเก็บเกี่ยวได้จากการเลือกรูปแบบการท่องเที่ยว







ล้อมรอบไปด้วยขุนเขา





ซ้ายบนเนินเป็นสวนผลไม้ผสมผสาน เดี๋ยวเราจะเข้าไปเที่ยวชมกัน อ้าวนั่น เจ้าหมาน้อยมาจ้องคนแปลกถิ่น อิอิ




สีสันรอบๆ บ้าน





ศูนย์ประสานการท่องเที่ยว ที่เราพักเมื่อคืน มุมมองจากไกลๆ (เสาบ้านสีเขียวๆ )


ทุเรียน พืชเศรษฐกิจหลักของคนบ้านในวง



นี่ครับ ชัดชัด จะจะ หมอนทอง 5555 มันจะหล่นใส่หัวมั้ยเนี่ย ^^"





น่ากินมั้ยครับ










และนอกจากทุเรียนแล้ว ผลไม้ทำเงินอันดับหนึ่งอีกชนิดก็คือ มังคุดบ้านในวง





มังคุดเกรดส่งนอก ส่งออกแทบหมดส่วน แทบไม่เหลือส่งในประเทศเลยนะครับ ทั้งทุเรียน ทั้งมังคุด ของที่นี่ตลาดหลักคือประเทศจีนนั่นเอง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้คนในวง









มังคุดบ้านในวงแตกต่างจากมังคุดที่อื่นอย่างไร ลักษณะแรกเลยคือผิวมันๆ ลื่นๆ สัมผัสดูจะรู้เลยว่ามาจากบ้านในวงครับ









การเก็บเกี่ยวเพื่อเผื่อเวลาขนส่ง จะเก็บกันตอนลูกเขียวๆ แบบนี้แหละ โดยต้องสังเกต พอผลเขียวๆ เริ่มมีเหลื่อมๆ สีแดงก็เก็บได้เลย เดินทางไกลไปเมืองจีนอีกราว 7 วัน

มังคุดก็จะเปลี่ยนสี สุกได้ที่พอดีกิน







เราไม่พลาดชิมไปหลายครับ เดินไปก็ชิมไป ไม่ต้องกินข้าวเที่ยงล่ะ 5555






และแล้วในบ่ายวันนั้นการร่ำลาก็มาถึง ปลายทางต่อไปตามแพลนคร่าวๆ คือวันนี้เราจะข้ามฟากไปจังหวัดชุมพร ดังที่จั่วหัวไว้ต้นบล็อก

แต่จะออกจากที่นี่อย่างไรดี คุณหนุ่ย สมชาย ทิศกระโทก เจ้าบ้านผู้มากน้ำใจ ทั้งให้การต้อนรับขับสู่ตลอดที่เราพักอยู่ที่นี่สุดท้ายก็ยังไปถามหาเพื่อนบ้าน

บ้านไหนมีใครกำลังจะขับรถเข้าชุมพรบ้าง ได้การเลย เพื่อนบ้านบ้านข้างๆ บ้านคุณหนุ่ยเนี่ยแหละ กำลังจะขนทุเรียนไปส่งตลาดเขาปีป ทุ่งตะโก ชุมพรพอดี

ซึ่งไปรอต่อรถตู้ ทุ่งตะโก-ชุมพรที่นั่นได้ นั่งรถตู้ต่อไปอีก 50 กิโลก็ถึงเมืองชุมพรล่ะ



ได้เวลาร่ำลาครับ

บรรทัดนี้ขอขอบคุณคุณหนุ่ย สมชาย ทิศกระโทก สำหรับความเอื้อเฟื้อทั้งหมดมา ณ ที่นี้

จะหาโอกาสกลับไปเยือนใหม่ให้ได้นะ สัญญาเลย //อยากเห็นทะเลหมอกบ้านในวงแบบเต็มตา

แล้วพบกันใหม่บล็อกหน้า ในตอนขี่มอเตอร์ไซค์ไปเลาะเลียบทะเลชุมพรกันครับ

น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา

 วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 12.27 น.

ความคิดเห็น