ไม่ไกลจากพระนอนกลางแจ้ง เป็นวิหารขนาดใหญ่ ที่ยอดหลังคาแหลมสูงถึง 7 ชั้น อีกทั้งยังประดับประดาด้วยลวดลายสีทองอย่างวิจิตรงดงาม ดึงดูดให้เราเดินผ่านซุ้มประตูรูปปั้นสิงโตคู่ เข้าสู่วิหารหลังใหญ่อย่างไม่รู้ตัว

ภายในวิหารเรียงรายไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก จนสุดทางเป็นที่ประดิษฐานพระนอนที่ใหญ่มาก จนต้องสร้างหลังคาขนาดใหญ่คลุมส่วนลำตัวท่อนบน และขา ที่ยาวล้นออกไปนอกวิหาร ใช่แล้ว นี่คือ ชเวตาเลียว องค์จริง ไม่ใช่องค์จำลองที่เราหลงเข้าใจผิดเมื่อครู่ เพราะนอกจากความงดงามของพระพุทธรูปแล้ว ภายในวิหารขนาดใหญ่ ที่สร้างคลุมองค์พระพุทธรูปนั้น เนื่องแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่มานมัสการตั้งแต่เช้า

ชเวตาเลียว (Shwe Thalyaung) นั้นเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่มีความยาวถึง 180 ฟุต หรือ 54 เมตร สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.1537 หรือเมื่อกว่าพันปีก่อน โดยพระเจ้าเมงกะติปะ (Miga Depa) กษัตริย์มอญที่เคยครองกรุงหงสาวดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระพุทธรูปองค์นี้ก็ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง จนจมอยู่ในกองดิน จวบจนปีพ.ศ.2424 เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ พระพุทธปางไสยาสน์องค์นี้จึงเผยโฉมให้เห็นอีกครั้ง และได้ผ่านการบูรณะจนงดงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แม้ชเวตาเลียวจะเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ แต่ก็ไม่ใช่แบบที่มีในเมืองไทย เพราะพระบาทนั้นวางเลื่อมกัน ต่างจากไทยที่มักสร้างพระบาทเสมอกัน โดยพระบาทนั้นประดับด้วยกระจกสีอย่างงดงาม ตรงกลางทำเป็นรูปธรรมจักร ส่วนพระเศียรมีหมอนที่ประดับลวดลายอย่างสวยงามหนุนรองอยู่ร่วมสิบใบ

นอกจากนี้ด้านหลังพระพุทธรูปยังมีภาพแสดงเรื่องราวการสร้างพระพุทธรูป แต่ที่น่าสังเกตคือทิศทางการนอนของพระพุทธรูปในภาพ นั้นตรงข้ามกับทิศทางการนอนของพระพุทธรูปองค์จริง

การเดินทางด้วยเท้ายังไม่สิ้นสุด เราเดินมุ่งสู่มหาเจดีย์ (Mahazedi) ใช่แล้ว ชื่อเจดีย์สีทององค์โตที่อยู่ปลายทางนี้ ชื่อว่ามหาเจดีย์เฉยๆ โดยไม่มีชื่อใดๆต่อท้าย เพราะพม่าเรียกเจดีย์ ว่า เจดีย์ (สำเนียงพม่า คือ เซดี) เหมือนกับที่ไทยเรียก ทำให้เจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในละแวกนี้ จึงมีชื่อว่ามหาเจดีย์

ลักษณะเด่นของเจดีย์องค์นี้อยู่ที่ฐาน ซึ่งสร้างด้วยศิลปะมอญ มีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยม ซ้อนกันสูงหลายชั้น โดยเมื่อแรกเห็นองค์เจดีย์ ความทรงจำก็ทำให้ผมนึกไปถึงเจดีย์ภูเขาทอง เจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะลักษณะการสร้างโดยเฉพาะส่วนฐานนั้นมีความเหมือนกัน จนเรียกว่าเกือบจะถอดมาจากพิมพ์เดียวกัน สาเหตุเป็นเพราะเจดีย์ทั้งสององค์นี้สร้างโดยมหากษัตริย์คนเดียวกัน นั่นคือ พระเจ้าบุเรงนอง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในฐานะ ผู้ชนะสิบทิศ

หนึ่งในทิศทั้งสิบรวมกรุงศรีอยุธยาเข้าไว้ด้วย เจดีย์ภูเขาทองจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่พระองค์มีเหนือกรุงศรีอยุธยา แต่มหาเจดีย์องค์นี้ คือ เจดีย์ที่ทรงมานมัสการและอธิฐานทุกครั้งที่จะออกรบ ทำให้เจดีย์องค์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์บุเรงนอง

ซึ่ง ณ มุมหนึ่งขององค์เจดีย์ มีรูปปั้นพระเจ้าบุเรงนอง กำลังยืนอธิษฐาน แล้วเราก็ลืมตัว ว่าเราเป็นชาวโยเดีย ไม่ใช่ชาวพม่า โดยเข้าไปยืนในตำแหน่งที่พระองค์ทรงยืนอธิษฐานบ้าง แต่คำอธิษฐานของเราคงไม่อาจสัมฤทธิ์ผล เพราะถูกขัดจังหวะโดยคุณลุงชาวพม่าที่เฝ้าเจดีย์ ไม่ใช่คุณลุงมาเตือนเราว่า เป็นชาวโยเดียได้อย่างไง ถึงมาอธิษฐานในตำแหน่งที่กษัตริย์พม่าอธิษฐาน แต่คุณลุงมาเตือนว่า เราสองคนยังไม่ได้จ่ายเงินค่ากล้องถ่ายรูปคนละ 100 จ๊าต !

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.08 น.

ความคิดเห็น