จุดศูนย์กลางของป้อมไจซาลเมอร์คือพระราชวัง ที่ลวดลายแกะสลักบนซุ้มหน้าต่างนั้นละเอียดยิบ อีกทั้งในเวลาใกล้เที่ยงเช่นนี้ แสงแดดได้ส่องกระทบพื้นผิวของพระราชวังจนเปลี่ยนจากสีเหลืองน้ำตาลเป็นสีเหลืองอร่ามดั่งทอง

การเข้าชมพระราชวัง ซึ่งปัจจุบันได้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ในประเทศอินเดียนั้น หลายแห่งจะมีหูฟังพร้อมเครื่องบันทึกเสียง หรือเรียกว่า Audio Guide ที่อธิบายรายละเอียดของจุดต่างๆเป็นภาษาสากลหลายภาษา (น่าเสียดายที่ไม่มีภาษาไทย) เมื่อเราเดินไปถึงจุดไหน ก็ให้กดหมายเลขบนเครื่องตามหมายเลขที่ปรากฏตามจุดนั้นๆ เราก็จะได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่บรรยายถึงประวัติศาสตร์และข้อมูลสำคัญๆ อีกทั้งบางทียังมีเสียงของลูกหลานมหาราชผู้เคยครองพระราชวังมาบรรยายด้วยตัวเองจึงได้อารมณ์ความรู้สึกสุดๆ

ผมเพลิดเพลินกับการฟังเสียงบรรยายตามจุดต่างๆ พร้อมชื่นชมเหล่าทรัพย์สมบัติของมหาราชาผู้เคยปกครองดินแดนกลางทะเลทรายแห่งนี้ แถมยังได้สนุกกับความซับซ้อนของพระราชวังจนเหมือนกำลังเล่นเกมเขาวงกต เพราะเหล่าช่องบันไดนั้นถูกออกแบบอย่างแยบยล อีกทั้งห้องหับต่างๆยังถูกสร้างขึ้นอย่างลึกลับ เพื่อให้ยากแก่การเข้าถึงของข้าศึก

เมื่อหลุดจากเขาวงกตจนมาโผล่ที่ดาดฟ้าของพระราชวัง ก็ได้สัมผัสรางวัลอันล้ำค่านั่นคือภาพทิวทัศน์ของเมืองไจซาลเมอร์ที่กว้างไกลไปจนสุดปลายสายตาที่ท้องทะเลทรายโอบล้อมไว้

นอกจากป้อมไจซาลเมอร์ที่ใหญ่โตมหึมาแล้ว เมืองกลางทะเลทรายแห่งนี้ยังมีฮาเวลี (Haveli) หรือคฤหาสน์ของมหาเศรษฐี ให้เที่ยวชม โดยฮาเวลีที่นี่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนเมืองอื่น คือสร้างจากหินทรายสีทอง ชั้นล่างของคฤหาสน์จะยกสูงมากกว่าปกติเพื่อป้องกันฝุ่นจากทะเลทราย ตัวคฤหาสน์จะมีระเบียงและซุ้มหน้าต่างยื่นออกมาโดยรอบเพื่อความสวยงามมากกว่าการใช้ประโยชน์จริง แต่ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษจริงๆคือ การสลักลวดลายลงแผ่นหินทรายอย่างละเอียดยิบ เช่น ลายเลขาคณิต ลายดอกไม้ ลายนกยูง โดยมีศัพท์ที่เรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้เป็นการเฉพาะว่า “จาโรกัส” (Jharokhas)

แม้จะตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง แต่เพราะเป็นเมืองทางผ่านของกองคาราวานการค้า จึงทำให้ไจซาลเมอร์นี้มากไปด้วยมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการทำการค้า เมื่อมีเศรษฐีมาก ฮาเวลีก็มีมากตาม ซึ่งหากจะเที่ยวชมทุกฮาเวลีมีหวังเย็นนี้พลาดการขี่อูฐท่องทะเลทรายเป็นแน่ ผมจึงเลือกชม 2 ฮาเวลีที่มีจุดเด่นต่างกันไป เริ่มจากมอติ มาฮาล (Moti Mahal) ของมหาเศรษฐีสลิม สิงห์ กี (Salim Singh Ki) อดีตข้าหลวงที่ปกครองเมืองไจซาลเมอร์อย่างเหี้ยมโหด จนสุดท้ายก็ถูกมหาราชาแห่งไจซาลเมอร์สั่งสังหารเมื่อสามร้อยปีก่อน

นอกจากลวดลายแกะสลักภายนอกที่ละเอียดยิบแล้ว ภายในยังงดงามด้วยลายเส้นดอกไม้ ที่แม้เวลาผ่านมาหลายร้อยปีก็ยังคงงดงาม แม้บรรยากาศภายในคฤหาสน์หลังนี้จะให้ความรู้สึกอึกอัดและอับชื้นอยู่มิใช่น้อย แต่เมื่อขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้าแล้ว ผมก็ได้รับความปลอดโปร่งจากบรรยากาศและทัศนียภาพที่ได้เห็น อีกทั้งที่นี่คืออีกจุดหนึ่งที่สามารถมองเห็นป้อมไจซาลเมอร์ได้เต็มสองตา โดยไม่มีสิ่งใดมาบดบัง

ผมเดินซอกแซกไปตามตรอกซอกซอยอีกครั้ง แล้วบ้านเรือนที่เห็นก็เปลี่ยนสภาพจากบ้านเรือนธรรมดาๆ เป็นคฤหาสน์หลังโตที่ขึ้นขนาบสองฟากถนน นี่คือพัทวา ฮาเวลี (Patwa Haveli) คฤหาสน์หลังใหญ่ของคหบดี 5 พี่น้อง ผู้ค้าอัญมณีและผ้าทอจนร่ำรวย คฤหาสน์หลังนี้จึงสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตและงามยิ่ง เพราะแค่ลวดลายแกะสลักภายนอกก็แสนงดงามไม่แพ้พระราชวังไจซาลเมอร์ ยิ่งได้ชมภายในจึงยิ่งสัมผัสได้ถึงการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของมหาเศรษฐีท่ามกลางท้องทะเลทรายที่แห้งแล้ง

ซึมซับชีวิตของเศรษฐีถึง 2 คฤหาสน์ มื้อกลางวันนี้ผมจึงขอขยับฐานะจากเทวดาเดินดินกินอาหารริมทาง มาเป็นอาหารในภัตตาคารหรูบ้าง โดยตำแหน่งโต๊ะอาหารนั้นอยู่บนชั้นดาดฟ้าที่สามารถเห็นทิวทัศน์ที่แต้มเติมด้วยวิถีชีวิตของผู้คน

สำหรับอาหารนั้นเนื่องจากประชากรชาวอินเดียส่วนให้ทานมังสาวิรัติ รายการอาหารจึงไม่มีเนื้อสัตว์มาปะปน โดยผมเลือกลิ้มลองแกงกะหรี่ไข่ ที่นำไข่ต้มไปทอดคล้ายไข่ลูกเขย จากนั้นจึงนำไปใส่ในแกงกะหรี่ที่น้ำข้นรสจัดจ้านจนขึ้นจมูก ยิ่งกินคู่กับนานเนื้อนุ่มด้วยแล้ว อร่อยยิ่งนัก

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 20.54 น.

ความคิดเห็น