แม้เวลาในชีวิตของแต่ละวันจะหมดไปกับหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผมก็ยังจดจำสิ่งที่จิตวิญญาณต้องการได้เสมอ หากรายได้จากการทำงานคือสิ่งที่เลี้ยงชีวิต การเดินทางก็คือสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้ยังคงอยู่

การเดินทางไปยังดินแดนที่ห่างไกล เพื่อใช้ชีวิตในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ได้เรียนรู้ความเป็นไปของโลกใบนี้ และเฝ้าดูความแปรปรวนของสภาพจิตใจที่เป็นไปตามจังหวะของก้าวย่าง คือสิ่งที่หัวใจผมโหยหามาตลอด ซึ่งคงไม่มีสถานที่ใดที่ตอบสนองจิตวิญญาณแห่งการเดินทางได้ดีเท่าอินเดีย ที่แม้ใครต่อใครจะหวาดหวั่นในการเดินทางไปยังประเทศนี้ โดยเฉพาะการเดินทางด้วยตนเอง แต่สำหรับผมแล้ว อินเดียนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันของวิถีชีวิต ตั้งแต่ยาจกที่ยากไร้ จนถึงมหาราชาที่ร่ำรวย วันนี้ผมจึงไม่รอช้าที่จะเก็บของใส่เป้เพื่อพาชีวิตไปเช็คอินที่อินเดีย

จากการขุดพบซากเมืองโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน) ทำให้ได้รับรู้ว่าอนุทวีปอินเดียนั้นมีอารยธรรมมายาวนานกว่า 4,500 ปี เพราะรูปแบบการก่อสร้างบ้านเรือนที่เหมือนกันจึงเป็นไปได้ว่าเจ้าของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นชนชาติเดียวกับชาวดราวิเดียน ชนพื้นเมืองผิวคล้ำซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย


1,000 ปีต่อมาพวกอารยัน ชาวผิวขาวซึ่งเดิมอาศัยบริเวณทะเลสาบแคสเปียนในเอเชียตอนกลาง ได้อพยพลงสู่บริเวณลุ่มน้ำสินธุ โดยทำการขับไล่ชนพื้นเมือง เพราะการมีอาวุธที่ก้าวหน้ากว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักใช้ม้าในการรบ จึงสามารถยึดดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุได้สำเร็จ ทำให้ชาวดราวิเดียนซึ่งเป็นเจ้าของเดิมตกอยู่ในฐานะทาสของชาวอารยันซึ่งเป็นที่มาของการแบ่งชั้นวรรณะในสังคมอินเดียในเวลาต่อมา


ชาวอารยันสร้างอาณาจักรขึ้นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่ลุ่มน้ำสินธุ หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงลุ่มน้ำคงคา เพราะแผ่นดินที่กว้างใหญ่ จึงทำให้แผ่นดินอินเดียภายใต้การปกครองของชาวอารยันถูกแบ่งเป็นอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อยมากมาย ในขณะเดียวกันอิทธิพลของการแบ่งชั้นวรรณะตามศาสนาพรามหณ์ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาเป็นศาสนาฮินดูก็เข้นข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของการเกิดศาสนาพุทธที่ต่อต้านการแบ่งชั้นวรรณะ

ศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในอีก 200 ปีหลังจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ซึ่งเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ส่งสมณะฑูตออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างแดน ซึ่งประเทศไทยก็รับพระพุทธศาสนามาจากอินเดียในสมัยพระองค์ รวมถึงวัฒนธรรม ภาษาที่คนไทยใช้ในปัจจุบันก็มีรากเหง้ามาจากอินเดีย


ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ชาวเติร์กมุสลิม นำโดยสุลต่านมูฮัมมัด คูรี บุกอินเดีย โดยยกทัพมาตีอินเดียทางตอนเหนือ จนได้รับชัยชนะ จากนั้นจึงขยายเขตการปกครองจากรัฐปัญจาบทางฝั่งตะวันตกไปจนถึงอ่าวเบงกอลทางตะวันออก พร้อมตั้งเมืองเดลีเป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนาอิสลามได้รับการแผ่ขยายในขณะที่ศาสนสถานของศานาอื่นถูกทำลาย รวมถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา จุดศูนย์กลางของชาวพุทธถูกทำลายจนย่อยยับ เป็นเหตุให้ศาสนาพุทธที่เคยเจริญรุ่งเรืองแทบจะสูญหายไปจากแผ่นดินชมพูทวีป


ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 20 นักรบแห่งมองโกล นำโดยบาร์บู ได้เคลื่อนพลมาบุกเมืองเดลี อำนาจการปกครองจึงถูกเปลี่ยนจากชาวเติร์กมาเป็นชาวมองโกล ราชวงศ์โมกุลของชาวมองโกลจึงถูกสถาปนาขึ้นในปีพ.ศ.2069 แต่ในขณะนั้นดินแดนในเขตรัฐราชสถานในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือยังคงอยู่ใต้การปกครองของมหาราชาแห่งราชวงศ์ราชปุต ซึ่งเป็นเผ่านักรบ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองในดินแดนภารตะจึงเกิดขึ้นอย่างดุเดือด แต่สุดท้ายแล้วอาณาจักรของราชวงศ์ราชปุตหลายอาณาจักรก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกษัตริย์บาร์บู ซึ่งเป็นทายาทของเจงกีสข่าน


แม้อำนาจการปกครองในดินแดนภารตะส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของราชวงศ์โมกุล แต่ราชวงศ์โมกุลก็ปกครองได้อย่างระส่ำระส่าย เพราะยังคงเกิดความขัดแย้งและการสู้รบกับอาณาจักรน้อยใหญ่ที่อยู่รายรอบซึ่งยังรักษาเอกราชไว้ได้ แต่ความขัดแย้งใหญ่สุดคือเรื่องศาสนา เพราะกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาฮินดูอย่างเหนียวแน่น

ล่วงเข้าสู่สมัยพระเจ้าอัคบาร์ จึงสามารถรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในดินแดนภารตะให้เป็นปรึกแผ่น โดยใช้หลักความประนีประนอนในการปกครองและการเปิดกว้างในการนับถือศาสนาจนสามารถชนะใจชาวฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ พระองค์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชของชาวอินเดีย ทำให้ราชวงศ์โมกุลสามารถปกครองอินเดียได้ยาวนานถึง 332 ปี


ในช่วงที่อินเดียถูกปกครองโดยราชวงศ์โมกุลนี้เอง เกิดการหลั่งไหลของศิลปวัฒนธรรมจากต่างแดนเข้ามาในดินแดนภารตะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเปอร์เซีย จนเกิดการผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมเดิมของอินเดีย สิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการผสมผสานของศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้จนกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนั่นคือ ทัชมาฮาล สร้างโดยพระเจ้าชาห์ จาฮาน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อพระมเหสี

แต่หลังจากนั้นกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาคือพระเจ้าออรังเชบ ซึ่งเป็นพระราชโอรส นั้นเคร่งต่อศาสนาอิสลามมากจึงสั่งให้ทำลายศาสนสถานของศาสนาอื่น รวมถึงสั่งสังหารคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จนเกิดยุคเข็ญไปทั่วแผ่นดินอินเดีย เป็นเหตุให้ความศรัทธาในราชวงศ์โมกุลเสื่อมลง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกจึงยังผลให้ราชวงศ์โมกุลถึงกาลล้มสลายในเวลาต่อมา


โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ล่าอาณานิคมในแผ่นดินอินเดีย แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ต่ออังกฤษซึ่งสามารถครอบครองอินเดียได้ทั้งหมด การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดียดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ผู้มีบทบาทสำคัญคือ มหาตมะคานธี ที่ใช้การต่อสู้ด้วยหลักอหิงสา คือไม่ใช้ความรุนแรง แต่เลือกที่จะต่อสู้กับชาวอังกฤษอย่างสงบ แต่อย่างไรก็ตามการเรียกร้องเอกราชก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการจลาจลถึงขั้นนองเลือดในหลายเมือง ในที่สุดอังกฤษจึงยอมยกเอกราชให้กลับคืนสู่ชาวอินเดีย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2490


แม้จะได้รับเอกราชแล้ว แต่ก็ยังเกิดความขัดแย้งในเรื่องการนับถือศาสนา ในที่สุดจึงมีการแบ่งประเทศออกเป็น 2 ประเทศ โดยชาวมุสลิมได้แยกตัวออกไปตั้งประเทศใหม่ คือ ปากีสถาน ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูได้ตั้งประเทศเป็นฮินดูสถาน หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดยศาสนาฮินดูมีประชากรนับถือ 82.4% รองลงมาคือศาสนาฮิสลาม 11.7% ศาสนาคริสต์ 2.3% ศาสนาซิกข์ 2% สำหรับศาสนาพุทธที่ได้ถูกทำลายลงจากการเข้ามาของชาวเติร์ก เหลือประชากรที่นับถือเพียง 0.8%


ปัจจุบันประเทศอินเดียมีพื้นที่ 3,287,263 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 7 ในโลก มีประชากรมากกว่าพันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน


ด้วยจำนวนประชากรที่มากขนาดนี้ ทำให้ประเทศอินเดียมีภาษาพูดกว่า 1,500 ภาษา แต่ที่ได้รับการรับรองให้เป็นภาษาราชการมี 18 ภาษา ภาษาที่มีประชากรใช้มากที่สุดคือภาษาฮินดี นอกจากเขตการปกครองเดิมในประวัติศาสตร์แล้ว ภาษาที่ต่างกันนี่เองที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การแบ่งเขตการปกครองออกเป็นรัฐ โดยปัจจุบันมี 28 รัฐ กับ 7 เขตการปกครอง เมืองใหญ่ที่สุด 3 เมือง คือ นิวเดลี (เมืองหลวงปัจจุบัน) , มุมไบ (เมืองท่าและเทคโนโลยี) และกัลกัตตา (อดีตเมืองหลวงสมัยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ)

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.23 น.

ความคิดเห็น