พิพิฑภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรเป็นอาคารหนึ่งที่ถูกก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2538 เพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย-จีน ที่มีอายุครบ 20 ปี  เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของชาวจีน ในประเทศไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็น อารยธรรมที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีอายุยาว นานถึง 5,000 ปี บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรีออกแบบเป็นสัญลักษณ์รูปมังกรสัตว์เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ที่รู้จักกันดี ลำตัวมังกรภายนอกออกแบบอย่างถูกต้องตามลักษณะความเชื่อ หน้าต้องเป็นอูฐ ตาเหมือนกระต่าย มองเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น มีเขาของกวาง หูของวัว ตัวของงู เกล็ดของปลา ขาของเสือ อุ้งเท้าของ เหยี่ยว สีของลำตัวเลียนแบบเครื่องกังไสโบราณ ภายใต้ตัวมังกรใหญ่ เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร"

ส่วนฐานของมังกรด้านหน้า จะเป็นทางเข้า และที่นั่งรอ โดยเก็บค่าเข้าชมคนละ 299 บาท ในส่วนของการซื้อบัตร ทางพิพิฑภัณฑ์ได้มีลูกเล่นเล็กๆน้อยๆให้ประทับใจ คือส่วนใหญ่เราจะจ่ายเงินไป 300 บาท เงินทอน 1 บาทจะถูกบรรจุอยู่ในซองสีแดงตามความเชื่อของคนจีน น่ารักดีครับ

ด้านในก่อนบริเวณซื้อตั๋ว จะมีของตั้งโชว์อยู่บางส่วน ที่น่าสนใจก้อคือมังกรทองคำครับ สวยงามมากๆเลย

เอาล่ะครับ ได้เวลาแล้ว เดินตามกันเข้ามาเลย

ภายใน พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธ์ุมังกร จัดแบ่งเป็นห้องๆ ทั้งหมด 21 ห้อง ห้องแรกจะเป็น ห้องฉายภาพยนตร์ เข้ามาจะเจอจอโค้งขนาดใหญ่ไว้ฉายภาพ เพื่อแสดงประวัติความเป็นมาต่างๆครับ

ห้องที่2 ห้องเทพนิยาย (กำเนิดโลก) : ชาวจีนเชื่อว่าโลกถูกสร้างขึ้นโดยเทพบิดร “ผานกู่” ซึ่งสละชีวิตแยกแผ่นดิน แผ่นฟ้าออกจากัน ธรรมชาติต่างๆ เป็นต้นว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ ขุนเขา สายน้ำ ฯลฯ มาจากเลือดเนื้อ ร่างกายของ “ผานกู่” สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ ล้วนกำเนิดจากที่มาเดียวกัน

ห้องที่3 ห้องเทพนิยาย (กำเนิดมนุษย์) : เทพธิดาหนี่วาปั้นมนุษย์ ชาย-หญิงคู่แรก ซึ่งบรรพบุรุษของพี่น้องชาวจีน ขึ้นจากดินแม่น้ำเหลือง แล้วทรงชุบเสกให้มีชีวิต สืบลูกหลานต่อมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุผลทำไมชาวจีนถึงมีผิวเหลือง

ห้องที่4 ห้องตำนาน(เสินหนง) : บิดาแห่งสมุนไพร เชื่อกันว่าเป็นบุคคลเดียวกับเอี๋ยนตี๋ 1ใน2 ปฐมกษัตริย์จีน และยังเป็นผู้ค้นพบใบชา ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติจีนในปัจจุบัน

ห้องที่5 ห้องตำนาน(ปฐมกษัตริย์) : “หวงตี้” - “เอี๋ยนตี้” 2 ผู้นำชนเผ่า ผู้ร่วมก่อร่างสร้างแผ่นดินจีน เมื่อ 5,000 ปี ที่ผ่านมาถือเป็นปฐมกษัตริย์ ที่ชาวจีนยกย่องให้เป็นบรรพบุรุษ เรียกตนเองว่า “ลูกหลานเอี๋ยน-หวง”

ห้องที่6 ห้องราชวงศ์เซี่ย-ซาง : ตำนานปลาหลีฮื้อกลายเป็นมังกร “ต้าอวี่” ผู้ค้นพบการแก้ปัญหาอุทกภัยแม่น้ำเหลือง ยุคแห่งการค้นพบสำริด และอักษรกระดองเต่า อักษรจีนยุคแรกในประวัติศาสตร์

ห้องที่7 ห้องราชวงศ์โจว : ยุคแห่งนักคิด นักปราชญ์ “ร้อยสำนักประชัน” เล่าจื้อ ผู้ให้กำเนิดลัทธิเต๋า ซุนอู่ ผู้แต่งตำราพิชัยสงคราม “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ไซซี 1 ใน4 หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า “มัจฉาจมวารี” ขงจื้อ ผู้สอนให้มนุษย์ ปฎิบัติต่อกันด้วยความรัก คำสอนของขงจื้อยังคงอิทธิพลต่อชาวจีนถึงปัจจุบัน ณีหยวน กวรผู้รักชาติ ต้นกำเนิดขนมบะจ่าง และประเพณีการแข่งเรือมังกร ในห้องนี้จะมีการฉายภาพ graphic ผสมไปกับหุ่นจำลองด้วยครับ

ห้องที่8 ห้องราชวงศ์ฉิน : จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกในประวัติศาสตร์ผู้สร้างกำแพงเมืองจีน ลิ่งก่อสร้างอันน่ามหัศจรรย์ สุสานทหารดินเผาที่เลื่องลือไปทั่วโลก ผู้ปฎิรูปให้อักษรจีน และระบบเงินตราหลากหลายรูปแบบ เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ห้องที่9 ห้องราชวงศ์ฮั่น : ยุคแห่งความรุ่งเรือง และความภาคภูมิใจทำให้ชาวจีน เรียกตัวเองว่า “ชาวฮั่น” จุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ นิกายมหายานในประเทศจีน เส้นทางสายแพรไหมที่เชื่อมต่อการค้าของโลกยุคโบราณ ยุคแห่งการค้นพบกระดาษ และหวังเจาจวิน หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า “ปักษีตกนภา”

ห้องที่10 ห้องสามก๊ก : จากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์อันเป็นอมตะ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายราชวงศ์ฮั่น ช่วงที่แผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊ก นำเสนอเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับการเล่าขานกันต่อมาไม่รู้จบ ยุทธนาวีที่ผาแดง “โจโฉแตกทัพเรือ”

ห้องที่11 ห้องราชวงศ์สุย : ปกครองแผ่นดินจีน เพียงช่วงระยะสั้นๆ ฝากผลงานสำคัญไว้ในแผ่นดินคือ การขุดคลอง “ต่าอวิ่นเหอ” นับพันกิโลเมตร ถือเป็นคลองขุด ที่ยาวที่สุดในประเทศจีน เพื่อเป็นเส้นทางประพาสของฮ่องเต้ กระทั่งกลายเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ที่สำคัญที่สุดในเวลาต่อมา

ห้องที่12 ห้องราชวงศ์ถัง: ยุคแห่งความรุ่งเรือง เฟื่องฟู ตำนานวัดเส้าหลิน แหล่งกำเนิดวิทยายุทธ์ ที่สืบทอดจากปรมจารย์ตั๊กม้อ บูเชคเทียนฮ่องเต้หญิงองค์แรก และองค์เดียวในประวติศาสตร์จีน หยางกุ้ยเฟย หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า “มวลผกาละอายนาง”

ห้องที่13 ห้องราชวงศ์ซ่งเหนือ(เปาบุ้นจิ้น) : ผู้ทรงความยุติธรรม แห่งศาลไคฟง ตำนานแห่งการประหารหัวสุนัข พยัคฆ์ และมังกร ชมการตัดสินคดี ประหารราชบุตรเขย อันตื่เต้น เร้าใจ

ห้องที่14 ห้องราชวงศ์ซ้งใต้ (งักฮุย) : ขุนพลผู้รักชาติ ถูกกังฉินใส่ร้ายจนเสียชีวิต ด้วยสุราพิษพระราชทาน ที่มาแห่งขนมปาท่องโก๋ หรือ “อิ้วจาก้วย” ที่ใช้แป้งเป็นสัญลักษณ์ แทนกังฉินผัวเมียนำมาทอดน้ำมัน ขบเคี้ยวระบายความแค้น

ห้องที่15 ห้องราชวงศ์หยวน : เมื่อชาวจีนถูกปกครอง โดยพวกมองโกลอย่างกดขี่ จึงรวมตัวกันลุกฮือขึ้นต่อต้าน สอดสาส์นลับใส่ขนมเพื่อนัดหมายก่อการโค่ล้มมองโกล ตำนานที่มาแห่งขนมไหว้พระจันทร์ ชมสะพานมาโคโบโลสถานที่สำคัญ ในประวัติศาสตร์ และหมู่บ้านจำลองที่มีอายุราว 700 ปี

ห้องที่16 ห้องราชวงศ์หมิง(เจิ้งเหอ) : เจิ้งเหอ มหาขันทีผู้รับบัญชาฮ่องเต้ ผู้นำกองเรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” พร้อมลูกเรือกว่า 20,000 ชีวิต ออกสมุทรยาตราทั่วโลกถึง7ครั้ง ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเดินเรือคนสำคัญของโลก ตำนานแห่งเทพเจ้าซำเปากง

ห้องที่17 ห้องราชวงศ์หมิง (เครื่องลายคราม) : เครื่องกระเบื้องเคลือบสีขาวเขียนลายน้ำเงิน เอกลักษณ์อันโดดเด่นที่รู้จักกันทั่วโลก ชมการจัดสวนสไตล์จีน และเครื่องเรือนอันงดงามด้วยศิลปะ  (ห้องนี้ไม่ได้ถ่ายภาพมาครับ)

ห้องที่18 ห้องราชวงศ์ชิง (โรงงิ้ว-โรงฝิ่น) : งิ้วหรืออุปรากรจีน เป็นศิลปะการแสดงอันงดงามวิจิตร ที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นนาฏศิลป์สำคัญแขนงหนึ่งของโลก ชมเหตุการณ์ปลายราชวงศ์ชิง เมื่อฝิ่นกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวจีน กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออก ก่อให้เกิดสงครามฝิ่นอันนำไปสู่การปล่อยเกาะฮ่องกงให้เช่านานถึง 99 ปี

ห้องที่19 ห้องราชวงศ์ชิง(จักรพรรดิ์องค์สุดท้าย) : “ปูยี” ฮ่องเต้วัย 3 ชันษา จากการแต่งตั้งของซูซีไทเฮา ฮ่องเต้องค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ ผู้ปิดตำนานการปกครอง ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “โอรสแห่งสวรรค์” อันยาวนานกว่า 2,000ปี

ห้องที่20 ห้องยุคสาธารณรัฐ : จากซุนยัดเซ็นผู้นำการปฎิวัติ โค่นล้ม ระบอบฮ่องเต้ เปลี่ยนจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ มาถึงเหมาเจ๋อตุง ผู้นำประเทศจีนเข้าสู่สังคมนิยม เปลี่ยนผ่านสู่เติ้งเสี่ยวผิง ผู้ปฎิวัติจีนสู่ยุค 4ทันสมัย กระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจของโลกประเทศหนึ่งในปัจจุบัน

ห้องสุดท้าย ห้องชาวไทยในประเทศสยาม : ประวัติความเป็นมาของพี่น้องชาวไทย เชื้อสายจีนในประเทศไทย ต้นกำเนิด ตระกูลแซ่ต่างๆ จากบรรพชนสู่อภิชาตบุตรลงหลักปักฐาน สร้างฐานะเป็นปึกแผ่นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ความภาคภูมิใจ ของลูกหลานพันธ์ุมังกร

เมื่อชมจบหมดทั้ง 21 ห้องแล้ว ทางออกจะอยู่ทางด้านหลังมังกรครับ โดยเราจะต้องเดินผ่านซุ้มประตูที่ตกแต่งสไตล์จีนอย่างสวยงามออก

ใครผ่านไปสุพรรณ อย่าลืมแวะเข้าไปเที่ยวนะครับ บางคนติงว่าค่าเข้าค่อนข้างแพง แต่ถ้าเทียบกับห้องทั้ง 21 ห้องที่เราเดินเข้าไป ก้อไม่ถือว่าแพงเท่าไหร่นะครับ ที่นี่ก้อเป็นอีกหนึ่งที่ ที่ไม่ควรพลาดครับผม

-----------------------------------------------------------------------
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/
https://www.facebook.com/voravuds


Voravud Santiraveewan

 วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.47 น.

ความคิดเห็น