เมืองมิงกุนมีถนนเพียงสายเดียว คือถนนที่ผ่านหน้าเจดีย์มิงกุน แต่ของดีก็เหมือนลูกชิ้นในก๋วยเตี๋ยว ที่ต้องเก็บไว้กินทีหลัง เราจึงเลือกเดินบนเส้นทางดินที่เลียบไปตามแม่น้ำอิรวดี ผ่านวัดเล็กๆนามว่าพอนดาว (Pondaw) แล้วจึงเลี้ยวเข้าไปยังวัดเซททาวยา (Sattawya) โดยทาสีขาวทั้งวัด เริ่มจากกำแพงสีขาวที่ซ้อนกันถึง 5 ชั้น โดยบันไดที่ทอดผ่านกำแพงแต่ละชั้นสร้างเป็นรูปเทวดาสีขาวรวมแล้วมากถึง 20 องค์



อีกหนึ่งสีขาวซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางวัด คือมณฑปที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทบนแผ่นหิน โดยพระเจ้าปดุงทรงให้สร้างไว้เป็นนัยว่า วัดเซททาวยาแห่งนี้ เป็นสถานที่แรก ในการก้าวขึ้นสู่ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งมีเจดีย์มิงกุนเป็นศูนย์กลาง

เรากลับมาเดินเลียบแม่น้ำอิรวดีอีกครั้งหนึ่ง ไม่ไกลจากวัดเซททาวยา มีกองหินขนาดใหญ่ 2 กอง แต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ทำให้เราต้องตะลึง เพราะกองหินทั้ง 2 กองนี้ ที่แท้คือโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐ หลังจากเดินดูจนรอบแล้ว จึงเริ่มเห็นเค้าโครงในอดีต ว่ากองหินที่อยู่เบื้องหน้าเรานี้ คือ รูปปั้นสิงห์คู่ขนาดใหญ่ ที่ยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้าเจดีย์มิงกุน

หลังจากตะลึงสิงห์ยักษ์ไปครั้งหนึ่ง เราก็ต้องตะลึงเป็นครั้งที่สอง เมื่อภาพเจดีย์มิงกุน (Mingun Paya) ปรากฏอยู่เต็มสองตา เพราะแม้เจดีย์แห่งนี้จะสร้างเสร็จเพียงแค่ฐาน อีกทั้งยังแตกร้าวจากเหตุแผ่นดินไหว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่นั้นยิ่งคงใหญ่ 


หากยังจำกันได้ว่ากษัตริย์พม่าผู้สามารถตีอาณาจักรยะไข่ และชะลอพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์ คือพระเจ้าปดุง ก็ต้องขอเอ่ยพระนามของพระองค์อีกครั้ง ในฐานะกษัตริย์ผู้โปรดให้สร้างเจดีย์มิงกุน อันมีความหมายว่า เจดีย์แห่งกษัตริย์ โดยทรงหวังให้เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหากเป็นไปตามพระราชประสงค์ เจดีย์มิงกุนจะมีความสูงถึง 150 เมตร แต่น่าเสียดาย ที่พระราชประสงค์ของพระองค์ไม่อาจจะเป็นจริง เพราะหลังจากสร้างเจดีย์มิงกุนได้เพียง 7 ปี พระองค์ก็เสด็จสวรรคต งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุน ที่ใช้แรงงานทาสชาวยะไข่ จึงสำเร็จเพียงแค่ฐาน


แท่งเดินเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในช่องด้านหน้า ส่วนผมเลือกที่จะเดินชมเจดีย์มิงกุนโดยรอบ เจดีย์ยักษ์แห่งนี้มีฐานกว้างถึงด้านละ 150 เมตร ฐานเจดีย์ด้านที่หันเข้าหาแม่น้ำอิรวดีเป็นเพียงด้านเดียวที่ยังอยู่ในสภาพดี ส่วนด้านอื่นล้วนเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่กองทับถม ซึ่งนั่นเป็นผลจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2381 หรือหลังจากปีที่เริ่มสร้างเพียงแค่ 47 ปี ผมจึงได้แต่คิดว่า ถึงแม้เจดีย์มิงกุนจะสร้างเสร็จ แต่ก็ไม่แน่ว่า ส่วนยอดของเจดีย์จะยังอยู่หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ เพราะแม้ผลงานของมนุษย์จะมีความยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ก็ไม่อาจเกินความยิ่งใหญ่ในพลังแห่งธรรมชาติไปได้

ผมเดินวนจนมาถึงมุมหนึ่งของเจดีย์ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด โดยโครงสร้างด้านนอกของฐานเจดีย์ขนาดมหึมาได้พังทลายลงมา จนเกิดเป็นร่องลึกเข้าไปในตัวเจดีย์ โดยมุมนี้เองมีบันไดให้เดินผ่านซากปรักหักพังเหล่านั้น เพื่อขึ้นไปยังด้านบน


ผมเดินไปตามขั้นบันไดจนสุด โดยหลังจากนี้ ต้องเดินไปบนแผ่นอิฐที่แตกร้าว จนให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนลานหินแตก ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และในขณะที่กำลังลังเลว่าจะเดินไปทางไหนดี เด็กชายชาวพม่าคนหนึ่งก็ส่งภาษาอังกฤษมาทางผม แน่นอน เขาคือไกด์เจ้าถิ่น ที่กำลังจะมาต้อน(รับ)ผู้มาเยือนอย่างผม เหมือนเช่นชาวฝรั่งหลายคน ที่ต่างมีไกด์ตัวน้อยเดินประกบ เห็นจะมีก็แต่แท่งเพียงคนเดียวกระมัง ที่เดินชมวิวเหนือฐานเจดีย์ที่สูงถึง 50 เมตรโดยไม่มีใครมาประกบ โดยแท่งใช้วิชานินจา หลบซ้าย หลบขวา จนเด็กพม่าตามไม่ทัน


ไกด์ตัวน้อยชักชวนผมให้ก้าวข้ามแนวแตกร้าวของฐานเจดีย์ เพื่อไปชมทิวทัศน์แม่น้ำอิรวดีและเมืองมิงกุน ในตำแหน่งที่เขาบอกว่าสวยที่สุด ณ ตำแหน่งนี้ นอกจากมองเห็นแม่น้ำอิรวดีไหลทอดยาวอยู่เบื้องล่างแล้ว ยังเห็นสิงห์คู่ตัวโต เจดีย์ชินพิวเม และเจดีย์อีกหลายแห่ง รวมถึงหมู่บ้านและโรงเรียนของไกด์ตัวน้อยคนนี้ด้วย

หลังจากได้รับค่าขนมเป็นที่เรียบร้อย ไกด์ตัวน้อยก็วิ่งไปต้อน(รับ)ผู้มาเยือนคนใหม่ โดยปล่อยผมให้หาทางกลับที่ปลอดภัยในการก้าวข้ามแนวแตกร้าวของฐานเจดีย์เอง


ไม่ใช่เพียง สิงห์คู่ยักษ์ เจดีย์ยักษ์ แต่ที่มิงกุนยังมีระฆังยักษ์ ที่พระเจ้าปดุงทรงโปรดให้สร้างในคราวเดียวกับที่สร้างเจดีย์มิงกุน ระฆังมิงกุน (Mingun Bell) สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ มีความสูงถึง 12 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลางที่ปากระฆัง 16 ฟุต 3 นิ้ว ด้วยความใหญ่โตขนาดนี้จึงทำให้มีน้ำหนักมากถึง 90 ตัน แม้เจดีย์มิงกุนจะสร้างไม่เสร็จ ทำให้ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่อย่างน้อยระฆังมิงกุนอันนี้ก็ถูกจัดอันดับให้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากระฆังที่กรุงมอสโค

หลังจากชมของใหญ่ๆจนรู้สึกว่าร่างกายเราเล็กเหลือเกิน เราจึงเปลี่ยนมาชมของเล็กๆ หากแต่สวยงามกันบ้าง นั่นคือบรรดาหุ่นชัก ศิลปะพม่า โดยมีหลายแบบให้เลือกทั้งรูปเทวดา กษัตริย์ทรงม้า ขุนนาง ตัวตลก ซึ่งล้วนเป็นงานฝีมือชิ้นเยี่ยม


นอกจากหุ่นชักแล้ว ยังมีของเล็กๆที่กำลังถูกทอดในน้ำมันร้อนๆจนพองกรอบ นั่นคือ ขนมรูปร่างกลมๆ ที่ชื่อว่า ชูก้า ภายในเป็นไส้ถั่ว กรอบนอกนุ่มใน อร่อยดีแท้ และยังมีขนมอีกอย่างคือ โมรากา เป็นแป้งเหนียวๆสีดำ ราคาเพียงชิ้นละ 100 จ๊าตเท่านั้น นอกจากขนมอร่อยๆแล้ว เรายังได้รอยยิ้มของแม่ค้าเป็นของแถมด้วย

เดินมาจนสุดถนน ณ ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์ชินพิวเม (Hsinbyume) ซึ่งถูกจัดว่าเป็นเจดีย์ที่งดงามที่สุดเจดีย์หนึ่ง เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าบาจีดอว์ (Bagyidaw) ทรงสร้างเพื่อเป็นตัวแทนแห่งความรัก ที่พระองค์มีต่ออัครมเหสีชินพิวเม ที่ถึงแก่พิราลัย เมื่อปีพ.ศ.2359 ทำให้ได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นดั่งทัชมาฮาล แห่งลุ่มน้ำอิรวดี

แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นตามหลักจักรวาลที่มีองค์เจดีย์เป็นดั่งเขาพระสุเมรุ โดยถูกล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด ที่สร้างลดหลั่นซ้อนองค์เจดีย์เป็น 7 ชั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแม่น้ำอิรวดีที่กว้างใหญ่ ก็คงเป็นดังมหานทีสีทันดร ที่แผ่ตัวขวางกั้น มิให้มนุษย์ปุถุชนที่ยังคงหมุนวนอยู่ในความรัก โลภ โกรธ หลง ว่ายข้ามผ่าน

เรากลับขึ้นเรือในเวลาที่เรือใกล้ออก โดยใช้บริการสะพานและราวกันตกที่มีชีวิตอีกครั้ง เวลาบ่ายโมงตรงเรือเคลื่อนตัวออกจากท่าตามเวลาที่กำหนด ผมหันกลับไปมองเจดีย์มิงกุนอีกครั้ง ก่อนที่ความยิ่งใหญ่ของเจดีย์จะค่อยๆเลือนรางตามระยะห่างที่มากขึ้น จนหายลับไปจากสายตา

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.02 น.

ความคิดเห็น