ทันทีที่ฝนซา ผมก็ออกเดินต่อทันทีสู่พระราชวังฤดูหนาว ซึ่งปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ (Hermitage Museum) ที่เก็บสะสมทรัพย์สินล้ำค่าสุดจะประเมินค่าได้ของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 ที่มีมากกว่า 2,700,000 ชิ้น ที่หากจะเดินชมให้ครบทุกชิ้นอย่างพินิจพิจารณาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จนได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงก้องโลก

พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจประกอบด้วยอาคารที่เชื่อมต่อกันถึง 5 อาคาร ประกอบด้วย พระราชวังฤดูหนาว ซึ่งเป็นอาคารหลักมีความสูง 3 ชั้น เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่และงดงามสุด สมบัติล้ำค่าชิ้นสำคัญๆส่วนใหญ่จะเก็บไว้ที่อาคารนี้ ส่วนอีก 4 อาคารที่เหลือตั้งเรียงกันทางปีกด้านซ้ายประกอบด้วย สมอลล์ เฮอร์มิเทจ (Small Hermitage) นิว เฮอร์มิเทจ (New Hermitage) โอลด์ เฮอร์มิเทจ (Old Hermitage) และ เฮอร์มิเทจ เธียเตอร์ (Hermitage Theatre) ซึ่งเป็นอาคารเดียวที่ไม่ได้จัดแสดงสมบัติล้ำค่าในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ เพราะปัจจุบันยังคงเป็นโรงละครที่หรูหราอลังการและจัดการแสดงเฉกเช่นในอดีต

พระราชวังฤดูหนาวสีเขียวอมฟ้าประดับลวดลายสีทองอย่างอ่อนช้อยที่ตั้งตะหง่านอยู่หน้าจัตุรัสพระราชวังแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นพื่อเป็นที่ประทับของพระนางอลิซาเบธ แต่น่าเสียดายที่พระนางสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระราชวังจะสร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ.1762 พระราชวังฤดูหนาวแห่งนี้จึงกลายเป็นที่ประทับของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 โดยพระนางตั้งชื่อว่า เฮอร์มิเทจ อันมีความหมายว่า ที่ปลดปล่อยอารมณ์อันโดดเดี่ยว

พระนางเริ่มเก็บสะสมสิ่งของล้ำค่าทั้งจากในรัสเซีย และจากประเทศต่างๆทั่วโลก จากห้องสะสมห้องเล็กๆเพียงห้องเดียว ก็ขยายไปยังห้องต่างๆจนสุดท้ายเกือบทุกห้องในพระราชวังก็กลายเป็นห้องสะสม และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจในปัจจุบัน

เล่าถึงประวัติของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 หรือจักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 กันสักนิด ว่าเหตุใดพระนางจึงมีของสะสมมากมายขนาดนี้ สาเหตุหนึ่งน่ามาจาก พระนางเป็นจักรพรรดินีที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในรัสเซีย โดยเป็นพระราชินีในพระเจ้าปีเตอร์ที่ 3 เมื่อพระราชสวามีสิ้นพระชนม์จากการถูกลอบปลงพระชนม์ พระนางก็ขึ้นครองราชย์แทน ด้วยการปกครองจักรวรรดิรัสเซียด้วยภูมิปัญญาอันหลักแหลม ทำให้ในสมัยพระนาง รัสเซียมีความแข็งแกร่งและมีอาณาเขตกว้างใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นมหาอำนาจระดับแนวหน้าของยุโรป จักรวรรดิยิ่งใหญ่ขนาดนี้ จึงไม่แปลกเลยที่จะมีสมบัติล้ำค่าจากสิ่งบรรณาการจนสามารถทำเป็นพิพิธภัณฑ์สมบัติล้ำค่าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

สมบัติล้ำค่ากว่า 2,700,000 ชิ้น ทำให้ผมเริ่มกังวล ว่าเวลาที่ผมมี 3 ชั่วโมงก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะปิด ผมจะเที่ยวชมได้ถึง 100,000 ชิ้นไหม แล้วเมื่อจ่ายเงินค่าเข้าผมก็ได้ตัวช่วย นั่นคือแผนที่แสดงรายละเอียดของสมบัติล้ำค่าชิ้นสำคัญที่ตั้งอยู่ในห้องต่างๆ ทีแรกดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยอย่างดี แต่เอาเข้าจริงๆความสลับซับซ้อนของห้องหับต่างๆก็ทำให้ผมหลงทิศหลงทาง เดินเข้าห้องนั้น ออกห้องนี้ แล้วก็หลงจนวนกลับมาห้องเดิมอีก เอาเป็นว่าพับแผนที่เก็บเอาไว้ในกระเป๋า แล้วเดินชมแต่ละห้องไปเรื่อยๆอย่างสบายใจ จะชมได้สักหมื่นชิ้น แสนชิ้น หรือได้เพียงแค่หลักพันก็คงไม่สำคัญเท่าการเดินชมด้วยความรื่นรมณ์

แค่เพียงก้าวเท้าเข้าสู่ชั้นล่างของพระราชวังฤดูหนาว ก็ทำให้ผมหนาวสะท้านกับความอลังการที่เห็น นี่มันสิ่งก่อสร้างบนโลกมนุษย์ หรือสรวงสวรรค์กันแน่ เพราะทุกอย่างช่างงดงามตระการตาไปเสียหมด ตั้งแต่โครงสร้างอาคาร ริ้วลายที่ส่งประกายสีทองอร่าม รูปปั้นเหล่าทวยเทพ ที่ไม่ใช่แค่ทุกฝีก้าวที่เดิน แต่บางทีเมื่อแหงนคอมองขึ้นไปบนเพดานยังพบเหล่าทวยเทพ บ้างก็แอบกาย บ้างก็แบกคานอยู่บนนั้น อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมที่งดหยดย้อย ที่แม้มองจนเมื่อยคอก็ไม่เบื่อ ซึ่งการได้ชมแค่นี้ โดยที่ยังไม่ได้ชมสมบัติล้ำค่าอีกนับแสนนับล้านชิ้นที่เก็บอยู่ภายใน ก็คุ้มกับค่าบัตรเข้าชมแล้ว

แต่ไม่ครับ ผมไม่คิดจะยืนค้างมองความงามแค่เพียงห้องโถงด้านหน้า เพราะอย่างไงเสียวันนี้ถึงมีเวลาแค่เพียงนิด ก็ขอเดินชมสมบัติล้ำค่าของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 เป็นบุญตา ซึ่งว่ากันว่า การมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปรียบเสมือนการได้มาชมพิพิธภัณฑ์ของประเทศต่างๆเกือบค่อนโลก เพราะห้องหับต่างๆที่มีมากกว่าพันห้องซึ่งได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์นั้น แบ่งการแสดงสมบัติล้ำค่าออกเป็นโซนตามที่มาของสมบัติเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป มีการแสดงสมบัติล้ำค่าแยกเป็นโซนตามประเทศต่างๆเกือบครบทุกประเทศ อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงดินแดนอียิปต์โบราณในทวีปแอฟริกา ใครอยากดูมัมมี่ ที่นี่ก็มีให้ดู

เพราะจักรวรรดิรัสเซียมีพื้นที่กว้างไกลถึงดินแดนไซบีเรียในทวีปเอเชีย สมบัติล้ำค่าอีกส่วนหนึ่งจึงมาจากประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย บรรดาพระพุทธรูปที่คุ้นตาทั้งแบบศิลปะจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และไทยก็มีให้ชม

หากถามว่าในบรรดาสมบัติล้ำค่าที่ได้ชม ผมชอบชิ้นไหนมากที่สุด ท่าจะตอบยาก เพราะสมบัติแต่ละชิ้นนั้นช่างตระการตาและงดงามในแบบที่แตกต่างกัน ทั้งภาพวาดจากจิตรกรชื่อก้องโลก อาทิเช่น ลีโอนาโด ดาวินซี, ปีกัสโซ, แวนโก โดยห้องจัดแสดงรูปภาพนั้นเป็นห้องขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันหลายห้อง เดินจนเมื่อยขาก็ยังชมไม่หมด นอกจากนี้ยังมีเหล่าแจกัน ดอกไม้ประดิษฐ์ ชุดแต่งกายของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ชุดเกาะของนักรบ รวมถึงสมบัติตั้งแต่สมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช สำหรับตัวพระราชวังเองก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ และท้องพระโรงที่ยิ่งใหญ่อลังการ

แล้วผมก็มาหยุดยืนค้างอยู่นานที่หน้านกยูงนกคำ 2 ตัวที่ยืนเกาะอยู่บนต้นไม้ทองคำ มันไม่ใช่นกยูงธรรมดา เพราะนอกจากเป็นนาฬิกาแล้ว ภายในยังมีกลไกที่ทำให้นกยูงขยับคอ ลำแพนหางได้เหมือนมีชีวิต ซึ่งหากเป็นยุคปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ลองนึกถึงเมื่อกว่า 2 ร้อยปีก่อน สิ่งนี้น่าจะเป็นสุดยอดของนวัตกรรม อีกทั้งยังสามารถทำงานได้ดีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ที่รวยรุ่มไปด้วยสมบัติล้ำค่าแห่งนี้

แม้ว่ายังมีสมบัติล้ำค่าจำนวนมากมายมหาศาลที่ผมยังไม่มีโอกาสได้ชม แต่เวลาที่ผ่านมาร่วม 3 ชั่วโมงก็ทำให้ผมเต็มอิ่มจนเกือบจุก นี่แค่เดินชมยังเหนื่อยได้ขนาดนี้ นึกถึงเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่จัดสมบัติล้ำค่ามากกว่า 2,700,000 ชิ้น ให้เป็นหมวดหมู่ตามห้องหับต่างๆน่าจะปวดเศียรเวียนเกล้ายิ่งนัก

มองทอดสายตาจากหน้าต่างพระราชวังฤดูหนาวข้ามแม่น้ำเนวาไปยังป้อมปีเตอร์แอนด์ปอล จากตำแหน่งนี้ป้อมปราการที่ได้เห็นนั้นงดงามยิ่งนัก อีกทั้งเวลานี้สายฝนก็จางหายไปจากท้องฟ้าจนหมดสิ้น เป็นสัญญาณที่บอกว่าได้เวลาที่ต้องจากลาก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะปิดลงในอีกไม่กี่นาที

สองขาผมก้าวตรงไปยังจัตุรัสพระราชวัง (Palace square) ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเป็นลานกว้างขนาดพอๆกับจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก แต่พื้นปูด้วยอิฐจนเต็มพื้นที่ ด้านหลังเป็นพระราชวังฤดูหนาว เฮอร์มิเทจ ส่วนด้านหน้าและด้านข้างถูกโอบล้อมด้วยอาคารสีเหลืองขนาดใหญ่ที่ทอดตัวเป็นครึ่งวงกลม ตรงกลางจัตุรัสแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเสาอเล็กซานเดอร์ (Alexander column) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะที่กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียมีเหนือกองทัพพระเจ้านโปเลียน ในปีค.ศ.1812 โดยทำจากหินแกรนิตทั้งแท่ง ด้วยความสูงถึง 47.5 เมตร ทำให้ต้องแหงนคอตั้งบ่าและเพ่งสายตาจนสุดฤทธิ์จึงได้เห็นว่าด้านบนเป็นรูปนางฟ้าถือไม้กางเขน ซึ่งตำราระบุว่านางฟ้านางนี้ยืนเหยียบอยู่บนงู แต่นั้นก็ยากเกินไปที่ผมจะมองเห็น ก็คงไม่ต่างกับการเดินทาง ที่แม้เราจะวางแผนมาอย่างดี แต่เราก็ไม่มีทางมองเห็นทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในเวลานี้ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากผมสามารถมองเห็นอนาคตว่าผมจะถูกล้วงกระเป๋าที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผมจะตัดสินใจมารัสเซียไหม คำตอบคือ ...

ผมเดินผ่านจัตุรัสพระราชวังสู่ท้องถนนที่ผู้คนขวักไขว้ ท้องฟ้าหลังฝนในเวลานี้งดงามยิ่งนัก เพราะสายรุ้งงามกำลังทอดตัวให้ได้เห็น นั่นจึงยังคงเป็นความจริงตามคำโบร่ำโบราณที่กล่าวไว้ว่า ฟ้าหลังฝนนั้นงดงามเสมอ ชีวิตหลังความโชคร้ายจึงต้องงดงามไม่ต่างกัน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.34 น.

ความคิดเห็น