บันทึกการเดินทาง: โหนด นา เล เมื่อฉันได้เดินทางกลับสู่ความเป็นธรรมชาติ

Day 1: เรียนรู้วิถีโหนด (24/07/2019)

l ทานอาหารกลางวันที่ร้านไก่ทอดเดชา l ชมวิถีโหนด การปีนต้นตาล l ชมดอกปอเทืองที่ชุมชน l ชมการเคี่ยวน้ำตาลสดสำหรับทำน้ำตาลโตนด l ทำอาหารเย็นร่วมกับชุมชน l

สามารถดูคลิปวิดีโอสั้นๆเกี่ยวกับความน่ารักของที่นี่ได้เลยน้าา


พูดถึง “สงขลา” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงหาดใหญ่มากกว่าสงขลาทั้งที่หาดใหญ่เป็นแค่หนึ่งในอำเภอของจังหวัดเท่านั้น ซ้ำสนามบินยังเป็นชื่อ หาดใหญ่อีก คิดแล้วก็น่าน้อยใจ คราวนี้เราตรงมาสงขลากับกิจกรรมวันแรกที่ชุมชน โหนด นา เล ชุมชนที่เราจะมาขอใช้ชีวิตอยู่แบบวิถีชาวบ้าน ลืมพิถีคนเมือง refresh ตัวเองให้กลมกลืนกับหมู่บ้านที่นี่ เป็นเวลา 5 คืน 6วัน

“โหนด” มาจากการทำ ตาลโตนด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตาล เป็นพืชเศรษฐกิจของที่นี่ชุมชน
“นา” มาจากการ ทำนา ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ให้ยั่งยืน
“เล” มาจาก วิถีชาวเล ที่ทำประมงน้ำจืดในทะเลสาบสงขลา

ชุมชนที่นี่มีประมาณ 4,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะทำวิถีชุมชนทั้งสามแบบ คือ โหนด นา และ เล เนื่องจากแต่ละวิถีแต่ละอันมีฤดูกาลการทำที่แตกต่างกัน

จุดเริ่มต้นทริป:กองทัพต้องเดินด้วยท้อง

เรามาถึงท่าอากาศยานหาดใหญ่ ประมาณเกือบบ่ายโมงกับ Thai Smile Airways ดูวิวข้างหน้าต่างเพลินจนลืมเวลา อ้อ เราเราเดินทางมาพร้อมกับ blogger ชาว อินโดนีเซียด้วยนะ มาเรียนรู้พร้อมกันซะเลย

ทริปนี้มีพี่ๆ จาก Satun CPS Travel ผู้จัดโปรแกรมนี้ให้เราไปผจญภัย เดินทางมาให้ความสะดวกกับเราในวันนี้ด้วย และมีไกด์ของเรา พี่จอยที่จะพาเราไปเจอกับชุมชนที่รอเราอยู่ที่สงขลา

เมื่อพบปะเจอะเจอกันแล้ว พี่จอยพาเราออกไปจากสนามบิน แค่ประมาณ 5 นาทีเราก็ได้รู้จักกับ ร้านไก่ทอดเดชาที่เพิ่งจะได้ยินคำล่ำลือถึงความอร่อย อยากจะบอกว่าอะไรก็จัดไปค่ะจุดนี้ หิวมากขนาดขนมปังในเครื่องบินก็เอาไม่อยู่! กิน 4 คนสั่งมาเต็มโต๊ะ (แต่สรุปหมดทุกอย่าง) ไม่ลืมที่จะลองชาชัก signature หลักของที่นี่ แนะนำให้สั่งหวานน้อย เพราะขนาดสั่งแล้วยังหวานเลย แต่อร่อยนะ ครั้งแรกของเรากับชาชัก เปิด milestone ให้ซะเลย อยากสั่งไก่ต้มด้วยแต่วันนี้หมด อดเลย


อาหารอร่อยเลย ไม่ทอด ไม่ว่าจะกินกับข้าวหมดหรือข้าวเหนียวคือดีหมด ส้มตำออกเผ็ดแต่ใช้ได้เลย บวกชาชักไป อิ่มกลิ้งได้อยู่เหมือนกัน (ข้อมูลเกี่ยวกับร้านจะอยู่ที่ท้ายบล๊อค)เราเดินทางต่อเพื่อที่จะเข้าไปที่จังหวัดสงขลา ผ่านสะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานที่สวยงาม และมีสองรอบด้วยกัน ข้ามทะเลสาบสงขลา สามารถเห็นวิถีการประมงได้ชัดเจน

ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเพลิดเพลินกับวิว ถึงแม้ตอนแรกจะมีฝนตกหนัก จนถึงชุมชนโหนด นา เล เมื่อมาถึงทางเข้า เราเห็นต้นตาลเต็มสองข้างทาง ทุ่งหญ้าเขียวขจีรับหน้าฝน มีทุกดอก..เจียว? สีเหลืองสวยงามมาก เจอที่ถ่ายรูปเด็ดๆละ...

รถตู้จอดหน้าศูนย์การเรียนรู้ โหนด นา เล โดยมีคุณน้า คุณป้า เดินเข้ามาต้อนรับ คุณป้าๆยังดู active อยู่เลย แลดูน่ารัก คุณป้าที่ควบคุมดูแลทั้งหมดคือคุณป้ารมณ์ ผู้มีวิสัยทัศน์อยากจะให้วิถีโหนด นา เล ถูกรู้จักโดยผู้คนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้พอมีพอใช้ โดยยึดหลักเกษตรพอเพียง และรักษาสิ่งแวดล้องแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ( responsible travel) เอาไว้ โดยเว้นการใช้พลาสติกด้วย ถูกใจมาก

เรียนรู้วิถีโหนด

หลังจากทำความรู้จักกันซักพักแล้ว เหล่าแก๊งคุณป้าก็พาเราเดินไปทำกิจกรรมแรก ซึ่งเดินไม่ไกลจากศูนย์การเรียนรู้ มีต้นตาลขึ้นอยู่มากมาย และกิจกรรมแรกที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโหนด นั่นก็คือ การปีนต้นตาลจ้า! โดยมีพี่พระเอกชุดอดงของเรา ปีนต้นตาลแบบเร็วยังกะแฟลช แปบเดียวพี่เค้าขึ้นไปอยู่บนยอดแล้ว!!


ต้นตาลจริงๆแล้ว มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวชี้ความแตกต่างคือ ตัวผู้มีงวง ซึ่งมีน้ำของต้นตาล ตัวเมียไม่มีน้ำ มีแต่ผล การเก็บผลผลิตของสองเพศนี้ก็จะมีความแตกต่างเล็กน้อย โดยพี่พระเอกนักไต่ของเราได้สาธิตการหนีบง่วงเพื่อเร่งการเกิดน้ำมากขึ้น ซึ่งต้องทำ เช้า- เย็น สองครั้งต่อวันเป็นเวลา 5 วันด้วยกัน! ถึงจะสามารถเก็บลงมาเพื่อทำการผลิตต่อในขั้นตอนต่อไป พี่ๆเอาน้ำตาลสดๆจากต้นมาให้กินเลย มีความหวานและเฝื่อนๆแต่อร่อยดี ของตัวเมียจะมีเนื้ออยู่ด้วย คล้ายลูกตาลลอยแก้วเลย

เนื่องจากทุ่งอยู่ไม่ไกล เราเลยถือโอกาสเก็บรูปสวยๆไว้ด้วย ธรรมชาติคือ filter ที่ดีที่สุด โดยมี background ต้นตาลอยู่ด้านหลังเป็นหย่อมๆ แนะนำให้มาช่วงนี้ไปถึงสิงหาเลย จะบานสวยมาก

เราเดินต่อไปที่บ้านของพี่พระเอก ขี่มอไซด์มาอย่างเท่ห์อ่ะ 55 เพื่อไปดูการสาธิตวีธีการเคี่ยวน้ำตาลโตนดที่ได้มา ซึ่งการเคี่ยวหนึ่งครั้งใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง จากที่ใส่เทใสกระทะไป 6 ปีป หลังเคี่ยวเสร็จจะเหลือแค่ 1 ปีป เท่านั้น!! กว่าจะได้มา มันไม่ใช่เล่นๆ

จริงๆก่อนหน้าจะมาเคี่ยว เราต้องเอาไปแช่กับน้ำเป็นเวลา 2 วัน 2 คืนก่อนด้วยนะถึงจะมาเคี่ยวได้ แต่ถ้าน้ำไม่ออก นั่นหมายความว่าต้นนี้ใช้ไม่ได้และต้องไปเอามาใหม่นาจา

นอกจากน้ำตาลโตนดจะสามารถให้ความหวานได้ ยังสามารถให้ความเปรี้ยวได้ถ้าเราทิ้งไว้ 7-15 วัน ซึ่งเอามาทำอาหารได้ ซึ่งจะเอามาทำในอาหารมื้อเย็นของเราในวันนี้เช่นกัน

อาหารมื้อเย็นมื้อแรกกับชุมชนท่าหิน
ถึงเวลาอาหารจ้า!! มื้อนี้เราช่วยกับคุณป้าในครัว ทำมื้ออาหารเย็นวันนี้ ซึ่งหลักๆเหล่าคุณป้าได้เตรียมให้เราหมดแล้ว หลักๆคือให้เราเรียนรู้ว่าแต่ละเมนู ใช้อะไรบ้าง เหล่าซีฟู้ตทั้งหลาย มาจากทะเลสาบสงขลา กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่มาก แบบมากก เห็นแล้วหิว จากที่ไม่ได้จะคิดว่าจะได้มากินอาหารทะเลที่นี่ กลายเป็นว่าทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งอาหารทะเลชั้นดี จากการอนุรักษ์ของชาวบ้าน ที่ทำให้เรายังมีกุุ้งตัวโตๆได้กิน เนื่องจากทะเลสาบสงขลาเป็นตรงที่เป็นทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ทำให้สัตว์น้ำเค็มสามารถอาศัยอยู่ได้

เราเดินดูคุณป้าทำอาหารกันอย่างตั้งใจ นานมากแล้วที่เราไม่ได้เห็นคนทำอาหารโดยใช้ถ่าน เนื่องจากใช้เวลามากในการทำอาหาร แต่ดูเหมือนว่าจะรวดเร็วมากพอพวกคุณป้ามาทำให้ หลังจากเราลองทำอาหาร ดู Aldi เพื่อน blogger หัดทำต้มยำกุ้งฝีมือตัวเองไปแล้ว อาหารวันนี้หรูหรา แกรนด์มาก นอกจากจะมีกุ้งตัวโตๆ คุณป้าเซอร์ไพรส์ด้วยทำปูนึ่งมาให้อีกหลายตัว มีเมนูอาหารที่ทำมาจากหัวโหนด ซึ่งหาทานได้ยาก

สรุปอาหารมื้อนี้คือดีมาก โดยเราชอบที่สุดคือ ปลาทอดและแกงเหลืองดอกแคซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ลอง อร่อยกลมกล่อมมาก ที่นี่ใช้น้ำตาลโตนดแบบผงในการทำอาหารนะคะ ไม่ใช่น้ำตาลทราย โดยข้าวจะใช้จะเป็นข้าวที่ปลูกเอง โดยเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่มีใช้ตาลผสมเพื่อความกลมกล่อม อร่อยมว๊าากก

อิ่มหนำสำราญกันไปแล้ว ถึงเวลาเข้าบ้านจ้า!!! บ้านของเราเป็นบ้านของป้าเอียด ซึ่งมีห้องนอนให้เราสองห้องด้วยกัน ที่บ้านมีความเป็นอยู่แบบชาวบ้านจริงๆ ห้องน้ำหนึ่งห้องใช้ด้วยกัน บ้านใต้ถุน คานไม้ เรานั่งคุยกันซักพักถึงเรื่องวันนี้ บ้านยายเอียดมีทั้งหมด สามคนคือ คุณตา ยายเอี๊ยดและน้องครีม อาจจะต้องบวกอีกหนึ่งแมวที่ชอบกระโดดไปมาตามห้องนอน และแล้วก็ถึงเวลาพักผ่อนของวันนี้

อีกอย่างที่อยากแนะนำของที่นี่คือสบู่ตาลเพราะกลิ่นหอมมากเหมือนขนม แต่มีสรรพคุณหลายอย่างที่น่าสนใจเช่นทำให้ผิวกระจ่างใสขึ้นได้หรือการช่วยลดฝ้า ด่างต่างๆที่ชาวบ้านออกกันว่าเห็นผลจริง!




Day 2: เรียนรู้วิถีโหนดและวิถีเล (25/07/2019)

l ไปตลาดเช้ากินข้าวชมวิวที่ล้านยอ l เรียนรู้การเคี่ยวน้ำตาลเพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ l นั่งเรือทะเลสาบสงขลาชมการครอบเทียว l

วันนี้เราตื่นกันตั้งแต่ 6 โมงเพื่อเดินทางไปที่ตลาดเช้าวันพฤหัส ซึ่งแต่วันละวันตลาดจะอยู่ในที่ๆไม่ซ้ำกันเพื่อวนไปให้ครบพิ้นที่อย่างทั่วถึง จากโฮมสเตย์ของเราประมาณ 5 นาทีไปถึงตลาดเช้า นำโดยป้ารมย์มาเจอที่ตลาด พาเดินดูร้านต่างๆและซื้อกับข้าวให้เรา วันนี้ของขายไม่เยอะมากเพราะในชุมชนมีงานกีฬาสีของโรงเรียน ซึ่งเหล่าคุณป้าน้าอาต่างก็ต้องไปเป็นกองเชียร์หลานๆ

หลักๆที่ตลาดจะเป็นอาหารสด มีขนมไทยและแกง มีแกงสีแปลกๆเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นแกงสีชมพูที่ทำจากแป้งแดง แกงสีแทบออกจะออกเป็นเทา เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกเลยว่า เรารู้จักแกงไทยน้อยไปจริงๆ.. อาหารทะเลที่นี่เพิ่งนำมาจากทะเลสาบสงขลากันมาสดๆ ปูยังดิ้น ปลายังกระโดดอยู่ในถังอยู่เลย ถึงแม้ชุมชนอาจจะห่างไกล 7-eleven อยู่บ้าง แต่ตลาดนี้ถือว่าหาอะไรกินได้ครบ แถม organic มากอีกต่างหาก

เราเดินจากตลาดไปที่กินข้าวของเราชื่อว่า “ล้านยอ ได้ยินครั้งแรกคิดว่าหมายถึงร้านอาหาร แต่จริงๆแล้ว ที่นี่คือ ศาลาพักผ่อนซึ่งมีทั้งที่เป็นสาธารณะหรือของส่วนตัว แต่ถึงจะส่วนตัว คนในหมู่บ้านสามารถเข้าออกได้หมดตามเพราะต่างรู้จักกันหมด เรามองว่าคนที่นี่ต้องเป็นมิตรและมีความเชื่อใจสูงมากที่ให้คนอื่นเข้ามาให้ศาลาพักผ่อนของตัวเองได้ แต่ก็เป็นความน่ารักของคนที่นี่ ที่สามารถแบ่งปัน สิ่งของ ที่พัก ช่วยอำนวยความสะดวกให้กันจริงๆ


ฉากหลักของศาลาเป็นวิวดีงาม วิวท้องนาและภูเขาที่เราสามารถเหนจังหวัดพัทลุงได้ เราถ่ายรูปเล่นกันซักพักก็ได้ขึ้นไปบนศาลา มีที่นั่งกินข้าวพร้อม อาหารเช้ามื้อนี้ของเรา ประกอบไปด้วยข้าวยำน้ำวูดู ขนมจีนน้ำยา และขนมไทยต่างๆ ข้าวยำอันนี้เราขอผ่านมาก เคยกินน้ำวูดูเข้าไป จอดสนิทจ้าา เลยได้ลองขนมจีนน้ำยาปักษ์ได้ดู รสชาติต่างกับปกติ ที่นี่จะมีความเปรี้ยวหวานกว่า แต่กินเพลินดี คราวนี้มาลองขนมไทยกันน เราได้ลองขนมชื่อ “ขนมค่อม” ซึ่งยังไม่เคยเจอมาก่อน แป้งๆคล้ายขนมเทียน แต่ข้างในเป็นถั่วและพริกไทย กินครั้งแรกจะรู้สึกสับสนเล็กๆ แต่กินๆผมาก็อร่อยดี ขนมอีกอันที่น่าลองก็คือขนมกรวย เป็นแป้ง น้ำ ตาลและกระทิ อร่อยดีเหมือนกัน

เราอยู่ที่นั่นกันซักพักใหญ่ ทั้งคุยเล่นทั้งทำความรู้จักกับแต่ละคน รวมถึงพี่ตากล้องสองคนจากยะลาที่เดินทางมาทีหลังด้วย หลังจากอิ่มหนำกันแล้ว เรากลับไปที่ศูนย์การเรียนรู้โหนด นา เล หรือบ้านป้ารมย์นั่นเองเพื่อที่จะเรียนรู้ต่อเกี่ยวกับการเคี่ยวน้ำตาล น้ำตาลแว่น ขนมตาล ขนมรา ทำสบู่และการทำจักรสาน

เรียนรู้วิถีโหนดต่อจากเมื่อวาน สำหรับการเคี่ยวน้ำตาล เรานำน้ำตาลจากการเคี่ยวในวันแรก มาเคี้ยวในความร้อนเดือด ถึงระดับนึง น้ำตาลโตนดจะสามารถแข็งตัวและกินได้ โดยการทำน้ำตาลแว่น คือการที่นำใบต้นตาลมาทำเป็นวงๆเพื่อใส่น้ำตาลลงไปและรอการแข็งตัว สามารถนำมากินได้หรือเอาไปใช้ทำอาหารต่อได้

หลังจากน้ำตาลแว่น เราก็ลองมาเคี่ยวทำเป็นน้ำตาลผงกัน รู้สึกทั้งสงสารเหล่าคุณยายและซูฮกมากเพราะต้องใช้แรงเยอะมาก ในการเคี่ยวน้ำตาลจากเหลวกลายเป็นผง เราถูกให้ไปเป็นคนสาธิตการเคี่ยวน้ำตาล หลังจากทำน้ำตาลแว่นเละไปหลายอัน (แหะ..) แต่สงสัยว่าอาจจะถนัดงานใช้แรงงานมากกว่า ใช้แรงเยอะมาก คุณยายเก่งกันมาก ดีใจแทนลูกหลานที่ยังมีคุณยายแข็งแรงแบบนี้+ทำอาหารอร่อยมั่กก

สุดท้ายเราก็เอาน้ำตาลมาร่อนเพื่อได้ผงน้ำตาลมาปรุงอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ เนื่องจากใช้น้ำตาลจากธรรมชาติ น้ำตาลโตนดสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน ทำให้ระดับอินซูลินและดับไขมันในเลือดดีขึ้นรวมถึงสามารถลดระดับโคเลสตอรอลในเลือดได้

เรามาชิวๆกันบ้างที่ฐานขนมตาล ขนมที่เราโปรดปรานมากก คุณยายบอกว่าใครมาที่นี่ก็บอกว่าที่นี่ขนมตาลอร่อยสุดเพราะทำจากน้ำตาลโตนดแท้ๆ ซึ่งหาได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้ที่จะใช้น้ำตาลสดๆแบบนี้

การทำขนมตาลเริ่มจากการใส่แป้งมันสำปะหลังลงไปในน้ำตาลโตนด ประมาณ 1 วันเราสามารถนำมาใส่ภาชนะนึ่งได้เลย ภายใน 20 นาทีเราก็จะได้ขนมตาลแสนอร่อยมากินแล้ว การกินตอนร้อนกับตอนเย็น จะมีความรู้สึกที่ต่างไปด้วยนะ แต่อยากให้มากินตอนออกจากเตาใหม่ๆ กินแล้วฟินมาก อร่อยสุดด ยิ่งตอนใส่มะพร้าวขูดคือดีมากเพราะมะพร้าวจะมีความเค็ม เข้ากับความหวานของขนมตาลซึ่งไม่หวานจนเกินไปด้วย จะเห็นด้วยว่าสีของขนมตาลที่นี่จะออกเหลืองพาสเทลกว่าที่อื่นมากๆ ควรมาลองมาจ๊ะ

มาดูอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาหารกันบ้าง เราจะมาดูการจักรสานจากใบต้นตาลโตนดโดยคุณยายหวงกัน นอกจากจะเอาไว้ทำอาหาร ต้นตาลโตนดสามารถทำได้สารพัดอย่างมาก โดยอันนี้เราเอามาทำเครื่องจักรสานต่างๆ เช่นกระเป๋า ตกแต่งบ้าน ที่ใส่เครื่องประดับ งานฝีมือขนาดนี้ คุณป้าขายเริ่มต้นอยู่แค่ 30 บาทเท่านั้นนะจ้า!!

เราได้ลองสานปลาด้วย ไม่ค่อยจะรอดแต่ก็ได้มา 1 ตัว 555 ทุกจักรสานคุณยายหวงเป็นคนดีไซน์เองทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ความปราณีตมาก โดยเฉพาะจักรสานเป็นทุเรียนที่ดูมีรายละเอียดเยอะมาก ซึ่งคุณยายสามารถทำได้เสร็จภายใน 2 ชม. ด้วย คุณยายแต่ละคนที่นี่ไม่ธรรมดาจริงๆ!

กลับมากับอีกหนึ่งขนม ชื่อ ขนมลา ทำจากการเอาน้ำตาลโตนดผสมกับเแป้งมันสำปะหลังแป้งข้าวจ้าวและแป้งข้าวเหนียว น้ำเปล่าและน้ำมันเพื่อให้เส้นลื่น ทาน้ำมันลงพร้อมไข่ลงไปที่กระทะเพื่อให้ได้ความหอม จากนั้นก็ละเลงลงกระทะได้เลยจ้า!

แค่แปปเดียวเราก็ยกออกจากกระทะได้ แต่ต้องใช้ความเร็วในการร่อนได้เพราะจะไหม้เร็วมาก เนื่องจากแป้งมีความบางเมื่ออยู่ในกระทะ ขนมลาหลักๆเอาไว้ใช้กินในการทำบุญเดือน 10 วึ่งเป็นประเพณีของทางภาคใต้ เพื่อทำบุญให้กับผีเปรต โดยมีความเชื่อว่าปากของเปรตเล็ก ขนมลาจึงเล็กๆพอที่จะให้เปรตมากินได้ หลังจากทำพิธีก็สามารถกินได้

กิจกรรมสุดท้ายของวิถีโหนดก็คือการทำสบู่จากน้ำตาลโตนดนั่นเอง ซึ่งเราได้ลองใช้ที่โฮมสเตย์แล้ว สบู่มีความหอมมากๆ หอมจนน่ากิน โดยการทำสบู่มีการทำที่ง่ายมาก เราต้องใช้ผลที่สุกมากจนหล่นลงมาเอง ซึ่งจะต้องตกในวันนั้นเท่านั้น จากนั้นขูดเอาน้ำออกมาก จะออกเป็นเหมือนครีมสีเหลืองคล้ายซาลาเปาไส้ครีม ลุกนึงสามารถทำได้ประมาณ 30 ก้อน จากนั้นนำกลีเซอรีน สารช่วยให้แข็งตัว ละลายในน้ำร้อน ใส่น้ำผึ้งธรรมาชาติเล็กน้อย จากนั้นใส่ตัวน้ำที่เราขูดลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่แม่พิมพ์ พอแค่ 1 ชั่วโมงก็ได้สบู่ตาลโตนตมาใช้แล้วจ้า

สรรพคุณเค้าก็ไม่ธรรมดาเลยนะ ทำให้ผิวขาวขึ้น ไม่เหี่ยวย่น ผิวนิ่มขึ้น การที่เราไปขูดมือเราไปโดนผลของมันก็ทำให้มือนุ่มขึ้นด้วยนะ ที่สำคัญสามารถลดฝ้า กระ จุดด่างดำ ไว้ได้และยังยับยั้งเชื้อราและต้านอนุมูลอิสระได้ด้วย ราคาอยู่ที่ก้อนละ 70 บาท

เย็นแล้วจ้า! เย็นวันนี้เราจะมาเริ่มเรียนรู้วิถีเล กัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่เราตั้งใจอยากจะไปเห็นคือการครอบเทียวแม่กุ้งเรานั่งเรือออกไปจากบ้านของคนในหมู่บ้านเพื่อออกไปทางทะเลสาบสงขลา สงบแล้วสวยมาก โดยเฉพาะวิวยอข้างทาง

วันนี้เงียบๆ ไม่เห็นเรือลำอื่นวิ่ง ท้องฟ้าครึ่มๆทั้งวันทำให้วันนี้อดเจอท้องฟ้าสีส้มเลย วิธีการสำหรับการเทียวแม่กุ้ง หรือการจับกุ้งในทะเลสาบสงขลานั่นเอง โดยชาวประมงจะมีไม้แหลมเสียบผลตาลที่ไม่ใช้แล้วไว้ เพื่อเอามาล่อกุ้งเพราะมันชอบกัน ด้วยความที่เจ้าทะเลสาบเองเป็นทะเลสาบน้ำตื่นมากประมาณ 1 เมตรเท่านั้น พี่ประมงเราก็ลงไปปักและลากเรือไปด้วยเลยจ้าา ส่วนใหญ่เวลาออกทะเลสาบเพื่อครอบเทียวกุ้ง จะเตรียมไม้ไปประมาณ 200 ไม้ หมายความว่าชาวประมงต้องเดินปักไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด รอถึงเย็นเพราะกุ้งออกหากินกลางคืน ประมาณ 1 ทุ่มก็จะเช็ตไม้ทุกอันว่ามีกุ้งกำลังกินอยู่หรือไม่ ถ้าเราเห็นพวกมันกำลังตอดอยู่พี่ประมงจะใช้สุ่มครอบเพื่อจับกุ้งเอาไว้ โดยใช้มือเปล่าๆนี่แหละ! พี่ประมงออกเรือแล้วว

เราเดินทางไปด้วยเรือสองลำพร้อมเสบียงคือขนมตาลที่เราทำกันเมื่อตอนบ่ายไปด้วย ตลอดทางมีความสวยงามโดยเฉพาะจากยอของชาวบ้านจนเข้าถึงกลางทะเลสาบสงขลา มีแบคกราวน์เป็นภูเขาทางจังหวัดพัทลุง พี่ประมงก็เริ่มลงจากเรือและปักไม้แหลมที่ที่ไว้เป็นเหยื่อล่อกุ้ง ประมาร 100 เมตรปักทีและเข็นเรือไปด้วย ปักไปได้ประมาณ 70 อัน พี่เค้าก็จอดเรือ เราก็งงว่ายังไม่เสร็จทำไมจอดนาน สรุปว่าเหนื่อยแล้ว วันนี้ขอแค่นี้ อ้าว!! งงเบย เราล่องลอยอยู่กลางทะเลสาบสงขลาเป็นเวลาซักพักใหญ่ สังเกตธรรมชาติรอบๆตัว คุยเล่นถ่ายรูปกันไปเรื่อยเปื่อย ดูนกเป็ดน้ำจากไกลๆ

จนถึงเวลาหนึ่งทุ่ม พี่ประมงกลับหันเรือกลับเพื่อเตรียมตัวหันเรือกลับไปดูผลงานของตัวเอง ต้องมาลุ้นกันว่าจาก 70-80 ดอกที่ได้ล่อเหยื่อไป จะได้กุ้งกันมาซักกี่ตัว! ตอนแรกจับมา 30 ไม้ละ ยังไม่มีกุ้งโผล่มาเลย สรุปว่าได้ไปทั้งหมดประมาณ 5 ตัวจ้า มีกุ้งหนึ่งตัวเป็นกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่มาก!! เรามองกันด้วยความดีใจกับพี่ชาวประมงที่กว่าจะเจอกุ้งทีลุ้นกันแทบแย่!! กุ้งเซ็ทนี้จะเป็นของพวกเราโดยมีเหล่าคุณยายนำไปประกอบอาหารสำหรับพรุ่งนี้ให้ด้วย!

กลับกันมาที่โฮมสเตย์ กินข้าวกับคุณยายที่บ้านค่ะ กับข้าวคุณยายอร่อยทุกอย่างจริงๆ ได้ลองกินเมนูแปลกๆแต่อร่อยถูกปากเยอะมากก จากนั้นเราก็เข้ามาพักผ่อนปั่นบล๊อคต่อไปค่ะ 555

Day 3: เรียนรู้วิถีเลและวิถีนา (26/07/2019)

l เรียนรู้เกี่ยวกับการเหยียบรูปลามิหลัง l กินข้าวเช้าบนยอ l ชมทะเลสาบสงขลา l เรียนรู้วิถีนา การตำข้าว นวดข้าว หว่านข้าว สีข้าว ร่อนข้าวl

วันนี้เราตื่นสายกว่าเมื่อวานนิดหน่อยเพราะกิจกรรมวันนี้ไม่แน่นมาก ตอนนี้เราได้เรียนมาถึงวิถีเลแล้ว และกิจกรรมอย่างสุดท้ายที่เราจะทำกันวันนี้เกี่ยวกับวิถีเลก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับการยกไซกุ้งและการเหยียบรูปลามิหลัง เราออกเรือประมาณ 7 โมงกว่าๆไปที่ทะเลสาบสงขลาเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย โดยจะมุ่งหลักไปที่ฝั่งพัทลุง ซึ่งอยู่ใกล้กันมาก

เราจึงข้ามเขตไปพัทลุงนิดหน่อยเพื่อไปดูการจับปลากัน โดยวิธีการหลักๆคือ พี่ชาวประมงจะยืนดูจากด้านบนเพื่อดูว่าตรงไหนพอมีฟองอากาศขึ้นหรือมีสัญญาณของการหายใจของปลามิหลัง หลังจากนั้นก็จะใช้ไม้และแหในการไล่ให้ปลาออกจากรูก็จะสามารถจับได้ ซึ่งวันนี้เราได้ตัวใหญ่มาหนึ่งตัวจ้าา!! เวลาจับต้องอย่าพยายามไปโดยเงี่ยงมันด้วย เพราะมีฤทธิ์เทียบเท่ากับพิษงูเห่าเลยจ้า โดนแล้วจะเจ็บมาก

เราอยู่กลางทะเลสาบซักพักใหญ่ ลองไปดูชาวบ้านคนอื่นที่กำลังยกไซกุ้งเพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจับกุ้งอีกแบบที่ต่างจากเมื่อวาน แต่การจับเป็นวิธีเดียวกับ ซึ่งไซมีหลายแบบ ใช้ได้ทั้งจับกุ้งจับปลาแล้วแต่ไซส์ หรือแต่ความถี่ของตาข่าย

ก่อนกลับเราแวะเข้าไปกินข้าวเช้าในยอ!! ครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสเข้าไปดูในยอว่าข้างในเป็นยังไงบ้าง มีความหวาดเสียวมากในการขึ้น ไม่ได้ขึ้นได้ง่ายๆ สามารถตกลงไปได้ง่ายๆเลยจ้า แต่ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ได้มีโอกาสมากินข้าวบนยอ ปกติทั่วไปคงไม่มีโอกาสได้ทำแน่ๆ ต้องขอบคุณป้ารมณ์จริงๆที่พาขึ้นมา โดยอาหารเช้าของเราจะมีทั้งข้าวผัดและไก่ทอดข้าวเหนียว หรือเหนียวได่ตามภาษาใต้ อร่อยมากก

ส่วนคุณยายอีกสองคนที่มากับเราเช่นกันก็กระโดดทะเลสาบเรียบร้อยเลยจ้า!! 555 น่ารักมากๆ! ซึ่งจริงๆคุณยายเค้าอยากจะให้เราดูการตีโป่งของคนสมัยก่อนแหละ! คุณยายจะใส่ผ้าถุงลงน้ำ เหมือนคนสมัยก่อนที่อาบน้ำบนทะเลสาบ พอว่ายน้ำใข้ผ้าถุงก็จะเกิดการตีโป่ง ทำให้เหมือนคุณยายกำลังลอยน้ำกับห่วงยางอยู่ แต่มันคือแบบน่ารักมากอ่ะ!! คุณยายว่ายน้ำโชว์อยู่นานเพื่อจะให้เราได้รูปสวยๆ ถึงแม้ว่าคุณยายจะเหนื่อย ขอบคุณมากเลยนะค่าา วิถี เลก็จบไปด้วยความประทับใจเช่นเดิม

กลับมาถึงฝั่ง 9.30 โมง แอบเพลียหนักเพราะแดดแรงมากๆ แนะนำเอาร่มและหมวกมาด้วย เรากลับมาที่ๆโฮมสเตย์หรือบ้านของคุณยายเอี๊ยด ซึ่งเป็นการสาธิตสั้นๆเกี่ยวกับตัวต้นตาลอีกที บ้านป้าเอี๊ยดทำวิถีทั้งสามวิถีเช่นกัน ซึ่งวันนี้ต้องการจะมาสาธิตการนำมาทำน้ำตาลอีกที เกี่ยวกับตัวผู้ตัวเมียให้ชัดเจนมากขึ้นและเราก็ได้ลูกตาลสดๆจากต้นมากินอีกแล้วว

หลังการสาธิตสั้นๆของคุณตากลั่น เราตรงไปบ้านป้ารมย์หรือศูนย์การเรียนรู้อีกทีเพื่อเรียนวิถีโหนดแบบสุดท้าย นั่นก็คือ “นา” นั่นเอง ซึ่งลำดับหลักๆก่อนที่เราจะทำไปหุง จะเป็นดังนี้

  1. การนวดข้าว
  2. การสีข้าว
  3. การร่อนข้าว
  4. การตำข้าว
  5. การหว่านข้าว

โดยกิจกรรมแรกที่เราทำคือการนวดข้าวโดยใช้เท้าของเรานี่แหละนวดลงไปเลยค่าา!

หลังจากที่เหล่าคุณยายได้ไปเก็บรวงข้าวกันมาอย่างสวยงามแล้ว ก็ต้องเป็นขั้นตอนที่ต้องเอาข้าวออกจากรวง ปกติที่อื่นเค้าจะมีเครื่อง แต่เราใช้วิธีชาวบ้านหรือ manual เอาเลยค่ะ การเหยียบหรือนวดข้าว จนเม็ดออกมาจากรวงทั้งหมด คุณยายสาธิตให้ดู ส่วนเราก็ลองทำต่อ มีความเจ็บเท้าใช้ได้เลย ต้องใช้แรงแอบเยอะเหมือนกัน หลังทั้งเราและ Aldi ได้ลองทำกันแล้ว

เราเข้าไปดูฐานต่อไป นั่นคือการสีข้าว เราเราต้องโยกคันโยกซึ่งมีความหนักเอาการและต้องใช้จังหวะและความเร็วด้วยนะ ถึงจะโยกไป คุณยายแต่ละคนโปรมากอีกแล้ว ไม่ได้มาเล่นๆซักคน เชื่อว่าคุณยายเผลอๆจะแข็งแรงกว่าเราด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกำลังแขน! เราหมุนเพื่อให้เปลือกข้าวที่กินไม่ได้ออกมา ข้าวที่ดีจะอยู่ข้างใน แต่ข้าวดีอาจจะเผลอออกมาปนกับเปลือกข้าว

จึงทำให้ต้องทำสเต็ปต่อไปคือ การร่อนข้าวเปลือกข้าวหรือแกลบออกไป เพราะไม่สามารถใช้กินได้ แต่อาจจะเอาไปใส่ถ่าน เผาไฟได้ การร่อนพอใส่ข้าวไปเยอะ ก็ร่อนอยากเหมือนกัน ร่อนไปซักพักเลยให้คนยายร่อนเองดีกว่า เดี๋ยวข้าวดีๆจะหายหมด 555

สเต็ปเกือบสุดท้ายคือ การตำข้าว ทางคุณยายเอาตอไม้อันใหญ่มา ใส่ข้าวจำนวนหนึ่งลงไป พร้อมไม้ตำที่ใหญ่และมีความหนักมากอีกแล้วว เราต้องตำเพื่อแยกเอาข้าวดีมาอีกเป็นครั้งสุดท้าย เราจะแยกได้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นรำข้าวที่พวกหมูกิน สามารถนำไปเป็นอาหารหมูไก่ ได้ ส่วนข้าวที่ดีก็จะถูกนำไปรวมกับเมล็ดข้าวดีๆในตอนแรก


ส่วนสุดท้ายแล้วคือการหว่านเมล็ดข้าว ด้วยความที่ข้าวไม่ได้มีทุกฤดูกาล ที่นี่จะปลูกต้นปอเทืองเอาไว้เพราะมีประโยชน์ต่อการปลูกข้าว ทำให้ข้าวขึ้นได้ดีขึ้นกว่าใช้พืชขนิดอื่น คุณยายพาเราเดินไปหลังบ้านที่มีต้นตาลเยอะๆอีกครั้ง จากนั้นเข้าไปในที่ๆเคยปลูกนา คุณยาย 5 คน เดินหว่านเมล็ดไปเรื่อยๆให้ทั่ว เมื่อฝนตกเมล็ดข้าวพวกนี้จะเติบโตขึ้นเป็นต้นข้าวตามที่เราเคยเห็นทั่วไปได้

กิจกรรมของเราสุดท้ายที่นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับวิถีโหนด นา เล แล้วแต่เป็นการชมการแสดงรำละครมโนราห์ตรงข้ามบ้านนั่นเอง โดยเป็นเด็กน้อยสามมารำให้ดู ชาวบ้านก็พากันมาดูที่ศาลาเล็กๆ ดูแล้วก็น่ารักดี รำมโนราห์เป็นการรำประจำภาคใต้ มีความสวยงาม การรำมีตั้งแต่เลเวลง่ายไปยากเลยด้วย

และนี่คือการจบเรื่องวิถีทั้งสามวิถีคือ โหนด นา และเล ซึ่งเป็นวิถีภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีประโยชน์มาก ทั้งชุมชนและคนทั่วไป เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างมากเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่นี่ การใช้ทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ แม้แต่ต้นตาล สามารถนำทุกส่วน ถึงแม้เป็นแค่เปลือก แต่ก็เอาไปคิดทำเป็นประโยชน์อย่างอื่นหรือเอาไปทำอาหาร ของใช้ได้หมด โดยทุกส่วนมีการใช้ประโยชน์ กับทุกเรื่อง อยากให้ทุกคนได้มาลองสัมผัสดูกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นกันเอง ความเกื้อกูล ความมีน้ำใจของคนที่นี่ ทำให้เราเห็นเลยว่า ชีวิตไม่เห็นจะต้องมีอะไรมาก แค่กินดีอยู่ดี ช่วยเหลือกันและกัน อยู่อย่างพี่น้อง แค่นี้ก็มีความสุขได้เนอะ

ถึงแม้การเรียนรู้เรื่องวิถีโหนด นา เล จะจบไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่เสร็จภารกิจกับที่นี่นะ เราจะนอนที่นี่อีกประมาณสองคืน และคลองแดงอีกหนึ่งคืนด้วยนะจ้า

Day 4: เยี่ยมคลองแดน ศึกษาวิถีชีวิต (27/07/2019)

l ชมนาที่คลองแดนด้วยรถไม้ l ชมวัดคลองแด ชมพระทองและเรือโบราณ l นั่งเรือทะเลสาบสงขลาชมการครอบเทียว l ทานอาหารในปิ่นโตที่ตลาดคลองแดน l ทำกิจกรรมฐาน ร้อยลูกปัด งานสานกระจูด ทำหนังตะลุง l เดินเล่นหาขอกินที่ตลาดคลองแดน l

หลังจากที่เราได้เรียนรู้วิถีโหนดนา เล เสร็จครบหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว วันนี้เรามาเปลี่ยนสถานที่กันบ้างเพื่อไปเที่ยวอีกชุมชนหนึ่ง เรียกว่า ชุมชนคลองแดง และจะกลับมาที่ ต.ท่าหินอีกวันหนึ่ง เราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อถึงที่ชุมชมคลองแดน ซึ่งความเจ๋งของชุมชมนี้ก็คือ การที่คลองแดนอยู่ระหว่างสองจังหวัดคือสงขลาและนครศรีธรรมราชนั่นเอง! เป็นเมืองเหนือสุดของสงขลาและเป็นเมืองใต้สุดของนครศรีธรรมราช แค่เราเดิมข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำก็จะเป็นอีกจังหวัดแล้ว ซึ่งเดินข้ามไปได้อย่างง่ายดายมาก! ในตัวตลาดน้ำที่เราจะไปเดินหาของกินเอง แค่เราเดินจะไปหาอะไรกินอีกฝั่งก็เป็นจังหวัดคนละจังหวัดแล้ว! นอกจากจะเป็น คลองสองจังหวัดแล้ว ยังเป็นชุมชนสามคลองอีกด้วย นั่นก็คือ คลองระโนด(ไปสงขลา) คลองปากพะนัง(ไปนครศรีธรรมราช)และคลองชะอวด (ไปพัทลุง)

โดยที่แรกเราไปเก็บของที่โฮมสเตย์ของเราก่อน เพื่อที่จะเข้าไปเจอเจ้าของโฮมสเตย์ ชื่อครูสมหมายที่จะคอยดูแลเราด้วย ทั้งชุมชนมีโฮมสเตย์อยู่แต่ 10 หลังเท่านั้นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของชุมขน ของดีมีน้อย ใครมาต้องรีบมาจองซะหน่อยนะ ที่ๆเรามานอนชื่อเรือนไม้โฮมสเตย์ เป็นห้องรวมแยกชายหญิง มีประมาณ 4 ห้อง แม้จะเป็นห้องรวมแต่ที่พักสะอาดมากก อุปกรณ์ครบ มีห้องแอร์เย็นช่ำ วิวดีด้วย มีที่นั่งเล่น ติดแม่น้ำ ชิวมาก โฮมสเตย์ของเราอยู่ใกล้ตลาดน้ำมาก สามารถเดินได้ 5 นาทีถึง ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อครูสมหมายเพื่อติดต่อสำรองที่พัก 080-142-6646

เราออกจากโฮมสเตย์พร้อมรถไม้และครูกาญ คุณป้าแสนน่ารักที่พาเราเที่ยวชมคลองแดนในวันนี้ โดยที่แรกที่เราได้ชมคือบริเวณทุ่งนาของคลองแดนซึ่งใหญ่ อลังการมาก อีก signature นึงที่สามารถเห็นได้จากชุมชนคือ กังหันใหญ่ 2-3 อันเป็นฉากหลัง เราเลยได้ไปเก็บรูปเพลินๆที่นาซักพักใหญ่เพราะมุมน่าถ่ายเยอะไปหมด แต่ร้อนมากกก

จากนั้นเราไปกันต่อที่วัดคลองแดน ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนคลองแดน โดยมีหลวงพ่อชุมเป็นเจ้าอาวาสคนแรก

โดยไฮไลท์หลักๆของวัดคือ ที่ไว้เรือขุดโบราณและพระทอง สำหรับ เรือขุดโบราณ สิ่งที่เจ๋งคือ ถึงแม้ว่าจะถูกสร้างมาเกินกว่า 100 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังนำซ่อมแซมใช้ใหม่ได้ และสามารถบรรทุกคนได้เยอะมาก สมัยก่อนเวลาจะย้ายบ้านที่อยู่ริมน้ำ เค้าจะใช้เรือขุดเนี่ยแหละ ในการย้ายตัวบ้านไปตามที่ต่างๆ จินตนาการไม่ทันจริงๆแต่นี่คือภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่สามารถย้ายบ้านตัวเองได้ อีกอย่างก็คือสามารถเอาไปใช้ในการต่างๆ เช่นงานแข่งเรือตามคลอง ซึ่งยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

ส่วนพระทองซึ่งตอนนี้ประทับอยู่ในกุฏิของเจ้าอาวาส มีอายุมากกว่า 700 ปี ซึ่งศักดิ์สิทธิ์และมีคนเข้ามากราบไหว้มากมาย สันนิษฐานว่ามาจากยุคเชียงแสนแต่ไม่รู้ว่ามาได้ยังไง แต่ก่อนถูกพรางด้วยสีดำด้วย ทาปากแดง ทำให้คนไม่สนใจ หลังจากนั้นผู้คนเห็นว่าจริงๆแล้วข้างในองค์พระเป็นสีทอง จึงเรียกว่า “พระทอง” ตั้งแต่นั้นมา

ที่สุดท้ายก่อนออกไปวัด เราเข้าไปหอฉัน ถูกสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง อยู่ริมคลองชะอวด ซึ่งเป็นสถานที่ๆพระฉันและให้เศษอาหารแก่สัตว์หลังจากนั้น เป็นห้องโถงโล่งๆ สวยดี สามารถใช้จัดงานได้ด้วย

ถึงเวลาอาหารเที่ยงแล้ว! เราเดินเข้าไปในตลาดน้ำคลองแดง ยังไม่ค่อยมีคนเพราะเป็นช่วงเที่ยง เราไปเจอ พี่ไกรซึ่งเป็นประธานชุมชนคลองแดนและได้ทานข้าวร่วมกัน ข้าวในปิ่นโตเป็นข้าวที่ชาวบ้านทำให้ อร่อยเหมือนเดิม สังเกตว่าจะไปกินข้าวชุมชนที่ไหนก็กินดีอยู่ดีหมดเลย อร่อยมากด้วย พี่ไกรแชร์เรื่องของชุมชนคลองแดนให้ฟัง ทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิมเมื่อสมัยก่อน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฝั่งไหน เราเรียกทุกคนว่าคลองแดนทั้งหมด ซึ่งหลักๆคือ ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นที่นิยม แต่ด้วยเวลาผ่านไป หลายๆอย่างเปลี่ยน คู่แข่งก็เยอะขึ้น ทำให้มีคนมาเดินน้อยลง แล้วอยากจะโปรโมทที่นี่ให้มากขึ้น ตลาดน้ำของที่นี่ไม่ใช่การทำขึ้นมา แต่เป็นบ้านของชุมชนทั้งสองฝั่งจริงๆ จึงอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนและคนในพื้นที่ยังสามารถที่จะมีรายได้ต่อไปได้

หลังจากนั่งคุยกันซักพักใหญ่เราได้ลองไปร้อยลูกปัด ซึ่งทางร้านร้อยได้สวยมากก ซึ่งเราก็ได้ไปร้อยกับเค้าด้วย ซึ่ง โอ้ โหหห ขนาดว่าเอาแบบง่ายสุด ก็ทำกันได้งอกง่อยมาก 5555 งานฝีมือไม่ใช่ทางของเรา ขนาด Aldi ที่เป็นผู้ชายยังทำได้ดีกว่า สรุปว่าเราทำไปได้ซักพัก พอทำเป็นก็เริ่มไปฐานอื่นต่อ

ฐานที่สองของเราคือการทำจักรสานงานกระจูด อันนี้ก็ยากไปอีกเลเวลนึง สามารถเจองานจักรสานงานกระจูดได้ทั่วไป แต่ที่นี่ คุณป้าทำได้เร็วมาก ใจดีและราคาดีมากมาย การทำกระเป๋าลายกระจูดมีความยากอยู่ ต้องคอยให้ป้าช่วยสอนตลอด แต่หลักการหลักๆคือ “ยก 2 ลง 2” คือการเอาใบกระจูด 2 ใบ ยกขึ้น อีก 2 ใบ ยกลงและสอดใบแนวนอนเข้ามา ประมาณนี้ ฐานนี้ทำแบบพอเข้าใจ แต่ให้ทำอีกคงทำไม่ได้แล้ว 555 แต่ป้าเก่งมากค่ะ ซูฮกเลย

ฐานสุดท้ายของวันนี้คือ การทำหนังตะลุง ซึ่งเป็นหนังตลกของทางภาคใต้ เริ่มจากตอนแรกที่เราจะต้องใช้ “ตุ๊ดตู่” ชื่อน่ารักๆเหมือนตะปูและค้อนในการทำลวดลาย ซึ่งวันนี้เราก็ได้ลองแบบเบสิคดู เค้าบอกว่าตัวละครในหนังตะลุงมีจริงทุกตัวนะเออ!! จะบอกว่าฐานนี้เรารุ่งสุดเลย 555 ยกเว้นตอนต้องแกะหนังออกมา เพราะหนังเหนียวมาก โดยต้องใช้มีดแบบพิเศษ ที่พอจะแกะหนังวัวออกได้ เป็นการแกะที่ยากมากๆ คนที่มาสาธิตให้เราดูคือน้องอายุ 11 ขวบที่เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ! เดี๋ยวนี้อายุไม่มีความหมายอะไรจริงๆ น้องเก่งมากๆ และสามารถทำได้อย่างเร็วและโปรมาก

จากนั้นก็มาถึงขั้นระบายสี โดยตัวขอหนังตะลุงต้องมีสีดำ ยกเว้นส่วนกางเกงและส่วนอื่นเล็กน้อยที่มีสีได้ เราก็จัดการละเลงด้วยสีมาร์กเกอร์ไปอย่างรวดเร็วทั้งสองด้าน พอเสร็จทางร้านก็จัดแจงใส่ไม้ต่างๆให้ จนได้มาเป็นหนังตะลุงของเรานั่งเองงง สรุปฐานนี้เราชอบสุด สนุกดี 555 เราได้หนังตะลุงมาเป็นของที่ระลึกหนึ่งตัวด้วยและตัวที่เราทำเอง เลยได้มาเป็นสองตัวเลยจ้า

5 โมง 45 นาที เรานั่งเรือพายจากหน้าโฮมสเตย์ เพื่อจะดูการรำมโนราหรือรำพราน จากบนเรือ โดยการรำจะมีขึ้นที่สะพาน ในตลาด แสงกำลังมา แดดกำลังดี เราพายเรือกันเข้าไปในตลาด พอเพลงชาติจบ การรำมโนราก็เกิดขึ้น เรือเราเข้าไปในคลอง การรำสวยมากๆ ยิ่งมองจากเรือคือมุมสวยมากจริงๆ เราดูไปซักพัก จนมุดสะพานข้ามไปอีกฝั่งนึงของคลอง ชิวๆไปตามคลองซักพัก ก็กลับเข้ามาเพื่อไปเดินตลาดชิวๆ เป็นการจบวันด้วยการกินจ้าา เราซื้ออาหารมาแบ่งกันนิดหน่อยไม่เยอะมาก มีอาหารหลายอย่างให้เลือกเลย ที่เด็ดก็คือน้ำรีฟิลแถมได้ที่ใส่แก้วกระจูดกลับบ้านไปด้วย น่ารักมาก อีกอย่างคือ ไอศกรีมกะทิใส่โอ่ง อันนี้ก็อร่อยมากเหมือนกันน

ปกติตลาดน้ำเปิดแต่วันเสาร์ 12.00-21.00 เท่านั้นนะคะ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลองแดนหรือสนใจอยากทำกิจกรรมฐานต่างๆที่นี่ ซึ่งมีมากประมาณ 10 ฐาน สามารถติดต่อคุณไกร ประธานชุมชนได้ที่เบอร์นี้เลย: 089-231-5281

อยากให้มาเรียนรู้วิถีไทยที่นี่กันเยอะๆนะคะ แล้วจะรู้ว่าที่ชุมชนมีอะไรเจ๋งๆอีกเยอะ!

Day 5: ตามรอยหลวงปู่ทวด ดูวิวสวยๆที่วิวกังหันพันล้านและทิวตาล (28/07/2019)

l ชมภูพันธ์ฟาร์ม วิวกังหันพันล้าน l ชมวัดเลียบ วัดที่มีรกของหลวงปู่ทวดถูกฝังอยู่ l วัดดีหลวง วัดที่หลวงปู่ทวดได้มาเรียนหนังสือ l ถ้ำขุดโบราณ 1,200 ปี l ทิวตาล วิวสวยมาก l สำนักสงฆ์นาเปล ที่ๆมีพญางูมาคายลูกแก้ว l วัดพะโคะ วัดที่หลวงปู่ทวดสร้างก่อนหายตัวไป l

วันที่ห้าของทริปแล้วว ทุกคนเริ่มตื่นยากขึ้นทุกวัน 555 จากทริปเดิมจะขี่จักรยานตอนเช้า เราเปลี่ยนแผนนิดหน่อย หลังจากทานข้าวเช้าที่โฮมสเตย์และเช็คเอ้าท์แล้ว เราแวะกันที่ภูพันธ์ฟาร์มกันสั้นๆ ระหว่างทางภูพันธ์ฟาร์ม เป็นฟาร์มน่ารักๆที่เค้าพูดว่าเป็น “วิวพันล้าน” เพราะมีวิวที่เห็นกังหันลมที่ชัดและใกล้ที่สุด นอกจากนั้นในฟาร์มยังเลี้ยงแพะน่ารักๆเยอะมากและมีฟาร์มต้นกล้วยปลูกเยอะอีกด้วย สามารถมาเดินเล่นได้ โดยตอนนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของที่นี่เช่นกัน พลาดไม่ได้สุดก็คือรูปที่ต้องถ่ายกับกังหัน วิวดีเว่อวัง โดยเฉพาะตอนเย็น กิจกรรมก็มีมากมายเช่น การตัดแก้วมังกร ป้อนหญ้าแพะต่างๆ

จากนี้เราจะไปตามรอยหลวงปู่ทวดเต็มวัน!! ซึ่งอยู่ในอำเภอสะทิงพระ บางคนอาจจะถามว่ามันจะมีอะไรให้ทำเยอะหรอ? เราไม่ใช่สายบุญชั้นไม่สนน จะบอกว่าจริงๆมีเยอะมากๆ ส่วนตัวไม่ใช่สายถ่ายวัดเท่าไหร่แต่เส้นทางที่นี่มีอะไรน่าสนใจกว่าที่คิดเยอะมากก ไม่จำเป็นว่าเป็นสายบุญอะไรทั้งสิ้นแต่อยากให้ลองมากัน เราจะขอเล่าสั้นๆง่ายๆ ได้ใจความให้เพื่อนๆละกัน ว่าแต่ละที่มีความเป็นมา อะไรยังไงบ้างในแต่ละสถานที่ด้วย

ทำไมท่านจึงถูกเรียกว่า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด?

ถ้ามาที่สงขลา จะเห็นคำนี้เยอะมากก สงสัยกันมั้ยว่าทำไม? เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ท่านได้ขอติดเรือชาวเรือไปอยุธยาด้วย ซึ่งเมื่อท่านขึ้นเรือมาแล้ว ได้เกิดพายุในทะเลเป็นเวลา 7 วัน ชาวเรือเลยกล่าวหาว่าท่านเป็นอาเพศ เลยจะเชิญลงจากเรือปล่อยเกาะท่าน ตอนนี้มีชาวเรือกำลังหิวน้ำ พอท่านเหยียบน้ำทะเล ทะเลจากน้ำเค็มกลายเป็นน้ำจืด! พอคนเรือได้ลองกินน้ำก็ได้รู้ว่าเป็นน้ำจืดจริง จึงรีบไปบอกเพื่อนชาวเรือและเชิญท่านกลับมาที่เรือนั่นเอง เรื่องก็เป็นแบบนี้เองจ้า

วัดเลียบ

ที่แรกที่เราไปตามรอยคือวัดเลียบ ที่เริ่มจากที่นี่เพราะเป็นที่ๆรกของหลวงปู่ทวดถูกฝังเอาไว้ที่ต้นเลียบซึ่งตอนนี้อยู่มา 500 กว่าปีแล้วแต่ยังแข็งแรงมากก และรกของท่านก็ยังอยู่ตรงนั้น ซึ่งเป็นความเชื่อของคนสมัยก่อนที่ต้องฝังรกไว้ใต้ต้นไม้ ที่นี่จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นชีวิตของท่าน จากนั้นเราก็ได้คุยกับเจ้าอาวาส ถึงที่มาที่ไปของท่าน เลยขอเล่าย่อๆเรื่องของท่านนิดนึง หลวงปู่ทวดจริงๆชื่อปู เกิดในสมัยอยุธยา เพราะตอนเกิดเดินเหินได้เร็วมากก ตอนเด็กๆมีพญางูมาหาหรือชาวบ้านบอกว่าเป็นงูจงอาง มาคายลูกแก้วให้ท่าน จากนั้นพ่อแม่ท่านก็ได้ฝากท่านไว้กับลุงของท่าน ที่วัดดีหลวง จากนั้นท่านก็ได้ไปอยู่ที่อยุธยา จนเป็นที่โด่งดังเพราะสามารถตอบปริศนาธรรมแข่งกับชาวศรีลังกาซึ่งทำให้ไทยไม่ถูกยึดโดยศรีลังกา และช่วยชาวบ้านในการแก้โรคอหิวาตกโรคอีกด้วย ที่แปลกก็คือ พอท่านกลับมาบูรณะวัดพะโคะไม่นาน อยู่ดีๆวันหนึ่ง ท่านก็ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครเห็นท่านอีกเลย สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ ท่านได้เข้าไปในกุฏิพร้อมสามเณรรูปนึง จากนั้นมีคนเห็นลูกไฟสองลูกรอบวัดในวันที่ท่านหายไปนั่นเอง ยังไม่มีใครทราบว่าท่านหายไปไหน บางคนบอกว่าท่านไปโผล่ที่อื่นหรือเป็นลูกแก้วไฟที่ลอยบนกุฏิสามรอบและลอยไปทางทิศตะวันออก ซึ่งยังเป็นปริศนาต่อไป

หลังจากทำสังฆทานเราก็ได้ไปดูพระที่โลงแก้วที่มีร่างของหลวงปู่จำเนียรอยู่ โดยไม่เน่าเปื่อยๆใดๆ ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสของที่นี่ และรู้ก่อนด้วยว่าท่านจะมรณภาพวันไหน ซึ่งได้สั่งไว้ว่าห้ามเผาศพเพราะจะไม่เน่าเปื่อย ตอนแรกก็ไม่มีใครเชื่อแต่ท่านก็ได้มรณภาพตามที่บอกไว้จริงๆ สุดท้ายจึงเก็บท่านไว้ในโลงแก้วตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าจะสังเกตจะเห็นว่าท่านยังมีผมอยู้เล้ยย ซึ่งผ่านไป 20 กว่าไปแล้ว

เสร็จจากวัดวัดเลียบแล้ว เรานั่งซาเล้งไปต่อที่วัดดีหลวง

วัดดีหลวง

วัดดีหลวงคือวัดที่พ่อแม่ของท่านมาฝากท่านไว้กับลุงของท่านที่อยู่ที่วัดนี้เพื่อเรียนหนังสือเป็นวัดเป็นสมัยอยุธยาซึ่งอยู่มา 400 กว่าปีแล้วแต่ยังสวยเหมือนเดิมม จนถึงตอนนี้ก็ยังใช้เป็นที่สำหรับบวชพระอยู่ ด้วยความที่วัดนี้อยู่ในช่วงสงคราม พระบางรูปจึงไม่ได้มีรายละเอียดมาก องค์พระตรงกลางชื่อพระยิ้มหรือพระเหลือเพราะปาดของท่านจะยิ้มและท่านมีนิ้วเกินมาหนึ่งนิ้วทางมือด้านซ้าย

เราออกจากวัดดีหลวงด้วยความร้อนระอุ ทางวัดใจดีมีไอศกรีมกะทิสุดอร่อยมาให้เรากินรองท้องด้วยก่อนเราจะนั่งซาเล้งไปจุดต่อไปป

ระหว่างทางเราเจอกับตระพังพระ บ่อน้ำสี่เหลี่ยมใหญ่ที่มาก ซึ่งถูกทำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและมีการปลูกบัวเต็มไปหมด ที่พิเศษกว่าที่อื่นเพราะว่าตรงกลางมีเกาะที่สามารถใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาได้อีกด้วยย ได้วิวสวยๆอีกหนึ่งจุดอีกด้วย

ถ้ำขุดโบราณ 1,200 ปี

จุดหมายที่สามของเราคือถ้ำขุดโบราณที่มีมากัน 1,200 ปีแล้วว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นถ้ำ ที่มีคนเป็นคนขุดขึ้นมาจ้าา เรียกว่าเป็นถ้ำ man-made เลยทีเดียว ตามประวัติศาสตร์เกล่าว่าเป็นคนอินเดียที่เดินทางเข้ามา และเจอที่นี่ซึ่งเจอว่ามีแท่นคล้ายศิวลึงที่นี่ จึงลงหลักปักฐานทำที่นี่เป็นที่ทำพิธีของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีสองจุด ที่แรกเป็นถ้ำเข้าไป เจอพระพุทธรูปอยู่ ตอนนี้ไม่ได้เอาไว้ทำพิธีแล้ว แต่ก่อนเป็นโบสถ์ที่เอาไว้ใช้ทำพิธีพราหมณ์ มีองค์พระศิวะ คนหลังจากนั้นก็ใช้เป็นวิธีบวชพระ ก่อนหน้าที่จะมีโบสถ์ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว แต่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ จุดที่สองก็เป็นที่ประกอบพิธีกรรมเช่นกัน โดยเราจะยังเห็นคำว่า “โอม” ในภาษาอินเดีย ซึ่งย่อมาจาก อะ อุ มะ ซึ่งหมายถึง พระศิวะ พระวิษณุและพระพรหมณ์อีกด้วยย แนะนำให้ถ่ายรูปกับประตู มีความอินเดียน่าโจนส์มากจ้า

ถึงเวลาพักกินข้าวเที่ยงง แต่ก่อนจะไปถึงเราจะได้ผ่านเข้าไปในทิวตาล ได้วิวประมาณ ฺBeverly Hills หน่อยๆเลยนะเออ วิวสวยๆมากๆ สามารถใช้เวลาถ่ายรูปcandid แบบชิคๆ

เราพักทานข้าวที่เรือนใกล้ทิวตาลเป็นอาหารปิ่นโตน่ารักๆที่ทำโดยชาวบ้านนั่นเองซึ่งจะได้กินแบบนี้ก็ต้องมาทำ full day trip นะจ๊ะ หรือสามารถที่จะติดต่อเพื่อขออาหารได้ ที่เด็ดสุดๆอยากให้มากินคือขนม ลูกตาลกะทิสด ที่เป็น signature สุดทำจากกะทิสด อร่อยแบบมากก ต้องเพิ่มสองชามเลยทีเดียว มันดียย์

ก่อนเราจะได้เข้าไปวัดหลักๆของเรา เราไปแวะที่สำนักสงฆ์นาเปลกันก่อน

สำนักสงฆ์นาเปล

เราใช้เวลากับที่นี่ไม่นาน ที่นี่คือที่นาในสมัยก่อนที่หลวงปู่ทวดอยู่ในเปลในนา ที่มีงูพันต้นไม้คาบลูกแก้วให้ตั้งแต่เป็นเด็กทารก ที่นี่ก็จะมีรูปของท่าน และรูปปั้นเรื่องราวของท่านที่มีงูปคาบลูกแก้วมากมาย

วัดพะโคะ

ที่สุดท้ายที่เราจะไปแต่กิจกรรมแน่นสุดคือวัดพะโคะที่หลวงปู่ทวดท่านได้สร้างไว้ก่อนท่านจะหายตัวไป โดยมีอยู่หลายจุดที่เราจะได้ไปดู เริ่มแรกเราเดินขึ้นบันได เพื่อจะขึ้นไปที่วัด โดยตรงที่มีพระศิวลียืนอยู่ที่ให้ขึ้นซ้ายและขวา คนส่วนใหญ่มักจะขึ้นทางขวาเพราะทางกว้างกว่า แต่จริงๆแล้วทางซ้ายคือประตูหลักหรือประตูชัยที่เอาไว้เดินเข้าวัดพะโคะ

จากนั้นเราเดินเข้าไปดูพระพุทธรูปรูปที่ท่านเดินธุดงค์ ที่มีรูปท่านเดินธุดงค์เพราะเนื่องจากท่านหายไปทางทิศตะวันออก เลยเปรียบเสมือนว่าท่านไปเดินธุดงค์นั่นเอง

จากนั้นเราก็ไปดูบ่อล้างเท้าของท่าน ซึ่งจนถึงตอนนี้ผ่านมาหลายร้อยปีน้ำก็ไม่เคยลดเลย สามารถเห็นเหรียญที่คนมาโยนได้ประปราย

ที่ๆสำคัญมากในการมาเยือนที่นี่คือกุฏิเจ้าอาวาสที่สิ่งสำคัญมากอยู่สองอย่างคือ ไม้เท้าของท่านและลูกแก้วที่ได้จากการคายของพญางู ตอนที่ท่านหายตัวไปท่านอายุค่อนข้างมากแล้ว จึงต้องใช้ไม้เท้าในการพยุงเดินในการไปที่ต่างๆ จึงเป็นที่ติดตาว่าท่านใช้ไม้เท้า ส่วนลูกแก้วซึ่งตอนนี้ไม่กลมเหมือนแต่ก่อน มีรอยเล็กน้อยเพราะมีเด็กเอาไปเล่น ซ่อมแซมมากไม่ได้ ตอนนี้จึงเก็บไว้ในที่ในตู้กระจกแล้ว เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเป็นท่านมาก มาถึงวัดควรมาดู

ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

ใกล้ๆเราเดินไปที่ประดิษฐานรอบพระพุทธบาทของท่านเพื่อไปแปะทองกัน สามารถเดินเห็นรอยเท้าของท่านได้ ใครเป็นสายเสี่ยงเซียมซีที่นี่ก็มีนะ

พระสุวรรณมาลิกเจดีย์คีรีรัตนมหาธาตุ

เดินไปอีกนิดเดียวจะเจอเจดีย์สูงๆสวยๆ มีชื่อยาวมากว่า พระสุวรรณมาลิกเจดีย์คีรีรัตนมหาธาตุ เป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งแต่ตอนที่ตั้งวัด มีความสวยงาม ผู้หญิงเดินขึ้นไม่ได้ แต่สามารถเดินด้านล่างซึ่งมีพระพุทธรูปมากมายตั้งอยู่ ถัดมานิดนึงมีเจดีย์เล็กๆที่สร้างเบี้ยวๆเล็กๆ คนสมัยก่อนบอกว่าเป็นเจดีย์ที่ยักษ์สร้างเพราะไม่สวย ยักษ์เป็นเหมือนฝ่านอธรรมเลยสร้างได้ไม่สวยเท่ามนุษย์

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือลานพิพากษา ซึ่งใช้สำหรับเวลาชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็จะมากันที่นี่ โดยมีหลวงปู่ทวดมาช่วยไกล่เกลี่ยด้วย

สุดท้ายจริงๆกับพระอุโบสถสวยงาม ตัวผนังโบสถ์เป็นสีแดงรวมทั้งพื้นด้วย มีลวดลายสวยงามมาก สามารถเข้ามาไหว้พระได้เลย เราได้ของที่ระลึกเล็กน้อยมาด้วยย

จบแล้วกับทริปตามรอยหลวงปู่ทวด ระหว่างจะเห็นรูปปั้นท่านเยอะมากก ชาวบ้านที่นี่ศรัทธากันมาก ท่านมีประวัติที่น่าสนใจหลายอย่าง ใครสนใจติดต่อตามรอยหลวงปู่ทวดหรือคลองลีไปดูทะเลน้อยสามารถติดต่อได้ที่พี่พรรณ: 089-912-6938 สามารถทำ one day trip ทั้งไปคลองลีและตามรอยหลวงปู่ทอดหรือจะแค่อย่างใดอย่างหนึ่งครึ่งวันก็สามาเดินรถทำได้ เย็นนี้เรากลับมาที่ ต.ท่าหินอีกครั้งเพื่อมานอนเป็นคืนสุดท้ายที่นี่ เพื่อจะไปตัวเมืองสงขลาในวันรุ่งขึ้น

เรากลับมาที่ท่าหินอีกครั้ง เพื่อนอนที่โฮมสเตย์ป้าเอี๊ยดเป็นครั้งสุดท้าย รู้สึกใจหายมาก ทุกคนน่ารักกันมาก รู้สึกเวลาผ่านไปเร็วจนหน้าใจหายและไม่รู้ว่าจะได้เจอกับพวกเค้าอีกเมื่อไหร่ เราใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่ในโฮมสเตย์ นั่งทำงาน เดินเล่น ช่วงเย็นวันนี้แสงดีมาก เราเดินออกไปทางหน้าบ้าน ข้ามถนนออกไปจะเป็นทางสาธารณะที่สวยมาก จะเห็นนาและภูเขาทางด้านหน้าและเป็นทางน้ำเล็กจากทะเลสาบสงขลาที่เข้ามา ทางด้านขวาไปน้องควายอยู่ในคอก พระอาทิตย์เริ่มตกลงมา สามารถเห็นได้ทางช่องจิ๋วๆของสะพานด้านบน วิวสวยมากๆ ส่วนข้างบ้านก็มีงานฉลองเครื่องออกกำลังกายใหม่ ร้องเพลงคาราโอเกะกันสนุกสนานมาก อาจจะฟังดูขัดกับบรรยากาศ แต่เรารู้สึกว่า นี่แหละคือความเป็นชนบทที่เค้าใช้ชีวิตกันแบบนี้จริงๆ อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับผู้คน ไม่ต้องคิดอะไรมาก ใครทำอะไรทุกคนดูชิว แฮปปี้กันไปหมด ถึงแม้เพลงจะดังก้องไปทั่วหมู่บ้านจนสี่ห้าทุ่ม ก็ไม่มีใครบ่น นี่คงเป็นการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจกันอย่างแท้จริง เหมือนว่าชีวิตไม่ต้องมีอะไรมาก ปล่อยๆไป มีความสุขในแบบของเราก็ดีแล้ว นี่แหละมั้งที่เราคิดว่าคงต้องหาโอกาสมาใช้ชีวิตแบบ worry-free แบบนี้อีกบ่อยๆ

เราไปกินข้าวมื้อเย็นกันที่บ้านยายเตือนเหมือนเดิม โดยอาหารวันนี้มีเยอะมาก กินกันแทบจะไม่ไหว พูดคุยกันนู่นนี่ จนเราตัดสินใจหยิบขาตั้งกล้องไปถ่ายรูปทางช้างเผือกพร้อมกับคนอื่นๆ โดยมีเหล่าคุณป้า คุณยายติดตามไปด้วยเพราะเป็นห่วงพวกเรา น่ารักมากๆ เราเดินไปตรงที่เราไปดูพระอาทิตย์ตกโดยพกเสื่อนอนดูดาวกันไปด้วย วันนี้ดาวเยอะมากๆ จนสามารถเห็นทางช้างเผือกจากตาเปล่าได้เป็นลำ สามารถถ่ายติดทางช้างเผือกได้ง่ายมากๆและสวยมากๆจ้าา จากนั้นเอาเลยจ้าา ถ่ายทางช้างเผือกกันไปยาวๆ เราเจอดาวตกเป็นสิบๆดวงซึ่งสวยมากๆ ได้ดูดาว หากลุ่มดาวด้วยกันสนุกดี สรุปวันนี้เราได้รูปทางช้างเผือกน่าประทับใจมากๆ จริงๆไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล เมืองไทยก็สวยไม่แพ้กัน

Day 6: เที่ยวเมืองเก่าสงขลา (29/07/2019)

l ชมหัวพญานาคที่สวนสองทะเล l ชมรูปปั้นนางเงือกที่หาดสมิหลา l ทานไอศกรีมกะทิ ต้นตำรับจากสงขลา l ชมมัสยิดบ้านบน ถนนที่รวมสามสัญชาติ l ชมวัดมัชฌิมาวาส วัด 400 ปี l เยี่ยมศาลเจ้าพ่อหลักเมือง l เดินเล่นถ่ายรูป street art l หับโห้หิ้นหรือ โรงสีแดง โรงสีข้าวเก่าที่ใหญ่ที่สุดในสงขลา l

วันสุดท้ายของทริปนี้ก่อนที่เราจะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ พวกเราร่ำลาคุณป้า คุณยายที่คอยดูแลพวกเราตลอดทริป กินดีอยู่ดี ช่วยอยู่ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะป้าลมที่คอยจัดการดูแลทุกอย่าง ถึงแม้ไม่รู้จะได้กลับมาเมื่อไหร่ แต่อยากจะกลับมาอีกแน่นอน! เหล่าคุณยายยังมีผลิตภัณฑ์จากต้นตาลโตนดหลายรูปแบบอีกด้วย เช่นสบู่ มูสอาบน้ำ สครับข้าว เป็นต้น สามารถลองเข้ามาดูได้เลย ผลิตภัณฑ์ทำเองจากมือของคุณป้าที่ทำกันอย่างตั้งใจจริงๆ

หลังจากร่ำลาเสร็จสรรพแล้ว เราขึ้นรถไปต่อกันที่ตัวเมืองสงขลา โดยที่ตั้งแต่มายังไม่มีโอกาสได้เข้าไปดูในตัวเมืองเลย โดยอย่างแรกเราลองเข้าสงขลาด้วยทางใหม่คือการข้ามไปสงขลาโดยเอาข้ามรถไปด้วยที่แพขนานยนต์ ค่าข้ามแค่ 20 บาทเท่านั้น เหมือนเวลาเรานั่งเฟอรี่แหละมีรถข้ามไป แป็ปเดียวก็ถึงสงขลาแล้วในเวลาไม่ถึง 5 นาที สามารถออกมานั่ง เดินถ่ายรูปได้ แล้วเราก็แล่นรถออกจากแพถึงสงขลาเลย

ที่แรกหลังจากที่เราออกจากแพ คือ “หัวพญานาค” ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่เที่ยวเช็คอินที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกัน ซึ่งสร้างหลังจากรูปปั้นนางเงือก ลักษณะพญานาคจะมีน้ำพุ่งออกจากปากคล้าย Merlion ที่สิงคโปร์ แต่ที่เด่นสุดอีกอย่างก็คือตัวรูปปั้นอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลาและปากทะเลอ่าวไทย เรียกได้ว่า สวนสองทะเล พญานาคจริงๆมีทั้งส่วนกลางและสวนหางซึ่งจะกระจายตัวอยู่ที่ตัวเมืองสงขลา

พลาดไม่ได้กับนางเงือก เราไปที่หาดสมิหลา ที่เป็นทั้งที่พักผ่อนและท่องเที่ยว มีของที่ระลึกขาย ของกิน ขี่ม้า เป็นสวนสาธารณะยาวๆไปเลย ซึ่งจะคึกคักช่วง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก่อนหน้าที่นางเงือกถูกระเบิด แต่ถูกซ่อมเสร็จภายในวันเดียว เค้าบอกว่าถ้าจับนมนางเงือกเค้าเชื่อกันว่าจะได้กลับมาที่สงขลาอีกนะเออ ตรงนั้นเลยจะแวววาวเป็นพิเศษ ถูกถูบ่อยไปหน่อยแหะๆ จริงๆนางเงือกนางเป็นสัญชาติกรุงเทพนะจ๊ะ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับเจ้าชายเดนมาร์กแล้วไม่ได้ถูกใช้งานอีก จนมีคนสงขลาไปเห็นเลยขอซื้อมาตั้งเป็นแลนด์มาร์คของหาดนี้ จนทำให้ดังมาถึงปัจจุบัน ผ่านไป 38ปีแล้ว

จริงๆแล้วที่สงขลาเป็นต้นกำเนิดของไอศกรีมกระทิด้วยนะ! ถ้ามาที่นี่คือต้องมาลอง! ร้านก๊ะกุ้งอยู่ใกล้วงเวียนหาดสมิหลา ไอศกรีมสดอร่อยมากๆแนะนำให้มากิน อยู่ที่ 35 บาทเท่านั้นจ้า ซึ่งราคาถูกสุดในสงขลาแล้วว

ตอนนี้เราเคลื่อนตัวมาอยู่ที่เมืองเก่าสงขลากันแล้ว ซึ่งเป็นศูนย์รวมกันของสามสัญชาตินั่นก็คือ อิสลาม จีน และไทย เนื่องจาก เจ้าเมืองแรกของสงขลาเป็นสุลต่านสุไลมานมาก่อน จากนั้นจึงมีการตั้งศาลหลักเมืองโดยเจ้าเมืองจีน ซึ่งเป็นต้นตระกูล ณ สงขลานั่นเอง จนสุดท้าย มีคนไทยเข้ามามากขึ้นจนกลายเป็นเมืองสามสัญชาตินั่นเอง เราเลยจะไปดูวัดสามสัญชาติที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

ที่แรกที่เราจะไปคือมัสยิดบ้านบน ซึ่งเป็นถนนเส้นเดียวที่มีสามศาสนาอยู่ด้วยกัน เป็นมัสยิดที่ด้านนอกมีความสวยงาม สามารถเข้าไปชมด้านในได้

ต่อไปเราไปที่วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดศรีจันทร์ ซึ่งเป็นชื่อคุณยายที่บริจาคที่ให้กับวัด เป็นวัดที่มีบริเวณกว้าง ทีโบสถ์ด้วย แต่ตอนเราไปโบสถ์กำลังซ่อมแซมอยู่เลยอดเข้าไป วัดมีอายุ 400 กว่าปีแล้ว และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จัดแสดงวัตถุโบราณเกี่ยวกับสงขลาและเมืองอื่นๆทางภาคใต้อีกด้วย


วัดสุดท้ายที่เราจะไปก็คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีเสาศาลหลักเมืองตั้งอยู่ สามารถเข้าไปกราบไหว้ได้ อีกส่วนหนึ่งจะมีเหมือนเป็นศาลของ ณ สงขลาในอีกประตูเช่นกัน อีกไฮไลท์นึงที่นี่ก็คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวใต้ถุน เป็นร้านที่ถ้าไม่สังเกตดีๆจะไม่เห็นแล้ว เพราะตั้งอยู่ใต้ถุนวัด ซึ่งเตี้ยมาก เวลาเข้าไปจะต้องก้มหัวนั่งกิน ถือว่าเป็นกิมมิคของร้านเลย แต่อร่อยมั้ยไม่ได้ลองนะ 555

เราเดินต่อไปเพื่อจะไปกินข้าวกลางวันโดยแวะถ่ายรูปสตรีทอาร์ทของจังหวัดสงขลาที่มีหลายอยู่หลายจุด ส่วนใหญ่เป็นรูปวาดกำแพงที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของสงขลา รวมทั้งความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันของคนสามสัญชาติที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ใครมาแนวสายอาร์ตจะชอบมากเพราะนอกจากแถวนี้จะมีสตรีทอาร์ทสวยๆแล้ว ยังมีคาเฟ่และมุมตึกสวยๆให้ถ่ายรูปเยอะมากก สามารถเดินได้ชิวๆได้ทั้งวัน เอาจริงๆชอยมากเลยนะ อยากจะอยู่ที่ยาวๆอีกซักวัน สำรวจให้ทั่วเมืองเก่าเพราะมีอะไรน่าเดินค่อนข้างเยอะ ขนมที่หายากหรืออาหารต่างๆน่าลองก็เยอะมากเช่นกัน เราเดินถ่ายรูปสตรีทอาร์ทปเรื่อยๆจนถึงร้านเจ๊นิ ร้านก๋วยเตี๊ยวที่เราจะมาฝากท้องกันวันนี้ เราสั่งก๋วยเตี๊ยวเส้นเล็กแห้งต้มยำหมูแดง อร่อยมากเด้อ ต้องมาลอง พร้อมสั่งชาเย็นให้ชื่นใจ

ที่สุดท้ายของวันนี้ก่อนที่เราจะสิ่งไปขึ้นเครื่องคือ หับโห้หิ้นหรือ โรงสีแดง แต่ก่อนเป็นโรงสีข้าวที่ใหญ่ที่สุดในสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องกับเส้นทางเดินเรือด้วย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับพิ้นที่ปลูกข้าว ผู้คนต้องนำข้าวสารมาให้ที่โรงหับ โห้ กิ้น จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงกลายเป็นที่สถานพยาบาลแจกยาให้คนผู้ป่วย โดยมีป้ายของสภากาชาดติดอยู่ ทำให้เป็นหนึ่งในที่ๆไม่โดนระเบิด ปัจจุบันนี้เป็นที่จัดงานคอนเสิร์ตสำคัญของเมือง เป็นที่ๆสมาคมคนรักสงขลาหรือสมาคมอื่นๆใช้และยังเป็นสถานที่ให้ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับประวัติของสงขลา โดยตอนนี้กำลังพยายามให้ที่นี่ขึ้นเป็น Unesco อยู่ ด้านนอกจะเป็นทะเล มีเรือขนส่งออกไปได้

จบแล้วกับทริป 6 วัน 5 คืนตะลอนสงขลาของเรา โดยหลักๆเราปักหลักกับการเรียนรู้วิถีชีวิตโหนด นา เล และชุมชนใกล้เคียง ต้องบอกเลยว่าเป็นทริปที่รู้สึกว่ามีค่ามาก มันไม่ใช่ทริปท่องเที่ยวถ่ายรูปทั่วไป มันคือการที่เราเรียนรู้กับชาวบ้าน เรียนรู้การใช้ชีวิตในแบบของเค้า เข้าใจความเป็นอยู่และเรียนรู้จากเค้า กับความคาดหวังที่เป็นศูนย์ แต่สิ่งที่เราได้กลับไปไม่ใช่แค่ความรู้ที่อยากจะเอาไปเผยแพร่เท่านั้น แต่เป็นมิตรภาพ ความอบอุ่น ความรัก ความสบายใจ ที่หาไม่ได้จากที่ไหน

“ลูก” คำที่ทุกคนเรียกเราติดปากกันทุกคน เพราะสำหรับชาวบ้านที่นี่ ทุกคนคือ คนสนิท คนที่เค้าดูแล คนที่คอยถามว่ากินข้าวมารึยัง เมื่อคืนนอนกี่โมง เหนื่อยมั้ย ซึ่งมาจากคนที่เพิ่งรู้จักกันแค่ 4 คืนเท่านั้น อยากจะขอบคุณทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่คอยดูแลเป็นห่วงเราทุกอย่างก้าวเหมือนเราเป็นลูกหลานเค้าคนนึงเราซึ้งใจมาก พี่ตากล้องที่ถ่ายรูปสวยๆให้ พี่ไกด์และพี่สตาฟ Satun CPS Travel ทุกคนที่ได้พาเรามาเจอประสบการณ์แปลกใหม่ ที่ทั้งให้ความรู้ ได้ทัศนคติมุมมองใหม่ ได้มิตรภาพ ได้ความรักจากคนพื้นที่ วันสุดท้ายใจหายมากจริงๆ เป็น 6 วันที่ผ่านไปรวดเร็วมาก ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่จะเป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆที่จะเก็บไว้ไปตลอดและจะกลับไปเยี่ยมชุมชนอีกครั้งค่ะ

ถ้าใครสนใจโปรแกรมศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านหรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถติดต่อพี่อุ๊ Satun CPS Travel สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยค่ะ 063-563-2895

คุณไกร คลองแดน 089-231-5281

ป้าลม ท่าหิน 081-275-7156

ติดตามเพจได้ที่: https://www.facebook.com/shortywander/
IG Page: shortywander


โพสอื่นๆใน Facebook














shortywander

 วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 17.33 น.

ความคิดเห็น