บอกตรงๆว่าก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้ยินชื่อของวัดท่าไม้มาก่อน มาได้ยินก้อตอนที่เห็นสติ๊กเกอร์วัดท่าไม้ติดอยู่ที่ท้ายรถหลายคัน เห็นบ่อยจนเริ่มสงสัย ว่าวัดอะไร ทำไมติดกันเยอะจัง มาเห็นอีกทีก็ตอนที่มีป้ายโฆษณา ที่มีรูปดาราเยอะแยะ แล้วก้อไม่ได้สนใจอะไร

จนกระทั่งวันนึง คุณแม่ลองไปดู ผมเลยขับรถพาคุณแม่ไป ตอนแรกกะจะไปตัวเปล่า ไม่ได้เอาอุปกรณ์กล้องอะไรไป แต่คิดอีกทีหยิบเผื่อไปดีกว่า เลยเป็นที่มาของรีวิวชุดนี้ครับ (ถ้าไม่ได้เอากล้องไปจะเสียดายมากๆ)

วัดท่าไม้ตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ 11 ถ.เศรษฐกิจ 1 ซอย 8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร  การเดินทางไปไม่ยากเลยครับ ให้ google map นำทางไปก้อได้ วัดท่าไม้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด จำนวน 6 ไร่ โดยทิศเหนือติดแม้น้ำท่าจีนวัดนี้ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2520 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามมะสีมา เมื่อปี พุทธศักราช2537

นับย้อนไปเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีพระภิกษุหนุ่มอายุราว ๒๔ ปี แบกกลดสะพายบาตร ยืนสงบอยู่ ทราบว่า ท่านเป็นพระธุดงค์ชื่อ ยอดชาย ฉายา อุปติสฺโส พรรษา ๑ วัดหนองโตนด (พันท้าว) ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ต้องการหาสถานที่เพื่อปฏิบัติสมณธรรม คุณทุยดีใจและได้ชี้นำบริเวณปากคลองคอกหมู ริมแม่น้ำท่าจีน อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นนัก ให้เป็นที่พักซึ่งวิเวกร่มรื่นสงบ อากาศดีไม่มีคนพลุกพล่าน คุณทุยได้ขอปวารณาตัวเพื่ออุปถัมภ์ท่านตลอดไป แล้วชักชวนญาติสนิทมิตรสหาย ช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์


โบสถ์ใหญ่วัดท่าไม้ที่กำลังก่อสร้างอยู่ มีทางเดินที่ประดับไปด้วยเสาหินสีขาวสะอาดตา สวยงามมาก

ด้วยจริยาวัตร และสามัคคีธรรมร่วมกันของพระภิกขุกับชาวบ้าน ประสงค์จะสร้างเป็นวัด ให้ถาวรวัฒนาสืบไป จึงขออนุญาตสร้างวัด ซึ่งต้องรวบรวมเงินยืมจากคหบดีใกล้เคียง มาเป็นทุนจดทะเบียนในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ และเมื่อวันที่ ๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ จนได้รับใบอนุญาตสร้างวัดจากกรมการศาสนา ให้นามว่า “สำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี(ท่าไม้)” ตั้งแต่นั้นมา

ท่านพระอาจารย์ยอด ประกอบด้วยบารมี สามารถสร้างศรัทธาและพัฒนาสำนักสงฆ์ ให้เจริญทั้งวัตถุธรรมและศีลธรรม ตลอดจนสาธารณประโยชน์ อาทิ ศาลาท่า,บ่อสูบน้ำบาดาลจ่ายไปยังหมู่บ้านหมู่ ๑๑, ติดตั้งไฟฟ้า, สร้างศาลาการเปรียญ  เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้น ใช้ทางเข้าออกสำนัก เพียงทางเรือทางเดียว ท่านจึงดำเนินการขอถนน เส้นทางจากวัดท่ากระบือมายังสำนักสงฆ์ ระยะทางยาวประมาณ ๕ กิโลเมตรเศษ

ต้นฤดูหนาว คืนวันพุธก่อนวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นวันลอยกระทง  ท่านพระอาจารย์ยอด  แจ้งแก่คุณทวี สมท่า ชาวบ้านอ้อมใหญ่ศิษย์ผู้ดูแลใกล้ชิดว่า “ขอฝากวัดด้วย” รุ่งขึ้นท่านได้จาริกหายไป  ไม่กลับคืนอีกเลย   รวมเวลา ๔ ปี ของท่านพระอาจารย์ยอดชาย  อุปติสฺโส

วัดทิ้งร้างห่างหลายปี มีบางท่าน  ได้เสนอให้ยุบเลิกวัดเสีย  แต่ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ขณะนั้นคือ ท่านพระครูธรรมรัตน์ วัดนางสาว ได้เล็งเห็นประโยชน์แก่มหาชนรุ่นหลัง ให้คงสภาพสำนักสงฆ์ต่อไป และมอบให้ ท่านพระอาจารย์ประสิทธิ์  กิตฺติภทฺโท อายุ ๒๓ ปี พรรษา ๒ นักธรรมโท มาเป็นผู้ปกครองดูแล  ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๗   ร่วมกับ  พระวิรัตน์  ตนฺติปาโล  อายุ ๒๗ ปี พรรษา ๕  นักธรรมเอก  จากวัดนางสาวเช่นกัน

คุณแม่จินตนา  แสงวิรุณ  ได้นิมนต์ให้พระอาจารย์สุรสิงห์  สุรสีโล มาพักรักษาตัวที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ระหว่างวันที่ ๒๐มกราคม พ.ศ.๒๕๓๐ จนหายอาพาธกลับไปเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ศกเดียวกัน


ด้านหน้าของโบถส์ มีสัตว์หน้าตาแปลกๆตั้งอยู่ ตัวนี้เรียกว่า “มอม” มอมเป็นตัวแทนแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ (ตามความเชื่อของชาวล้านนา) สมัยโบราณมีการแห่บูชามอมเพื่อทำพิธีขอฝนนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ในปัจจัยสี่ มอมมีรูปร่างลักษณะที่แผงปริศนาธรรมเอาไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้ปัญญาค้าหาพระธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีการปั้นมอมขึ้นมาครั้งแรกโดย อาจารย์ อดุลย์(ธัญ) อินทรศักดิ์ ช่างปฎิมากรรมชื่อดังชาวจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ศิลปะปูนปั้นสดผสมศิลปะล้านนาประยุกต์ จินตาการรวมสัตว์ 5 ชนิดเอาไว้ในหนึ่งเดียว เพื่อแสดงถึง สัพเพสัตตา ที่มีอยู่ทั่วไปในสากลโลก มีท่วงท่าแนบติดกับแท่นยืน เพื่แสดงถึงความึดติดใน วัฎฎะสงสาร

มอมคอยเฝ้าอยู่ที่ประตูทางขึ้นวิหาร โบสถ์ เพื่อสะท้อนข้อธรรม “หากผู้ใดไม่ยึดติด ไม่หลงอยู่ในวัฎฎะสงสาร ผู้นั้นย่อมพบพระนิพพาน” ในปัจจุบัน มอม ที่วัดท่าไม้ เป็นมอมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๓๑   ได้ริเริ่มโครงการสร้างอุโบสถ   รวมกับทั้งอาราธนา  ท่านพระอาจารย์สุรสิงห์  สุรสีโล พร้อมคณะ  จากวัดสุมนาวาส เขากะโหลก ต.ปากน้ำ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์   ซึ่งเป็นลูกหลานของญาติโยมในพื้นที่  มาสังกัดสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษีอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเหลือในกิจการต่างๆ  และเชิญ คุณนิวัติ  โศภารักษ์  เป็นประธานสร้างอุโบสถ


พญานาค ผู้มีฤทธิ์เกรียงไกร หลงในฤทธ์ของตน โดยไม่รู้ว่ามี กาลเวลา นำพาความเจ็บ ความชรา กลืนกิน ร่างสังขาร (ธาตุ4 ขันต์5) ของตนเองอยู่

ครั้งพุทธกาล พญานาค ได้มีโอกาสรับรสพระธรรมชโลมจิตใจ คลายความหลง(ตัณหา) ออกไปได้ จึงปรารถนาบวชเป็นลูกศิษย์พระตถาคต แต่ด้วยพญานาค ยังอยู่ใน เดรัชฉานภูมิ จึงไม่สามารถบวชเป็นภิกษุได้ พญานาค จึงขอปวารณาตนเป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนาจนทุกวันนี้ เรายังเห็นพญานาคคอยเฝ้ารักษาพระพุทธศาสนา อยู่ที่บันไดทางขึ้นวิหาร โบสถ์ เจดีย์ โดยมีตัวกาลเวลากำลังกลืนกินร่างสังขารของพญานาคอยู่ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติพุทธศาสนิกชน ไม่ให้ประมาทหลงไหลในรูปสังขาร และลาภยศ สรรเสริญ

ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒   ได้ยกฐานะของสำนักสงฆ์โพธิธรรมรังษี ขึ้นเป็น  “วัดท่าไม้”   ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ

เนื่องจากเป็นการสมควรที่วัดท่าไม้จะได้มีเจ้าอาวาส ท่านเจ้าคณะตำบลท่าไม้ ในขณะนั้นคือท่านพระครูสาครธรรมรัตน์ วัดสุวรรณรัตนาราม ได้อาราธนาท่านพระครูโสภณธรรมสาคร เจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน วัดอ้อมน้อย มาประชุมร่วมกับพระภิกษุสามเณรและทายกทายิกาของวัดท่าไม้ สรรหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคม นำเสนอพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร วัดเจษฎาราม ให้พระอาจารย์สุรสิงห์ สุรสีโลเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓

ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคุณพ่ออ่อน สุขวัฒก์และคุณแม่ป้อม สุทธิบุตร เป็นประธาน มี คุณนุกูล-คุณนวลจันทร์ สุขวัฒก์ เป็นผู้อุปถัมภ์ร่วมกับประชาชน ได้ทุนดำเนินการขั้นต้นรวม ๘๔๐,๐๐๐ บาท รับเหมาก่อสร้างโดยคุณสุกิจ แม้นเหมือน ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร เป็นอุโบสถภายในกว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร มีมุขหน้าและมุขหลังรวมอีก ๖ เมตร มี ๖ หน้าต่างมี ๔ ประตู ใช้เสาเข็มยาว ๖ เมตร ๓๐๐ ต้น เทคานคอดิน ๒ ชั้น หล่อเสา ๑๖ ต้น และเทพื้นภายในทั้งหมด สำเร็จในปีเดียวกัน และท่านพระครูศีลสาครวิมล ได้สร้างถาวรวัตถุไว้คู่พระศาสนามากมายจวบจบวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


ภายในโบสถ์ ยังก่อสร้างไม่เสร็จนะครับ

ถาวรวัตถุเหล่านี้มีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีน้ำท่วมเพราะเหตุที่พื้นที่บริเวณวัดต่ำกว่าเขื่อนกั้นน้ำ  จนกระทั่งเมื่อ พระครูศีลสาครวิมล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ได้มรณภาพลง เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครจึงแต่งตั้งให้พระครูปลัดอุเทน สิริสาโร ย้ายจากวัดท่ากระบือมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบจนถึงปัจจุบัน


องค์พระประธาน

ถาวรวัตถุที่ยังหลงเหลือจากอดีตถึงปัจจุบันคงมีเพียงแต่ พระอุโบสถที่มีพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานเท่านั้น ส่วนถาวรวัตถุอื่นได้เปลี่ยนแปรสภาพไปตามกาลเวลาและสถานการณ์

ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่ท่านพระครูปลัดอุเทน สิริสาโรได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการเปลี่ยนแปลงถาวรวัตถุภายในวัดท่าไม้โดยใช้ระยะเวลาในการบูรณะเพียงแค่ 1 ปี 2 เดือน 26 วัน

ลวดลายตามหน้าต่างวิจิตรสวยงามมากครับ

หลังจากกราบพระในโบสถ์เสร็จ ลุกขึ้นจะเดินออกจากโบสถ์ กำแพงตรงทางเข้าสวยมากมากๆ

บนหลังคามีการประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม

วิหารด้านข้างของโบสถ์ เป็นวิหารเจ้าแม่กวดอิม และประกอบไปด้วยรูปบูชาตามความเชื่อของคนจีนครับ

เตียงเชียนเทียนอ๋อง ท้าววิรุฬหกมหาราช เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งให้เกิดทรัพย์เพิ่มพูน

ทิก๊กเทียนอ๋อง ท้าวธตรฐมหาราช ช่วยคุ้มครองให้พ้นจากเคราะห์ภัยวิบัติต่างๆ

จุดธูปไหว้พระกันหน่อยครับ

เทพเจ้าไท้ส่วย ที่เราจะได้ยินชื่อกันบ่อยๆ

เสร็จแล้วเดินออกมาที่หน้าโบสถ์ หันไปมองตัวโบสถ์ จะเห็นวิวที่สวยงามมาก

(ต่อด้านล่างนะครับ)

ด้านข้างจะมีทางเดินไปทางด้านหลังวัดที่ติดกับแม่น้ำท่าจีน มีการตกแต่งต้นไม้เป็นทางเดินสวยงาม

ส่วนถัดมาจะมีการกางเตันท์ไว้ มีพระให้สักการะบูชามากมายไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเหรียญ และพระทันใจ

ผมและคุณแม่ ก้อได้ไปขอพรพระทันใจด้วยครับ ด้วยการนำเงินแบ่งเป็นสองส่วน แล้วใส่เข้าไปในมือซ้ายของพระทันใจ และให้เราเอามือซ้ายจับที่คฑาดอกบัวในมือขวาของพระทันใจ และแนบหน้าผากกับนิ้วชี้ในมือซ้ายของพระทันใจ จากนั้นก้ออธิษฐานได้ 1 ข้อ ได้แค่  ข้อนะครับ อย่าเผลอไปอธิษฐานหลายๆข้อล่ะ แล้วนำเงินส่วนหนึ่งหยอดตู้ อีกส่วนพกติดตัวเป็นศิริมงคล (ขอยืมคุณแม่มาเป็นแบบหน่อย)

ด้านข้าง ยังมีวิหารอยู่ มีรูปปั้นท่านพญามัจจุราชให้บูชา และโลงศพเพื่อประกอบพิธีบังสกุล ด้านการอานิสงค์ของการบูชานับถือพญายมราชนั้น เชื่อกันว่าภูติผีปีศาจไม่กล้าระราน ผู้นั้นจะมีตบะบารมีที่น่าเกรงขาม ใครคิดร้ายด้วยทุจริตมิชอบอิจฉาตาร้อน จะแพ้ภัยด้วยตัวเขาเอง นอกจากนี้หากหมั่นบูชาพระองค์ท่านเสมอๆท่านว่าจะห่างไกลจากความป่วยไข้มี อายุยืนนาน หากรับราชการหรือทำมาค้าขายด้วยความซื่อตรงก็จะบังเกิดความเจริญมีความสุขใน ชีวิตยิ่งๆขึ้นไปซึ่งใช้สวดภาวนาป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ใช้ช่วยคนที่อยู่ในภาวะใกล้ตายหรือป่วยหนักที่ยังไม่สิ้นอายุขัย

นอกจากนี้ด้านหลังยังมีพระราหูให้กราบไหว้บูชา

ด้านหลังติดริมน้ำยังมีรูปหล่อหลวงพ่อต่างๆให้กราบไหว้กันอีกครับ

วัดท่าไม้ยังมีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอีกด้วย

เดินมานาน เริ่มหิวแล้วสิครับ เมื่อกี๊ตอนเข้ามาก่อนจะเห็นป้าย Wood Port ซึ่งเป็น ร้านอาหารของมูลนิธิสิริสาโร ของวัดท่าไม้ เลยแวะเข้าไปดูหน่อย

ร้านอาหารทำดีมากๆ เหมือนร้านอาหารหรูๆร้านนึงเลยครับ ไม่นึกว่าจะเป็นร้านอาหารของวัด มีบริการทั้งกาแฟสดและอาหาร มี Steak House ด้วย เสียดายตอนผมไปปิดปรับปรุงอยู่

ร้านอาหารตกแต่งได้อย่างสวยงามน่านั่งสุดๆครับ

ผมไปกับแม่สองคน เลยสั่งอาหารง่ายๆมาทานกันคนละจานครับ รสชาติอร่อยเลยแหละ ราดหน้าหมู กับข้าวผัดเขียวหวานหมูยอ

จริงๆแล้ว ในบริเวณ Wood Portยังมีฟาร์มแกะ อาคารสวยๆ และมุมให้ถ่ายรูปอีกเยอะเลยครับ แต่ฝนกำลังจะตกแล้ว ผมเลยต้องรีบกลับก่อน สำหรับวัดท่าไม้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แนะนำให้มาเลยครับ โบสถ์สวยมากๆ ได้มาเที่ยว และยังได้บุญอีกด้วยครับ


-----------------------------------------------------------------------
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/
https://www.facebook.com/voravuds

Voravud Santiraveewan

 วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.13 น.

ความคิดเห็น