“เมื่อพูดถึงนครศรีธรรมราช คุณนึกถึงอะไร”...



คนส่วนมากอาจนึกถึงเจดีย์องค์ใหญ่สีขาว ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสด ที่เห็นในอนุสาร อ.ส.ท.กันจนชินตา


หลายคนอาจนึกถึงอาณาจักรศรีวิชัย เพราะคุ้น ๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


บางคนอาจนึกถึงอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และความเขียวขจีในแบบจังหวัดทางภาคใต้


ครับ ทั้งหมดนี้อยู่ที่นครศรีธรรมราช และยังมีอะไรอีกมาก ที่เราอยากจะเล่าให้ฟัง...


“สิ่งที่หายไป”...วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

หลายคนคงคุ้นเคยกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวสูงตระหง่าน ตัดกับท้องฟ้าสีสด มีผ้าสีเหลืองห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่นี่คือวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ภายในวัดพระมหาธาตุ ฯ นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ และเหมาะแก่การเรียนรู้ เช่น ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย โครงกระดูกปลาวาฬบรูด้าขนาดใหญ่ ฯลฯ เป็นต้น วัดพระมหาธาตุ ฯ จึงไม่ได้เป็นเพียงวัด หากแต่เป็นสถานที่แห่งตำนานที่ยังคงจับต้องได้ในปัจจุบัน


แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความประทับใจเหนือสิ่งอื่นใด คือ วัดพระมหาธาตุ ฯ แทบไม่มีตู้บริจาค และไม่มีประกาศเชิญชวนให้ร่วมทำบุญใด ๆ มีเพียงเสียงเทศน์ธรรมะตามสาย ซึ่งเมื่อรวมกับบรรยากาศที่เงียบของวัดและความงดงามขององค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว ล้วนแต่ทำให้จิตใจสงบไร้ความนึกคิดถึงอดีตและอนาคตไปชั่วขณะในทุกครั้งที่มาเยือนสถานที่เหนือกาลเวลาแห่งนี้


“จากเหนือสู่ใต้”...กำแพงเมืองนคร ฯ

จากตำนานกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับการบูรณะซ่อมแซมด้วยฝีมือชาวล้านนาที่ถูกกวาดต้อนมาที่นครศรีธรรมราช ไม่เพียงแต่ซ่อมแซมหากยังเอาภูมิปัญญาและศิลปะการสร้างกำแพงเมืองจากเชียงใหม่มาไว้ยังที่นี่ด้วย แม้ในกาลต่อมากำแพงเมืองจะถูกซ่อมแซมจนเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ แต่ศิลปะล้านนาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานปราการเมืองอันแข็งแกร่งผ่านยุคสมัยยืนหยัดมาให้ลูกหลานได้เห็นในยุคปัจจุบัน


“มองดูตนเอง”...ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช

ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช คือ สิ่งศักสิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ปกปักรักษาเมืองนครศรีธรรมราชให้สงบร่มเย็นตลอดมา มีลักษณะเป็นหมู่อาคาร 5 หลังสีขาว อาคารหลังกลางทรงเหมราชลีลาเป็นที่ประดิษฐานศาลหลักเมือง ส่วนอาคารอีก 4 หลังเป็นอาคารบริวารทั้ง 4 ทิศ ด้วยเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ


ในขณะที่กำลังเดินข้ามถนนมาสักการะศาลหลักเมือง เรา “สะดุดตา” กับดวงตาคู่ใหญ่ที่จ้องเขม็งมายังเรา ดวงตาคู่นั้นคือดวงตาของพระราหูตรงบริเวณรั้วศาลหลักเมือง และเรา “สะดุดใจ” เมื่อนึกไปถึงว่าก่อนเราจะขอพรใด ๆ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราเคยมองดูตนเองแล้วหรือยัง...มองเพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงในจิตใจของตนเอง


“เสน่ห์โกปี๊ ไม่ได้มีดีเพียงกาแฟ”...ร้านโกปี๊

ร้านกาแฟและอาหารเจ้าดังตกแต่งสไตล์โบราณในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มาครั้งนี้ไม่พลาดอาหารขึ้นชื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี เช่น หมั่นโถว ขาหมู ซาลาเปา ขนมจีบ บะกุ๊ดเต๋ และโกปี๊ นอกจากความอร่อย สะอาด ราคาและบริการที่เป็นกันเองแล้ว ถ้าหากลองมองไปรอบ ๆ จะพบว่าร้านโกปี๊อบอวลไปด้วยบรรยากาศและความรู้สึกอบอุ่นของความเป็นครอบครัว การทานอาหารอร่อยกับคนที่เรารัก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย เป็นร้านที่มีลูกค้าทุกช่วงวัย เป็นอีกหนึ่งร้านที่ประทับใจทุกครั้งที่ได้มาทาน


“เป็นคนใจร้อน แต่มีความอดทนมากกว่าปกติ”...นครหัตถกรรม

นครหัตถกรรมหรือศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์ไทยและเครื่องถมเมืองนครของอาจารย์นิคม นกอักษร ซึ่งท่านได้สละเวลามาสอนเราให้เรียนรู้การทำเครื่องถมใน 6 ขั้นตอน คือ 1.การทำน้ำยาถม 2.การเคาะขึ้นรูปพรรณ 3.การเขียนและแกะสลักลาย 4.การถมลาย 5.การปรับแต่งรูป และ 6.การขัดผิวและแต่งลาย โดยจำลองวิธีการทำเครื่องถมให้เราได้ทดลองทำตามด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ได้ชิ้นงานกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกจากฝีมือตนเอง ภายหลังที่เราทำชิ้นงานเสร็จ ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์อย่างเป็นกันเอง เราเอ่ยออกไปว่าคนทำงานในสาขานี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์อย่างอาจารย์นิคมคงต้องเป็นคนใจเย็นมาก ๆ ถึงจะทำงานละเอียดอย่างเครื่องถมได้


อาจารย์นิคมตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ตรงกันข้ามเลย จริง ๆ เป็นคนใจร้อน แต่ที่ทำเครื่องถมได้เพราะมีความอดทนมากกว่าปกติ” ประโยคนี้ทำให้เราได้คิด มันไม่สำคัญว่าเราเป็นคนอย่างไร หากว่าเราควบคุมตัวเราเองได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม หนทางข้างหน้าคือความสำเร็จ เฉกเช่นเดียวกับอาจารย์ที่นำพาเครื่องถมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชดังปัจจุบัน


“แตกต่างทั้งภายในและภายนอกอย่างลงตัว”...พิกเซลกาแฟ (PixZel Caffe’)

ร้านกาแฟเก๋ตรงข้ามวัดพระมหาธาตุ ฯ โครงสร้างเดิมเป็นบ้านไม้สองชั้นดัดแปลงแต่การตกแต่งภายในนั้นแตกต่างด้วยโต๊ะ เก้าอี้ที่ดูมีสไตล์ ทันสมัย ในขณะที่ภายนอกฝั่งตรงข้าม คือ วัดพระมหาธาตุ ฯ สถานที่แห่งตำนานเหนือกาลเวลา แต่เพียงแค่ข้ามฝั่งมาจะได้สัมผัสบรรยากาศใหม่แห่งยุคปัจจุบัน กาแฟ ชา ขนมหวาน อาหารคาวพร้อมสรรพ ดับร้อนจากการเดินชมวัดได้เป็นอย่างดี เหมาะสมและลงตัวอย่างที่สุด


“สมาธิบนรอยฉลุ”...บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน

บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับหนังตะลุง รวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย ที่นี่มีหนังตะลุงทั้งของไทยและต่างประเทศมากมาย เรามีโอกาสได้ทดลองทำหนังตะลุงด้วยตนเองเพื่อเป็นของที่ระลึกติดมือกลับไปเช่นดียวกับที่นครหัตถกรรม หากแต่เปลี่ยนจากการแกะสลักลายมาเป็นการตอกหนังแทน ซึ่งการตอกหนังดังกล่าวต้องใช้ค้อนตอกสิ่งที่เรียกว่าตุ๊ดตู่ ลักษณะเป็นแท่งเหล็กกลม ปลายคม ลงไปบนหนัง ซึ่งจะทะลุฉลุเป็นลายขึ้นมาตามที่ได้วาดหรือร่างภาพไว้


พี่กุ้ง ลูกสะใภ้ของคุณพ่อสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นผู้สาธิตและสอนวิธีการตอกฉลุลายให้กับเรา เมื่อแรกตอกนั้น เราตอกฉลุลายลงบนกระดาษแข็งเพื่อเรียนรู้จังหวะและวิธีการตอกที่ถูกต้อง เมื่อตอกกระดาษแข็งเสร็จแล้วจึงค่อยตอกฉลุลายลงบนแผ่นหนังจริง เรารู้สึกได้ถึงความยากของการตอกฉลุลาย จึงตั้งใจตอกเป็นพิเศษ แม้อากาศจะร้อนจนเหงื่อหยด แต่เมื่อรู้ตัวอีกที ตา นิ้วมือ ค้อนและตุ๊ดตู่ก็เป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว


เราพบว่าการใช้มือและตาประสานการทำงานร่วมกันนั้นก่อให้เกิดเป็นสมาธิอย่างแรงกล้า ซึ่งคนยุคปัจจุบันมักไม่ค่อยได้สัมผัสถึงและละเลยแก่นของมันไป...หรือนี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตรีบเร่งและมีความอดทนที่ลดทอนลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา


“สวัสดีพรหมโลก”...ชุมชนพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

ชุมชนพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาพื้นที่ประมาณ 5.5 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ ยางพารา และทำท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอาชีพเสริม มีชมรมท่องเที่ยวโดยชุมชนพรหมโลกเป็นแกนนำในการทำท่องเที่ยว ปัจจุบันสมาชิกชมรม ฯ มีทั้งหมด 35 คน มีบ้านพักโฮมสเตย์ทั้งสิ้น 7 หลัง


สิ่งแรกที่เราเห็น เมื่อเดินทางมาถึงชุมชนพรหมโลก คือ รอยยิ้ม ยามเมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่น ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความอบอุ่นใจที่เราได้รับจากคนในท้องถิ่นนั้น ๆ พรหมโลกต้อนรับเราด้วยรอยยิ้ม บทสนทนาประดุจญาติมิตรที่รู้จักกันมานาน อาหารอร่อยที่เติมได้เรื่อย ๆ ที่นอนหมอนมุ้งสะอาดที่ช่วยให้หลับสบาย...ถ้าหากตามหาความสบายกาย การท่องเที่ยวโดยชุมชนคงไม่ใช่ แต่หากตามหาความสบายใจ ที่นี่คือที่แห่งนั้น...เสน่ห์ที่แท้จริงของการท่องเที่ยวโดยชุมชน เสน่ห์ที่แท้จริงของพรหมโลก


“สมรม สวนรวม ส่วนร่วม เกื้อกูล”...สวนสมรม

สวนสมรม คือ สวนที่ชาวบ้านชุมชนพรหมโลกปลูกพืชผักและผลไม้หลากหลายชนิดรวมกันในพื้นที่เดียว พืชผักผลไม้เหล่านั้น ได้แก่ มังคุด ทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธ์ุ จำปาดะ ลองกอง ลางสาด มะม่วงหิมพานต์ ต้นยาง ใบเหลียง ฯลฯ อีกมากมาย เหตุผลของการปลูกรวมกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอยากปลูก แต่เหตุผลของการเลือกว่าจะปลูกอะไรไว้คู่กัน ตรงนี้น่าสนใจ


ทุเรียนเป็นไม้ต้นสูง ชอบแดด จึงปลูกเคียงกับมังคุด ต้นเตี้ย ที่ไม่ชอบแดดจัด เมื่อปลูกไว้ด้วยกันแล้วย่อมเจริญเติบโตงอกงามได้ดี นี่คือการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติด้วยลักษณะทางกายภาพ นอกเหนือไปจากการเกื้อกูลกันด้วย “ธาตุร้อน” และ “ธาตุเย็น” ของรสชาติ


ในขณะเดียวกัน เราพบว่าทางเข้าสวนสมรมส่วนใหญ่เป็นทางคอนกรีตเส้นเล็กพอให้เดินเท้าหรือขี่มอเตอร์ไซค์ได้ เป็นทางที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้นมาเพื่อให้การเดินเท้าเข้าสวนหรือการเก็บผลผลิตสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น


“เกื้อกูล” เพื่อการดำรงอยู่ตามธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติอย่าง "เกื้อกูล"


“ไปชั้น 5 ถ้าขาไหว”...น้ำตกพรหมโลก (อุทยานแห่งชาติเขาหลวง)

น้ำตกพรหมโลก สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมชนพรหมโลก ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีทั้งหมด 50 ชั้น แต่ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 5 ชั้น ในแต่ละชั้นจะมีทัศนียภาพและความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป แต่หากว่าต้องการเดินขึ้นไปชั้น 3-5 จะต้องมีพี่ ๆ จากชุมชนพรหมโลกและเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ เป็นผู้นำทาง


หลายคนที่มาที่นี่ครั้งแรกหรือคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง เมื่อเห็นทางเดินขึ้นไปยังน้ำตกชั้น 3 ก็มักจะถอดใจไปเสียก่อนเพราะทางทั้งแคบ ชัน ลื่น เสมือนเดินเข้าไปในป่ารกทึบที่ไม่มีทางออก แต่หากเราฝืนใจเดินขึ้นไปจนสุด เราจะพบว่าทัศนียภาพและบรรยากาศในแต่ละชั้นของน้ำตกนั้นงดงามและเย็นสบายสมคำร่ำลือ จนทำให้เราลืมความเหนื่อยล้าที่ผ่านมาเสียสิ้น


ในห้วงขณะหนึ่งระหว่างที่เรายืนชมความยิ่งใหญ่ของน้ำตกที่ไหลผ่านหน้าผาตัดชัน เราพบว่าใจเราต่างหากที่ฉุดรั้งขาของเราไว้ไม่ให้ออกก้าวเดิน...


“จะไปต่อถึงชั้น 5 มั๊ยครับ หรือจะลง” พี่เจ้าหน้าที่ถามเรา


“ไปครับ”


ถ้าคุณมาด้วยความกล้า จงแสดงมันออกมา ถ้าคุณมาเพราะความกลัว จงเอาชนะมัน...ใครบางคนเคยบอกเราไว้อย่างนั้น


“ธรรมชาติจัดสรร”...วังปลาแงะ

วังปลาแงะเดิมทีเป็นลำธารตามธรรมชาติที่มีต้นไม้ปกคลุมรกครึ้ม ไม่ได้มีชื่อเรียกเป็นกิจจะลักษณะ แต่ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2531 ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาหลวงไหลหลาก พัดพาเอาดินและทรายถล่มหลายหมู่บ้านในขณะนั้น ส่งผลให้ลำธารแปรสภาพเป็นหาดทรายและตื้นเขิน หลายสิบปีต่อมาจึงพัฒนาให้มีฝายชะลอน้ำ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “วังปลาแงะ” และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของพรหมโลกในที่สุด


เมื่อได้ฟังเรื่องราวของวังปลาแงะเทียบกับสิ่งที่เราเห็นประจักษ์แก่สายตาเบื้องหน้า เราแทบไม่เชื่อว่านี่คืออดีตของสถานที่อันสวยงามแห่งนี้ แหล่งน้ำใสไหลเย็นที่มีปลาแงะแหวกว่ายกันอย่างชุกชุม ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าในบางครั้งการที่ธรรมชาติทำสิ่งที่ดูเหมือนโหดร้ายกับมนุษย์ แท้จริงแล้วกลับจัดสรรสิ่งดีงามไว้ให้หลังจากนั้น...“ถ้าไม่มีวันนั้น ก็คงไม่มีวันนี้” เราคิด


“ความสนุกที่เรียบง่าย”...ตลาดนัดนอกท่า

ตลาดนัดนอกท่า เป็นตลาดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนพรหมโลก ตลาดนัดนอกท่าถ้ามองจากข้างนอกผ่าน ๆ จะผ่านแล้วผ่านเลย เพราะเหมือนกับตลาดนัดทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าตั้งใจเดินและสังเกตอย่างละเอียด เราจะพบกับวัตถุดิบท้องถิ่นมากมายที่ไม่เคยเห็นจากพื้นที่อื่น ๆ ความสนุก คือ การได้ซักถามพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าตามแผงต่าง ๆ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าก็จะสนุกที่ได้ตอบคำถามเราในเรื่องที่เค้ามองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่ Amazing สำหรับเรา เป็นความเรียบง่ายที่แฝงไว้ด้วยความสนุกสำหรับคนต่างถิ่น


“มันไม่ใช่แค่เรื่องเห็ด”...ฟาร์มเห็ดชุมชนพรหมโลก

เราทราบมาก่อนล่วงหน้าเป็นความรู้เฉพาะตัวทั่วไปว่าการเพาะเห็ดมีหลายขั้นตอน แต่ไม่คิดว่าเมื่อได้มาสัมผัส เรียนรู้ และทดลองทำเองกับมือนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัสดุเพาะ การทำก้อนเชื้อ การนำก้อนเชื้อไปนึ่งฆ่าเชื้อ การหยอดเชื้อเห็ด การบ่มก้อนเชื้อ การเปิดดอก การเก็บดอก มีถึง 7 ขั้นตอน และในแต่ละขั้นตอนก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องใช้เวลากว่าจะได้มาซึ่งเห็ดแต่ละดอกให้เราได้ทานกัน


เราถามพี่สาว เจ้าของฟาร์มเห็ดชุมชนพรหมโลกที่บรรยายและสาธิตเรื่องการทำเห็ดให้เราด้วยท่าทีคล่องแคล่วและแววตาสดใส ว่าทำไมถึงมาทำฟาร์มเห็ด


“เพราะอยากกลับบ้าน”


คำตอบนี้ทำให้เราคิดถึงใครหลายคนที่ยังคงต่อสู้เพื่อหวังว่าซักวันหนึ่งจะได้กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง


“กล้วยกินดิบ”...กล้วยอบป้ามร อีกหนึ่งของดีพรหมโลก

ป้ามรหรือป้าอมร เจ้าของสูตรกล้วยอบป้ามรเล่าให้เราฟังว่ากล้วยอบของดีพรหมโลก ใช้กล้วยเล็บมือนางชนิดที่เปลือกมีความสากมือนิด ๆ หรือที่เรียกภาษาถิ่นว่ากล้วยกินดิบ ซึ่งจะให้เนื้อสัมผัสที่แน่น เหนียวหนึบมากกว่ากล้วยเล็บมือนางอีกชนิดที่เปลือกลื่น หรือที่เรียกภาษาถิ่นว่ากล้วยหมาก ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่มีกล้วยกินดิบในพื้นที่มาก จนต้องหาวิธีการยืดอายุให้ทานได้นาน ๆ จึงเป็นที่มาของกระบวนการแปรรูปเป็นกล้วยอบในท้ายที่สุด


เราได้เรียนรู้ว่าความหวานของกล้วยอบของดีพรหมโลกนั้น ไม่ผ่านการเพิ่มความหวานใด ๆ เป็นความหวานตามธรรมชาติ คัดสรรวัตถุดิบจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านกระบวนการผลิตที่เรียบง่ายแต่ใส่ใจ จนมาเป็นกล้วยอบรสชาติหวาน เนื้อแน่น เหนียวหนึบอีกหนึ่งของดีพรหมโลกในปัจจุบัน


“ลายเทียนที่ปลิดปลิว”...ผ้าบาติก

ผ้าบาติกหรือปาเต๊ะ เป็นภูมิปัญญาของชาวใต้ที่สืบทอดกันมา เฉกเช่นเดียวกับชาวชุมชนพรหมโลก วิธีการทำ คือ ใช้เทียนร้อนหลอมเหลวเขียนลวดลายลงไปบนผ้าป่านมัสลิน ผ่านปลายปากกาเขียนเทียนหรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า จันติ้ง เทียนร้อนหลอมเหลวเหล่านั้นเมื่อแห้งจะขึ้นรูปตามลายเส้นที่เราลากลงไป หน้าที่ของเทียน คือ ปกปิดและป้องกันไม่ให้สีอื่น ๆ เข้ามาปะปนในลายเส้นที่เราต้องการวาดให้เกิดขึ้นบนผ้า เมื่อกระบวนการลงสีและเคลือบผ้าเสร็จสิ้น หน้าที่ของเทียนจึงหมดลงและถูกนำไปต้มในน้ำร้อนให้สลายตัวออกจากผ้าไป


ในระหว่างที่เราฟังพี่บิวบรรยายวิธีการทำผ้าบาติก ตลอดจนได้ทดลองเขียนลายผ้าด้วยเทียนผ่านจันติ้งด้วยตัวเองนั้น เรารู้สึกขอบคุณเทียนที่เปรียบเสมือน “ผู้พิทักษ์” ลายผ้าให้กับบาติกในทุก ๆ ผืน ตั้งแต่แรกเริ่มมีบาติกผืนแรกจนถึงวันนี้ แม้ในท้ายที่สุด เทียนจะถูกทำให้สลายไป แต่ทุกคนจะจดจำไว้ว่าผ้าผืนนี้มีได้เพราะเทียน


“สัมผัสมโนราห์”...มโนราห์ ชุมชนพรหมโลก

มโนราห์หรือโนรา เป็นศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคใต้ เดิมแสดงในวัง เรียกมโนราห์ชาตรี ต่อมาได้แพร่หลายและนำมาแสดงในหมู่คนธรรมดาสามัญ จึงเรียกเหลือเพียงมโนราห์ โดยวรรณคดีที่นิยมนำมาแสดงมโนราห์ คือ เรื่องพระสุธน-มโนราห์ อยู่ที่ว่าจะหยิบยกเหตุการณ์สำคัญฉากใดของวรรณคดีมาแสดง ปัจจุบันมโนราห์สามารถแสดงได้ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล


การชมมโนราห์ที่ชุมชนพรหมโลกในครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาของเรา เนื่องจากไม่ใช่เพียงแค่ชมแต่เราได้รับเกียรติให้ร่วมเรียนรู้และแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่มีครูของการแสดงมโนราห์ รวมถึงทดลองร่ายรำในท่วงท่าของการแสดงจริง ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือการได้ “สัมผัสมโนราห์” อย่างแท้จริง


“บ้านแหลม ที่ไม่มีแหลมและทองคำสีดำที่อ่าวทองคำ”

...ชุมชนบ้านแหลม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

บรรพบุรษชุมชนบ้านแหลม เป็นพี่น้องชาวประมงมุสลิมที่อพยพมาจากแหลมตะลุมพุกเมื่อครั้งเกิดเหตุพายุแฮเรียตพัดถล่มพื้นที่แหลมตะลุมพุก ปี พ.ศ.2505 เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านแหลม แต่เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2531 ทำให้ดินตะกอนจำนวนมหาศาลพัดมาทับถมบริเวณพื้นที่บ้านแหลมจนแปรสภาพไม่เหลือเป็นแหลมให้เห็นอีกในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อบ้านแหลมมาตั้งชื่อกลุ่มท่องเที่ยว “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์” เพื่อรำลึกถึงที่มาของบ้านเกิดเมืองนอน ปัจจุบันกลุ่ม ฯ มีสมาชิกทั้งสิ้น 45 คน แบ่งการบริหารจัดการออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ และทำท่องเที่ยวโดยชุมชนมาแล้วกว่า 7 ปี


กิจกรรมเด่นของที่นี่ คือ การออกทะเลแต่เช้าเพื่อทานอาหารเช้าบนเรือหัวโทงกลางทะเล การสปาโคลนและการปลูกป่าชายเลนที่อ่าวทองคำ อ่าวทองคำ คือ อ่าวที่อยู่ในพื้นที่ความดูแลของชุมชนบ้านแหลม เป็นทั้งพื้นที่ทำกิน พื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และพื้นที่ปลูกป่าชายเลน สิ่งสำคัญที่ทำให้บริเวณอ่าวแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ คือ โคลนสีดำใต้ท้องทะเลที่อุดมไปด้วยโซเดียมคลอไรด์ กรดซาลิซิก ควอตซ์ และเคโอลิไนต์ ซึ่งเปรียบเสมือน “ทองคำ” แห่งอ่าวนี้ เพราะแร่ธาตุเหล่านี้นอกจากจะเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและพืชแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการดูแลรักษาผิวพรรณ จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนโดยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งสินค้าของฝาก ของที่ระลึกของชุมชนบ้านแหลม


แม้จะมีเวลาอยู่ชุมชนบ้านแหลมเพียงสั้น ๆ แต่เราเหมือนรู้จักกันมานาน ขอบคุณบังฟัด ลุงกิ๊ก และพี่น้องชาวมุสลิมทุกคนที่ดูแลเราเป็นอย่างดี..ไว้พบกันใหม่ เจ้าทองคำสีดำ

...

เรื่องเล่าการเดินทางที่นครศรีธรรมราชผ่านมุมมองของเราจบลง แต่วิถีความเป็นไปของนครศรีธรรมราช พรหมโลก และบ้านแหลม ยังคงดำเนินต่อในแบบที่เคยเป็นมาและจะยังคงเป็นเช่นนี้สืบไป


หากมีโอกาสแวะมาเที่ยวนครศรีธรรมราช พรหมโลก และบ้านแหลม อย่าลืมกลับมาเล่ามุมมองของคุณให้เราฟังบ้าง เพราะเราเชื่อว่าคุณจะสนุกและประทับใจไม่ต่างกัน


ขอบคุณครับ





Navy Rasrisansuk

 วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.41 น.

ความคิดเห็น