ชิกัทเซ่ ศรัทธาบนขุนเขา

ยอดเขาเอเวอเรสต์ค่อยๆจางหายไปจากสายตา เส้นทางแห่งขุนเขาสายเดิมพาเราย้อมกลับพร้อมกับลดระดับความสูงสู่เมืองทิงกริ ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่เราจะปฏิเสธการรับประทานอาหารกลางวันในเวลาบ่าย 3 ที่นี่ เพราะจากนี้อีกร่วม 7 ชั่วโมงเราถึงได้กินอาหารเย็นในเวลา 4 ทุ่มที่ตัวเมืองชิกัทเซ่ (Shigatse) ที่ตัวเมืองและผู้คนกำลังหลับใหลไปตามความมืดที่ปกคลุมทั่วแผ่นฟ้า

เรากลับมาที่เมืองชิกัทเซ่เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเวลาผ่านไป 2 วัน การกลับมาครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นที่หลับนอนแล้วออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้นเหมือนวันที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เราได้มีโอกาสเที่ยวชมและสัมผัสแรงศรัทธาของชาวพุทธทิเบตในภายวัดทาชิหลุนโบ (Tashihunpo) วัดขนาดใหญ่ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในชิกัทเซ่ เพราะเป็นหนึ่งในอารามหลักของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน สายเกลุก หรือหมวกเหลืองที่เน้นการยึดคำสอนดั้งเดิมและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของขุนเขา ณ ความสูง 3,860 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ชาวทิเบตที่กำลังก้มกราบในท่าอัษฎางคประดิษฐ์บนลานกว้างหน้าวัดทาชิหลุนโบค่อยๆเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาเคลื่อนตัวผ่านแม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เห็น แต่ผมก็ยังอดไม่ได้ที่จะหยุดมองกิจกรรมนี้อย่างสนใจ เพราะสิ่งที่ผมเห็นในเวลานี้ เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของแรงศรัทธาในพุทธศาสนาที่ตกตะกอนอย่างเข้มข้นภายในจิตวิญญาณของชาวทิเบต พวกเขาจึงไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยในสิ่งที่ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง

จากเสาสูง 2 ต้นที่ตั้งโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า เราเดินผ่านประตูเข้าสู่ตัววัดด้านใน มวลหมู่อารามตั้งเรียงรายอย่างแน่นขนัดไปตามความสูงของภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.1990 โดยดาไลลามะองค์ที่ 1 ในยุครุ่งเรืองที่ทิเบตยังไม่ตกอยู่ใต้การปกครองของจีน วัดแห่งนี้เคยมีนักบวชมากถึง 5,000 รูป เรียกว่าภายในวัดที่ซับซ้อนไปด้วยอารามแห่งนี้ ถือเป็นเมืองย่อมๆเมืองหนึ่งเลยทีเดียว

คนทั่วไปมักเรียกนักบวชในพุทธศาสนา นิกายวัชรยานว่า “ลามะ” แต่แท้จริงแล้วนิกายนี้แบ่งระดับนักบวชออกเป็น 3 ระดับ คล้ายกับนิกายเถรวาทที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ คือ “เชลา” นักเรียนทางพุทธศาสนาขั้นต้น หากเทียบกับเถรวาทก็น่าจะประมาณ สามเณร ขั้นต่อมาคือ “ทรัปปา” ขั้นนี้เทียบได้กับพระภิกษุสงฆ์ในเถรวาท และขั้นสูงสุดคือ “ลามะ” คือนักบวชอาวุโสที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สั่งสอนพุทธธรรมแก่ทรัปปาและเชลา เทียบกับเถรวาทจะประมาณพระเถระ

เราเดินไปตามแผ่นอิฐเก่าๆ ลดเลี้ยวไปตามซอกซอยซึ่งขนาบไปด้วยอาคารที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนสีขาวเพียงบางๆ ตามรูปแบบการก่อสร้างสไตล์ทิเบตที่เน้นความเรียบง่าย ยิ่งเดินลึกเข้าไป ความยิ่งใหญ่ของมวลหมู่อารามก็ยิ่งปรากฏให้เห็น พร้อมด้วยเจดีย์สีขาวที่ตั้งเรียงราย กงล้อมนตราที่หมุนวน และชาวทิเบตที่กำลังกราบในท่าอัษฎางคประดิษฐ์ แม้จะเป็นภาพที่คุ้นตา หากแต่ดูเหมือนแรงศรัทธาจะเปี่ยมล้นกว่าที่เคยสัมผัส ซึ่งนั่นทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องราวที่เคยอ่านในหนังสือ Lost Horizon หรือ ขอบฟ้าที่หายไป

ในเรื่องนี้ได้กล่าวถึง แชงกรีลา อาณาจักรลี้ลับที่ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ผู้คนในอาณาจักรนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาอาทร มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก ปราศจากความรุ่มร้อนจากโลกภายนอก ทำให้ชีวิตของผู้ที่อาศัยในอาณาจักรนี้ยืนยาว จนกลายเป็นดินแดนที่อยู่เหนือกาลเวลา

หนังสือ Lost Horizon เขียนจากจินตนาการของ เจมส์ ฮิลตัน นักเขียนจากโลกตะวันตก ผู้ไม่เคยไปเยือนดินแดนหิมาลัย หากแต่คุณลักษณะที่ว่านี้ตรงกับตำนานความเชื่อในพุทธศาสนาของชาวทิเบต ที่กล่าวถึง ซัมบาลา ดินแดนแห่งสันติสุข อันเป็นเหมือนดินแดนสุขาวดี ที่ชาวพุทธปราศนาจะได้มีชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนั้น แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีใครค้นหาดินแดนแห่งนี้พบ แต่ชาวทิเบตยังคงเชื่อกันว่าดินแดนแห่งนี้มีอยู่จริง โดยซ่อนตัวอย่างลี้ลับในเทือกเขาหิมาลัย ที่อยู่ไกลจนสุดขอบฟ้า แต่ภาพชาวทิเบตที่กำลังก้มกราบในท่าอัษฎางคประดิษฐ์ อย่างปราศจากการยึดติดของโลกภายนอก ทำให้ผมคิดว่า บางทีดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ อาจไม่ได้อยู่ ณ ขอบฟ้าอันแสนไกล แต่อยู่ใกล้ๆที่ใจเรานี่เอง

เราเดินเข้าสู่อารามจัมปา ที่หลังคาสีทองสะท้อนแสงแดดระยิบระยับ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2457 โดยใช้ช่างมากถึง 900 คน ใช้เวลาสร้างนานถึง 9 ปี โดยพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะยืน มีความสูงถึง 26 เมตร งดงามไปด้วยมุก เพชร และอัญมณีล้ำค่าที่ประดับอยู่บนพระวรกาย ไม่เพียงเท่านี้ ตัวองค์พระพุทธรูปเองยังสร้างจากทองแดงหนักถึง 150 ตัน หุ้มด้วยทองคำ 335 กิโลกรัม จึงเป็นตัวแทนอย่างดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความรวยรุ่มด้วยทรัพยากรโดยเฉพาะสินแร่ในดินแดนทิเบต

หากพระราชวังโปตาลาคือฐานที่มั่นของดาไลลามะ วัดทาชิหลุนโบแห่งนี้แม้เริ่มแรกจะสร้างจากคำสั่งของดาไลลามะ แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นฐานที่มั่นของปันเชนลามะ ซึ่งมีตำแหน่งรองจากดาไลลามะ แล้วปันเชนลามะที่ว่านี้คือใคร ?

ปันเชนลามะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 พระองค์แต่งตั้ง Lobsang Chokyi Gyaltsen ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งปันเชนลามะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นร่างอวตารของอมิตาภะพุทธ ในขณะที่ดาไลลามะนั้นเชื่อกันว่าเป็นร่างอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

เพราะชาวทิเบตเชื่อว่าวิญญาณนั้นเป็นอมตะ ในขณะที่สังขารร่างกายนั้นเป็นเหมือนเสื้อผ้า ที่หากสวมใส่จนเก่าขาดวิ่นก็จะถูกถอดทิ้งไป ความตายจึงเป็นแค่เพียงการที่วิญญาณดวงเดิมไปเกิดภายใต้สังขารร่างกายใหม่แค่นั้น จึงกลายเป็นประเพณีในการตามหาดาไลลามะองค์ใหม่ ด้วยความเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณเดิมของดาไลลามะองค์ก่อนกลับชาติมาเกิด ซึ่งนั่นคือหน้าที่สำคัญของของปันเชนลามะ ผู้ทำหน้าที่ค้นหาร่างนิรมาณกายของดาไลลามะองค์ต่อไป ในทางกลับกัน หากปันเชนลามะมรภาพ ก็จะเป็นหน้าที่ของดาไลลามะเช่นกัน ที่จะต้องทำหน้าที่ค้นหาร่างนิรมาณกายของปันเชนลามะ ฉะนั้นดาไลลามะกับปันเชนลามะจึงมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากจะวิเคราะห์กันแล้ว การเกิดขึ้นของปันเชนลามะถือเป็นกุศโลบายที่แยบยล ที่จะปิดช่องโหว่ที่จะขาดผู้นำทางจิตวิญญาณในช่วงเวลาระหว่างดาไลลามะองค์ก่อนมรณภาพกับการพบหาร่างนิรมาณกายของดาไลลามะองค์ต่อไป

เพราะเป็นฐานที่มั่นของปันเชนลามะ ภายในวัดนี้จึงมากไปด้วยเจดีย์ที่บรรลุพระศพของปันเชนลามะองค์ต่างๆ ตั้งแต่องค์ที่ 2 ถึงองค์ที่ 10 กระจายอยู่ตามอารามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารามคุนดุน (Kundun) ที่อาคารเป็นสีแดง ดูโดดเด่นตัดกับอารามหลังอื่นๆที่ล้วนเป็นสีขาว โดยเป็นที่ตั้งของเจดีย์บรรจุอัฐิปันเชนลามะองค์ที่ 4

ใกล้ๆกันเป็นอารามดุงเท็น (Dungten) เจดีย์บรรจุอัฐิของปันเชนลามะองค์ที่ 10 ตั้งอยู่ภายในอารามหลังนี้ ถือเป็นเจดีย์ที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะนอกจากจะประดับประดาด้วยอัญมณีอย่างงดงามแล้ว ตัวเจดีย์ยังหุ้มด้วยทองคำหนักถึง 500 กิโลกรัม

อารามเกลแซ็ง (Kelzang) เป็นอารามขนาดใหญ่ ที่โดดเด่นเห็นแต่ไกล เพราะหลังคาเป็นสีทองอร่าม พื้นที่ตรงกลางเป็นลานกว้าง มีธงมนตราขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ลานกว้างนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา เช่น ระบำหน้ากากอันเลื่องชื่อ ทางด้านทิศเหนือของอารามเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่เรียงรายถึง 5 องค์ ที่ปันเชนลามะองค์ที่ 10 สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของปันเชนลามะองค์ที่ 5 – 9

จะเห็นได้ว่าปันเชนลามะองค์ที่ 10 นี้เอง ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างวัดทาชิหลุนโบในยุคปัจจุบันให้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังมีบทบาทสำคัญในช่วงที่จีนเข้ามายึดครองดินแดนทิเบต เพราะหลังจากการมรณภาพของปันเชนลามะองค์ที่ 9 เกิดความขัดแย้งในการแต่งตั้งปันเชนลามะองค์ต่อไป โดยฝ่ายรัฐบาลทิเบตในลาซา กับฝ่ายปันเชนลามะองค์ก่อนที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเสนอชื่อคนละคนกัน แต่สุดท้ายแล้ว ปันเชนลามะองค์ที่ 10 ก็มาจากที่จีนสนับสนุน โดยปัจจุบันปันเชนลามะจำวัดอยู่ที่วัดลามะหย่งเหอกง (Yonghe Lama Temple) ในกรุงเป่ยจิง ในขณะที่ดาไลลามะยังคงลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย

จากที่ราบเมืองชิกัทเซ่ เจนเซ็นขับรถพาเราผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยว ข้ามแม่น้ำพรหมบุตร หรือชื่อทิเบตคือ ซางโป แม่น้ำสายกว้างที่เกิดจากการละลายของหิมะ ซึ่งแผ่นดินทิเบตนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำสายนี้ ก่อนที่จะไหลลงใต้สู่ดินแดนชมพูทวีป จนก่อให้เกิดแห่งอารายธรรมที่สายน้ำไหลผ่าน

ภูเขาลูกแล้วลูกเหล่าเคลื่อนตัวผ่านแล้วค่อยๆหายลับจากสายตา เราเดินทางกลับมายังเมืองลาซาอีกครั้ง ในเวลาที่แสงอาทิตย์ลาลับจากขอบฟ้า

ข้อมูลการเข้าชม

วัดทาชิหลุนโบเปิดให้เข้าชมภายในทุกวัน เวลา 9.00 – 12.00 น. และ 14.00 – 17.00 น.

เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ค่าเข้าชม 80 หยวน, เดือน พฤศจิกายน – เมษายน ค่าเข้าชม 40 หยวน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.40 น.

ความคิดเห็น