มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพเรือ เปิด “พระราชวังเดิม” พระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี ให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 14-28 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ โดยปกติจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเท่านั้น ด้านในทุกอาคารไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพทุกชนิด

พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในเขตที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งของพระราชวังเดิมเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2310 ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์

มาถึงด้านหน้าพระราชวังเดิมจะพบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ผ่านประตูเข้ามาจะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยให้คำแนะนำในการเริ่มต้นชมพระราชวังเดิม จุดแรกจะเป็นอาคารเรือนเขียว เป็นอาคารโรงพยาบาลเดิมของโรงเรียนนายเรือในสมัยที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังเดิม สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2443 - 2449 เราชอบเรือนเขียวมาก อาคารเป็นไม้สีเขียวสบายตา ด้านในจะเปิดวิดิทัศน์เกี่ยวกับพระราชวังเดิม และโถงด้านในจัดแสดงวัตถุโบราณเครื่องปั้นดินเผา เราใช้เวลาที่เรือนเขียวนานเป็นพิเศษ และรูปก็เยอะมากที่สุดด้วย

เดินย้อนกลับมาที่ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่และตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ด้านในจัดแสดงเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี และอาวุธต่างๆ

ออกจากเก๋งคู่ฯ ก็เดินต่อมาที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังปัจจุบันนี้สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2424 - 2443 แทนหลักเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้านข้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะเป็นศาลศีรษะวาฬ จัดแสดงกระดูกศีรษะวาฬซึ่งพบโดยบังเอิญใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ท้องพระโรง สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2310 พร้อมกับการสร้างพระราชวังกรุงธนบุรี และการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกันคือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่า "ท้องพระโรง" หรือ "วินิจฉัย" ใช้เป็นที่ออกขุนนาง พื้นที่ตรงกลางท้องพระโรงมีเสา 2 แถว แถวละ 8 ต้น เรียกว่า "ในประธาน" พระที่นั่งองค์ทิศใต้หรือที่เรียกว่า "พระที่นั่งขวาง" เป็นส่วนราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

จุดสุดท้ายภายในพระราชวังเดิม คือ อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2367 - 2394 อาคารนี้ถือเป็นอาคารแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชั้นบนเคยเป็นที่ประทับของเจ้านาย ส่วนชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพาร ปัจจุบันมูลนิธีฯ จัดชั้นบนเป็นที่แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นห้องสมุด ส่วนชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการเงินตรา เครื่องถมทอง และเครื่องถ้วยโบราณของประเทศไทย

ก่อนออกจากพระราชวังเดิมก็เก็บภาพซุ้มประตูสักนิด

ปิดท้ายกันที่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์สร้างขึ้นใรรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้จึงได้โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงในบริเวณของป้อมพร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และพระราชทานนามใหม่ว่า "ป้อมวิไชยประสิทธิ์"


บริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์จะมีศาลเจ้าพ่อหนูอยู่ด้วย


เราเป็นเด็กฝั่งธนบุรีมีโอกาสเยี่ยมชมพระราชวังเดิมเกือบทุกปีในวันที่ 28 ธันวาคม แต่ปีนี้ “พระราชวังเดิม” พระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี ให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 14-28 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น.



ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 01.48 น.

ความคิดเห็น