ประกายแดดอบอุ่นทอทาบลงบนผนังตึกที่สร้างด้วยอิฐแดงซึ่งเรียงรายเป็นแถวแนวยาวทั้งสองฟากถนนเล็กๆซึ่งด้านหนึ่งจะมีแปลงดอกไม้หลากสีที่ล้อมรอบหอนาฬิกาด้านหน้าตึกเอาไว้

ใกล้กับตึกแถวสีจัดจ้านนั้น เป็นโบสถ์เก่าที่มีสีสันเดียวกันกับหมู่ตึก แลดูเด่นแปลกตาไปกว่าทุกเมืองที่ผมเคยผ่านตามาในประเทศมาเลเซีย

แปลงดอกไม้หลากสีสัน ที่ปลูกเอาไว้ในสไตล์ที่เพียงแค่ชายตามองก็รู้ว่ามีต้นแบบมาจากประเทศใด ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงตึกเก่าๆสร้างด้วยอิฐแดงสดใส และโบสถ์คริสต์ย้อนยุคสมัยกลับไปยังอดีตที่ผ่านมา บ่งบอกเรื่องราวให้รู้ว่าบนดินแดนแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ซึ่งกลุ่มชาวดัตช์ฮอลันดาเคยขึ้นบกมาสร้างเมืองเอาไว้ในรูปแบบที่พอใครเห็นเป็นต้องรู้ได้ในทันที

ว่าที่นี่คือ “ดัตช์สแควร์” ของเมืองมะละกา อดีตเมืองท่าที่สำคัญของคาบสมุทรมลายู ซึ่งตั้งอยู่เกือบปลายแหลม ตรงปากทางที่จะเข้าสู่ช่องแคบมะละกา ที่มีเกาะสุมาตราขนาบข้างอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเล

ผมเดินทางมาถึงที่นี่ในวันที่ฟ้าเพิ่งจะสั่งลาฝนไปได้ไม่นานนัก….

ด้วยสายการบินระหว่างประเทศของมาเลเซีย คือมาลินโดแอร์ไลน์ ผมกับลูกชาย และไกด์ คือมิสเตอร์เอ็ดดี้ เดินทางออกจากเกาะปีนังตั้งแต่เก้าโมงเช้า และเราก็มาถึงที่นี่ในตอนเที่ยงวันพอดี

ความจริงผมกับมะละกานี่ ถือว่าใกล้ชิดกันมาก คือก่อนหน้านี้ ผมเดินทางมาเมืองนี้บ่อยมากก่อนที่จะเว้นห่างไปประมาณสิบกว่าปี ก็ไม่ได้เดินทางมาที่นี่อีกเลยเมื่อมาถึงคราวนี้ สถานที่แรกที่ผมอยากไปเยือนก็คือบริเวณเมืองใหม่แถวห้าง มาโกตาห์ พาเหรด ซึ่งเป็นบริเวณที่ทางรัฐมะละกาขยายเมืองออกไป เราก็เลยตัดสินใจไปกินข้าวเที่ยงกันที่นั่นแบบง่ายๆ และจะได้ขึ้นหอชมวิวเมืองที่นี่ด้วย ซึ่งที่นี่เอง ที่ทำให้ผมพบว่า บริเวณที่เคยเป็นทุ่งกว้างๆ ไม่มีอะไร ในตอนนี้ พัฒนาไปเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อว่า “ปาลาวัน” ไปเป็นที่เรียบร้อยใหญ่โตมโหฬารหมดแล้ว

ในการเดินทางมาเยือนเมืองมะละกาอีกครั้งของผมในครั้งนี้ นอกจากอยากจะมาเห็นเมืองที่ผมคุ้นเคยว่า เปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ เมืองนี้เป็นเมืองที่ผมชอบมากที่สุดอีกเมืองหนึ่งของมาเลเซีย รองลงมาจากเมืองคูชิง ที่ในรัฐซาราวัค ดังนั้น ผมจึงอยากจะให้ลูกชายคนเล็ก ได้เห็นได้สัมผัสบ้าง

ดังนั้นหลังจากที่ได้คุยกับคุณ นิกกิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดของการท่องเที่ยวมาเลเซียประจำประเทศไทย ว่า เสร็จจากไปทำข่าวที่เกาะปีนังแล้ว ผมน่าจะเดินทางเข้าสู่มะละกา เมืองท่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งของประเทศมาเลเซียซึ่งถือได้ว่า ในปัจจุบันนี้มะละกาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่น่าจับตามองมากที่สุดรองลงมาจากเกาะปีนัง

หลังจากที่ติดต่อประสานทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมจึงได้รบกวนให้การท่องเที่ยวมาเลเซียในประเทศไทยติดต่อที่พักและไกด์นำทางให้ ซึ่งเราก็ได้มิสเตอร์เอ็ดดี้ ไกด์หนุ่มอารมณ์ดี เดินทางมาจากกัวลาลัมเปอร์ เพื่อดูแลผมกับลูกโดยเฉพาะสองคนตั้งแต่เกาะปีนังไปจนถึงเมืองมะละกา เรียกว่า เกือบหนึ่งสัปดาห์ที่เราท่องเที่ยวอยู่ด้วยกันจนคุ้นเคยเหมือนเพื่อนสนิทเลยก็ว่าได้

เมืองมะละกานั้น เป็นเมืองที่ไม่ใหญ่นักถ้าหากจะเทียบกับเมืองในต่างจังหวัดของบ้านเรา เพราะเท่าที่มองผ่านหน้าต่างของโรงแรมชั้นที่ 14 ออกไป ก็สามารถมองได้ไกลจนสามารถแลเห็นเมืองเล็กๆแห่งนี้ได้อย่างทั่วถึง

หากจะเทียบว่ามะละกากับประเทศไทย พอจะเทียบความใหญ่ ความเจริญได้กับเมืองไหน ของไทยเราได้บ้าง ในบางครั้งผมก็อยากจะหยิบเอาพัทยาขึ้นมาเปรียบ แต่มะละกาก็ไม่สามารถจะเทียบได้กับความหวือหวา แต่ถ้าหากว่าพูดถึงความสงบสมถะและสวยงามนั้น มะละกาได้เปรียบกว่าพัทยาหลายช่วงตัว เสียเพียงอย่างเดียวที่เมืองนี้ไม่มีชายหาดสวยๆให้เล่นน้ำได้เท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามนต์เสน่ห์แห่งมะละกานั้น หาได้อยู่ที่เสน่ห์ของการเที่ยวเตร่แบบสนุกสนานไม่ หากแต่ในความเป็นมะละกา เสน่ห์ของเมืองอยู่ที่ว่า ความเป็นมาของเมืองมะละกานั้นนอกจากจะผ่านเรื่องราวในแง่ของประวัติศาสตร์อย่างเนิ่นนานแล้ว เมืองเล็กๆที่สวยงามแห่งนี้ก็ยังมีที่มาของตำนานอันเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกหลั่งไหลมาที่นี่ โดยที่ไม่ได้หวังจะสนุกสนาน หากแต่พวกเขาเหล่านั้น ตั้งใจที่จะเดินทางไปเก็บเกี่ยวความประทับใจซึ่งชาวมะละกาอนุรักษ์เก็บเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้จดจำ และไม่ลืมความเจ็บปวดที่ผ่านมา เพราะดูเหมือนว่า นับตั้งแต่สร้างเมืองมาเมื่อครั้งอดีตกาลนั้น เมืองแห่งนี้ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่จะทำอะไรได้อย่างใจโดยที่ไม่มีใครบงการ….

ภาพรวมโดยทั่วไปของมะละกานั้นเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆที่สงบ สะอาด แม้จะมีตึกสูงๆของโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของมะละกาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะโรงแรม Swiss Garden Hotel Malacca‎ ที่ผมพักอยู่นั้น เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งระดับ 5 ดาว ของที่นี่ ซึ่งเพิ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่ ได้ประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าชื่อดังอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สามารถแลเห็นทิวทัศน์ของเมืองนี้ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะโบสถ์ เซนต์ฟรานซิสซาเวียร์ ที่สวยงามแปลกตา และดูเหมือนว่าแลเลยไปนั้น โบสถ์คริสต์ และโบสถ์เซนต์ปอล ที่ตั้งอยู่เหนือป้อม เอ ฟาโมซา จะแลเห็นเด่นสง่าตัดกับน้ำทะเลสีครามสดใสที่กว้างใหญ่ไพศาลในมหาสมุทรอินเดีย

สถาปัตยกรรมทั่วไปในเมืองมะละกาส่วนใหญ่จะเป็นตึกรามบ้านช่องแบบสมัยเก่าที่ผสมผสานกันเข้าระหว่างสีชาติคือ ฮอลันดาอังกฤษ โปรตุเกส และจีน ซึ่งทางรัฐยังคงอนุรักษ์เอาไว้ โดยเฉพาะถ้าหากขับรถวนเข้าไปในย่าน บูกิต ไชน่า หรือว่าไชน่า ฮิลล์ นั้นท่านจะได้มองเห็นตึกแถวของชาวจีนที่สร้างมานับตั้งแต่เริ่มเมืองมะละกาจนถึงปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ในสภาพดี และมีการรักษาเอาไว้ โดยไม่มีการทำลายทิ้งไป เพราะเมืองใหม่ที่ถือว่าจะสร้างให้ทันสมัยนั้น รัฐบาลมะละกาได้ขยับขยายออกไปสร้างใหม่ขึ้นมา ทางด้านมะละกา รายา ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลด้านหน้าของ ป้อม เอ ฟาโมซา ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้าทันสมัยใหญ่โต และผับบาร์ คาราโอเกะมากมายเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะได้พักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืน

หากจะพลิกย้อนกลับไปในวันคืนที่ผ่านมา เมืองมะละกาได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งประวัติศาสตร์ของมาเลเซียเนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างได้เริ่มขึ้นที่เมืองแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งตั้งอยู่ในเมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตราล่มสลายลงไปจากการรุกรานของชวา จนทำให้พระเจ้าปรเมศวร ต้องนำพาผู้คนอพยพข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาอาศัยอยู่ในตุมาสิคหรือสิงหปุระ ประเทศที่รู้จักกันดีในนามของสิงคโปร์ปัจุบันนี้

มีเรื่องเล่าเก่าแก่ย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นอีกว่า ในราชอาณาจักรของปาเล็มบังนั้นมีเนินเขาอยุ่ลูกหนึ่ง เรียกว่า “ เนินบูกิต ศรีกันตัง มหาเมรุ” ซึ่งในครั้งนั้นมีสองศรีพี่น้องอาศัยปลูกข้าวเลี้ยงชีพอยู่อีกทางด้านหนึ่งของเนิน

ในคืนหนึ่งหลังจากหนึ่งปีผ่านไป ข้าวกล้าในนาของนางทั้งสองนั้นก็สุกเหลืองอร่ามดังทองทาไปทั่วทั้งท้องทุ่ง ซึ่งเมื่อทั้งสองได้ออกไปยังทุ่งนาจึงได้พบว่าเมล็ดข้าวในนาของนางนั้นได้เปลี่ยนแปรไปเป็นสีทอง ส่วนใบข้าวนั้นเป็นสีเงิน

พร้อมกันนั้น นางทั้งสองก็พลันได้พบมามานพหนุ่มน้อย 3 นายทรงมุงกุฎทองคำและภูษาเนื้อดีมีราคา ซึ่งเล่ากันว่าทั้งบุรุษเหล่านั้นเป็นเจ้าชายผู้สืบเชื้อสายมาจาก “ราชา อิสกันดาร์” ราชาผู้ยิ่งใหญ่ในสุมาตราและตุมาสิค

กษัตริย์ของปาเล็มบังในสมัยนั้น มีชื่อว่า “ เดมัง เลบาร์ ตวน”ได้ทูลเชิญเจ้าชายทั้งสามให้เสด็จไปยังปาเล็มบังเพื่อสร้างสัมพันธไมตรี ซึ่งปรากฏมีเรื่องเล่าในกาลต่อมาว่า บรรดาเจ้าชายทั้งสามในตอนหลังนั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นครองนครอันยิ่งใหญ่ โดยเจ้าชายองค์โตนั้น เดินทางไปครองเมือง “มินังกาเบา” ทรงมีพระนามว่าแสง สเปอร์บา ( Sang Spurba )ส่วนเจ้าชายองค์กลางนั้น ครองเมืองตันหยงปุระ ทรงพระนามว่า แสง มานากา (Sang Manaka ) ส่วนองค์เล็ดสุดนั้น ประทับอยู่ที่นครปาเล็มบัง ซึ่งเดมังตวน ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี มีนามว่า แสงนิล อุตมะ ( Sang Nila Utama ) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ ศรีไตรภูวนา”

หลายท่านอาจจะรู้สึกแปลกใจว่าทำไม เรื่องราวของมะละกาถึงได้เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ที่สำคัญทำไมนามของกษัตริย์แห่งดินแดนแถบนี้ มีการออกเสียงคล้ายกับพระนามของกษัตริย์ไทยในสมัยโบราณ ซึ่งสาเหตุนั้นเกี่ยวเนื่องกันที่ว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเราได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมประเพณีของอาณาจักรศรีวิชัยไว้อย่างมากมาย และชื่อเสียงเรียงนามของผู้คนส่วนใหญ่ก็ใช้เรียกกันตามภาษาสันสกฤต เนื่องจากประเทศไทยเราเพิ่งจะคิดตัวอักษรขึ้นมาได้ ก็เมื่อในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนี่เอง

ในสมัยนั้นบนเกาะชวา มีอาณาจักรของมัชฌปาหิตครองความยิ่งใหญ่อยู่ในดินแดนแถบนี้ โดยแผ่บารมีออกไปไพศาลยังหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งในครั้งนั้นได้เกิดสงครามขึ้นมา เมื่อปรากฎว่าเกิดสงครามแย่งชิงสมบัติกันระหว่างชวาตะวันออกและราชวงศ์มัชฌปาหิต จึงทำให้เกิดการฆ่าฟันกันขึ้นมากษัตริย์ของปาเล็มบังซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยของชวา นามว่า “ปรเมศวร” จึงได้อพยพโยกย้ายผู้คนหนีตายข้ามทะเลมาพึ่งราชาแห่งตุมาสิคหรือสิงหปุระ

แต่ด้วยเหตุที่ปรเมศวรตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะต้องหาเมืองใหม่ขึ้นครองราชย์ ดังนั้นเมื่อเจ้าเมืองตุมาสิคเปิดเมืองต้อนรับ ปรเมศวรจึงได้ยึดเมืองเอาไว้และลอบปลงพระชนม์เจ้าเมืองตุมาสิคเสีย แต่ด้วยเหตุที่สิงหปุระหรือตุมาสิคนั้นเป็นเมืองขึ้นของไทย อีกทั้งเจ้าเมืองก็เป็นพระญาติกับเจ้าเมืองปัตตานี ทำให้ประเทศสยาม จำต้องส่งกองทัพมาจากเมืองปาหังมาปราบปรามปรเมศวรจนแตกหนีพ่ายไป

แต่ในขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งของตำนานอันเป็นประวัติศาสตร์ของมาเลเซียนั้นกล่าวว่า กองทัพที่ยกมาลงโทษพระเจ้าปรเมศวร ไม่ใช่เป็นกองทัพไทย หากแต่เป็นกองทัพชวา เนื่องจากว่า พระเจ้าปรเมศวรนั้นทรงมีพระชายาอยู่องค์หนึ่งซึ่งทรงพระนามว่า แสง รันจูนา ตาปา ( Sang Ranjana Tapa ) ซึ่งเป็นบุตรีของเสนาบดีใหญ่ แต่เนื่องจากนางเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าปรเมศวร สุดท้ายนางจึงถูกสนมองค์อื่นๆอิจฉาและใส่ร้ายว่านางประพฤติมิชอบจนพระเจ้าปรเมศวรหลงเชื่อสั่งประหาร ด้วยเหตุนั้นบิดาของนางจึงโกรธแค้น ยอมเป็นไส้ศึกให้กับชวา ทำให้พระเจ้าปรเมศวรต้องหลบหนีออกมาจากตุมาสิคอีกครั้งหลังจากที่ครองเมืองนี้อยู่นานถึงสามปีเต็ม

ดูเหมือนว่า พระเจ้าปรเมศวรต้องอพยพโยกย้ายผู้คนหลบลี้หนีภัยไปจนถึงเมือง มูอาร์ ( MUAR ) ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนของรัฐ ยะโฮร์ปัจจุบันก่อนที่จะข้ามเข้าสู่เขตมะละกา จนทำให้มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ในขณะที่พระองค์ทรงเสด็จออกล่าสัตว์อยู่นั้นบังเอิญเหลือเกินว่าได้พบเข้ากับกระจงตัวหนึ่งจึงทรงมีรับสั่งให้สุนัขออกตามล่า จนกระทั่งกระจงตัวนั้นไปจนตรอกอยู่ที่ใต้ต้นมะละกาซึ่งดูเหมือนว่าหน้าตาต้นไม้ชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นมะขามป้อมในบ้านเรานี่แหละ

เมื่อหมดหนทางที่จะหนีไปไหนได้ กระจงตัวนั้นจึงหันมาสู้ตายกับสุนัขล่าเนื้อของพระเจ้าปรเมศวรทั้งๆที่มันเองก็ไม่ได้มีเขี้ยวเล็บอะไร แต่ก่อนที่มันจะล้มลงขาดใจ กระจงตัวนั้นก็สามารถใช้เท้าหลังเตะจนสุนัขตัวหนึ่งพลัดตกลงไปในลำธารได้ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ซึ่งทำให้กษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์ได้ยั้งคิดว่าที่ตนเองนำพาผู้คนหลบหนีอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้หันมาต่อสู้กับปัญหาเลยนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ แม้แต่สัตว์ที่อ่อนแออย่างกระจง มันยังหันมาต่อสู้กับสุนัขอย่างสุดฤทธิ์ แม้จะรู้ว่าต้องแพ้พ่าย เราเองเป็นคนแท้ๆแต่กลับต้องหนี มันน่าอาย เพราะฉะนั้นเราจะไม่หนีไปที่ไหนอีกแล้ว แต่จะสร้างเมืองมันที่ตรงนี้ ตรงที่กระจงมันต่อสู้จนตัวตายนี่แหละ”

และเมื่อพระองค์ทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นไปมองยังบนต้นไม้ที่ปกครึ้มอยู่ตรงบริเวณที่กระจงต่อสู้กับสุนัขจึงพบว่าต้นไม้ดังกล่าวนั้นคือต้นมะละกา ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้พระนามเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นมานั้นว่า “มะละกา” ตามชื่อต้นไม้ต้นนั้น…..

ขอขอบคุณ

- TOURISM MALAYSIA

- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด

- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ


อาร์ม อิสระ

 วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 03.25 น.

ความคิดเห็น