#ให้มันเป็นสีชมพู แค่ให้หัวใจของเราได้รู้ ว่าเมืองแห่งนี้เป็นสีชมพู....เมืองชัยปุระ หรือ เมืองที่ได้รับการขนานนามว่า เมืองสีชมพูของอินเดีย แต่มันก็ใช่ว่าจะชมพูไปทั้งเมืองหรอกนะ นอกจากนี้อินเดียเค้าก็ยังมีเมืองสีฟ้าด้วยนะ ชื่อว่า Jodhpur (จ๊อดปูร์) แต่พวกป้าไม่ได้ไปหรอกนะ แล้วจะพูดทำไม ??? ทริปนี้นอกจากเมืองชัยปุระแล้วพวกป้าก็ยังไปเมืองอัคราเมืองที่มีทัชมาฮาลตำนานแห่งรักอันยิ่งใหญ่อีกด้วย



ติดตามรีวิวอื่นเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pg/AuntieJourneyJournal

ทริปนี้เราเป็นแก๊งอิป้าผ้าใบนะคะ จะได้เดินกันได้สบายๆ ทริปนี้ไม่เน้นลุยมาก ป้าๆลุยกันมาเยอะละขอสบายๆบ้าง ทริปนี้เราไปกันห้าคืนห้าวันเต็ม ช่วงต้นธันวาคม ซึ่งช่วงนั้นอากาศจัดว่าดีงาม เย็นสบาย

ทั้งทริปหมดเงินกันไปคร่าวๆประมาณ 20,000 บาทต่อคน รวมทุกอย่าง (ยกเว้นช้อปปิ้ง)

ที่พักดีงามรวมอาหารเช้าห้าคืน (5,000) + ค่าตั๋วเครื่องบิน แอร์เอเชียเฉลี่ยคนละ (7,000) + ค่าเช่ารถพร้อมคนขับตลอดทริป (1,600) + ค่าวีซ่า (2,700) + ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ กับค่าอาหาร (4,000)



มาเตรียมตัวกับ 10 ข้อควรรู้ก่อนออกเที่ยวอินเดีย ดีกว่า



1. ไปกี่วันดี >> ถ้าตอบแบบกวนๆก็ ว่างกี่วันก็ไปเท่านั้นดิพี่ (แอบมองบน) แต่ตอนนี้ค่าวีซ่าไปอินเดียก็เริ่มจะแพงแล้ว ถ้าจะไปทั้งทีก็เอาให้คุ้มหน่อย ป้าว่าไปอย่างน้อยก็ซักห้าวันเต็มเท่าพวกป้า ไปลุยสองเมือง หรือจะเจาะลึกชิวๆอยู่ชัยปุระก็ตามแต่ แต่จะเหมาสามเมือง (รวมเมืองสีฟ้า) ควรมีอย่างน้อย 7 วันนะ ไม่งั้นจะกลายเป็นทริปนั่งรถชมวิวระหว่างเมืองแทน



2. ไปเที่ยวช่วงไหนดี >> ช่วงที่ว่างสิ เอ่ออ.... ไปเที่ยวทั้งทีก็ไปช่วงที่อากาศกำลังดีน่าจะดีกว่า ซึ่งก็คือ ฤดูหนาวของอินเดีย จริงๆก็ช่วงเดียวกับไทยเนี่ยแหละ คือประมาณ พฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ แต่อากาศเค้าหนาวกว่าเรานะ แต่หน้าร้อนนี่ไม่ไหวจริง ยอมแพ้เคยดูรีวิวเวลาถ่ายรูปนี่ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกร่ม ตัวเกรียมกันไปเลยทีเดียว ก็เหมือนเที่ยวเมืองไทยหน้าร้อนแหละเนอะ จะตากแดดเที่ยวกันทั้งวันก็คงไม่ไหว แถมอินเดียเค้าร้อนนำเราได้อีก



3. ไปสายการบินอะไร >> ตอนนี้ก็มี #แอร์เอเชีย #ThaiSmileโดยการบินไทย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการไปสนามบินจะดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ จะเน้นประหยัด เน้นสบายก็ว่ากันไปจ้ะ เพราะทั้งสองสายการยบินไปถึงดึกๆ เราก็ไปพักก่อนคืนนึง เช้าก็ได้ออกเที่ยวเต็มๆ วันสุดท้ายก็เที่ยวได้เต็มวัน จนมืดค่ำเลยทีเดียว ถ้าแอร์เอเชียก็เกือบตีหนึ่ง ไทยสไมล์ตีสอง แต่สุดท้ายตอนป้าไปจริง ไฟลท์แอร์เอเชียเลื่อนเร็วขึ้นทั้งขาไป ขากลับเลย แต่เค้าส่งข้อความมาบอกล่วงหน้าแล้ว



4. การขอวีซ่า การขอวีซ่าอินเดียมี 2 แบบ

1) Online หรือ E-Visa… ค่าธรรมเนียม 80USD ระยะเวลารอไม่เกิน 3 วัน ระยะเวลาการใช้งาน เข้าออกได้ 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 60 วัน (วิธีการขออย่างละเอียดตามนี้เลยค่ะ https://goanywhere.co/2017/11/22/indiaevisa2017/#more-562)

2) วีซ่าอินเดียท่องเที่ยวแบบปกติ (Regular Tourist Visa) การขอกับสถานทูต ค่าธรรมเนียม 4,100 บาท รวมค่าบริการอื่นๆรวมเป็น 4,358 บาท แพงขึ้นและเอกสารเยอะกว่า แถมต้องไปสแกนลายนิ้วมือด้วยตัวเองที่ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า VFS Global ซอยสุขุมวิท 13 อีก แต่ก็จะได้วีซ่าแบบ “Multiple Visa Entry” คือ เข้า-ออกประเทศอินเดียได้หลายครั้งใน 1 ปี ไม่เกิน 60 วัน/ครั้ง ซึ่งเหมาะกับคนที่ติดใจอินเดีย ต้องการไปกันบ่อยๆ ตอนแรกเราก็ลังเลๆ เพราะอยากไปเลห์ ดาลัก ด้วย แต่อะไรมันก็ไม่แน่นอนเนอะ เอาชัวร์ดีกว่า ไหนจะค่าเดินทาง เวลาในการไปทำ ยอมทำออนไลน์สองรอบดีกว่า



5. การเดินทางระหว่างอยู่อินเดีย

• ถ้าจะเที่ยวแบบชิวหน่อยก็จองรถพร้อมคนขับกันเลยนะ เราจองตรงเพราะดูจากรีวิวในพันทิปนี่แหละ ราคารถเก๋งเล็ก นั่งซัก 2-3 คน 4-5 วัน เค้าคิด 10,000 รูปี ส่วนพวกอิป้าไปกัน 5 คน ขอนั่งสบายๆ ก็อัพมาเป็น Innova ราคา 17,000 รูปี บริษัท Ranthambore Tour Cab เบอร์ติดต่อ WhatsApp +918426887669 (อันนี้ไม่กล้ารับประกันนัก เพราะเบอร์นี้นางเป็นบอส นางมีคนขับใต้สังกัดอีกที)

• เว็บบริษัทรถอื่นๆ https://www.amperjaitravel.com

• ถ้าเที่ยวแค่ในเมืองชัยปุระ จะเช่ารถเป็นรายวันโดยติดต่อผ่านโรงแรมก็ได้ หรือจะลองนั่งตุ๊กตุ๊กอินเดีย หรือ auto Rickshaw ก็ได้

• ส่วนใครเดินทางโดยรถไฟ ลองเช็ครอบที่เว็บนี้ บอกอย่างละเอียด https://enquiry.indianrail.gov.in/mntes/



6. การติดต่อสื่อสาร #Sim2Fly ของ AIS เลยจ้า ถูกและดี ซื้อซิมครั้งแรก 399 บาท พร้อมแพ็คเกจ ถ้าแค่เติมเงินก็ 299 บาท จัดไปค่ะ เราจะไม่ขาดการติดต่อ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.ais.co.th/roaming/sim2fly/ และบางทีก็ค่อนข้างสำคัญเพราะเคยเจอรีวิวที่ว่าคนขับพูดภาษาปะกิดไม่ได้ ต้องเปิดกูเกิ้ลบอกทางกันไป แต่ตอนอยู่โรงแรมส่วนใหญ่ก็ใช้ free-wifi เอาก็ได้นะ

7. ย่านที่พัก แล้วแต่ชอบเลย 55 อันนี้จริงๆ คือ บางคนชอบย่านช้อปปิ้ง บางคนชอบเงียบ บางคนอยากแฮ้งค์เอ้าท์รอบดึก ขั้นแรกที่พักอินเดียราคาค่อนข้างถูกเลยที่อัครา มีตั้งแต่ราคาหลักร้อย จนถึงห้าดาวในราคาสองพันกว่าบาท



ที่พักชัยปุระ: Golden Tulip Essentails Hotel

เหตุผลที่เลือกที่นี่ เพราะไปหาข้อมูลจาก TripAdvisor แล้วว่าพักย่านไหนดี หลายคนกล่าวว่า ให้เลือกที่พักย่านถนน M.I.Road เพราะเหมือนจะเป็นถนนสายหลัก มีร้านช้อปปิ้งใกล้ๆ ไม่วุ่นวาย หรือน่ากลัว สุดท้ายด้วยปัจจัยหลายๆอย่างเราก็มาลงเอยที่นี่

Golden Tulip Essentials Hotel, Jaipur



✏️ ระดับดาว✴️✴️✴️

✏️ความสะอาด ❇️❇️❇️❇️❇️ (10/10) เต็มตามมาตรฐาน

✏️การบริการ ✳️✳️✳️✳️ (9/10) ดีงามมาก โดยเฉพาะน้องๆในห้องอาหารตอนเช้า ดีจนป้าต้องเปย์ทิปไปเลย

✏️ห้องพัก ❇️❇️❇️❇️❇️ (9/10)

ห้องกว้างขวาง เตียงใหญ่ นอนสบาย ห้องน้ำโอเค ไม่ชอบตรงที่มีแต่ฝักบัวแบบติดเพดาน มันจะลำบากๆตอนอาบน้ำหน่อย ผ้าเช็ดตัวบางผืนก็ดูเก่าไปนิด

✏️อาหารเช้า ❇️❇️❇️❇️ (9/10)

ห้องอาหารไม่ใหญ่มาก แต่อาหารก็หลากหลาย มีอาหารอินเดียให้ลองครบครัน. พวกป้าเลยไม่ต้องลองข้างนอกมากนัก...อาหารฝรั่ง ไส้กรอก ไข่ต้ม ขนมปัง สลัด ก็มี ไม่ต้องกลัวทานไม่ได้

✏️ความคุ้มค่า (9/10) ... ราคา 💲💲

คุ้มสุดสุดกับราคาคืนละประมาณพันกว่าบาท



😍ข้อดีพิเศษ😍

- แถวโรงแรมมีร้านขายไก่ เคบับ เยอะ.อร่อยดี ไม่ต้องพกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเยอะ. มาลองทานอาหารท้องถิ่นกันมั่ง หรือจะเดินไปอีกไม่ไกลก็จะมีร้านแมคโดนัลด้วยนะ แถมเดินไปช้อป Himalaya ได้ด้วย

- ขอน้ำเปล่าเพิ่มได้เรื่อยๆเลยไม่เสียตังค์

😅ข้อเสีย😅

- จริงๆ คือ ไม่มี แต่ที่อยากให้มี คือ ร้านช้อปปิ้งเสื้อผ้า สาหรีใกล้ๆ แบบว่าอยากช้อป แต่ก็อาจจะดีตรงที่ทำให้ไม่มีคนวุ่นวายจนเกินไป

- ถนนหน้าโรงแรมจะเป็น one way (น่าจะมียกเว้นช่วงดึก) ทำให้เวลาคนขับมาส่ง ก็ต้องอ้อมหน่อย



📮ทางเลือกอื่น

- ใครงบประหยัด เราอ่านเจอที่พักโฮสเตลน่ารักๆ Backpacker Panda Hostel ราคาคนละ 300 บาท/คืน ห้อง private คืนละ 450 บาท

- ส่วนบางคนอยากใช้ชีวิตให้สมกะมาอินเดีย ก็มีที่พักสไตล์วัง กิ๊บเก๋ๆ ที่คนไทยนิยมไปพักกัน ได้แก่ Umaid Bhawan Heritage แบบว่า ถ่ายรูปในเมืองไม่พอ ก็จะได้ถ่ายเล่นที่โรงแรมอีก

- ส่วน โรงแรม Chian อื่น เช่น Ibis ก็มีให้เลือก

- ส่วนใครอยากจะใช้ชีวิตหะรูหะรา (หรู-หรา) ในราคาโอเค ก็ลองที่นี่ Fairmont Jaipur ในเครือAccorHotels ชีวิตก็จะมหารานีหน่อยๆ และไม่ควรพลาดกับสระว่ายน้ำที่นี่ด้วย บรรดาบล็อกเกอร์หลายคนก็แวะไป ส่วนป้างบไม่พอน่ะจ้ะ อิอิ

- ย่านที่พัก ที่มีคนไปพักกันอีก ก็จะมีแถวๆใกล้ พระราชวังสายลม หรือ Hawal Mahal นะ เพราะแถวนี้มีของขายเยอะ แต่ก็ต้องแลกมากับความวุ่นวาย และเสียงดังหน่อย แต่จริงๆ ก็ดังเกือบทุกย่าน

เอาเป็นว่าโรงแรมที่อินเดียนี่ค่อนข้างถูกนะ ....ใครอยากจะพักแบบไหน งบเท่าไหร่ก็ลองเลือกกันดู

ที่พักอัครา: Radisson Blu Agra

Radissonblue Agra



✏️ระดับดาว ✴️✴️✴️✴️✴️

✏️ความสะอาด ❇️❇️❇️❇️❇️ (10/10) เต็มตามมาตรฐานห้าดาว

✏️การบริการ ✳️✳️✳️✳️ (9/10) ดีหมด เจอพนักงานทำความสะอาดทุกคนจะทักทาย แต่เคาเตอร์เช็คอิน พนักงานแอบมีทำหน้าหยิ่งๆ ป้าไม่ชอบ เลยหักไปแต้มนึง

✏️ห้องพัก ❇️❇️❇️❇️❇️ (10/10) เตียงใหญ่ นอนสบาย หมอนเยอะ ห้องน้ำกว้าง มีอ่างให้แช่ มีห้องอาบน้ำอีก

✏️สระว่ายน้ำ ✳️✳️✳️✳️✳️ (10/10)

สระว่ายน้ำอยู่บนดาดฟ้า สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ แต่อากาศช่วงนี้มันหนาว แถมป้าเที่ยวกันจนค่ำมืด เลยไม่มีเวลาได้โชว์หุ่นแซ่บเลย 🤣🤣🤣

✏️อาหารเช้า ❇️❇️❇️❇️ (9/10)

ห้องอาหารใหญ่มาก ไลน์อาหารเหมือนจะเยอะ แต่ยังไม่ถูกใจเราเท่าไหร่ น้ำสลัดเยอะมากแต่ผักไม่น่ากิน และน้อยมาก ส่วนคุณเพื่อนชอบเบคอนที่นี่มากกกก ออมเล็ตก็ชมกันไม่หยุด แถมมีพนักงานคอยเดินมาถามว่าอยากได้อะไรเพิ่มตลอดเวลา

✏️ความคุ้มค่า (9/10) ... ราคา 💲💲

คุ้มสุดสุดกับราคาคืนละประมาณสองพันบาทนิดๆ คือ ห้าดาวแบบนี้ ราคาแบบนี้ ปกติไม่เคยเจอ ป้าๆปกติก็พักโรงแรมแบบเอาแค่พอนอนได้ แต่รอบนี้ขอเป็นมหารานีกันซะหน่อย

😍ข้อดีพิเศษ😍

- ใครจะไปชมทัชมาฮาลแต่เช้ามืด เค้ามีจัดขนมปัง น้ำชากาแฟ ผลไม้ ให้แพคไป หรือจะนั่งทานให้อิ่มก่อนก็ดี เพราะสุดท้ายเอาเข้าทัชมาฮาลไม่ได้

ปล. ถ้าเสร็จจากทัชมาฮาลเร็วกลับมาทันอาหารเช้าก็ยังมาทานได้นะ

- ของใช้ในห้องมีครบครัน ทั้งไดร์เป่าผม เตารีด ที่ชั่งน้ำหนักอันนี้สำคัญสำหรับแก๊งป้ามาก เพราะรวมกันห้าคนซื้อน้ำหนักใบเดียว

😅ข้อเสีย😅

- ข้อนี้เป็นสิ่งที่พบเจอกันอยู่แล้วของโรงแรมขนาดใหญ่ คือ เดินเมื่อยจ้า ออกจากลิฟต์กว่าจะถึงห้องนี้ปาไปเกินร้อยเมตร แถมพวกป้าโดนจับแยกชั้น โอ๊ย...เดินกันมึนงง 😩😩 แถมเพดานทางเดินในชั้นห้องพักเตี้ยไปหน่อย ทำให้รู้สึกอึดอัดนิดๆ

- บัตรห้องพวกป้า พอหมดวันมันก็ไม่ activate ...ขึ้นมาแล้วก็ต้องกลับลงไปใหม่อีกงี้ มันก็จะแบบเดินเหนื่อยๆหน่อย ไหนจะต้องเหนื่อยลองชุด ซ้อมพริ้วไหวกระโปรงอีก

• ระยะทางที่นี่ห่างจากทัชมาฮาล ประมาณ 2 กิโลเมตร แต่คนมาเที่ยวส่วนใหญ่น่าจะเหมารถมา บอกคนขับให้มารับไปส่งได้นะ แม้ว่าจะเช้ากว่าปกติ แต่เหมือนจะมีบริการรับส่งของโรงแรมด้วย แต่ป้าไม่ได้ถาม

• บริเวณโดยรอบเหมือนจะไม่ค่อยมีร้านค้า แต่เราก็ไม่มีเวลาออกมาเดินเล่นอยู่แล้ว

• แถมที่นี่ปลอดภัยแน่นอน เพราะมีสแกนกระเป๋าทุกใบก่อนเข้าจ้าาา..พร้อมตรวจคน ยังกะจะขึ้นเครื่องบินเลย ...แต่ที่ทัชมาฮาลก็เป็นเช่นกัน security กันสุดๆ



📮ทางเลือกอื่น

สำหรับใครที่อยากประหยัดงบ มีอีกสองที่ที่ป้าดูไว้ Taj resort & atulyaa taj สองที่นี้ก็มีคนไทยไปพักกัน แถมใกล้ทัชมาฮาลมากๆๆด้วย

มาต่อกันที่ข้อ 8

8. อาหารการกิน

ถ้าใครไม่กินเครื่องเทศเลยจริงๆ เนี่ยก็อาจจะต้องเตรียมอาหารสำรองไปบ้าง แต่อินเดียก็มีร้านอาหารนานาชาตินะจ๊ะ หรือจะเข้า KFC McDonald เค้าก็มี แต่อาหารอินเดียไม่ได้กินยากอย่างที่คิดนะ แถมรสชาตดีอีกด้วย มาแล้วต้องลองนะ

อย่าพลาดลอง โยเกิร์ตอินเดีย หรือที่นี่เรียกว่า ลาสซี่ Lassi ที่ชัยปุระต้องร้าน LASSIWALA นี้เลยค่ะ จัดว่าเด็ด ราคาแค่ 30 รูปีเองนะ

ส่วนขนมซองๆ อย่างเลย์ ขอให้ไปลองที่โน่น เพราะมีหลายรสอร่อยเลยทีเดียว แถมราคาถูกกว่าบ้านเราด้วย

ศึกษาเมนูอาหารอินเดียกันไว้ด้วยก็ดี พอเจอจะได้รู้ว่าอยากกินอะไรกัน https://www.dek-d.com/board/view/3361955/



9. การแต่งกาย เนื่องจากคนอินเดียแต่งกายมิดชิด ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวไปแต่งสั้นๆหวิวๆ ก็อาจจะโดนมองได้ และไปอินเดียทั้งทีสาวๆส่วนใหญ่ก็ตั้งใจไปเก็๋บภาพ ดังนั้นการหาชุดสวยเข้าธีมใส่ถ่ายรูปเหมือนจะเป็นมิชชั่นสำคัญของสาวๆในการไปไจปูร์ แล้วบรรดาพวกกระโปรงพลิ้วไหว เดรสโบฮีเมียน ชุดพวกนี้ถ้าไม่ได้หุ่นดีแบบแม่ชม (ชมพู่) เนี่ยป้าแนะนำให้ลองก่อนซื้อนะ ป้าและเดอะแก๊งเนี่ยเสียหายจากการสั่งออนไลน์ไปเยอะทีเดียว หรือจะพกผ้าพันคอแบบพวกป้าๆใช้ดีมีประโยชน์มากๆ กันหนาว กันร้อน แถมยังใช้เป็นพร็อพในการถ่ายรูปได้อย่างดี ทริปนี้ป้าก็สะบัดต่อ ไม่รอแล้วตลอดจนแขนล้ากันไปเลยทีเดียว



10.ข้อควรรู้

• ประเทศไทยเป็นสมาชิก South Asian Association for Regional Cooperation-SAARC ทำให้มีสิทธิพิเศษ ในการซื้อบัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในราคาที่ถูกลง

• เสน่ห์อย่างหนึ่งของอินเดีย คือ การต่อรองราคา เค้าบอกว่าให้ต่อราคาลง 50 % จากที่คนขายบอก เช่น ถ้าของ 1000 รูปี ต่อลงมาเลยอย่างน้อย 500 รูปี สุดท้ายอาจจะได้ที่ประมาณ 600-700 รูปี แต่ที่ป้าเจอมีแบบว่า ตอนแรกพูดราคาต่ำเลยให้เราสนใจ พอฟังไปเรื่อยๆ เห้ย ทำไมราคามันแพงขึ้นล่ะ โอ๊ะ..อย่างงี้ก็ได้หราาาา

• ค่าทำเฮนน่า ราคาอยู่ที่ประมาณ 150-300 รูปี มีร้านอยู่แถว Hawal Mahal

• ของฝากน่าซื้อ ส่วนใหญ่ของคนไทยที่มาอินเดียซื้อกลับไปฝากเพื่อนฝูง ญาติมิตร คงไม่พ้นสุดยอดลิปมัน ยี่ห้อ Himalaya ทั้งนี้ยี่ห้อนี้เค้ายังมีดีอื่นๆอีก แถมราคาไม่แพงด้วย แต่ขนม ชา อินเดียเค้าก็มีดีนะ ลองศึกษาเพิ่มเติม 10 ของฝากจากอินเดียที่คุณห้ามพลาด https://pantip.com/topic/35126563

• ห้องน้ำที่อินเดียไม่ได้เลวร้ายอะไร ห้องน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยว ตามร้านอาหารเค้าก็สะอาดดี

• สิ่งของที่ต้องควรเตรียมไป:

- อันดับแรกห้ามลืม คือ Mask หรือหน้ากากปิดจมูกนี่แหละ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีฝุ่นเยอะมากๆ ช่วงพวกป้าๆไปเนี่ยรู้สึกจมูกตัน หายใจไม่ค่อยสะดวกกันเลยทีเดียว ตื่นเช้ามาก็จะเจอบรรยากาศหมอกๆ เหมือน กทม. ช่วงนี้ที่ค่า PM 2.5 สูงๆเลย

- อุปกรณ์เช็ดไม้เช็ดมือ หรือไว้เข้าห้องน้ำก็ต้องมีไว้ ไม่ว่าจะทิชชูเปียก ทิชชูแห้ง แอลกฮออล์เจล

- ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ของเปรี้ยวๆ

- อุปกรณ์กันแดด ครีมกันแดด หมวก แว่นตา

- ถ้ามีเดินทางระหว่างเมืองไกลๆ พกหมอนรองคอไปก็ดี

- ยาประจำตัว และยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นก็พกไป พารา คาร์บอน

- อาหารแห้ง บะหมี่ และอาหารสำเร็จรูปพร้อมฉีกซองพร้อมทานก็เตรียมไปบ้าง ขนมคบเคี้ยว ลูกอม มะขามก็ควรเอาไป

- อินเดียใช้ปลั๊กไฟ 3 ขาแบบหัวกลม ดังนั้นเตรียมปลั๊กแบบ universal ไปกันด้วยนะ

โปรแกรมเที่ยวห้าวันเต็มของแก๊งค์ป้าๆนะจ๊ะ อันนี้ปรับตามความเหมาะสมหน้างานแล้วด้วย เพราะบางทียังไม่ได้เที่ยวก็กะเวลาไม่ถูก เตรียมโปรแกรมไปคุยกับคนขับรถกันด้วยก็ดี เพราะถ้าตามใจเค้าอาจไม่ได้ดั่งใจเรา

วันบินออกจาก กทม.ไม่นับนะจ๊ะ



สองวันแรกตะลุยเมืองสีชมพูกันก่อนเลย

วันแรก

📌Amer fort ป้อมปราการอาเมร์ หรือ Amber Fort ป้อมปราการแอมเบอร์

📌 Panna Meena Ka Kind Stepwells บ่อน้ำขั้นบันได

📌 Sri Jagat Siromani Ji Temple

📌 Jal Mahal พระราชวังกลางน้ำ

📌 Royal Gaitor Tumbas อนุสรณ์สถานมหาราชาแห่งชัยปุระ

📌 Monkey Temple หรือ Hanuman Temple วัดที่เต็มไปด้วยลิง

และตบท้ายด้วยการเดินไปละลายทรัพย์ที่ร้าน Himalaya บนถนน M.I.Road หน้าโรงแรมนี่เอง



วันที่สอง

📌 Jantra Mantra หอดูดาว

📌 City Palace

📌 Hawal Mahal พระราชวังสายลม

📌 Caffe’ Palldio

📌 Albert Hall

📌 Nahagarh Fort



วันที่สามเดินทางจากชัยปุระไปอัครา แวะเที่ยวระหว่างทาง

📌 บ่อน้ำขั้นบันไดแชนด์ เบารี (Chan Baori Step Well)

📌 Kusum Sarovor >>> ที่นี่ต้องออกนอกเส้นทางไปสองชั่วโมง



วันที่สี่

📌 Taj Mahal

📌 Agra Fort

📌 Shopping at Supermarket

📌 Shopping Himalaya อีกรอบ



วันที่ห้า เดินทางกลับจากอัครามาชัยปุระ

📌 Fatehpur Sikri พระราชวังฟาร์เตห์ปุระสิกรี

📌 Birla Mandir

📌 Shopping ชุดสวยก่อนกลับ

📌 Pakrita Gate

ออกเดินทางกันเลยดีกว่า ป้าจะมาแนวสรุปๆเลยนะ แบบว่า ทริปนี้ได้รูปมาเป็นหมื่น(รวมกันหลายกล้อง) ถ้าลงรายละเอียดนี่อาจกลายเป็น

มหากาพย์ภารตะกันไปเลยทีเดียว ในแต่ละวันเราก็จะคล้ายกับกรุ๊ปทัวร์ที่นัดกัน 6 7 8 แต่แอบเลื่อนนิดนึง เป็นตื่น 6.30, ทานข้าว 7.30 และออก 8.30 คนขับของพวกเราชื่อ มาเฮส มารับตรงเวลาทุกวัน

พอจะเริ่มออกตัวมาเฮสบอกว่า บอสสั่งมาให้พาไปหาชุดสาหรี่ก่อน แหมบอสนี่เข้าใจจิดใจสาวๆจริงๆ แต่พวกป้าเซย์โนไป เพราะไม่อยากเสียเวลา แล้วก็แต่งตัวสวยกันมาแล้ว แถมกะขึ้นช้างที่ Amber Fort ด้วย จะให้ป้านุ่งสาหรี่ขึ้นคงจะไม่ดี

นั่งรถเกือบครึ่งชั่วโมงก็จะมาถึง Amber Fort ทั้งนี้ คนขับจะจอดให้เราลงไปถ่ายรูปมุมกว้างกันก่อน

ลงมาก็เจอกับแขกเป่าปี่เรียกงูชูคอแผ่แม่เบี้ยเลย



Amber Fort ป้อมอาเมร์


ป้อมอาเมร์ (ฮินดี: आमेर क़िला, อังกฤษ: Amer Fort) หรือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort)

ตั้งอยู่ที่ชานเมืองชัยปุระ ตั้งโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบ สร้างโดยมหาราชา มาน สิงห์ที่ 1 ป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งผสมผสานกันระหว่างศิลปะฮินดูและศิลปะราชปุต สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกลเนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่ พร้อมประตูทางเข้าหลายแห่ง



ถ้าใครจะขึ้นด้วยช้างจะถึงทางขึ้นก่อน

วิธีการขึ้นมี 4 วิธี

1. เดินขึ้นไปเลยจ้าตั้งแต่ด้านล่างสุด

2. ขี่ช้าง นั่งได้ตัวละ 2 คน ราคา 1,100 รูปี

3. ใครเช่ารถมาก็ขึ้นไปได้จนใกล้ทางเข้าที่สุด

4. ขึ้นรถจิ๊ป ...อันนี้ไม่รู้ราคาเหมือนกัน 🤔

แต่เมื่อมาทั้งทีเราก็ต้องลองเป็นมหาราณีกันซะหน่อย...

ปล. ถ้าจะใช้บริการน้องช้างต้องมาช่วงเช้านะ ช่วงบ่ายน้องเค้าพักผ่อนกันละ



ความสวยงามของบรรยากาศของป้อมอาเมร์นั้นซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมืองที่แบ่งเป็นทั้งหมด 4 ชั้น (แต่ละชั้นคั่นด้วยทางเดินกว้าง) โดยภายในเป็นหมู่พระที่นั่งซึ่งสร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน หมู่พระที่นั่งภายในป้อมอาเมร์ประกอบด้วย "ดิวัน-อิ-อัม" หรือท้องพระโรง, "ดิวัน-อิ-กัส" หรือท้องพระโรงส่วนพระองค์, "ชีชมาฮาล" (พระตำหนักซึ่งเป็นห้องทรงประดับกระจกสำหรับมหาราชา) และ "จัย มานดีร์" ซึ่งเป็นตำหนักอยู่บนชั้นสอง, "อารัม บักห์" ซึ่งเป็นสวนสวยจัดเป็นรูปดาวแฉกแบบโมกุลคั่นกลางระหว่างอาคาร และ "สุกห์นิวาส" ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ใช้การปรับอากาศภายในพระตำหนักให้เย็นลงด้วยการทำให้ลมเป่าผ่านรางน้ำตกที่มีอยู่โดยรอบภายในพระตำหนัก ทำให้ภายในตำหนักนี้มีอากาศเย็นอยู่เสมอ (Wikipedia)

ข้อมูลเพิ่มเติม -> https://www.amberfort.org/

เวลาเปิดให้บริการ: 08:00 น. - 17:30 น.

ค่าเข้าชม: 500 รูปี สำหรับชาวต่างชาติ คนอินเดีย 100 รูปี

แต่ถ้าจะไปหลายที่ ก็ซื้อบัตรรวมราคา 2,000 รูปี สามารถเข้าสถานที่เที่ยวต่างๆ ทั้งหมด 8 แห่ง ภายในระยะเวลาสองวัน ดังนี้

Amber Fort

Jantar Mantar

Albert Hall

Nahargarh Fort

Hawa Mahal

Sisddia Rani

Vudhiyadhar

Isarlat

ปกติคนไทยจะไปเที่ยวกันห้าที่แรก แต่ Alber Hall กับ Hawal Mahal พวกป้าก็ไม่ได้แวะเข้าไปข้างในกัน



ถ้าใครชอบถ่ายรูปอย่าลืมแบ่งเวลาที่นี่นานๆเลยนะ พวกป้าเดินกันเลยเที่ยง อาหารเช้าก็ย่อย เริ่มหิว บอสคนขับยังมาดักเจอขาออก แล้วให้คนขับพาพวกเราไปยังศูนย์พิมพ์ผ้าและจำหน่ายของที่ระลึก พวกป้าเริ่มจะเหวี่ยงวีนกันละ ด้วยฮอร์โมนและความหิว ก็มันใช่เวลาไม่นิ ...ปฏิเสธยังงัยก็ไม่ยอมไปต่อ พวกป้าก็เลยต้องยอมลงไปดู บางส่วนก็แว้บไปเข้าห้องน้ำ ที่เหลือก็ไปยืนดูเค้าสอนวิธีพิมพ์ผ้าซักแป๊บ จริงๆ คือ มันก็น่าสนใจนะ แต่ก็นะความหิวไม่เข้าใครออกใคร ฟังสอนพิมพ์ผ้าเสร็จพวกป้าก็เดินวนในร้าน แล้วก็รอดออกมาโดยไม่แวะดูอะไรเลย บอสคนขับก็เฟลนิดๆ เราก็โอเคไม่งั้นเราไปร้านอาหารตามนางแนะมาก็ได้ ทั้งๆที่เตรียมมา แต่พอไปถึงร้านแอบดูน่ากลัวเล็กๆ แล้วก็เป็นร้าน Vegeterian ด้วย ซึ่งไม่เหมาะกับบรรดาป้าๆผู้หิวกระหาย สุดท้ายเลยจบที่ร้าน..อยู่ใกล้ๆกันเลย รสชาติถือว่าใช้ได้ ราคานักท่องเที่ยว



แต่ถ้าใครมา Amber Fort แล้วอยากหาร้านอาหารที่ดีงาม ก็มีร้านที่ป้าเล็งๆไว้สองร้าน

• ร้าน 1135AD ร้านนี้อยู่ใน Amber Fort เลย ว่าแต่มันอยู่ตรงไหน ระหว่างเที่ยวก็ไม่เห็น แต่ร้านนี้ป้าจอยกะลุงเต๋อ

รายการเปรี้ยวปากก็พาไปนะ ลองไปดูคลิปของจริงกันก่อนก็ได้

https://www.youtube.com/watch?v=o8OpSxFInT4 (เริ่มนาที 5.45)



• ร้าน The Stag Restro cafe & lounge ร้านนี้มีดีที่นั่งชมวิว Amber Fort ด้านนอกกันอีกที เอาให้ฟินกันไปเต็มๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม https://thestagcafeamer.business.site/



(ภาพจาก tripadvisor.com & jaipurtourismindia.com)

ที่ต่อมาอยู่ใกล้กับ Amber Fort มากๆ



Panna Meena Ka Kind Stepwells หรือ บ่อน้ำขั้นบันได



บ่อน้ำขั้นบันได นวัตกรรมของคนสมัยโบราณที่ทำให้ชาวบ้านลงไปตักน้ำได้ทีละหลายๆคน แถมยังตักได้ยันหยดสุดท้าย ที่นี่เค้าไม่ให้ลงไปถ่ายรูปนะ เคยอ่านเจอว่าจะแอบจ่ายเงินกะชาวบ้านที่ช่วยดูแล้วลงไปได้ แต่จริงๆเจ้าหน้าที่ก็นั่งอยู่ใกล้ๆนั่นแหละ บางทีเค้าก็ทำเป็นไม่เห็น แต่ทางทีดีอย่าทำสิ่งที่เค้าห้ามดีกว่า หามุมชิคๆนั่งริมขอบบ่อก็ถ่ายมาสวยได้นะ แต่เอ่อ ตอนนั้นก็คิดไม่ออกเหมือนกัน ค่อยมาเห็นมุมคนอื่นทีหลัง



ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าใช้จ่าย

และถ้าใครชอบเก็บตก สถานที่ๆไม่ค่อยมีใคร ขอแนะนำวัดฮินดูที่อยู่ใกล้ๆกับ Stepwell มากๆ แวะไปแชะๆ กันซักหน่อยก็ไม่เสียหลายนะจ๊ะ



Sri Jagat Siromani Ji Temple

ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาต่อกันอีกที่ ซึ่งอยู่ก่อนถึง Amber Fort ไม่ไกลนัก ตอนเช้าระหว่างทางก็จะเห็นกันไปแล้ว



Jal Mahal พระราชวังกลางน้ำ



พระราชวังกลางน้ำนี้ตั้งเด่นสง่าอยู่กลางทะเลสาบมันสกา(Man Sagar) โดยพระราชวังแห่งนี้และทิวทัศน์ของทะเลสาบโดยรอบถูกต่อเติมและปรับปรุงโดยมหาราชา สะหวาย จัย สิงห์ที่ 2 ตัวพระราชวังนั้นสร้างได้อย่างสวยงามตามสถาปัตยกรรมราชปุตและโมกุล ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งก่อสร้างในรัฐราชสถาน โดยพระราชวังนี้นั้นมีความสวยงามเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบและโดยมีเทือกเขานหาร์การห์ตั้งอยู่เบื้องหลัง ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดง ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ชั้นซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุด โดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ ฉัตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยมนั้นสร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล ส่วนฉัตรีบริเวณสี่มุมของอาคารนั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม เนื่องจากตั้งอยู่ในน้ำเป็นเวลาอันยาวนานทำให้ฐานของพระราชวังนั้นเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากกระแสน้ำและน้ำท่วม ทำให้มีการบูรณะเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่แล้ว แต่ผลงานที่ได้นั้นมีปัญหาด้านวัตถุดิบที่ใช้ไม่ตรงกับของจริงอิงตามประวัติศาสตร์ค้นคว้าโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยล่าสุดได้มีโครงการร่วมฯเพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยรัฐบาลรัฐราชสถาน (wikipedia)



ค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเราได้แต่ยืนถ่ายรูปอยู่รอบๆทะเลสาบเท่านั้น



รอบๆนี้เค้ามีของขายด้วย นอกจากนี้ก็มีชุดให้นักท่องเที่ยวเช่าถ่ายรูปด้วย แต่ชุดไม่รู้เป็นอินเดียยุคไหน แต่ป้าว่าใส่ชุดถ่ายรูปตรงนี้ดูจะไม่คุ้ม เพราะมุมถ่ายรูปมีแค่ยืนถ่ายจากริมรั้วรอบทะเลสาบเท่านั้นเอง

แล้วก็มาถึงสถานที่หลายคนที่มาเมืองนี้ไม่ได้มา แต่กลับกลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนที่ได้มาต่างหลงไหล ก็คงเป็นเพราะความสวยงาม ความไม่วุ่นวาย ตลอดจนเสน่ห์ของเทือกเขาโดยรอบ ตลอดจนบรรดาสัตว์ต่างๆที่มีให้เห็นไม่ว่าจะเป็นฝูงลิงหางยาว ฝูงนกพิราบ เจ้าลาน้อย แล้วก็แม่นกยูงอีกด้วย ที่ที่พูดถึงก็คือ “Royal Gaitor Tumbas”



Royal Gaitor Tumbas – อนุสรณ์สถานมหาราชาแห่งชัยปุระ



ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกต่อการจากไปของอดีตมหาราชาแห่งเมืองชัยปุระ โดยภายในเป็นสุสานของอดีตมหาราชาหลายพระองค์ แบ่งออกเป็นหลายส่วนตามราชวงศ์ โดยคำว่า Gaitor ในภาษาฮินดี้ อ่านว่า “Gaye ka Thor” ซึ่งแปลว่า “ดินแดนสุขาวดี” นั่นเอง



ค่าเข้าชม: 30 รูปี


ข้อมูลเพิ่มเติม -> http://www.beautiful-jaipur.com/place/gatore-ki-chhatris/

พวกป้าก็มัวเพลิดเพลินกันที่ Royal Giator จนพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่คนขับของเราก็ยังไม่หยุดพาเที่ยว

เราก็ไปลุยกันต่อที่วัดลิงซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การมาชมพระอาทิตย์ตก แต่ตอนพวกป้ามาถึงมืดแล้วจ้า แอบวังเวงน่ากลัวเล็กๆ แถมอากาศก็ค่อนข้างเย็นๆ แต่ลิงที่อินเดียดีนะ เท่าที่เจอเค้าก็อยู่ของเค้าไม่มาแย่งของนักท่องเที่ยว เคยไปบาหลีนักท่องเที่ยวโดนแย่งแว่นตาไปเลย

ถ้าเราเดินไปจนสุดทางของวัดลิง ก็จะเจอเทวสถาน สามารถทำบุญกันได้นะ 100 รูปี ท่านนักบุญก็จะอวยพร ให้เรา Good Luck, Good Life, Good Health ผูกสายสิญจน์ แล้วก็เอาเม็ดอะไรไม่รู้ให้อม พร้อมป้ายสีแดงกลางหน้าผากให้



Monkey Temple หรือ Hanuman Temple (Galta Ji)



อาหารเย็นวันนี้ของพวกป้าก็กินของที่พกมาจากไทย เพราะอยากกลับโรงแรมกันแล้ว ก็เล่นเที่ยวกันยันค่ำมืด

แต่พออิ่มแล้วเราก็ยังไม่หยุด ขอตบท้ายด้วยการเดินไปละลายทรัพย์ที่ร้าน Himalaya บนถนน M.I.Road หน้าโรงแรมนี่เอง

มาต่อ วันที่สองกันเลยจ้า



ตอนแรกเราวางแผนว่าจะเริ่มวันที่สองที่ City Palace เพราะเป็นที่ที่อยากรีบไปเพื่อเลี่ยงคนเยอะ แต่พอสุดท้ายต้องแวะหอดูดาวก่อน เพราะมันตั้งอยู่ตรงทางเข้า City Palace เลย (ทางออกของ City Palace อยู่คนละทาง ไม่งั้นต้องวนมาอีกรอบ) คนขับรถเราก็ปล่อยเราลงที่หอดูดาว นางก็บอกว่าเสร็จแล้วข้ามถนนไปเข้า City Palace ต่อนะ เดี๋ยวเค้าไปรอที่ลานจอดรถของ City Palace ที่อยู่บริเวณประตูทางออกเลย



หอดูดาว Jantra Mantra



หอดูดาวจันตาร์มันตาร์ (Jantar Mantar) เป็นหอดูดาวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 โดยสร้างและคิดค้นขึ้นโดยมหาราชาสะหวายจัย สิงห์ที่ 2 ด้วยทรงมีความสนพระทัยและพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงได้ทรงรับสั่งให้สร้างหอดูดาวแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อสร้างพระราชวังซิตี้พาเลซ เพื่อใช้ดูความเคลื่อนไหวของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในสมัยโบราณ เนื่องจากจะใช้คำนวนฤกษ์เวลาในการออกรบนั่นเอง และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 2010


ค่าเข้าชม ใช้ตั๋วเดียว Combined Ticket ได้ ใครไม่มีก็ 200 รูปี จ้า

เวลาทำการ: 9.00-16.30

ที่หอดูดาวนี่คนอื่นๆ เหมือนจะใช้เวลากันไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่พวกป้าๆเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกันปาไปชั่วโมงกว่าเลย เราก็เลยต้องไปรีบเร่งกันที่ซิตี้พาเลสแทน



City Palace



ตั้งอยู่บริเวณถนน Hawa Mahal Bazar ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 7 ของใจกลางเมือง โดยสร้างขึ้นในสมัยมหาราชาสะหวายจัย ซิงห์ที่ 2 จากนั้นก็ได้รับการดูแลต่อเติมกันเรื่อยมา โดยตอนเริ่มก่อสร้างพระราชวังอยู่ในช่วงที่ราชวงศ์โมกุลเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐราชสถานแล้ว สถาปัตยกรรมจึงมีการผสมผสนระหว่างแบบราชปุตกับโมกุล การออกแบบพื้นที่เป็นไปอย่างลงตัว มีทางเดินกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งของพระราชวังแห่งนี้ แม้ยุคนี้จะไม่มีมหาราชาอีกต่อไป แต่ City Palace แห่งนี้ก็ยังเป็นสมบัติส่วนพระองค์ และชาวเมืองชัยปุระบางส่วนก็ยังนับถือพระองค์อยู่แม้พระองค์จะไม่มีอำนาจใดๆ



ค่าเข้า คนละ 500 รูปี ( ใครจะเข้าห้องสีฟ้า ค่าบัตร 2500 รูปี มีไกด์ และมีขนม น้ำชาให้กินที่คาเฟ่ภายในวัง)

เวลาทำการ : 09:30 โมง – 17:00 ทุกวัน



ภายใน City Palace จะมีหลายส่วนด้วยกัน เข้าประตูทางเข้ามาจะเจอกับ พระตำหนักมูบารักมาฮาล (Mubarak Mahal) หรือ เวลคัมพาเลซ (Welcome Palace) ก่อนเลย พระตำหนักนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1899 เพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง มีความโดดเด่นตรงการแกะสลักเสาหินอ่อนและประตูที่ทำแบบเท่ากันทุกสัดส่วน โดยตัวอาคารเป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบราชปุต อิสลาม และอังกฤษ ปัจจุบัน ตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องแต่งกายของมหาราชาและมหารานีในแต่ละยุคนั้น เช่น กระโปรงปักด้วยดิ้นทอง เสื้อคลุมของมหาราชา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีข้าวของเครื่องใช้ล้ำค่าในวังอีกหลายชิ้น (ภายในห้ามถ่ายรูป)



Chandra Mahal หรือ Chandra Niwas เป็นอาคารใหญ่สุดใน City Palace ชั้นบนเป็นที่พำนักของเชื้อพระวงศ์แห่ง Jaipur ส่วนด้านล่างถูกแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงภาพเขียนล้ำค่า, งานพรมทอโบราณ งานผนังประดับกระจก และงานฝีมืออื่นๆ



ใกล้ๆ กันกับ Chandra Mahal จะมีลาน Pitam Niwas Chawk หรือ ลานนกยูง (Peacock Courtyard) ซึ่งเป็นสัตว์ประจำรัฐราชาสถาน จุดนี้ถือเป็นไฮไลท์ที่ห้ามพลาดกับการถ่ายรูปกับประตูที่ถูกออกแบบอย่างงดงาม 4 บาน ภาพวาดประดับลายแต่ละประตูแสดงถึงฤดูกาลทั้งสี่ ได้แก่ ฤดูฝน-ประตูนกยูง, ฤดูร้อน-ประตูดอกบัว, ฤดูหนาว-ประตูลายดอกไม้ และฤดูใบไม้ผลิ-ประตูสีเขียวตอง



กว่าจะจบจาก City Palace ก็ปาไปเที่ยงกว่าอีกแล้ว ความหิวและเหนื่อยเริ่มมาเยือนป้าๆอีกแล้ว แต่เราจะไปกินข้าวเที่ยงเลยไม่ได้ค่ะ เราต้องเก็บตกที่เที่ยวแถวนี้ให้หมดก่อน อีกที่นึงที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ City Palace และถือเป็นแลนด์มาร์คของเมืองชัยปุระเลย เพราะ #มันเป็นสีชมพู นั่นก็คือ Hawal Mahal หรือ พระราชวังสายลม แต่สุดท้ายแรงหมด ได้แค่แวะไปถ่ายรูปจากคาเฟ่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีให้เลือกสองร้าน คือ 1.Wind view café

2. The tattoo Café ทั้งสองร้านจะอยู่ชั้นสองของตึกแถว ป้าเลือกร้านแรกแบบเล็งมาจากบ้านแล้ว แต่บางคนบอกว่า ถ้าจะแวะไปถ่ายรูปทั้งสองร้านเค้าก็ไม่ว่า แต่เราก็ไม่กล้าอ่ะนะ ก็อุดหนุนน้ำอัดลมกันไปหน่อย เพราะเหนื่อยๆกันมาด้วย ....คนขับให้เวลาพวกเราหนึ่งชั่วโมง แต่เราก็ได้แต่รูปที่นี่ชั้นสอง ชั้นสามจนเต็มอิ่ม แวะไปดูสาหรี่ที่ร้านข้างล่างหน่อยนึง แต่สุดท้ายลืมไปเลยว่ามาแถวนี้เราต้องช้อป!!!! โอ๊ยยยยยย ลืมมิชชั่นที่สำคัญสุดไปซะได้ แล้วเราก็ไม่มีโอกาสกลับมาที่นี่อีกเลยยยยยย OMGGGGGGGG!!!! ร้องไห้สิบตลบ เงินที่แลกมาเพื่อสิ่งนี้ เจ็บใจยันกลับมา ยังอยากกลับไปเพราะเหมือนเที่ยวไม่สุด หือๆๆ



Hawal Mahal หรือ พระราชวังสายลม หรือ Palace of Wind



Hawa mahal สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1799 โดย Maharaja Sawai Pratap Singh ตัวอาคารเป็นสีชมพูอมส้ม สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพูและสีแดง บริเวณอาคารด้านหน้าจะเป็นตึก 5 ชั้น มีลักษณะคล้ายกับรังผึ้ง โดยจะมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ ตกแต่งอย่างงดงามด้วยลายฉลุ 953 บาน ซึ่งมีไว้ให้บรรดานางสนมทั้งหลายมองลอดออกไปดูความเคลื่อนไหวของผู้คนด้านนอก แต่คนด้านนอกจะไม่เห็นคนด้านใน



ข้อมูลเพิ่มเติม -> http://www.hawa-mahal.com/

บ่ายสองกว่าแล้ว ยังไม่มีอะไรตกถึงท้อง แต่วันนี้พวกป้ามุ่งมั่นจะต้องไปร้านอาหารสุดกิ๊บเก๋แห่งเมืองชัยปุระ ประหนึ่งว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองที่คนไทยที่มาแทบไม่มีใครพลาด นั่นก็คือ.......



ร้าน Caffe’ Palldio



ที่นี่มีทั้งอาหารอิตาเลียน อาหารอินเดียฟิวชั่น ขนมเค้ก เครื่องดื่ม



ด้วยความหิวอย่าง สั่งไปรอบแรกสี่อย่าง รู้สึกไม่พอ จัดไปอีกยกแต่อาหารมาช้าเลยไม่ค่อยต่อเนื่อง เลยกินกันไม่หมดเลย หอบกลับไปกินต่อจ้า

สั่งไปประมาณแปดอย่างได้ 4000 กว่ารูปี หรือคิดต่อหัวก็ประมาณ คนละ 400 บาท



รีวิวร้าน

ราคา $$$

รสชาติ 7-9/10 แต่โดยรวมถือว่าดี

บรรยากาศ/การตกแต่งร้าน 10/10

อาหารแนะนำ ไม่ควรพลาดอย่างแรง คือ Potato Tabouleh : สลัดมันฝรั่งสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน มันฝรั่งสุกกำลังดี คลุกเคล้ากับสะระแหน่ หอมแดง และผักอื่นๆ เข้ากันได้ดี พวกเราติดใจสั่งมาสองรอบเลย อิอิ กินแล้วเหมือนช่วยรีเฟรชร่าง



ถามว่า คุ้มค่าแก่การมามั้ย ตอบว่า ดีนะ ป้าชอบ ถือว่าเป็นการรีแลกซ์หนีจากความวุ่นวายของเมืองได้ดีทีเดียว

ข้อเสียของร้านนี้ที่เจอคือ อาหารอาจจะรอนานนิดนึงถ้ามีออเดอร์เยอะ แต่เรารอได้ค่ะ ถ่ายรูปไปเรื่อยจนกว่าอาหารจะมา

กว่าท้องจะอิ่ม ก็สี่โมงเย็นแล้วจ้า เราก็เลยต้องมุ่งมั่นไปอีกหนึ่งสถานที่เที่ยวของชัยปุระที่ไม่ควรพลาดนั่นก็คือ Nahargarh Fort เพื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน ว่าแต่ยังมีที่อื่นๆที่เรายังเก็บไม่ครบก็กะมาเก็บวันสุดท้ายก่อนกลับ แต่ขอเก็บตก Albert Hall อีกที่ก่อน เพราะไหนๆก็ผ่านแล้ว โดยมีเวลาที่นี่แค่ห้านาทีเท่านั้น ห้านาทีจริงๆ คุณคนขับเค้าจอดรถแปะข้างทางแล้วก็ให้เราวิ่งข้ามถนนไปถ่ายรูป



Albert Hall Museum



Albert Hall Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในรัฐ Rajasthan ในอดีตที่นี่เป็นที่ทำการบริหารส่วนต่างๆของเมือง และได้มีการปรับเปลี่ยนภายหลังมาเป็น Art Museum ที่รวบรวมศิลปและวัฒนธรรมต่างๆไว้มากมาย ส่วนชื่อ Albert ก็มีที่มา มาจากการเสด็จประพาสของ King Edward VII (Albert Edward) นั่นเอง



ค่าเข้าชม: รวมในบัตร Combined Ticket


ข้อมูลเพิ่มเติม -> http://alberthalljaipur.gov.in/

แล้วก็มาถึงที่สุดท้ายของวันที่สอง อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง และช่วงที่ดีสุดที่มาที่นี่ คือ มาชมพระอาทิตย์ตก และรอจนถึงบรรยากาศยามค่ำคืนกันไปเลย



Nahargarh Fort หรือ ป้อมไทเกอร์ (Tiger Fort)



ค่าเข้าชม : 200 รูปี ใช้ตั๋ว Combined Ticket ได้

เวลาทำการ : 10 โมงเช้า – 17.30 ทุกวัน



ห่างจากเมืองชัยปุระไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นป้อมที่มองเห็นได้จากใจกลางเมืองชัยปุระ สร้างในปี ค.ศ. 1734 สมัยมหาราชาสะหวายจัย ซิงห์ที่ 2 เพื่อช่วยปกป้องเมืองชัยปุระอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบัน ด้านบนยังมีพระราชวังเก่าหลงเหลือให้ชมอยู่บ้าง



ข้อมูลเพิ่มเติม -> https://en.wikipedia.org/wiki/Nahargarh_Fort

วันที่สาม

วันนี้เราจะออกเดินทางไปยังเมืองอัครา เพื่อไปยลความงดงามของทัชมาฮาล

โดยทั่วไปการเดินทางไปเมืองอัคราจะใช้เวลา ราว 4 ชั่วโมง หรือ 240 กิโลเมตร แต่พวกป้าๆหาได้ธรรมดาไม่

พอดีเจอรีวิวที่พาไป Kusum Sarovar ซึ่งเป็นสถานที่สวยงาม และน่าสนใจ อยู่ห่างจากเมืองอัคราประมาณสองชั่วโมง หรือ 60 กม. ทำให้ต้องจ่ายค่ารถเพิ่มอีก 1,000 รูปี เป็นค่าน้ำมันจ้าาา เพราะมันไม่ได้เป็นทางผ่าน


แต่ก่อนนั้นกลางทางระหว่างสองเมืองชัยปุระ-อัครา จะมี Step Well อีกแห่งที่คนแวะกันมาก

นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังหลายเรื่อง ได้แก่ Batman ภาคสุดท้าย และ The Fall



บ่อน้ำขั้นบันไดแชนด์ เบารี (Chan Baori Step Well)

แล้วก็ไปกันต่อยัง Kusum Sarovar

Kusum Sarovar อยู่ในเขตเมือง Mathura



ที่นี่เหมือนเป็นอนุสรณ์สถานที่เก็บพระศพของพระกฤษณะ และสองพระราชินี โดยภายในอาคารเก็บพระศพนั้นบนเพดานจะมีภาพเขียนที่งดงามอยู่ รวมถึงมีจารึกเท้าบัวของพระกฤษณะอยู่ ตอนแรกที่พวกเราไปถึงตัวอาคารปิดอยู่ แต่มีท่านนักบุญผู้ดูแลมาเปิดให้พร้อมอธิบายรายละเอียดต่างๆ

มื้อเย็นวันนี้เราฝากท้องไว้ที่ร้าน The Silk Route อ่านรีวิวมา มีคนแนะนำ

สุดท้ายไม่ผิดหวังจริงๆจ้า แวะมาอีกรอบด้วย แถมข้างๆมีร้านให้ช้อปปิ้งได้อีกด้วย อิอิ



ตัวอย่างภาพอาหารบางส่วน

อิ่มท้องแล้วเราก็ขอไปเช็คอินที่โรงแรมสุดหรูในราคารับได้อย่าง Radisson Blue Agra กันต่อ

คืนนี้ต้องนอนไว เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อเตรียมตัวไปยังทัชมาฮาล

วันที่สี่



ตื่นแต่เช้าเตรียมตัวกันไปทัชมาฮาล ที่เรดิสันบลูมีบริการขนม ชากาแฟ ให้กับคนที่ออกแต่เช้าด้วย ดีมากๆเลย เพราะพวกเราแทบไม่ได้เตรียมอะไรไว้กินเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทานให้เรียบร้อยก่อนเข้านะจ๊ะ เรานัดคนขับไว้ตอนตีห้าครึ่ง แต่สุดท้ายรถจะเข้าไปส่งเราถึงข้างในไม่ได้ต้องเดินต่อหรือนั่งรถสามล้อ ตอนที่ไปถึงยังมืดมากกก และเราก็อยากรีบไปก็เลยจัดรถสามล้อกันไปคันละ.........รูปี



ที่ต้องรีบมาแต่เช้าเพราะทัชมาฮาลมีนักท่องเที่ยวเยอะมากๆๆ ก็ถือว่า รีบมาจะได้ภาพสวยๆคนน้อยๆ แต่ภาพช่วงนั้นจะเป็นหมอกนะ อาจมองไม่ค่อยเห็นตัวอาคารทัชมาฮาล แต่ป้าก็ชอบนะดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ แถมอากาศตอนเช้าเย็นสบายดีมากๆ แต่รู้สึกว่าฝุ่นที่อัคราจะมากกว่าชัยปุระ



ค่าเข้าชม: 530 รูปี (ราคาประเทศที่เป็นสมาชิก SAARC ว่าแต่อย่าลืมเอาพาสปอร์ตไปนะจ๊ะ)

นอกจากตั๋วแล้วเราก็ยังได้น้ำเปล่ากันคนละขวด พร้อมที่คลุมรองเท้า

หลังจากซื้อตั๋วเสร็จก็เข้าคิว ตรวจสแกนตัว และสัมภาระเพื่อความปลอดภัยกันต่อ แบ่งช่องชายหญิงนะจ๊ะ



ระหว่างรอคิวก็จะมีคนมาติดต่อพยายามเป็นไกด์ให้เรา สุดท้ายเราก็ตกลงจ้างมาเพื่อเสริมสร้างความรู้ระหว่างเที่ยวชม

แต่สุดท้ายไกด์ก็จะกลายเป็นช่างภาพไปในตัว ราคาที่เราต่อรองกันมาได้ คือ 1500 รูปี เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ถ้าจะจ้างก็อย่าลืมดูบัตรเค้าด้วยนะคะ ว่าเป็นไกด์ที่ได้รับการรับรองจริงๆ



Taj Mahal ทัชมาฮาล



ตำนานอนุสรณ์สถานแห่งรัก: ทัชมาฮาล



• จักรพรรดิชาห์ ชหาน กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โมกุล (Mughal Empire India) ที่ปกครองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 พระเจ้าชาห์ ชหาน ได้พบกับบุตรสาว อรชุมันท์ พานุ เพคุม บุตรสาวของรัฐมนตรีเมื่ออายุ 14 พรรษา และหลงรักตั้งแต่แรกเจอ หลังจากนั้นอีก 5 ปี จึงได้อภิเษกสมรสกัน และเรียกพระนางว่า มุมตัซ มาฮาล ซึ่งหมายถึง "อัญมณีแห่งราชวัง" นับแต่นั้นก็ไม่เคยอยู่ห่างกันอีกเลย จนพระมเหสีสิ้นพระชนม์หลังจากคลอดลูกคนที่ 14 พระองค์จึงสั่งให้สร้างสุสานจากหินอ่อนทั้งหมด เพื่อแสดงความรักให้แก่ภรรยา โดยต้องสร้างจากสิ่งที่ดีที่สุดเป็นหนึ่งเดียวในโลก และสั่งฆ่าคนสร้างทิ้งเพื่อไม่ให้ไปสร้างที่อื่นได้อีก ยังมีโครงการจะก่อสร้างสุสานของตัวเอง จากหินอ่อนสีดำอยู่ตรงข้ามแม่น้ำอีกฝั่ง เพื่อจะได้อยู่เคียงข้างกับภรรยาตลอดไป แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและแรงงานคนมาก ลูกชายเลยจับพ่อไปขังที่ป้อมอัคราซึ่งอยู่ห่างไป 2 กิโลเมตร พระเจ้าชาห์ ชหาน จึงได้แต่มองทัชมาฮาลจากป้อมอัคราและรำลึกถึงพระมเหสีที่รัก พระองค์ถูกกักขังอยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1666 ตามตำนานกล่าวว่า ในวันสุดท้ายของชีวิตพระองค์ใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์ด้วยเศษกระจกในกำมือ พระองค์ถูกฝังในทัชมาฮาล เคียงข้างพระมเหสีซึ่งพระองค์



• ทัชมาฮาลถูกสร้างในช่วงปี 1632-1653 สร้างด้วยแรงงาน ศิลปิน กว่าสองหมื่นคน ใช้เงินกว่า 32 ล้านรูปีในสมัยนั้น ถ้าเทียบเป็นมูลค่าปัจจุบันจะมีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว จะไม่แพงได้งัยล่ะก็เค้าใช้หินอ่อนที่นำเข้ามาจากภูมิภาคต่างๆทั้งในอินเดีย และทั่วโลก หินอ่อนขาวเรืองแสงเป็นของแคว้นราชสถาน หยกและคริสตัลจากจีน นิลได้มาจากแคว้นปัญจาบ อินเดีย Lapis Lazuli นำมาจากอัฟกานิสถาน Turquoise จากธิเบต Carnelia จากอาระเบีย



• ทัชมาฮาลมีโครงสร้างฐานภายในที่เป็นไม้ ซึ่งปกติไม่น่าจะคงทนนานขนาดนี้ ซึ่งว่ากันว่า เป็นเพราะตั้งอยู่เคียงข้างกับแม่น้ำยะมุนา ทำให้ความชื้นที่พอดีจากแม่น้ำ ช่วยทำให้โครงสร้างไม้นี้มีคงทนถาวรตราบจนทุกวันนี้



• ทัชมาฮาล ถูกสร้างออกแบบมาให้สมมาตรในทุกๆอย่าง แต่ว่ากันว่า อย่างเดียวที่มีอยู่ในทัชมาฮาลและไม่สมมาตรคือ หีบพระศพของพระนางมุมตัส และจักรพรรดิชาห์ ชหาน (หีบพระศพจริงอยู่ในห้องลึกลงไปด้านล่างประมาณ 10 เมตร)



ขากลับจากทัชมาฮาลมาที่ลานจอดรถ เราก็ใช้บริการสามล้ออีก แต่เค้าคิดราคาแพงขึ้นเพราะเหมือนต้องปั่นขึ้นเนินนิดๆก็จะเหนื่อยกว่าเดิม แต่เราเห็นว่าจริงๆมีรถกอล์ฟยาวไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย น่าจะฟรีนะ

เสร็จจากทัชมาฮาลก็เกือบเที่ยง หิวสุดๆอีกแล้ว เมื่อคนขับไม่มีไอเดียว่าจะพาไปกินไหน พวกเราก็เลยขอจัดร้านเดิมจ้า แบบว่าเมื่อวานยังฟินกันไม่พอ

อิ่มท้องแล้วก็ไปต่อกันที่ Agra Fort



Agra Fort



นอกจากสองสถานที่สำคัญหลักแห่งเมืองอัครา ก็ยังมีที่อื่นๆ ให้เที่ยว เช่น Baby Taj

แต่พวกป้าๆๆ รู้สึกหมดแรง ขอจบการเที่ยว เปลี่ยนเป็นขอช้อป เลยให้คนขับพาไป Supermarket เพราะอยากซื้อขนม และของฝากอื่นๆ

คนขับไม่รู้จ้า ว่ามีที่ไหน เราก็ต้องใช้วิธีถามคุณอา (กู๋) กัน เจอร้าน...อยู่ไกลออกไปสิบกว่าโล แต่เราก็ไปค่ะ คนขับบอกว่า Supermarket ใหญ่ๆส่วนมากจะอยู่นอกเมือง ก็ดีนะ ชาวบ้านจะได้ขายของในเมืองได้



คืนนี้เตรียมตัวกลับไปเก็บตกที่ชัยปุระต่อค่ะ

วันที่ห้า (วันสุดท้าย)



เช้านี้นั่งรถกลับชัยปุระค่ะ

แวะเที่ยวที่ Fatehpur Sikri พระราชวังฟาร์เตห์ปุระสิกรี ซึ่งอยู่ระหว่างทางก่อน (ที่นี่คนขับให้เวลาเราถึงเที่ยง)



Fatehpur Sikri พระราชวังฟาร์เตห์ปุระสิกรี



กลับมาถึงชัยปุระ

เราก็เก็บตกไว้พระขอพรก่อนกลับซักหน่อย



เริ่มด้วยขอพรพระพิฆเนศ ที่ Ganesh Temple

แล้วก็เดินไปต่ออีกที่ซึ่งอยู่ติดกันเลย

เบียร์ล่ามันเดียร์ (Birla Mandir) หรือ วัดลักษมีนารายัน (Laxmi Narayan)



และแล้วก็ถึงเวลาเก็บตกที่สุดท้าย



Patrika Gate



ประตูนี้เป็นประตูลำดับที่ 9 แห่งเมือง Jaipur ตั้งอยู่ที่วงเวียน Jawahar อยู่ใกล้กับสนามบินมากๆ ดังนั้น ต้องรอแวะก่อนกลับดีที่สุด



จะถ่ายแบบไม่ติดคนอื่นก็ต้องรอจังหวะหน่อยนะ แต่ก็เป็นอีกที่ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ด้วยความงดงามของสีสันในภาพเขียน และการซ้อนชั้นกันของประตู



พวกป้าก็ถ่ายกันจนมืด แล้วก็ไปสนามบินเช็คอิน หาข้าวกิน รอขึ้นเครื่องกันต่อไป

ป้าชอบนะ อินเดีย มีเสน่ห์ ศิลปวัฒนธรรม รูปแบบการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ นี่แหละน้าาาา สีสันตะวันออก จริงๆ

หากสนใจอยากเที่ยวไปกะป้าอีก ก็ติดตามกันได้นะคะ ที่ https://www.facebook.com/AuntieJourneyJournal/

Mai Manisa

 วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22.38 น.

ความคิดเห็น