เพราะเที่ยวคนเดียวจนเคยตัว แม้ไม่มีน้องจุ๊กับน้องเบสท์ไปเดินเล่นในตลาดซาร์ดาร์ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้แผนการถูกพับเก็บลง ในเวลานี้ผมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในความพลุกพล่านของผู้คนในตลาดซาร์ดาร์ (Sardar Market)

เพราะเป็นอาณาจักรบนเส้นทางการค้ากับเมืองเดลี ทำให้โจดปู้ร์เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของรัฐราชสถาน แม้ในปัจจุบันการค้าในเมืองแห่งนี้ก็ยังคงเจริญรุ่งเรือง ตลาดซาร์ดาร์จึงมากไปด้วยความคึกคักของผู้คนและสีสันของร้านค้า ที่ผสมกลมกลืนระหว่างวิธีการค้ายุคปัจจุบันกับกลิ่นอายของอดีตที่ใช้อูฐเป็นพาหนะในการลำเลียงสินค้า ตลาดแห่งนี้จึงมีทั้งวัว พาหนะของเทพเจ้า กับอูฐพาหนะของเหล่าพ่อค้า ที่เดินสวนกันให้เห็นเป็นว่าเล่น

ท้องเริ่มร้องอีกแล้ว ผมจึงเริ่มมองหาอาหารเชื้อชาติอินเดีย แล้วสายตาก็ไปสะดุดเข้ากับร้านขายซามูซาที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมหน้าประตูทางเข้าตลาดซาร์ดาร์ เนื่องจากมีลูกค้าแน่นร้าน ทีแรกก็ลังเลในเรื่องความสะอาด แต่เห็นว่าเหล่าซามูซาหรือกะหรี่ฟั้ฟนั้นเพิ่งขึ้นมาจากกระทะที่น้ำมันกำลังเดือดปุดๆ จึงไม่น่ามีเชื้อโรคอะไรที่ทนความร้อนขนาดนั้นได้ อีกทั้งมาถึงถิ่นกำเนิดของกะหรี่ฟั้ฟทั้งทีจึงขอลองกินสักชิ้น แต่เพียงคำแรกที่ลิ้มลอง ก็ทำให้ผมถึงกับชะงัก เพราะกะหรี่ฟั้ฟต้นตำรับนั้นรสชาติเผ็ดร้อนสุดๆ เนื่องจากไส้มีแต่แกงกะหรี่ สู้กะหรี่ฟั้ฟที่คนไทยนำมาประยุกต์ จนเกิดไส้ที่หลากหลายไม่ได้

ด้วยเหตุที่ยังไม่อยากอำลาโจดปู้ร์ตั้งแต่หัววัน เช้าวันรุ่งขึ้นผมจึงกลับมาที่ตลาดซาร์ดาร์อีกครั้ง บรรยากาศยามเช้าของตลาดนั้นแตกต่างจากเมื่อเย็นอย่างเห็นได้ชัด เพราะในเวลานี้บริเวณหอนาฬิกาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดนั้นมีแต่ความว่างเปล่า จะมีก็แต่บริเวณหน้าประตูตลาดนั่นแหละที่มีร้านรถเข็นขายไจ๋ ผมจึงสบโอกาสได้จิบไจ๋ร้อนๆ ท่ามกลางอาหารที่หนาวเย็นอีกครั้ง

เช้านี้ผมมีภารกิจที่ต้องไปซื้อตั๋วเพื่อเดินทางไปอูไดปู้ร์ ซึ่งจริงๆแล้วเจ้าของเกสท์เฮ้าส์ก็เสนอขายตั๋วให้ผม แต่ผมอยากไปซื้อเองที่สถานีขนส่งมากกว่า เพราะนอกจากได้ตั๋วตามราคาที่ควรจะเป็นแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ผมจะได้เดินเล่นชมเมืองโจดปู้ร์ไปในตัว โดยระหว่างทางจากตัวเมืองถึงสถานีขนส่งนั้นผ่านสวนอูเมด (Umaid Garden) ที่แม้จะไม่สวยอะไรนัก แต่ก็เป็นพื้นที่สีเขียวเพียงแห่งเดียว ที่จะได้ชมวิถีชีวิตยามเช้าของชาวเมืองที่มาออกกำลังกาย ฝึกโยคะ และนั่งเล่นใต้ร่มเงาไม้

ผมแวะชมโน่นชมนี่จนมาถึงสถานีขนส่ง แต่กว่าจะได้ตั๋วไปอูไดปู้ร์มาครอบครองก็ต้องงงงวยกับการโต้ตอบกับพนักงานขายตั๋วที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียด้วยเสียงควบกล้ำเยอะมากๆ จนเกิดความคิดว่า เสียงควบกล้ำ ร กับ ล ของเราน่าจะมีที่มาจากแดนภารตะนี่เอง

จำได้ว่าเมื่อวานตอนอยู่บนป้อมเมห์รังการ์ สายตาผมมองไปเห็นพระราชวังอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไกลออกไป กลับมาเปิดแผนที่ดูจึงรู้ว่าพระราชวังแห่งนั้นคือ พระราชวังอูเมด บาวัน (Umaid Bhawan) ซึ่งตั้งอยู่บนเขาซึ่งไกลเกินกว่าที่สองเท้าจะไปถึง ผมจึงใช้บริการออโต้ริกซอว์เพื่อพาผมไปยังจุดหมาย

พระราชวังอูเมด บาวัน ถือเป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน โดยเป็นพระราชวังสุดท้ายที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงที่อินเดียยังอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ในสมัยมหาราชาอูเมด สิงห์ (Umaid Singh) เมื่อปีพ.ศ.2472 ใช้แรงงานก่อสร้างถึง 3,000 คน กับเวลาการสร้างที่ยาวนานถึง 15 ปี จึงเป็นพระราชวังที่มีขนาดใหญ่มาก ตัวอาคารเป็นสีน้ำตาลที่สะท้อนความสวยงามจากหินทรายที่ใช้สร้าง มียอดโดมในตำแหน่งกึ่งกลาง โดยพระองค์หลงใหลวิถีชีวิตและสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จึงส่งผลให้พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมในแบบที่พระองค์หลงใหล

เนื่องจากพระราชวังแห่งนี้ยังคงเป็นที่ประทับของมหาราชาองค์ปัจจุบัน จึงเปิดให้เข้าชมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยแบ่งชั้นล่างปีกขวาของพระราชวังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของมหาราชาองค์ก่อนๆ ซึ่งล้วนเป็นของเลอค่าต่างจากชาวโจดปู้ร์ที่ใช้ชีวิตจริงอยู่ภายนอกพระราชวังยิ่งนัก

การแบกเป้ขึ้นหลังเริ่มขึ้นอีกครั้ง ในการเดินทางจากโจดปู้ร์ สู่อูไดปู้ร์ ในรถประจำทางมีเด็กหนุ่มชาวอินเดีย 2 คนเข้ามาทำความรู้จัก ชื่อ Vikram เป็นนักศึกษาปริญญาตรีในสาขาคอมพิวเตอร์ กับ Raghuveer ที่กำลังเตรียมสอบเข้าเป็นทหาร เด็กหนุ่ม 2 คนนี้ชวนผมคุยไปตลอดทาง นอกจากการสอบถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทย และให้ผมเล่าความรู้สึกที่มีต่อประเทศอินเดียแล้ว ยังสอบถามสารพัดเรื่อง ทั้งเรื่องการเมืองในประเทศไทย พรรคการเมืองที่ชื่นชอบ รวมถึงถามว่าผมใช้มีดโกนหนวดยี่ห้ออะไร แม้จะเป็นคำถามที่ออกจะแปลกๆ แต่ก็ดีนะ เพราะอย่างน้อยการเดินทางเพียงลำพัง ที่ดูเหมือนสีสันของการเดินทางเริ่มจืดจางลง ก็ถูกแต่งเติมด้วยสีสันจากการสนทนากับคนท้องถิ่น ออกท่องโลกคราใด ผมจึงเปิดใจทุกครั้งให้กับทุกเรื่องราวและผู้คนที่ผ่านเข้ามา

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.30 น.

ความคิดเห็น