หลาย ๆ คนได้มีโอกาสไปตามรอย ละคร "บุพเพสันนิวาส" ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เมืองลพบุรีซึ่งเป็นฉากสำคัญภายในละครได้รับความนิยมไปด้วย เมืองลพบุรีนั้นมีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ มากมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เช่น วังนารายณ์ราชนิเวศน์ บ้านหลวงรับราชทูต ฯลฯ แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ สถานที่ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ และเป็นจุดที่น่าสนใจสามารถเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในสมัยพระนารายณ์ได้เป็นอย่างดี

โดยการเดินทางมายังเมืองลพบุรีนั้นมีหลายช่องทางการเดินทาง แต่ทริปครั้งนี้ผมเลือกที่จะเดินทางโดยนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปยังลพบุรี (เช็คตารางเวลาการเดินรถ) ก่อนเดินทางด้วยนะครับ จะใช้เวลาเดินทาง กทม - ลพบุรี ประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างทางก็จะมีแม่ค้า พ่อค้า เดินขายของกันหลากหลายชนิด หิวเมื่อไหร่ก็สามารถ "กวิ๊ก" มือเรียกได้เลย เผลอ ๆ อาจจะได้เพื่อนร่วมทริปเพิ่มขึ้นจากคนข้างๆ เราก็ได้นะครับ

ทริปนี้เราปักหมุดไว้ว่า "จะไม่ไปที่ที่คนเขาไปกัน" เเต่ยังคงเป้าหมายหลักคือ "การตามรอยประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์" จึงจะพาไปยังสถานที่ที่น่าสนใจ ผ่านการค้นหาข้อมูล จากเอกสารการบันทึกต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาสถานที่นั้น ๆ จึงทำให้ทริปนี้ "แตกต่าง" และ "น่าสนใจ" และ "เหนือชั้น" น่อวว


"ท่าขุนนาง"

ที่แรกที่แนะนำ คือ "ท่าขุนนาง" ซึ่งเป็นท่ารือสำหรับขุนนางในสมัยก่อนที่จะเดินทางจากอยุธยามายังเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นท่าเรือริมแม่น้ำลพบุรีเชื่อมต่อกับประตูของวังนารายณ์ราชนิเวศน์ มีการบูรณะเรื่อยมาจึงทำให้ยังมีสภาพดีในปัจจุบัน เมื่อขุนนางที่มาจากอยุธยาก็จะเทียบท่าเข้าพระราชวังตามภาพเลยครับ


"กำเเพงเมืองเดิม แลคูเมือง"

สถานที่ที่สอง คือ ซากกำเเพงเมืองเดิมของ "ละโว้" หรือ "ลพบุรี" ถ้านั่งรถไฟมาแล้วจะสังเกต เห็นซากกำเเพงเมืองเก่าของลพบุุรี ซึ่งที่น่าสนใจคือ การวางผังของกำเเพงเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนาราย์นั้น เป็นการวางตามแบบแผนชาวตะวันตก โดยมีลักษณะมุมป้อมที่ชัดเจน และปัจจุบันก็ยังมีร่องรอย และซากหลงเหลือให้เราได้จินตนาการกันด้วยนะครับ ด้วยความอนุเคราะห์จากพี่ที่สนิทกัน เลยให้พี่เขาเทียบผังเมืองปัจจุบันและอดีตไว้ให้ตามแกะรอยกันด้วยนะครับ ซึ่งแผนที่อาจจะไม่ได้ตรงตำแหน่งเลยซะทีเดียว ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนนิดหน่อย ไว้ใช้พอเป็นไกด์ไลน์ ก็พอครับ : )


"ถนนฝรั่งเศส" (Rue de France)

เป็นถนนสั้น ๆ ที่เชื่อมระหว่างพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ สู่บ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชไชยเยนทร์) ซึ่งเป็นถนนที่เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส และที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีถนนสยามเช่นเดียวกัน (Rue de Siam) เชื่อมสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ที่ได้มีการส่งคณะราชทูต "ตรีทูต" ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับราฃสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14


(อ้างอิงภาพจาก :https://th.wikipedia.org/wiki/ถนนสยาม)

"วัดซาก" (วัดทราก)

สถานที่แห่งนี้สัณนิษฐานไว้ว่าเป็นสถานที่สุดท้ายของออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ตามบันทึกที่มีการบ่งบอกถึงการนำตัวฟอลคอนมาสำเร็จโทษ ณ "วัดทราก" โดยในบันทึกระบุชื่อว่า "วัดทราก" แต่ในปัจจุบันกร่อนชื่อกลายเป็น "วัดซาก" ตามข้อสัณนิษฐาน แต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของโบราณสถานไว้เพียงซากของอุโบสถเก่าในสมัยอยุธยา ที่ทรุดโทรม และรกร้าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ถูกมองข้ามไป เป็นสถานที่สุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้




"วัดสันเปาโล หอดูดาว และโครงกระดูกปริศนา?"

ที่จั่วหัวเรื่องไว้แบบนี้คือ วัดสันเปาโลมีสถานะในประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์เป็นหอดูดาวและโบสถ์ในศาสนาคริสต์ แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อหลายปีก่อนได้มีการขุดค้นพบ หลุมศพโครงกระดูกบริเวณวัดสันเปาโลแห่งนี้ ซึ่งภายในหลุมพบโครงกระดูก 2 โครงและเครื่องถ้วยชามฝังรวมอยู่ภายในหลุมศพซึ่งมีข้อสัณนิษฐานหลาย ๆ ข้อเกี่ยวกับโครงกระดูกที่พบว่าคือใคร ? และมีข้อสัณนิษฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ เจ้าของโครงกระดูกทั้ง 2 นี้คือของ พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรม และคอนสแตนติน ฟอลคอน ด้วยลักษณะโครง 1 ที่มีหลังค่อม และส่วนสูงไม่มาก และอีกเป็นโครงเป็นร่างใหญ่ แต่ไม่พบกะโหลกศีรษะฝังรวมอยู่ด้วย ยังคงเป็นปริศนาที่รอคำตอบต่อไป ซึ่งผมโชคดีมีโอกาสเห็นในช่วงขุดค้นพอดี ซึ่งปัจจุบันได้มีการกลบหลุมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ 555

(อ้างอิงภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/455419)

"สุดท้าย"

อยากบอกกับทุกคนว่าไปเที่ยวให้สนุกอย่างมีขอบเขตด้วยนะครับ การท่องเที่ยวให้อะไรมากกว่าภาพสวย ๆ หรือสำหรับไว้อวดบนโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว ยังได้ประสบการณ์ และความรู้ที่จะได้จากการท่องเที่ยวนั้นๆ อีกด้วย และที่สำคัญคือ ต้องสำนึกไว้ตลอดว่า "สถานที" นั้นเป็นของส่วนรวม เป็นของสำคัญที่พึง "รักษา" ไว้ตลอดเวลานะครับ ปล.ขอให้ท่องเที่ยวให้สนุกนะครับ :)

Historical Travel

 วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 16.47 น.

ความคิดเห็น