พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ (Patpong Museum) ย้อนประวัติศาสตร์ในม่านแสงสี วิถีชีวิต และธุรกิจ 18+ ที่ พัฒน์พงศ์มิวเซียม

วันนี้ Pira Story ขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวของ “พัฒน์พงศ์” ย่านธุรกิจกลางคืนที่โด่งดังแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในมุมมองที่แตกต่างจากที่เคย นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปดูจุดเริ่มต้นของการทำงานเป็น “Sex Worker” ซึ่งเคยเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายและสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำ การตั้งฐานลับของ CIA จากอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นของ “บาร์อะโกโก้” ว่าทำไมสาว ๆ ถึงต้องขึ้นไปเต้นรูดเสาบนเวทีกัน หรือแม้แต่ผับบาร์สำหรับรสนิยมทางเพศแบบต่าง ๆ เช่น แบบซาดิสม์ แบบรักร่วมเพศ เป็นต้น

พิระเรียนจบจากมหาวิทยาลัยใกล้ ๆ ซอยพัฒน์พงศ์นี่เองค่ะ ถึงจะเคยใช้ชีวิตอยู่แถวนี้มาหลายปี แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ไปเยือนซอยพัฒน์พงศ์ในยามค่ำคืนสักที

เดินผ่านตอนกลางวัน อาจจะรู้สึกว่านี่คือห้างร้านตึกแถวที่แสนเงียบเหงา ธรรมดา ไม่มีอะไรหวือหวาน่าสนใจ แต่พออาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า เปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน ตอนนี้แหละที่พัฒน์พงศ์จะเริ่มกลับมาคึกคัก แสงไฟต่าง ๆ เริ่มสว่างไสว เสียงเพลงก้องดัง พร้อมกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่เดินไปมากันขวักไขว่ ราวกับเมืองร้างที่เพิ่งตื่นจากการหลับใหล

พัฒน์พงศ์ ซอย 2 ที่มีบาร์สะพานลอยชื่อ Black Pagoda ทำด้วยกระจกใส พร้อมแสงไฟวูบวาบดึงดูดความสนใจ ตรงข้าม Foodland นี่คือที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” (Patpong Museum) พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่อัดแน่นด้วยกลิ่นอายความเป็นพัฒน์พงศ์ ที่เราจะได้ชมกันในวันนี้ค่ะ

ปกติพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 20.00 น. โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวต่างชาติ เมื่อมีสถานการณ์โควิด ที่นี่จึงปรับเปลี่ยนวันเข้าชมเป็น วันศุกร์ - จันทร์ แทน โดยวันศุกร์และเสาร์ เปิดตั้งแต่ 13.00 - 22.00 น. วันอาทิตย์และจันทร์ เปิดตั้งแต่ 12.00 - 21.00 น. แทน กลุ่มคนที่เข้าชมก็เปลี่ยนเป็นนิสิต นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของพัฒน์พงศ์

พิพิธภัณฑ์ล้อมรอบด้วยผับบาร์ต่าง ๆ มากมาย ทุกที่คือของจริง คนที่ทำงานที่นี่ก็คือตัวจริงเสียงจริง นอกจากการเดินชมเดินฟังเรื่องราวต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์แล้ว เรายังออกมาสัมผัสกับบรรยากาศสถานที่จริง รวมถึงสามารถเข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้จริงๆด้วยค่ะ

การที่พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในสถานที่จริงเช่นนี้ จึงทำให้เรารู้สึกอินและสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของพื้นที่นี้อย่างแท้จริงค่ะ

🎋เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่เห็นคือซุ้มประตูทรงจีน อาบไล้ด้วยแสงนีออนสีแดง ผสมผสานทั้งความเป็นจีนและไฟนีออนที่สื่อถึงสถานบันเทิงยามค่ำคืน เห็นแวบแรกก็งงว่าทำไมถึงทำเป็นสไตล์จีน ทั้ง ๆ ที่เวลานึกถึงซอยพัฒน์พงศ์ เรามักจะนึกถึงฝรั่งที่มานั่งดริงค์มากกว่าคนจีนเสียอีก

นั่นเป็นเพราะพัฒน์พงศ์ตั้งอยู่บนที่ดินของชาวจีนไหหลำ ชื่อ “คณตุ้น แซ่ผู่” ซึ่งอพยพจากจีนเข้ามาตั้งรกรากในไทย ขยันขันแข็งทำงานจนได้รับสัมปทานเหมืองหินขาวที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปูนของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คุณตุ้น แซ่ผู่ เป็น “หลวงพัฒน์พงศ์พานิช”

🌿พ.ศ. 2470 หลวงพัฒน์พงศ์พานิช ซื้อสวนกล้วยพร้อมบ้านไม้สักย่านชานเมืองกรุงเทพ ในราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลายมาเป็นย่าน “พัฒน์พงศ์” ในปัจจุบันนั่นเอง แถมปัจจุบัน ราคาที่ดินแถวนี้ยังพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ อีกด้วยค่ะ

💚“โคมเขียว” ในยุคที่ Sex Worker ยังถูกกฎหมาย

ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เราสามารถสังเกตได้ว่าที่ไหนคือซ่องหรือโรงโสเภณีบ้างจากการดู “โคมไฟสีเขียว” ที่ห้อยอยู่หน้าสถานที่นั้น โดยสมัยนั้นมี “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก รศ.127” (พ.ศ.2453) ที่กำหนดให้โรงโสเภณีหรือซ่องโสเภณีต้องห้อยโคมไว้หน้าบ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจตราได้อย่างทั่วถึง

แรกเริ่มเดิมทีนั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องห้อยโคมสีเขียวค่ะ จะใช้โคมสีอะไรก็ได้ ขอให้นำโคมมาห้อยหน้าบ้านก็พอ แต่ตอนที่เจ้าหน้าที่นำตัวอย่างโคมมาให้ประชาชนดูนั้น เจ้าหน้าเลือกใช้โคมที่ทำจากกระจกสีเขียว ประชาชนก็เลยนำไปใช้ตามบ้าง จนกลายเป็น “โคมเขียว” ไปโดยปริยายนั่นเองค่ะ

พระราชบัญญัติฯ นี้ยังครอบคลุมและบังคับใช้ในประเด็นด้านล่างนี้ด้วยค่ะ

  • ผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “แม่เล้า” นั่นเอง
  • การตั้งโรงหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตและมีใบอนุญาตเสียก่อน
  • นายโรงต้องทำบัญชีหญิงนครโสเภณี ทั้งผู้หญิงที่ทำงานประจำและคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่
  • ห้ามรับเด็กหญิงที่ไม่มีใบอนุญาต
  • ห้ามรับเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 14 ปี
  • ห้ามกักขังหญิงนครโสเภณี
  • ห้ามทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี
  • ห้ามจุ้นจ้าน เช่น ยื้อยุด ฉุด ลาก ให้ผู้ชายเข้ามาเที่ยว
  • ห้ามล่อลวงผู้หญิงมาเป็นโสเภณีโดยไม่สมัครใจ เพื่อป้องกันการข่มขืนล่วงประเวณี เป็นต้น

✈️พัฒน์พงศ์กับขบวนการเสรีไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนจะกลายเป็นย่านสถานบันเทิงเช่นในปัจจุบัน พัฒน์พงศ์เคยเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างชาติมากมาย รวมถึงสำนักงานของ CIA ประจำประเทศไทยด้วย


คุณอุดม พัฒน์พงศ์พานิช ลูกชายของหลวงพัฒน์พงศ์พานิชไปเรียนที่อเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณอุดมเดินทางกลับมาที่ไทยและเข้าร่วมกับ “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งขบวนการเสรีไทยนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ หรือ CIA

ทำให้คุณอุดมมีเพื่อนเป็น CIA มากมาย จึงชวนเพื่อน ๆ เข้ามาทำธุรกิจในพัฒน์พงศ์ ไม่ว่าจะเป็น IBM (ตึกพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยเป็นตึก IBM มาก่อนค่ะ) บริษัทน้ำมัน Caltex และสายการบินจากทั่วโลก (สมัยนั้นไม่มีการขายตั๋วเครื่องบินผ่านทางออนไลน์ ต้องมาซื้อผ่านบริษัทเท่านั้น) จนทำให้พัฒน์พงศ์เป็นที่ตั้งของธุรกิจยักษ์ใหญ่จากต่างชาติมากที่สุดในยุคนั้น เกิดเป็นอาคารพาณิชย์ทันสมัยขึ้นมากมาย กลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เลยค่ะ

🛩️สำนักงานและฐานที่ตั้งของ CIA ในประเทศไทย

ซอยพัฒน์พงศ์แห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน CIA ประจำประเทศไทย โดยมีการจำลองโต๊ะทำงานของ CIA ในเราดูในพิพิธภัณฑ์ด้วยค่ะ

ถ้าพูดถึง CIA บุคคลหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องความโหดและเคยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย คือ “แอนโทนี โพเชอปนี” (Anthony Poshepny) หรือ “Tony Poe” CIA ผู้มีบทบาทสำคัญในสงคราม และเป็นที่รู้จักจากการตัดหู และตัดหัวของฝ่ายศัตรู เพื่อเป็นการส่งรายงานให้กับผู้บัญชาการค่ะ

เรื่องราวของ Tony Poe ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now (1979) ใครสนใจก็ลองตามไปดูกันได้นะคะ

มีปืนของ Tony Poe ให้ดูด้วยค่ะ

โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะมีทั้งคลิปวิดีโอที่สัมภาษณ์อดีต CIA ถึงเรื่องราวการใช้ชีวิตในพัฒน์พงศ์ รวมไปถึงภาพถ่ายต่างๆอีกเพียบ ใครที่สนใจการที่ CIA เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยในช่วงสงครามเย็น มาศึกษาที่นี่เลยค่ะ มีทั้งบันทึก ภาพถ่าย คลิปวิดีโอให้ชมมากมายแบบไม่มีกั๊กเลยค่ะ

ตรารูปปีกนกมุมขวาบนคือตราของ "Air America" สายการบินที่ก่อตั้งขึ้นอย่างลับ ๆ โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า โดยเฉพาะใช้งานในโครงการข่าวกรองของ CIA เพื่อปฏิบัติงานข่าวกรองในประเทศจีนค่ะ

ในห้อง Dragon เราจะพบกับมังกรสีแดงขนาดใหญ่ พร้อมโมเดลจำลองพื้นที่พัฒน์พงศ์ทั้งหมด เราเดินดูโมเดลเสร็จแล้ว ก็สามารถออกไปชมตึกอาคารของจริงที่ด้านนอกพิพิธภัณฑ์ต่อได้เลยค่ะ

พัฒน์พงศ์ ซอย 2 ที่มีบาร์สะพานลอยชื่อ Black Pagoda ทำด้วยกระจกใส พร้อมแสงไฟวูบวาบดึงดูดความสนใจ ตรงข้าม Foodland นี่คือที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” (Patpong Museum) พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่อัดแน่นด้วยกลิ่นอายความเป็นพัฒน์พงศ์ ที่เราได้ชมกันในวันนี้ค่ะ

บาร์สะพานลอยชื่อ Black Pagoda ทำด้วยกระจกใส พร้อมแสงไฟวูบวาบดึงดูดความสนใจ ในพัฒน์พงศ์ ซอย 2

อาคารที่เคยใช้เป็นสำนักงานของ CIA ก็มีการจำลองเป็นโมเดลให้ชมกัน แถมตึกของจริงก็ยังตั้งอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ เดินไปชมตึกจริงกันได้เลยค่ะ (สำนักงานของ CIA ในพัฒน์พงศ์ มี 2 ตึก เป็นตึกสีแดงในโมเดลด้านล่างนี้ค่ะ)

🌃 จุดเริ่มต้นของย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่พัฒน์พงศ์

กลางยุค 70s ถึงต้นยุค 80s บริษัทต่างชาติเริ่มย้ายออกจากพื้นที่พัฒน์พงศ์ บริษัทห้างร่านต่าง ๆ จึงถูกแทนที่ด้วยไนท์คลับ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “บาร์อะโกโก้” แห่งแรกในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของบาร์อะโกโก้ เกิดจากการที่มีสาว ๆ ขึ้นไปเต้นบนบาร์ เมื่อตำรวจเข้ามาตรวจสอบ ก็พยายามที่จะเก็บค่าปรับ เพราะมีการเต้นรำกันภายในบาร์ แต่เจ้าของบาร์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติให้เหตุผลว่า การเต้นรำจะต้องมีการจับคู่ เต้นกันเป็นคู่ ๆ แบบการเต้นลีลาศ ซึ่งแตกต่างจากการยืนเต้นบนบาร์ ที่ผู้หญิงแต่ละคนก็ต่างคนต่างเต้น ไม่มีการจับคู่ ด้วยเหตุผลนี้จึงสามารถรอดพ้นจากข้อหานี้มาได้ และเกิดเป็น "บาร์อะโกโก้" ขึ้นครั้งแรกในพัฒน์พงศ์ และถือเป็นบาร์อะโกโก้แห่งแรกในประเทศไทยด้วยค่ะ

สาเหตุที่เรียกบาร์ที่มีสาว ๆ ขึ้นไปเต้นโชว์แบบนี้ว่า "อะโกโก้" เพราะเวลาที่ลูกค้าส่งเสียงเชียร์ มักจะตะโกนว่า "Go! Go!" เลยกลายเป็น "A-go-go" นั่นเองค่ะ

คราวนี้มาถึงโซน 18+ ที่จะพาทุกคนไปชมโลกอีกใบหนึ่งของพัฒน์พงศ์กันค่ะ มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังม่านแดง 18+ นี้บ้าง ตามมาดูกันค่ะ (ไปฝึกท่าโพสแบบนี้มากจากไหนนนน 55555)

เริ่มต้นกันที่บาร์ที่จำลองมาจากบาร์อะโกโก้ของจริง มีเครื่องดื่มให้ดื่มจริง มีสาว ๆ มาเต้นให้ดู(ในจอทีวี)จริง ๆ
ที่นี่ เราสามารถสั่งเครื่องดื่มเย็นชื่นใจมาจิบกันเพลิน ๆ ได้แบบไม่จำกัดเวลา ถ้าใครซื้อบัตรเข้าชมราคา 350 บาท จะมีเครื่องดื่มให้เลือกฟรีถึง 2 เมนูเลยค่ะ คุ้มมาก ๆ เพราะแค่ค่าเครื่องดื่มก็เกินราคาค่าเข้าชมแล้ว เหมือนได้เข้าชมฟรีเลยค่ะ

บัญชีเงินของการประกอบธุรกิจในเวลา 1 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2534 จะเห็นว่ามีเม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในธุรกิจนี้มากมายขนาดไหน

มาถึงโซนที่พิระชอบมาก นั่นก็คือ "ปิงปองโชว์" ค่ะ!
สำหรับใครที่สงสัยว่าปิงปองโชว์คืออะไร มันคือการแสดงโชว์ โดยนำลูกปิงปองใส่เข้าไปตรงนั้นของผู้หญิงแล้วยิงออกมาเหมือนยิงลูกกระสุนค่ะ

ในห้องนี้จะมีเครื่องยิงลูกปิงปองหน้าตาสุดเซ็กซี่พร้อมไม้กระชอนให้เราฝึกความว่องไวในการรับลูกปิงปองกันค่ะ พี่ไกด้บอกว่า ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เขามักจะใช้ไม้ปิงปองตีโต้กลับค่ะ ก็น่าสนุกไปอีกแบบนะคะ ห้องนี้พิระขอเซนเซอร์ภาพเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยในสวัสดิภาพของเพจ และอยากให้ทุกคนได้ไปชมด้วยตาตัวเองค่ะ

เมื่อการถ่ายภาพโป๊ผิดกฎหมาย จึงมีการสร้างสรรค์ "ภาพวาดโป๊" ขึ้นมาแทนที่ หากเราลองซูมดูรูปในกรอบสีแดง จะเห็นภาพวาดโป๊เปลือยในอิริยาบถต่าง ๆ มากมายค่ะ

อีกจุดหนึ่งที่เป็นมุมถ่ายรูปยอดนิยมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ "เสา Pole dance" หรือ "การเต้นรูดเสา" ซึ่งเป็นการแสดงหนึ่งที่ต้องอาศัยทั้งความอ่อนช้อยของสรีระ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการโหนตัวเองขึ้นไปบนเสา ที่พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ มีจัดคลาสสอนการเต้นรูดเสาด้วยนะคะ หากใครสนใจ สามารถมาฝึกฝน ออกกำลังกายกันได้ค่ะ

อีกโซนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ โซน "Fetish" หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Fifty shades of Grey น่าจะเคยได้ยินคำว่า "Fetish" กันมาบ้าง รสนิยมทางเพศแบบนี้ต้องอาศัยความสมัครใจและยินยอมพร้อมกันกันทุกฝ่าย ที่นี่มีการจัดแสดงโมเดล และกรงของจริงให้เราลองเข้าไปถ่ายภาพด้านในได้ค่ะ

โมเดลจำลองการใช้อุปกรณ์แบบ Fetish

❤️พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ แห่งนี้เริ่มต้นก่อตั้งโดย คุณไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ผู้เติบโตมาในครอบครัวศิลปิน และมีประสบการณ์การดูแลพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเกิดมาก่อน ก่อนที่จะเดินทางมาลงหลักปักฐานในประเทศไทย เริ่มทำธุรกิจร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์ ก่อนที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเบื้องหลังความเป็นมาของแสงสีอันเย้ายวนใจในย่านสถานบันเทิงยามราตรีกันเก่าแก่แห่งนี้นั่นเอง

🌻ในพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ มีอะไรให้ดูบ้าง?

  • จุดเริ่มต้นของ “โคมเขียว” และ “Sex Worker” ในประเทศไทย
  • กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ Sex Worker ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ฐานบัญชาการลับของ CIA ที่เคยตั้งอยู่ในพัฒน์พงศ์
  • บาร์อะโกโก้แห่งแรกในประเทศไทย
  • ย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนแห่งแรก ๆ ในประเทศไทย
  • เรื่องราวของ “ปิงปองโชว์” นอกจากการยิงลูกปิงปองแล้ว ยังมีโชว์อื่นๆอีกมากมาย เช่น เปิดขวดเป่าเทียน เขียนหนังสือ ฯลฯ

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ เราจะพบกับโซนขายของที่ระลึกมากมาย ทั้งเสื้อ กระเป๋า โปสการ์ด หนังสือ
พิระผู้ชื่นชอบการช้อปปิ้งก็ไม่พลาดที่จะซื้อหนังสือมาสักเล่มค่ะ

การเข้าชมจะมีมัคคุเทศก์หรือไกด์พาเข้าชม พร้อมอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของ “พัฒน์พงศ์” ในแต่ละยุคสมัยอย่างเจาะลึก เปิดเผย ชัดเจน เรียกได้ว่าข้อมูลหลาย ๆ อย่างที่เราเคยฟังแบบอ้อม ๆ จากที่อื่น เบื้องลึกเบื้องหลังบางอย่างที่ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ประเทศไทยมีคนที่ทำงานเป็น Sex Worker จริง ๆ ไหม? เคยมี CIA จากอเมริกาแฝงตัวอยู่ในประเทศไทยจริง ๆ หรือเปล่า? ที่นี่อธิบายแบบตรงไปตรงมา ชัดเจนสุด ๆ เพราะฉะนั้น ไม่ควรพลาดนะคะ ข้อมูลวงในมากค่ะ

เราจะใช้เวลาเดินชมพร้อมมัคคุเทศน์ประมาณ 50 นาที - 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น เราสามารถเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ต่อได้เต็มที่โดยไม่จำกัดเวลาค่ะ


เดินชมพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้ว ใครที่รู้สึกติดใจอยากแวะเที่ยวชมสถานที่จริงต่อ ลองพลิกดูด้านหลังของบัตรเข้าชม จะมีที่เที่ยวแนะนำอีก 5 ที่ในย่านพัฒน์พงศ์ให้เราแวะไปเยี่ยมชมกัน

แวะไปเที่ยวแล้วก็อย่าลืมบอกให้ร้านนั้นปั๊มตราปั๊มให้ เมื่อสะสมครบ 5 ดวง 5 ร้านแล้ว นำตราปั๊มแลกเสื้อยืดสุดพิเศษ Limited edition ที่พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ได้เลยค่ะ!

กว่าจะจบทริปวันนี้ก็เกือบ 3 ทุ่มครึ่ง พิระเดินลงมาหน้าพิพิธภัณฑ์ก็พบสาว ๆ ในชุดอันเดอร์แวร์สุดเซ็กซี่กำลังยืนรอต้อนรับลูกค้ากันอยู่ การชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้ ทำให้พิระมองสาว ๆ และคนทำงานธุรกิจนี้ในมุมมองที่เปลี่ยนไป มีโอกาสได้เปิดใจ เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ของเราให้กว้างยิ่งขึ้น รู้สึกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจทุกคนมากยิ่งขึ้น ใครที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้สัมผัสเรื่องราวในมุมนี้ พิระอยากแนะนำให้ลองมาสัมผัสด้วยตัวเองจริง ๆ ค่ะ เราจะได้เห็นมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อนค่ะ

--------------------------------------------------------

Patpong Museum (พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์) ตั้งอยู่ที่ ถนนพัฒน์พงศ์ ซอย 2 (ใกล้ BTS ศาลาแดง และ MRT สีลม)

แผนที่: https://g.page/PatpongMuseum?s...

เข้าชม วันศุกร์ - วันจันทร์

  • วันศุกร์ - วันเสาร์ เวลา 13.00-22.00 น.
  • วันอาทิตย์ - วันจันทร์ 12.00-21.00 น.

ปิดให้บริการในวันอังคาร - วันพฤหัสบดี

ค่าเข้าชม:

  • นักเรียน นิสิต นักศึกษา 150 บาท
  • คนไทยและชาวต่างชาติ 250 บาท
  • คนไทยและชาวต่างชาติ พร้อมรับเครื่องดื่มพิเศษฟรี 2 เมนู 350 บาท ***คุ้มมากค่ะ

Facebook : https://www.facebook.com/patpo...

Website : https://www.patpongmuseum.com/...

E-mail : [email protected]

Tel. : 0918876829

------------------------------------------------------

Pira Story

 วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.17 น.

ความคิดเห็น