๒ ๕ ๕ ๙ วันที่ ๒ เดือน ๕ ปี ๕๙

บันทึกการเดินทางกาลครั้งหนึ่งเพิ่งนึกเขียน

เส้นทางสายเหล็กกล้า

ก้าวแรก

       มันก็แปลกดีนะกับการตัดสินใจในครั้งนี้ มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกว่าครั้งไหน อาจเป็นเพราะนี่คือครั้งแรก หรือเพราะว่าอะไรกันนะที่ทำให้เกิดความคิดนี้ รถไฟออกจากจุดตัดสินใจ ณ สถานีหัวลำโพง ความตั้งใจเดิมคิดว่าเราจะเดินทางครั้งนี้ด้วยรถไฟฟรี แต่เสี้ยววินาทีของความรู้สึกหนึ่งที่วิ่งเข้ามาในหัว ก็เปลี่ยนใจนำกระดาษใบสีแดงที่คนในประเทศนี้ให้มูลค่า ไปแลกเป็นตั๋วกระดาษสีขาวตัวอักษรสีเขียวใบหนึ่ง เสมือนว่าเราได้อำนาจสิทธิขาดว่าตลอดการเดินทางในครั้งนี้ "ที่นั่งตรงนี้เป็นของข้าแต่เพียงผู้เดียว" หากเป็นตั๋วฟรีแล้วหละก็ นั่นหมายความว่าเราอาจจะต้องแบกหน้าไปหาที่นั่งเนียน ๆ และเมื่อใดที่เจ้าของตัวจริงเขามาเราก็ต้องลุกยื่นคืนสิทธิแก่ผู้นั้นไป หรือไม่ก็คงจะต้องยืนกันไปอย่างนี้ตลอดทาง

เพื่อนใหม่

             ประสบการณ์ใหม่อาจเกิดขึ้นทันทีเพียงเราเริ่มก้าวออกจากจุดเดิมที่เคยยืน เพื่อนใหม่ความรู้ใหม่ สิ่งใหม่ ๆ มีอยู่รอบตัว การออกเดินทางในครั้งนี้ถ้าหากเปรียบเทียบเป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง ในช่วงตอนต้นนี้ก็คงจะตั้งชื่อเรื่องว่า "มากับพระ" ระหว่างทางมีพระภิกษุท่านหนึ่งย่างเท้าก้าวขึ้นมาบนขบวนรถไฟเดียวกัน เราช่วยเอาสัมภาระของท่านขึ้นวางด้านบนที่อยู่เหนือศีรษะ ท่านจึงเอ่ยขอบคุณและทักทายถามไถ่การสนทนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็พอรู้ถึงประวัติความเป็นมาพอสังเขป ว่าท่านชื่อ "กุ้ง"บวชมาแล้ว 4 พรรษา และก็ได้ฟังธรรมเทศนาสนุก ๆ มาหนึ่งกัณฑ์เรื่องราวครั้งสมัยพุทธกาลก็นับเป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากเพื่อนใหม่แปลกหน้าฆ่าเวลาไป จริง ๆ แล้วหลวงพี่ท่านมีจุดมุ่งหมายจะลงไปยังสุไหงโก-ลกแต่พอรู้ถึงจุดหมายปลายทางของเราหลวงพี่ก็เกิดจิตศรัทธาเปลี่ยนใจอยากไปกับเราด้วย ปกติคนในพื้นที่ย่อมรู้จักสถานที่ดีกว่าคนต่างพื้นที่ บุรุษผมหยิกอีกท่านก้าวเท้าขึ้นมาพร้อมสำเนียงทองแดงบ่งบอกถึงภูมิภาคที่อาศัยได้ชัดเจน นั่งลงบนเบาะตรงข้ามเพื่อนร่วมขบวนผู้ที่มาใหม่นี้มีชื่อว่า " รี่ " เป็นคนปัตตานี การสนทนากับชายแปลกหน้าคนใหม่ก็ถูกเริ่มขึ้น เรื่องราวต่าง ๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ในบทสนทนา

เตี๋ยวราดรี

       ยามตะวันบ่ายคล้อย ชื่อสถานีแสดงผ่านป้ายหินสลักว่า “ราชบุรี” มาพร้อมกับสำเนียงของผู้คนที่ติดเหน่อนิด ๆ “ก๋วยเตี๋ยวรถไฟ 10 บาทจ้า 10 บาท” เสียงเจื้อยแจ้วของแม่ค้าพ่อค้าที่ขึ้นมาขายของบนขบวนรถไฟเมื่อจอดเทียบชานชาลายังคงดังโขมงโฉงเฉงเหมือนเคย วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ดูไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมยังคงทำให้เรารู้สึกว่าน่ารักทุกครั้งที่ได้พบเจอ จะว่าไปทุกครั้งที่มีโอกาสได้เดินทางโดยรถไฟสายใต้ สิ่งที่แทบจะพลาดไม่ได้ก็ก๋วยเตี๋ยวบนรถไฟของจังหวัดราชบุรีนี่แหละราคาเพียง 10 บาทแม้จะน้อยไปนิดตามราคา แต่ถ้าพูดถึงหากได้ลิ้มลองรสชาติแล้วก็ไม่น้อยตามปริมาณเลย

ศรัทธา

       ความมืดเริ่มย่างกายเข้ามาแทนที่ เมื่อมองผ่านช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าออกไปยังข้างทาง ท้องฟ้ายามเย็นเปลี่ยนสีทอแสงเป็นสีส้มอมชมพูฉายกราดสาดส่องไปทั่วท้องนภา ในไม่ช้าพระอาทิตย์กำลังจะจากไป บ้างเรียกท้องฟ้าแบบนี้ว่า “Vanilla Sky” เบื้องหน้าภิกษุ ข้างภิกษุคือหนุ่มรี่ ข้างเรานี้เป็นหนุ่มร่างใหญ่สมาชิกใหม่ที่มาจากทุ่งสง รถไฟขบวน 37 โบกี้ 6 บรรจุคนเต็มทุกที่นั่ง มีทั้งไทยพุทธ มุสลิม สตรีหลายคนคลุมฮิญาบบ่งบอกถึงรากฐานสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และยังมีชาวต่างชาติอีกหลายคน เดาได้จากเสียงสนทนาโต้ตอบกันที่ดังชัดเจนว่านั่นไม่ใช้ภาษาไทย หากจะมองให้ดีบนรถไฟขบวนนี้แตกต่างมากมายหลากหลายอารยะเสียเหลือเกิน ชายวัยฉกรรจ์รูปร่างสูงใหญ่ผิวเข้มคล้ำไว้หนวดเครานั่งอยู่ทางเบาะตรงข้ามด้านซ้ายมือ พอตกเย็นก็ผุดลุกขึ้นนั่งคุกเข่าลงบนเบาะและปฏิบัติศาสนกิจของเขาโดยมิได้อายหรือกังวลว่าใครจะมองอย่างไร จับสังเกตุได้ถึงความตกใจของหญิงสาวสองคนที่นั่งฝั่งตรงข้ามกับเขา เเต่ในขณะเดียวกันเราก็คิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นอันที่จริงก็ไม่ได้ผิดหรือไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด เขาคงเพียงต้องการแสดงความภักดีต่อศาสดาที่เขาเคารพ ศาสนกิจถูกดำเนินไปด้วยความสงบและทุกอย่างก็จบลงอย่างเงียบ ๆ เช่นกัน

อัตตา

       รถไฟชั้น 3 ประเภทรถด่วนพิเศษ (กรุงเทพ - สุไหงโก-ลก) ยังคงเคลื่อนมุ่งพุ่งไปยังจุดหมาย และด้วยความที่เป็นชั้น 3 ราคาประหยัด การที่จะเหยียดขาหรืองีบนอนหลับก็คงไม่สะดวกสบายมากนัก ในยามราตรีที่เข้ามาเสียงของผู้คนที่เคยจอแจนั้นเงียบลงไปแล้ว เหลือเพียงเสียงล้อเหล็กของรถไฟที่วิ่งหมุนบดลงกับราง ผสมกับเสียงลมที่ปะทะขบวนพัดลู่พุ่งแสกกระแทกหน้าผ่านหน้าต่างทำให้เริ่มรู้สึกเหนียวเหนอะหนะไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว แต่ก็นั้นแหละรู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอกับสิ่งใดเมื่อเราเลือกเองก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่คิดในแง่บวกนี่แหละคือเสน่ห์ของเส้นทางนี้ที่หาไม่ได้จากเส้นทางอื่น

เช้าวันใหม่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลง เมื่อสะดุ้งตื่นพบว่าพระกุ้งเพื่อนร่วมทางเกิดเปลี่ยนใจไม่ได้ไปกับเราแล้ว เพราะติดธุระที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจำเป็นต้องลงก่อน สองสาวเมื่อเย็นก็ได้ลงไปแล้วที่สุราษฎร์ธานี และหนุ่มทุ่งสงก็กำลังลุกเดินจากไป ทุกอย่างมีเริ่มต้นมีจุดจบ เมื่อพบก็มีจากเหลือไว้เพียงเศษซากของความทรงจำ และในไม่ช้าทุกอย่างก็กลับมาสู่จุดเริ่มต้น "ตนเอง"

ลุงขี้เต๊ะ

       ช่วงเช้าอากาศค่อนข้างเย็นสองข้างทางเริ่มเห็นเป็นสีเขียวรางๆ บ้างแล้ว เสียงนกกาเหว่าดังสะท้อนภูเขาดังเว้า ๆ ผสมกับกับเสียงนกกระจิบดังเพราะพริ้งเพลินหู หากคุณเคยจิบกาแฟตอนเศร้าที่ไหนว่าเด็ด ถ้าได้มาลองกาแฟบนรถไฟชุดละ 20 บาทนี้ มันก็พอทำให้ใจเหงา ๆ อุ่นขึ้นมาบ้างอย่างบอกไม่ถูก "สถานีพัทลุง ที่นี่สถานีพัทลุง" เพลง ลัง ของมาลีวันน่าก็ดังแว่วเข้ามาอยู่ในหัวทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศนี้ เมื่อรถไฟจอดสนิทผู้คนเริ่มเดินขึ้นลงขวักไขว่และความวุ่นวายนั้นมาพร้อมกับผู้ชายรูปร่างสูงโปร่งในชุดขาวพร้อมนาฬิกาเรือนทองที่ข้อมือ ผมสีขาวที่มากกว่าสีดำบ่งบอกว่าได้ล่วงเลยจากวัยหนุ่มมาสักระยะนึงแล้ว แต่ท่าทางยังคงดูภูมิฐานอย่างเห็นได้ชัด เดินมุ่งตรงมานั่งยังที่ที่เคยเป็นของชายที่ปฏิบัติศาสนกิจเมื่อเย็นวาน หลังจากที่เขาได้หายตัวไปจากรถไฟตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อยู่ ๆ ลุงแกก็ชวนคุณป้าที่นั่งอยู่เบาะข้าง ๆ เราคุย คำพูดทีเล่นทีจริงมีอยู่ในบทสนทนานั้นราวกับหมาหยอกไก่ ประเด็นคือ เรากำลังพูดคุยกับป้าที่กล่าวถึงอยู่ แกชื่อป้านิด ขึ้นมาพัทลุงเพื่อมาหาน้องชายซึ่งเป็นหมออยู่ที่นี่ แต่ลุงขี้เต๊ะผู้มาใหม่ก็แทรกกลางระหว่างบทสนทนาของเราชวนป้าไปคุยเอาดื้อ ๆ เราก็ได้แต่มองแล้วก็ขำ เอา ๆ ยอมใจคนแก่

ตื่นเต้น

       9:00 น. รถไฟเข้าชานชาลาชุมทางหาดใหญ่ รถจอดอยู่นานพอสมควรเพื่อหลบทางให้รถไฟอีกขบวนผ่านไปก่อน มีการตรวจตั๋วอีกครั้งโดยเจ้าหน้าที่รถไฟในชุดสีกากี ผู้โดยสารในขบวนเริ่มบางตาลงเพราะได้ทยอยลงตามจุดหมายของตนไปบ้างแล้ว ก่อนเข้าสถานีจะนะ นาทีตื่นเต้นก็เกิดขึ้น พี่ทหารในชุดเครื่องแบบลายพรางท่าทางองอาจคนแรกปรากฏกายพร้อมปืน M16 อยู่กลางขบวนรถไฟและไม่ถึงหนึ่งอึดใจก็มีมาเพิ่มอีกเกือบ 10 นาย ประกาศขอตรวจกระเป๋าของผู้โดยสารทุกใบอย่างแข็งขัน ในสถานการณ์ที่รู้สึกตึงเครียดใบหน้าของพี่ทหารยังพอมีรอยยิ้มที่เป็นมิตรทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อรู้ว่านี่เป็นเพียงการตรวจตามปกติเพื่อความปลอดภัยก็โล่งใจ ตอนแรกก็คิดว่า “นั่งไง เอาแล้ว” เกือบได้ตื่นเต้นแล้ว

ความหวัง

       เวลา 11:00 น. รถไฟเข้าจอดเทียบชานชาลาโคกโพธิ์ หรือสถานีรถไฟปัตตานี ถึงสักทีสินะสถานีที่หมาย ที่นี่สินะจังหวัดปัตตานี ตึกรามบ้านเรือนที่นี่ก็ไม่ได้แปลกตาไปกว่าที่คิด ผู้คนก็ดูไม่ได้น่ากลัวอย่างจินตนาการ ต่างก็ยังดำเนินวิถีชีวิตเป็นปกติอย่างจังหวัดอื่นที่เห็นได้ทั่วไป ขณะที่เรายังยืนเงอะงะหาหนทางอยู่ ลุงคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการมาอาจจะเพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นคนต่างถิ่น พร้อมทั้งหยิบยื่นข้อเสนอที่จะพาเราไปยังที่หมายด้วยการตีเป็นมูลค่าในราคา 600 บาท เราเองก็ไม่เคยมาที่นี่แถมยังแบ็คแพ็คมาด้วย เงินติดตัวมาก็มีไม่เยอะเลยปฏิเสธไปก่อน ความหวังที่จะไปยังจุดหมายปลายทางอย่างที่ตั้งใจเริ่มยากขึ้นเข้าไปทุกที อุปสรรคใด ๆ ไม่อาจหยุดยั้งหากจิตใจเรานั้นยังคงเข้มแข็ง เหมือนฟ้าประทานความหวังมาให้ได้ถูกจังหวะในขณะที่ความหวังเหมือนกำลังจะริบหรี่ ป้าแม่บ้านท่าทางใจดีประจำสถานีได้ก้าวเข้ามาพร้อมกับอธิบายวิธีการเดินทางไปยังที่หมายที่เป็นความตั้งใจของการมาในครั้งนี้นั่นคือ การได้มากราบนมัสการหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี และแนะนำให้ไปให้ไปไหว้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในเมืองก่อนเพราะไหน ๆ ก็มาแล้วจะได้ไม่เสียเที่ยว แล้วค่อยต่อรถจากในเมืองไปยังวัดช้างให้ต่อไป พร้อมเน้นย้ำกับเราว่า "30 บาทเท่านั้นนะหนู ถ้าเกินกว่านี้อย่าไป" "ความไม่รู้อาจนำไปสู่การเสียรู้"

น้ำใจ

       ความต่างของการนับถือศาสนาไม่อาจแบ่งกั้นมิตรภาพ สองแถวสีเขียวเข้มที่อยู่ใกล้ ๆ สถานีรถไฟพาเราไปยังที่หมายแรก ศาลเจ้าแม่ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองปัตตานี ผ่านทั้งศาลหลักเมือง ชุมชนชาวประมง ศูนย์ราชการ โรงพยาบาล และบ้านเรือนชุมชนต่าง ๆ ในแต่ละซอยเวลารถแล่นผ่านจะเห็นพี่ทหารหลายนายในชุดเครื่องแบบลายพลางยืนเป็นจุด ๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย ทำให้อุ่นใจขึ้นและรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วที่แห่งนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ขนาดนั้น ผู้คนในพื้นที่ต่างก็ใช้ชีวิตกันดูเป็นปกติดี ระหว่างทางมีผู้โดยสารขึ้นมาและลงไปอยู่ตลอด ๆ รอยยิ้มคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราไม่รู้สึกแตกต่างกับชาวบ้านที่นี่มากจนเกินไป

       ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ศาลที่มีรูปแบบศิลปะแบบศาลเจ้าจีนทั่วไป จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบอกว่า ที่นี่เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่อยู่คู่เมืองปัตตานีมีประวัติเรื่องราวกล่าวขานสืบเนื่องกันมายาวนาน เมื่อเข้าไปภายในศาลจะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำบอกวิธีการไหว้สักการะแต่ละจุด เพื่อจะทำได้อย่างถูกวิธีและยังคอยอธิบายให้ความรู้เพิ่มเติมอีกด้วยหลังจากได้พูดคุยซักถามประวัติเรื่องราวต่าง ๆ กับพี่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลศาลเจ้าแม่ฯ โชคชะตาฟ้าเป็นใจพี่เขามีน้ำใจอาสาพารถเครื่องมาส่งเราที่บริเวณตลาดโต้รุ่งในเมือง และยังเจรจาต่อลองราคากับรถสองแถวให้ไปส่งเรายังวัดช้างให้อีกด้วย ต้องขอขอบคุณความมีน้ำใจของพี่คนแปลกหน้าที่เอ็นดูเราเป็นอย่างยิ่ง อาหารมื้อแรกของวันที่ทำให้มีแรงไปต่อ คือเกาเหลาเลือดหมูที่มีพี่อิสลามท่านหนึ่งเป็นคนแนะนำว่าร้านนี้อร่อย ทำให้เรากินไปยิ้มไปได้แต่คิดว่าทำไมพี่เขาถึงรู้นะ เพราะว่าอร่อยสมคำกล่าวอ้างจริง ๆ เขาคงอาจได้ยินคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาก็เป็นได้

เส้นชัย

       เกือบ 2 ชั่วโมงภายใต้หลังคาผ้าใบท่ามกลางแดดร้อนระอุผสมกับความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียที่สะสมมาตลอดการเดินทาง ทำให้นิทรายามบ่ายเข้ามาพรากสัมปชัญญะของเราให้หายไปชั่วขณะหนึ่ง “ทางอยู่ที่ปาก ความรู้ไม่ได้มีเพียงแค่ในตำรา” คำนี้ยังคงใช้ได้ดีอยู่เสมอในสถานการณ์ที่ตื่นขึ้นมาพบว่าตอนนี้เราถึงไหนแล้ว วัดช้างให้ หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า วัดราษฎร์บูรณะ สถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางตามความตั้งใจ ในห้วงของความรู้สึกแรกที่ได้เห็น วัดนี้ช่างดูเงียบสงบร่มรื่นเสียจริง เจดีย์องค์ใหญ่ (วิหารพระครูวิสัยโสภณ หรือวิหารยอด) โดดเด่นเห็นมาแต่ไกล ไม่รอช้าก้าวมุ่งตรงเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ทวดเพื่อเป็นศิริมงคลแกตนเองอย่างที่หมายมั่นตั้งใจมาตลอด ว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องมายังวัดแห่งนี้ให้ได้สักครั้ง อันที่จริงตอนแรกก็คิดไว้ว่าถ้าเรามาถึงจะรู้สึกดีใจหรือตื่นเต้นมากขนาดไหน แต่พอเอาเข้าจริงทุกอย่างถูกดำเนินไปด้วยความสงบเรียบง่าย เราพบว่าเส้นชัยไม่ใช่ทุกอย่างสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

สรุปท้ายระบายสุข

       ระยะทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร ใช้เวลายาวนานกว่า 20 ชั่วโมงในตู้เหล็กสี่เหลี่ยมที่เคลื่อนที่ได้ พบเจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จัก ก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดความกลัวที่ตัวเองสร้างขึ้น ได้เรียนรู้ผ่านมุมมองจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา อาจมีทั้งดีบ้างไม่ดีบ้างปะปนกันไปในแต่ละเหตุการณ์ แต่ทุกอย่างมันก็เป็นประสบการณ์สอนเราอย่างดี “เป็นสิ่งดี ๆ ในชีวิต” เพราะมันเกิดขึ้นจริงกับตัวของเราเองในช่วงเวลาหนึ่งตามบริบทของเวลานาฬิกายังคงเดินต่อ 

ลาก่อนปัตตานีสวัสดีหาดใหญ่

เสือซ่อนยิ้ม

 วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.42 น.

ความคิดเห็น