เมืองเลห์ ลาดักส์ สวรรค์บนดิน สำหรับนักเดินทาง ตอนที่ 2/2 (ใช้บริการทัวร์ 8 วัน งบ 39,000 บาท)

Carelessness ไม่แคร์อะไรที่ไม่จำเป็น เพราะชีวิตของเรา"สั้น" เกินกว่าที่เราจะไม่ทำอะไรที่มีความสุข ใช้ชีวิตให้เป็นของขวัญ แล้วไปเที่ยวกันครับ

  • เลห์ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงตอนปลายของเทือกเขาหิมาลัย มีหิมะปกคลุมเกือบทั้งปี อุณหภูมิช่วงที่ไป ตอนเช้า 1-5 องศา บนยอดเขา -10 องศา กลางวันแดดแรงๆ ก็ร้อนแดดบ้าง พื้นที่จะสลับกับทุ่งหญ้าเขียวขจีบนแผ่นดินแคชเมียร์ ตลอดแนวจะพบกับธารน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็ง Glacier รวมถึงความงดงามของปราสาท พระราชวัง วัดตามวิถีและอารยะธรรมของชนชาวทิเบต ตามที่กล่าวไปในตอนที่ ½ ถ้าเลือกไปเอง คุณต้องจ่ายค่าเครื่องบิน 2 ต่อ คือ ไทย-นิวเดลฮี และ นิวเดลฮี – เลห์ ค่าตั๋วเครื่องบิน 2 เที่ยว ไปกลับประมาณเกือบ 2 หมื่นบาท


  • และที่แพงอีกส่วนคือค่าเช่ารถ ค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าไกด์ท้องถิ่น ค่าประกันการเดินทาง จิปาถะ ที่สำคัญเสี่ยงมากๆ กับการเดินทางไปกันเอง

  • เมืองลาดักห์ ประกอบด้วยหุบเขาใหญ่ 5 หุบเขา คือ หุบเขาสินธุ (Indus Valley) หุบเขานูบร้า (Nubra Valley) หุบเขาชูมัทถัง (Chumathang Valley) หุบเขาซูรู (Suru Valley) และ หุบเขาซันสการ์ (Zanskar Valley) โดยมีหุบเขาสินธุเป็นหุบเขาที่สำคัญเพราะเป็นที่ตั้งของ เลห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแค้วนลาดักห์ สภาพทางภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ของลาดักห์นั้นอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียมีพรมแดนติดกับปากีสถานและจีน ถือว่าเป็นพื้่นที่ที่มีความอ่อนไหวทางทหาร ที่เลห์ - ลาดักห์ เราจึงพบค่ายทหารต่างๆมากมายและมีขนาดใหญ่ ที่ลาดักห์มีพื้่นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายมีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 3,000 เมตร จากระดับทะเล มีแม่น้ำที่เกิดจากการที่หิมะละลายแลไหลรวมตัวกันเป็นแม่น้ำสายต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการรวมตัวเป็นชุมชนต่างๆตามแหล่งน้ำ
  • การเดินทาง วันที่ 1 เริ่มต้นที่ นิวเดลลี เดินทางไปชมวัดคัครชาดาม (วัดฮินดูใหญ่ที่สุดในโลก สวยงามมาก สร้างแค่ 5 ปี ใช้คน 11,000 คน, ประตูชัยอินเดีย ภาพรวมในตัวเมืองไม่ค่อยน่าเดิน แต่สถานที่ท่องเที่ยวอลังการมาก
  • วันที่ 2 (เข้า) เดินทางถึงเมืองลาดักส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ความสูง 11,429 ft หรือ 3,500m เหนือระดับน้ำทะเล คนทั่วๆไป จะต้องนอนพักปรับสภาพร่างกายประมาณ ครึ่งวัน โดยการนอนนิ่งๆ บ่ายๆ ค่อยออกไปชมเมือง, วัด, ภูมิประเทศ ณ ตอนนี้ผมขอนอนก่อน ใจสั่นมาก หน้ามืดด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนมา ฟิตร่างกายเตรียมพร้อมมาก แต่ยังไงก็ค่อยๆ ปรับตัว เพราะวันที่ 4 ต้องไต่ระดับขึ้นไปที่ความสูง เกือบ 20,000 ฟุตหรือ 6,000 ม. แต่ที่แปลก คือ วันนี้มีการจัดวิ่งมาราธอนที่นี่ สงสัยว่านักวิ่งจะหายใจทันเหรอ อันตรายมากๆ สำหรับผู้ที่ฝึกฝนมาน้อยหรือไม่เคยชิน
  • วันที่ 2 (บ่าย) เที่ยวชมเจดีย์สันติภาพ Shanti Stupa
  • พระราชวังเลห์ และเดินชมตลาดพื้นเมือง ที่ความสูง 11,429 ft ผมยังคงปวดหัว คลื่นไส้ หน้ามืออยู่เลย ตอนเย็นกินอาหารอินเดียแท้ๆ ไม่ค่อยได้ ร่างการก็ไม่สมบูรณ์ สรุปนอนพัก งดอาหารเย็นดื่มน้ำเยอะๆ ดีที่สุด
  • วันที่ 3 วันนี้ตื่นเช้ามาอาการดีขึ้น เพราะเมื่อวานหลับตั้งแต่ 1 ทุ่ม (ไม่ทานอาหารค่ำ) จนถึงเช้า วันนี้ออกจากโรงแรมเวลา 09.10 น. ไปเมืองอูเล ทางเดียวกับแค้วนแคชเมียร์ ที่กำลังมีปัญหากันระหว่างพรมแดน แต่ใครจะรู้สถานที่นี้ยังบริสุทธิ์และสวยที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยว
  • วันที่ 3 วันนี้จุดแรกชมคือ วัดลิคีร์ (นั่งรถกัน 4 ชม. ทางขึ้นเขาคดเคี้ยวมาก วันนี้เลยเมารถกันถ้วนหน้า จอกอ๊วกกันตลอดทาง) ต่อไปคือ วัดอัลชิ, ชมวัดลามายูรู, ชม Basgo Palace คุ้มค่ามากวันนี้ เพราะแต่ละสถานที่ล้วนสวยงาน มีประวัติยาวนาน และที่สำคัญวิวระหว่างทางสวยงามมากๆ
  • วันที่ 4 วันนี้ถือว่าเป็นวันที่สุดยอดอีกวันหนึ่ง แต่เหนื่อยมาก หมดสภาพสุดๆ การเดินทางโหดมาก คือออกจากโรงแรมตั้งแต่ 06.00 กลับถึง 19.00 น. (งดอาหารเย็นอีกเพราะ ปวดหัว พะอืดพะอมมาก คือ หมดสภาพ) เส้นทางสุดโหดจริงๆ เราเริ่มไต่จากระดับ 3,505 ม. ขึ้นไปที่ 5,602 ม. ใช้เวลา เกือบๆ 3 ชม. ผ่านเส้นทาง Khardungla Pass เส้นทางรถยนต์ที่สูงที่สุดในโลก สามารถเห็นเทือกเขาคาราโครันดัมที่สวยงาน (ปากีสถาน) ได้เลย อากาศหนาวมาก (-10 องศา) เสื้อหนาวขนเป็ดเอาไม่อยู่ ไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนี้ จากนั้นไต่ลงมาเรื่อยๆ จนเหลือที่ 3,200 ม. ไปสู่ภูมิประเทศที่แตกต่างกันสุดขั้ว คือ ทะเลทรายนูบรา บนเทือกเขาหิมาลัย ร้อนมาก มีอูฐรอรับพวกเรา 1 ฝูง ใครจะขี่อูฐก็จ่ายเงินเพิ่ม แต่ผมขอบาย เพราะรู้แล้วว่า ขี่อูฐไม่สนุกแน่นอน จุกแน่นอน มีประสบการณืจากที่อียิปต์มาแล้ว สุดท้ายเข้าชมวัดดีสกิต กลับถึงโรงแรมแบบหมดสภาพจริงๆ คืนนี้นอนหลับฝันดี เพราะเส้นทางและสถานที่โคตรสวยเลย
  • วันที่ 5 วันนี้สบายๆ ทุกคนปรับตัวได้แล้ว มีแค่ที่แรกที่ขึ้นไปชมวัดเฮมิส ที่ความสูง 3,630 ม. จากระดับน้ำทะเล ต้องใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ ช่วยหายใจ ก็ช่วยได้ระดับนึง ที่ความสูงระดับนี้ วันนี้ผมเลือดกำเดาไหล เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก หน้ามืดเลย ณ วัดเฮมิส เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดของลาดักห์ มีโรงเรียนลามะที่ใหญ่มาก น่าสนใจมากๆ ต่อไปชมวัดธิเชย์ ซึ่งสวยงามที่สุดของที่นี่, จากนั้นชมพระราชวังเชย์ และพิพิธภัณฑ์สตอคพาเลส วันนี้สบายๆ กลับเร็วมีเวลาซื้อของฝาก ที่สำคัญคือ เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร "Himalaya" ที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพสูงราคาย่อมเยาว์ครับ

  • ** วัดธิคเซย์ เป็นอารามเก่าแก่เกือบ 600 ปี สถาปนาขึ้นครั้งแรกต้นศตวรรษที่ 14 โดย ท่านเซรัป ซังโป (SHERAB ZANGPO) แห่งสต็อดในหุบเขาซันสการ์ รูปทรงของวัดคล้ายกับพระราชวังโปตาลาในทิเบต จนได้รับฉายาว่า MINI POTALA พระศรีอาริยเมตไตรย (The Future Buddha) ความสูง 15 เมตร เท่ากับอาคาร 2 ชั้น เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในหุบเขาลาดักห์ ถูกดำริให้สร้างขึ้นโดยดาไลลามะองค์ที่ 14 เมื่อปี ค.ศ.1980 โดยช่างชื่อ Nawang Tsering ซึ่งใช้เวลาราว 2 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งชาวพุทธมหายานเชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ต่อไปที่จะคอยช่วยเหลือมนุษย์ สามารถถ่ายภาพองค์พระได้ แต่ห้ามไปยืนหรือนั่งถ่ายร่วมกับองค์พระ เพราะถือว่าเป็นการไม่สมควร
  • วันที่ 6 วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสุดท้ายสำหรับที่นี่ และเป็น Highlights ของทริป คือ ทะเลสาบแปงกอง เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่สูงที่สุดในโลก มีน้ำทะเลที่สวยงามมาก

  • การเดินทางสุดโหดคือ ประมาณ 5 ชม. ผ่าน Changla Pass เส้นทางรถสูงอันดับ 3 ของโลก ที่17,688 ฟุต อุณหภูมิ -10 องศาเลยละ ถึงกับต้องใช้ออกซิเจนถังกันเลย

  • Nubra Sand Dune and Organic Oasis แปลกแต่จริง ทะเลทรายบนหิมาลัย
  • Sand Dune of Nubra Valley เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกนับล้านๆปี ซึ่งผมสันนิษฐานว่าตรงนี้เคยอุดมสมบูรณ์มากในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลทรายเพราะอะไร ...... ทะเลทราย คือดินแดนส่วนหนึ่งของผิวโลก ที่แห้งแล้งจัดจนพืชและสัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งคนก็แทบจะอาศัยอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะมีแต่ความร้อนและ เนินทราย Sand Dune อาจสูงถึง 300 เมตร และเคลื่อนที่ได้ในอัตราเร็วปีละ 10 เมตร เพราะเวลาลม ทะเลทรายพัด แต่ถ้าลมพัดแรง ภูเขาทราย ก็อาจเลื่อนได้ไกลถึง 20 เมตรในหนึ่งวัน และเมื่อ ภูเขาทรายเคลื่อนที่ถึงสิ่งใด มันก็จะถมทับสิ่งนั้นจนหมดสิ้น และ เนินทรายจะมีรูปร่างอย่างไรนั้น ก็ขึ้นกับพลศาสตร์ระหว่างลมและทราย
  • ความแตกต่างที่มากระหว่าง อุณหภูมิของอากาศในเวลากลางวัน และกลางคืนนี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้ใน ทะเลทรายมีพายุพัดรุนแรง สภาพการไร้ฝนและอุณหภูมิที่ร้อนจัดใน ทะเลทรายมีผลทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศเหนือ ทะเลทรายเกือบเป็นศูนย์ตลอดปี และถึงแม้ในบางเวลาจะมีฝนตกใน ทะเลทรายบ้างก็ตาม แต่อากาศที่ร้อนจัดได้ทำให้น้ำฝนระเหยหายไปก่อนที่เม็ดฝนจะตกถึงพื้นทราย ยกเว้นกรณีที่เป็นห่าฝน ซึ่งเมื่อตกถึงทรายแล้วน้ำก็จะไหลซึมลงไปใต้ดินกลายเป็นน้ำ บาดาลสู่ โอเอซิส (oasis) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์กลาง ทะเลทรายในที่สุด ซึ่งเราได้ไปสัมผัสมาแล้วที่ Oranic Farm ใกล้ๆทะเลทรายนี่เอง..
  • วันที่ 7 ชมสุสานจักรพรรดิหุมายูน (Humanyun Tomb) ต้นแบบของทัสมาฮาล สวยงามมากจริงๆ วันนี้ได้ทานอาหารไทย สุดยอดไปเลย หลังจากที่งดอาหารมาหลายมื้อ วันนี้นอนหลับสบาย รอบินกลับไทยพรุ่งนี้ครับ ประทับใจสุดๆ ทริปนี้ ที่สำคัญน้องลูกปัด ไกด์เราดีมาก เพื่อนร่วมทริปดีมาก ผ่านเส้นทางโหดๆมาด้วยกันทำให้ทุกวันนี้ยังติดต่อกันตลอด
  • การท่องเที่ยวที่นี่ ไม่หมาะที่จะมาในฤดูหนาวเพราะที่นี้จะหนาวจัด (ตั้งแต่ ต.ค.- มี.ค.) อุณหภูมิอาจลดไปถึง -40 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ส่วนฤดูร้อนอาจถึง 37 องศาเซลเซียส (เดือน มิ.ย.-ก.ย.) ทำให้ไม่สามารถขับขี่รถบนถนนได้ตามปกติ ส่วนฤดูใบไม้ผลิ น่าจะเริ่มราว เม.ย. - พ.ค. ก็ยังมีความหนาวเย็นและหิมะปกคลุมอยู่มาก ผมไปช่วงเดือน ก.ย. อากาสกำลังดี เลยได้เดินตลาด ตามรูป

  • ฤดูกาลท่องเที่ยวที่้เลห์ ที่เหมาะสมเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ตุลาคม ของทุกปี


  • ช่วงเวลาอื่นจะเป็นช่วงที่มีหิมะปกคลุมอยู่และหนาวมาก ช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กันยายน เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวอินเดียและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเยอะมากๆ อย่างที่บอกครับ ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาให้ได้ครับ...
  • สรุป คะแนนเต็ม 10 ให้ 8.5 เลย (ได้คะแนนจากความสวยงาม แปลกตาของภูมิประเทศ อากาศดีมาก เย็นสบาย ค่าใช้จ่ายถือว่าประหยัด ใครที่ชอบการถ่ายรูปแนะนำว่าต้องไปครับ แต่โดนตัดคะแนนที่เดินทางเหนื่อยมาก อาหารไม่ถูกปากคนไทย ออกซิเจนน้อย เหนื่อยง่าย สุขภาพต้องพร้อมครับ)

Chai smile

 วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 00.00 น.

ความคิดเห็น