เมื่อวานไปเยือน 2 พระราชวังซึ่งอยู่นอกเขตเมืองเก่า จึงมีคำถามว่าแล้วพระราชวังในเขตตัวเมืองมีไหม มีสิครับก็คือ พระราชวังฮอฟบูร์ก (Hofburg Palace) พระราชวังขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ ณ สุดถนนกราเบน ใจกลางเมืองเก่าเวียนนา ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเราในขณะนี้ โดยเป็นพระราชวังหลวงของราชวงศ์ฮับส์บูร์กตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งดินแดนแห่งนี้ยังเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ต่อเนื่องมาจนเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี จนกระทั้งถึงการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รวมระยะเวลากว่า 600 ปี ภายในพระราชวังแห่งนี้จึงเก็บงำเรื่องราวที่เดินทางผ่านกาลเวลา อันสะท้อนมาจากเหล่าทรัพย์สมบัติที่จัดแสดงอยู่ภายใน

หลังจากจ่ายค่าเข้าชมแล้ว เราก็ได้ Audio Guide มาประจำตัวคนละ 1 อัน ระยะเวลาที่ Audio Guide จะบรรยายนั้นยาวนานกว่าที่พระราชวังเชินบรุนน์เสียอีก คือกินเวลาถึง 115 นาที หรือเกือบ 2 เท่าของพระราชวังเชินบรุนน์ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน เริ่มจาก ส่วนแรกของพระราชวังซึ่งแปรสภาพเป็น พิพิธภัณฑ์เครื่องเงินเครื่องทอง (Silberkammer) จัดแสดงเครื่องใช้ของเหล่าราชวงศ์ โดยเน้นไปที่เครื่องใช้บนโต๊อาหาร ทั้งช้อนส้อม จานชาม ที่สวยงามตระการตาด้วยลวดลายของทองจนต้องจินตนาการต่อไปว่า อาหารที่อยู่บนจานชามเหล่านั้นจะประดิษฐ์ประดอยไว้อย่างน่าทานเพียงใด

เราเดินเข้าสู่ส่วนที่ 2 คือ พิพิธภัณฑ์ซีซี (Sisi Museum) ส่วนนี้จัดแสดงถึงประวัติและภาพอันสวยงามของพระจักรพรรดินีอลิซาเบธ ในสมัยที่ยังพระเยาว์ทรงมีพระนามว่า ซีซี พระองค์ทรงเป็นพระกุมารีแห่งบาวาเรีย ทรงอภิเสกสมรสกับจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี ซึ่งได้รับการยกย่องถึงพระสิริโฉมว่าเป็นพระราชินีที่งดงามที่สุดในโลก โดยส่วนนี้มีการใช้เทคนิคแสงสีเพื่อนำเสนอประกอบรูปถ่ายและภาพเครื่องไหว สำหรับผมแล้ว สิ่งที่โดดเด่นที่สุดที่จัดแสดง คือ ชุดฉลองพระองค์ที่งดงาม จนจินตนาการถึงครั้งที่พระองค์ทรงสวมชุดนี้ ว่าจะสง่างามเพียงใด โดยพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ ด้วยพระชนมายุ 60 พรรษา ณ กรุงเจนีวา จากกลุ่มล้มล้างราชวงศ์ทั่วทวีปยุโรป

ส่วนสุดท้ายของพระราชวังที่เปิดให้เข้าชมคือ พิพิธภัณฑ์ที่ประทับของพระจักรพรรดิ (Kaiser Apartmet) โดยเปิดให้เราเข้าชมภายในห้องต่างๆที่ยังคงรักษาสภาพไว้เฉกเช่นอดีตของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นห้องประทับของพระจักรพรรดินีอลิซาเบธ กับห้องประทับของจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 พระสวามี แต่ละห้องนั้นตกแต่งไว้อย่างงดงามสมฐานะของหนึ่งในราชวงศ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในทวีปยุโรป

จบเส้นทางทัวร์พระราชวังฮอฟบูร์กตาม Audio Guide เส้นทางพาเราออกมาสู่ล่านกว้างใจกลางพระราชวัง ตรงกลางเป็นอนุสาวรีย์ของจักรพรรดิฟรานซิสที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

เราเดินออกจากพระราชวังตามนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เมื่ออกมาปุ๊บก็เจอกับอีกหนึ่งอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างเป็นรูปโค้งเกือบครึ่งวงกลม ลานด้านหน้าคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว อาคารแห่งนี้คือส่วนที่ต่อเติมจากพระราชวังฮอฟบูร์ก เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เอง จึงได้ชื่อว่าพระราชวังใหม่ (Neue Burg) เป็นอาคาร 2 ชั้น ตลอดแนวอาคารชั้นบนสร้างเป็นเสาโรมันค้ำยันไว้พร้อมกับเป็นการเพิ่มความสวยงามให้กับอาคารไปในตัว ลานกว้างหน้าพระราชวังเป็นอนุสาวรีย์ของบุคคลที่เราเพิ่งไปเยือนพระราชวังของเขาเมื่อวาน นั่นคือ เจ้าชายยูจีน ในท่าทรงม้าศึก ซึ่งอยู่ในฐานะของแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งออสเตรีย จนลานกว้างนี้ได้รับการเรียกขานว่าจัตุรัสวีรบุรุษ หรือ จัตุรัสเฮลเดนท์พลาส (Heldenplatz)

บริเวณจัตุรัสเฮลเดนท์พลาสนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง หากจะเที่ยวให้ครบคงต้องอยู่กรุงเวียนนาต่ออีก 2–3 วัน แต่ขณะนี้เวลาเที่ยวที่เรามีเหลืออยู่เพียงแค่ 2-3 ชม. เท่านั้น เราจึงเดินตัดจัตุรัสเฮลเดนท์พลาสไปยังสวนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ภายในสวนปลูกดอกกุหลาบหลากสีไว้อย่างสวยงามมาก โดยสามารถมองเห็นโครงสร้างยอดแหลมของศาลาว่ากลางกรุงเวียนนา ที่มองดูไกลๆคล้ายหอระฆังของโบสถ์คริสต์

เราเดินทะลุออกจากสวนเพื่อไปยังป้ายรถรางที่อยู่ใกล้สุด ฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของอาคารรัฐสภาออสเตรีย ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่ก็ยังเปิดให้เห็นรูปปั้นขนาดใหญ่ของเทพีอเธน่า ตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้าอาคาร เรารอรถราง สาย 1 เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ที่เราเลือกให้เป็นที่ที่ปิดทริปการเดินทางครั้งนี้

รถรางสาย 1 พาเราเดินทางวนรอบเขตเมืองเก่า จากนั้นจึงเลียบไปตามชุมชนริมคลองดานูบ เราลงก่อนที่รถรางจะพาข้ามคลองดานูบไปอีกฝั่งหนึ่ง เนื่องจากกรุงเวียนนา หรือออสเตรียทั้งประเทศนั้นรวยรุ่มไปด้วยศิลปะและการดนตรี แต่ละวันที่ผ่านมาเราก็เดินทางไปชมศิลปะ สถาปัตยกรรมแห่งอดีตมาเป็นจำนวนมาก ปิดท้ายการเดินทางจึงขอไปยังสถานที่ที่เป็นตัวแทนของศิลปะของคนในยุคปัจจุบันกันบ้าง หากแต่เป็นศิลปะที่ออกจะพิศดาร แปลกประหลาดไปสักหน่อย สถานที่แห่งนั้นคือ Kunst Haus Wien ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า บ้านศิลปะแห่งกรุงเวียนนา

Kunst Haus Wien ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1983 จากไอเดียของศิลปินกับสถาปนิก เพื่อให้เป็นอพาร์ทเมนต์รูปแบบใหม่ที่หลุดจากการยึดติด บ้างห้องก็นูนออกมาจากห้องอื่นๆ ในขณะที่บางห้องก็มีระเบียงยื่นออกมาในลักษณะที่แปลกประหลาดกว่าระเบียงทั่วไป

สีสันแต่ละห้องก็ผิดเพี้ยนกัน หลุดจากความมีระเบียบอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังแฝงแนวคิดให้คนอยู่กับธรรมชาติ จึงมีต้นไม้ปลูกด้านบนอพาร์ทเมนต์บ้าง เกาะยึดกับผนังบ้าง เพื่อให้ผู้พักอาศัยอยู่อย่างสงบกับธรรมชาติ

แต่ด้วยรูปแบบที่แปลกประหลาดนี้เอง ทำให้อพาร์ทเมนต์แห่งนี้กลายเป็นที่เล่าขานของผู้ผ่านไปมาแบบปากต่อปาก จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิปที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นชาวออสเตรีย ฝั่งตรงข้ามจึงมากไปด้วยร้านกินดื่ม และร้านขายของที่ระลึก นักท่องเที่ยวเยอะขนาดนี้จึงไม่รู้ว่าผู้ที่พักอาศัยในอพาร์ทเมนต์จะยังคงอยู่อย่างสงบกับธรรมชาติตามความตั้งใจของผู้ออกแบบหรือเปล่า

เราเดินผ่านผู้คนที่คราคร่ำไปตามถนนเล็กๆที่ตัดผ่านหน้าอพาร์ทเมนต์จนสุดทางที่ริมคลองดานูบ ที่เรียกว่าคลองดานูบเพราะลำน้ำสายนี้ไม่ใช่แม่น้ำดานูบ เพราะถึงแม้แม่น้ำดานูบจะไหลผ่านกรุงเวียนนา แต่ก็ไม่ได้ผ่านใจกลางเมืองเหมือนกับกรุงบูดาเบสท์ ฉะนั้นจึงมีการตัดคลองดานูบขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ

ผมขอเวลาเต้ย 10 นาทีเพื่อให้เวลากับตัวเองในการเดินไปบนเส้นทางเลียบคลองดานูบที่สายน้ำไหลอย่างเอื้อยช้า บนเส้นทางคนเดินนี้ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ จังหวะการก้าวเดินอย่างช้าๆไปบนเส้นทางแห่งธรรมชาตินี้ ทำให้จิตใจผมสงบเย็นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การเดินทางในแผ่นดินแห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีในอดีตของเราจบลงแล้ว หลายสถานที่ที่เราไปเยือนในทริปนี้เป็นสถานที่ที่ธรรมชาติเสกสรรค์ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะที่อีกหลายสถานที่เกิดจากการปรุงแต่งด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสิ่งใดก็ตาม ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งสวยงามที่ควรค่าต่อการไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต การเดินทางครั้งนี้จึงเริ่มต้นและเติมเต็มความสุขจากความอลังการจากสถานที่ต่างๆที่ไปเยือน หากแต่จบลงด้วยความสงบงามที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ช่วงเวลาแม้เพียงสั้นๆนี้จึงเต็มไปด้วยความงดงามที่ซึมลงสู่ใจในทุกย่างก้าวของการเดินทาง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.47 น.

ความคิดเห็น