หลังจากอิ่มท้องก็มีแรงออกเที่ยว เราเริ่มจากการออกนอกเมืองเพื่อไปนมัสการหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมัน (Shwe Myethman) หรือพระใส่แว่น ที่เมืองชเวดัง (Shwedaung) สำหรับการเดินทางนั้นแสนสะดวก โดยสามารถนั่งรถสองแถวประจำทาง ซึ่งท่ารถอยู่บริเวณซอยเล็กๆระหว่างห้องแถว ที่ห่างจากอนุสาวรีย์นายพลอองซาน ไปทางทิศใต้ของถนนลานมาดอว์ (Lanmadaw) เป็นระยะทางแค่ 1 ช่วงตึก

ในเวลาที่เรามาถึงมีรถสองแถวสีเขียวจอดอยู่บริเวณนี้ 1 คัน เราจึงสอบถามคนขับรถว่าไปพระใส่แว่นหรือเปล่า ด้วยวิธีเอาปลายนิ้วโป้งประกบกับนิ้วชี้จนเป็นรูปวงกลม แล้วนำมาแนบที่ดวงตา คนขับทำท่าแบบเดียวกับเรา พร้อมพยักหน้า และเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราขึ้นรถถูกคัน เราจึงสอบถามผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถ ด้วยการทำท่าแบบเดิม และคำตอบที่เราได้รับคือท่าแบบเดียวกับที่เราทำ พร้อมการพยักหน้า ดูแล้วตลกดีมิใช่น้อย

หลังจากจ่ายค่ารถเพียง 250 จ๊าต รถสองแถวก็พาเราออกนอกเมือง ไปตามถนนที่เลียบแม่น้ำอิรวดี ผ่านเขตชนบท ที่มีเกวียนและวัวเป็นเพื่อนร่วมทาง จนระยะทางผ่านไปประมาณ 15 กม. และเวลาผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง รถจึงหยุดที่ทางแยก โดยคนขับชะโงกหน้ามาบอกให้เราลงที่นี่

นอกจากเราสองคนที่ลงที่นี่ ยังมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งสะพายย่ามใส่หนังสือ และหิ้วปิ่นโตใบเล็กลงพร้อมกับเรา ด้วยความน่ารักของน้องผู้หญิง ที่แก้มผัดตะนาคาจนขาวผ่อง ทำให้เราเข้าไปทำความรู้จัก แต่อย่าคิดในแง่ร้ายนะครับ เพราะเราเพียงแค่สอบถามทางไปนมัสการหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมัน น้องผู้หญิงก็แสนน่ารัก ตอบเราว่าเธอจะพาไป เพราะเป็นทางผ่านในการไปโรงเรียน ซึ่งแม้ในระหว่างทาง เพื่อนของเธอจะชวนให้เธอซ้อนท้ายจักรยานเพื่อไปส่งที่โรงเรียนก็ตาม

จากทางแยกที่ลงจากรถสองแถว น้องผู้หญิงพาเราเลี้ยวขวา เข้าไปตามทางเล็กๆที่เรียงรายด้วยบ้านเรือนเก่าๆ เราจึงได้สัมผัสวิถีชีวิตและอาหารการกินของชาวพม่า จึงพบว่า ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท อาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพม่า คือบรรดาของทอด ไม่ว่าจะเป็นสารพัดผักทอด ปาท่องโก๋ ซามูซาหรือกะหรี่พั้ฟ รวมถึงขนมไข่ดาว แบบที่มีขายในเมืองไทย

แล้วรองเท้าของน้องผู้หญิงก็ถูกถอดออก ก่อนที่ก้าวแรกจะเหยียบลงบนพื้นที่เขตวัด เห็นเช่นนั้นเราจึงถอดรองเท้าตาม แล้วเดินเท้าเปล่าไปบนทางดิน ที่บางช่วงเต็มไปด้วยกรวดหิน ผมเดินหลบเลี่ยงเพราะความเจ็บฝ่าเท้า แต่ดูเหมือนกรวดหินเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ในความสนใจของน้องผู้หญิงเลย นอกจากน้องผู้หญิงแล้ว บนเส้นทางนี้ ยังมีชาวพม่าอีกหลายคน ที่เดินเท้าเปล่าเพื่อไปนมัสการหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมัน ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร ซึ่งถ้าหากเป็นคนไทย กว่าที่จะยอมถอดรองเท้า ก็เมื่อจะขึ้นโบสถ์หรือวิหารเท่านั้น

อะไรนะ ที่ทำให้พวกเขาเพิกเฉยต่อความรู้สึกเจ็บที่ได้รับ ?


รอยยิ้ม และใบหน้าอันอ่อนโยนของหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมันคือสิ่งแรกที่เราสัมผัส เรานั่งลงบนพื้นเพื่อนมัสการหลวงพ่อเหมือนกับน้องผู้หญิง เธอบอกว่า เธอมักจะแวะเข้ามานมัสการหลวงพ่อทุกเช้า ก่อนจะเข้าโรงเรียน จากนั้นเธอจึงขอตัวเพื่อไปโรงเรียน โดยไม่ลืมหยิบเงินจากกระเป๋าหย่อนลงตู้บริจาค แม้จะเป็นเงินที่มีมูลค่าไม่มากนัก ซึ่งคิดเป็นเงินไทยแล้ว มีค่าไม่ถึง 1 บาท แต่ก็เหมือนดังหยดน้ำ ที่สะสมวันละหยดสองหยด จนกลายเป็นสายธารแห่งศรัทธา ที่มากล้นจนเต็มตู้รับบริจาค

บนใบหน้าอันอ่อนโยนของหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมัน มีแว่นกรอบสีทองขนาดใหญ่สวมอยู่ ซึ่งนั่นเองคือที่มาของชื่อ ชเวเมี๊ยะมัน ซึ่งแปลว่า แว่นตาทองคำ

เดิมไม่มีแว่นอย่างที่เห็น แต่เป็นเพราะพระเจ้าดัตตาบอง (Duttabaung) กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีเกษตร (ผู้บูรณะชเวซันดอว์) เกิดสูญเสียการมองเห็น โหราจารย์จึงดูดวงชะตา และทูลให้พระองค์เปลี่ยนดวงตาหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมัน โดยหลังจากที่พระองค์ทำตามที่โหราจารย์ให้คำแนะนำ พระองค์ก็สามารถมองเห็นได้ดังเดิม จากนั้นจึงมีประเพณีการเปลี่ยนดวงตาให้กับหลวงพ่อชเวเมี๊ยะมันสืบต่อกันมา จวบจนยุคปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้เปลี่ยนเป็นการถวายแว่นตาอันโตแทน ทำให้ในวันนี้ ภายในวิหารจึงเต็มไปด้วยแว่นสายตา ที่พุทธศาสนิกชนนำมาบริจาค ซึ่งแว่นทั้งหมดจะถูกทยอยส่งให้ชาวพม่าผู้ยากไร้ที่มีปัญหาด้านสายตา ให้ได้มีโอกาสเห็นโลกที่สดใสอีกครั้ง และการบริจาคนี้เองที่ช่วยขจัดกิเลส ที่เกาะแน่นในจิตใจ และทำให้สายตาที่เคยพร่ามัว ได้เห็นแสงสว่างจากพระธรรมได้เร็วขึ้น

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.10 น.

ความคิดเห็น