เพื่อนๆ เคยได้ยินคำว่า “โคลนก้อนสุดท้าย สู่ทรายเม็ดแรก” มั้ยคะ ต้องขอยอมรับเลยว่า จากเด็กใต้ฝั่งอ่าวไทย เรียนมหาลัยใกล้ทะเล ชีวิตก็วนเวียนใกล้ทะเลมาตลอด ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เห้ย!! มันมีทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยด้วยหรอ???


“ณ ชุมชนแหลมผักเบี้ย”

ชุมชนเดียวในประเทศไทยที่มีหาดโคลนและหาดทรายในน้ำทะเลเดียวกัน ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างชายฝั่งหาดโคลนของ จ.สมุทรสงคราม และ จุดเริ่มต้นหาดทรายของ จ.เพชรบุรี นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ยอีกด้วย

ก่อนที่จะไปเที่ยวชุมชนแหลมผักเบี้ยกัน ก็ต้องขอบคุณโครงการดีดีจาก ททท. กับโครงการ อส.Social พาเที่ยวชุมชน ที่ทำให้เราได้เข้ามาทำความรู้จักและท่องเที่ยวที่ชุมชนแหลมผักเบี้ย แบบ One Night Stay With Locals กันค่ะ

เชิญสลับรับชม Vdo Present ที่เราตั้งใจทำม๊ากกก


ในวันปกติการขับรถทางจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี ใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ แต่พวกเราเดินทางกันมาในวันหยุดยาว เราจึงหมดเวลาไปกับการใช้ชีวิตบนท้องถนนถึง 7 ชั่วโมง!

เราพักที่ "ทองจิราโฮมสเตย์" เป็นโฮมสเตย์เล็กๆ ของคุณลุงไชยา กับคุณป้าบุญภา เป็นการพักโฮมสเตย์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่บ้านจริงๆ เพราะคุณลุงกับคุณป้าน่ารักมากค่ะ ดูแลพวกเราเหมือนเป็นลูกๆ หลานๆ คนนึง

บ้านหลังที่เราพักเป็นบ้านไม้ที่อยู่กลางน้ำ มีระเบียงไม้ด้านหน้าไว้นั่งปาร์ตี้ ทำอาหารทานกันได้ แอบกระซิบว่าในตอนเช้ามองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นวิวนาเกลือสวยมาก และที่สำคัญเลยความสะอาดของโฮมสเตย์ เรายกให้สะอาดเป็นระดับ 5 ดาว

Facebook ทองจิรา โฮมสเตย์

กิจกรรมเด่นๆ ในชุมชนแหลมผักเบี้ยเลยก็คือ "จักสานจากต้นธูปฤาษี " สอนโดยป้าบุญภา อยู่ที่โฮมสเตย์นี่เองค่ะ ป้าบุญภาเล่าให้ฟัง นอกจากต้นธูปฤาษีจะใช้สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนแล้ว ก็ยังเป็นพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียของโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ยอีกด้วย

ปัจจุบันจักสานจากต้นธูปฤาษีเริ่มหาดูได้ยากแล้ว ใครอยากลองทำ ป้าบุญภาก็ใจดีสอนให้ด้วย

ศูนย์เรียนรู้สาหร่ายพวงองุ่น เฟมิลี่ ฟาร์ม

ปกติเราเห็นสาหร่ายพวงองุ่นแค่ในกล่องโฟม แต่วันนี้ป้าแหม่มเจ้าของฟาร์มพวงองุ่น จะพาเราชมรอบฟาร์มกันและนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นที่มาของสาร่ายพวงองุ่นตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บ การทำความสะอาด ก่อนจะส่งให้ร้านค้านำไปแพ็กกล่องขายสู่มือของผู้ซื้ออย่างเรา ทั้งอร่อยปลอดสารพิษ แถมทานแล้วช่วยลดความอ้วนอีกด้วย

ป้าแหม่มยังบอกอีกว่า ปกติที่นี่จะส่งขายแค่พ่อค้าเท่านั้น ไม่ขายแบบคัดแยก แต่จะมีให้ชิมฟรีค่ะ เพราะมาถึงฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นทั้งที จะพลาดชิมกันแบบสดๆ ได้ยังไง

เริ่มจากนำสาหร่ายพวงองุ่นที่แช่น้ำพักไว้ 1 คืน มาล้างน้ำเปล่าหลายๆ รอบ จากนั้นล้างด้วยน้ำเย็น จัดใส่จานแล้วโปะด้วยน้ำแข็งจะทำให้สาหร่ายมีรสชาติกรุบกรอบ รับประทานกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดและหอมเจียว บอกเลยว่าอร่อยมากค่ะ


ศูนย์เรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

บ้านพี่วิเชียรที่นี่มีทั้งผักกรีนโอ๊ค แรดโอ๊ค เรคโคลอน ฟิลเล่ท์ คอต ผักสลัดล้วนๆ เลยค่ะ พี่วิเชียรปลูกผักสลัดส่งรีสอร์ท และร้านอาหารในแถบนี้ ที่ออเดอร์เข้ามาวันต่อวัน เพื่อผักที่สดสะอาดสำหรับนักท่องเที่ยวในแหลมผักเบี้ยค่ะ เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ดีมากเลยค่ะ เราเองได้มาเห็นได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ก็อุ่นใจค่ะ


มื้อกลางวันกับเมนูท้องถิ่น

สำหรับใครที่มาเที่ยวชุมชนแหลมผักเบี้ยในวันศุกร์เสาร์อาทิตย์ จะได้มาทานอาหารกันที่ร้าน โอ้โหปูอร่อยค่ะ วันนี้ผู้ใหญ่ส้มโชว์ฝีมือทำอาหารท้องถิ่นให้พวกเราทานเองกับมือ กับเมนู น้ำพริกแดงใบชะคราม ปลาอกแร้ทอด แกงส้มกุ้งใบชะคราม ผัดผักทะเล วันนี้ อส. อาสาคนนี้ได้มีโอกาสมาเป็นลูกมือผู้ใหญ่ทำแกงส้มกุ้งใบชะครามอีกด้วย

จะบอกว่าทำเองก็เกรงใจ เพราะแค่เอาส่วนผสมทั้งหมดที่เค้าเตรียมไว้แล้วใส่ลงหม้อเท่านั้น เรื่องรสชาติผู้ใหญ่บ้านเป็นคนปรุงรสเองทั้งหมดค่ะ เสร็จแล้วหน้าตาน่ากินมากค่ะ กุ้งทะเลตัวโตๆ กับใบชะครามซึ่งเป็นผักท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเล ตักข้าวสวยร้อนๆ รอได้เลย แกงส้มใบชะครามมาแล้ว ^^


ร้านโอ้โหปูอร่อย ธนาคารปูม้าและแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย

เป็นการรวมกลุ่มวิสาหกิจโดยสมาชิกในชุมชน จำหน่ายอาหารทะเลโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จะเปิดบริการแค่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น เนื่องจากร้านอยู่ใกล้ท่าเทียบเรือมาก อาหารทะเลของที่นี่จึงสดมากเช่นกัน

(*อาหารทะเลไม่ได้รวมอยู่ใน Voucher Package)
Facebook ร้านโอ้โหปูอร่อย

บริเวณด้านหลังร้านโอ้โหปูอร่อยมี ธนาคารปูม้า ที่เป็นโรงเพาะพันธุ์ปูม้าโดยเฉพาะ พี่อภิชัยเล่าให้เราฟังว่าสาเหตุที่จัดตั้งธนาคารปูม้าขึ้นมาเพื่อช่วยขยายพันธุ์ปูม้าให้มีชีวิตรอดมากขึ้น เพราะแม่ปูที่ไข่นอกกระดอง เวลาโดนจับจะสลัดไข่ที่ยังไม่ถึงอายุทิ้งไป ทำให้ลูกปูตาย เป็นสาเหตุที่ทำให้ปูม้าลดลง ธนาคารปูจึงมีแนวคิดให้ชาวประมงนำแม่ปูไข่นอกกระดองมากฝากเลี้ยง เพื่ออนุบาลลูกปูไว้ ก่อนจะปล่อยกลับสู่ทะเลอีกครั้ง

โดยแม่ปูม้า 1 ตัว ให้กำเนิดลูกปูได้ 250,000 ถึง 2,000,000 ตัว มีโอกาสรอดแค่ 1% เท่านั้น แต่ถ้าฝากปูม้าไว้กับธนาคาร จะสามารถคืนลูกปูสู่ธรรมชาติได้ 2,500 - 20,000 ตัวเลยค่ะ


ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะหมดไป เรากลับไปเก็บกองเจดีย์เกลือข้างโฮมสเตย์ที่พัก หวังไว้ว่าอาจจะได้เห็นภาพพระอาทิตย์ตกดินกับนาเกลือสวยๆ แต่ฟ้าก็ปิดไม่เห็นพระอาทิตย์สักดวง


05.30 น.
มีนัดกับลุงปัญญา ขับพ่วงข้างมารอรับพวกเราถึงโฮมสเตย์ วันนี้เรานั่งเรือตั้งแต่เช้า ไปยังรอยต่อระหว่างหาดโคลนกับหาดทรายเม็ดแรกของอ่าวไทย

ลุงปัญญาขับเรือออกไป และเริ่มเล่าความเป็นมาของคำว่า “โคลนก้อนสุดท้าย สู่ทรายเม็ดแรก” ลุงบอกว่าทะแลอ่าวไทยตั้งแต่กรุงเทพฯ ลงมาจนถึงชายฝั่งบ้านแหลมผักเบี้ยตรงนี้มีแต่หาดโคลน และถัดจากชุมชนแหลมผักเบี้ยลงไป (พร้อมชี้ไปที่สันทรายกลางน้ำที่เรามองเห็นอยู่ลิบๆ) ตรงนั้นแหละคือจุดเริ่มต้นหาดทรายของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และยังเป็นจุดที่สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกได้ในจุดเดียวกัน

บ้านแหลมผักเบี้ยแห่งนี้จึงเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีทั้งหาดโคลนและหาดทราย ภายใต้น้ำทะเลผืนเดียวกัน มาถึงจุดหาดทรายเม็ดแรกแล้ว มองออกไปบนท้องฟ้า ก็รู้ได้เลยว่าเราจะไม่เจอพระอาทิตย์แน่นอน


ลุงปัญญาพาเราไป เก็บหอยด้วยมือที่หน้าหาดโคลน กันต่อ ก้าวขาลงเรือปุ๊ป สิ่งแรกที่เห็นเลยคือลูกปูเสฉวน หอยแครง หอยกาบ หอยฮีหมู (ชื่อนี้จริงๆ ลุงเองก็บอกแบบเบาๆ เขินๆ ฟังครั้งแรกก็ร้องห๊ะ!!!! ลุงก็ย้ำให้อีกที ถึงกับฮากันลั่นหาดเลยทีเดียว)

ก่อนหน้านี้เราได้ถามลุงปัญญาถึงเคล็ดลับในการหาหอยตลับ ลุงบอก "ก็ลงไปนี่แล้วก็เก็บ" โอเคลงไปเก็บหอยกัน 555555

สัมผัสแรกที่เท้าแตะโคลนเลยคือนิ่มละเอียดมาก ลึกประมาณตาตุ่มเอง ลงไปปุบก็เก็บหอยได้ปั๊บ หอยจะฝังตัวอยู่ในโคลน เอาเท้าดันเอามือขุดมั่วๆ ก็ยังเจอ เหมือนจะหาไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับมือใหม่อย่างเรา เพราะเรา 3 หารวมกันก็ยังได้ไม่เท่ากับที่ลุงปัญญาหาคนเดียว


โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม

เราเช่าจักรยานจากบ้านผู้ใหญ่ในราคา 20 บาท ระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ถ้าจะปั่นทั้งวันก็ 50 บาท แต่ในวันที่อากาศร้อนมากแบบนี้ !!! คิดว่าเราจะปั่นกันกี่ชั่วโมงดีคะ ฮ่า ๆ 5 นาทีก็เปียกแล้ว ไม่ใช่ฝนนะคะ เหงื่อล้วน ๆ

ที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่สถานที่การศึกษาวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวนะคะ เพราะไฮไลท์ของที่นี่คือเส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเดินลัดเลาะสะพานไม้ระยะทาง 850 เมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม ปูก้ามดาบ ปลาตีนตัวโต้โต และนกนา ๆ ชนิด บ่งบอกว่าป่าชายเลนแห่งนี้มีความสมบูรณ์มาก

* ป่าชายเลน คือ สถานที่บำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุด ก่อนที่น้ำนั้นจะไหลลงสู่ทะเล ที่นี่เคยพบกับปัญหาน้ำเสียขั้นรุนแรง ขนาดที่นำมาทำอะไรไม่ได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติและตอนนี้ก็เป็นอย่างที่เห็นค่ะ อุดมสมบูรณ์ไปซะทุกอย่างเลย

เราเดินถ่ายรูปกันไปเรื่อย ๆ จนสุดสะพานไม้ ที่ทอดยาวไปจนถึงหาดโคลนที่ตัดกับเส้นขอบฟ้า ตรงจุดนี้ถ่ายรูปสวยมากเลยค่ะ


Facebook โครงการพระราชดำริ แหลมผักเบี้ย

ใครที่เบื่อภูเขา เบื่อทะเลแล้ว ชุมชนแหลมผักเบี้ยแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ต้องมาลองเที่ยวดูสักครั้งค่ะ การท่องเที่ยวในชุมชน มีชาวบ้านเป็นผู้จัดการบริหารโปรแกรมท่องเที่ยวเอง โดยการดึงจุดเด่น ความสามารถของคนชุมชน ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับตามมาก็คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชน และส่งเสริมวัฒนธรรมในชุมชนนั้นๆ อีกด้วยค่ะ ไปเที่ยวกันเยอะๆ นะคะ


Voucher Package
ที่พัก 2 วัน 1 คืนในชุมชน พร้อมอาหาร และกิจกรรมในชุมชน
ท่านละ 2,250 บาท ( 2 คนขึ้นไป)


กิจกรรม

  • สาธิตการ จักสานจากต้นธูปฤาษี / สาธิตการทำผ้ามัดย้อม / การทำขนมไทย
  • ศูนย์เรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ / สาหร่ายพวงองุ่น
  • รับประอาหารกลางวัน (อาหารพื้นบ้านของชาวบ้าน)
  • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธนาคารปูม้า / แพปลาชุมชน
  • ล่องเรือเลียบชายฝั่ง ชมวิถีชีวิตชาวประมง ดูพระอาทิตย์ขึ้น
  • เก็บหอยหน้าหาด
  • เที่ยวโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ยฯ

หมายเหตุ

  • กิจกรรมท่องเที่ยวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และสภาพอากาศ น้ำขึ้นน้ำลง
  • ราคา Package สำหรับกรุ๊ปใหญ่ (30 คนขึ้นไป) ราคาจะอยู่ที่ 1,980 บาท/คน
  • เดือนธันวา-กุมภาพันธ์ ดูนกอบยพบนสันทรายรอยต่อระหว่างหาดโคลนกับทรายเม็ดแรก
  • เดือนตุลาคม-ธันวาคม มีปลาวาฬบลูด้า
  • ร้านโอ้โหปูอร่อยเปิดแค่วัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น และปูหมดเร็วมาก แนะนำให้โทรจองล่วงหน้า

ติดต่อได้ที่



ไปเที่ยวด้วยกันกับเราสิคะ วันศุกร์ขึ้นเขา วันเสาร์ลงห้วย

วันศุกร์ขึ้นเขา วันเสาร์ลงห้วย

 วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 06.21 น.

ความคิดเห็น