ส ะ พ า น เ ท ว ด า ส ร้ า ง . .

หลายๆ ครั้งที่ฉันเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มักจะผ่านถนนราชดำเนินและบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวังอยู่บ่อยๆ

ฉันสังเกตเห็นอาคารสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน ประตู ป้อม ล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น

สำหรับประตู และป้อม รอบพระบรมมหาราชวัง จากที่ได้สังเกตมาสักพักหนึ่งก่อนหน้านี้ จนฉันต้องกลับมาค้นข้อมูลที่ไปที่มา ในชื่อแต่ละประตู และชื่อแต่ละป้อมรวมถึงได้มาเก็บภาพไปแล้วนั้น ในส่วนของสะพานก็เช่นกัน ได้เห็นและสังเกตมาระยะหนึ่ง ชื่อสะพาน ที่มีชื่อเรียกเฉพาะ เป็นสะพานที่มีรูปทรงแตกต่างกันไปบ้างแต่ละที่

หลังจากที่ได้ผ่านหลายๆ ครั้ง ลองอ่านชื่อสะพานหลายๆ หน บ่อยครั้งจนรู้สึกได้ว่า ชื่อสะพานนี้มีความไพเราะนัก และน่าจะเป็นคำคล้องจองกับสะพานอื่นที่รับกัน ด้วยความสงสัยกลับมาหาข้อมูลก็ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับสะพานเหล่านี้ สะพานที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม เป็นที่ไปที่มาว่าจะต้องมาให้ถึงสะพานเหล่านี้ให้จงได้

และหลังจากที่ฉันผ่าน ผ่าน ผ่าน แล้วก็ผ่านอีก แต่ก็ยังไม่ครบทั้งห้าสะพานสักหน ครั้งนี้ตั้งใจไว้ว่ายังไงฉันก็ต้องมาเก็บภาพและเรื่องราวตลอดเส้นทางของสะพานทั้งห้าแห่งนี้ให้ได้

คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองรอบพระนครชั้นนอก ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔

ทรงพิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนมากกว่าเมื่อเริ่มสร้างกรุงควรขยับขยายพระนครออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยะวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นกงสีจ้างจีนขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร

เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ วัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาค ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณ วัดแก้วแจ่มฟ้า สีพระยา คลองนี้ขุดเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้รับพระราชทานชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"

คลองนี้ตัดผ่านคลองมหานาค บริเวณสี่แยกมหานาค ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ผ่านบริเวณหัวลำโพงในปัจจุบัน ผ่าน วัดมหาพฤฒาราม (เดิมเรียกว่า วัดท่าเกวียน) ในสมัยที่ทำการขุดมีขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ลึก ๓ เมตร ยาว ๕.๕ กิโลเมตร

สำหรับสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สร้างขึ้นนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้คล้องจองกันทั้งหมด โดยมีความหมายโดยรวมว่า "สะพานที่เทวดานฤมิตร" คือ สะพานเทเวศรนฤมิตร, สะพานวิศสุกรรมนฤมาน, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์

ลองมาอ่านแบบไม่เอ่ยชื่อ นำหน้าว่าสะพาน

เทเวศรนฤมิตร

วิศสุกรรมนฤมาน

มัฆวานรังสรรค์

เทวกรรมรังรักษ์

จตุรภักตร์รังสฤษดิ์

นับเป็นอีกหนึ่งความงดงามของภาษาไทย

สะพานเทเวศรนฤมิตร :

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งอยู่บนถนนสามเสน บริเวณใกล้ทางแยกเทเวศร์ เป็นย่านการค้าเก่า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสงค์สร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมทั้งหมดห้าสะพานและทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้มีชื่อคล้องจองกันทั้งหมด โดยทรงปรึกษากับพระราชเลขานุการที่เชี่ยวชาญภาษามคธ ได้นามเป็นมงคลคล้องจองกัน โดยในส่วนของสะพานเทเวศรนฤมิตรนั้นมีความหมายถึง "สะพานที่เทวาผู้เป็นใหญ่สร้าง" หรือ "สะพานที่พระอิศวรเป็นผู้สร้าง"

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมแห่งแรกที่ทรงเปิด


สะพานวิศสุกรรมนฤมาน :

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงบางขุมพรหม เขตพระนคร และแขวงดุสิต เขตดุสิต เป็นสะพานเชื่อมระหว่างถนนนครราชสีมาและถนนประชาธิปไตย ตรงทางแยกประชาเกษม ใกล้กับคุรุสภาและวัดมกุฏกษัตริยาราม

เดิมเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ มีราวสะพานเป็นรูปกรงเหล็กหล่อ ต่อมาได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้างกว่าเดิม ลักษณะราวสะพานเป็นรูปกรงคอนกรีตโปร่ง มีโค้งออกด้านข้าง ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๑๐

ในส่วนของสะพานวิศสุกรรมนฤมานนั้น มีความหมายว่า "สะพานที่พระวิศสุกรรมทรงสร้าง"


สะพานมัฆวานรังสรรค์ :

เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่สร้างขึ้นพร้อมกันการสร้างถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ แบบที่เรียกว่า Avenue ของทวีปยุโรป อยู่ในพื้นที่เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต อยู่บนถนนราชดำเนินนอก บริเวณทางแยกมัฆวาน สถานที่สำคัญ ที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และทำเนียบรัฐบาล

ผู้ออกแบบคือนาการ์โล อัลเลกรี นายช่างชาวอิตาลี สร้างตามสถานปัตยกรรมอิตาลีและสเปน ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี ลักษณะเป็นสะพานโครงสร้างคานเหล็กพื้นคอนกรีต ส่วนประดับคือรางสะพานที่เป็นเหล็กหล่อและดวงตรารูปช้างเอราวัณ ที่กลางสะพานมีเสาหินอ่อน มุมสะพานรองรับโคมไฟสำริด ผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อน สะพานแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสะพานที่สวยงามสะพานหนึ่งในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ และพระราชทานนามว่า "สะพานมัฆวานรังสรรค์" มีความหมายว่า "สะพานที่พระอินทร์เป็นผู้สร้าง" (โดยเดิมจะพระราชทานนามว่า "สะพานมัฆวานรังรักษ์")

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้สร้างสะพานเสริมที่ด้านข้างสะพานมัฆวานรังสรรค์เดิม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณดังกล่าว โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจตุรทิศเพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


สะพานเทวกรรมรังรักษ์ :

เป็นสะพานที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตตูพ่าย กับแขวงสีแยกมหานาคและแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต

เป็นสะพานที่เชื่อมถนนนครสวรรค์เข้าไว้ด้วยกันและตัดกับถนนกรุงเกษมที่เชิงสะพาน โดยเป็นสี่แยก เป็นสะพานที่อยู่ใกล้กับ วันโสมนัสวิหาร, ทำเนียบรัฐบาล และย่านนางเลิ้ง ชุมชนเก่าแห่งหนึ่งของกระเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ใหสร้างและทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นสะพานที่มีความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมไทย ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗

ในส่วนของสะพานเทวกรรมรังรักษ์ หมายถึง "สะพานที่พระเทวกรรมสร้าง" ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งของความเชื่อไทย ลักษณะคล้ายคลึงกับพระพิฆเนศตามความเชื่อของฮินดู) สะพานนี้ผ่านถนนนครสวรรค์จนต่อไปถึงแยกจักรพรรดิ์พงษ์ และไปอีกจะถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศบรรรจบกับถนนราชดำเนิน


สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ :

หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานขาว เป็นหนึ่งในสะพานที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมระหว่างถนนหลานหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กับแขวงคลองมหานาคและแขวงโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถือกำเนิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หลังจากพื้นที่พระนครและประชาชนริมคลองมีการขยายตัวขึ้น ในส่วนของสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์มีความหมายว่า "สะพานที่พระพรหมเป็นผู้สรรรค์สร้าง" ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖

ที่เชิงสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ทั้งสองฝั่ง เป็นทางแยก ลักษณะเป็นสี่แยก คือแยกสะพานขาว ซึ่งได้ชื่อตามชื่อที่นิยมเรียกกันของสะพาน เป็นจุดตัดของถนนหลานหลวงกับถนนลูกหลวงและถนนกรุงเกษม บริเวณนี้เป็นแหล่งการค้าที่คึกคักและมีประวัติเก่าแก่นานมา ซึ่งได้แก่ ตลาดโบ๊เบ๊ ตลาดค้าส่งและปลีกเสื้อผ้าราคาถูก , ตลาดมหานาค หรือตลาดสะพานขาว ตลาดค้าส่งและปลีกผลไม้แห่งใหญ่ รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ด้วย

cr : wiki

กับสิ่งที่เห็นจนชินตา อีกหนึ่งเรื่องราวที่แบ่งปัน

เมืองหลวงแห่งนี้ยังมีอะไรอีกมากมายรอให้ค้นหาและเรียนรู้ แล้วฉันจะกลับไป ..


ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม
zoonvors

zoonvors

 วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 19.52 น.

ความคิดเห็น