ตามหา  2 นางยักษ์ใน 2 วรรณคดีไทย พระอภัยมณี และ สังข์ทอง ที่จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อนึกถึงจังหวัดเพชรบุรี หลายๆ คนก็มักจะนึกถึงทะเลชะอำใช่ไหมคะ แต่วันนี้ Pira Story จะพาทุกคนไปเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์พร้อมตามรอยวรรณคดีไทยไปกับทริป “ตามหายักษ์” โดยเราจะไปตามหายักษ์ 2 ตนจากวรรณกรรมไทย 2 เรื่อง ได้แก่

นางผีเสื้อสมุทรจากเรื่องพระอภัยมณี ที่ หาดปึกเตียน (Puek Tian Beach)

นางยักษ์พันธุรัตจากเรื่องสังข์ทอง ที่ วนอุทยานเขานางพันธุรัต (Khao Nang Panthurat Forest Park)

ถ้าพร้อมกันแล้ว ตามไปดูพร้อมกันได้เลยค่ะ


วิธีเดินทาง กรุงเทพ - เพชรบุรี

นั่งรถบัสจากสายใต้ใหม่ (ค่ารถคนละ 150 บาท) มาลงตรงแยกชายหาดชะอำ แล้วเดินมาเช็คอินที่โรงแรม หลังจากนั้นเช่ามอเตอร์ไซค์ (ค่าเช่าวันละ 250 บาท) เพื่อขี่เที่ยวรอบๆ ค่ะ ขากลับก็นั่งรถตู้จากท่ารถที่ชายหาดชะอำไปสุดสายที่สายใต้ใหม่

ตามมานางผีเสื้อสมุทรจากเรื่องพระอภัยมณี ที่ หาดปึกเตียน (Puek Tian Beach)

จุดหมายแรกของพวกเราคือ “หาดปึกเตียน” กว่าจะซิ่งรถมาถึงก็เกือบเที่ยงวัน แดดกำลังแรงเลยค่ะ
หาดปึกเตียนเป็นหาดที่ เงียบสงบ เป็นส่วนตัวดีมาก ช่วงเวลาที่ไปถึงเป็นเวลาที่น้ำขึ้นพอดี จะเห็นคลื่นทะเลซัดกระทบฝั่งเสียงดังครืนๆ ตลอด คลื่นแรงมาก ถ้าใครจะลงเล่นน้ำ ควรรอช่วงที่น้ำลดลงจนเห็นพื้นทรายดีกว่านะคะ

เมื่อมาถึง เราก็พบกับรูปปั้นพระอภัยมณีกำลังเป่าปี่ และนางยักษ์สีดำทะมึน ยืนสงบนิ่งอยู่ไกลๆ

ฉากนี้คือฉากที่พระอภัยมณีกำลังเป่าปี่ เพื่อหยุดนางผีเสื้อสมุทรไม่ให้ทำร้ายผู้อื่นนั่นเองค่ะ ในช่วงที่น้ำลด เราสามารถเดินไปจนถึงรูปปั้นได้เลยค่ะ และถ้าสังเกตที่ฐานของพระอภัยมณีดีๆ จะมีมือโผล่ออกมาจากฐานด้วย คาดว่าน่าจะเป็นมือของรูปปั้นนางเงือกที่เคยตั้งอยู่ตรงนี้ แต่ตอนนี้ย้ายออกไปแล้ว เหลือแต่มือทิ้งเอาไว้ 1 ข้างให้รู้สึกหลอนๆ เวลาที่เห็นค่ะ

ขนาดยืนมองนิ่งๆ รูปปั้นขนาดใหญ่มาก ขนาดเรายืนมองอยู่บนฝั่งไกลขนาดนี้ ก็ยังรู้สึกกลัวนิดๆ แม่ค้าที่คอยดูแลเก้าอี้ผ้าใบให้เช่าเล่าให้ฟังว่า มีคนมาขอพรและบนบานเรื่องต่างๆ จากนางผีเสื้อสมุทรอยู่เรื่อยๆ และของที่นำมาแก้บนคือเนื้อสดและผ้าสามสี จึงทำให้เรามองไปเห็นผ้าสามสีผูกห้อยอยู่บนรูปปั้นนางผีเสื้อสมุทรมากมายนั่นเอง

นอกจากประติมากรรมรูปพระอภัยมณีและนางผีเสื้อสมุทรกลางทะเล บนฝั่งก็ยังมีประติมากรรมรูปตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง อย่างนางเงือก สุดสาครที่กำลังขี่ม้านิลมังกร พระฤๅษี และสุนทรภู่ กวีเอกผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณีขึ้นมา

นางเงือก นางเอกคนหนึ่งจากเรื่องพระอภัยมณี

สุดสาครที่กำลังขี่ม้านิลมังกร

หลังจากเดินชมวิว และชื่นชมความสวยงามของทะเลที่นี่แล้ว ก็ถึงเวลาออกเดินทางไปจุดหมายต่อไปคือ “วนอุทยานเขานางพันธุรัต” แล้วค่ะ

ตามมานางยักษ์พันธุรัต จากเรื่องสังข์ทอง ที่ วนอุทยานเขานางพันธุรัต (Khao Nang Panthurat Forest Park)

ก่อนถึงวนอุทยานเขานางพันธุรัต จะพบกับ “โบราณสถานทุ่งเศรษฐี” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “เจดีย์ทุ่งเศรษฐี”

เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดินฉาบปูน ถูกสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1300 กว้างด้านละ 25 เมตร รูปทรงคล้ายเจดีย์จุลประโทนที่จังหวัดนครปฐมส่วนบนของเจดีย์พังทลายไปแล้วจนเหลือความสูงแค่ 5 เมตร มีร่องรอยการประดับด้วยปะติมากรรมปูนปั้นแบบทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 - 16) เช่น บุคคล สัตว์ และลวดลายต่างๆ จำนวนมาก หลังจากเดิมชมเสร็จแล้ว ก็เดินทางกันต่อ

ทางเข้าวนอุทยานเขาพันธุรัต วิวสวยมากค่ะ มองเห็นภูเขาหินปูนรูปทรงสวยงามตามธรรมชาติอยู่ด้านหลัง

มาถึงที่ทำการวนอุทยานละค่ะ

เทือกเขายาวเป็นแนวสลับซับซ้อน มองจากทะเลจะเห็นเขาลูกนี้คล้ายกับคนนอนทอดยาว ใส่หมวกกุ้ยโล้ว หันหัวไปทางทิศใต้คล้ายรูปนางยักษ์นอนตาย จึงกลายเป็นความเชื่อของชาวเพชรบุรีว่าเทือกเขานี้คือร่างของนางยักษ์พันธุรัตจากวรรณคดีเรื่องสังข์ทองนั่นเอง

วรรณคดีเรื่องสังข์ทอง มี 9 ตอน โดยนางพันธุรัตปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ 2 ตอนคือ ในตอนที่ 3 ตอนนางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์ และ ตอนที่ 4 คือตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต

เขานางพันธุรัต หรือ ภูเขาเจ้าลาย มีแท่งหินขนาดใหญ่ยื่นอยู่ด้านบนของเทือกเขา เรียกว่า “โกศนางพันธุรัต” ซึ่งพังทลายลงมาเมื่อปี พ.ศ.2537 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์เทือกเขานี้เอาไว้

เมื่อเรามาถึงก็จะพบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติวรรณคดีไทยสังข์ทอง (Thai Literature Sungthong Nature Trails) เป็นเส้นทางเดินที่มีระยะทาง 2.5 กิโลเมตร โดยตลอดทางเดินนี้จะมีการนำจุดเด่นทางธรรมชาติมาจินตนาการเขียนเป็นเรื่องราวให้สอดคล้องกับเนื้อหาในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง ให้เราได้เพลิดเพลินกัเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางยักษ์พันธุรัตและสังข์ทองไปพร้อมๆ กับชมความสวยงามของภูเขาหินปูน พรรณไม้ และสัตว์ป่าค่ะ

เราเริ่มต้นเดินจากเส้นทางที่ใกล้ที่สุด นั่นคือเส้นทางขึ้นไปสักการะ "ศาลพันธุรัต" และขึ้นชมวิวที่ "ช่องกระจกนางพันธุรัต" ค่ะ

เดินขึ้นบันไดไปไม่ไกล (แต่ก็เหงื่อแตกนิดนึง) ก็จะพบกับศาลให้แวะสักการะนิดนึง เสร็จแล้วก็เดินขึ้นไปต่อ จะพบกับจุดชมวิว และไฮไลท์ของตรงนี้คือ “ช่องกระจกนางพันธุรัต”

“ช่องกระจกนางพันธุรัต” เป็นช่องว่างระหว่างหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กว้าง1.5 เมตร สูง 4 เมตร สามารถเดินลอดมายังจุดชมวิวได้

โดยช่องเขานี้ตั้งชื่อตามกระจกที่นางยักษ์พันธุรัตใช้ส่องดูความเรียบร้อยของตัวเองก่อนจะไปหาพระสังข์ เพราะไม่อยากให้พระสังข์รู้ว่าตนเองเป็นยักษ์ จึงต้องตรวจเช็คให้แน่ใจเสียก่อนว่ามีร่องรอยคราบเลือดจากการกินสัตว์ป่าติดอยู่ตรงไหนบ้างหรือเปล่า

วิวจากบริเวณช่องกระจกนางพันธุรัต จะมองทะลุออกไปเห็น “เมรุนางพันธุรัต” (Nang Phanthurat ‘s Crematory) เป็นเขาหินปูนที่มีรูปทรงเป็นแท่งคล้ายพีระมิด ดูคล้ายเมรุเผาศพของคนสมัยโบราณ โดยบริเวณนี้จะมีพืชทนแล้งที่มีลำต้นอวบน้ำ มีหนามแหลม แคระแกร็น และมีรากที่ยึดเกาะพื้นผิวได้ดี เช่น สลัดได เสมา จันผา กาญจนิกา เป็นต้น

ใครที่รู้สึกเดินขึ้นเขาเท่านี้ยังเหนื่อยไม่สะใจ มีใจสู้ อยากไปต่อ ไปค่ะ! เราไปดูยอดเขาต่อไปกันเลยดีกว่า เลือกเดินไปตาม "เส้นทางศึกษาธรรมชาติ" ทางขวาเลยค่ะ

ก่อนเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็แวะอ่านป้ายความรู้เกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ ในพื้นที่นี้สักหน่อย เผื่อเจอจะได้รู้ว่านี่คือนกชนิดได้ค่ะ

ก่อนเริ่มต้นเดินขึ้นเขา ก็จะพบกับป้ายห้ามส่งเสียงดัง ที่ทำออกมาได้น่ารัก เข้ากับสถานที่มากค่ะ

เริ่มต้นกันด้วยทางเดินบันไดปูนแบบนี้ เดินง่ายๆ สบายๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ

พอเดินไปสักพัก บันไดปูนก็เริ่มหายไป กลายเป็นทางลาดแบบนี้แทน

ยิ่งเดิน ทางก็ยิ่งคดเคี้ยวขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างที่เดินก็ชมความสวยงามของต้นไม้รอบข้าง และหินที่วางระเกะระกะสวยงามตามธรรมชาติค่ะ

เดินขึ้นมาสักพักก็จะเจอกับบ่อชุบตัวพระสังข์ขนาดเล็ก ส่วนบ่อจริงขนาดใหญ่ยักษ์นั้นอยู่บนยอดเขา เห็นบ่อเล็กแล้วก็มีกำลังใจ อยากขึ้นไปเห็นบ่อของจริงไวๆ แล้วค่ะ

เดินขึ้นไปเรื่อยๆ พักจิบน้ำบ้าง ชมวิวบ้าง ในที่สุดเราก็มาถึง "ลานเกือกแก้ว" ลานพื้นราบ รูปร่างเหมือนเกือกม้า ตรงนี้จะเป็นทางแยกสามารถเลือกได้ว่าจะตรงขึ้นไปชมบ่อชุบตัวพระสังข์ หรือจะเลี้ยวขวาไปจุดชมวิวคอกช้างก็ได้

ใครที่รู้สึกเหนื่อยจากการเดินขึ้นทางชันเป็นเวลานาน สามารถพักยืดเส้นยืดสายที่ลานเกือกแก้วได้ค่ะ มีเงาไม้ร่มๆ พร้อมพื้นราบๆ ให้เราได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อกัน

พักจนหายเหนื่อยแล้วก็เดินไปต่อค่ะ อีก 259 เมตรก็จะถึงบ่อชุบตัวพระสังข์แล้ว

พอเดินขึ้นมาสักพัก เราก็พบกับป้ายนี้!

ไม่มีทางเดิน มีแต่ก้อนหินล้วนๆ เลยค่ะ ถึงกับเหงื่อตกเบาๆ

เราอย่ารอช้า ปีนขึ้นไปค่ะ! จุดที่ยากทีุ่ดคือหินปูนแหลมคม ตรงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการปีนนิดนึง เพราะไม่มีทางเดินที่ชัดเจน ไม่มีบันได เป็นหินธรรมชาติ เวลาปีนก็ค่อยๆ ใจเย็นๆ ลองใช้เท้าเหยียบดูก่อนว่าพื้นมั่นคงมั้ย ก่อนที่จะก้าวเท้าลงไป พอผ่านตรงนี้มาได้ ทางที่เหลือก็ไม่ยากแล้วค่ะ

เอกลักษณ์พิเศษของเขานางพันธุรัตแห่งนี้คือ จะพบหอยสังข์ อยู่ทั่วไป เข้ากับวรรณคดีเรื่องสังข์ทองเลยค่ะ

หลังจากเดินกันจนหอบแฮ่กๆ ในที่สุดเราก็เห็นป่าไผ่อยู่ตรงหน้า เกือบถึงจุดหมายของเราแล้วค่ะ!

เมื่อมาถึงยอดบนสุด เราจะพบกับพื้นราบ (ที่รอคอยมานาน) และป่าไผ่สีทองสวย พิระไปช่วงหน้าหนาวเลยได้เห็นใบไผ่สีเหลืองทองสวยมากค่ะ

ถึงจะเป็นหน้าหนาว แต่อากาศร้อนไม่ใช่เล่นเลยค่ะอย่าลืมพกน้ำดื่มและหมวกกันแดดมาด้วยนะคะ วิวจากป่าไผ่ตรงนี้สวยมากค่ะ มองเห็นวิวไกลสุดลูกหูลูกตาเลย

เดินมาจนเจอป้ายนี้ เดินตรงไปอีกนิด ใกล้ถึงแล้ว!

ถึงชะง่อนหินผาที่เรารอคอยแล้วค่ะ ตรงนี้ต้องระมัดระวังหน่อยนะคะ เพราะไม่มีรั้วหรือราวกั้นใดๆ เลย

มองจากชะง่อนหินตรงนี้จะเห็นยอดเขาฝั่งตรงข้ามสีเข้มทะมึนตัดกับต้นไม้ตรงหน้า สวยแปลกตามากค่ะ

ชะง่อนหินผาตรงนี้ เมื่อมองลงไปก็จะเห็นหุบเหวลึก พร้อมต้นไม้ใหญ่สีเขียวชอุ่ม ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูน นี่แหละค่ะคือบ่อชุบตัวพระสังข์ (บ่อลึกขนาดนี้เลย พระสังข์ลงไปชุบตัวยังไงคะเนี่ย)

หุบเขาลึกตรงหน้านี่คือบ่อชุบตัวพระสังข์ค่ะ ถ่ายรูปยากมาก เพราะอีกนิดนึงก็ถึงหน้าผาแล้ว ต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นจนเรามองไม่เห็นพื้นด้านล่าง เดินขึ้นเขามาตั้งไกล ก็ขอถ่ายรูปกับชะง่อนหินและหุบเขาเป็นที่ระลึกสักหน่อยค่ะ

เห็นวิวตรงนี้แล้วหายเหนื่อยเลยค่ะ สวยอลังการมากๆ

ก่อนกลับแวะปั๊มตราประทับเป็นที่ระลึกสักหน่อย ใครชอบสะสมตราประทับวนอุทยาน อย่าลืมแวะไปปั๊มกันนะคะ

ทริปตามหานางยักษ์ครั้งนี้ก็จบเพียงเท่านี้ค่ะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนถึงหน้านี้นะคะ ขอให้มีความสุขกับการเดินทางค่ะ

------------------------------------

ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่

Facebook: https://www.facebook.com/PiraP...

Twitter: https://twitter.com/PiraPira_S...

Instagram: https://www.instagram.com/pira...

Blog: https://pirastory.com/

Pira Story

 วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 15.37 น.

ความคิดเห็น