17 ตุลาคม 2562 นี้เข้าหน้าหนาว . . .

ไม่จริง ! ! ! กรมอุตุฯคะ คุณหลอกดาว กรี๊ดดดดดดด
เปิดน้ำเย็นสุด มันยังร้อนเลยค่ะคุณ อิชั้นจะไม่ทนอีกต่อไป หึ่ยยย
ไหนๆก็ไม่หนาวแล้ว ขอเสี่ยงดวงลองย้ายที่นอนไปพักที่ "หมู่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี" เลยละกัน

ช่วงเวลาที่เราเลือกเดินทาง : 8-9 พฤษจิกายน 2019 (ศ ส)

อุณหภูมิ : สูงสุด 24 ํ / ต่ำสุด 16 ํ

จุดหมายปลายทาง : หมู่บ้านอีต่อง เหมืองปิล๊อก จ.กาญจนบุรี

Tips ก่อนออกเดินทาง . . .

1. สภาพถนน : ทางขึ้นหมู่บ้านอีต่องช่วงแรกเป็นทางลาดยาง สภาพดีขับสบายเหมือนปกติ แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งก่อนถึงตัวหมู่บ้านประมาณ 24km (อ้างอิงตาม google map) ถนนจะเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อหนักมาก แล้วมีเหลือเลนเดียวด้วยเนื่องจากถนนขาด (ระยะทางประมาณ 10km หลังจากนั้นทางก็กลับมาดีปกติ) สำหรับคนที่นำรถส่วนตัวไป ควรเช็คสภาพรถกันดีๆ โดยเฉพาะเบรค ลมยาง และช่วงล่าง

2. ประเภทรถ : ขอคอนเฟิร์มว่ารถเก๋งเล็กๆอย่าง Eco-Car ก็ไปได้จ้ะ อย่าไปกลัว!! น้องขับได้สบายมาก แต่อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงถนนหลุมบ่อ ต้องหลบแล้วใช้ความเร็วต่ำกันสักนิด (หน้าฝนอาจจะแย่กว่านี้ ขับอย่างระมัดระวังนะจ๊ะ)

3. สภาพอากาศ : ช่วงที่เราไปคือหนาว หนาวจริงๆ หนาวสมใจเลยทีเดียว ที่สำคัญคือลมแรง ในช่วงหัวค่ำไปจนถึงเช้ามืด ลมจะแรงมาก ใครขี้หนาวก็เตรียมเสื้อหนาวกันไปเยอะๆเด้อ

4. การเดินทาง : เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 323 เส้นเดียวยาวๆ เข้าสู่ อ.ทองผาภูมิ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 6 ชม.

5. ปั๊มน้ำมัน : เส้นทางจากตัวอำเภอทองผาภูมิจนถึงขึ้นไปยังหมู่บ้านจะไม่มีปั๊มน้ำมันเลย มีแต่ปั๊มหลอดแก้วเล็กๆของรถมอเตอร์ไซด์ เพราะฉะนั้นเติมให้เต็มก่อนขึ้นนะจ๊ะ (ปั๊มสุดท้าย คือปตท.ทองผาภูมิ ถ้ามาจากทางไทรโยค ปั๊มจะอยู่ทางด้านขวามือ)

6. สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง : เนินช้างศึก, เขาช้างเผือก, เนินเสาธง, ช่องมิตรภาพไทย-เมียนมาร์, น้ำตกจ๊อกกระดิ่น, อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ, เขื่อนวชิราลงการณ์ ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องไปไหนเลย ทุกที่นี้อยู่ในเส้นทางเดียวกันหมด

DAY 1 กรุงเทพฯ-ทองผาภูมิ

เนื่องจาก...เรากับแฟนไม่อยากแหกตาตื่นตั้งแต่เช้ามืด (ไปดูรีวิวอื่นมา กรณีเดินทางด้วยรถสาธารณะ) ก็เลยเลือกที่จะใช้วิธีขับรถส่วนตัวไปแทน ใครไปวิธีนี้...แนะนำให้ดู map เผื่อเวลาด้วย ไม่ควรไปถึงทองผาภูมิเกินบ่าย 3 โมง เพราะตอนขับรถขึ้นหมู่บ้านจะอันตรายมาก เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ 9 โมงเช้า รถจะติดช่วงออกไปทางนครปฐม (เดินทางเช้าวันธรรมดาต้องทำใจเพราะเป็นวันทำงาน) แต่หลังจากพ้นมาก็วิ่งฉิวๆตรงดิ่งไปทองผาภูมิ

ตอนแรกที่อยากมาเที่ยวที่นี่เพราะคิดว่ากาญจนบุรีอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ คิดผิดจ้าาา ยิ่งอ.ทองผาภูมิแล้วยิ่งไกลเข้าไปใหญ่ อยู่ตะวันตกสุดๆจนติดกับพม่า นั่งรถกันจนตูดบานขาแข็งทั้งคนขับคนนั่งกันไปเลย555

มาถึงช่วงไฮไลท์ 399 โค้ง...เพื่อพิชิตหมู่บ้านอีต่อง เหมืองปิล๊อกอันโด่งดัง บอกตรงๆเลยนะเธอ จากประสบการณ์ของคนที่เพิ่งเที่ยวบ่อเกลือน่านมา เส้นทางนี้ขี้ๆมาก ไม่ได้เสี้ยวนึงของเส้นภูเขาทางเหนือเลยจ้า ใครเพิ่งฝึกขับรถขึ้นเขา เส้นนี้เป็นสนามทดสอบระดับอนุบาลได้ดีเลย

ข้อควรระวังอยู่ตรงที่สภาพถนน ช่วง 24 km ก่อนถึงตัวหมูบ้าน จะชำรุด ขาด และเป็นหลุมบ่อ ถ้าเป็นรถเก๋งก็ขับช้าๆ คอยหลบเบาๆเหมือนเล่นเกมส์ ถ้าเป็น 4WD นี่สบายมั่กๆ ลุยมันไปเลยลู้กกก!! ถือว่าเราโชคดีมากที่มาช่วงฝนไม่ตก ไม่งั้นอาจจะขลุกขลักเละเทะกว่านี้แน่ๆ

มาถึงแล้ววว...เวลาถึงคือ 15.00 น. หลังใช้เวลาจากตีนเขาขึ้นมาถึงหมู่บ้านชม.กว่า ก็จะได้พักซะที

ก้าวเท้าออกมาจากรถ ลมปะทะแก้มเบาๆ เหยยย...อากาศเย็นแล้ว เย็นมันตั้งแต่บ่าย 3 ดูอุณหภูมิตอนนั้นคือ 23 องศา ดีใจโว้ยยย นึกว่าจะไม่หนาวซะแล้ว (เคยเห็นคนรีวิวบ่นว่าไม่หนาวก็มี)

เราสองคนพักกันที่ Pilok Hill House แบบบ้าน Loft (ที่พักจะอยู่ติดเชิงเขา) เลือกที่นี่เพราะเป็นที่พักใหม่ สะอาด สะดวกสบาย บรรยากาศดี มี Wi-Fi, น้ำอุ่นและที่จอดรถ (ไม่ได้ค่าโฆษณาใดๆทั้งสิ้น555 ถ้าพี่เจ้าของผ่านมาเห็นรบกวนโปรดช่วยน้องแชร์ เอิ้กๆ) ที่สำคัญคือ...เงียบสงบเพราะอยู่ท้ายหมู่บ้าน ที่พักอื่นจะอยู่ใกล้ตลาด เราว่ามันค่อนข้างจอแจ และมีกลิ่นอาหาร (ใกล้ร้านขายข้าว)

ห้องของเรามีระเบียงยื่นออกไปด้านนอกจะเห็นวิวภูเขาไกลๆ ไม่ได้สวยมากแต่บรรยากาศดีโคตรๆ เพราะอยู่ในจุดสูงสุดของหมู่บ้าน ลมเย็นผ่านระเบียงตลอด

ที่พักส่วนใหญ่ที่นี่ไม่ติดแอร์นะคะ เพราะเขาเคลมว่าอากาศเย็นตลอดทั้งปี อีนี่ขอคอนเฟิร์มว่าเย็นจริงๆ อาจจะเป็นเพราะเข้าหน้าหนาวด้วยมั้ง โดยเฉพาะพักบ้านปูนนี่พื้นเย็นเจี๊ยบ บวกกับลมตอนกลางคืนที่แรงมากๆ แรงจนนึกว่าลมฝนอ่า ไม่ต้องกลัวว่าจะร้อนเลย

เก็บของ ตากลมพักผ่อนสักพักก็ได้เวลาออกไปเที่ยวรอบหมู่บ้าน . . .

ตลาดอีต่อง . . .

หมู่บ้านอีต่องมีขนาดเล็กถึงเล็กมาก สามารถเดินเที่ยวจนครบได้ภายใน 15 นาที รอบหมู่บ้านจะถูกห้อมล้อมไปด้วยความเขียวขจีของภูเขาและต้นไม้ อากาศช่วงนี้เย็นสบายมากๆ สูดความสดชื่นให้เต็มปอดไปเลย เราว่าหมู่บ้านนี้ให้ฟีลคล้ายๆเชียงคาน แต่ดูบ้านๆ ยังไม่ถูกเติมแต่งมาก หลังคาบ้านส่วนใหญ่เป็นสังกะสี ตัวบ้านเป็นไม้ (ยกเว้นพวกโฮมสเตย์ที่ถูกเปลี่ยนเป็นปูนบ้างแล้ว)

หน้าบ้านของแต่ละหลังก็จะปลูกไม้เมืองหนาว ออกดอกสวยๆมาให้เราได้ชมกันเพลินๆด้วย ที่เยอะสุดๆก็คือต้นระฆังทอง มีให้เห็นทุกบ้านหลากสีสันเต็มไปหมดเลย

ชาวบ้านที่อยู่อาศัยที่นี่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวไทย-พม่า อารมณ์ว่านุ่งโสร่งออกมาเดินกันเลย

เนื่องจากในหมู่บ้านใช้เวลาเดินชมไม่นาน เราเลยหาบริการรถรับ-ส่งตามสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ซึ่งมีหลายร้านในตลาดอีต่อง ค่าเสียหายนำเที่ยวคนละ 50 บาท รถออกเวลา 05.40 น. เส้นทางเนินช้างศึก-ช่องมิตรภาพ-เนินเสาธง (หรือจะไปดูพระอาทิตย์ตกก็ได้นะ ราคาเท่ากัน)

เนื่องจากเริ่มที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวก็จะมีอารมณ์แบบคาเฟ่เล็กๆอยู่ 2-3 ร้าน ให้พอถ่ายรูปเล่นได้เบาๆ

เหมืองปิล๊อก . . .

มาเล่าเรื่องผีกันก่อน...ย้อนไปในอดีตช่วงล่าอาณานิคม ตอนนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ จึงมีชาวพม่าจำนวนหนึ่งได้เข้ามาหาแร่ดีบุก เพื่อนำไปขายต่อให้กับทหารอังกฤษ เอาไปผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการสงคราม

พอทางการไทยรู้เรื่องแร่ดีบุกที่มีการขุดพบ องค์การเหมืองแร่ จึงได้จัดตั้งเหมืองแร่แห่งแรกขึ้นในตำบลปิล๊อกและเปิดให้สัมปทานแก่นักลงทุนเอกชน จนทำให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้นมากมาย

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการลักลอบแอบขุดแร่ของพม่าเพื่อเอาไปขายให้อังกฤษอยู่เพราะแร่ดีบุก ณ เวลานั้นราคาแพงมาก ซึ่งทำให้ทางการไทยตอนนั้นต้องเข้าปราบปราม ต่อสู้กัน จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงการขุดอุโมงค์เพื่อเข้าไปหาแร่บนภูเขานั้นมีอันตรายทั้งอุโมงค์ถล่ม หินถล่ม ไข้ป่า ทำให้คนงานเหมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

พอราคาแร่ถูกลงจนขั้นวิกฤต มีเทคโลยีเข้ามาทำให้การใช้ดีบุกลดลง เหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยจึงต้องทะยอยปิดตัวลง คนงานต่างก็พากันอพยพไปทำงานที่อื่น เหลือแต่ซากรถ อุปกรณ์ขนแร่ และโรงเก็บถูกทิ้งร้างเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ให้เราเห็นนี่แหละ


ว่ากันว่าชื่อเหมืองปิล๊อกนี้ เป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เหมืองผีหลอก" เพราะมีคนตายมากมาย และเมื่อคนงานพม่าเรียกต่อๆกัน เลยเพี้ยนเป็น "เหมืองปิล๊อก" เรื่องราวของที่นี่ก็มีที่มาอย่างนี้เอง...หึหึ

แต่ว่าจริงๆมันไม่มีอะไรหรอกนะ555 เรานอนหลับสบายไม่เจออะไรเลยสักอย่าง

นอกจากนี้ ถ้าเดินลึกเข้าไปอีกหน่อย ก็จะเจอน้ำตกเล็กๆกับสระปลาคราฟในเหมืองด้วย ซึ่งลงเล่นไม่ได้นะจ๊ะ แต่ที่เราชอบมากๆเลยก็คือความใสของน้ำ ใสกิ๊งมากกกกกกกกกกกกก ใสจนเห็นสาหร่ายกับพืชน้ำแบบเขียวชะอุ่ม ไปนั่งกินลมชมปลาคราฟริมสระ กับลมหนาวยามเย็น บอกเลยว่าฟินมาก...

ได้ยินมาว่าเป็นของเจ้าของเหมืองเก่าที่เคยมาพักอยู่ เอาปลาคราฟมาเลี้ยง แล้วก็ถูกปล่อยทิ้งยาวให้ลุงในหมู่บ้านเลี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้5555 น้องแต่ละตัวลายสวยมากเลย ขโมยไปขายได้มั้ย55

ท่าทางจะเลี้ยงดีมาก แต่ละตัวนี่เป้งๆทั้งนั้นเลย ทุกวันนี้ก็ยังมีคุณลุงคนนึงคอยให้อาหารมันอยู่นะ

ลุงจะถือกะละมังใส่อาหารปลาไปทุกเช้า ถึงว่า...เจ้าปลาคราฟที่นี่ตัวอ้วนชะมัด

วัดเหมืองปิล๊อก . . .

เราเดินขึ้นมาจนถึงลานกางเต็นท์ ฝั่งตรงข้ามจะเป็นวัดซึ่งต้องขึ้นบันไดสูงไปอีกเพราะวัดเหมืองปิล๊อกตัังอยู่บนเขา เมื่อขึ้นบันไดไปอีกจนถึงเจดีย์ก็จะเห็นวิวหมู่บ้านด้านล่าง

สำหรับเราวัดนี้แอบหลอนนิดๆเพราะเงียบมากแถมรูปปั้นพระที่ยืนเรียงรายกันอยู่บนบันไดแต่ละขั้นก็ชวนขนหัวลุก (บิ้วเองหลอนเอง555) หรือว่าชั้นเป็นคนบาปวะ เลยกลัวรูปปั้นพระพุทธรูป555

ครัวเจ๊ณี . . .

หลังจากเดินมาจนเมื่อยก็หาอะไรกินสักหน่อย ในตลาดอีต่องมีร้านอาหารอยู่ตลอดทางแทบจะติดๆกันเลย ไม่ต้องกลัวอดตายจ้า555 แต่มีร้านใหญ่อยู่ 2 ร้าน (คือร้านจริงๆอะเล็ก แต่ใหญ่สุดในหมู่บ้านแล้ว) คือครัวเจ๊ณีกับครัวสุดแดน แต่ครัวสุดแดนกำลังปรับปรุงร้านก็เลยมาฝากท้องกะเจ๊ณีแทน

หมายเหตุ รีวิวนี้จะไม่มีการอวยใดๆทั้งสิ้น ขอบอกตามความรู้สึกจริงนะ555

อาหารรสชาติใช้ได้ ใครติดหวานน่าจะชอบ จุดเด่นคืออาหารทะเล มีปูทะเลและกุ้งอบเกลือขาย (เป็นช่วงๆเท่านั้น) เราสั่งมา 4 อย่าง คือ ยอดฟักแม้ว ทะเลผัดฉ่า หมึกมะนาวและไข่หม้อ ทุกอย่างโอเคหมด ยกเว้นไข่หม้อ555 อย่าสั่งเลยเพราะเราว่ามันแปลกดีแต่ไม่เด็ด เน้นเครื่องเยอะแต่ก็มั่วๆไปหน่อย

สะพานเหมืองแร่ . . .

สะพานเหล็กซึ่งอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้านพอดี สมัยก่อนคงเอาไว้ใช้เคลื่อนย้ายขนแร่

สะพานป้ายไม้ . . .

จุดฮิตติดชาร์จของที่นี่คงนี้ไม่พ้นสะพานปูน ที่มีป้ายไม้ถูกผูกด้วยเชือกสีสันต่างๆ อยู่เต็มสะพาน คนที่อยากเขียนป้ายก็สามารถซื้อได้ในตลาดเลย อันละ 20 บาท แต่ว่าเราชอบไปอ่านของชาวบ้านมากกว่า555

จากการสกรีนเบื้องต้นแล้ว คนเขียนป้ายไม้มีหลายประเภท ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสายคู่มากับแฟนมีรูปหัวใจมุ้งมิ้ง สายแช่งเห็นคนอื่นรักกันก็ไปแช่งให้เขาเลิกกัน555 สายเหงาคือมาคนเดียว ไม่รู้จะเขียนอะไร อยู่ดีๆก็อยากจะคัดลายมือชื่อจริงตัวเองลงไปเฉย สายคำคมก็จะเป็นแนวเสิชกูเกิ้ลมาแล้ว Copy + Paste

หลังจากสนุกกับการอ่านป้ายไม้ของคนอื่นแล้ว ฟ้าเริ่มมืดเราก็อยากลองเดินในหมู่บ้านยามดึก เลยเข้าไปซื้อตะเกียงพม่าในตลาด (อันละ 25 บาท) มาจุดเพิ่มฟีลลิ่งหมู่บ้านกลางหุบเขา

กลางคืนลมโกรกมาก ค่อนข้างเย็นสำหรับคนที่ใส่เสื้อธรรมดา

ชาวบ้านก็จะเริ่มออกมาตั้งโต๊ะขายอาหารร้อนๆสู้อากาศหนาว เช่น ลูกชิ้นปิ้ง หมาล่า ยำมาม่า ตามสั่งก็มีนะ

เดินถือตะเกียงสู้ลมหนาวมาเรื่อยๆ จนถึงปากทางเหมืองปิล๊อก...บรึ๋ยยย มืดมากไม่กล้าเดินเข้าไปจ้า

บรรยากาศริมสระน้ำสวยมาก ให้ฟีลเย็นๆ ชิลลิ่งโคตรๆ เหมาะจะทำตัวโหลยโท่ยให้ร่างกายพักผ่อนสักวัน


DAY 2 สถานที่เที่ยวใกล้เคียง

เราตื่นมาตอน 05.20 น. ก้าวเท้าเหยียบพื้นห้องแทบสะดุ้งเพราะพื้นเย็นเฉียบ เมื่อคืนที่นอนคือต้องปิดประตูหน้าต่างทุกอย่างเพราะลมแรงเหลือเกิน แล้วอากาศก็ยังหนาวจับจิต (ปิดหน้าต่างแล้วลมก็เข้าอยู่ดี) เราเตรียมตัวออกไปขึ้นรถนำเที่ยวในตลาด เพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น

ตรงนี้คือจุดที่เราจะมากินข้าวเช้ากัน (อาหารเป็นข้าวต้มกับไข่ลวก)

สำหรับใครที่อยากตื่นมาตักบาตร ทางที่พักก็มีเตรียมเป็นชุดไว้ให้ (ชุดละ 100 บาท)

เนินช้างศึก . . .

ณ จุดนี้สามารถมองเห็นวิวของเทือกเขาตะนาวศรีได้ 360 องศา บนนี้ลมแรงมากกกก คิดถึงเสื้อหนาวกับหมวกไหมพรมที่ลืมไว้บ้านเลย ฮือออ เราใส่เสื้อมา 2 ชั้นก็พอทนหนาวได้บ้าง บนนี้ลมแรงมาก ตัวแทบจะปลิวเมื่อไรพระอาทิตย์จะขึ้นเนี่ยยย

ระหว่างรอพระอาทิตย์ขึ้นก็ชมวิวของขุนเขาที่สลับซับซ้อนไปก่อน ก็สวยไปอีกแบบน้า

เราจะเห็นวิวหมู่บ้านอีต่องจากเนินช้างศึกได้ชัดเจนมาก หมอกและขุนเขากำลังโอบล้อมหมู่บ้านน้อยๆไว้

ว่ากันว่าหมู่บ้านนี้มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี แต่เราไปช่วงหน้าหนาว ฟีลหมู่บ้านขาวโพลนยามเช้าเลยจะสั้นสักหน่อย (ถ้าอยากได้แบบ The mist village ควรมาช่วงหน้าฝน) แล้วดูจากโปรแกรมเช้านี้น่าจะกลับไปถึงหมู่บ้านประมาณ 07.30 น. พี่ที่ขับรถบอกว่าไม่น่าทันเห็นหมอก ฮือออ ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้หนาว555

ได้ยินเสียงร้องหงิงๆจากด้านหลัง น้องงงงงงงง...โดนเบี่ยงเบนความสนใจไปชั่วขณะ555 ขอถ่ายรูปครอบครัวพี่น้อง 5 ตัวไว้หน่อยนะ น้องหนาวอะ กอดกันกลมเชียว เอ็นดูวอ่าาา

พระอาทิตย์ขึ้นแล้ววว

เหมือนถนนลอยฟ้าเบาๆ

ช่องมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ . . .

บริเวณนี้เป็นช่องเขาขาด สุดพรมแดนไทยที่เราสามารถข้ามไปเดินฝั่งพม่าได้ชิวๆ

ตรงนี้มีจุดชมวิวให้เห็นหมู่บ้านเล็กๆ ของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ไกลๆ

มีถนนลาดลงไปด้านล่างพร้อมกับหินขั้นบันไดข้างๆ จริงๆก็ไม่มีอะไรนะ เหมือนมาแบบเย่...เหยียบเมียนมาร์ละโว้ยยย...จบ555

ตำรวจตระเวนชายแดนของประเทศเมียนมาร์ เราว่าเครื่องแบบเขาเท่ห์มากๆ

เนินเสาธง . . .

ห่างจากช่องมิตรภาพมาไม่เกิน 200 เมตร ก็จะเจอเนินเสาธง

สมชื่อ...จุดนี้มีแต่เสาธงจริงๆ ไม่มีอะไรเลย

เนินเสาธงเป็นพื้นที่ยอดเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหภาพพม่า โดยที่ทางการทหารไทยได้ จัดตั้งเสาธงพร้อมติดธงชาติไทยขนาดใหญ่คู่กับธงชาติพม่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่นี้เป็นจุดพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์

บริเวณนี้ก็จะมีตำรวจตระเวนชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ดูแลบริเวณนี้ตลอด 24 ชม.

แต่ในรูปนี่เหมือนกำลังซ่องสุมอะไรกันสักอย่างเเฮะ5555

ทริปช่วงเช้าจบไปอย่างรวดเร็ว แป๊บๆก็เกือบ 8 โมงเช้าแล้ว เรากลับมากินข้าวเช้าที่จุดเช็คอิน แล้วเตรียมตัวเก็บของกลับบ้าน

ใครที่จะตักบาตรตอนเช้า ถ้าซื้อโปรแกรมนำเที่ยวช่วงเช้า จะกลับมาไม่ทันพระบิณฑบาตรน้า เพราะฉะนั้นใครที่อยากตักบาตรตอนเช้า อย่าลืมวางแผนกันดีๆนะเออ

จริงๆแล้วสถานที่ท่องเที่ยวแถวนี้ยังมีอีกหลายที่ที่เรายังไม่ได้ไป แต่แพลนและเวลาที่วางไว้ดันหมดเสียก่อน ยังไงก็ตาม... หมู่บ้านอีต่องมีครั้งต่อไปแน่นอนเพราะว่าเรายังไม่เคยไปเขาช้างเผือกเลย ต้องได้มาสตาร์ทเดินขึ้นเขาช้างเผือกที่นี่แน่นอน ! !


PS

เป็นยังไงกันบ้างกับทริปสั้นๆที่เราพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า มาเที่ยวอีต่องแบบ 2 วัน 1 คืนได้สบายมาก ไม่อยากลางาน ไม่อยากหยุดยาว ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะให้ทุกคนมาพักผ่อน ชาร์จแบตเอาพลังก่อนกลับไปสู้ชีวิตต่อ แล้วจะรู้เลยว่าคุ้มค่าทุกนาทีกับเวลาที่เสียไปแน่นอน
ส่วนค่าใช้จ่ายเราทำสรุปไว้ด่านล่าง...ขอบคุณค่า
ราคารวมสำหรับ 2 คน
- ค่าเดินทาง : 1,670 บาท (เฉพาะค่าน้ำมัน)
- ค่าที่พัก 1 คืน : 1,900 บาท (ที่พัก 1,500 ชาร์จ 400 เพราะไปขอเลื่อนเขากะทันหัน)
- ค่าอาหาร : 1,115 บาท (ครัวเจ๊ณี 495 / ครัวออฟโรด 620)
- จิปาถะ : 310 บาท
รวม 4,995 บาท
ติดตามเรื่องราวการเดินทางแบบนี้ได้อีกใน Facebook fanpage : A Y E S I G H T
หรือ กดเข้าไปที่ โปรไฟล์ของอาย เพื่อเลือกอ่านเรื่องราวดีๆได้เลยนะค้าบบบ


AYESIGHT

 วันพฤหัสที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เวลา 21.44 น.

ความคิดเห็น