ภูสอยดาว เป็น 1 ใน list รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิตสำหรับผม คิดว่าหลาย ๆ คนคงทำ list แบบนี้ไว้เหมือนกัน แล้วค่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ ทำมันให้ได้ตอนยังมีแรงและพอมีเวลา (แม้ไม่มีเงิน) บางคนมีทั้งเงินและเวลาแต่ไม่มีแรง..ก็หมดสิทธิ์นะเออ

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ประกาศเปิดลานสนภูสอยดาวให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปท่องเที่ยวและชมธรรมชาติบนลานสนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562-15 มกราคม 2563 เท่านั้น หลังจากนั้นจะปิดภูเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู ใครที่คิดจะไปรีบวางแผนได้เลย

ทริปที่เหมาะสมควรจะเป็น 3 วัน 2 คืน ว่าแล้วผมและ ผบ.สูงลิ่ว จึงเลือกไปช่วงวันที่ 4-6 ตุลาคม 2562 เพราะเป็นช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มทุ่งทั้ง 100 % ต้องการไปเห็นด้วยตาทั้ง 2 ข้างของตัวเองว่าดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทยเป็นเช่นไร แต่จะดีกว่านี้อีกหากในทริปนี้มีเพื่อนร่วมเดินทางไปกับเราด้วย ดังนั้นจึงลองชวนเพื่อนผ่านในทุกช่องทางการสื่อสาร ชวนกันเป็น 10 ครับ สุดท้ายได้เหยื่อมา 1 ราย คือ เพื่อนบอย เดินทางมาจากเชียงใหม่กันเลยทีเดียว ไม่ได้เจอตัวเป็น ๆ มาเกือบ 10 ปีแล้ว ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทีเดียว ขอบคุณเพื่อนบอย มา ณ โอกาสนี้ด้วย

สำหรับการเดินทางไปภูสอยดาวนั้นมีหลายวิธีซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ (ท่านสามารถหาอ่านตามเน็ตได้) ในที่นี้จะขอนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของการเดินทางง่าย ๆ แบบไม่มีรถส่วนตัว ใครอ่านรีวิวนี้จบสามารถทำตามได้ทันที

ขั้นตอนแรก ให้ติดต่อทางเพจรถรับส่งภูสอยดาวแบบหารเฉลี่ยก่อน ซึ่งมีบริการอยู่หลายเจ้า ครั้งนี้พวกเราใช้บริการจากทีมงาน จ่าเอ๋ (Tel.0835998826, Line:0835998826) บริการดุจญาติสนิทมิตรสหายกันเลยทีเดียว แค่เลือกช่วงที่จะไปเท่านั้น (เขาจะรวมคนให้ และตั้งกลุ่ม Line ให้เราได้ทำความรู้จักกันก่อน) โดยในวันไปรถจะรอรับสมาชิกอยู่ที่ บขส.ใหม่ พิษณุโลก นัดเวลาที่ 04.00 น. พอสมาชิกครบเมื่อไหร่ออกเดินทางทันที โดยจะแวะให้ซื้อเสบียงที่ตลาดป่าแดง (เป็นตลาดสด เทศบาล ฝั่งตรงข้ามมีร้าน 7-11 ขอยืนยันว่าพวกเราจะไม่อดตายบนภูอย่างแน่นอน) และจะถึงจุดบริการนักท่องเที่ยวภูสอยดาว ไม่เกิน 08.00 น. ส่วนขากลับรถจะรอรับสมาชิกอยู่ที่ตีนภู สมาชิกลงมากันครบเมื่อไหร่ออกเดินทางกลับทันที (ปกติจะลงกันมาครบอย่างช้าที่สุดไม่เกินบ่าย 3 โมง แนะนำให้นัดเวลาลงพร้อม ๆ กัน) รถจะไปส่งที่ บขส.ใหม่ พิษณุโลก ที่เดิม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.30 ชั่วโมง ส่วนใครจะลงระหว่างทางสามารถแจ้งพลขับได้เลย ครั้งนี้ จ่าเอ๋ จัดสองแถวเล็กให้พวกเรา สนนราคาอยู่ที่ไป 200 กลับ 200 ต่อคน ซึ่งถือว่าไม่แพงเลยกับระยะทาง 188 กิโลแม้ว ในรถมีผู้ร่วมชะตากรรมทั้งหมด 11 คนถ้วน (เป็นชายจริง 7 หญิงแท้ 4) ไม่น่าเชื่อว่าเจอกันครั้งแรกคุยกันราวกับรู้จักกันมานานนับ 10 ปี หรืออาจเป็นเพราะพวกเราคุยกันอย่างเมามันมาก่อนในกลุ่ม line แล้วนั้นเอง สรุปว่าใครที่ไปคนเดียวจะได้เพื่อนใหม่เพิ่มมาถึง 10 คน กันเลย คุ้มจริง ๆ งานนี้

ขั้นตอนที่สอง เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนแรกแล้ว ให้เรานัดกันในกลุ่ม Line เพื่อจองตั๋วรถไป บขส.ใหม่ พิษณุโลก ในเที่ยวเดียวกันเลย สำหรับผู้ที่เดินทางจากหมอชิตแนะนำว่าไม่ควรเลือกเที่ยวเกิน 22.00 น. ส่วนใครที่เดินทางจากจังหวัดอื่นก็คำนวณเวลากันให้ถึง บขส.ใหม่ พิษณุโลก ไม่เกิน 04.00 น. เป็นใช้ได้ ส่วนขากลับไม่ต้องจองตั๋วล่วงหน้าเพราะเวลากลับจากภูนั้นไม่แน่นอน สามารถไปซื้อตั๋วที่หน้างานได้เลย

ก็ง่าย ๆ แค่นี้เองสำหรับการเดินทางแบบไม่มีรถส่วนตัว ว่าแล้วจะรออะไร เก็บกระเป๋าเลยซิครับ..พี่น้อง

ผมเดินทางจากหมอชิต โดยรถ บขส. มข.1 สายกรุงเทพ-อุทธยานฯ-บ้านด่านลานหอย เวลา 22.00 น. เคลมว่าใช้เวลาเดินทางถึง บขส.ใหม่ พิษณุโลก 5 ชั่วโมง ก็น่าจะถึงตอน 03.00 น. แต่ถึงจะวางแผนไว้อย่างดีแค่ไหนก็ย่อมพบเจออุปสรรคได้อย่างไม่คาดคิดเสมอ รถ บขส.คันนี้วิ่งได้หวานเย็นมาก ประมาณ 75 กิโลเมตร/ชัวโมง หันไปมองเลขไมล์ทีไร..น้ำตาจิไหล..ทุกที เหงื่อเริ่มแตก ความวิตกกังวัลเริ่มมาเยือน แต่ยังมั่นใจว่าจะถึงในไม่เกิน 04.00 น. แต่พอพนักงานต้อนรับแจ้งว่าจะแวะพักที่สิงห์บุรีเป็นเวลา 30 นาที โอ้ว..แม่จ้าว รู้ถึงชะตากรรมตัวเองทันทีว่าไม่ทันแน่ ๆ จึงรีบแจ้งไปยังกลุ่ม Line ให้รอกระผมด้วยนะ คงจะถึงเกิน 04.00 น. เป็นแน่แท้ สรุปผมไปถึง บขส.ใหม่ พิษณุโลก ในเวลา 04.30 น. ช้ากว่าที่เขาเคลมไว้ 1.30 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว พอถึงแล้วก็ขอโทษขอโพยกันไป เพราะสมาชิกเขาไปถึงกันครบหมดแล้วตั้งแต่ 03.30 น. ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้เดินทางไปพร้อมกับสมาชิกท่านอื่น ๆ ในครั้งนี้เพราะเป็นคนเร็วเกินไป อีกทั้งยังขาดประสบการณ์ในการเลือกใช้บริการรถทัวร์อีกด้วย พอติดต่อต่อรถหารเฉลี่ยได้ปุ๊ปก็จองรถทัวร์ปั๊ป ไม่ได้ดูอะไร..เล้ย เห็นมีรอบ 22.00 น. ก็จองทันที ส่วนเพื่อน ๆ เขานัดกันทีหลังโดยเลือกใช้บริการของ เจ๊เกียว เดินทางสะดวกสบายรวดเร็วกันไป ดีนะสมาชิกกลุ่มเราน่ารักกันทุกคน ครั้งนี้ผมเลยรอดมาได้โดยไม่ถูกรุมประชาทัณฑ์ และนี่คือโฉมหน้าสมาชิกผู้ร่วมชะตากรรมในครั้งนี้

รถแวะให้กักตุนเสบียงกรังกันที่ตลาดป่าแดง มีทั้งของสดของแห้ง ฝั่งตรงข้ามมีร้าน 7-11 ก็จัดมาม่า ปลากระป๋อง กันไป และไม่ลืมที่จะซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งไปกินมื้อกลางวันระหว่างเดินขึ้นภูด้วย

และแล้วก็มาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูสอยดาว ยังไม่ทันจะก้าวขาซ้ายลงจากรถ ทันใดนั้นของเหลวจากกระเพราะก็พวยพุ่งออกมาจากปากจำนวนมาก (โชคดียังเซฟไว้ได้ทัน) สาเหตุเนื่องจากระหว่างทางผมดื่มโค้งไปเยอะมาก กอปรกับได้กลิ่นท่อไอเสียที่ตลบเข้าภายในรถ สรุปสมาชิกทั้ง 11 คน รอด 8 สูญเสียมื้อเช้าในกระเพราะไป 3 (ซึ่งเป็นผู้ชายอกสามศอกทั้งนั้น) หลังจากอ๊วกกันจนเป็นที่พอใจแล้ว..ขอนั่งพักดมยาดมตราโป้ยเซียน..แป๊บ เดี๋ยวค่อยไปลงทะเบียนกันต่อ

ที่เห็นด้านขวามือจะเป็นน้ำตกภูสอยดาว เป็นจุด start เดินขึ้นภู แต่ยังก่อนเราต้องไปเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ลงทะเบียน และจ้างลูกหาบกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งซึ่งต้องขับรถเลยไปด้านซ้ายมืออีก 1.5 กิโลเมตร และย้อนกลับมาจุด start นี้อีกครั้งเพื่อเริ่มเดินขึ้นภูกัน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มารถส่วนตัวหรือไม่ได้มารถรับส่งแบบเรา เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้วทางศูนย์จะมีรถอีแต๊กแบบนี้มาส่งยังจุด Start

ขั้นตอนการลงทะเบียน ให้เฉพาะตัวแทนกลุ่มกรอกเอกสารคนเดียวก็พอ (ในแบบฟอร์มจะมีให้กรอกรายละเอียดของลูกทีม) และ จนท.จะเรียกเก็บบัตรประชาชนตัวแทนกลุ่มไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และจะให้ใบเขียวสำหรับให้แจ้งความประสงค์ในการเช่าเต้นท์ เครื่องนอน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ และนำใบเขียวนี้ไปรับของที่ด้านบน ขาดเหลืออะไรสามารถเช่าเพิ่มเติมที่ด้านบนได้ หรือจะไปเช่าทุกอย่างที่ด้านบนเลยก็ได้กรณีที่นักท่องเที่ยวไม่เยอะ แต่ถ้าช่วงเทศกาลนักท่องเที่ยวเยอะของจะไม่พอ ควรจองจากด้านล่างไว้ก่อนดีกว่าเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นรอคิวชั่งสัมภาระที่จะจ้างลูกหาบแบกขึ้นไป ของผมกับ ผบ.สูงสิ่ว ชั่งรวมกันได้ 18 กิโลกรัม (ราคา 30/กิโลกรัม) เสร็จแล้วจ่ายเงินค่าลูกหาบ กับค่ามัดจำขยะ 200 บาท (ขากลับนำขยะลงมาด้วย และรับค่ามัดจำคืน)


ทริปนี้กะเดินตัวปลิวโดยตั้งใจจะแบกเป้ที่มีแค่กล้อง/เลนส์ 2 ตัว/น้ำดื่ม 1.5 ลิตร 1 ขวด/หมูปิ้งและของอื่น ๆ อีกเล็กน้อยขึ้นไปเองเท่านั้น แต่โชคชะตาก็เล่นตลกกับเราอีกครั้ง โดย ผบ.สูงลิ่ว หยิบของลงจากรถไม่หมด (ลืมถุงนอนไว้ 2 ใบ) กระผมในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาได้แต่ทำตาปริบ ๆ และก้มหน้าก้มตาแบกขึ้นไป..เฮ้อ

ดังนั้น ผมจึงไม่อยากให้ทุกท่านผิดพลาดเหมือนกับพวกเรา จึงอยากจะแนะนำให้ท่านจัดกระเป๋า ดังนี้

  • กระเป๋าใส่สัมภาระทั้งหมดสำหรับที่จะให้ลูกหาบแบกขึ้นไป
  • เป้ใส่สัมภาระส่วนตัว เช่น น้ำดื่ม อาหารกลางวันระหว่างทาง ขนม กล้อง เลนส์ เสื้อกันฝน ยารักษาโรค เป็นต้น สำหรับแบกขึ้นไปเอง
  • ส่วนใครที่อยากจะเปลี่ยนชุดก่อนเดินทางกลับบ้าน ก็สามารถแยกชุดใส่กระเป๋าใบเล็ก ฝากไว้ที่รถรับส่งได้เลย

ทำตามนี้แล้วชีวิตคุณจะง่ายขึ้นเยอะ..

และเมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มออกเดินทางกันในเวลา 09.30 น. โดยไม่ลืมที่จะถ่ายภาพที่จุดเริ่มต้นเป็นที่ระลึกก่อน

ระยะทางก็ไม่ไกลเท่าไหร่ แค่ 6.5 กิโลเมตรแค่นั้นเอง นี่ยังไม่รวมที่ต้องเดินไปจุดตั้งแค้มป์อีก 500 เมตร นะ

ทางเดินช่วงแรกจะเดินผ่านลัดเลาะไปตามน้ำตกภูสอยดาวทั้ง 5 ชั้น ที่แต่ละชั้นมีชื่อที่ไพเราะมาก ไม่ว่าจะเป็นภูสอยดาว สกาวเดือน เหมือนฝัน วรรณิการ์ และสุภาภรณ์ และในแต่ละชั้นมีเส้นทางเดินให้ลัดเลาะชื่นชมได้ครบทุกแห่ง มันช่างสวยงามจนถ่วงเวลาพวกเราไปได้มากโขทีเดียว

ช่วงที่ชันมาก ๆ จะมีบันไดเหล็กให้ปีนป่ายเป็นระยะ ๆ แต่มีบางจุดที่ชำรุดแล้ว ต้องระวังกันด้วย

ผบ.ลูงลิ่ว ยังฟิตอยู่ ก็ถ่ายรูปวนกันไป


นี่มันป่าดึก ดำ ดึ๋ย เอ้ย..ดึกดำบรรพ์ ชัด ๆ

สำหรับผม แค่ได้เดินไปตามเส้นทางเดินนี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว ใครที่รู้ว่าตัวเองกำลังแบตหมด (หมายถึง เบื่อน่าย ท้อแท้ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ไม่อยากจะทำอะไร) แนะนำให้เดินเข้าป่าครับ อย่างน้อยก็ไม่ได้พบเจอคน..ใจร้ายอย่างเธอ ..ไม่ใช่แล้ว หมายถึงให้ท่านพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติสักพักหนึ่ง ปล่อยวางกับเรื่องราวต่างๆ ที่กวนใจ ดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ แล้วท่านจะเข้าใจว่า ธรรมชาติบำบัด เป็นเช่นไร

เดินมาต่างนานเพิ่งผ่านมา 1 กิโลเองหรือนี่

เพลินเพลินกันจนมาถึงน้ำตกชั้นที่ 5 นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ขึ้นภูจะมาสิ้นสุดที่จุดนี้ เพราะหลุดจากนี้ไปจะเป็นเนินวัดใจทั้ง 5 แล้ว

เริ่มจากเนินแรกเลย คือ เนินส่งญาติ เป็นทางเดินขึ้นเขาชันพอควร มีบันไดเหล็กบันไดไม้ และไม่มีบันได ระยะทางประมาณ 650 เมตร หากใครท้อขอให้หยุดที่จุดนี้ เพราะเดินขึ้นไปอาจจะไม่ไหว


จุดนี้จะพบดอกไม้ป่าตามเส้นทางเดินเป็นระยะ ทำให้ผมได้เริ่มกลับมาเจียมตัวอีกครั้ง เพราะไม่รู้จักเลยสักดอก




เนินปราบเซียน ระยะทางประมาณ 780 เมตร ลักษณะเป็นทางสูงชัน ถือเป็นเกือบครึ่งทางของทางเดินทั้งหมด เพราะมีระยะทางจากจุดเริ่มต้น 3,000 เมตร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักพักกลางวันกันที่จุดนี้

เจอไม้งามระหว่างทางเป็นต้องจอดทุกครั้ง ไม่รู้จักชื่ออีกเช่นเคย


อีก 4 โล เท่านั้น พี่น้อง เดิมมาครึ่งวันแล้ว



เนินป่าก่อ เป็นช่วงทางเดินที่ไม่ชันมาก มองไปรอบ ๆ จะเต็มไปด้วย "ต้นก่อ" หรือ "ต้นโอ๊ก" ตอนเดินผ่านเนินปราบเซียนยังไม่หิว แต่ตอนนี้หิวแล้วจึงคว้าข้าวเหนียวหมูปิ้งมากินกันในบริเวณนี้

พักกินข้าวเหนียวหมูปิ้งแป๊ป พลันก็มีเสียงโทรศัพท์ในกระเป๋าดังตึ้ง ๆ บ่งบอกให้รู้ว่าตรงนี้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แรงด้วย เพื่อนบอย ถึงกับวีดีโอคอล กันเลย

กินอิ่มแล้วก็เหลือบไปเห็นลูกโอ๊กตัวเป็น ๆ ล่วงหล่นอยู่เต็มโคนต้น เลยจับมาเป็นแบบซะหน่อย หล่อ..เชียว

เจอสิ่งสวย ๆ งาม ๆ อีกแล้ว ก็จัดสิครับ

ระหว่างที่ถ่ายรูปเล่นกันอย่างเพลิดเพลินนั้น ก็พบว่าลูกหาบที่แบกสัมภาระของเรา ได้แซงพวกเราไปในจุดนี้ ทั้งที่ขึ้นมาทีหลังแถมแบกของหนักอีก 30 กิโล ไม่เป็นไรปล่อยพี่เขาไปก่อนเดี๋ยวเราก็ไปทันเขาบนภูนั่นแหล่ะ

พักเสร็จก็ได้เวลาไปกันต่อ เหลืออีก 3 โลเอง

เนินเสือโคร่ง มีระยะทางสั้น ๆ เพียง 200 เมตร เท่านั้น ชื่อเนินมาจาก "ต้นกำลังเสือโคร่ง" ตอนนี้บรรยากาศเริ่มมาคุมาก จึงต้องรีบเก็บกล้องและคว้าเสื้อกันฝนมาใส่ในทันใด (ใส่ปุ๊บแขนเสื้อหลุดไปทั้งแขน แม่ม..อยากจะกลับไปเผาร้าน) และสายฝนก็โปรยปรายลงมาตก ๆ หยุด ๆ ตลอดเส้นทางจนถึงจุดตั้งแค้มป์ โชคดีที่ยังตกไม่แรงมาก เนินนี้ผมเลยไม่ได้รูปเก็บไว้เชยชม

หลุดเนินเสือโคร่งมา อารมณ์..ก็ถูกกระชากอย่างแรงกับภาพวิวตรงหน้าที่เป็นเนินโล่งและมองไปไกล ๆ เห็นยอดเขาสูงปี๊ดอยู่ตรงหน้า ช่างแตกต่างกับตลอดเส้นทางเดินที่ผ่าน ที่ทั้ง 2 ข้างทางเป็นป่าที่มีแต่ต้นไม้สูงใหญ่

เท่าที่ดูรีวิวภูสอยดาวในอินเตอร์เน็ตมาก็พอจะรู้ว่า พอผ่านเนินเสือโคร่งมาก็จะเป็นเนินมรณะซึ่งเป็นเนินสุดท้ายแล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นภาพมุมนี้ในรีวิวใดมาก่อน บอกตามตรงว่าไม่ได้สนใจเลยว่าไอ้ยอดสูง ๆ (ด้านบนซ้าย) นั้นคืออะไร ในใจคิดว่าไม่น่าจะใช่นะ คงมีอีกทางมากกว่า จนกระทั้งได้ยินเสียง ผบ.สูงลิ่ว ตะโกนบอกว่านั่นไงเห็นมีคนเดินอยู่บนนั้นด้วย นั่นแหล่ะจึงรู้ชะตากรรมตัวเองทันที และนี่ก็คือ เนินมรณะ อันลือเลื่องนั้นเอง เป็นช่วงสุดท้ายก่อนถึงลานสน มีระยะทางประมาณ 1,410 เมตร เป็นช่วงที่ชันที่สุดของเส้นทางภูสอยดาว จะสูงไปไหนเนี่ยะ เอาวะ..ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อมแล้ว (ได้แต่คิดในใจ..แล้วกั้นใจแล้วไปต่อ)


ถึงเส้นทางจะสูงชัน แต่ก็มีวิวภูเขาอันสวยงามให้ชมพอได้ลืมความเหนื่อยกันไปได้บ้าง

ใกล้ถึงยอดกันแล้ว สู้ว้อย..

และแล้วก็กระเสือกกระสนพาสังขาลอันร่วงโรยของตัวเองมาถึงลานสนจนได้ ในเวลา 16.00 น. ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 6.30 ชั่วโมง ในขณะที่เวลามาตรฐานเขาใช้กันแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียดจนเกินไปเพราะมีการแวะถ่ายรูปตลอดเส้นทาง และจากลานสนต้องเดินไปจุดตั้งแค้มป์อีก 500 เมตร รวมทั้งหมดก็ 7 กิโลเมตร พอดี

ถึงจุดตั้งแค้มป์ก็จัดแจงหาทำเลกางเต้นท์กันท่ามกลางสายฝนที่ยังโปรยปรายอยู่ เลือกพื้นที่ที่เป็นสันดาน เอ้ย..สันดอน เอาที่เรียบ ๆ และมีหญ้าด้วยนะ เฟอร์เฟค เสร็จแล้วก็ไปเช่ากระป๋อง (10 บาท/คืน) กับขันน้ำ (10 บาท/คืน) สำหรับไว้ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ

เวลา 17.30 น. ฝนหยุดตกแล้ว และท้องฟ้าก็เริ่มมืด พวกเราจึงเริ่มลงมือทำมื้อเย็นกินด้วยความหิวโหย โดยตั้งใจจะหุงข้าวสวยกินเป็นมื้อแรก แต่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคนิดหน่อยจึงได้ข้าวต้มมาแทนครับ..พี่น้อง กินกับหมึกเค็ม ปลาหวาน และผัดกระเพราไข่เยี่ยวม้า (ทำเอง) อร่อยจริง ๆ ขอบอก อ้อ..มีเพื่อนบ้านนำหมูย่างกับไก่ดำย่างมาแบ่งปันให้ด้วย (ที่แรกนึกว่ามาเล่นมุกเอาไก่ไหม้มาให้กิน)


หลังจากอิ่มหนำสำราญ ก็ถึงเวลาอาบน้ำชำระร่างกายกันแล้ว ตอนนี้อากาศเริ่มหนาวแล้วหากปล่อยให้เนิ่นนานกว่านี้คงไม่ดีแน่ ว่าแล้วจึงรวบรวมความกล้าทั้งหมดที่มีอยู่ เอื้อมมือขวาไปคว้ากระป๋องกับขันน้ำแล้วเดินก้มหน้าไปตักน้ำในลำธาร (อยู่ด้านหลังห้องน้ำ) เข้าไปในห้องน้ำทันที และต้องสวดมนต์ทำใจกันอยู่นานกว่าจะราดขันแรกลงไปสัมผัสกับผิวกายอันบอบบางของเราได้ สัมผัสแรกที่ได้รับคือ..เขร้ !!! นี่มันน้ำแข็งชัด ๆ สั่นสะท้านไปทั่วทั้งปฐพี เอาว่ะ..ตามทฤษฏี ขันต่อไปจะต้องอุ่นขึ้นอย่างแน่นอน แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะทุกขันที่ราดลงไปนั้นความรู้สึกมันไม่ได้แตกต่างจากขันแรกเลย ตัวก็ออกจะชา ๆ นิดนึง ต้องกลั้นใจอาบกันไปจนเสร็จ พลางคิดไว้ในใจว่าพรุ่งนี้..กรูไม่อาบเด็ดขาด ครั้งนี้ผมใช้น้ำไป 1 กระป๋องถ้วน

ตกกลางคืนก็ออกมารอถ่ายทางช้างเผือกกัน ซึ่งช่วงนี้จะเกิดขึ้นระหว่างเวลา 20.30-21.30 น. แต่คืนนี้ฟ้าดันปิดครับ ปิดสนิทมองไม่เห็นดาวสักดวง แม้แต่พระจันทร์ยังเบลอเหมือนใส่ซอฟเลนส์ คืนนี้ไม่เจอไม่เป็นไรพรุ่งนี้ยังมีให้แก้ตัวอีก 1 คืน

รุ่งเช้าอีกวันเราเดินไปชมพระอาทิตย์ขึ้นกันที่จุดชมพระอาทิตย์ตก งง..กันล่ะซิ สาเหตุมาจากเพื่อนบอย มั่นใจมากว่าจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นเดินไปทางนี้แหล่ะ..อืมมมม

ไหน ๆ ก็มาแล้ว ก็ถ่ายรูปเล่นวนไป จะสังเกตเห็นว่าดอกหงอนนาคยังไม่บาน


หลังจากเดินถ่ายรูปเล่นกันต่อสักพัก ก็กลับมากินข้าวต้มที่เหลือจากเมื่อคืนเป็นมือเช้า อร่อยมิใช่เล่น สาย ๆ ได้เวลาไปตะลุยทุ่งดอกหงอนนาคกันแล้ว ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประวัติของดอกหงอนนาคกันสักหน่อยดีกว่า “ดอกหงอนนาค” มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หญ้าหงอนเงือก หรือน้ำค้างกลางเที่ยง เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ออกดอกในฤดูฝน ดอกจะมีทั้งสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก ยามเช้าดอกหงอนนาคจะหุบดอก และจะบานเมื่อมีแสงแดด (บานเต็มที่ประมาณ 10.00 น.) ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่ เป็นที่มาของชื่อน้ำค้างกลางเที่ยง

เริ่มออกเดินไปทางด้านหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ประมาณ 1 กิโลเมตร จะผ่านจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น (ของจริง) เดินถัดไปอีกนิดจะได้พบกับหลักแบ่งเขตไทยลาว ถือว่าไปครั้งเดียวได้เที่ยว 2 ประเทศ กันเลย

ว่าแล้วก็คว้ากาแฟมาต้มกันตรงนี้ซะเลย นั่งจิบไปชมบรรยากาศไป ฟินจัด ปลัดไม่ได้บอก กรูนี่แหล่ะบอก


จิบกาแฟเสร็จแล้วไปเพลิดเพลินกับ ทุ่งดอกหงอนนาคต่อ



ในทุ่งดอกหงอนนาคก็จะมี ดอกไม้ประเภทอื่นแจมอยู่เป็นระยะ ๆ

มี Portrait เป็นระยะ




ะหว่างทางมีหมอกลอยมาเป็นช่วง ๆ อากาศเย็นสบายเดินไม่รู้สึกว่าเหนื่อยหรือร้อน




เดินลัดเลาะไปตามหน้าผาแล้ววนกลับมาที่เต้นท์ทำอาหารกลางวันกินกันง่าย ๆ มาม่า ปลากระป๋อง







ช่วงบ่ายเดินไปชมน้ำตกสายทิพย์ในวันที่แล้งน้ำ


ตกค่ำเหล่าสมาชิกก็มาล้อมกันตั้งวงเหล้า..เอ้ย วงชาบู กินกันอย่างสนุกสนาน ชุดละ 399 บาท (สามารถสั่งไว้ตั้งแต่ตอนลงทะเบียนหรือจะขึ้นมาสั่งด้านบนก็ได้)


ตกกลางคืนเหล่าบรรดาช่างภาพก็ออกมารอถ่ายทางช้างเผือกกันอีกครั้ง แต่สถานการณ์เหมือนกับคืนแรกไม่มีผิดเพี้ยน ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วรอถ่ายดาวธรรมดาก็ได้วะ..นั่งคุยกันไป สูดควันรอบกองไฟกันไป จนเวลาล่วงเลยไปจน 23.00 น. ยังไม่มีทีท่าว่าฟ้าจะเปิด พวกเราจึงขอบายและแยกย้ายกันไปนอน โดยไม่ลืมนัดเดินทางลงจากภูพร้อมกันในเวลา 09.00 น.


เช้าวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ พวกเราก็ทุบหม้อข้าว..ไม่ใช่สิ จัดการกับเสบียงที่เหลืออยู่ ส่วนที่เหลือเราก็นำไปบริจาคให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ และเตรียมเก็บข้าวเก็บของ เคลียร์พื้นที่ให้สะอาด นำสัมภาระและถุงขยะไปทำเรื่องให้ลูกหาบแบกลงเหมือนเดิมแต่ครั้งนี้น้ำหนักที่ได้คือ 20 กิโลกรัม (แอบงงนิดนึง..ว่ามันหนักกว่าตอนขาขึ้นได้อย่างไรหว่า ?) เสร็จแล้วก็ได้กฤกษ์ออกเดินทางกันในเวลา 09.00 น. เดินถึงป้ายผู้พิชิตภูสอยดาวก็แวะถ่ายรูปซ่อมกันซะหน่อยเนื่องจากตอนขามาฝนตกเลยไม่ได้ถ่ายกัน









เดินลงกันแบบม้วนเดียวเกือบจบ โดยมีการหยุดพักระหว่างทางแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ถึงตีนภูในเวลา 12.30 น. ใช้เวลาเดินลงเพียง 3.30 ชั่วโมง สมาชิกบางท่านลงมาถึงก่อนก็เล่นน้ำตกรอ กันไป บ้างก็ไปอาบน้ำรอ หรือกินข้าวรอเพื่อน ๆ ที่ยังลงมาไม่ถึง เมื่อสมาชิกลงมากันครบแล้ว ก็ออกเดินทางกลับกันในเวลา 14.30 น. ถึง บขส.ใหม่ พิษณุโลก โดยสวัสดิภาพในเวลา 17.00 น. และเดินหารถกลับหมอชิตในทันทีโดยต้องการเลือกรอบกลับที่เร็วที่สุดจนมาได้ที่เชิดชัยทัวร์ รถออกเวลา 17.45 น. ถึงหมอชิตโดยสวัสดิภาพในเวลา 24.00 น.


สรุปความประทับใจในการเดินทางครั้งนี้

ทริปนี้จะเรียกว่าทริปขาลากก็คงไม่ผิดนัก เพราะถือว่าหนักสุดและไกลสุดสำหรับตัวเองแล้วกับระดับความสูงที่ 1,633 เมตร จากระดับน้ำเบาดาล เอ้ย..จากระดับน้ำทะเล เอ้ย..อ่ะถูกแล้ว นี่ยังดีนะที่ยอด 2,102 นั้นยังไม่เปิดให้พิชิต (เปิดระหว่าง พ.ย.-ม.ค.) ไม่งั้นคงได้หนักกว่านี้อีก 2 เท่า

รู้ทั้งรู้นะว่ามันจะลำบากลำบนแค่ไหน เราก็ยังยินดีที่จะไป เพราะเสน่ห์ของมันอยู่ที่การเดินทางเพื่อพิชิตอุปสรรคนั้น ถ้าคนที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าเราจะได้อะไรระหว่างการเดินทาง และรางวัลแห่งความสำเร็จนั้นคืออะไร อธิบายเป็นคำพูดนับหมื่นล้านคำก็ไม่เท่ากับไปเห็นด้วยตาตนเองหรอก..จริงมั้ย ดังคำกล่าวที่ว่าจุดหมายปลายทางนั้นไม่ใช่สถานที่ใดที่หนึ่ง หากแต่เป็นการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองใหม่ต่างหาก โลกเปรียบเสมือนหนังสือเล่มหนึ่ง คนที่ไม่เคยออกเดินทางก็เหมือนอ่านหนังสือเพียงหน้าเดียว และการเดินทางก็ทำให้คนมีความเจียมตัว เพราะจะทำให้คุณได้พบว่าที่ที่คุณอยู่เป็นเพียงสถานที่เล็ก ๆ บนโลกใบนี้เท่านั้น ปล.กรูไม่ได้กล่าว ไม่รู้ใครกล่าวเหมือนกัน

สรุปค่าเสียหายในครั้งนี้

- ค่ารถ บขส.หมอชิต-บขส.ใหม่พิษณุโลก ไป-กลับ = 621 บาท/คน

- ค่ารถหารเฉลี่ย บขส.ใหม่พิษณุโลก-ภูสอยดาว ไป-กลับ = 400 บาท/คน

- ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน = 40 บาท/คน

- ค่าลูกหาบ กก.ละ 30 บาท ไป-กลับ 38 กก. รวม 1,140 บาท อันนี้หาร 2 คน = 570 บาท/คน

- ค่ากางเต้นท์ 30 บาท/คืน รวม 2 คืน = 60 บาท/คน

- ค่าเช่ากระป๋องและขันน้ำ อย่างละ 10 บาท = 20 บาท/คน

- ค่าอาหารที่เตรียมขึ้นไป = 300 บาท/คน

- ค่าอาหารระหว่างการเดินทาง ไป-กลับ = 120 บาท/คน

รวมทั้งสิ้น 2,131 บาท/คน

ข้อควรรู้เกี่ยวกับภูสอยดาว

1. ด้านบนไม่มีฟ้าใช้ ควรเตรียมเพาเวอร์แบงค์ไปให้เพียงพอ ด้านบนมีให้เช่าเต้นท์และเครื่องนอน อุปกรณ์ประกอบอาหารอาทิ หม้อ เตาถ่าน เตาแก๊ส (ถ้าเป็นช่วงเทศกาลอาจมีไม่เพียงพอ) และมีห้องน้ำไว้บริการ แต่ต้องเช่าถังน้ำเพื่อไปตักน้ำจากลำธารมาใช้เอง สัญญาณโทรศัพท์มีบางจุด ไม่แน่นอน แล้วแต่ดวง คือถ้าระหว่างเดินอยู่แล้วมีเสียงจากโทรศัพท์ที่อยู่ในกระเป๋าดังตึ้ง ๆ ละก็แปลว่าตรงนั้นมีสัญญาณแบบอ่อน ๆ พอเล่นได้ (ais กับ true move พอได้แต่ dtac นั้นตายสนิทศิษย์หามลง) ไม่มีร้านอาหารขายเหมือนภูกระดึง ต้องจ้างลูกหาบขนอาหารขึ้นไปทำกินเอง

2. ระหว่างเดินขึ้นภูต้องเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอ แนะนำว่าแค่ 1.5 ลิตร/คน ก็เพียงพอ ช่วงฤดูฝนด้านบนมีน้ำดื่มใส่แท็งก์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ส่วนฤดูแล้งน้ำหจะมด ท่านต้องเตรียมไปให้เพียงพอกับจำนวนวันที่จะอยู่บนนั้น หรือใครสะดวกใจก็สามารถใช้น้ำในลำธารมาต้มกินได้

3. บนภูมีโอกาสที่ฝนจะตกได้ตลอดเวลา เสื้อกันฝนเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ต้องพกติดตัวไว้ตลอด เสื้อผ้าหรือของที่เปียกไม่ได้ควรจัดเตรียมใส่ถุงพลาสติกไว้อีกชั้น เต้นท์ต้องมั่นใจว่ากันฝนได้ชัวร์

4. อากาศบนลานสนมีลักษณะหนาวเย็น เพราะฉะนั้นอย่าประมาทควรเตียมถุงนอนและอุปกรณ์กันหนาวไปให้พร้อม

5. ยาสามัญประจำบ้าน พาราเซ็ต ยาแก้แพ้ ยากันแมลงควรจัดเตรียมไปให้พร้อม บนภูไม่มีทากครับ มีแต่เจ้า คุ่น ตัวร้ายที่ร้ายกว่ายุงหลายเท่า ยุงกัดแค่คัน ๆ แต่ คุ่นกัดมันทั้งคันและทิ้งรอยจุดเลือดไว้ทุกครั้ง หลายวันกว่าจะหาย ผบ.สูงลิ่ว โดนกัดทั้ง 2 ขา นับสิริรวมกันได้ 16 จุด กลับมาบ้านพบว่าจุดที่โดนกัดขยายกลายเป็นจ้ำแดง (ความคันยังคงอยู่) ขานี้ลายพร้อย ใส่ขาสั้นไม่ได้เป็นสัปดาห์ นี่ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อนนึกว่าเป็นเอดส์ ส่วนตัวกระผมนั้นหนังหนาเลยโดนกัดไป 3 จุด เกิดมาเพิ่งเคยโดนคุ่นกัดก็คราวนี้ ถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าเลยทีเดียว

6. ไฟฉาย เป็นสิ่งจำเป็น ให้ดีควรเป็นแบบคาดศีรษะ

7. รองเท้า ควรเลือกที่มีดอกยางที่หนา ลึก จะได้ไม่ลื่น พวกลูกหาบใส่สตั๊ดดอยคู่ละ 80 บาท เดินกันสบาย

8. การเดินป่าเป็นระยะเวลานาน ๆ นั้นควรใช้ไม้เท้า ซึ่งจะช่วยในการกระจายน้ำหนัก แทนที่จะให้น้ำหนักลงที่ขาย่างเดียว การใช้ไม้เท้าเดินป่าจะช่วยกระจายน้ำหนักให้ไปลงที่ส่วนแขนด้วย ลดภาระที่จะไปตกลงที่ส่วนขา เข่า ข้อเท้า

9. ยอดภูสอยดาวมีความสูง 2,102 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีระยะทางจากลานบนภูสอยดาวไปยอดสูงสุดประมาณ 3 กิโลเมตร แต่มีสภาพเส้นทางที่สูงชันและสมบุกสมบันมาก ต้องใช้ระยะทางเดินไป-กลับ ร่วม ๆ วัน ประมาณ 7-8 ชั่วโมง ใครอยากพิชิตต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนตอนลงทะเบียน และต้องมีร่างกายแข็งแรง

สถานที่เที่ยวบนภูสอยดาว

1. น้ำตกสายทิพย์

2. ทุ่งดอกหงอนนาค “ดอกหงอนนาค” มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หญ้าหงอนเงือก หรือน้ำค้างกลางเที่ยง เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ออกดอกในฤดูฝน ดอกจะมีทั้งสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก ยามเช้าดอกหงอนนาคจะหุบดอก และจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่ เป็นที่มาของชื่อน้ำค้างกลางเที่ยง

3. ลานสนสามใบขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย และ สปป.ลาว

4. หลักเขตชายแดนไทย-ลาว หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กิโลเมตร

5. เส้นทางเดินชมธรรมชาติรอบวงกลมระยะทาง 2.28 กิโลเมตร ชมความงามของสนสามใบสูงตระหง่าน ดอกไม้ป่าแปลกตา จุดชมวิวเลาะเลียบผา

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 09 5629 9528, 095-024-7633, 091-024-7633 ตั้งแต่เวลา 08:00-16:30

สุดท้ายขอกล่าวขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทางที่น่ารักทุกท่าน มิตรภาพมอบความงดงามแก่ชีวิต ดุจเดียวกับที่ดอกไม้มอบให้แก่โลก ขอบคุณสำหรับมิตรภาพของพวกเรา

ต๊ะต่อนยอน

 วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 21.51 น.

ความคิดเห็น