แม้จะเป็น “เมืองโบราณ” แต่จริง ๆ แล้วไม่โบราณเหมือนชื่อสถานที่สักนิดน้า~ บอกเลยว่าที่นี่ไม่ธรรมดาจริง ๆ เพราะนอกจากจะมีพื้นที่กว้างใหญ่แล้ว สถานที่ต่าง ๆ ที่นำมาจำลองนั้นสวยงามและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับสถานที่จริงมากเลยทีเดียว ตามมาดูกันเลยค่ะว่าแต่ละที่ในนั้นจะเหมือนสถานที่จริงมากน้อยสักแค่ไหน?

วิธีเดินทางมาเมืองโบราณ

นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสมายังสถานีเคหะฯ (สายสุขุมวิท) ออกทางออกที่ 3 เดินลงมาก็จะเจอรถสองแถวสีฟ้าสาย 36 จอดรออยู่ใต้สถานี (ผ่านเมืองโบราณทุกคัน) ราคาค่าโดยสาร 8 บาท ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้นก็ถึงหน้าทางเข้าเมืองโบราณค่ะ

Credit by: https://www.muangboranmuseum.com/

รู้จักเมืองโบราณก่อนสักนิด

เมืองโบราณเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2506 สาเหตุที่ท่านตั้งใจสร้างที่นี่ก็เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมไทยได้แบบครบถ้วนค่ะ โดยเมืองโบราณนี้มีพื้นที่กว่า 800 ไร่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการค่ะ

หากมองจากแผนที่ที่เขาให้มาหลังจากเสียค่าเข้าชมแล้วจะเห็นได้ว่ามีรูปร่างคล้ายขวาน เหมือนกับแผนที่ประเทศไทยนั่นเองค่ะ ด้วยเหตุนี้เองจึงจัดวางสถานที่จำลองทุกแห่งให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด โดยสถาปัตยกรรมของที่นี่มีทั้งรื้อจากสถานที่จริงมาปลูกสร้างและบางส่วนที่สร้างขึ้นมาเองโดยลดสัดส่วนจากขนาดจริงประมาณ 25% เพื่อให้เกียรติสถานที่จริงค่ะ

เมื่อจ่ายบัตรเข้าชมแล้วก็เริ่มปั่นจักรยานกันเลยค่ะ ที่เลือกปั่นจักรยานเพราะว่าสามารถแวะหยุดได้ตลอด แถมได้ออกกำลังกายด้วยค่ะ มาปั่น เอ๊ย! ชมภาพไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ ^^

ตรงนี้จะเป็นส่วน Free Zone ที่คนทั่วไปไม่ได้เสียค่าบัตรก็เข้าชมได้ค่ะ ซึ่งพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราชของที่นี่จะจำลองมาจากสถานที่จริงที่มุ่งเอาเฉพาะแบบเก่าจริง ๆ เท่าที่จะหามาได้ เนื่องจากปูชนียสถานแห่งนี้จะมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่ตลอดนั่นเองค่ะ

ตลาดโบราณนี้ก็เป็น Free Zone อีกเช่นกันค่ะ ซึ่งจำลองบรรยากาศของชุมชนเมืองในอดีตที่มีทั้งร้านขายของ, สถานบริการต่าง ๆ, โรงละคร, แหล่งอบายมุข หรือแม้กระทั่งศาลเจ้าและที่สิงสถิตของเจ้าที่เจ้าทาง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากถนนสายเก่าของจังหวัดตากและกำแพงเพชร ผสมผสานกับสภาพบ้านเรือนย่านยานนาวาในกรุงเทพฯ มาปลูกสร้างขึ้นค่ะ

เทวรูปปัลลวะ พังงา ทำด้วยศิลาด้วยฝีมือประติมากรรมของช่างปัลลวะในอินเดียใต้ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 มีลักษณะทรงผมและผ้านุ่งแสดงแบบอย่างศิลปะอินเดียอย่างชัดเจน ซึ่งเดิมทีไม่มีใครทราบว่าเทวรูปเหล่านี้มาจากที่ใดมาก่อน จึงถูกต้นตะแบกหุ้มไว้ ปัจจุบันได้นำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชค่ะ

พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี ของเมืองจำลองนี้สร้างตามแบบอย่างเก่าที่สุดที่พบในชวา ซึ่งพระบรมธาตุแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นเจดีย์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญในภาคใต้เลยก็ว่าได้ โดยลักษณะของพระบรมธาตุแห่งนี้จะคล้ายคลึงกับเจดีย์จันทิปวนะในประเทศค่ะ

อนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถี สถานที่จริงจะตั้งอยู่ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ค่ะ ซึ่งทางราชการได้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทำสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า และได้ทรงใช้พระแสงของ้าว (เจ้าพระยาแสนพลพ่าย) ฟันพระมหาอุปราชาจนสิ้นพระชนม์บนคอช้างที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรีค่ะ

ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองจำลองนี้สร้างตามแบบจากในจังหวัดกาญจนบุรีค่ะ ซึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญเรียงกันสามองค์ สร้างขึ้นระหว่างเขตชายแดนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์ของเส้นทางเดินทัพในการทำศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าในอดีตค่ะ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท บอกเลยว่าที่นี่สร้างได้เหมือนมากจริง ๆ ค่ะ แถมยังเก็บรายละเอียดได้ครบด้วย เนื่องจากสร้างตามแบบของพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ นี่เอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นเป็นพระมหาปราสาทประจำกรุงรัตนโกสินทร์ค่ะ

พระที่นั่งจอมทอง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นหน้าของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ศึกษาพระธรรมของบรรดาเชื้อพระวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของเจ้านายในสมัยนั้นนั่นเองค่ะ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้เหลือแค่ซากปรักหักพัง เนื่องจากถูกพม่าเผาทำลายลงไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ค่ะ

วิหารวัดโพธิ์เก้าต้น สิงห์บุรี เป็นวิหารขนาดเล็ก ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งชาวบ้านบางระจันจะใช้ที่นี่ทำพิธีปลุกเสกอาคมให้ขลังและเสริมสิริมงคล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ฮึกเหิมในการต่อสู้กับพม่า โดยนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติมาเป็นผู้นำในการประกอบพิธีค่ะ

เทวโลกของเมืองโบราณนี้เป็นอุทยานที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าองค์สำคัญต่าง ๆ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดูที่มีในสังคมไทย ซึ่งคนไทยมักรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น พระนารายณ์ พระพรหม พระศิวะ และรวมไปถึงเทพนพเคราะห์ต่าง ๆ อย่างพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร ฯลฯ ที่ประทับอยู่บนเทวพาหนะ โดยหล่อเป็นประติมากรรมสำริดที่สง่างามเลยทีเดียวค่ะ

แฟนละครเรื่องออเจ้า เอ้ย!!! บุพเพสันนิวาส ต้องไม่พลาดกับตลาดน้ำ เมืองโบราณเลยค่ะ เพราะที่นี่ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน โดยได้จำลองตลาดน้ำแบบโบราณ หากใครที่ต้องการตามรอยคุณพี่หมื่นกับแม่หญิงการะเกดก็สามารถมาเที่ยวชมที่นี่ได้ค่ะ ^^

วิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นวิหารหลวงขนาดใหญ่ เสาทำด้วยศิลาแลงตัดเป็นแผ่นกลมและหนา วางเรียงซ้อนกันเป็นรูปเสาโคนขนาดใหญ่ปลายเรียว ส่วนภายในประดิษฐาน “พระศรีศากยมุนี” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ โดยเมืองโบราณได้สร้างวิหารตามแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัยขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ เพื่อสะท้อนถึงความเจริญในอดีตค่ะ

หากใครที่เป็นแฟนละครฟอร์มยักษ์เรื่อง “เพลิงพระนาง” ที่ออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2560 ทางช่อง 7 อาจคุ้นเคยกับคำว่า “หอคำ” เป็นอย่างดี ซึ่ง “หอคำ” นี้เทียบได้กับคำว่า “วัง” ที่ใช้เรียกอาคารที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครในดินแดนล้านนา โดยเมืองโบราณใช้ไม้ใหญ่สร้างขึ้นตามรูปแบบหอคำของเจ้าเมืองลำปางในอดีต และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุโบราณหายากนั่นเองค่ะ

เจดีย์จามเทวี ลำพูน สร้างขึ้นในสมัยหริภุญไชยที่มีพระนางจามเทวี พระธิดากษัตริย์ละโว้ขึ้นครองเมือง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เจดีย์เหลี่ยมวัดกู่กุด” ซึ่งมีรูปทรงเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงประดับปูนปั้นซ้อนกัน 5 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ในซุ้มพระทั้ง 4 ด้านทุกชั้น ชั้นละ 12 องค์ค่ะ

วัดจองคำ ลำปาง ของเมืองโบราณเป็นผาติกรรมจากวัดจองคำที่อำเภองาว จังหวัดลำปางค่ะ ซึ่งเป็นอาคารไม้สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ที่มีเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆาวาสเชื่อมต่อกันในอาคารหลังเดียว โดยความโดดเด่นของอาคารหลังนี้คือการฉลุไม้ประดับส่วนต่าง ๆ อย่างสวยงาม โดยเฉพาะเครื่องหลังคานั่นเองค่ะ

วิหารเมืองสะเมิง เชียงใหม่ เป็นวิหารไม้เก่าแก่ขนาดเล็กแบบล้านนาที่สร้างให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่สวยงาม ภายในมีกู่หรือปราสาทขนาดเล็กซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานหรือพระพุทธรูปค่ะ

โบสถ์น้ำ สร้างขึ้นตามคติการสร้างโบสถ์แบบหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งน้ำที่ล้อมรอบนั้นแสดงถึงเขตขัณฑสีมาที่มั่นคงแน่นอน สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทำพิธีถอดพัทธสีมาออกเพื่อทำพิธีสงฆ์ ยกเว้นพิธีบวชเท่านั้นถึงจะทำพิธีนี้ค่ะ

หมู่บ้านไทยภาคเหนือของเมืองโบราณนี้จะจำลองบ้านหรือที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถบภาคเหนือค่ะ ซึ่งบ้านแต่ละหลังสร้างด้วยไม้ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ อีกทั้งบ้านไม้บางหลังยังมีเครื่องตกแต่งอย่าง กาแล หรือหำยนตร์ ประดับอยู่ตามความเชื่อนั่นเองค่ะ

วิหารวัดภูมินทร์ ถ่ายแบบมาจากจังหวัดน่าน สร้างขึ้นในสมัยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช โดยวิหารแห่งนี้จะมีความโดดเด่นกว่าวิหารในวัดแห่งอื่นตรงที่ทำเป็นจตุรมุขและมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แถมราวบันไดทางเข้าหลักยังมีการตกแต่งพญานาคในลักษณะเลื้อยออกจากวิหารค่ะ

ภายในวิหารวัดภูมินทร์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยทั้ง 4 องค์ ซึ่งผินพระพักตร์ออกไปในทิศทั้ง 4 และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องคัทธกุมารชาดกค่ะ

และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือภาพฝาผนังอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่านอย่าง “กระซิบรักบันลือโลก” นั่นเองค่ะ ซึ่งภาพนี้เป็นภาพปู่ม่าน (ชายหนุ่ม) แสดงท่าทางกระซิบบอกรักย่าม่าน (หญิงสาว) หากใครที่เคยไปวัดภูมินทร์ที่จังหวัดน่านจากสถานที่จริงลองเข้ามาชมภาพนี้กันดูนะคะว่าเหมือนจริงมากน้อยแค่ไหนค่ะ ^^

พระธาตุบังพวน จำลองแบบมาจากจังหวัดหนองคาย มีลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง มีฐานล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ส่วนฐานบัวที่รองรับเรือนธาตุและตัวเรือนธาตุเป็นทรงย่อมุมและออกซุ้มประจำทิศ บนยอดเป็นทรงระฆังสี่เหลี่ยมและปลียอดเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งพระธาตุแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในส่วนหัวเหน่าค่ะ

พระธาตุพนมของเมืองโบราณได้จำลองแบบมาจากจังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมยอดแบบบัวเหลี่ยม ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธทั้งไทยและลาวริมฝั่งแม่น้ำโขงต่างนับถือมาอย่างยาวนาน เพราะเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุระ (หน้าอก) ของพระพุทธเจ้านั่นเองค่ะ

เทวรูปสวมหมวกแขก จำลองแบบมาจากเทวรูปที่ค้นพบในเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเทวรูปหินเขียวขนาดเท่าคนหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย สวมหมวกทรงกระบอกที่คล้ายกับหมวกแขก ส่วนท่อนบนเปลือยเปล่า มี 4 กร โดยส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า “นารายณ์สวมหมวกแขก” ค่ะ

กุฏิวิปัสสนาของเมืองโบราณนี้ได้ผาติกรรมมาจากวัดต่าง ๆ แถบอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามนั่นเองค่ะ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นกุฏิทรงไทยที่สร้างด้วยไม้หลังเดี่ยวแทรกตามป่าเขา สะท้อนให้เห็นว่าพระสงฆ์ที่มาปฏิบัติธรรมนั้นต้องการความเรียบง่ายและเงียบค่ะ

พระพุทธรูปนาคปรก เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของผู้เกิดวันเสาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่ประทับนั่งบนพญานาคมุจลินท์ที่ขดกายเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานเป็นฉัตรกั้นฝนลมพายุค่ะ

บ้านโซ่งของเมืองโบราณได้จำลองแบบมาจากหมู่บ้านโซ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งบ้านโซ่งจะเป็นบ้านเรือนของชาวโซ่งหรือชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วงรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั่นเองค่ะ

วิหารทวารวดีเป็นซากวิหารที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งเมืองโบราณได้สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าศิลปะทวารวดีเคยเจริญรุ่งเรืองในครั้งอดีตกาลค่ะ

ปราสาทสด็อกก๊อกธมของเมืองโบราณได้จำลองแบบมาจากจังหวัดสระแก้ว แต่ว่าสร้างขึ้นให้สมบูรณ์แบบเต็มองค์ ซึ่งปราสาทแห่งนี้จะตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-กัมพูชา มีลักษณะเป็นปราสาทศิลปะเขมรโบราณที่สร้างโดยช่างฝีมือขอมตามคติแบบฮินดูค่ะ

โรงละครของเมืองโบราณนี้เป็นอาคารโถงที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นเวทีสำหรับแสดงละครหรือโรงละครในเขตพระราชฐานชั้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระมหากษัตริย์มักจะมาทอดพระเนตรละครใน เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา มโนราห์ หรือทรงดนตรีกับข้าราชบริพารฝ่ายในอย่างสำราญในยามว่างเว้นจากการบริหารกิจการบ้านเมือง

ตึกแดงสร้างขึ้นในสมัย ร.ศ.112 เป็นที่พักของทหารฝรั่งเศสและใช้เป็นกองอำนวยการ หลังจากฝรั่งเศสยึดครองเมืองจันทบุรีได้ ซึ่งตึกแดงนี้มีลักษณะเป็นตึกชั้นเดียวที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูนและทาสีแดง ตั้งอยู่บริเวณหาดปากน้ำแหลมสิงห์ค่ะ

ศาลาทศชาติ เป็นศาลาพักร้อนกลางน้ำที่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการสร้างศาลามาแต่โบราณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศิลปกรรมและมีภาพเขียนทศชาติที่เพิ่มการอบรมในด้านคุณธรรมใหแก่บุคคลทั่วไปค่ะ

ศาลาฤๅษีดัดตนของเมืองโบราณได้รวบรวมท่าดัดตนต่าง ๆ ของฤๅษีครบทั้ง 80 กระบวนท่าตามตำราฤๅษีดัดตนที่เป็นตำรารักษาสุขภาพไว้อย่างสมบูรณ์ ณ ศาลาโถง ซึ่งมีทั้งรูปปั้นฤๅษีและคำบรรยายของแต่ละกระบวนการ เพื่อให้เป็นที่ฝึกฝนของผู้สนใจค่ะ

ขบวนเสด็จพยุหยาตราชลมารค เป็นขบวนเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคของพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ซึ่งก็ได้มีการจัดเป็นกระบวนเรือที่งดงามและแห่แหนมาตามลำน้ำอย่างใหญ่โตค่ะ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นเทพแห่งความเมตตากรุณาที่มีผู้นับถือกันอย่างแพร่พลาย ทั้งชาวจีน ทิเบต ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งมีลักษณะพระวรกายงดงามอ่อนโยน ทรงสังวาลเป็นรูปเนื้อทราย และพระพักตร์ที่เศร้าเป็นนิจ พร้อมด้วยสายพระเนตรที่เมตตาห่วงใยมนุษย์ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักรู้จักกันดีในชื่อ “เจ้าแม่กวนอิม” ค่ะ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางแสดงปาฏิหาริย์ เป็นอีกมิติหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมซึ่งปรากฏเป็นรูปพระพุทธเจ้าที่ทรงมงกุฎเหนือพระนลาฏและใช้พระเดชานุภาพในการแสดงปาฏิหาริย์ปราบปรามหมู่มารหรือฝ่ายอธรรมที่มาย่ำยีโลก และมวลมนุษย์เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาและความยุติธรรมให้ยังคงอยู่ค่ะ

ศาลารามเกียรติ์เป็นศาลาโถงกลางน้ำห้าหลังที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักร้อนและประกอบพิธีกรรมในงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ของผู้คนในชุมชน ซึ่งมีภาพรามเกียรติ์ประดับไว้ในศาลานั่นเองค่ะ

สวนพฤกษชาติในวรรณคดีไทย เป็นสวนที่ปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ตามที่ได้รับการคัดเลือกและปรากฏชื่อในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ถือได้ว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยมาแต่ครั้งอดีตและแสดงถึงรสนิยมกับอารมณ์สุนทรีย์ของคนไทยในสมัยโบราณค่ะ

ศาลาพระอรหันต์ เป็นศาลาที่เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างพระอรหันต์ 500 รูป ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุบายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ผู้คนทุกหมู่เหล่าจะมีชาติกำเนิดและความประพฤติธรรมที่แตกต่างกันก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์และพระนิพานได้เช่นกันค่ะ

สะพานรุ้ง เป็นสะพานที่มีสายรุ้งพาดไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งสายรุ้งนั้นมักปรากฏขึ้นหลังฝนตกใหม่ ๆ หรือเวลาที่ฝนหยุดตก และหากมองในแง่สัญลักษณ์จะหมายถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ และความสวยงามทางธรรมชาติของบ้านเมืองนั่นเองค่ะ

เรือสำเภาไทยของเมืองโบราณเป็นเรือสำเภาเก่าที่ได้ขอซื้อมาจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แล้วนำมาดัดแปลงให้คงทนถาวรมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงรูปลักษณ์ของเรือสำเภาโบราณได้อย่างครบถ้วน ซึ่งผู้คนในสมัยอยุธยามักนิยมใช้เรือสำเภาไทยอย่างแพร่หลาย แต่ค่อย ๆ หมดความนิยมไป เนื่องจากมีเรือที่ทันสมัยกว่าอย่างเรือกลไฟเข้ามาแทนที่ค่ะ

มณฑปพระสี่ทิศของเมืองโบราณนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงประเพณีการสร้างพระประธานทั้งสี่ทิศให้คนมากราบไหว้บูชาที่เคยมีอยู่ ซึ่งประเพณีนี้มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้วและสืบเนื่องมาจากสมัยหริภุญชัย สุโขทัย และล้านนาค่ะ

ศาลาหน้าเมืองของเมืองโบราณนั้นสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะเป็นจั่วทรงสูงและใช้ไม้กลมเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะของศิลปะสุโขทัยค่ะ โดยศาลานี้จะนิยมสร้างไว้นอกเมือง สำหรับให้ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้พักอาศัยเพื่อรอประตูเมืองเปิด เนื่องจากประตูเมืองจะเปิดและปิดเป็นเวลาเท่านั้นค่ะ


เห็นมั้ยคะว่า...แค่ปั่นจักรยานเที่ยวชมเมืองโบราณก็เหมือนได้เที่ยวทั่วไทยเลยล่ะค่ะ แถมเที่ยวไม่ครบด้วย เพราะสถานที่เที่ยวในนั้นเยอะมากจริง ๆ 5555 และสถานที่เที่ยวที่เรายกตัวอย่างมานี้เป็นแค่ออเดิร์ฟเท่านั้น ถ้าใครอยากเที่ยวให้ครบก็ต้องมาเที่ยวที่เมืองโบราณเลยค่ะ รับรองว่ามีมุมให้เที่ยวอีกเยอะ แล้วมากันเยอะ ๆ นะคะ ^^


หากใครอยากมาเที่ยวชมเมืองโบราณก็ปักหมุดตามข้อมูลข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ...

📍 ปักหมุดได้ที่: 296/1 หมู่ 7 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10280

🚘 GPS: https://goo.gl/maps/wd3mqQQPSCpM7F9Y6

Email: [email protected]

👍 Facebook: https://www.facebook.com/muangborantheancientcity/

💻 เว็บไซต์: https://www.muangboranmuseum.com/

📞 โทร. 02-026-8800-9, 086-324-7658

💸 เสียค่าเข้าชม:

- คนไทย >> เด็ก (อายุ 6 - 14 ปี) ราคา 200 บาท / ผู้ใหญ่ ราคา 400 บาท สำหรับใครที่เที่ยวที่นี่บ่อยหรือชอบเที่ยวแนวนี้ แนะนำว่าให้ซื้อบัตรแบบรายปีในราคา 850 บาทจะดีกว่าค่ะ ซึ่งราคานี้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ซื้อบัตร ก็ถือว่าคุ้มมาก ๆ

ชาวต่างชาติ >> เด็ก ราคา 350 บาท / ผู้ใหญ่ ราคา 700 บาท

รถยนต์ คันละ 400 บาท

(ราคาทั้งหมดรวมรถราง, จักรยาน และเรือ ซึ่งรถรางมีให้บริการเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น)

🏡 เปิด ตั้งแต่เวลา 09.00 - 19.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตร 18.00 น.)

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 17.27 น.

ความคิดเห็น