ไจปู้ร์ (Jaipur) หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อชัยปุระเป็นเมืองเอกของรัฐราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งเกิดจากการรวมนครรัฐอิสระที่เคยปกครองโดยมหาราชาแห่งราชวงศ์ราชปุตก่อนที่จะตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน และด้วยเหตุที่เป็นรัฐชายแดนทางฟากตะวันตกที่มีเขตแดนติดกับประเทศปากีสถาน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม การเดินทางตลอด 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ผมจึงได้สัมผัสทั้งความโอ่อ่าของปราสาทราชวัง และสีสันของความเชื่อความศรัทธาอันเกิดจากความต่างแห่งศาสนาที่ผสมกลมกลืนบนแผ่นดินแห่งนี้


ขบวนรถไฟที่จะนำเราเดินทางไปสู่แผ่นดินมหาราชาเข้าเทียบชานชลาในเวลา 04.25 น. ความมากมายของผู้โดยสารชาวอินเดียยังคงสร้างความหวาดหวั่นให้กับพวกเรา แล้วก็เป็นตามที่คาดไว้ เพราะเราถูกผู้โดยสารจำนวนมากล้อมหน้า ดันหลัง แย่งกันขึ้นรถไฟจนวุ่นวายไปหมด กว่าจะมายืนรวมกลุ่มกันหายใจได้เต็มปอดอีกครั้งก็แทบจะหมดเรี่ยวแรง

ตั๋วโดยสารของเราเป็นชั้นประหยัด จึงไม่มีการระบุที่นั่ง แต่โชคดีที่สถานีโอล์ดเดลีเป็นสถานีต้นทาง จึงพอมีที่นั่งเหลือให้เราได้นั่งรวมกลุ่ม รถไฟขบวนนี้เป็นตู้นอน ที่สามารถปรับเบาะที่นั่งให้เป็นเตียงนอนซ้อนกันได้ถึง 3 ชั้น เราจึงผลัดกันปีนขึ้นไปนอนบนเตียง แต่แล้วความง่วงของเราก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเจ้าหน้าที่เดินมาบอกว่าเรานั่งผิดที่ เพราะโบกี้นี้เป็นที่นั่งของชั้นพิเศษ จึงไล่เราให้ไปโบกี้ถัดไป ที่เนื่องแน่นไปด้วยผู้โดยสาร งานนี้สองสาว จุ๊กับเบสท์ จึงขอใช้พรสวรรค์ของสตรีในการเกลี่ยกล่อมเจ้าหน้าที่กันอย่างเต็มที่ ทั้งชักชวนคุยเรื่องอินเดีย ซื้อไจ๋ร้อนๆมาเลี้ยง จนถึงขั้นให้ของกำนัลเล็กๆน้อยๆจากเมืองไทย (อย่างนี้เข้าข่ายติดสินบนพนักงานเจ้าหน้าที่ไหมนะ) แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงต้องระหกระเหินไปนั่งเบียดกับผู้โดยสารชาวอินเดียเป็นเวลาร่วม 5 ชั่วโมงจนถึงไจปู้ร์

หลังจากออกจากสถานีรถไฟ ด้วยอาการมึนๆจากการไม่ค่อยได้หลับได้นอน เราจึงไม่คิดจะเดินหาที่พักเอง จึงปล่อยให้คนขับออโต้ริกซอว์พาไปหาที่พักที่ราคาเหมาะกับพวกแบกเป้เช่นเรา

ออโต้ริกซอว์จำนวน 2 คันพาเราตระเวนหาที่พักจนเราพอใจ แต่สุดท้ายเราก็ตกลงปลงใจที่จะพักรวมกัน 5 คนในห้องเดียวกันที่มีขนาดใหญ่มากที่ Vaishuavi Guesthouse โดยเกสท์เฮ้าส์นี้เพิ่งสร้างใหม่ จึงมีความโดดเด่นเรื่องความสะอาด แถมยังมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวของชาวราชสถานยุคอดีต

คนขับออโต้ริกซอว์เสนอที่จะเลี้ยงไจ๋ร้อนๆให้กับเรา ซึ่งการจิบไจ๋ร้อนๆไป คุยกับคนขับไปนี่เอง ทำให้เราตกลงปลงใจที่จะเหมารถของเขาเพื่อเที่ยวสถานที่สำคัญของไจปู้ร์ โดยผม หรั่งและต้นเทความสำคัญให้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่สองสาวให้ความสำคัญกับการช็อปปิ้ง เราจึงตกลงที่จะแยกกันเดินทาง ตามความสนใจที่ต่างกัน

อารี คนขับออโต้ริกซอว์ของเราพร้อมแล้วกับการว่าจ้างให้พาเที่ยวพระราชวัง ป้อมแอมเบอร์ และฮาวา มาฮาลในราคา 300 รูปี ซึ่งอารีขอต่อรองว่าหากเขาบริการได้ประทับใจขอค่าทิปเพิ่มอีก 100 รูปี งานนี้จึงต้องติดตามดูว่า เขาจะทำให้เราประทับใจหรือเข็ดจนลืมไม่ลง

จากเกสท์เฮ้าส์ที่อยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่า อารีบิดออโต้ริกซอว์พาเราเข้าไปภายในเขตกำแพงเมือง ซึ่งตึกรามบ้านช่องล้วนทาสีชมพู จนได้ฉายานามว่าเมืองสีชมพู ซึ่งเวลานี้เป็นแค่การชมแบบฉาบฉวยผ่านการนั่งรถ ไว้อีก 7 วันให้หลังผมค่อยกลับมาซึมซับบรรยากาศและรายละเอียดเมืองสีชมพูแบบเนิบๆด้วยสองขาอีกครั้ง

ตำแหน่งใจกลางเมืองสีชมพูเป็นที่ตั้งของพระราชวัง (City Palace) ซึ่งว่ากันว่ายิ่งใหญ่และงามวิจิตรยิ่งนัก แต่อารีกลับไม่แนะนำให้เข้าไป ด้วยเหตุที่ค่าเข้าสำหรับชาวต่างชาติสูงถึง 300 รูปี แต่เรากลับไม่รู้สึกอะไร เพราะมั่นใจในพาสปอร์ตไทยที่คงช่วยให้เราจ่ายค่าเข้าแค่ 20 รูปีแบบชาวอินเดีย

แล้วความมั่นใจของเราก็แทบจะหมดลงในทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับพาสปอร์ตไทยที่ได้เห็น โดยบอกคำเดียวว่าค่าเข้า 300 รูปี เอาหละสิ พาสปอร์ตไทยไม่สามารถใช้ได้ที่นี่ (รวมถึงทุกสถานที่ในรัฐราชสถาน) แต่ไหนๆก็ลงทุนตีตั๋วเครื่องบินมาถึงหน้าประตูทางเข้าแล้ว จะให้หันหลังกลับย่อมไม่มีทาง เราจึงกัดฟันควักธนบัตรอินเดียสีเขียวใบละ 100 รูปี ออกมาคนละ 3 ใบ

พระราชวังแห่งไจปู้ร์สร้างขึ้นสมัยมหาราชามันสิงห์ที่ 1 (Maharaja Man Singh I) และสร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลายหลังในสมัยต่อมา จนทำให้พระราชวังแห่งนี้มากไปด้วยพระตำหนักที่สุดแสนงดงาม ซึ่งช่วงที่มีการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ เมืองไจปู้ร์ได้อยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุลแล้ว ทำให้พระตำหนักแต่ละหลังเกิดจากการผสมผสานศิลปะแบบราชปุตกับแบบโมกุลได้อย่างลงตัว ซึ่งแค่พระตำหนักมูบารัก มาฮาล (Mubarax Mahal) ก็ทำให้ผมหลงเดินชมลวดลายสลักเป็นเวลานาน พระตำหนักแห่งนี้สร้างขึ้นโดยมหาราชาไสวมาดโฮสิงห์ (Maharaja Sawai Madho Singh) ด้วยจุดประสงค์เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 ที่ผ่านมานี่เอง แม้ปัจจุบันจะใช้เป็นที่จัดแสดงเกเลอรี่ ไม่ได้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของมหาราชาแล้วก็ตาม แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่หลังประตูทางเข้า ปัจจุบันพระตำหนักแห่งนี้จึงยังคงทำหน้าเป็นพระตำหนักแห่งแรกที่ต้อนรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกที่มาเยือนไจปู้ร์

พ้นจากมูบารัก มาฮาล เป็นซุ้มประตูทางเข้าที่เชื่อมต่อไปยังพระตำหนักชั้นในนามว่าดิวัน ไอ คาส (Diwan-I-Khas) ซึ่งสร้างเชื่อมต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้วยความสูง 4 ชั้น โดยตรงกลางเป็นลานกว้างเพื่อให้มหาราชาใช้ในการออกมหาสมาคม

ดิวัน ไอ คาสโดดเด่นด้วยลวดลายสีขาวตัดกับพื้นผนังสีส้มอมแดง แต่ความโดดเด่นนี้ถูกกลบลงด้วยโอ่งเงินขนาดมหึมาจำนวน 2 ใบที่มีชาวอินเดียจำนวนมากกำลังมุงดูเพราะมีประวัติที่น่าสนใจยิ่ง โอ่งทั้ง 2 ใบนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรทุกน้ำจากแม่น้ำคงคาสำหรับดื่มของมหาราชาไสวมาดโฮสิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Madho Singh II) ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมงานบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เพราะทรงเกรงว่าหากพระองค์เดินทางออกนอกประเทศอินเดีย จะทรงกลายเป็นจัณฑาล จึงต้องเสวยและใช้น้ำจากแม่น้ำคงคาเพื่อล้างมลทิน โอ่งเงิน 2 ใบนี้จึงถูกสร้างเสียใหญ่โตเพื่อให้เพียงพอแก่การบรรจุน้ำใช้ตลอดการเดินทาง จนกลายเป็นโอ่งเงินที่มีขนาดใหญ่และหนักที่สุดในโลก ด้วยความกว้างถึง 14 ฟุต สูงกว่า 5 ฟุต และหนักกว่า 300 กิโลกรัม

ลึกเข้าไปภายในเป็นมวลหมู่พระตำหนักของมหาราชินี พระตำหนักที่มีความงดงามที่สุดเห็นจะเป็นจันทรา มาฮาล (Chandra Mahal) ที่งดงามด้วยลวดลายนกยูงและดอกไม้ที่บานสะพรั่งเต็มซุ้มประตูและหน้าต่าง ในเวลานี้ผมจึงรู้สึกได้ทันทีว่า 300 รูปีที่เสียไปนั้นถูกแลกกลับคืนมาด้วยความสวยงามที่ตาได้สัมผัสอย่างคุ้มค่ายิ่งนัก

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.26 น.

ความคิดเห็น