สองเท้าจะก้าวย่าง ยืน ณ ยอดดอยหลวง ดอยหนอก

สองเท้าจะก้าวย่าง ยืน ณ ยอด
ดอยหลวง-ดอยหนอก
ตอนที่ 1 จากปากบอก สู่ ยอดดอยหลวง


เป็นทริปปลายพย.58 ต้นฤดูหนาว การเดินทางของช่วงเวลาที่บรรจบกับข่าวการมาของมวลอากาศเย็นระลอกใหม่กำลังแรงที่กำลังคืบเข้าแผ่ปกคลุมไทยตอนบน

เช้าตรู่ เราก็มาถึงยังจุดนัดพบ ณ ที่ทำการหน่วยย่อยดล.6 (อุทยานแห่งชาติดอยหลวง) หน่วยน้ำตกจำปาทอง

พิกัด N19° 13.050' E99° 44.290' alt.571m.

ดอยหลวง เป็นยอดเขาสูงสุดของเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง สูง 1694เมตรจากระดับน้ำทะเล

ดอยหนอก นับเป็นดอยไฮไลท์ เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์ที่ทั้งชาวลำปาง พะเยา เชียงราย เคารพสักการะ

ดอยหลวง ดอยหนอกเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้จากทุกที่ทั่วเมืองพะเยา ท้าทายสายตาโดยเฉพาะมุมมองผ่านกว๊านพะเยา

อช.ดอยหลวงเป็นเทือกดอยวางตัวไปตามแนวเหนือใต้ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด พะเยา ลำปาง เชียงรายเ

ป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 61 ของไทย

ที่ทำการใหญ่อยู่ตรงน้ำตกปูแกง อ.พาน จ.เชียงราย

ยอดดอยหลวงใต้กลุ่มเมฆ และยอดดอยหนอก มุมมองก่อนถึงที่ทำการดล.6

สำหรับใครจะขึ้นดอยหลวง ให้มาติดต่อที่หน่วย 6 ในเขตจ.พะเยาแห่งนี้

เรานัดจนท.ไว้ที่นี่ ฝากรถ Avis และเหมารถกระบะของจนท.ที่จะไปรับลูกหาบ จับจ่ายเสบียง ไปส่งที่จุดเริ่มต้นเดินเท้า และนัดวันและจุดมารับกลับในอีก 3 วันถัดจากนี้

ลูกหาบพร้อม

แวะจัดเสบียงกรังระหว่างทาง

เส้นทางขึ้นสู่ดอยหลวง-ดอยหนอก มี 5เส้นทาง

เส้นที่ 1. ฝั่งปากบอก ขึ้นจากฝั่งทิศใต้สุด ใกล้จุดชมวิวรัชมังคลา ริมทางหลวงหมายเลข 120 หรือเรียกว่าฝั่งบ้านปากบอก ทิศใต้สุดของ อ.วังเหนือ ลำปาง จุดต่อแดนกับเหนือสุดของ อ.งาว จ.ลำปาง

เส้นที่ 2และ3 ฝั่งบ้านตุ่น ขึ้นจากฝั่งทิศตะวันออก ตรงอ่างเก็บน้ำบ้านตุ่น ต.ตุ่น อ.เมือง พะเยา แยกทั้งช้ายและขวา แยก ช้ายไปทะลุเด่นสะแกง แยกขวาไปทะลุระหว่างยอดดอยหลวงและดอยหนอก

เส้นที่ 4 ฝั่งบ้านต๋อม ขึ้นจากฝั่งทิศตะวันออก บ้านต๋อม อ.เมือง พะเยา

เส้นที่ 5 ฝั่งปงถ้ำ ขึ้นจากฝั่งทิศตะวันตก บ้านปงถ้ำ อ.วังเหนือ ลำปาง

ผมรีเควสจนท.ว่าขอให้นำทางโดยเลือกเส้นทางที่วิวสวยที่สุดและคนนิยมที่สุดและคำตอบของรีเควสนี้คือ


เส้นทางที่ 1 ด้านทิศใต้ ฝั่งปากบอก
ณ ริมทางหลวงหมายเลข 120 ถนนสายเมืองพะเยา-วังเหนือ-เวียงป่าเป้า ตอนใต้สุดชายขอบเทือกดอยหลวง ห่างหน่วยดล.6 มาอ้อมใต้มา 40 กิโล

จุดเริ่มต้นเดินเทรลขึ้นดอยหลวงอยู่ที่พิกัด N19° 04.150' E99° 46.350' atl.900m.

อยู่เลยจุดชมวิวริมทางรัชมังคลาภิเษกไป 1.8 กิโลเมตร เป็นช่วงตอนของถนนช่วงที่สูงที่สุดของเส้นทาง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 900ม. เป็นช่วงพาดอ้อมสันดอยหลวงด้านใต้สุด

และเป็นสันแบ่งแดนจังหวัดพะเยาและลำปาง จุดทางขึ้นเลยเข้าเขตลำปางเล็กน้อย และอยู่ใกล้ทางเข้าบ้านปากบอก อ.งาว จ.ลำปาง อันเป็นที่มาของชื่อจุดทางขึ้นจุดนี้

จอดรถไหล่ทางแล้วเตรียมตัวเดินเท้า

สำหรับบริเวณนี้อนาคตจะมีลานจอดรถให้นักท่องเที่ยว ทางอุทยานกำลังเตรียมพื้นที่ปรับผิว ไม่ต้องจอดรถไหล่ทาง และไม่ต้องไปฝากรถไว้ที่หน่วยอีก



ก้าวแรกที่ย่างก้าว


เริ่มต้นเดินเท้า 10:09 น. ตัวเลขสวย ทุกคนพร้อม

ก้าวแรกที่ย่างก้าวก็เริ่มต้นบนระยะทางเดินเท้า 9 กิโลเมตร ยึดสันเขาสู่ยอดดอยหลวงทำความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จาก alt.900m. สู่ ยอดดอยอยู่ที่ alt.1694เมตรจากระดับน้ำทะเล

แผนที่ที่ผมเก็บบันทึกข้อมูลและเส้นทางจากจีพีเอส นำมาโรยบน Google Maps

แผนที่แรกเป็นสเกลกว้างๆ สีแดงแสดงเส้นทางนั่งรถของอุทยานฯมาจากหน่วยดล.6 มายังจุดเริ่มต้นเดินทางและเส้นสีแดงเล็กๆ อีกเส้นที่เป็นจุดที่รถมารับเราวันกลับลงจากเทือกดอย

ส่วนเส้นสีฟ้าๆ คือเส้นทางเดินเท้าของทริปนี้

ส่วนแผนที่แผ่นที่สองนี้แสดงรายละเอียดเส้นทางเดินขึ้นดอยหลวง สำหรับเส้นทางในทริปนี้ของเรา จากปากบอก สู่ ยอดดอยหลวง พร้อมสเกลบอกระยะทางเดิน

ปะปะพร้อมแล้วไปกันครับ

กิโลเมตรแรก

ไต่ระดับ alt.1000เมตร ความลาดชัน 10% เราข้ามถนนแล้วก็เริ่มเดินเท้า ทางขนานไปกับถนน ค่อยๆ เพิ่มความลาดชันถนนทางซ้ายค่อยๆ เล็กลงและเลือนหาย

จากนั้นก็หักศอกขึ้นเนินชันไต่สูงขึ้นจับสันดอยแรก ปฐมบทก็เริ่มต้นด้วยเนินชันซะแล้ว

เนินแรกนี้น่าจะเรียกว่าเนินพัน ( ผมตั้งเอง ) เรายืนพักเหมื่อย ข้อต่อร่างกายยังไม่เข้าที่ ถือเป็นเนินแห่งการอุ่นเครื่องวอร์มอัพละกัน

พักเหนื่อยจากเนินแรกก็ตัดขึ้นเนินที่สองต่อ สองเนินติดๆ โดยจะยึดเส้นทางสันดอยไปตลอด

ซ้ายลำปางขวาพะเยา

สภาพป่าโปร่ง สภาพอากาศลมโชยเป็นพักๆ เย็นสบาย มีร่มเงาบังใบตลอดทาง และพักเหนื่อยได้ด้วยการแกล้งทำเป็นก้มๆ เงยๆ ชมใบไม้ดอกไม้ อิอิ

บางชนิดก็รู้จัก หลายชนิดก็ไม่รู้จัก ลูกไม้ที่เห็นเหมือนคณโฑ/แจกัน/พินโบลิ้ง/หรือรูปถ้วยในภาพนั่นคือโคลงเคลงเจ้านี่สรรพคุณทางยาล้นเหลือเลยครับ จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง

พอพ้นสองเนินแล้วก็ค่อยเดินทอดน่องได้หน่อย สลับมาลาดชันต่ำบ้าง

จนท.ชี้ให้ดูเปลือกของต้นสนที่ไหม้เกรียมและมีรอยมีดถากเปลือก

อธิบายเป็นความรู้แก่เราว่าเปลือกสนที่ถูกเผาและฝานออกเค้าเอาไปใช้เป็นไต้ เป็นเชื้อไฟพร้อมกับสาธิตนำฝานเปลือกมาจุดไฟให้ดูครับ

เปลือกที่ถูกฝากออกมาจะสังเกตเห็นน้ำมันสนชุ่ม รนไฟเข้าสักพักก็ติดไฟ

สันดอยเปลี่ยนระดับความสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จากพันเป็นพันหนึ่งขึ้นพันสอง ออกเดินมาได้สองชั่วโมง ทำระยะทางมาได้สี่กิโลเมตร ทางขวาตอนนี้มองเห็นสันเขาไกลๆ ที่มีต้นสนสองใบยืนเรียงราย

สองชั่วโมงครึ่งเราก็มาถึง



สันป่าเกี๊ยะ

จุดกึ่งกลางทางสู่ดอยหลวง

ทำระยะมาสี่กิโลเมตรกว่า จะเรียกว่าเป็นครึ่งทางก็ไม่ผิดนักป่าเกี๊ยะคือป่าสน บริเวณนี้มีสนสามใบและสองใบขึ้นอยู่หนาตา จึงเรียกชื่อว่าสันป่าเกี๊ยะ

และเพราะมีต้นสนมาก มีราบหลังเนิน และเวลาก็เที่ยงครึ่งแล้วเราจึงยึดชัยภูมิตรงนี้เป็นที่พักทานมื้อกลางวันกัน และพักอยู่นานกว่า 50นาที

เบื้องหน้าสันป่าเกี๊ยะเราเห็นสันชันยาวยอดสูง มันคือ


สันหมูแม่ด้อง

จุดชันมากด่านแรกของเส้นทาง


สันดอยที่เห็นนี้เล็กและแคบ หมูแม่ด้องคือหมูตัวเมียที่เลี้ยงลูกจนร่างกายซูบผอมจนมองเห็นกระดูกสันหลัง

สันดอยที่เล็กและแคบบริเวณนี้จึงเปรียบดั่งสันหมูแม่ด้อง เรานั่งมองสันหมูพร้อมแอบเป่าปาก ชันดีเน้าะ พ้นสันนั่นไปของที่เพิ่งกินมาเนี่ยคงย่อยหมด

ระหว่างนั่งพักกันยาวๆ มาชมแผนที่ความสูงกันหน่อยครับ

แผนที่ elevator นี่ผมกับสเกลระยะทางเดินถึงจุดสำคัญๆ ต่างๆ กำกับไว้*




เผชิญหน้าสันหมูแม่ด้อง เอาล่ะครับ ได้เวลาขยับลุยต่อ ออกพ้นดงสนตัดทุ่งหญ้าลงเนินนิดหน่อยแล้วก็เริ่มตะกายสันหมูกันเลย

ระยะทางไต่สันหมูยาวราว 400 เมตร ไต่จาก alt.1300 ขึ้นไปยืนเหนือ 1380 ใช้เวลาเกือบๆ ครึ่งชั่วโมง

วิวเหนือสันหมูแม่ด้อง มุมมองย้อนกลับไปสันป่าเกี๊ยะมานั่งพักเหนื่อยกันอีกรอบหลังเนินสันหมู มองทอดสายตาออกไปไกลๆ แทบหมดแรง

เพราะสิ่งที่เห็นตรงหน้าขวางเส้นทางอยู่ยังคงเป็นเนินชันยาว!

หินแปลกตาเหมือนใครลงแปรงป้ายสีไว้ ระหว่างทางตะกายสันหมูแม่ด้อง

กิโลเมตรที่ 6

เผชิญหน้าเด่นสะแกง

ความชันยาวด่านที่สอง

เด่นสะแกงเป็นคำเมือง เด่นแปลว่าที่โล่ง/ทุ่ง สะแกงแปลว่าตะแคง/เอียง สองคำรวมกันเป็นเด่นสะแกง บ้างเรียกทุ่งสะแกงบ่งบอกลักษณะบริเวณนี้ที่เป็นทุ่งโล่งแจ้งลาดเอียง

ณ ตอนนี้เรายืนอยู่ที่ความสูง 1400เมตรแล้ววิวเหนือยอดเด่นสะแกงมุมมองย้อนกลับสวยครับ และก็เหนื่อย

ระยะทางไต่เด่นสะแกงขึ้นมาเนี่ยยาวกว่าสันหมูอีก ความยาวของการเดินสับฟันปลาผ่านเด่นสะแกงอยู่ในราวๆ 600เมตรใช้เวลาไต่ขึ้นมาครึ่งชั่วโมง

และตอนนี้เราก็มายืนเหนือ alt.1500เมตรแล้ว

ยืนพักชมวิวให้หายเหนื่อยกันก่อนครับ อากาศก็กำลังดีไม่ร้อน ลมพัดมาทีก็เย็นๆพักเหนื่อยด้วยมุกเดิม

แกล้งก้มๆ เงยๆ ชมต้นไม้ใบหญ้า

เพลินๆ กันไปนะครับ ดอกไม้เล็กๆ สีสันสวยหลากชนิด

ห้อเลือดเหน่ย จนท.ชี้ให้เรารู้จักสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ชื่อในภาษาถิ่นว่า "ห้อเลือดเหน่ย" เหน่ยแปลว่าละลายสรรพคุณทางยาคือละลายลิ่มเลือดหรือห้ามเลือดอะไรประมาณนั้น

ฟังๆ มาก็ลืมๆ แต่เห็นบอกว่าที่อื่นหายากนะ แต่ที่ดอยนี้เจอกระจายอยู่หลายจุดตัวยาอยู่ตรงรากครับ

ว่าแล้วจนท.ก็ดึงขึ้นมาต้นนึง เห็นรากสีอมเลือดสมชื่อ จัดการเอามีดหันขวาง ซอยแบ่งแล้วหย่อนลงขวดน้ำที่ข้างในบรรจุเหล้าดอย เขย่าๆ กลายเป็นสีเหล้าดองไปเลย

แล้วบอกเราว่าแช่มันไว้แบบนี้เดี๋ยวตกดึกมาเปิดจิบกันรับรองที่เดินๆ ขึ้นมานี่ หายเมื่อย!

ความงามเล็กๆ ระหว่างทางเดิน ความเปรียบต่างระหว่างใบไม้

เดินกันต่อครับ กล้ามเนื้อทุกมัดอยู่ตัวมานานแล้ว

เข้าสู่กิโลเมตรที่แปด

เราก็มายืนหยุดหน้าป้าย "บันไดก่ายฟ้า" ชันอีกแล้ว


บันไดก่ายฟ้า

ด่านชันสุดท้ายก่อนถึงยอดดอย

นับเป็นจุดที่ชันที่สุดของเส้นทางสาง เป็นสันดอยที่ทั้งแคบและชันเปรียบดั่งกำลังจะเดินไต่บันไดที่พาดกับท้องฟ้า

และที่หน้าป้ายบันไดก่ายฟ้านี่เองเราได้เห็น ดอยหนอก โผล่มาในสายตาแล้ว เห็นกันยัง นั่นๆ ซ้ายมือลิบๆ ไกลๆ

มาก่ายฟ้ากัน ท้องฟ้าโปร่งลมเย็นพัดมาช่วยคลายร้อนชันจริงแต่ไม่ชันยาว ก่ายกันไปด้วยระยะทางประมาณ 200เมตรก็ขึ้นไป ยืนเหนือบันไดก่ายฟ้า

ดอยหนอก เป้าหมายสูงสุดของทริปนี้ที่เราจะขึ้นไปในวันพรุ่ง สำหรับวันนี้ปลายทางของพวกเราคือแคมป์ที่ยอดดอยหลวง

ยืนพักเหนื่อยเหนือบันไดก่ายฟ้า ขอบคุณ Keen Thailand สนับสนุนรองเท้าเดินป่าคู่นี้ใช้มาหลายปีดีดักแล้ว Keen Newport H2 ชอบเป็นการส่วนตัว

เลือกใส่คู่นี้เฉพาะเวลามีทริปเดินป่าขึ้นเขาลงห้วยพื้นรองเท้าหนา ดอกบากร่องห่างสลัดดินดี

ดีไซน์ดอกรองเท้าล้ำมาด้านข้างยึดเกาะทรงตัวเวลาจ้ำลงทางชันบากผิวด้วยเลเซอร์เป็นริ้วคลื่นเหมือนพังพืด

ที่ถูกใจที่สุดคือระบบรัดข้อเท้าที่ออกแบบเหมือนแขวนลอยข้อเท้าปกป้องหัวแม่โป้งไม่ให้ชนปลายรองเท้า

ปัญหาที่กลัวเล็บหลุดเป็นอันหมดไป นี่เค้าไม่ได้เรียกให้มาโฆษณานะ แต่อยากโพนทนาเอง










ยอดดอยหลวง

ปรากฎแก่สายตาในที่สุด

เรี่ยวแรงที่แทบหมดกลับมาฟื้นอีกครั้ง กำลังใจกลับมาเป็นกอง ยังอีกไม่ไกลแล้วขณะนี้เรายืนอยู่ ณ ความสูง 1620เมตรแล้วใกล้ความจริงแล้ว

ทำเวลามาขณะนี้ที่ 7ชั่วโมงพอดีๆ กับระยะทางทั้งสิ้นแปดกิโลเมตรกว่าๆ

นาฬิกาข้อมือบอกเวลา 17.07น. ตะวันเริ่มยอแสงแล้ว สาดแสงทองอาบไปทั่วป่าดอย ช่วงเวลา Golden Hour ที่ไม่ว่าจะมองไปทิศไหนก็สวยไปหมด

หน้าหนาวดวงอาทิตย์ตกเร็วขึ้น จีพีเอสในมือบอกเวลา Sunset ที่ 17.43น. ต้องเร่งเท้าต่อละ

ในที่สุด สองเท้าก็ก้าวมา ยืนอยู่ ณ ยอดดอยหลวง มาไม่ทันส่งตะวัน เพราะตกลับขอบฟ้าไปกลางทางย่ำขึ้นยอดดอยซะก่อน T T

1694เมตร กับป้ายสักขีพยาน ว่านายน้ำฟ้ามายืนอยู่บนนี้แล้ว ยอดดอยหลวง พะเยา

แม้ไม่ทันมานั่งส่งตะวัน แต่ก็มาทันชื่นชมแสงสุดท้ายแห่งวัน ที่ส่องแสงมลังเมลืองจับขอบฟ้า ........ งาม .....นาทีนี้หายเหนื่อยชั่วขณะ ^^

ดอยหนอกมุมมองจากยอดดอยหลวง จุดหมายต่อไปของวันรุ่งขึ้น

จากตรงนี้มองไกลไปสุดขอบฟ้าแลไปทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือ เห็นยอด ดอยหลวงเชียงดาวอยู่ลิบๆ สูงพ้นขอบฟ้าขึ้นมา

แม้จะอยู่ไกลถึงฝั่งจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังสังเกตเห็นได้จากบนนี้เวลานี้ นี่เป็นการทอดสายตาทีเดียวข้ามสองจังหวัดเลยนะเนี่ย พะเยา เชียงราย เชียงใหม่!

ขึงเส้นตรงบนกูเกิลเอิร์ธ ได้ระยะทางจากดอยหลวงพะเยาถึงดอยหลวงเชียงดาว 95กิโลเมตรครับถ่ายภาพป้ายจุดสูงสุดแล้วก็หันมาจำภาพแสงสุดท้ายกัน

ขาตั้งกล้องของผมยังอยู่กับลูกหาบ ดีว่าในเป้มี mini tripod ขาตั้งจิ๋วที่ได้มาจาก เอาท์ดอร์ อินโนเวชั่น จัดการยึดเข้ากับเสาป้ายรัดด้วยเชือกรัดที่มาคู่กับขา แทนขาตั้งใจได้พอสมควร

ก็ขอลาไปกับรีวิวตอนแรกเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนที่ 2 พิชิตยอดดอยหนอก ความชันที่ท้าทาย

บรรทัดนี้ขอขอบคุณเหล่าผู้สนับสนุนหลักการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย-พะเยา เบอร์ติดต่อ 053-744674-5

และผู้สนับสนุนการเดินทางทุกท่าน อาทิ

สายการบินนกแอร์

Avis Thailand

เอาร์ดอร์อินโนเวชั่น

Keen Thailand


และท้ายสุดขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านครับ

แถมอีกนิดอันนี้เป็นแผนที่เส้นทางมุมมอง Earth view เก็บแทรกสดมาจากอุปกรณ์จีพีเอส

รายละเอียดเพิ่มเติมหลังไมค์สอบถามผมได้ที่ https://www.facebook.com/Namfapakhao/

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ หวังว่าข้อมูลในรีวิวนี้จะเป็นประโยชน์ดอยหนอกรออยู่ในตอนหน้า

ความท้าทายที่รออยู่ และแคมป์คืนที่สองที่ต้องบอกว่าเป็นทำเลตั้งแคมป์ที่สวยงามที่สุดอีกแห่งของผู้นิยมเดินดอย

>> ติดตามชม ตอนที่ 2 ไต่ฟ้าพิชิตดอยหนอก

น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา

 วันพฤหัสที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.57 น.

ความคิดเห็น