....หน้าฝนของทุกปี ผมมักเดินทางไปเลาะลาวใต้เพื่อเก็บภาพความงดงามตามธรรมชาติบนที่ราบสูงโบโลเวนอยู่เสมอ แต่มาปีนี้อยากจะขอเปลี่ยนแนวดูบ้าง จะลองลุยเดี่ยวตามรอยบรรดา Reviewer ทั้งหลายที่ได้ไป survey กันมา โดยเป้าหมายคือหาสถานที่ถ่ายภาพที่ไม่ต้องลุยอะไรมากนัก วางแปลนไว้ว่าหาเช่ามอไซด์แว๊นซ์เที่ยวแวะตามจุดที่อยากไป ขับไไปเรื่อยๆ แต่บังเอิญเพื่อนร่วมแก็งค์ที่นัดแนะกันว่าจะไปลาวเหนือ ช่วงปลายปีนี้ทราบข่าวเลยอยากให้ผมจัดทริปแก้ขัดพาไปลาวใต้ก่อน เลยพับแผนจากแบกเป้ลุยเดี่ยว เป็น ยกก๊วนชวนกันเที่ยว รีวิวนี้ค่าใช้จ่ายอาจจะดูเยอะสักหน่อยเพราะเราซื้อความสะดวกสบาย แต่หารเท่ากันหมด เนื้อหาก็จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางและขั้นตอนการเดินทางที่ใช้วิธีการเหมาทั้งหมด ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองเรื่อยไปจนข้ามแดน ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่พัก ที่กิน ค่าเช่ารถ ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆอย่างละเอียดๆว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า ไปชมเรื่องราวกันได้เลย

พวกเราพร้อมกันที่สนามบินดอนเมือง ออกเดินทางด้วยเที่ยวบินหางแดง FD 3373 เวลา 7:45 ถึงท่าอากาศยานอุบลราชธานีตอน 9 โมงตรงเป๊ะ ตามรายแทงของนักรีวิวทั้งหลายบอกให้เดินมาขึ้นแท็กซี่หน้าสนามบิน ไปลงบขส.แล้วไปที่คิวรถตู้ นั่งไปลงช่องเม็กในราคา 100 บาทหรือจะนั่งรถทัวร์ข้ามประเทศ อุบล-ปากเซ ราคา 200 บาท ซึ่งมีวันละ 4 เที่ยวตอน 7:30, 9:30, 14:30, 15:30 แต่พวกเรามากัน 9 คนมีตัวหารเยอะเลยลองถามราคารถตู้หน้าประตูทางออกสนามบินว่าไปช่องเม็กเท่าไหร่ พนักงานบอก 2,000 ต่อไปต่อมาจนเหลือ 1,500 ตกคนล่ะ 167 บาทซื้อความสะดวกสบายถือว่าราคาพอๆกันกับการเดินทางปกติ รถใช้เวลาวิ่งประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงด่านช่องเม็ก ใครอยากลองใช้บริการดูแค่เดินออกมาด้านหน้าประตูทางออกเลี้ยวซ้ายก็จะเจอเคาน์เตอร์รถเช่าทั้งหลายแหล่บริเวณนั้น

มาถึงด่านช่องเม็กประมาณ 11 โมง ผมนัดเพื่อนไว้อีก 2 คนที่นี่ ซึ่งขับรถจากโคราชมานอนรออยู่ที่โรงแรมคืนนึงก่อนแถวด่านช่องเม็ก ชื่อโรงแรมเพลินทัวร์ เพื่อนบอกว่าห้องพักคืนล่ะ 400 ค่าฝากรถวันล่ะ 100 เผื่อใครจะฝากรถทิ้งไว้แล้วไปเที่ยวฝั่งลาวสามารถนำรถมาจอดที่นี่ได้ ส่วนร้านอาหารตามสั่งที่ผมมักมาฝากท้องอยู่เรื่อยๆ ชื่อร้านเจ๊ยุพินเมื่อหันหน้าเข้าอาคารสีม่วงของด่านศุลกากร ร้านจะอยู่ซ้ายมือซอยแรก เราจะกินข้าวมื้อล่ะ 40-50 กันเป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่จะไปกินกันอย่างราชาที่ฝั่งนู้นจ่ายแต่ละมื้อเป็นแสน (กีบ)! และตรงจุดนี้เจ๊แกหารถตู้นำเที่ยวลาวให้ได้ สอบถามราคาแกบอกว่าอยู่ประมาณ 1,800 ไม่รวมน้ำมัน ถ้ารวมแล้วก็ประมาณ 3,000-3,500 ต่อวันซึ่งก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ผมหาไว้ เจ๊เลยให้คุยและตกลงราคากันเองกับผู้สาวชาวลาวที่ให้บริการรถตู้ทางฝั่งนู้น บอกสถานที่ไปว่าจะไปปราสาทหินวัดพู เที่ยวเมืองจำปาสัก กลับมาดูพระอาทิตย์ตกที่วัดพูสะเหลา แล้วไปนอนในเมืองปากเซ ตกลงราคากันที่ 3300 บาทหารกัน 11 คนก็ตกคนล่ะ 300 คิดว่าราคารับได้และไม่กำหนดเวลาด้วยแล้วแต่ทางเราเลย รถจอดรอพวกเราอยู่หน้าด่านฝั่งลาว

ทำเรื่องผ่านแดนฝั่งไทย ตอนนี้ไม่ต้องเขียนใบผ่านแดนแล้ว ยื่นแค่ passport อย่างเดียวเท่านั้น เสร็จแล้วลอดอุไมงค์ข้ามมายังฝั่งลาวเดินมายังอาคารศุลกากรฝั่งลาวที่อยู่ตรงข้าม ธ.พงสะหวัน (Phong Sawanh Bank) เดินไปด้านหลังช่องหมายเลข 6 เสียค่าเหยียบแผ่นดินแบบไม่มีใบเสร็จ 100-200 ซึ่งมันจะเป็นอยู่ด่านเดียวตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิดมาก ตลอด 5-6 ปีหลังผมมาทุกปีเสียตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นมาเรื่อยจน 2 ปีหลังนี่เขยิบมายืนที่ 100 บาท และราคาไม่เท่ากันแล้วแต่ใครจะเจอแจ็คพอต ต่อแถวเสียเงินกันอยู่ดีๆ คนหน้าเก็บ 100 คนหลังเก็บ 200 อ้างว่าถ้ามาครั้งแรกจะเสีย 200 แต่บางคนถึงมาครั้งแรกก็เสีย 100 เดียว สรุปแล้วคือ แล้วแต่อารมณ์ของเจ้าหน้าที่ เถียงไปก็เท่านั้นเขาไม่แคร์ด้วย เที่ยวลาวใต้ด่านแรกที่ต้องทำใจคือ ตม.นี่แหละ

หลังจากผ่านขั้นตอนแสกนกรรมจาก ตม.ฝั่งลาวเสร็จเดินมามองหารถตู้ที่นัดไว้หน้าธ.พงสะหวัน เห็นสภาพรถอึ้งไปนิด ด้วยตัวถังรถที่เล็ก และจากจำนวนผู้โดยสาร 11 คนถึงมันจะมีที่นั่งพออยู่แล้ว แต่รถตู้ยอดนิยมยี่ห้อฮุนไดทางฝั่งลาวนี้มันไม่มีพื้นที่ว่างมากพอที่จะวางสัมภาระได้เยอะ มันเหมาะสำหรับเที่ยวแบบไม่มีสัมภาระมากกว่า ถ้าเป็นไปได้แนะนำว่าออกจากด่านค่อยมาเลือกดูรถตู้แถวด่านวังเต่าทางฝั่งลาวจะดีกว่า เพราะจะมีบรรดาพวกรถเช่ามาสอบถามเราว่าต้องการเช่ารถตู้ไหม เราจะได้เห็นสภาพรถด้วยมันเป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ ก่อนที่เราจะออกเดินทาง พวกเราแวะเข้าไปแลกเงินในธนาคารก่อน rate จะอยู่ที่ 1 บาท = 263.14 กีบซึ่งทางโชเฟอร์มาบอกทีหลังว่าผมหาร้านที่แลกได้ถึง 265 ซึ่งผมว่าผลต่างมันไม่มีผลเท่าไหร่หรอกถ้าเราแลกไม่ถึงแสน เพราะฉะนั้นแลกไปเถอะ เพราะถ้าไม่แลกไว้ไปแลกตามร้านอาหาร หรือแหล่งท่องเที่ยวเขาจะกดเราต่ำกว่านี้

วันที่ 1 ช่องเม็ก - จำปาสัก

กว่าจะออกจากด่านได้ก็เที่ยงครึ่ง มีเวลาเที่ยววันแรกแค่ครึ่งวัน วันแรกผมตั้งจุดหมายปลายทางที่แรกไว้ที่ปราสาทหินวัดพู ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจำปาสักห่างจากด่านช่องเม็ก-วังเต่าไปทางทิศตะวันออกประมาณ 75 กม. แต่ห่างเมืองปากเซแค่ 45 กม.เท่านั้น รถตู้ฮุนไดวิ่งผ่านเมืองโพนทอง ก่อนข้ามสะพานลาว-ญี่ปุ่นที่จะไปปากเซ เราเลี้ยวขวาไปยังเมืองจำปาสัก วิ่งเรื่อยๆเอื่อยๆ จนผมอดกังวลไม่ได้ว่าจะทำเวลาได้ตามกำหนดหรือเปล่า เลยถามทางคนขับให้ทำความเร็วเพิ่มอีกหน่อยได้ไหม ทางคนขับบอกว่าขับรถในลาวขับเร็วไม่ได้เพราะต้องระวังอยู่ 2 เรื่องคือ 1. รถที่ส่วนมากขับตามใจฉัน ไม่ค่อยขับชิดขอบทาง ขับคร่อมเลน ไม่ค่อยให้สัญญาณไฟ 2.เด็กเล็กๆที่มักวิ่งเล่นตามข้างถนน ถนนที่ลาวจะไม่มีฟุตบาทหรือไหล่ทาง 3.สัตว์จำพวกวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ตามข้างทางมักเดินข้ามถนนตัดเส้นทางอยู่ให้เห็น

ปราสาทหินวัดพู

เริ่มเข้าสู่แขวงจำปาสัก จะเห็นบ้านเรือนเก่าๆเหมือนตามชนบทของเรา นั่งมองวิถีชีวิตของชาวลาวสองข้างทางเพลินๆ สายตามองเห็นยอดเขารูปทรงแปลกประหลาด ลักษณะเป็นเหมือนนมสาวอยู่ทางขวามือ ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่าภูเก้า หรือภูเกล้า ในภาษาไทย (ภาษาลาวจะไม่มีคำควบกล้ำ) เก้าในความหมายของชาวลาวลุ่มหมายถึง เกล้ามวยคือตามลักษณะของยอดเขาที่มีลักษณะเหมือนมวยผม "ซึ่งตามตำนานย้อนหลังไปในอาณาจักรเจนละจากจดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์สุย (Sui Dynasty พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑) กล่าวถึงเมืองเศรษฐปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ใกล้ภูเขาซึ่งมีนามว่าลิงคปรวตา ซึ่งน่าจะตรงกับภูเขา “ลิงเจียโปโป” ที่ชาวจีนกล่าวถึง นักวิชาการชาวฝรั่งเศสตีความต่อว่า คำว่า “ลิงเจียโปโป” น่าจะเป็นการออกเสียงของชาวจีนที่พยายามกล่าวคำว่า “ลิงคปารวตา” (ลิงคบรรพต) ซึ่งเป็นนามภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าคือภูเก้าในปัจจุบัน และที่ยอดเขามีทหารเฝ้าทั้งวันทั้งคืนถวายแด่เทพเจ้าที่สันนิษฐานว่าชื่อเทพเจ้า “โพโตลิ” ก็น่าจะตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ภัทเรศวร” ซึ่งเป็นชื่อของศิวลึงค์ที่ประดิษฐานที่ปราสาทวัดพูแห่งนี้อีกด้วย ดังนั้นปราสาทวัดพูจึงน่าจะสร้างขึ้นและได้รับการเคารพบูชาเป็นพิเศษมาตั้งแต่ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว" หรือเมื่อ 1,300 ปีมาแล้ว แต่ตัวปราสาทจะตั้งอยู่เชิงเขาลูกถัดมาซึ่งเรียกกันว่าภูควาย

ค่าเข้าประสาทหินวัดพูจะอยู่ที่ 50,000 กีบในวันธรรมดาส่วนในวันหยุดจะเป็น 55,000 กีบ จากทางเข้าวัดพู ไปจนถึงทางเดินขึ้นตัวปราสาทระยะทางค่อนข้างไกล จะมีรถกอลฟ์บริการรับส่งซึ่งรวมอยู่ในค่าผ่านประตูแล้ว ปราสาทหินวัดพูถือว่าเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของลาว เป็นโบสถ์พราหมณ์ที่สร้างถวายพระศิวะในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่เชิงเขาภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ในอดีตที่ตั้งของวัดพู นั้นเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกัน คือ อาณาจักรเจนละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (อังกอร์) ที่เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหินในราวพุทธศตวรรษที่ 9 และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในราวพุทธศตวรรษที่ 12

ถนนทางเข้าสู่ตัวปราสาทปูด้วยพื้นหินทราย ขอบทางเดินมีเสาหินรูปดอกบัวตูมเรียกว่า "เสานางเรียง" ซึ่งเป็นตัวกำหนดขอบเขตทางเดินสำหรับกษัตริย์และชนชั้นสูงในสมัยนั้น ตัวเสาจะเรียงรายทอดยาวไปจนถึงเชิงเขาอันเป็นทางขึ้นสู่ตัวปราสาท เมื่อสิ้นสุดทางเดินจะเห็นตัวปราสาทที่หันหน้ามาทางทิศตะวันออก 2 หลังตั้งอยู่คู่กันตามแนวนอน เรียกว่า "โรงท้าว" กับ "โรงนาง"สัณนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่แยกระหว่างชาย (โรงท้าว) หญิง (โรงนาง) สิ่งที่หน้าสนใจของตัวปราสาทตรงจุดนี้อยู่ที่ภาพแกะสลักลวดลายบนหน้าบันและ ทับหลัง ที่เป็นรูป "อุมามเหศวร" หมายถึง พระศิวะประทับนั่งบนหลังโคนนทิโดยมีพระศรีอุมาเทวีประทับนั่งบนพระเพลาพระศิวะเหนือหน้ากาลที่กำลังคายพวงอุบะ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะแบบบาปวน

ถัดจากตัวปราสาท 2 หลัง จะมีทางเดินขึ้นไปตามแนวลาดชันของภู ซึ่งเสานางเรียงก็สิ้นสุดตรงทางขึ้นบันไดชั้นแรก มองไปด้านหลังของปราสาทหลังซ้ายมือมองเห็นซากปรักหักพังของโบราณสถานหลังนึงซึ่งในยุคสมัยนั้นเรียกว่าโรงวัวอุสุพะลาด หรือ วัวนนทิ ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ และจากโรงวัวแห่งนี้ มีเส้นทางโบราณไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านธาตุ มุ่งตรงไปยังนครวัด ประเทศกัมพูชาได้ จากนั้นเป็นบันไดหินชั้นที่ 2 มีกองอิฐของปราสาทเก่า และชั้นกำแพงหินป้องกันดินทรุดเป็นระยะๆ ตรงบริเวณเศษซากซุ้มประตูที่ยังหลงเหลืออยู่มีรูปปั้นทวารบาล ในสภาพมือขวากุมไม้เท้า มือซ้ายแนบหน้าอก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทเบื้องบน แต่คนลาวเชื่อว่ารูปปั้นนี้คือ "พระยากำมะทา” ผู้ควบคุมการก่อสร้างปราสาทวัดพู กำลังทุบอกตนเองด้วยเสียใจที่การก่อสร้างปราสาทวัดพู เสร็จทีหลังการก่อสร้างพระธาตุพนม จุดนี้จะเป็นจุดที่ชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนมาจำหน่าย เพื่อสักการะรูปปั้น และมีคนเฒ่าคนแก่ผูกข้อมือนักท่องเที่ยวเป็นการรับขวัญอีกด้วย

ถัดจากบันไดชั้นที่ 2 ไปมีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 3 เพื่อขึ้นไปยังตัวปราสาทประธาน น่าแปลกที่จุดพักระหว่างชั้นจะมีซุ้มดอกลั่นทมหรือดอกจำปา ในภาษาลาวขึ้นปกคลุมให้ร่มเงาเมื่อยามแวะพักเหนื่อยระหว่างชั้น ตรงบันไดทางขึ้นจุดสุดท้ายนี้จะค่อนข้างชันมากขึ้นลงต้องระวังเป็นพิเศษ

ในที่สุดก็ขึ้นมาถึงตัวปราสาทประธานหรือหอไหว้ สำหรับปราสาทองค์ประธานนี้ ประกอบด้วยพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ฝาผนังส่วนด้านหน้าห้องโถง ก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้า ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านทิศตะวันตกที่ติดกับผาหินเป็นที่ประดิษฐาน ศิวลึงค์ มีน้ำศักดิ์สิทธ์ จากเพิงผาหินน้ำเที่ยง ไหลตามร่องหิน เข้าสู่ปราสาททางด้านหลังไหลเข้ามาอาบรดศิวลึงค์อยุ่ตลอดเวลา แล้วไหลตามร่องน้ำออกมาทางผนังด้านเหนือ ปัจจุบันไม่มีศิวลึงค์อยู่ในห้องนี้แล้ว

ภายในปราสาทจะมีภาพแกะสลักนูนสูงทั้งบนผนังหน้าบันและทับหลังเล่าเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รวมทั้งนายทวารบาลและนางอัปสรา ส่วนพระพุทธรูปมาประดิษฐานภายหลังจากที่อาณาจักรขอมเสื่อมลง เจ้าราชครูโพนสะเม็ก หรือพระยาคูขี้หอม พระภิกษุระดับมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ในอาณาจักรล้านช้างเดินทางมาตั้งเมืองจำปาสักเป็นเมืองหลวงฝ่ายใต้ ราวๆพุทธศตวรรษที่ 23 (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย) ปราสาทวัดพูภายใต้วัฒนธรรมลาวก็ถูกปรับเปลี่ยนจากการเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู มาเป็นวัดในพุทธศาสนา และชื่อเรียกว่า “วัดพู” ก็คงเกิดขึ้นจากชาวลาวแถบนี้ที่เคารพปราสาทแห่งนี้ในฐานะพระอารามในพุทธศาสนาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

จากป้ายบอกทางหน้าปราสาท มีเครื่องหมายบอกทางไปยังจุดรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เพิงผาด้านหลังตัวปราสาท ไหลมาจากยอดลึงคบรรพต จากภูเก้า และมีรูปปั้นแกะสลักเป็นรูปรอยพระบาทกับช้าง ซึ่งจุดรับน้ำไม่ได้เก็บภาพมาฝาก ส่วนด้านขวาจะตรงไปยังโขดหินที่แกะสลักรูปช้าง และรูปจระเข้ที่ไว้สำหรับบูชายัญ เสียดายที่เราหารูปแกะสลักจระเข้ไม่พบ จุดนี้จะเต็มไปด้วยโขดหินขนาดใหญ่ และเศษซากอิฐหินโบราณ

หากมองจากด้านบนลงไปเราจะเห็นวิวเขียวๆของที่ราบลุ่มยาวไปจนจรดแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านกลางแขวงจำปาสัก บริเวณทางขึ้น เราจะเห็นบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้น้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นสถานที่พักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานตั้งแต่สมัยนั้นจนงปัจุบัน ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู หมายถึง มหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก ชาวลาวเรียกว่า “หนองสระ” สมัยก่อนเคยมีศาลารับเสด็จเจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์ลาว) บนฐานหินเดิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปแล้ว

วัดพูสะเหล่า

เราออกจากวัดพูราวๆ 4 โมงกว่ากะว่าจะแวะเดินเล่นแถวๆเมืองเก่าจำปาสัก สักหน่อยเพราะยังมีวัดเก่าที่น่าสนใจบริเวณนี้อีก แต่กลัวว่าจะไปเก็บภาพพระอาทิตย์ตกดินบนวัดพูสะเหลาไม่ทัน และสภาพอากาศที่ฝนตกๆหยุดๆทั้งวันคงไม่เหมาะกับการเดินเล่นเป็นแน่ เลยมุ่งหน้าตรงไปวัดพูสะเหลาไปลุ้นดูว่าจะมีแสงอาทิตย์ตกยามเย็นสวยๆมั๊ย เราถึงวัดพูสะเหลาราวๆ 5 โมงกว่าปกติแล้วมีทางรถยนต์วิ่งขึ้นไปถึงยังตัวองค์พระขนาดใหญ่ด้านบนได้โดยไม่ต้องเดิน แต่ด้วยน้ำหนักของผู้โดยสาร รถเลยไม่สามารถส่งเราด้านบนได้ จึงต้องเดินอย่างเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัวและตอนนี้บันไดที่ชำรุดก็สร้างใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

จุดชมวิววัดพูสะเหลาถือว่าเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของตัวเมืองปากเซ ตั้งอยู่เชิงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่นก่อนเข้าเมืองปากเซ

อลิสา เกสต์เฮ้าส์

ที่พักของเราคืนแรกตั้งอยู่ในย่าน city center เป็นจุดศูนย์รวมการท่องเที่ยวในเมืองปากเซเลยก็ว่าได้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ล้วนอยู่บนถนนเส้นนี้ ผมจองที่พักผ่านเว็บอโกด้า รู้ว่าถ้า walk in เข้าไปราคาไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่เราไปกันหลายคนไม่มั่นใจว่าจะมีห้องหรือเปล่าหาก walk in เข้าไปเลยจองผ่านเว็บเพื่อความมั่นใจว่ามีห้องแน่นอนและก็คิดถูกวันนั้นที่เราไปห้องเต็มพอดี โรงแรมนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมแสงอรุณ ติดกับโรงแรมลานคำ โรงแรมนี้ไม่มีอาหารเช้าให้ ราคาตกราวๆห้องล่ะ 400-600 เราไปกันหลายคนหารกันแล้วเหลือแค่คนล่ะ 300 และก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย แค่อาศัยหลับนอนชั่วคราวแล้วไปต่อในวันรุ่งขึ้น แต่สภาพโรงแรมต้องยอมรับเลยเรื่องความสะอาด ถึงตัวห้องจะไม่มีของตกแต่งอะไรมากนัก แค่มีแอร์เย็นๆ มีน้ำอุ่นๆให้อาบก็หลับสบายแล้ว

ห้องมาตรฐานเตียงใหญ่

ห้องสำหรับ 3 คน 1 เตียงใหญ่ 1 เตียงเสริม

ห้องครอบครัว 2 เตียงใหญ่ ห้องนี้อาจมีเสียงรบกวนบ้างเพราะอยู่ติดถนน ไวไฟมีทั้ง lobby และแยกห้องใครห้องมัน

ร้านอาหารดาวลิน

เราออกไปหาอาหารค่ำกันหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน มีร้านที่ได้ยินได้เห็นผ่านโลกโซเชียลมาบ้างไม่รู้จะไปร้านไหนดี เห็นบรรยากาศน่านั่งอยู่ 2 ร้านใกล้ๆที่พักชื่อร้านดาวลิน กับ สบายดีปากเซ เราเลยลองร้านดาวลินกันก่อนเพราะเดินถึงก่อน หลังจากนั้นความสนุกก็เริ่มขึ้นเมื่อเราสั่งอาหารเสร็จ แล้วรอดูหน้าตาอาหารแต่ละอย่าง แล้วลองลิ้มชิมรสชาติของแต่ละเมนูที่ยกมาเสริฟ แล้วก็ up รูปลงโซเชียลกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งแต่ละเมนูที่เห็นก็เหมือนอาหารไทยนี่แหละ แต่ที่ต่างออกไปคือ พวกวัตถุดิบ เครืองปรุง และรสชาติที่มันไม่ใช่ รสชาติไม่ค่อยจัดจ้านเหมือนบ้านเรา รสชาติมันอร่อยแบบแปลกๆ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 กีบ ตกจานล่ะ 100 ถึงราคาจะดูแรงแต่ จานใหญ่และเยอะมากเช็คบิลมาหมดไป 3 แสนกว่ากีบ

วันที่ 2

วัดโพธิ์รัตนศาสดาราม (วัดหลวงปากเซ)

เช้านี้เราเดินเล่นชมวิวทิวทัศน์ของเมืองปากเซรอรถมารับไปยังจุดหมายต่อไป จากที่พักของเรา อลิสาเกสต์เฮ้าส์ เดินไปทางซ้ายอีกไม่ไกลจะเจอวัดหลวงอยู่ตรงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำเซโดน บรรยากาศยามเช้าค่อนข้างเงียบสงบประกอบกับฝนที่พรำลงมาเล็กน้อยตลอดทั้งคืน มองดูวิถีชีวิตผู้คนยามเช้าที่ลุกขึ้นมาใส่บาตรเป็นไปอย่างเรียบง่าย ดูมีมนต์เสน่ห์อย่างไรบอกไม่ถูก

วัดหลวงตั้งอยู่ริมฝั่งปากแม่น้ำเซโดนที่กำลังไหลไปลงแม่น้ำโขง เป็นวัดสำคัญที่สุดวัดหนึ่งของเมืองปากเซ ดูได้จากสถูปเก็บอัฐิเป็นของบุคคลมีชื่อเสียง เจ้านายเชื้อพระวงศ์จำปาสัก เช่นท่านกระต่าย โดนสะโลลิดอดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมก่อนการปฎิวัติของฝ่ายซ้ายในลาว

ถึงแม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้เก่ามากเหมือนทางแถบหลวงพระบางหรือเวียงจันทร์ แต่ก็เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางพุทธศาสนามากว่า 100 ปี สิ่งปลูกสร้างที่ดูเก่าแก่ที่สุดในวัดน่าจะเป็นวิทยาลัยสงฆ์ ตัวอาคารสร้างแบบลาวแท้ มีเชิงชาย เครื่องหลังคาประดับประดาอยู่เต็มตามสไตล์ของวัดลาว ปัจจุบันเป็นที่เก็บตำราเก่าไม่เปิดให้เข้าชมเพราะตัวอาคารชำรุดทรุดโทรมมาก

หากเดินมาชมวิวบนสะพานด้านหลังวัด จะมองเห็นสายน้ำของแม่น้ำเซโดนไหลลงไปบรรจบแม่น้ำของ หรือแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คน 2 ข้างฝั่งลำน้ำ พร้อมทั้งก่อเกิดอารยะธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ยังสืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชื่อเมืองปากเซก็มาจากที่ตั้งบริเวณปากแม่น้ำเซโดนนี่เอง

เฝอลานคำ

ก่อนออกเดินทาง เรามาลองชิมเฝอร้านดังแห่งเมืองปากเซ ร้านนี้ชื่อร้านว่า "เฝอลานคำ" ตั้งอยู่หน้าโรงแรมลานคำ เปิดตั้งแต่ 6 โมงครึ่งไปจนถึงราวๆบ่าย 2 ก็หมดแล้ว ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 10,000 กีบ นอกจากเฝอแล้วยังมี ข้าวเปียกเส้น, ข้าวจี่ หรือ บาแก็ตต์ (ขนมปังฝรั่งเศสที่ทำเป็นลักษณะแซนด์วิชมีใส้อยู่ตรงกลาง)

ใกล้ๆกันมีร้านเช่ามอเตอร์ไซด์ชื่อดังเมืองปากเซ ชื่อร้าน Miss Noy ไว้เป็นอีกตัวเลือกในการเดินทาง ที่ราคาย่อมเยากว่าการเหมารถเที่ยว ตกวันล่ะ 200-300 บาท

หลังจากหาอะไรรองท้องยามเช้าแล้ว มีรถจากบ.ทัวร์ส่งสามล้อมารับพวกเราไปขึ้นรถที่หน้าบริษัทซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรา ขั้นตอนการหารถเช่าไปยังบ้านนากะสัง อันเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังหลายที่ของเมืองจำปาสักให้จองกับทางเคาน์เตอร์โรงแรม แล้วเขาจะติดต่อส่งรถมารับถึงหน้าโรงแรม ส่วนสถานที่ที่เราจะไปวันนี้คือ คอนพะเพ็ง หลี่ผี และนอนที่ดอนคอน 1 คืน ค่ารถรวมค่าเรือไปส่งยังดอนคอนตกคนล่ะ 70,000 กีบหรือประมาณ 266 บาท รถจะจอดที่ท่าเรือบ้านนากะสัง ขอบอกว่าก่อนนั่งรถให้เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะรถจะไม่แวะที่ไหนอีก และปั๊มระหว่างทางก็ไม่ค่อยมีห้องน้ำ ยกเว้น ปตท ของไทยที่ไปเปิดบริการอยู่ที่นั้น

สภาพรถเป็นรถตู้ขนาดใหญ่แต่ค่อนข้างเก่า แอร์ไม่เย็น นั่งแถวล่ะ 4 คนอัดกันไป ต้องทำใจจริงๆเรื่องรถเช่าที่เราต้องไปแชร์กับนักท่องเที่ยวอื่นที่จะไปยังจุดหมายเดียวกัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆก็ถึงท่าเรือบ้านนากะสัง รถจะมาจอดตรงสุขศาลาแล้วจะมีพวกวินมอไซด์หรือสกายแล็ปมารอรับไปยังท่าเรือ พวกเราขี้เกียจนั่งรถเลยเดินยืดเส้นยืดสายหลังจากที่อัดกันมานาน เดินมาได้ประมาณ 300 เมตรก็เลี้ยวขวาไปสอบถามนายท่าว่าเรือมีตลอดหรือเปล่า เพราะเราจะหารถไปเที่ยวคอนพะเพ็งกันก่อนค่อยกลับมาลงเรือไปดอนคอน เรื่องเรือนั้นมีตลอด แต่รถที่จะไปคอนพะเพ็งนั้นเรากะว่าจะสอบถามแถวท่าเรือ แต่พอดีว่าทางรถที่เรานั่งมาอาศัยช่วงเปลี่ยนกะ มีคนขับรถอีกคนมาเปลี่ยนบอกถ้าไปคอนพะเพ็งคิดคนล่ะ 100 สนใจมั๊ยก็เลยตอบตกลงเหมาไปในราคา 1,100 แต่ทั้งๆที่จ่ายราคาเหมาแล้วทางคนขับบอกขอรับฝรั่งไปส่งที่ด่านพรมแดนลาว-กัมพูชา อีก 2 คนซึ่งอยู่ห่างจากคอนพะเพ็งไม่กี่โล ความจริงเขาจะไปส่งฝรั่ง 2 คนแต่หารายได้พิเศษโดยเอารถบริษัทมารับพวกเราไปคอนพะเพ็งซึ่งเป็นทางผ่าน

น้ำตกตาดคอนพะเพ็ง

จากท่าเรือบ้านนากะสังนั่งรถไปยังคอนพะเพ็งระยะทางประมาณ 10 กิโล รถแวะส่งเราก่อนจะพาฝรั่งไปส่งยังด่านเวินคาม ซึ่งเป็นด่านชายแดนลาว-กัมพูชา ช่วงที่แวะส่งพวกเราก่อนเลยชวนฝรั่งถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหลังจากที่คุยกันอย่างสนุกสนานตอนนั่งมาด้วยกัน สำหรับราคาค่าเข้าน้ำตกตาดคอนพะเพ็งนั้น โหดไม่ใช่เล่นแพงกว่าวัดพูซะอีก อยู่ที่คนล่ะ 55,000 กีบ เงินไทยก็ 210 บาท ! เข้ามาแล้วจะมีรถกอล์ฟพาเราไปส่งยังจุดชมวิวคอนพะเพ็ง

วิวเบื้องหน้าที่เห็นต้องบอกว่าอลังการงานสร้างจริงๆ สายน้ำสีโอวัลตินที่ไหลบ่ามาทุกทิศทุกทางเชี่ยวกรากและดุดันได้โยนตัวลงตกกระทบเกาะแก่งชั้นหินต่างๆเกิดเป็นละอองฟุ้งกระจาย และเสียงดังปานฟ้าถล่มอยู่เบื้องหน้านั้นเป็นฝีมือของธรรมชาติที่ได้รังสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาล้วนๆ

น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภูมิภาคอินโดจีน น้ำตกคอนพะเพ็งเป็นน้ำตกที่มีหลายชั้น ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ 10 เมตร จัดเป็นน้ำตกที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำโขงตอนล่าง น้ำตกแห่งนี้ได้รับฉายาว่า "ไนแอการาแห่งเอเชีย" ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก ห่างจากเมืองปากเซประมาณ 150 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและสวยงามมากแห่งหนึ่งของประเทศลาว โดยคำว่า "คอน" หมายถึง "แก่ง" หรือ "เกาะ" "พะเพ็ง" หมายถึง "พระจันทร์วันเพ็ญ"

นอกจากวิวที่งดงามแล้ว ยังมีร้านอาหารของที่นี่ชื่อร้าน"ศาลาชมวิว"ที่รสชาติอร่อยไม่แพ้วิวเลย โดยเฉพาะเมนูปลาแม่น้ำโขงทั้งหลาย เสียดายไม่ได้ถ่ายเก็บภาพมาฝาก เพราะหิวกันมาก เราใช้เวลาเก็บภาพและทานอาหารกันอยู่ 2 ชั่วโมงกว่าจึงเดินทางกลับไปยังท่าเรือบ้านนากะสัง จากท่าเรือบ้านนากะสังไปยังที่พักของเราที่ดอนคอนใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ตลอดลำน้ำที่กว้างใหญ่บริเวณนี้มีเกาะแก่งอยู่มากมายยามน้ำลดจึงเป็นที่มาที่เรียกันว่า "สี่พันดอน" ซึ่งหมายถึงมีเกาะแก่งบริเวณนี้ถึง 4 พันเกาะ แต่เกาะใหญ่ที่สุดชื่อว่าดอนโขงซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุดเรียกได้ว่าเป็นเมืองๆนึง นอกนั้นก็เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย แต่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักก็ 2 เกาะคือ ดอนเดด ดอนคอน ในส่วนของดอนเดดจะอยู่ใกล้ท่าเรือมากที่สุด ที่พักหลักๆจะอยู่ที่ดอนเดด ส่วนดอนคอนจะอยู่ลึกเข้าไปแต่จะสงบกว่าและอยู่ใกล้น้ำตกหลี่ผี กับคอนปลาสร้อยมากกว่า ทั้ง 2 เกาะนี้จะมีสะพานเชื่อมถึงกัน ระหว่างทางจะมองเห็นสิ่งปลูกสร้างในยุคล่าอาณานิคมทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์

ศาลาดอนคอน

เรามาถึงที่พักที่ศาลาดอนคอนราวๆ 3 โมงกว่า ให้เวลาพักผ่อนกันสักชั่วโมงนึง แล้วเดี๋ยว 4 โมงเราจะออกเที่ยวกันต่อ ที่พักที่เราจองไว้เป็น โรงแรมที่สร้างขึ้นในยุคล่าอาณานิคม เมื่อครั้งที่ลาวยังตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1896 หรือราวๆ 122 ปีมาแล้ว ซึ่งสถาปัตยกรรมเป็นแบบ French -Colonial style ซึ่งสมัยนั้นที่นี่เคยเป็น รพ.มาก่อน หลังจากสงครามอินโดจีนสงบลง ทางเจ้าของโรงแรมได้รับสัมปทานพื้นที่บริเวณนี้จึงปรับปรุงมาเป็นที่พักจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่ห้องพักแบบ French Heritage Villa ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมสมัยนั้นหลงเหลืออยู่บนเกาะแห่งนี้ ใครอยากสัมผัสกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดห้องนี้ ราคาห้องพักประมาณ 600-900 บาท

นอกนั้นก็จะมีบ้านพักอีกหลายสไตล์ทั้งแบบบ้านลาว ห้องสตูดิโอ หรือแบบบ้านดินผสมผสานกันอยู่ในเนื้อที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมให้ความร่มรื่นไปทั่วบริเวณ

นอกจากพื้นที่ที่เป็นสวนแล้วทางโรงแรมยังมีที่พักที่เป็นเรือนแพริมน้ำด้วย และผมก็พักส่วนของเรือนแพ ยอมรับว่าถูกใจมากทั้งห้องพักและบรรยากาศรอบๆ แถมหน้าห้องพักยังมีสระว่ายน้ำ และมีชั้นดาดฟ้าบนเรือนแพไว้ขึ้นไปชมวิวอีกด้วย

4 โมงแล้ว มาต่อกันทันทีโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ตาดสมพะมิดหรืออีกชื่อที่รู้จักกันดีคือหลี่ผีนั่นเอง และะอีกที่คือคอนปลาสร้อย แต่ด้วยเรื่องเวลามันอาจจะเก็บได้ไม่หมด ตอนนี้เรามีทางเลือกอยู่ 3 ทางในการจะไปยังจุดหมายปลายทางจากทางรีสอร์ท คือ 1.ใช้จักรยาน 2.มอเตอร์ไซด์ 3.มอเตอร์ไซด์พ่วงข้างพร้อมคนขับ เราเลือกทางเลือกที่ 3 ให้ทางรีสอร์ทหาสารถีพาไปยังจุดหมายปลายทางพร้อมกับแจ้งว่าหากเก็บไม่ทันจะมาต่อที่คอนปลาสร้อยในตอนเช้าอีกที เพราะตอนนี้ก็เย็นมากแล้วมีเวลาแค่ประมาณชั่วโมงเดียวก็จะค่ำแล้ว ตกลงราคากันที่คนล่ะ 210 บาทรวมค่าเรือไปส่งขากลับในวันรุ่งขึ้น กว่าจะหาคนขับได้ใช้เวลานานพอสมควรแถมหิ้วลูกมาทำงานด้วยอีก

น้ำตกตาดสมพะมิด (หลี่ผี)

รถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างพาพวกเราวิ่งออกจากหมู่บ้านไปตามทางดินที่เต็มไปด้วยหลุมโคลน ผ่านวัดคอนใต้ที่ท้ายหมู่บ้าน ผ่านเรือกสวนไร่นา ปลายนาจะมีเจดีย์บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษ ซึ่งผมไม่เห็นมานานมากแล้ว จำได้เมื่อตอนเด็กๆที่บ้านก็มีเจดีย์แบบนี้อยู่ปลายนาเหมือนกัน สภาพแวดล้อมรอบตัวดูเขียวไปหมดกลิ่นไอดินไอหญ้าหลังฝนตกใหม่ๆโชยมากระทบ ผมชอบกลิ่นแบบนี้จริงๆ นั่งรถชมวิวไปได้ไม่นานน่าจะสัก 2 กิโลก็ถึง เสียค่าเข้ากันคนล่ะ 35,000 กีบ ราวๆ 140 บาทไทย บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบมีแต่กลุ่มเรากลุ่มเดียวที่เดินเข้าไป มีป้ายบอกทางให้เห็นชัดเจน เดินผ่านดงไผ่ไปไม่ไกลก็จะได้ยินเสียงน้ำดังมาแต่ไกล

เบื้องหน้าที่เราเห็นตรงบริเวณจุดชมวิวที่อยู่ระนาบเดียวกันกับตัวตาด เป็นมวลน้ำสีแดงขุ่นข้นไหลผ่านเกาะแก่งซอกหลืบของชั้นหินตกลงไปยังวังน้ำด้านล่าง ที่มาของชื่อหลี่ผี นั้นมาจากอุปกรณ์จับปลาประเภทหนึ่งของชาวบ้านไว้สำหรับดักปลา ในช่วงสงครามอินโดจีนมีศพทหารลอยตามน้ำมาติดที่หลี่จำนวนมากเลยเป็นที่มาของชื่อสถานที่แห่งนี้ แต่ความจริงยังมีอีกชื่อนึงที่ส่วนใหญ่คนลาวเรียกกันคือ ตาดสมพะมิด หมายถึงทางเดินของสายน้ำที่ไหลมาตามช่องต่างๆจนมาเจอกัน (สมพาหรือรวมหลายสายมาเป็นมิตรกัน)

เราเดินย้อนกลับมาทางเดิมเพื่อที่จะไปยังชายหาด แต่เดินเข้าไปรู้สึกว่ายังไม่มีวี่แววจะเจอประกอบกับฝนก็เริ่มตกพรำๆมาแล้ว เลยตัดทางหามุมมองที่จะมองเห็นตัวตาดเต็มๆ ซึ่งเป็นมุมที่เขากำลังจะสร้างเป็นจุดชมวิวอีกจุด ซึ่งมุมนี้เป็นมุมกว้างจะเห็นตัวตาดในมุมที่สูงกว่า จริงแล้วช่วงเวลาที่เหมาะที่จะมาเที่ยวแถบนี้ควรจะเป็นช่วงธันวา - มีนา มากกว่าเพราะเป็นช่วงน้ำน้อยจะมองเห็นแก่งหินโผล่ขึ้นมามากมาย และน้ำจะใสมากกว่าช่วงน้ำหลาก

ฝนไล่หลังเรามาแล้ว เราเดินทางกลับแบบเปียกๆแบบนั้นแหละได้บรรยากาศดี ต่างคนต่างแยกย้ายกันขึ้นรถ ผมล่วงหน้ามาก่อนถึงที่พัก แต่แปลกใจว่าเพื่อนบางคนทำไมยังไม่ตามมา พอเขามาถึงเล่าให้ฟังว่าคนขับที่พาลูกซ้อนไปด้วยทิ้งไปหลบฝนกันดื้อๆปล่อยให้เพื่อนผมนั่งคอยอยู่บนรถแถมไม่เอาลูกลงไปหลบฝนด้วยปล่อยให้นั่งเปียกอยู่บนรถมอเตอร์ไซด์ เพื่อนต้องอุ้มเด็กมาหลบฝนบนนที่นั่งผู้โดยสารแทน เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำใจกับเรื่องการบริการนักท่องเที่ยวของคนในชุมชน ซึ่งทางผู้จัดการรีสอร์ทก็ขอโทษพร้อมบ่นให้ฟังว่า กว่าจะหารถได้บางคนรับปากแล้วก็ไม่ยอมมา บางคนก็นอนอยู่ยังไม่ตื่น เลยต้องหาคนที่พอจะขับรถพานักท่องเที่ยวไปได้ ผู้คนที่นี่อาจจะเคยชินกับวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่ไม่เร่งร้อนอะไร แม้แต่ตอนกลางคืนไฟบนเกาะดับ เขาก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร เพราะเมื่อก่อนเขาก็อยู่กันแบบไม่มีไฟฟ้าใช้ ทางรีสอร์ทก็แจ้งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ แต่ก็ไม่เข้าไปจัดการ ผมเองก็พยายามไม่ถือสาอะไรมาก เพราะเคยมาเที่ยวลาวใต้หลายครั้ง ค่อนข้างเข้าใจอุปนิสัยของคนลาว อะไรผ่านได้ก็ผ่าน ไม่งั้นจะเที่ยวไม่สนุก

ร้านอาหารศาลาดอนคอน

ไม่ต้องไปหาร้านอาหารที่ไหน ในตัวของโรงแรมมีร้านอาหารริมน้ำบรรยากาศชิลๆ สบายๆไว้สำหรับนั่งทานอาหารหรือจะนั่ง drink รสชาติอาหารก็ถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว เป็นรสชาติของคนพื้นที่จริงๆในส่วนเมนูบ้านๆอย่างเมนูจำพวกปลาทั้งหลาย อย่างลาบปลาแม่น้ำโขง ต้มยำปลาคัง ปลาเผาจิ้มแจ่ว ส่วนอาหารเช้าจะรวมอยู่ในราคาห้องพักแล้ว ก็จะเป็นเมนูให้เลือกอยู่ 3 เมนูคือ ข้าวต้ม, ขนมปัง-ไข่ดาว ออมเล็ท, ไข่กระทะ เลือกอย่างใดอย่างนึงแต่ไปๆมาๆเราขอเพิ่มเมนูอื่นๆก็ยกมาเสริฟให้เรื่อยๆ



เช้าวันที่ 3

ปั่นจักยานชมวิวดอนคอน

เช้านี้ผมลุกขึ้นมาตอนประมาณตี 5 ครึ่งที่นี่สว่างเร็วมาก ยืมจักรยานทางรีสอร์ทปั่นเที่ยวบนเกาะดอนคอนสูดอากาศยามเช้า ดูวิถีชีวิตผู้คน ชมเศษซากของสิ่งปลูกสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสยึดครองบริเวณนี้ ผมเข็นจักยานขึ้นไปบนสะพานฝรั่งเศษที่เชื่อมระหว่างเกาะดอนเดด และดอนคอน ยืนมองทัศนียภาพรอบๆตัว ไอหมอกลอยปกคลุมภูเขาอยู่เบื้องหลังเกสต์เฮ้าส์ที่เงียบสงบในช่วงโลว์ซีซั่น สายน้ำที่ไหลเอื่อยๆนานๆจึงจะมีเรือสักลำแล่นผ่านมา ชาวบ้านลอยเรือไปปลดปลาที่วางอวนไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน ร้านอาหารตรงเชิงสะพานมีเสียงทำกับข้าวลอยมาให้ได้ยิน ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นที่กำลังปรับตัวเข้ากับกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังไหลบ่ามายังที่แห่งนี้ อีกไม่นานคงจะเหมือนที่ท่องเที่ยวอื่นๆทีเมื่อความเจริญย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นก็จะค่อยๆเลือนหายไป

น้ำตกคอนปาส้อย (คอนปลาสร้อย)

เรานัดมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างไว้ตอน 8 โมงเช้าเพื่อมาเก็บตกน้ำตกคอนปลาสร้อยหลังจากที่เมื่อวานเราทำเวลาไม่ได้ รถมารับเราแค่ 3 คัน อีก 2 คันยังไม่ตื่นทางรีสอร์ทเลยให้มอเตอร์ไซด์เราขับไปเองอีก 2 คัน เราไปทางเดิมกับเส้นหลี่ผี แต่ก่อนถึงสะพานฝรั่งเศสจะมีทางเลี้ยวซ้ายออกหลังหมู่บ้านขับลัดเลาะไปตามเส้นทางที่สองข้างทางเป็นป่าละเมาะค่อนข้างเปลี่ยว ระยะทางสัก 3-4 กิโลได้จะมีป้ายบอกทางเล็กๆตามแยกต่างๆถ้าไม่สังเกตุให้ดีอาจมีหลงได้ ในที่สุดก็มาถึงคอนปลาสร้อย น่าแปลกใจที่ตรงนี้กลับไม่เสียค่าเข้า

เราเดินผ่านเข้ามาในรัั้วบ้านเหมือนเป็นบ้านคนและทำเป็นร้านอาหารตรงเชิงสะพานแต่ไม่เห็นมีใครอยู่ ใกล้ๆมีสะพานแขวนข้ามลำน้ำที่ไหลเชี่ยวอยู่เบื้องล่างดูน่าหวาดเสียวนัก เราเลยหยุดถ่ายภาพหวาดเสียวกันสักหน่อย เดินมองไปมองมา ภาพในหัวบอกผมว่าคอนปาสร้อยไม่ได้มีแค่นี้ ผมเลยเดินข้ามสะพานเข้าไปในป่าฝั่งตรงข้าม ตอนนี้เราเริ่มแตกเป็น 3 กลุ่ม แต่เส้นทางไม่ได้ชวนหลงมากนัก เดี๋ยวก็วนมาเจอกันเอง ผมเดินลึกเข้าไปจนสุดชายน้ำ ภาพเบื้องหน้าคือแหล่งทำประมงของชาวบ้านมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านกำลังวางหลี่ดักปลาไว้แทบทุกจุดของลำน้ำที่ไหลเชี่ยวรอฤดูกาลจับปลาในช่วง กรกฎาคม-สิงหาคมที่จะมาถึงนี้ หากเจ้าปลาเคราะห์ร้ายตัวใดที่ว่ายน้ำขึ้นเหนือมาวางไข่ที่อยู่ต้นน้ำหากมาเจอเกาะแก่งที่ขวางกั้นก็จะพากันกระโดดข้ามไป แต่หากตัวใดหมดแรงก็จะตกลงไปยังหลี่ที่ดักไว้อยู่มากมาย ซึ่งภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สามารถจับปลาได้ปีละจำนวนมากๆที่เราเห็นนี้อาจจะหายไปจากการมาของเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังก่อสร้างอยู่แถวบ้านดอนสะดำ ไม่ไกลจากจุดนี้มากนัก ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบถึงวิถีชีวิตชาวประมง ยังมีผลกระทบไปถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างคอนพะเพ็งที่ระดับน้ำอาจลดต่ำลง นอกจากนี้ยังมีฝูงปลาโลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ที่เหลืออยู่อีกไม่ถึง 10 ตัวด้วย

เราออกเดินทางกลับเข้าฝั่งท่าเรือบ้านนากะสังอีกครั้งตอน 10 โมงเช้า วันนี้เราจะมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปทางเมืองปากซอง โดยเราได้นัดรถมารับตอน 10 โมงครึ่งกับบริษัททัวร์เจ้าเดิมที่ตอนขามา ในราคาเหมา 2 วันราคา 2,200,000 กีบ ตีเป็นเงินไทยตก 8,800 บาทหาร 11 คนตกคนล่ะ 800 โดยรับจากท่าเรือบ้านนากะสังแวะเที่ยวตามรายทางไปเรื่อยๆแล้วไปพักเมืองปากซองคืนนึงอีกวันก็เที่ยวต่อและมาส่งพวกเราที่ด่านชายแดนวังเต่า-ช่องเม็กในตอนเย็น

น้ำตกตาดฟาน

ช่วงนี้เมืองปากซองกำลังขยายถนนต้อนรับนักท่องเที่ยว(ทำทุกปีไม่เสร็จสักที)ที่กำลังหลั่งไหลกันมาตลอดหลายปีที่ลาวได้เริ่มเปิดประเทศ เราใช้เวลาเดินทางจากบ้านนากะสังมาถึงเมืองปากซองราวๆบ่ายโมงกว่ารถพาเราไต่ระดับความสูงขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว จนหูเริ่มอื้อถึงได้รู้ว่าตอนนี้เราขึ้นมาบนที่ราบสูงแห่งเมืองปากซองแล้ว ภาพความทรงจำเก่าๆผุดขึ้นมากมายตลอดช่วงเวลาหลายปีบนเส้นทางนี้.. ที่แรกที่จะไปต่อจากนี้คือ น้ำตกตาดฟาน ซึ่งตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 38 มีทางแยกเข้าขวามือเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตรเราจะแวะกินข้าวกลางวันกันที่นี่หลังจากเลยเวลาอาหารกลางวันมาเกือบ 2 ชม. เสียค่าเข้าคนล่ะ 10,000 กีบ

น้ำตกตาดฟาน เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในแขวงจำปาสัก จากจุดชมวิวมองลงไปจะเห็นสายน้ำ 2 สายไหลมาตกลงหุบเหวเบื้องหน้า สายน้ำด้านซ้ายไหลมาจากห้วยผักกูด ส่วนด้านขวาจะไหลมาจากอุทยานแห่งชาติดงหัวสาวบนที่ราบสูงบอละเวน ความรุนแรงของสายน้ำผนวกกับความสูงที่มวลน้ำไหลตกลงไปยังด้านล่างทำให้เกิดละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ที่นี่นอกจากจะมีรีสอร์ทให้พักแล้ว ยังมี zipline ซึ่งตอนนี้กำลังโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยใครอยากลองมาสัมผัสลองได้น่ะครับราคาไม่แรงเหมือน ตาดเสือตาดขมึด ซึ่งปีก่อนผมเคยมาลองความเสียวดูแล้วปีนี้เลยขอผ่าน

ภาพจากปีที่แล้วที่ผมได้มาลองความเสียว

ตาดอีตู้รีสอร์ท

เราใช้เวลาที่ตาดฟานกันค่อนข้างนานสัก 2 ชม.เห็นจะได้ เลยเปลี่ยนแผนจากการที่จะไปตาดเยืองต่อ มุ่งหน้าเข้าที่พักกันดีกว่า จะได้มีเวลาเล่นน้ำให้ชุ่มปอดกันเลยทีเดียว เราออกจากตาดฟานมาที่ตาดอีตู้รีสอร์ทใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง ตาดอีตู้รีสอร์ทตั้งอยู่หลัก 35 จากแยกปากทางเข้าบนถนนสายปากเซ-ปากซอง เข้าไปประมาณ 1 กม.ตัวรีสอร์ทเป็นแบบบังกาโลตั้งลดหลั่นลงมาจากเนิน มีความร่มรื่นและความชื้นสูงเช้าๆบางวันจะมีไอหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 - 1,300 บาท

น้ำตกตาดอีตู้

หลังจากจัดแจงเก็บของไว้ในห้องพักแล้ว พวกเรารีบลงไปสำรวจตาดกันทันทีเพราะอีกไม่นานก็ใกล้จะค่ำแล้ว แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจซะงั้น ประกอบกับทางเดินลงค่อนข้างลื่นและสูงชันเอาเรื่องอยู่ เราเลยมานั่งหลบฝนกันในศาลาริมทางเดินรอฝนหยุดและตัดสินใจว่าจะลงวันนี้หรือพรุ่งนี้เช้าดี แต่ไหนๆก็มองเห็นน้ำตกอยู่ข้างหน้าใกล้ๆแล้ว จะมานั่งจับเจ่าเป็นนกเขาคอตกก็ใช่เรื่อง ไม่ลงไปก็คงเสียดายแย่ เพราะพรุ่งนี้เช้าเราต้องรีบทำเวลาไปเก็บตกตาดอื่นๆอีก (ที่นี่ถ้าเป็นคนนอกที่ไม่ได้พักในรีสอร์ทจะเสียค่าเข้ามาชมน้ำตกคนล่ะ 5,000 กีบ)

ทางลงที่สูงชันไม่เป็นอุปสรรคมากนัก เป็นบันไดปูนมีราวจับดูมั่นคงแข็งแรงดี แต่ขาขึ้นคงเหนื่อยหน่อยเพราะขึ้นสุดลงสุด ภาพเบื้องหน้าที่เราเห็นในระยะใกล้ คือความงามของตัวน้ำตกตาดอีตู้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ไร้สิ่งรบกวน ความสดชื่นเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้ากับละอองน้ำที่เย็นเฉียบกระเซ็นมาสัมผัสผิวกายเรียกให้เราเดินเข้าไปใกล้ๆ หลังจากนั้นเราก็ดื่มด่ำเพลิดเพลินไปกับสายน้ำกันอย่างเต็มที่

วันที่ 4

ตาดเยือง

หลังจาก check out เรานัดรถมารับประมาณ 9 โมงตรง มุ่งหน้าสู่ตาดเยืองซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ตั้งอยู่บ้านหลักที่ 40 มีทางแยกเข้าขวามือเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ฝนฟ้าก็ยังคงตกๆหยุดอยู่เช่นเคย แถบนี้ขึ้นชื่อเรื่องฝนชุกทีเดียว เที่ยวหน้าฝนต้องทำใจอาจะไม่สะดวกเฉอะแฉะไปบ้าง แต่สิ่งที่คุณจะได้รับคือธรรมชาติอันแสนสดชื่นในช่วงฤดูฝนและเป็นช่วงที่ปลอดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ตาดเยืองในวันนี้ดูเปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนที่เคยมา มีสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆเกิดขึ้นอีก 2-3 จุด ดูเป็นระเบียบมากขึ้น เสียค่าเข้าคนล่ะ 10,000 กีบ

ตาดถ้ำจำปี

ตั้งอยู่หลัก 38 เช่นเดียวกับตาดฟานแต่คนละฝั่ง จะเห็นว่าแถบนี้มีน้ำตกมากมาย ตั้งอยู่เรียงราย 2 ข้างทาง จากปากทางเข้าไปค่อนข้างลึกพอสมควร ตลอดรายทางล้วนเต็มไปด้วยไร่กาแฟของชาวบ้าน แทบจะเป็นพืชประจำบ้านของที่นี่เลยก็ว่าได้ นอกนั้นก็ยังมีผลไม้เมืองหนาว ทั้งอะโวคาโด และแม็คคาดาเมีย เป็นต้น ส่วนค่าเข้าที่นี่คนละ 5,000 กีบ เราเดินลัดเลาะเข้าไปในไร่กาแฟที่ปลูกอยู่ข้างน้ำตกไม่ไกลก็จะเห็นตัวน้ำตกจากมุมสูง มีทางลงอยู่ 2 ทาง ทางแรกอยู่ตรงจุดชมตัวน้ำตกมุมสูงลงบันได้ไม้แคบๆและค่อนข้างชัน กับอีกทางเดินไปท้ายไร่ไม่ไกลมากแล้วเดินเรียบลำธารย้อนมา เดินข้ามสะพานข้ามห้วยไปยังฝั่งตรงข้าม

ตัวน้ำตกตาดถ้ำจำปีมีความสูงราวๆสัก 5 เมตรได้ สามารถเล่นน้ำได้ แต่พวกเราไม่ได้เล่นน้ำกัน เพราะต้องรีบทำเวลากลับเข้าด่านไปขึ้นเครื่องตอนประมาณ 6 โมงเย็น





ขึ้นมาจากตัวน้ำตกนั่งแวะกินน้ำกินท่าร้านค้าตรงบริเวณทางลงน้ำตก และช่วยอุดหนุนผลิตผลจากไร่อะโวคาโดลูกโตๆของชาวบ้านเสียหน่อย รสชาติมันๆนัวๆโรยน้ำผึ้งหน่อยอร่อยเหาะไปเลย





เฝอแม็กกี้

จริงๆแล้วยังเหลือตาดผาส้วมอีกแห่งนึงที่เป็นที่สุดท้ายซึ่งดูเวลาแล้วเพิ่งจะเที่ยงครึ่งก็ยังทัน แต่เราไม่อยากกลับเข้าด้านแบบรีบเร่งฉิวเฉียด และอีกอย่างตาดผาส้วมมันค่อนข้างกว้างมีหลายจุด ทั้งตัวตาดผาส้วมเอง และน้ำตกบักแงว รวมทั้งหมู่บ้านชนเผ่าซึ่งคงใช้เวลากันนาน และยังไม่ได้ทานข้าวกลางวันกัน เลยยกเลิกเข้าไปกินเฝอร้านดังอีกร้านของเมืองปากเซ ร้านเฝอแม็กกี้ผมเคยมาทานแล้วครั้งนึงยังติดใจรสชาติและปริมาณมาจนถึงทุกวันนี้ ครั้งนี้เลยพาเพื่อนๆมาลองกัน ร้านนี้ตั้งอยู่หลัก 2 ของเมืองปากเซ เปิดตั้งแต่เช้าไปจนถึงบ่ายๆก็หมดแล้ว ราคาเริ่มต้นที่ 20,000 กีบไปจน 50,000 กีบที่เป็นถ้วยเกือบเท่ากาละมังย่อมๆใบนึงมีทั้งเนื้อวัว และเนื้อหมู ผมชอบที่ร้านี้ให้เครื่องมาหลากหลายมีทั้งหมูยอ เครื่องใน เนื้อตุ๋น เนื้อสด แถมเจ๊แม็กกี้เองแกก็มักแถมเนื้อเปื่อยมาให้กินเล่นทุกครั้ง บนโต๊ะจะมีผักสด ครื่องปรุง และที่ขาดไม่ได้คือซอสพริกกับกะปิ ที่คนลาวชอบทานเฝอแล้วใส่ซอสพริกกับกะปิเข้าไปด้วย ผมลองทานแล้วท้องใส้ปั่นป่วนไปหมด ขอแบบน้ำซุปธรรมดาไม่ต้องใส่อะไรเลย กินกับผักสดๆก็แซ่บหลายแล้ว

กินกันอิ่มหนำสำราญ ก็ถึงเวลาต้องอำลาเมืองปากเซอีกครั้ง รถตู้พาเราไปส่งที่ด่านวังเต่า ตอน 4 โมงเย็นแวะซื้อของฝากที่ duty fee ดาวเรืองตรงด่านก่อนกลับเข้าไทย หารถเช่าเหมาไปสนามบินในราคา 1,500 เหมือนตอนขามา.. รีวิวของผมภาพอาจจะเยอะ กระทู้อาจจะยาวไปหน่อย แต่อยากให้เพื่อนๆได้เห็นหลายๆมุมจะได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวลาวใต้กันอย่างสนุก

: ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเพื่อนร่วมทริปด้วยครับ

สรุปค่าใช้จ่ายหลักๆของทริปปากเซ 4 วัน 3 คืน แปลงเป็นเงินไทยเทียบอัตรา 1 บาท = 260 กีบ ตกคนละ 6,102 บาทไม่รวมค่าอาหารน่ะครับ


ยังมีเรื่องลาวๆอีกหลายเรื่องที่น่าติดตามเข้าไปชมได้ตาม link เหล่านี้

3 คืน 4 วันเที่ยวแบบมันส์ๆในลาวใต้ : ตะลุย จำปาสัก ปากซ่อง หนองหลวง อัตปือ

ยกก๊วน ชวนเที่ยว หลวงพระบาง-หนองเขียว ไปกัน

บ๊ายบายท้องฟ้า บ๊ายบายสายลม @ Zipline ตาดฟานรีสอรท์ ลาวใต้

อันซีน อัตปือ สำรวจตาดแซพะ - ตาดแซป่องไล เพชรเม็ดใหม่แห่งที่ราบสูงโบโลเวน

รีวิวที่พัก : The Elephant Crossing Hotel วังเวียง สปป.ลาว

รีวิวที่พัก : Mountainview Riverside Boutique Hotel วังเวียง สปป.ลาว

รีวิวที่พัก : เวียงธาราวิลลา วังเวียง สปป.ลาว

ออกไปใช้ชีวิตมันส์ๆ ที่วังเวียง สปป.ลาว กันเถอะ

ปีนป่ายหุบเหวน้ำตกยักษ์ ชมความงาม ตาดนางนี - ตาดน้ำพาก แห่งที่ราบสูงบอละเวน สปป.ลาว

ด่านใหญ่ - ตาดเสือ - ตาดขมึด อัญมณีแห่งที่ราบสูงบอละเวน สปป.ลาว

สำรวจตาดเซคำพอ ที่ราบสูงบอละเวน ลาวใต้


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด



สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว

 วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 09.40 น.

ความคิดเห็น