เรียนรู้วิถีชุมชน และวัตนธรรม ณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเส้นทางที่เป็นทางออกสู่ภาคตะวันออก เป็นที่รู้จักกันว่า เป็น เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม ตามคำขวัญประจำจังหวัดบุรีรัมย์เลยค่ะ

จังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหมสวย ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีอาชีพการทอผ้าไหมอยู่ในปัจจุบัน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน วัฒนธรรมอันเก่าแก่ คือ บ้านหัวสะพาน และบ้านนาโพธิ์

ซึ่ง I am Devil ยัยตัวร้าย ได้ พาไปสัมผัสวิถีชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสู่โอทอป (OTOP) ณ บ้านท่องเที่ยวไหม ชุมชนบ้านหัวสะพาน ตำบลบ้านยาง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ กันแล้ว

I am Devil ยัยตัวร้าย จะพาไปเรียนรู้วิถีชุมชน วัฒนธรรม การทอผ้าไหม ณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ กันต่อค่ะ

การเดินทาง

สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง

  • จากตัวเมืองบุรีรัมย์ วิ่งตามทางหลวงหมายเลข 2074 มุ่งหน้าไปยังอำเภอพุทไธสง เจอสี่แยก ขิงไค ให้ตรงไปจะมีป้ายบอกทางไปอำเภอนาโพธิ์
  • จากท่าอากาศยานบุรีรัมย์ วิ่งตามทางหลวงหมายเลข AH121 มุ่งหน้าสู่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ถึงสี่แยก พยัคฆภูมิพิสัย เลี้ยวซ้ายไปยังทางหลวงหมายเลข 202 ไปยังอำเภอพุทไธสง จอสี่แยก ขิงไค ให้เลี้ยงขวา จะมีป้ายบอกทางไปอำเภอนาโพธิ์

I am Devil ยัยตัวร้าย เดินทางมาถึง โรงทอผ้า ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านนาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

จะมีร้านขายผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไหมโบราณ ผ้าไหมไทย ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมประยุกต์ ซึ่งร้านมีชื่อว่า “ผ้าตุ้มทอง (Pha Toomthong)”

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่

คุณแสงเดือน จันทร์นวล

119/4 หมู่ 1 ถนนเศรษฐกิจ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31230

เบอร์โทร 044-686044, 084-960-4291

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาโพธิ์ แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของ คุณประจวบ จันทร์นวล

เรามาดูวิธีการทำผ้าไหมกันค่ะ เริ่มจากนำรังไหม ที่สุกแล้ว มาทำการคัดแยกรังดี และรังเสีย ออกจากกัน

การสาวไหม เป็นวิธีแบบพื้นบ้าน

การต้มรังไหม มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้กาวซิริซิน ละลาย และอ่อนตัว เพื่อให้การดึงเส้นไหม จากเปลือก ทำให้สาวเส้นไหมออกได้ง่าย น้ำสำหรับต้มรังไหมต้องเป็นน้ำจืด ใส สะอาด มีค่าความเป็น กรด-เบส อยู่ในระดับที่เป็นกลาง และต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อน้ำเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ หรือสกปรก เพื่อควบคุมคุณภาพด้านสีของเส้นไหม

การดึงเส้นไหม โดยให้เส้นไหมลอดออกมาตามแฉกไม้ ซึ่งจะทำให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอ และรังไหมไม่ไต่ตามมากับเส้นไหม เส้นไหมที่สาวได้ จะผ่านไม้หีบขึ้นไปร้อยกันรอกที่แขวน หรือพวงสาวที่ยึดติดกับปากหม้อ แล้วดึงเส้นไหมใส่กระบุง

นำเส้นไหมผึ่งลมให้แห้ง

การด่องไหม

การด่องไหม หรือการลอกกาวไหม เป็นการต้มฟอกไหมดิบสีเหลือง และแข็งกระด้าง เพื่อลอกกาวไหม หรือน้ำลายของตัวหนอนไหมที่พ่นออกมาขณะพ่นใยสร้างรังไหมออก เพื่อการเตรียมเส้นใยไหมก่อนที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ ซึ่งถ้าหากไม่มีการกำจัดสารซิริซิน ออก หากนำมาย้อมก็จะทำให้เกิดการย้อมติดสีต่างๆ ได้ยาก โดยจะได้เส้นใยไหมที่ผ่านการลอกกาวจะมีลักษณะสีขาว มันวาว อ่อนนุ่ม สามารถย้อมติดสีต่างๆ ได้ดี

การค้นหัวหมี่ หรือการเตรียมเส้นพุ่ง

เครื่องมือที่ใช้ค้น เรียกว่า “เผือ” การค้นจะจัดแบ่งเส้นไหมออกเป็นลำแต่ละลำจะมีเส้นไหมเท่ากันยกเว้นลำแรก และลำสุดท้ายจะมีจำนวนเส้นไหมเท่ากับครึ่งหนึ่งของลำอื่นๆ จำนวนลำหมี่จะขึ้นอยู่กับลายหมี่

เครื่องค้นหมี่ หรือโฮงค้นหมี่ จะมีลักษณะเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 60 – 80 เซนติเมตร ยาว 1.02 เมตร (ความยาวเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว)

วิธีการค้นหมี่ จะเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้แล้วมามัดกับหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า การก่อหมี่ การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบรอบที่ต้องการ จะเรียกแต่ละจำนวนว่าลูก หรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูกเส้นไหมด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง ควรผูกเส้นไหมทุกลูกไว้ด้วยสายแนม เพื่อไม่ใหม่หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน

การผูกสายแนม หรือการสาน หรือการไพลำไหม เพื่อแยกเส้นไหมแต่ละลำออกจากกันนั้น ถ้าเราไพแน่น จะมีผลทำให้ฟอกสี หรือย้อมสีเส้นไหมไม่ทั่วถึง เมื่อนำไปเส้นไหมนั้นไปทอจะได้ผืนผ้าที่ไม่เรียบ สีไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเส้นไหมที่ย้อมได้มีทั้งเส้นไหมอ่อน และแข็ง

การค้นหมี่ คือ การนับจำนวนเส้นด้ายพุ่งตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ทั้งผืน เพื่อเตรียมมัดลาย และย้อมสี

การมัดหมี่

เครื่องมือมัดหมี่ เรียกว่า “โฮงมัดหมี่” มีความกว้างเท่ากับหน้ากว้างของผ้าที่ทอ นำด้ายที่ค้นแล้วมาใส่โฮงมัดหมี่ เพื่อมัดลาย

การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายบนผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นไหมเป็นลวดลายตามต้องการ ก่อนนำเส้นไหมไปย้อมน้ำสี เมื่อแกะ หรือแก้วัสดุกันน้ำออก จะเกิดสีแตกต่างกัน ถ้าต้องการเพียง 2 สี จะแก้มัดเส้นไหมเพียงครั้งเดียว หากต้องการหลายสีจะมีการแก้วัสดุหลายครั้ง

การย้อมสีเส้นไหม

การย้อมสีเส้นไหม คือ กรรมวิธีที่ทำให้ผ้าไหมมีสีต่างๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด

การย้อมสี เมื่อมัดหมี่เสร็จแล้วถอดด้ายออกจากโฮงมัดหมี่ นำไปย้อมสี การย้อมแต่ละครั้งต้องย้อมหลายๆ หัว เพื่อไม่ให้เปลืองสี ถ้าผ้าที่ออกแบบลวดลายหลายสีต้องย้อมหลายครั้ง (บริเวณที่เชือกฟางมัดไว้จะกลายเป็นลายของผ้ามัดหมี่) และนำหมี่ที่มัด และผ่านการย้อมสีตามความต้องการแล้วมาแกะเชือกฟางออก

การย้อมสีไหม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สีธรรมชาติ และสีสังเคราะห์

การย้อมสีธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ผล ลำต้น แก่น ต้นไม้ และรากไม้ ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการเตรียมน้ำย้อมสี และวิธีการย้อมสีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และส่วนที่นำมาใช้ในการย้อมสี

ตัวอย่างวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบฝรั่ง เปลือกต้นเพกา ใบข้าว ได้สีเขียว, มะเกลือ ได้สีดำ, เปลือกงิ้วผา ได้สีแดง สีชมพูอ่อน, ขมิ้น ได้สีเหลือง เป็นต้น

การย้อมสีสังเคราะห์ หรือสีเคมี ป็นสีที่มีความบริสุทธิ์ของตัวสีมาก สามารถนำสีเหล่านั้นมาผสมให้ได้สีตามที่ต้องการและปรับระดับความเข้มของสีได้ วิธีการย้อมทำได้ง่าย และสะดวก สีที่ย้อมได้จะมีความสดสวย และมีความทนทานของสีดี

ย้อมสีตามที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ผึ่งให้แห้ง เพื่อเตรียมการแก้หมี่

การแก้หมี่ คือ การแก้เชือกฟางที่ใช้มัดลำหมี่แต่ละลำออกให้หมดโดยใช้มีดบางเล็ก หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม การแก้หมี่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้มีดถูกเส้นไหมขาด ไหมที่แก้เชือกฟางออกหมดแล้วจะเห็นลายหมี่ได้สวยงาม และชัดเจนขึ้น

การกวักหมี่ และปั่นหลอด

เป็นขั้นตอนการนำเส้นไหมมัดหมี่ที่ย้อมสีได้ตามที่ต้องการ คล้องใส่กง แล้วถ่ายเส้นไหมให้พันรอบอัก เรียกว่า กวักหมี่

กง ใช้สำหรับใส่ใจหมี่ และหลักตีนกง (ไม้ที่ใช้ยึดทั้งสองข้างในการกวักด้าย)

อัก ใช้สำหรับกวักหมี่ออกจากกง

หลา

เป็นเครื่องมือใช้สำหรับปั่นหลอด (ไหม) จากอักมาสู่โบกเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) ใช้เข็นหรือปั่นไหม 2 เส้นรวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกัน หรือเข็นคุบกัน ถ้าเป็นไหมคนละสี เข็นรวมกันแล้ว เรียกว่า มับไม และใช้แกว่งไหม ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บปุ่มที่เรียกว่า ขี้ไหม ออกจากเส้นไหม และยังทำให้เส้นไหมบิดตัวแน่นขึ้น ใช้ทำเป็นทางเครือ (เส้นยืน)

การกวักไหมต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาดตอน เพราะเมื่อนำไปทอแล้วจะไม่ได้ลายตามต้องการ

ไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะนำไปปั่นใส่หลอด

การปั่นหลอด

การปั่นหลอด คือ การนำเอาหมี่ที่กวักเรียบร้อยแล้วไป “ปั่น” (กรอ) ใส่หลอด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ไน”

เครื่องมือที่ใช้ปั่นหลอด เรียกว่า “ไน”

การทอผ้า

ชาวบ้านนาโพธิ์ กำลังทอผ้าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะทอเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น

เครื่องมือสำหรับการทอผ้าไหม เรียกว่า กี่พื้นบ้าน

โครงหูก หรือโครงกี่ ประกอบด้วยเสา 4 ต้น มีรางหูก หรือรางกี่ 4 ด้าน ทั้งด้านบน และด้านล่าง เสาแต่ละด้านมีไม้ยึดติดกันเป็นแบบดั้งเดิม

ฟีม หรือ ฟันหวี มีฟันเป็นซี่ คล้ายหวี ใช้สำหรับสอดเส้นไหมยืน เพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน และใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้สานขัดกับไหมเส้นยืนที่อัดแน่นเป็นเนื้อผ้า

เขาหูก หรือตะกอ คือ เชือกทำด้วยด้ายไนลอน ที่ร้อยคล้องไหมยืน เพื่อแบ่งเส้นไหมเป็นหมวดหมู่ที่ต้องการ เมื่อยกหูก หรือตะกอขึ้น ก็จะดึงเส้นไหมยืนเปิดเป็นช่อง สามารถพุ่งกระสวยเข้าไปให้เส้นไหมพุ่งสานขัดกับเส้นไหมยืนได้ เวลาสอดเส้นไหมยืนต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง และมีเชือกผูกเขาหูกแขวนไว้กับโครงกี่ด้านบนสามารถเลื่อนไปมาได้ ส่วนด้านล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบ เมื่อต้องการดึงแยกเส้นไหมให้เป็นช่องจะใช้เท้าเหยียบที่คานเหยียบทำให้เขาหูกเลื่อนขึ้น – ลง เกิดเป็นช่องสำหรับใส่เส้นไหมพุ่ง

กระสวย ใช้บรรจุหลอดเส้นไหมพุ่ง มีหลายแบบ อาจจะทำจากไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หรือพลาสติกให้มีน้ำหนักพอประมาณจะได้ไม่พลิกเวลาพุ่งกระสวย มีความลื่น และไม่มีเสี้ยน ขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เจาะรูตรงกลาง ทำปลายทั้งสองด้านให้งอนเล็กน้อย เพื่อให้ลอดผ่านเส้นไหมยืนได้ง่ายขึ้น

ลายทอผ้าไหม ทอตามแบบที่กำหนด ส่งขายให้สวนจิตรลดา

จะทอผ้าไหมเป็นผ้าคลุมไหล่

เป็นลายแบบพิเศษเฉพาะ ขายในสวนจิตรลดา

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ บ้านนาโพธิ์ ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหมสร้างสรรค์ ประจำปี 2556 เป็นต้น

ผ้าไหมที่ทอเป็นผืนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ บ้านนาโพธิ์ จะมีผ้าไหม ผ้าพื้นเรียบ ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าไหมประยุกต์ ซึ่งผ้าไหมประยุกต์ จะขายดีที่สุด

ผ้าไหมแต่ละผืนกว่าจะได้ ต้องใช้เวลานานมาก แค่ขั้นตอนการเตรียมทอผ้าไหม จนกระทั้งทอผ้าเป็นผืนก็ใช้เวลาร่วมนับเดือน

มาดูลวดลายของผ้าไหม ของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ บ้านนาโพธิ์ กันค่ะ

ผ้าไหมลายขอหลง

ผ้าไหมลายขอเอส (S)

ผ้าไหมลายสายการบิน

ผ้าไหมลายผีเสื้อ

ผ้าไหมมัดหมี่โบราณ จะเป็นลวดลายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้วิธีการมัดหมี่ และทอแบบดั้งเดิม อาจเปลี่ยนแปลงสีสันได้ตามความต้องการ

ราคาผ้าไหมมัดหมี่โบราณ ผืนนี้ อยู่ที่ 20,000 บาท

ผ้าประจำท้องถิ่น คือ ผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง หรือผ้าซิ่นตีนแดง

ไม่ได้มีเพียงผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่ ที่เป็นผืนอย่างเดียว ยังมีผ้าไหมแบบต่างๆ อีกด้วย

ผ้าขาวม้า

ผ้าคลุมไหล่

ผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าผ้าไหม มีหน้าร้านขาย มีชื่อว่า “ผ้าตุ้มทอง (Pha Toomthong)”

ผ้าประจำท้องถิ่น ที่ขายดี เรียกว่า ผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง หรือผ้าซิ่นตีนจก ราคาอยู่ที่ผืนละ 2,500 บาท

ผ้าไหมมัดหมี่ ราคาอยู่ที่ผืนละ 2,500 บาท

ผ้าไหม พื้นเรียบ ซึ่งจะมีแบบไหม 2 เส้น หรือไหม 4 เส้น เคยซื้อให้คุณแม่ ซึ่งซื้อมา 4 หลา นำมาตัดได้ทั้งชุด เป็นเสื้อ และกระโปรง

เสื้อไหม แบบนี้ซื้อบ่อยค่ะ ให้คุณพ่อ ใส่ในงานพิธี หรืองานเลี้ยงต่างๆ

ผ้าไหมมัดหมี่ มีทั้งผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ

ตาม I am Devil ยัยตัวร้าย มาเรียนรู้วิถีชุมชน และวัตนธรรม ณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ กันแล้ว นี่ล่ะค่ะ คือวิถีชีวิตของชาวบ้านนาโพธิ์ ซึ่งมีอาชีพการทอผ้าเป็นหลัก ซึ่งกรรมวิธิการทอผ้าของที่นี่จะครบทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่การนำรังไหมมาสาวไหม การด่องไหม การค้นหัวหมี่ การย้อมผ้า จนกระทั้งการทอผ้า แต่ละขั้นตอนใช้เวลาพอสมควร ในการเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้เรารู้จักอุปกรณ์แต่ละอย่างว่ามีหน้าที่ไว้ทำอะไร และมีชื่อเรียกว่าอะไร การจะมาเป็นผ้าไหมแต่ละผืนต้องใช้เวลานานนับเดือน เป็นผลิตภัณฑ์ทำด้วยฝีมือล้วนๆ

การทอผ้าไหม มีมายาวนานสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สู่รุ่นต่อรุ่น และการทอผ้าไหมเป็นวิถีชุมชน วัฒนธรรมของบ้านนาโพธิ์ และผ้าไหมยังมีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดบุรีรัมย์

ลองเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มาท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม เรียนรู่วิถีชีวิตของชุมชนกันค่ะ มันมากกว่าสิ่งที่เราเห็นตามสื่อ การที่ได้มาสัมผัสเองจะรู้ถึงแก่นอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ คุณแสงเดือน จันทร์นวล ลูกสาวของคุณประจวบ จันทร์นวล ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการเรียนรู้ขั้นตอนกรรมวิธีการทอผ้าไหม

ขอขอบคุณ ชาวบ้าน บ้านนาโพธิ์ ทุกท่าน ที่พาชมการทำผ้าไหมแต่ละขั้นตอน และเป็นวิทยาการให้ความรู้

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยว และกีฬา จังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับข้อมูลเส้นทางในการรีวิวครั้งนี้

ขอขอบคุณ AVISThailand สำหรับรถเช่า เพื่อให้การเดินทางทริปนี้ เดินทางสะดวกมากขึ้น

ขอขอบคุณ ข้อมูลการทอผ้า จากเว็บไซต์ >>>>>>ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมพื้นบ้านและ

ขอขอบคุณ ข้อมูลการเลี้ยงหนอนไหม จากเว็บไซต์ >>>>> กรมหม่อนไหม

ภายในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ บ้านนาโพธิ์ ยังมีโฮมสเตย์ ให้บริการด้วย เราไปชม โฮมสเตย์ ผ้าตุ้มทอง (Pha Toomthong) บ้านนาโพธิ์ หมู่ 1 ตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ กันค่ะ

ตามไปเรียนรู้สัมผัสวิถีชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสู่โอทอป (OTOP) ณ บ้านท่องเที่ยวไหม ชุมชนบ้านหัวสะพาน ตำบลบ้านยาง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่

Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip

IG : @bloggertripth

ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง

 วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 22.06 น.

ความคิดเห็น