One-day Trip เที่ยวคุ้มเมืองแพร่ : คุ้มเจ้าหลวง คุ้มวงศ์บุรี บ้านวิชัยราชา

เที่ยวแพร่ “คุ้ม” มาก
พาเที่ยวคุ้มเมืองแพร่ ที่มาเที่ยวแป้แล้วไม่ควรพลาด ไม่มีรถก็เที่ยวได้ กับ 3 คุ้มเมืองแพร่ ที่สามารถเดินเที่ยวได้ภายในวันเดียว

  • คุ้มเจ้าหลวง
  • คุ้มวงศ์บุรี
  • คุ้มวิชัยราชา หรือ บ้านเจ้าวงศ์ หรือ บ้านเจ้าโว้ง
แต่ละที่มีประวัติความเป็นมา และความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ไปดูพร้อมๆกันเลยค่ะเที่ยวคุ้มเมืองแพร่ : คุ้มเจ้าหลวง คุ้มวงศ์บุรี บ้านวิชัยราชา


::: คุ้มเจ้าหลวง :::

พิกัด: ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

พิกัด Google Map: https://goo.gl/maps/SwMwBFyXc1M2

คุ้มเจ้าหลวง สีเขียวหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปสมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำหลังคามุงแป้นเกล็ด รอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายสวยงาม

เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร เป็นผู้สร้างคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ และยังสร้างผลงานที่ก่อประโยชน์ให้กับจังหวัดแพร่หลายอย่าง เช่น การก่อตั้งโรงเรียนชื่อ โรงเรียนเทพวงศ์ เพื่อสอนหนังสือไทย และความรู้สมัยใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “โรงเรียนพิริยาลัย” เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแพร่มาจนถึงปัจจุบัน

รวมไปถึงการอุปถัมภ์วัดสำคัญในจังหวัดแพร่ และจัดทำคัมภีร์ปักไหม ซึ่งเป็นเอกสารโบราณที่สำคัญฉบับหนึ่งของจังหวัดแพร่ โดยคัมภีร์ปักไหมนี้ทำขึ้นโดยฝีมือของ "แม่บัวไหล" ภรรยาของท่านนั่นเอง

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2445 เกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรจึงไปพำนักที่หลวงพระบาง ประเทศลาว จนสิ้นอายุขัย ทางราชการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ไป และไม่ตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นมาอีก จึงทำให้เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรเป็นเจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายนั่นเองค่ะ


ภายในคุ้มเจ้าหลวงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปเข้าไปชมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างภาพห้องด้านล่างนี้ก็คือห้องรับประทานอาหารสำหรับเลี้ยงต้อนรับแขกผู้มาเยือนและใช้พูดคุยประชุมงานต่างๆ


ภาพด้านล่างนี้คือ ห้องนอน และ ข้าวของเครื่องใช้ของ "แม่บัวไหล" ภรรยาของเจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร ที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดี


มื่อเกิดเหตุกบฏเงี้ยวขึ้น แม่เจ้าบัวไหลถูกควบคุมตัวไปอยู่ที่กรุงเทพ เล่ากันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างกระทันหันจนแม่เจ้าบัวไหลต้องทิ้งผ้าไหมที่ยังปักไม่เสร็จเอาไว้ที่คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ และทุกวันนี้ผ้าไหมที่ยังปักไม่เสร็จผืนนั้น ก็ยังคงมีจัดแสดงให้ได้ชมกันค่ะ


หากใครเคยชมละครเรื่อง "รอยไหม" ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับผ้าผืนนี้ค่ะ

มาดูลายปักแบบใกล้ๆกันค่ะ ลายปักสวย ละเอียดประณีตมากๆ เลย

นอกจากนี้ ยังมีห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของบ่าวไพร่ในสมัยนั้น เช่น อุปกรณ์เครื่องครัว เป็นต้น

ใต้ถุนอาคารเคยเป็นที่คุมขังทาสและนักโทษ จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำจังหวัดจึงได้เลิกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ





ปัจจุบัน คุ้มเจ้าหลวงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพื่อให้ศึกษาประวัติความเป็นมา โดยไม่เสียค่าเข้าชม




::: คุ้มวงศ์บุรี :::

พิกัด Google Map: https://goo.gl/maps/32icD4kWuPk

บ้านขนมปังขิงสีชมพูสวยหวานของเจ้าพรหมสุนันตา วงศ์บุรี ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่

ที่คุ้มแห่งนี้มีเรือนทั้งหมด 2 หลัง คือเรือนสีชมพูหลังใหญ่ด้านหน้า ซึ้งจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ (สามารถเข้าชมได้) และเรือนหลังเล็กด้านหลัง ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของทายาทผู้สืบเช้าสายวงศ์บุรีในปัจจุบัน

คุ้มวงศ์บุรี หรือ บ้านวงศ์บุรี (Ban Wongburi) เป็นบ้านประจำตระกูลวงศ์บุรี เชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่ในอดีต สร้างโดยแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน


เมื่อแม่เจ้าบัวถาแยกทางกับเจ้าพิริยเทพวงศ์ จึงมาพำนักอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 ที่เรือนด้านหลังในปัจจุบัน ก่อนที่จะรับอุปการะหลานสาวชื่อ “เจ้าสุนันทา”


ต่อมา เจ้าสุนันทาได้สมรสกับเจ้าพรหม หรือ “หลวงพงษ์พิบูลย์” ก่อนที่จะสร้างเรือนหลังใหญ่ขึ้นด้านหน้าเพื่อเป็นเรือนหอ เป็นเรือนไม้สัก ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบยุโรปประยุกต์ ที่เรียกว่า “ลายขนมปังขิง” (Ginger bread) หลังคาสูง ทรงปั้นหยา 2 ชั้น ฐานก่ออิฐถือปูน ควบคุมการก่อสร้างโดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง เป็นเวลานานถึง 3 ปี ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน


ปัจจุบัน เรือนหลังใหญ่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ภายในคุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือเมื่อร้อยปีก่อน
ส่วนเรือนต้น ยังใช้เป็นที่พักอาศัยของทายาทผู้สืบตระกูลวงศ์บุรี และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ.2536




ระหว่างที่เดินชมคุ้มวงศ์บุรีอยู่ ก็เจอน้องแมวตัวใหญ่เดินผ่านมา เลยแวะเล่นสักหน่อยตามประสาทาสแมวที่ดี


อ้าว! แมวหนีไปซะแล้ววว


::: คุ้มวิชัยราชา / บ้านเจ้าวงศ์ / บ้านเจ้าโว้ง :::

พิกัด Google Map: https://goo.gl/maps/yQuFvgS1wUq

พิกัด: “สีลอ” หรือ “ชุมชนวัดศรีบุญเรือง”

บ้านไม้สักทรงมะนิลาผสมผสานสไตล์แบบล้านนา อายุร้อยกว่าปี ที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม บ้านหลังนี้เป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสงครามโลกครั้งที่ 2

ชื่อ “วิชัยราชา” คือ พระราชทินนามที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ “เจ้าหนานขัติ” ต้นตระกูลแสนศิริพันธ์ ซึ่งต่อมาได้รับการโปรดเกล้าให้เป็น “พระวิชัยราชา”

พระวิชัยราชาเคยมีเกียรติประวัติในการช่วยเจ้าหน้าที่จากกลุ่มกบฎเงี้ยว เมื่อปี พ.ศ.2445 ก่อนที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีจะยกทัพหลวงขึ้นไปปราบจนสำเร็จในที่สุด

ต่อมา ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์” ลูกชายของพระวิชัยราชา ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ ก็ใช้คุ้มนี้เป็นบ้านแกนนำและคลังเก็บอาวุธของขบวนการกู้ชาติเสรีไทยแพร่

ต่อมา คุ้มนี้ก็ถูกทิ้งร้าง ปล่อยให้ผุพัง จนเกิดการเล่าลือถึงเรื่องลี้ลับ และอาถรรพ์หมายเลข 8 อยู่หลายสิบปี
จนในที่สุดจึงได้รับการบูรณะ ปรับปรุงให้สวยงาม และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบันค่ะ

ลวดลายไม้ฉลุเป็นรูปดอกไม้และใบไม้น่ารัก ที่ได้รับการบูรณะจนสวยงามเช่นในปัจจุบัน




------------------------------------
ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PiraPiraStory/
Twitter: https://twitter.com/PiraPira_Story
Instagram: https://www.instagram.com/pirapirastory/
Blog: https://pirastory.com/

Pira Story

 วันพฤหัสที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 22.17 น.

ความคิดเห็น