บ้านหลวงประเทืองคดี ย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร: ตามรอยประวัติศาสตร์ชาวเวียดนามอพยพ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

พาชมบ้านของหลวงประเทืองคดี นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตรคนแรก ผู้ริเริ่มสร้างตลาดวังกรด: บ้านตึกหลังแรกในตลาดวังกรด หลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ไทยพร้อมกับโฮจิมินห์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

  • พิพิธภัณฑ์บ้านหลวงประเทืองคดี วังกรด ย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร
  • ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/ezBZemeL5HdkvM248
  • วันเวลาเปิด: 8.00 – 17.00 น. 
  • โทร: 0898568945


::: ประวัติของหลวงประเทืองคดี :::


ชื่อเดิมของ “หลวงประเทืองคดี” คือ นายชม ผดุงศิริ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2425 รับราชการเป็นอัยการ และเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อชุมชนตลาดวังกรด เพราะเป็นคนที่ริเริ่มและสนับสนุนให้มีการสร้างตลาดวังกรดและศาลเจ้าพ่อวังกลม

วันที่ 22 ธันวาคม 2461 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประเทืองคดี” เป็นข้าราชการอัยการในกระทรวงยุติธรรม.ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งเทศบาลเมืองพิจิตร จึงได้รับแต่งตั้งเป็น “นายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร” คนแรก


::: อาคารทรงตึกหลังแรกในตลาดวังกรด :::


บ้านหลวงประเทืองคดีเป็นอาคารโบราณที่สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2471 โดยช่างชาวเวียดนามชื่อ “นายบัว” อิฐที่ใช้สร้างบ้านเป็นอิฐที่ปั้นและเผาเอง 

ชาวบ้านมักจะเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านคุณนายแจง” หรือ "บ้านย่าแจง" ตามชื่อของเจ้าของบ้านเดิมคือ นางแจง และ นายทอง ไทยตรง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ (ด้านล่างนี้คือภาพของนางแจง และนายทอง ไทยตรง ชาวเวียดนาม)

โดยนายทองคือชาวเวียดนามที่ลี้ภัยมาในสมัยสงครามเวียดนามพร้อมกับโฮจิมินห์ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม​ ต่อมานายทองถูกลอบสังหาร​ นางแจงจึงได้รู้จักกับหลวงประเทืองคดี​ ซึ่งเป็นอัยการที่มาว่าความคดีการลอบสังหารของนายทอง​ (สามีนางแจง)​ ก่อนที่จะรักใคร่ชอบพอกัน​ และสร้างบ้านหลังนี้เพื่ออาศัยอยู่ด้วยกันค่ะ

นางแจงกับนายทองมีลูกด้วยกัน​ 5 คน​ เป็นลูกสาว​ 1 คน​ ลูกชาย​ 4 คน​ หนึ่งในลูกชายคือนายแพทย์วรสิทธิ์​ ลูกชายคนที่ 5 ของนางแจงกับนายทอง (ซึ่งเราจะเห็นรูปถ่ายของนายแพทย์วรสิทธิ์ตั้งโชว์อยู่ในบ้านมากมาย) ก่อนที่จะยกบ้านหลังนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาล เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งในย่านเก่าวังกรดจวบจนถึงปัจจุบันค่ะ (ด้านล่างนี้คือภาพห้องทำงานของหลวงประเทืองคดีที่ท่านยังมีชีวิตอยู่​ ใช้เป็นห้องสำหรับนัดเจอลูกความและว่าความกันในห้องนี้ค่ะ)

นอกจากนี้ยังมีกระจกเก่าแก่อายุ 90 กว่าปี ซึ่งเป็นของขวัญในวันขึ้นบ้านใหม่

และที่ชั้น 2 ของบ้านจะมีตู้เซฟและเตียงโบราณ ซึ่งนางแจง หรือ ย่าแจงเคยใช้นอนสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่


::: ย่านเก่าวังกรด ตำนานท้องมังกรแห่งลำน้ำน่าน :::


แม่น้ำน่านเปรียบเสมือนมังกร ตลาดเก่าวังกรดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณท้องของมังกร​ซึ่งตรงตามหลักฮวงจุ้ยที่ว่าถ้าสร้างตลาดอยู่บริเวณท้องของมังกรจะทำให้บริเวณนี้ทำมาค้าขึ้นเจริญรุ่งเรือง

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ตลาดเก่าที่มีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากมีการคมนาคมถึง 2 เส้นทาง ทั้งทางรถไฟและทางน้ำ

โดยหน้าตลาดมีทางรถไฟ ท้ายตลาดมีท่าเรือขนส่ง เมื่อเกิดการตัดถนนเข้ามาในพื้นที่นี้ ตลาดก็ซบเซาลง​ เงียบลงเรื่อย ๆ

จนเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการรื้อฟื้นพัฒนาให้ดีขึ้น​ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งย่านเก่าวังกรดมีจุดเด่นเรื่องอาหารพื้นถิ่น เช่น ผัดไทย หมูสะเต๊ะ สาคูไส้หมู น้ำมะนาวดอง เป็นต้น



::: ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดชม :::

  • การทำสีบ้านด้วย "ปูนตำ" แบบโบราณ ซึ่งจะให้สีขาวนวลในช่วงแรก ก่อนที่จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีครีมอมเหลืองตามกาลเวลา โดยไม่ต้องทาสี 

สีขาวบนผนังบ้านนี้ไม่ใช่สี​ แต่เป็นปูนตำแบบโบราณ​​ ที่นิยมใช้ในวัดโบราณในจังหวัดสุโขทัย​และอยุธยา​ มีลักษณะเป็นปื้น​ ไม่ได้ดูเรียบเนียนเหมือนการทาสีทั่วไป​ เมื่อเวลาผ่านไป​ ปูนนี้ก็จะกลายเป็นสีครีมอมเหลืองค่ะ

  • การทำห้องใต้ดินกว้างขวาง เพื่อใช้หลบภัยจากการทิ้งระเบิดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ซ่อนชาวเวียดนามอพยพ และใช้เก็บสมบัติเนื่องจากที่นี่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการทิ้งระเบิดที่บริเวณนี้บ่อยครั้งบ้านหลังนี้จึงต้องสร้างห้องใต้ดินเอาไว้เพื่อเป็นหลุมหลบภัย

ปกติบ้านเรือนในตลาดทั่วไปมักจะทำหลุมหลบภัยขนาดเล็กแต่ที่บ้านหลวงประเทืองคดีให้ผมทำเป็นหลุมหลบภัยขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นทั้งหลุมหลบภัยจากการทิ้งระเบิด เป็นที่ซ่อนตัวของชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น และใช้เป็นที่เก็บสมบัติในอดีตหลุมหลบภัยเคยลึกมากกว่านี้ พื้นเป็นดินแต่เมื่อพื้นที่รอบๆมีการถมดินให้สูงขึ้นจึงทำให้มีน้ำเข้าเข้ามาท่วมขังอยู่ภายในหลุมหลบภัย จนต้องทำให้พื้นสูงขึ้นจนกลายเป็นหลุมตื้น ๆ เช่นในปัจจุบัน

  • ชมสถาปัตยกรรมแบบเวียดนามแห่งแรกและแห่งเดียวในชุมชนย่านวังกรด

หนังสือกฎหมายที่หลวงประเทืองคดีใช้ว่าความในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่​ เป็นหนังสือเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่​ 4, 5, และ​ 6 ตัวอักษรบางตัวยังคงใช้ตัวอักษรแบบโบราณ​ รวมไปถึงการสะกดคำแบบโบราณด้วยค่ะ

  • ชมกุญแจดอกยักษ์ สัญลักษณ์ของอัยการผู้ทำหน้าที่ไขคดีให้ประชาชน

สำหรับกุญแจดอกยักษ์ที่ตั้งอยู่กลางห้อง ใครเดินผ่านไปมาก็ต้องมองด้วยความสงสัยว่ากุญแจดอกนี้คืออะไร

กุญแจดอกนี้ คือกุญแจที่ผู้ว่าวีระศักดิ์มอบให้ ในวันที่เริ่มเปิดบ้านนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยสาเหตุที่เลือกทำเป็นรูปกุญแจเพื่อสื่อถึงอาชีพอัยการ ผู้ทำหน้าที่ในการไขปัญหาให้กับประชาชนนั่นเองค่ะ

ถ้าใครสนใจเยี่ยมชมบ้านหลวงประเทืองคดี สามารถติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ 0898568945 ได้เลยนะคะ

ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนถึงหน้าสุดท้ายค่ะ ขอบคุณค่ะ
======================================
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Pira Story ได้ที่

Pira Story

 วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.16 น.

ความคิดเห็น