หลังจากตะลุย 3 ดงเสร็จ เราก็รีบเปลี่ยนชุด เพื่อไปทำภารกิจในตอนบ่าย แม่จัดแจงชุดม่อฮ่อมพร้อมผ้าขาวม้าให้เราใส่ ผูกเอวด้วยผ้าขาวม้า แม่บอกว่าเราจะไปจับปลากัน!

ที่โซ้งโก่งยาง มีพ่อๆแม่ๆคอยท่าเราอยู่แล้ว ไม่พลาดที่จะมีเสียงพิณเสียงแคนขับกล่อมให้ครื้นเครง สมกับที่เป็นชาวไทยกวนอารมณ์ดี มีการตั้งเตาเพื่อปิ้งย่างปูและปลาที่ค่อยๆทะยอยจับได้พร้อมกับข้าวเหนียวจี่ มีเบรคเป็นข้าวโพดหวานต้ม และน้ำตะไคร้เย็นชื่นใจใต้ต้นไม้ feeling so festival

การทำประมงแบบพื้นบ้านนั้นผูกติดอยู่กับการทำนา เพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับคนในครอบครัว ชาวบ้านจะมา "ไส้เบ็ด" หรือการวางเบ็ดด้วยเหยื่อเป็นไส้เดือนในตอนเช้า(ใช้เบ็ดง่ายๆเป็นไม้ที่แข็งแรงมีความยืดหยุ่น พร้อมกับสายเบ็ดเกี่ยวขอ ปักไว้ริมห้วยหรือริมนา กลางวันไปทำนา พอตกเย็นหลังเลิกจากการทำนาก็ "ไปยาม" หรือไปดูเบ็ดว่ามีปลามาติดไหม แล้วจึงทำการ "หยามเบ็ด" คือไปเอาเบ็ดขึ้น

การ "ไส้เบ็ด" สามารถทำในนาได้เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง นั่นแปลว่าปลาที่อยู่ในนาก็จะตัวโตขึ้นเพราะได้รับสารอาหารมาเต็มที่

หลังจาก "ไส้เบ็ด" เสร็จพ่อก็พาไป "ยามมอง" คือการไปดึงอวนที่ดักไว้ในลำน้ำว่ามีปลาติดมาหรือยัง คราวนี้ได้นั่งแพไปอีกแล้ว

และไหนๆก็ได้นั่งแพแล้วพ่อก็เลยสาธิตการเหวี่ยงแหเพื่อหาในห้วยบังฮวกด้วย ดูเหมือนง่าย แต่ต้องใช้ทักษะพอตัว เราได้ลองเหวี่ยงแหดูก็ซึ้งเลยว่าป.ปลานั้นหายากแค่ไหน แค่เหวี่ยงแหให้บานพ้นเรือก็เหนื่อยแล้ว นับถือชาวประมงพื้นบ้านจริงๆ

กลับเข้าฝั่งพ่อพาไป"ยกกระดุ้ง" หรือยกยอ ได้ปลาไม่เยอะ เพราะระดับน้ำมันสูง ปลาเลยหนีไปได้


หลังจากนั้นก็แวะไป"หยามเบ็ด"ที่ "ไส้เบ็ดไว้" ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มีปลาช่อนติดมาด้วย!!

รีบเอาไปให้แม่ทาเกลือย่าง ปลาช่อนสดๆเนื้อหวานๆ ย่างร้อนๆ จิ้มเกลือกินกับข้าวจี่ เคล้าเสียงแคนในตอนเย็นย่ำ สวรรค์บนดินเป็นแบบนี้นี่เอง

มาเที่ยวบ้านนาถ่อนนี่ได้ทำอะไรแบบที่ไม่เคยทำเยอะมาก เหมือนเป็นการเติมเต็มชีวิตอีกแบบหนึ่ง ชอบมากๆ แนะนำให้มาเที่ยวกันนะคะ

Pasiree Parichani

 วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 23.38 น.

ความคิดเห็น