ทริปนี้ต่อเนื่องจากพังงา นั่งรถหวานเย็นมาถึงสถานีขนส่งจังหวัดตรังก็ทุ่มกว่าแล้ว บรรยากาศที่สถานีขนส่งก็จะเหงาๆ หน่อย

ด้วยความมีน้ำใจของเจ้าถิ่น มารับเราที่นี่ พาไปกินมื้อเย็นที่ร้านเกาะลิบง เราเลือกกินข้าวผัดต้มยำกุ้ง ร้านนี้โรตีก็อร่อย

เจ้าถิ่นพามาส่งที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา เราว่าที่นี่ดีนะใกล้ของกิน อยู่โซนเมืองเก่า ใกล้สถานีรถไฟ ได้ห้องพักริมได้เห็นวิวเมือง 2 ด้าน

หลังจากเก็บกระเป๋าก็ออกมาสำรวจถนนคนเดินหน้าสถานีรถไฟ แต่เราไปถึงเขาเก็บร้านกันเกือบหมดแล้ว ก็เลยเปลี่ยนทิศมาทางหอนาฬิกา ระหว่างทางก็เจออาคารไม้สวยๆ

ไม่ไกลที่พักก็ถึงหอนาฬิกาจังหวัดตรัง หอนาฬิกาประจำจังหวัดตรังเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัด ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ปัจจุบันทางเทศบาลนครตรังได้ปรับปรุงทิวทัศน์บริเวณถนนโดยรอบหอนาฬิกา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความสวยงามของเมืองตรังในยามเย็นได้อีกด้วย

เดินวนรอบๆ แถวๆ นั้นอีกพอสมควรเดินย้อนกลับมากินก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟใกล้ๆ หอนาฬิกา เห็นคนกินเยอะดี ชามใหญ่ยักษ์มาเลย อิ่มมาก

หลังจากอิ่มก็เดินเล่นจน 4 ทุ่ม ก็กลับมานอน รุ่งขึ้นตื่นเช้ามาไปรับตั๋วรถไฟกลับกรุงเทพฯ ก่อนเลย เช้าๆ ที่สถานีรถไฟเงียบมาก

กลับมาที่พักมีขนมกับกาแฟให้กินรองท้อง

ตอนแรกเราเกรงใจเจ้าถิ่นก็เลยบอกว่าจะเดินเที่ยวในเมืองเอง แต่เจ้าถิ่นบอกไม่ต้องเกรงใจจะมารับไปกันตังตามที่บอกไว้ เจ้าถิ่นพามากินมื้อเช้าที่ภูหลวงลูกลม ร้านอาหารกลางทุ่งนา ลมดีมากๆ อาหารที่นี่มีทั้งส่วนที่เป็นฮาลาล กับแบบปกติ

ออกจากภูหลวงลูกลมก็ไปต่อที่ควนตำหนักจันทน์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณถนนป่าไม้ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติควนกันตัง สถานที่นี้ถือกำเนิดชื่อมาจากการเป็นตำหนักเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นบนเนินเขาเตี้ย ๆ (ควน) ในการรับเสด็จรัชการที่ 6 ครั้งเสด็จประพาสเมืองกันตังเมื่อ ปี 2452 เมื่อครั้งยังทรงพระอริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาภายหลังใช้เป็นเรือนรับรองสโมสรข้าราชการ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ควนตำหนักจันทน์ได้ใช้เป็นที่ตั้งทัพของกองกำลังทหารญี่ปุ่น หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกอาคารต่าง ๆ ได้ถูกรื้อถอนจนไม่เหลือร่องรอย ต่อมาได้ใช้พื้นที่นี้ส่วนหนึ่ง สร้างโรงเรียนกันตังพิทยากร ส่วนเนินเขาถูกปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ออกกำลังกายของชาวเมืองกันตัง มีไม้ดอกไม้นานาพันธ์หลายชนิด บนจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองกันตังและแม่น้ำตรังได้อย่างชัดเจน

มาต่อกันที่ท่าเรือกันตัง ในอดีตกันตังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำสำคัญ ปัจจุบันมีรูปปั้นพะยูนทองอยู่ริมน้ำใกล้ๆ กับศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองกันตัง เรามาถึงเที่ยงพอดี มีป้ายหยุดพัก 1 ชั่วโมงก็เลยไม่ได้รอ


ระหว่างทางจากท่าเรือไปสถานีรถไฟกันตัง


ไม่ไกลก็ถึงสถานีรถไฟกันตัง เป็นสถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามันสถานีรถไฟกันตัง เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 ในอดีตใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ถึงท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่ และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้ว ตัวสถานีรถไฟกันตัง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวรูปทรงยังไม่แน่ชัดทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุขยื่นประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่า คงเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรแล้ว บริเวณสถานีมีห้องแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสถานีรถไฟกันตังด้วย

บริเวรณสถานีรถไฟกันตังจะมีร้านกาปฟสถานีรัก บรรยากาศดีเลย สีสด ถ่ายรูปสวยมาก

ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟจะเป็นบ่อน้ำรถไฟ ตั้งแต่ปี 2456 ใช้สำหรับอุปโภค บริโภคในสมัยก่อน

เจ้าถิ่นแนะนำว่าอยากให้ลองนั่งรถไฟจากสถานีกันตังไปลงที่สถานีตรัง แต่เจ้าถิ่นบอกเรายังไม่ได้ไปจุดสำคัญอีก 2 แห่ง ไว้โอกาสหน้าค่อยไปแล้วกัน ออกจากสถานีรถไฟได้นิดเดียวก็ถึงพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นที่ตั้งของสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ “จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง” หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ (ถ้าตรงกับวันหยุดราชการเปิดตามปกติ และหยุดชดเชยในวันต่อไป) เวลา 8.00 -16.30 น. ผู้เข้าชมเป็นคณะที่ต้องการวิทยากรบรรยาย กรุณาแจ้งล่วงหน้าที่ โรงเรียนกันตังพิทยากร โทร. 0 7527 4151-8





จุดสุดท้ายที่กันตังในทริปเร่งด่วนนี้ คือ ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ต้นยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า "สยาม" มีหลักฐานเด่นชัดว่า เมื่อ ปี พ.ศ.2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้เหมือนหนึ่ง "บิดาแห่งยาง" เป็นผู้ที่ได้นำต้นยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระสถล สถานพิทักษ์ เดินทางไปที่ประเทศอินโดเซีย จึงมีโอกาสนำกล้ากลับมาจำนวน ถึง 4 ลัง ด้วยกันพระสถลสถานพิทักษ์ ได้นำมาปลูกไว้ที่บริเวณหน้าบ้านพัก ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง


กลับเข้าเมืองมานั่งจิบการแฟ ชิมขนมที่ร้านทับเที่ยงโอลด์ทาวน์ กาแฟดี และดีงามที่มาพร้อมถั่วตัด กินพร้อมกันมันฟินมาก บรรยากาศร้านดี


เราบอกลากับเจ้าถิ่นเพราะเกรงใจมากแล้ว ต้องขอบคุณสำหรับน้ำใจและมิตรภาพที่มอบให้ ระหว่างทางเดินไปรถเจ้าถิ่นก็เก็บภาพกับ street art ย่านเมืองเก่าก่อน


หลังจากแยกกับเจ้าถิ่นเราก็เริ่มเดินสำรวจเมืองเจออาคารหลายๆ หลังที่น่าสนใจ เก๋ไก๋ไปอีกแบบ


ที่นี่ก็มี street art ซ่อนตัวอยู่หลายจุด เราก็เดินเก็บภาพเท่าที่เวลาจะอำนวย


เดินต่อมาที่วงเวียนพะยูน

วิ่งข้ามถนนมาที่สวนทับเที่ยง ร่มรื่นมาก

วิ่งข้ามมาอีกฝั่งจะเจอต้นศรีตรัง ดอกไม้ประจำเมืองตรังมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวอังกฤษนำเข้ามาปลูกที่ประเทศมาเลเซีย และเชื่อกันว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีนำมาปลูกที่ จ. ตรังเป็นที่แรกของไทย จึงเป็นที่มาของชื่อ "ศรีตรัง"ผลิดอกบานสะพรั่งในฤดูร้อนราวเดือน ก.พ.-พ.ค. ดอกศรีตรังสีม่วงอ่อนจะบานสะพรั่งตามถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะ ถ. กันตัง และทางเลี่ยงเมืองห้วยยอดใน อ. เมืองศรีตรังเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ


หมดเวลาสนุกกลับมารับกระเป๋าที่ฝากไว้ที่โรงแรม เดินไปสถานีรถไฟตรัง หน้าสถานีได้มีโอกาสเก็บภาพตุ๊กตุ๊กหัวกบ เมืองตรังนำเข้า รถตุ๊กตุ๊กหัวกบมาจากญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2509 เพื่อนำมาส่งของสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ต่อมามีการดัดแปลงเป็นรถโดยสาร


ขากลับเราได้รถด่วนขบวนที่ 84 ออกจากตรังเวลา 17:25 มาถึงก็เห็นรถไฟจอดรอแล้ว


ด้านบนขบวนรถไฟก็ประมาณนี้ สะอาด มีที่เก็บของ แต่เราโดนกลุ่มที่นั่งในแถวเดียวกับเรา มา 4 มีตั๋ว 3 แถมของเยอะมากวางเต็มจนเราต้องไปฝากวางอีกแถว


พอรถไฟออกจากสถานีรถไฟตรังเราก็เลือกไปนั่งตู้เสบียง อาหารตู้เสบียงแบบชุด หลังๆ เป็นแค่อาหารอุ่นร้อน มันไม่อร่อยเหมือนตอนที่ทำสดเลย


เรานั่งตู้เสบียงจนถึงสุราษฎร์ธานี แล้วกลับมาที่นั่งก็ปีนขึ้นเตียงนอนเลย รถไฟมาถึงสถานีรถไฟกรุงเทพล่าช้าไป 1 ชั่วโมงนิดๆ

จบทริปนี้ด้วยความรู้สึกหลากหลายทั้งประทับใจ ดีใจที่ได้เจอมิตรภาพและน้ำใจจากเจ้าถิ่นทุกที่ที่ไป ขอบคุณที่เราได้ฝึกความอดทนจากคนที่มา 4 แต่มีตั๋ว 3 ด้วย


ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่ :

เพจ : ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG : prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว



ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันพฤหัสที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 01.52 น.

ความคิดเห็น