แต่งชุดไทย เดินชมตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 6

วันนี้ Pira Story สวมชุดลูกไม้ ไปเดินชมตำหนักจิตรลดา ในงานรื่นรมย์ชมวังปารุสก์ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยความพิเศษของงานนี้คือ เราสามารถเข้าไปชมความสวยงามภายในตำหนักจิตรลดาได้ค่ะ

วิธีเดินทาง จำง่ายๆ คือ วังปารุสกวัน ตำหนักจิตรลดาตั้งอยู่เยื้องกับพระที่นั่งอนันตสมาคมค่ะ ใครที่ไม่แน่ใจเส้นทาง สามารถคลิกดู Google Map ด้านล่างนี้ได้เลย

Google Map: ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน https://goo.gl/maps/vtkAnP59CwZfD2Tt5
ตรงข้ามลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อเดินเข้ามา ก็จะพบกับซุ้มประตูงาน "รื่นรมย์ชมวังปารุสก์" ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปี

❤ วังปารุสกวัน (Parut Sakawan Palace) เป็นพระตำหนักที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนดุสิต ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารจากประเทศรัสเซีย และเสด็จกลับไทย

❤ ตำหนักจิตรลดา (Chitralada Villa) คือ ตำหนักที่ตั้งอยู่ภายใน “วังปารุสกวัน” ทางทิศเหนือ เป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า สูง 2 ชั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบ Stile Liberty ของอิตาเลียน ภายในมีการตกแต่งสไตล์อาร์ตนูโว ศิลปะบาโรก และรอกโคโค ซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

❤ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

❤ ประตูรอบกำแพงวังจะมีการติดตรา "จักร" และ "ตะบอง" อันเป็นตราประจำพระองค์ของ จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ

❤ ออกแบบโดย นายมาริโอ ตามาญโญ นายช่างเอกแห่งกรมโยธาธิการ ระหว่าง พ.ศ. 2446-2448 ก่อสร้างเสร็จปี พ.ศ. 2449

❤ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 มีการเวนคืนบริเวณวังปารุสกวันเป็นที่ทำการของราชการ ปัจจุบันจึงเป็นี่ทำการของกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ถ้าพร้อมกันแล้ว เข้าไปชมภายในตำหนักด้วยกันนะคะ 😊

การประดับตกแต่งสไตล์อาร์ตนูโว

นอกจากตัวอาคารภายนอกที่ออกแบบอย่างสวยงาม ทั้งโครงสร้าง การออกแบบ และสีสันแล้ว ภายในอาคาร บริเวณกรอบประตู หน้าต่าง และผนังยังมีการประดับตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาสไตล์อาร์ตนูโว (Art Nouveau Style) อีกด้วย

ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน มี 2 ชั้นให้เดินชม ไปเริ่มกันที่ชั้น 1 กันก่อนเลยค่ะ

ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตำหนักจิตรลดา ตั้งแต่สมัยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมอธิบายการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญในตำหนักหลังนี้

นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมซึ่งใช้จำลองเหตุการณ์ครั้งที่คณะราษฎรเข้ามาใช้พื้นที่ภายในวังปารุสกวัน ซึ่งในงานรื่นรมย์ชมวังปารุสก์ จะมีการจัดเสวนาวิชาการในห้องประชุมนี้ค่ะ (พิระไม่ได้ลงชื่อเข้าฟังเสวนา เลยอดเข้าไปชมภายในห้องประชุมค่ะ) ทางด้านหลังจะมีห้องจดหมายเหตุตำรวจ (เป็นอีกห้องที่ไม่ได้เข้าไปชมเช่นกัน)

ขึ้นมาชมชั้น 2 กันบ้าง เมื่อมาถึงชั้น 2 ก็จะพบกับการแสดงดนตรี ฟังแล้วหวานจับใจมากๆ

ชั้น 2 จะประกอบด้วย ห้องนิทรรศการ 4 ห้อง ได้แก่

ห้องจัดแสดงพระนิรันตราย(จำลอง)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง เพื่อประดิษฐานเป็นพระประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


องนิทรรศการแสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับกิจการตำรวจไทย

ห้องนี้เป็นห้องที่รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์พระราชกรณีย์กิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวข้องกับกิจการตำรวจไทย

ห้องนิทรรศการแสดงพระราชกรณียกิจ

ห้องนิทรรศการแสดงพระราชกรณีย์กิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเมื่อครั้งทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร

ห้องทรงพระอักษร

เป็นห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมาร ยู่บริเวณชั้น 2 ของตำหนักจิตรลดา ภายในห้องนี้จะมีโทนสีและลวดลายปูนปั้นที่แตกต่างจากห้องอื่น ๆ ในตำหนัก






ห้องทรงพระสำราญ

เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ อยู่บริเวณชั้น 2 ของตำหนักจิตรลดา ห้องนี้จะเป็นห้องที่ดูหรูหราและคลาสสิก ตกแต่งด้วยศิลปะแบบบาโรกและรอคโคโคที่ได้รับความนิยมในยุโรปด้วยค่ะ

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 วังปารุสกวันใช้เป็นสถานที่ราชการต่อเนื่องตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดูแลพื้นที่บริเวณวังปารุสกวันด้านทิศเหนือ รวมถึงตำหนักจิตรลดาที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2532

พื้นที่ส่วนใหญ่ของวังใช้เป็นอาคารสำนักงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล

เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีโครงการที่จะจัดจั้งพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน จึงมีการศึกษาประวัติความเป็นมาของวังปารุสกวัน ตำหนักจิตรลดา และบริเวณพื้นที่โดยรอบ

ร่องรอยหลักฐานการตกแต่งพื้นที่โดยรอบวังปารุสกวัน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังคงได้รับการอนุรักษ์จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ต้นไม้เดิม สระน้ำ แนวเขื่อนกันดิน ทางเดินโค้งภายในสวน สนามหญ้า เนินดิน หลุมหลบภัย และศาลาริมน้ำรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนมีคุณค่า ทั้งในเชิงประวัติสาสตร์และสุนทรียภาพของพื้นที่โบราณสถานค่ะ

นี่จึงเป็นความเป็นมาของการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้และคงอยู่สืบไปค่ะ ใครที่สนใจ อย่าลืมติดตามข่าวงานรื่นรมย์ชมวังปารุสก์ประจำปีหน้ากันนะคะ เตรียมตัว เตรียมชุดไทยให้พร้อม แล้วแวะมาเที่ยวชมกันค่ะ


ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ Pira Story เพื่อเป็นกำลังใจให้กัน ได้ที่

Pira Story

 วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 17.54 น.

ความคิดเห็น