ช่วงนี้เหล่านักเดินทางต่างก็คงอึดอัด อัดอั้น คับแค้น หื่นกระหาย กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะออกไปผจญภัยตามสไตล์ที่ถนัด แต่ด้วยสถานการณ์และมาตรการทางภาครัฐ เราจึงทำได้เพียงแค่การ "เที่ยวทิพย์" เท่านั้น

          ผมคิดว่าหลาย ๆ คนคงจะเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ไม่น้อยกับการเลื่อนดูรีวิวผ่านทางโซเชียล ผมจึง "มีเรื่องเล่า" จากการเดินทางที่น่าจะเป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนอยากจะตามรอยไปสัมผัสด้วยตัวเอง

          สำหรับใครหลาย ๆ คนที่อยากจะทดลองเที่ยวต่างประเทศไกล ๆ บ้านเราอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเวียตนาม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไร ผมมีเมืองสำหรับซ้อมเที่ยวต่างประเทศมาแนะนำครับ เมืองนี้มีชื่อว่า "เมียวดี" เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ในประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ผมแนะนำเมืองนี้เนื่องจากเป็นเมืองที่มีบรรยากาศ และวัฒนธรรมที่ต่างจากฝั่งไทยโดยสิ้นเชิง ไม่เหมือนกับชายแดนอื่น ๆ ที่มักจะมีวัฒนธรรมคล้าย ๆ บ้านเรา และที่น่าจะสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวต่างแดนได้ไม่น้อยคือ ชาวเมืองรู้ภาษาไทยน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองชายแดน ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ เดินทางสะดวก บ้านเมืองมีความเจริญในระดับหนึ่ง ไม่ลำบากแน่นอน ที่สำคัญคือ เหมาะมากสำหรับคนงบน้อย พูดแบบนี้หลายคนอาจจะไม่เห็นภาพ งั้นไปชมภาพประกอบเลยดีกว่า

          เราเริ่มเดินทางเข้าสู่จังหวัดตากตามถนนหมายเลข AH 1 มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่สอด ผ่านเทือกเขาสลับซับซ้อน อากาศเย็นตลอดทั้งปี แนะนำให้เปิดกระจกสัมผัสธรรมชาติ

แวะกินกาแฟซักแป๊บที่ตลาดดอยมูเซอ
ทะเลหมอกที่จุดชมวิวบนดอยมูเซอ

          ก่อนเข้าสู่อำเภอแม่สอด แวะสักการะ เจ้าพ่อพะวอ อนุสาวรีย์ทหารพระเจ้าตากสินกลางขุนเขาอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดตาก เนื่องจากอนุสาวรีย์นี้อยู่ในบริเวณขุนพะวอ ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนรูปทรงแปลกตา คล้ายป้อมปราการด่านหน้าก่อนเข้าสู่เมืองตาก ทำให้บริเวณนี้มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ไม่ได้เงียบสงบนะ เพราะผู้นับถือจะมาแก้บนโดยการจุดประทัดเป็นระยะ เสียงดังก้องไปทั่วบริเวณ

ศาลเจ้าพ่อพะวอ มีผู้คนมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย
รูปจำลองเจ้าพ่อพะวอ
เจ้าพ่อพะวอเป็นที่เคารพสักการะของทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา สังเกตได้จากนักท่องเที่ยวชาวเมียนมาจะนุ่งผ้าถุง
บริเวณโดยรอบศาลเจ้าพ่อพะวอ

          อีกสถานที่หนึ่งที่เราแวะก่อนเข้าตัวอำเภอแม่สอดคือ วัดโพธิคุณ เป็นวัดกลางป่าที่มีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่สวยงามมาก ๆ ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสีทองอร่าม เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวเมียนมาในชื่อ ชเว โพงจีจาวน์ หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า วัดทอง

อนุสาวรีย์หลวงพ่อผู้บุกเบิกวัด ประดิษฐานบนก้อนหินรูปหมู(หันข้าง) ซึ่งเป็นปีนักษัตรของท่าน
อุโบสถกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง
สำหรับผู้หญิงที่ใส่กางเกงขาสั้น ทางวัดมีผ้าถุงไว้บริการ
ภายในชั้นล่างของอุโบสถ
ภายในชั้นบนของอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปสีทอง
เขตอภัยทาน ไม่แนะนำให้มาปล่อยปลาที่นี่ เพราะประชากรน้องหนาแน่นมาก
ช่วยเหลือกันหรือแย่งอาหารกัน

          เดินขึ้นมาอีกประมาณ 100 เมตร จะเป็นวิหารไม้สไตล์อยุธยา นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินขึ้นมาเพราะทางค่อนข้างชัน แต่ข้างบนนี้เงียบสงบมาก มักจะมีพระหรือแม่ชีมาปฏิบัติธรรมบริเวณนี้

หอระฆัง
วิหารไม้ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
ใต้ถุนอากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ทางเดินหรือแคทวอล์ก

          ก่อนข้ามไปยังเมียนมา อยากจะชวนให้แวะ วัดไทยวัฒนาราม ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเดินทาง และเพื่อปรับตัวก่อน เพราะวัดนี้เป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดนเท่าไหร่ และเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่า พอข้ามฝั่งไปแล้วจะได้ชินตา

หงส์ทองสองตัวนี้ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัด
วิหารภายในวัด ด้านบนวิหารประกอบด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๆ
เจดีย์สีทอง และสิงห์คู่ เป็นเอกลักษณ์ของวัดพม่า
มุมถ่ายรูปยอดนิยม สีทองสะท้องแสงแสบตาสุด ๆ
วิหารที่ประดับประดาไปด้วยสีทอง
อากาศก็ร้อน สีทองของน้องก็แสบตา

          นอกจากสีทองที่ระยิบระยับไปทั่วบริเวณวัดแล้ว อีกไฮไลต์หนึ่งของวัดไทยวัฒนาราม คือ พระนอนองค์ใหญ่อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ศิลปะพม่าที่โดดเด่น

องค์จริงใหญ่มาก
พระพม่าตาหวาน
ก่อนกลับขอโยนเหรียญอธิษฐานเสี่ยงทายสักหน่อย

          เราแวะกันมาหลายที่แล้ว ต่อไปก็เตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ เริ่มจากการมาทำเอกสารผ่านแดนที่ สำนักงานออกหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติแม่สอด ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน (ถ้าคนไม่เยอะนะ) ค่าธรรมเนียมคนละ 30 บาท ถ้าหากจะขับรถข้ามไปเองจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่มีเงื่อนไขว่า รถคันนั้นต้องผ่อนหมดแล้วเท่านั้น บริเวณด้านหน้าสำนักงานจะมีรถนำเที่ยวมารอบริการนักท่องเที่ยวด้วย ต่อรองราคาได้ แต่แพงกว่าในฝั่งเมียนมา ผมก็เลยเลือกที่จะเดินข้ามสะพานไปเช่ารถฝั่งนู้นดีกว่า

รายละเอียดการทำหนังสือผ่านแดน
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการทำหนังสือผ่านแดน

          เงื่อนไขการผ่านแดนคือ จะต้องเข้าและออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เท่านั้น และภายในช่วงเวลา 05.30-20.30 น.

บริเวณหน้าด่าน สะพานมิตรภาพฯ ฝั่งไทย
สะพานมิตรภาพไทย-พม่า
สะพานนี้มีรถบรรทุกใช้บริการอย่างหน่าแน่น
จุดเปลี่ยนเลนกลางสะพาน (ไทยชิดซ้าย เมียนมาชิดขวา)
บรรยากาศแม่น้ำเมย (ภาษาพม่า แม่น้ำต่าวยิ่น) พรมแดนไทย-เมียนมา

          เมื่อเราถึงด่านฝั่งเมียนมา จะมีการประทับตราบนหนังสือ เสียเวลาเล็กน้อย เมื่อพ้นจากตรงนี้ไปแล้วจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมอีกคนละ 20 บาท ถ้าใครไม่อยากเสียเงิน ขอให้เดินผ่านตรงนี้ไปอย่างเงียบ ๆ ด้วยความรวดเร็ว (ถ้าไม่ถูกจับได้ซะก่อนนะ)

ฝั่งเมียนมาก็คึกคักไม่แพ้ฝั่งไทย
บริเวณหน้าด่าน สะพานมิตรภาพฯ ฝั่งเมียนมา

          เมื่อผ่านพ้นด่านมาแล้ว ยินดีด้วย คุณได้เดินทางมายังต่างประเทศแล้ว! บริเวณนี้จะมีบริการแลกเงินเรียงรายตลอดสองข้างทาง ควรแลกไปใช้แต่พอดี อันที่จริงแล้วเราสามารถใช้เงินบาทได้ แต่แนะนำให้แลกดีกว่า เพื่อความสะดวกและความแนบเนียน จากนั้นผมก็เดินหารถเช่าแถว ๆ นี้แหละ คนขับรถพูดภาษาไทยได้ ต่อรองราคาได้ บริการดี ตามใจลูกค้าสุด ๆ

รถเช่าฝั่งเมียนมาจะเป็นรถประมาณนี้ กว้างขวาง แอร์เย็นฉ่ำ

          โดยปกติผู้ชายชาวเมียนมาจะนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ผมก็เลยปลอมตัวเล็กน้อยเพื่อความแนบเนียนสมจริง ขอแนะนำก่อนว่า ชาวเมียนมาที่ทำมาหากินบริเวณหน้าด่านจะสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ถ้าออกไปจากบริเวณนี้ก็ต้องภาษาพม่าเท่านั้น

เลือกโสร่งและผ้าถุงตามลายที่ถูกใจ
แต้มทานาคานิดหน่อย เพื่อความแนบเนียน
ทานาคาที่ฝนจากเปลือกไม้ ของแท้แน่นอน

          เมื่อทุกคนปลอมตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มออกเดินทางได้โดยคนขับรถจะพาเราไปเที่ยวประมาณ 4-5 วัดเป็นอันจบทริป แต่ถ้าใครอยากไปที่ไหนเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามได้ (ภายในรัศมี 10 กม. จากสะพานมิตรภาพฯ)

          วัดแรกที่เราไปถึงคือ วัดชเว-มยิ่นหวุ่น (Shwe Myin Wun Pagoda) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อวัดเจดีย์ทอง เป็นวัดที่มีเจดีย์สีทองอร่ามซึ่งได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองอันเลื่องชื่อ วัดนี้ประกอบด้วยจตุรมุขทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านจะประดิษฐานพระประธาน และมีพระพุทธรูปน้อยใหญ่มากมาย ตรงกลางจตุรมุขจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทองขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยกระเบื้องบวกกับอากาศอันร้อนระอุอาจจะทำให้กลายเป็น ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน ภายในไม่กี่วินาที

หนึ่งในสี่จตุรมุขของวัด ประดับด้วยสิงห์คู่อันเป็นเอกลักษณ์ของวัดพม่า
เจดีย์ทองตั้งเด่นเป็นสง่ากลางเมือง
เจดีย์สูงใหญ่สไตล์พม่า
พระประธานในจตุรมุขทิศตะวันออก
พระประธานในจตุรมุขทิศเหนือ
พระประธานในจตุรมุขทิศใต้
วิหารภายในวัดประดับด้วยแผ่นทองลวดลายสวยงาม
วิหารหลังคาเจ็ดชั้น เอกลักษณ์อันโดดเด่นของศิลปะพม่า

          ทุก ๆ สถานที่มักจะมีมุมยอดฮิต วัดนี้ก็เช่นกัน ใครที่ได้มาเยือนมักจะมาถ่ายรูปที่มุมนี้ เพราะว่าจะเห็นเจดีย์เต็มองค์และไม่ย้อนแสง

นางแบบโพสต์ท่าในวัดแหละ
นายแบบในกิริยาสำรวม
ผิวพม่านัยน์ตาแขก เป็นความงามฉบับสาวเมียนมา (แต่นางแบบเราเป็นคนไทย?)

          ก่อนเดินทางต่อ ผมประหลาดใจกับแตงโมเมียนมาลูกใหญ่ไซส์เบ้อเร่อ จึงขอหอบกลับมาอวดคนที่บ้านสักลูก แตงโมมีหลายขนาด หลายราคา แต่ไม่เกินลูกละ 200 บาท และไม่ต้องคาดหวังกับรสชาติมากนัก เพราะค่อนข้างจืด ซื้อมาถ่ายรูปลงโซเชียลก็พอ

แตงโมลูกใหญ่กว่าเด็กทารกซะอีก
เขตอภัยทานข้างวัด

          วัดต่อมาชื่อ วัดมิจาวน์โกง (Mi Chaung Gone Pagoda) เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงอีกวัดหนึ่งเนื่องจากมีอุโบสถอยู่บนหลังรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่ เราสามารถเดินเข้าชมภายในอุโบสถได้โดยเดินเข้าประตูซึ่งอยู่ปลายหางของจระเข้ นอกจากนี้ยังมีวิหารที่แสดงพุทธประวัติตอนที่พุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระเบียงโดยรอบมีประติมากรรมแสดงพุทธประวัติที่จัดแสดงภายในตู้กระจก

อุโบสถบนหลังรูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่
ด้านหน้าของรูปปั้นจระเข้
อีกมุมหนึ่งของรูปปั้นจระเข้
ประติมากรรมแสดงพุทธประวัติตอนพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ระเบียงที่จัดแสดงพุทธประประวัติ
ตัวอย่างประติมากรรมแสดงพุทธประวัติ
ตัวอย่างประติมากรรมแสดงพุทธประวัติ
ระเบียงวิหารและเสาอโศกทางด้านซ้าย

          อีกวัดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ วัดดี่ตานอ่าว (Di Tan Aung Pagoda) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ วัดอธิษฐาน เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขา ไฮไลต์ของวัดนี้คือ ทางด้านทิศตะวันออกมีจุดชมวิวที่มองเห็นทิวเขาฝั่งไทยได้ชัดเจน

เจดีย์ขนาดใหญ่ภายในวัด
ประติมากรรมภายในวัด
จุดชมวิวของวัดที่มองเห็นเทือกเขาฝั่งไทย
ศิลปินหน้าวัด
ผลงานของศิลปิน

          วัดต่อมามีชื่อว่า วัดเจ้าก์โลงจี (Kyout Lone Gyi) แปลเป็นภาษาไทยว่า หินใหญ่ เนื่องจากในบริเวณวัดมีก้อนหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นตำนานเล่าขานของวัด (จำเรื่องราวไม่ได้) วัดนี้มีความน่าสนใจอีกอย่างคือ หอระฆังที่สูงตระหง่านเคียงคู่เจดีย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด และเราจะได้เห็นวิวเทือกเขาฝั่งเมียนมาอีกด้วย

วิหารของวัดมีเจดีย์ตั้งอยู่ด้านบน
บริเวณโดยรอบเจดีย์
พระประธานในวิหาร
พระประธานระยะประชิด
ขอถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ด้านหลังเป็นบันไดหอระฆัง
จุดชมวิวบนหอระหัง
เทือกเขาในฝั่งเมียนมา
อีกมุมหนึ่งของจุดชมวิว

          วัดต่อมาคือ วัดมอญ (Mon Monastery/The Great Standing Buddha) หรือในหมู่ชาวไทยรู้จักในชื่อ วัดมอญพระยืน เป็นวัดมอญวัดเดียวในเมียวดี (มอญกับพม่าคนละชนชาติกันนะครับ) จุดเด่นของวัดคือ มีพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูงตระหง่าน อีกทั้งยังมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ภายในวิหารไม้

          วัดสุดท้ายชื่อว่า ชเวดาโก่งโป่งดู่ (Shwedagon Pong Du) เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นบนเนินเขา และเป็นอีกวัดหนึ่งที่จำลองมาจากเจดีย์ชเวดากองเช่นกัน วิหารด้านบนเป็นโถงขนาดใหญ่ เงียบสงบและเย็นสบาย ต่างจากสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนอบอ้าว  

กว่าจะขึ้นไปถึงสวรรค์ก็ต้องออกแรงเดินนิดนึง
บริเวณหน้าเจดีย์
โพสท่าได้เล็กน้อย เพื่อความสำรวม
พระประธานภายในวัด

          หลังจากที่กลับจากวัดสุดท้ายแล้ว พวกเราขอแวะกันที่ตลาดบ่ายิ่นหน่าว หรือที่คุ้นเคยในชื่อ ตลาดบุเรงนอง  (ฺBa Yin Naung market) เป็นตลาดที่น่าจะใหญ่ที่สุดของเมือง ลักษณะคล้ายกับตลาดแผงลอยที่มีทางเดินมืด ๆ แคบ ๆ (ไม่ได้เก็บภาพบรรยากาศภายในตลาดมาฝาก) และสินค้าก็จะเป็นเหมือนตลาดทั่วไป มีปลาสด ปลาแห้ง เสื้อผ้า และของอุปโภคบริโภคที่เป็นแบรนด์ไทย เช่น เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เป็นต้น                    

บริเวณหน้าตลาดบ่ายิ่นหน่าว

          นี่ก็คือทริปต่างประเทศที่ผมอยากแนะนำสำหรับมือใหม่นะครับ ระหว่างทางก็จะมีความประทับใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่รับรองว่า ถ้าใครมีโอกาสได้มาเยือนเมืองนี้จะได้รับความประทับใจแน่นอนครับ เรื่องเล่าของผมสำหรับทริปนี้ก็มีเพียงเท่านี้ เมื่อมนุษย์ควบคุมเชื้อโควิดได้แล้ว และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมาสงบลงแล้ว ขอเชิญทุกท่านมาสัมผัส เมียวดีด้วยกันนะครับ รับรองว่าคุณจะต้องหลงไหลเมืองนี้อย่างแน่นอน


พี่ครับ...ผมมีเรื่องเล่า

 วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.32 น.

ความคิดเห็น