“แคร๊กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

ผมรัวปุ่มบนแผงอย่างเมามัน วิญญาณนักกดตู้เกมเข้าสิง

“พอออออออ เดี๋ยวพัง” อาเจ๊ห้ามเสียงสูง

เอ่อ นี่มันต่างจากที่ผมคิดไว้

ขึ้นชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” แถมเป็นของรัฐบาล ทุกคนคงรู้ว่ามันจะเก่า โทรม ล้าสมัย หยากไย่เกาะ ที่นี่มีทุกอย่างที่คิดไว้ (รวมทั้งหยากไย่) แต่ที่คาดไม่ถึงคือ มันเล่นสนุกซะอย่างนั้น

และยิ่งเหมาะมากสำหรับพาน้องๆ หนูๆ มาเที่ยว

ที่นี่แบ่งเป็นสามอาคาร คือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เราจะพาไปดูทีละส่วนครับ


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ พืช และสัตว์

มีเจ้าหน้าที่ขายตั่วอยู่ในอาคาร ซื้อใบเดียว ราคา 100 บาท สามารถเข้าได้ทั้งสามพิพิธภัณฑ์ครับ

ก่อนเข้าข้างใน แวะดูสวนยุคก่อนประวัติศาสตร์เล็กๆ ไดโนเสาตัวโตตั้งเด่นเป็นสง่า โทรมไปหน่อย แต่เด็กๆ ก็ยังชอบ

ทางเดินช่วงแรกน่าผิดหวัง เป็นข้อมูลแปะๆ ของเล่นก็ไม่สนุกเลย

เลี้ยวมานิดนึงก็มีเรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์

ถัดมามีกระดูกสัตว์หลายชนิด

ผมสะดุดตากับขวดเล็กๆ ซึ่งภายในมีซากสัตว์สีสวยแปลกตา นี่คือการดองใส เพื่อศึกษาโครงสร้างของสัตว์ขนาดเล็ก

ใครสงสัยว่าทำยังไง จิ้มกระทู้นี้จ้า https://pantip.com/topic/12972000


ถัดจากขวดดองใส จู่ๆ ทางแคบๆ ก็เปิดออกเป็นห้องโถงกว้างและสว่างกว่า ทำให้รู้สึกตระการตา มีเรื่องราวของพืช สัตว์ และเห็ดรา ให้ดูเยอะมาก น่าสนใจบ้าง ไม่น่าสนใจบ้าง ปนๆ กันไป

โถบรรจุเหล่าสัตว์ขวัญใจสาวๆ หนึ่งในโหลพวกนี้ มีคางคกตัวมหึมาอยู่ด้วย คุณอาจไม่เคยเห็นคางคกตัวขนาดนี้มาก่อน ถ้ามีโอกาสไปเที่ยว ลองมองหาดูฮะ

มีมุมให้ถ่ายรูปก่อนจบช่วงนี้ซะด้วย

อาเจ๊ขึ้นไปนั่งยิ้มแป้น ลงรูปเธอไม่ได้ เพราะไม่ผ่านเซ็นเซอร์


ห้องถัดมาเป็นนิทรรศการเล็กๆ เกี่ยวกับพิษ ทักทายด้วยแมงมุมตัวโต

รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพิษ

เพิ่งรู้ว่า “โบท็อก” เป็นพิษที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือครีมทาหน้าบางชนิดก็มี “ซินเอก (Syn-Ake)” ซึ่งเป็นพิษของงูผสมอยู่

ปลาปักเป้า อาหารญี่ปุ่นที่เรานิยม ก็มีพิษ

เชฟต้องสอบกันอย่างจริงจังกว่าจะปรุงมันขายได้ แถมก่อนขายต้องกินเองด้วย!!

ถัดมาเป็นห้องที่รวมสัตว์มีพิษต่างๆ ผีเสื้อบางชนิดก็มีพิษกะเค้าด้วย

ไหนๆ ก็เข้ามาแล้ว ขอเดินดูอีกหน่อย ที่ชั้นสองกระโหลกและเข้าของสัตว์ชนิดต่างๆ จัดแสดงไว้

กระโหลกช้าง ใหญ่มากก

แต่อาเจ๊ใหญ่กว่าเห็นๆ

ก่อนไปพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ แวะดูกระดูกปลาวาฬซักนิด


พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

แลดูเงียบเหงาไร้ผู้คนยิ่งกว่าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาซะอีก จะได้เรื่องมั๊ยนิ

แต่ที่นี่แหละครับ ที่เราเริ่มได้เล่นของสนุก และพบกับแก๊งค์หนูน้อยสโนไวท์ที่น่าร๊าก

ทางเข้ามืดมาก

และข้างๆ ก็มีหุ่นตัวนี้ เมื่อเข้าไปใกล้มันขยับตัวด้วย เล่นเอาตกใจ

คนสร้างเอาดีด้านทำบ้านผีสิงก็น่าจะได้

ผ่านทางมืดๆ ออกมาเจอห้องโถงเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือกว้างขึ้น

เห็นท่อสีๆ แบบนี้ อย่าเพิ่งเดินผ่าน ลองกดดู จะได้ยินเสียงแบบมนุษย์โบราณ

ต่อมา คือทางเดินสั้นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกำแพงใส ตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ยืนรออยู่

เมื่อเข้าไปคุย เราได้ไอเท็มมาสองชิ้น คือเสื้อและแว่นตา เมื่อใส่แล้วจะติดสถานะตาบอด ต้องใช้เสียงในการนำทางแทน

ผมส่งอาเจ๊ไปลอง เธอก็ควานไปเรื่อย ชนกำแพงมั่วซั่วจนเจ้าหน้าที่ยิ้ม

“เป็นยังไงมั่ง” ผมถาม

“ก็ถ้าเราเข้าไปใกล้กำแพง เสียงจะดังขึ้น” เจ๊ตอบ

“แล้วถ้ากำแพงอยู่ทางซ้าย หรืออยู่ทางขวา เสียงต่างกันป่าว” ผมสงสัย

อาเจ๊มองขึ้นข้างบนพักนึง แล้วตอบว่า “ไม่รู้”

สรุปว่าเรื่องนี้คงเป็น “ปัจจัตตัง” ต้องรู้ด้วยตัวเอง

แก๊งค์หนูน้อยสโนไวท์ที่ผมพูดถึง คุณพ่อพามาเที่ยว เล่นสนุกกับทุกสิ่ง น่ารักมาก


คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศ หน้าตาเป็นแบบนี้นี่เอง

มุมนี้เราจะได้ลองพิมพ์คำสั่ง เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงาน ยากเกินสติปัญญาของเรา

หุ่นตัวนี้เล่นง่าย ใส่คำสั่งให้มันได้หลายแบบ เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนท่า ร้องเพลง อาเจ๊ติดใจ จิ้มไม่เลิก

บางเกมคุณแม่ก็ขอเล่นบ้าง

ซุ้มนี้ให้เราสวมบทบาทเป็นสายลับ หลบเลเซอร์แบบในหนัง

ครอบครัวในภาพน่ารักมาก คุณพ่อเข้าไปเล่น แอคชั่นจัดเต็ม

ถึงคิวเราบ้าง เจ๊ยืนงง เพราะไม่รู้จะไปอีท่าไหน สุดท้ายก็ชนเลเซอร์ พ่ายแพ้

ไม่แน่ใจว่าเลเซอร์แบบนี้อันตรายกับกล้องและตารึเปล่า ปลอดภัยไว้ก่อน อย่าให้เจ้าเส้นเขียวๆ พวกนี้เข้าหน้ากล้อง หรือเข้าตาตรงๆ นะฮะ

ก่อนจบมีมุมให้ถ่ายรูปเช่นเคย

ชุดเจ๊เข้ากับของโบราณพอดี

ถึงตรงนี้ขาก็เริ่มลากละฮะ แต่ยังมีอีกตึกที่ต้องไปดู


พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

อาคารรูปทางโดดเด่น น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดในสามพิพิธภัณฑ์ ข้างในมี 6 ชั้น แต่ละชั้นแสดงเนื้อหาต่างกัน

ก่อนเข้าไปในอาคาร เจอเจ้าตัวนี้ยืนแลบลิ้นอยู่ มันมีชื่อว่า “โฮมุนดูลัส (Homunculus)”

ป้ายอธิบายว่า “มันคือสัดส่วนของร่างกายเราเท่าที่สมองมองเห็น”

แปลเอาเองตามที่ผมเข้าใจ คือสมองให้ความสำคัญกับใบหน้า ลิ้น และนิ้วมือ มากกว่าส่วนอื่น เพราะเราสามารถควบคุมอวัยวะที่ว่านี้ได้ละเอียดกว่า (ถ้าผมเข้าใจผิด ช่วยแก้ไขทีจ้า)

ชั้น 1

มี workshop วิทยาศาสตร์ให้เล่น 4 รอบ

10.00 กิจกรรม เรือพลังมอเตอร์ สร้างของเล่นจากสิ่งรอบตัวและมอเตอร์

11.00 กิจกรรม หมุนไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ สร้างของเล่นโดยใช้หลักของความเฉี่อย

13.00 กิจกรรม สร้างแบบจำลองตึกลูกเต๋าจากไม้

14.00 กิจกรรม Mechanical Toy เรียนรู้กลไกและระบบกำลังของเครื่องกล

สอบถามรายละเอียดได้ที่องค์การพิพิธพัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 02 577 9999

นิทรรศการเกี่ยวกับไฟฟ้า

“โอ๊ะ” ผมประหลาดใจจนอุทานออกมาเบาๆ อดไม่ได้ที่จะชวนอาเจ๊มากดด้วย

“โอ๊ะ” เจ๊ก็อุทานออกมาเหมือนกัน

เห็นเจ้าเครื่องสีฟ้ามุมซ้ายของภาพมั๊ยครับ ดูๆ ไปมันก็เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ลองกดปุ่มดู มันอาจทำให้คุณร้อง “โอ๊ะ”

ชีวิตนี้ใครยังไม่เคยโดนไฟดูดยกมือขึ้น

พิพิธภัณฑ์เตรียมไว้ให้คุณแล้ว เครื่องนี้อันตรายจริงจัง โปรดอ่านคำเตือนก่อนเล่น

ชั้น 2

แบบจำลองป้าลูซี่ มนุษย์ลิงที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์ ป้ามองกล้องซะด้วย

ในโดมมีห้องกระจกที่มองแล้วจะงงๆ หน่อย

ชั้น 3

เจ้าลูกบอลที่ลอยอยู่ในอากาศ สร้างความแปลกใจให้คนที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย

ลองหยิบมันขึ้นมา แล้ววางกลับไปที่เดิม (บนอากาศ) ดูซิว่าคุณจะทำให้มันลอยนิ่งได้ไหม

ชั้น 4

ชั้นที่ดูจะด้อยกว่าที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องโลกของเราและการเกษตร มีมุมให้ขับรถแทรคเตอร์แอบอยู่ด้านในสุด

ชั้น 5

มีหุ่นยนต์และเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย จัดแสดงได้แปลกตาดี แต่ของเล่นน้อย

ชั้น 6


ชั้น 6 เน้นความเป็นไทย ถึงจะไม่มีอะไรให้เล่น และอากาศร้อนกว่าชั้นที่ผ่านๆ มา แต่จัดแสดงได้ดีมาก ถ่ายรูปสนุกที่สุดในทริป



มองด้วยสายตาของผู้ใหญ่ เราอาจเห็นว่าที่นี่น่าเบื่อ อึมครึม แต่สำหรับเด็ก พวกเขาสามารถเล่นสนุกกับของเล่นง่ายๆ ได้

แค่เห็นน้องๆ วิ่งไปมา ก็ทำให้ผมจำได้ว่า ในช่วงหนึ่งของชีวิตก็เคยมีความสุขกับของแบบนี้

เมื่อได้กดปุ่มรัวๆ ส่งเสียงออกมาดังๆ ทำให้ผมพบกับเด็กชายคนหนึ่ง ที่กำลังกระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข



สรุป

  • ของเล่นเยอะ เหมาะสำหรับเด็กๆ
  • อาจน่าเบื่อสำหรับเด็กโตหรือวัยรุ่น (แต่เราก็เห็นวัยรุ่นบางคนเล่นไม่เลิกเหมือนกัน ^^)
  • ถ้าจะดูทั้งสามพิพิธภัณฑ์ เตรียมแข้งขาของคุณให้พร้อม และเผื่อเวลาไว้ซัก 2 ชั่วโมง
  • ของเล่นใช้งานไม่ได้ราว 20%
  • พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มีความ “พิพิธภัณฑ์” ที่สุด นิ่งๆ เรียบๆ ควรเข้าเป็นที่แรก
  • พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ของเล่นเยอะ เน้นเรื่องการสื่อสารและเทคโนโลยีเป็นหลัก
  • พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของเล่นเยอะ จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขา ถ้ามีเวลาน้อย เข้าที่นี่ที่เดียวก็พอครับ



ข้อมูล

พิกัด

14.048812, 100.715338

เวลา

อังคาร – ศุกร์ 09:30 – 16:00

เสาร์ – อาทิตย์ 09:30 – 17:00

ราคา

100 บาท เข้าได้ 3 พิพิธภัณฑ์

เด็กเยาวชน เข้าชมฟรี



https://www.facebook.com/bearducktravel

หมีเป็ด

 วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 22.26 น.

ความคิดเห็น