"พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย"


A1

ส่งท้ายปีทริปชิวๆ...กับลมหนาวที่เพิ่งจากไปกับการย่างก้าวเข้าฤดูหนาว เดิมทีก็ตั้งใจจะไปแบบ สบายๆ  ชิวๆ  แต่พอวางแพลน ความสบายของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน สมบัติทัวร์รอบ 19.45 น.
ชานชาลา 40  ใน ราคา 396 บาท ณ สถานีขนส่งหมอชิต 2 กับการซ้อมเดินเท้า กว่า 2 กิโลเมตร
จาก BTS ….เริ่มต้นดีเลยทีเดียว


ความบังเอิญ

8 ชั่วโมงกว่าบนถนนที่สองข้างทางดำมืด มีเพียงแสงแวบๆ สาดเข้าตามาเป็นระยะ เป้าหมายสถานีขนส่งเพื่อต่อรถไปยังจุดหมายต่อ แต่เผอิญเจอพี่ที่รู้จักกำลังกลับบ้านพอดี พี่เขาเลยอาสาขับรถไปส่งยัง
จุดหมาย คือสถานีรถไฟลำพูน แต่ก่อนไปแวะหาเสบียงที่ ตลาดสดหนองดอก หรืออีกชื่อว่ากาดหนองดอก ออกจะเป็นตลาดสดเสียมากกว่า แต่ก็มีอาหารสำเร็จรูป ที่สามารถทำให้เรา ไม่ยุ่งยากได้ดีเลย
ทีเดียว และด้วยรถทัวร์ถึงตัวเมืองลำพูน ประมาณ 6 โมงเช้าทำให้มีเวลาเหลืออยู่มากพอ พี่เขาจึงอาสา
พาไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูน เอาฤกษ์เอาชัยเสียก่อน...


ความตั้งใจแรก

ในปีนี้มีสถานที่ที่อยากไปใน tip book ถูกฆ่าออกอยู่หลายที่ ทั้งที่ได้ไปโดยบังเอิญหรือ ที่ตั้งใจที่จะไปแล้วนั้น “พระธาตุหริภุญชัย” “ปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนาน
ตั้งเเต่อดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน นี่ก็เป็นหนึ่งที่หมาย ที่หมายมั่นตั้งใจมาหลายปี สำหรับความเชื่อที่ว่าคนเกิด “ปีระกา” จะต้องไม่พลาดในการมาสักการะสักครา


วันวานย้อนกลับ

นานมากแล้วที่รถไฟฉึกฉัก นี้จะเป็นการคมนาคมที่จะเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ แต่ในครั้งนี้จากพระธาตุฯ มายังสถานีรถไฟลำพูน โดยรถเครื่อง เมล์เครื่อง หรือจะมอเตอร์ไซค์ในภาคปกติ ราคา 40 บาท ถึงที่หมาย ประมาณ 10 นาที ตั๋วรถไฟด่วนพิเศษปรับอากาศชั้น 2 กซขป.76 ขบวน 8 ลำพูน – ปลายทาง
ขุนตาน มูลค่า 50 บาทรอบเวลา 09:05 เดินทางประมาณ 50 นาที วันวานได้ย้อนหวนกลับอีกครั้ง...


นั้นไง

โดยปกติแล้วโปรแกรมเที่ยวต่างๆ ก็จะไม่ค่อยวางแผนละเอียด หรืออ่าน detail สักเท่าไหร่ เพียงแค่รู้
ว่าไปยังไงกลับยังไงเตรียมตัวอย่างไรแบบคร่าวๆ แค่นั้น เพราะลึกๆ เชื่อว่าการไปลุ้นเอาดาบหน้า
มันจะสร้างสีสันให้กับการเดินทางครั้งนั้นๆได้มากกว่า และประมาณ 1,300 เมตร

จากทิศทางตามนิ้วของเจ้าหน้าที่การรถไฟ ชี้ให้เราเดินไปตามทางชันเพื่อไปยังที่หมายกับอากาศ
ที่กำลังสบาย แต่กว่าจะถึงที่ทำการอุทยานก็เอาเหงื่อไหลย้อยตามความชันเลยทีเดียว


ดอยขุนตาล 2 ลำ

อุทยานฯขุนตาลแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,373 เมตร
อยู่บนพื้นที่ 2 จังหวัด ลำพูน และลำปาง (หนาวมาก)(แต่เอาจริงก็...อะนะ) 

เมื่อถึงที่ทำการชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า 20 บาท/คน ค่ากางเต็นท์ 30/คืน/คน และค่ามัดจำขยะ
100 บาท/เที่ยว 

แต่เดี่ยวก่อน ก่อนที่จะเริ่มออกเดินทางไปหาธรรมชาติที่เฝ้าโหยหา ด้านบนนั้นไม่มีอาหารและน้ำดื่มบริการท่านน๊า เราต้องเตรียมจากด้านล่างขึ้นไป แต่อย่าได้กังวลไป ร้านค้าสวัสดิการมีพร้อมทั้งน้ำ ขนม
และกับข้าวสำเร็จรูปไว้บริการท่านแล้ว หรือทางที่ดีก็เตรียมจากตลาดมาให้เรียบร้อยและเราก็เตรียมมาแล้ว


เริ่ม...

หลังจากเตรียมพร้อม สัม”ภาระ”ในกระเป๋าที่แบกไว้บนหลัง เริ่มออกเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ
ไปตามถนนซีเมนต์ที่ชันและเลี้ยวคดไปมาพอสมควร

เดินมาได้ประมาณ 1 กิโลเมตร เสียงนั้น เสียงรถยนต์กำลังผ่านมา หูผึงตาส่องประกายแวววับ กับใบหน้ายิ้มอ่อน ที่มีเหงื่อออกพอชุ่มชื้น รถตู้จนท.กำลังผ่านมา เเละตามคาดพี่เขาใจดีพอที่จะจอดและรับเรา
ติดขึ้นไปด้วย ซึ่งประหยัดเวลาและแรงไปได้เยอะ ในไม่ช้าก็ถึงจุดหมาย...ยังหรอก...ถึงจุดเริ่มเดินหน้าด่านทางเดินธรรมชาติ ย.1 - ย.4 ที่ต้องเดินเท้า ต่างหาก


เอ๊าเริ่มของจริง.

4 ย. (ย.ย่อมาจากจุดยุทศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้ง 2 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ในสมัยนั้น ให้ทหารตัดเส้นทางขึ้นไปยังยอดดอยขุนตาลเพื่อใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร ต่อมา
ปี 2518 พื้นที่นี้ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ) การเดินสู่ยอดดอยขุนตาลระยะทาง 5.5 กม.
แบ่งออก  เป็นสี่จุด คือ ย. 1 ย. 2 ย. 3 และ ย. 4 (“ย” ย่อมาจาก “จุดยุทธศาสตร์”)

- ย. 1 เป็นที่ตั้งของบ้านพักการรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างเมื่อปี 2460 เพื่อเป็นที่ประทับแรม
ของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินครั้งเป็นแม่งานก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน ปัจจุบันการรถไฟฯ เปิดให้เช่าพัก
และเราก็จำเป็นต้องเดินขึ้นต่อไปยังจุดกลางเต็นท์

- ย. 2 ห่างจาก ย. 1 ราว 800 ม. (เดิมเป็นที่พักของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งเข้ามาทำไม้ แต่หยุดกิจการลงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซื้อพื้นที่นี้เพื่อทำสวนและสร้างบ้านพัก) 

บริเวณนี้มีต้นสนเขาขึ้นหนาแน่นมาก จุดกลางเต๊นท์ต้องเดินขึ้นไปบนแนวเขาชันเกือบ 45 องศา ประมาณ 50 เมตร ถึงด้านบนก็เป็นลานเรียบๆ มีต้นสนขึ้นเรียงเป็นแนว และมีห้องน้ำ 4 ห้อง สามารถ อาบน้ำและทำธุระส่วนตัวไว้ให้บริการ บริเวณนี้เป็นจุดกลางเต็นท์และพักค้างคืน ก่อนที่พรุ่งนี้เช้ามืด จะไปหาแสงแรกของวันใหม่


สงบ

นาฬิกาบอก 15.00 น. เร็วพอที่จะเหลือเวลาจัดแจงกางเต็นท์ พร้อมจัดแจงที่นอน สิ่งของต่างๆ
ให้เรียบร้อย และสำหรับที่จะเตรียมอาหารเย็น ให้เสร็จก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะจากไป ลมเย็นพัดผ่าน เสียงยอดไม้ไหวๆ ดังแว่วมา รอบตัวดูสงบจนแสนวิเศษ สถานที่นี้นับเป็นที่เที่ยว ที่ให้ความรู้สึก
ถึงความสงบ ที่เฝ้าถวิลหาเลยทีเดียว 

มีเพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวประมาณ 3-4 คนที่กางเต๊นท์อยู่ก่อนแล้วอยู่ไกลๆ จากจุดตั้งแคมป์ของเรา
พอสมควร สักพักก็มีพ่อหนุ่มฉายเดี่ยว และแก๊งค์ 2 สาววัยรุ่น ที่ตามมาสมทบ ประมาณเกือบ 5 โมงเย็น ฉะนั้น คืนนี้ลานแห่งนี้ มีแต่พวกเรา


ดินเนอร์

หลังจากเผลองีบหลับ จากลมพัดโชยๆ ในช่วงบ่ายแก่ๆ ผสมกับความเหนื่อยล้า อาหารอย่างง่ายของเรา
คือ ต้มยำรวมมิตรกระเพราหมูสับ และข้าวสวยในราคา 110 บาท จากร้านค้าสวัสดิการ 

เพียงแค่นำมาอุ่นด้วยแก๊สกระป๋องและเตาสนามที่เตรียมมานั้น ตบท้ายด้วยน้ำชาอุ่นๆ เคล้ากับแสงเทียน
ที่สว่างออกมาจากตะเกียง ภายใต้ท้องฟ้าที่มีความมืดเข้าปกคลุมไปนานแล้ว รอบตัวมืดสนิทมีเพียง
เสียงแว่วของคนคุยกันไกลๆ และเสียงปีกของแมลงหรือ เสียงสัตว์น้อยใหญ่ แว่วๆ มาตามสายลม 

อาหารมื้อนี้ที่แสนจะธรรมดา แต่บรรยากาศ ณ ห่วงเวลานี้ ที่ทำให้เรารู้สึกโหยหาอยู่ตลอดๆ แต่ถึง
จะเพลินเพียงใดก็อย่านั่งนานเพลิดเพลินไปนัก รีบจัดการอาบน้ำก่อนที่จะหนาวไปกว่านี้


วันใหม่

จริงๆ การมาแคมป์ปิ้งนั้น นอกจากการได้มากินอาหารกลางป่าเขา ท่ามกลางบรรยากาศที่สามารถทำให้
มีความเลอเลิศเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หรือจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละคนต่างสรรหามานั้น 

การแหกขี้ตาตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันใหม่ก็เป็นอีกกิจกรรมที่น้อยคนจะปฎิเสธ...04.00 น.
ฟ้านั้นยังมืดสนิท แผนที่ตั้งใจถูกเริ่มขึ้นจากเสียงนาฬิกาที่ตั้งปลุกไว้ให้เราเริ่มออกเดินจากจุด ย.2 ไปยัง ย.4 ด้วยระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ที่มีเพียงแสงจากไฟฉายสาดส่องไปตามทางที่มีร่องรอยการเดิน 
บ่งบอกว่าเป็นทางที่มนุษย์ใช้สัญจร จาก ย. 2 ไป ย. 3 มีทางแยกซ้ายมือสามารถแวะไปเที่ยว
นํ้าตกตาดเหมยได้

- ย. 3 ห่างจาก ย. 2 ราว 3 กิโลเมตร ทางเดินไม่ได้ลำบากมากเป็นพื้นที่ป่าดิบเขาร่มรื่น แต่เดิมในอดีต
เป็นที่พักของคณะมิชชันนารี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพายัพดูแลและเปิดให้พักโดยมีค่าใช้จ่าย

- ย. 4 ห่างจาก ย. 3 ราว 1 กิโลเมตร ที่สำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเข้า ช่วงสุดท้ายเป็นบันไดซีเมนต์หลายขั้น มุ่งตรงขึ้นสู่ยอดสูงสุดของดอย

ขุนตาล (จุดนี้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารไทยใช้เป็นจุดส่องกล้องตรวจพื้นที่ หรือเรียกว่า “ม่อนส่องกล้อง”) ด้านบนมีธงชาติไทยสะบัดปลิวไสวตามแรงลม เวลาบอก 06.03 น. มีผู้คนเดินขึ้นมาร่วม 10
กว่าชีวิต สอบถามต่างเดินมาจาก ย.1 ตั้งแต่ ตี 3 ก็ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกันตามวิสัย

ทำให้บรรยากาศที่ดูเงียบเหงา ดูครึกครื้นสนุกสนานกันพอสมควร ลมเย็นๆ พัดผ่านพอสบายๆ
เช้านี้ จากเครื่องวัดอุณหภูมิของชาวคณะที่มากลุ่มหนึ่ง บ่งบอกว่า 13 องศา ทำให้นึกขึ้นว่าสมัยก่อน
ตัวเลขอุณหภูมิเวลาไปเที่ยวที่ต่างๆ ถ้ายิ่งน้อยเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกว่ามันเท่มากเท่านั้น แต่เอาเข้าจริง

พอเราโตขึ้น ตัวเลขนั้นมันไม่สำคัญอีกเลย เอาแค่เราสบายๆ ก็พอแล้วเนอะ


ร่ำลา

ขาลงจากจุดยอด ย.4 กลับมาที่แคมป์ ย.2 ร่วงเลยเวลากว่าที่คิดไว้พอสมควรเราใช้เวลาด้านบนนาน
เกินไป นาฬิกาบอก 08.00 น. เรามีเวลาที่จะเก็บสัมภาระนิดหน่อย แต่ก็เพียงพอสำหรับ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กับปลา กระป๋องราดพริก เพื่อรองท้อง ก่อนต้องใช้พลังงานในการเดินลงเขา 

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เก็บขยะเก็บสิ่งของ เพราะเราจะไม่ทิ้งอะไรไว้หรือเอาอะไรกลับนอกจากรอยเท้าและความทรงจำ (ปล.เอาขยะกลับด้วย) ขาลงใช้เวลาไม่นานและไม่เหนื่อยเท่าไหร่ 09.40 น.
ก็ถึง ย.1 จุดเริ่มเดินหน้าด่านทางเดินธรรมชาติ 

ตามแผนหรือกำหนดการเราจะต้องลงไปยังสถานีรถไฟขุนตานให้ทัน 11 โมงสำหรับทำกิจกรรมต่อไป
แต่ด้วยตอนขาขึ้นมา จากที่ทำการอุทยาน มา จุด ย.1 เราไม่ได้เดินมาทั้งหมดทำให้กะเวลาไม่ได้
แต่ ณ จุดย.1 นี้มีบริการรถตู้อุทยานลงไปส่งที่ทำการ ในราคา 50 บาท/คน หรือไปส่งสถานีรถไฟ ในราคา 100/คน ดังนั้นเราก็ใช้เงินแก้ปัญหาแค่ครึ่งเดียว คือลงแค่ที่ทำการ ล้างหน้าล้างตาก่อนจะเดินต่อไปเอง
ยังสถานีรถไฟ


ไปลามาไหว้

ทุกอย่างยังดำเนินต่อไปตามแผนที่วางไว้คร่าวๆ ไม่ช้าก็ถึงสถานีรถไฟขุนตานก่อนเวลารถไฟมา 30 นาที
มีเวลาพอที่จะแวะชมอุโมงค์ขุนตานที่มีความยาวถึง 1,300 เมตร ซึ่งยาวเป็นอันดับที่ 1 จากจำนวน 
7 อุโมงค์ รถไฟในประเทศไทยในปัจจุบัน ปากอุโมงค์ก่อด้วยอิฐสีแดงเด่นชัด และมีตราครุฑอยู่เหนือ
ปากอุโมงค์ บริเวณปากถ้ำมีศาลเจ้าพ่อขุนตาน ด้านบนมีศาลพระยาเบิก ทำการไหว้สักการะก่อนเดินทางไปต่อ


การเปลี่ยนแปลงที่ดี

รถไฟพัดลมชั้น 3 ท้องถิ่นขบวน 51 ที่ต้องลุ้นว่าจะมีตั๋วนั่งหรือป่าว ในราคา 10 บาท เวลา 11.05 น.
เพื่อลงสถานีลำพูน (จองได้วันต่อวัน) จากที่เคยนั่งรถไฟปู๊นๆ มาก็หลายเที่ยวหลายจังหวัดสังเกตุว่า ปัจจุบันรถไฟไทยค่อนข้างจะตรงเวลาพอสมควร จะสายอย่างมากก็ 5 – 10 นาที นับเป็นเรื่องที่ดี 

เวลา 12.20 น. เป้าหมาย สถานีลำพูน เราจองรถไฟชั้น 3 กลับกรุงเทพไว้แล้วเวลา 15.48 น. ทำให้มีเวลาพอสมควร ดังนั้นต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า


เมืองลำพูน 

จากสถานีรถไฟเพื่อไปยังในตัวเมือง การพูดคุยหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สองมือยกพนม
ปากฉีกยิ้มด้วยความจริงใจทำให้เราสามารถขอฝากกระเป๋าสัมภาระไว้ที่สถานี เอาไปเพียงแต่ของมีค่าติดตัวไปเที่ยวต่ออย่างสบายตัว 

พร้อมกับการเดินทางโดยรถยนต์ของพี่วินคนนึง ที่บริการไปส่งด้วยรถยนต์มีแอร์สบาย ในราคาท่ากับมอเตอร์ไซค์ขามา พร้อมแนะนำสถานที่ต่างๆก่อนทิ้งเบอร์เอาไว้เผื่อขากลับ (063-509-4060 เผื่อใครสนใจใช้บริการ) คนเมืองนี้ใจ๋ดีจังเน่อ...


ตะลัยเมืองลำพูน

ก่อนจะแวะกินมื้อเที่ยงที่ร้านข้าวมันไก่มีชื่อ หลังวัดพระธาตุหริฯ ที่รสชาติอร่อยเลยทีเดียว น้ำซุปที่มีเนื้อติดกระดูกตักได้ไม่อั้น แถมราคาปกติไม่ได้แพง ก็แวะซื้อตั๋วรถรางชมเมืองลำพูน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไหว้พระ 9 วัด ราคาเพียงคนละ 50 บาท มี 2 รอบ รอบเช้า 9.30 น. และรอบบ่ายก็ 13.30 น. ที่หน้าวัด
พระธาตุหริฯ

โดยรถรางพาไปเที่ยวตามจุดท่องเที่ยวในเมืองรวม 11 จุด คือ จุดที่ 1 วัดพระธาตุหริภุญชัย 2 พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน 3 คุ้มเจ้ายอดเรือน 4 อนุสาวรีย์จามเทวี 5 วัดจามเทวี 6 วัดมหาวัน 7วัดพระคงฤาษี
8 วัดสันป่ายางหลวง 9 โบราณสถานกู่ช้างกู่มา 10 วัดพระยืน 11 วัดต้นแก้ว พร้อมมีพี่คนขับคอยอธิบายประวัติที่ต่างๆ ด้วย บอกเลยว่าคุ้มค่ากับ 50 บาทมาก 

แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัดจึงทำให้เราไปได้แค่กู่ช้างกู่ม้า เป็นที่สุดท้ายจึงต้องสละเรือกลางคันก่อน...


บทส่งท้าย

รถไฟพัดลมชั้น 3 ขบวนด่วน 52 เวลา 15.48 น. ปลายทางสถานีกรุงเทพ ในราคา 268 บาท/คน
จองไว้ก่อนจะมาเพราะถ้าไม่งั้นตั๋วเต็มตลอด รถค่อยๆ ออกจากชานชาลา เสียงบดของล้อเหล็ก
กับรางนั้นยังคงคุ้นเคย 

รถไฟวิ่งผ่านอุโมงค์ขุนตานอีกครั้งหนึ่งเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพ ผู้คนบนรถไฟจับจองแสดงกรรมสิทธิ์
ในการเป็นเจ้าของที่นั่ง ตามหมายเลข ตัวอักษรดำๆ เขียวๆที่อยู่บนกระดาษในมือ ที่แลกมาด้วยเงินตรา 

นี่น่าจะเป็นทริปส่งท้ายปี 2562 ความทรงจำดีๆ ยังคงอยู่มิรู้ลืม ประสบการณ์นั้นที่เพิ่มพูนมากขึ้น
หมดไปอีกทริปโตขึ้นไปอีกนิดแล้วนะ...


- สวัสดี -

#เสือซ่อนยิ้ม

เสือซ่อนยิ้ม

 วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 20.56 น.

ความคิดเห็น