ไม่ชอบเลยกับความรู้สึกแบบนี้ แต่ความรู้สึกว่าฉันอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้ก็เกิดขึ้นกับผมอีกครั้ง เมื่อรถบัสจอดให้ผู้โดยสารลงข้างถนน ณ มุมใดมุมหนึ่งของเมืองใหญ่อย่างเดลี

ที่นี่ไม่ใช่ย่านปาฮากันจ์ที่ผมเคยพักอย่างแน่นอน จึงเดินไปหาออโต้ริกซอว์ที่จอดอยู่ใกล้ๆเพื่อพาผมไปยังย่านที่คุ้นเคย แต่เมื่อคนขับบอกค่าโดยสารผมก็ถึงกับชะงัก เพราะราคาที่บอกนั้นสูงถึง 500 รูปี ผมจึงเดินกลับอย่างไม่แย่แสต่อการร้องเรียกของคนขับ โดยไปถามคนอินเดียที่อยู่แถวนั้นว่าผมสามารถไปย่านปาฮากันจ์ที่อยู่ใกล้ๆสถานีรถไฟนิวเดลีได้อย่างไร ผู้ถูกถามตอบว่าง่ายมาก เพราะเพียงแค่เดินตรงต่อไปอีก 100 เมตรก็จะพบกับสถานีรถไฟ แม้ว่าเวลาจะดึกดื่นขนาดนี้ก็สามารถนั่งรถไฟไปสถานีนิวเดลีได้ และที่สำคัญ ค่าตั๋วรถไฟนั้นแสนถูกเพียงแค่ 2 รูปีเท่านั้น!

หลังจากที่งุนงงกับการซื้อตั๋วรถไฟและสอบถามรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ ผมก็รู้ว่าในเวลานี้ผมอยู่ที่สถานีรถไฟ Nizamuddin ซึ่งอยู่ทางใต้ของสถานีนิวเดลีเพียง 2 สถานี

แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่บรรยากาศการรอรถไฟในเวลาเที่ยงคืนเศษเช่นนี้ช่างวังเวงยิ่งนัก เพราะมีชาวอินเดียหน้าเข้มๆที่นั่งรอรถไฟเป็นเพื่อนแค่ 4 คนเท่านั้น อีกทั้งยิ่งมีเสียงเจ้าหน้าที่ประกาศตลอดเวลาว่ารถไฟจะมาช้ากว่ากำหนด จึงเกิดความไม่แน่ใจว่าตกลงรถไฟขบวนที่จะพาผมไปสถานีนิวเดลีนั้นจะเทียบชานชลาในเวลาเท่าไหร่ ทุกเวลาที่เข็มวินาทีเคลื่อนผ่านไป ในใจผมจึงเต็มไปด้วยความกังวลที่ผสมกับความรู้สึกโดดเดี่ยว ที่ก่อตัวรุนแรงขึ้นในคืนสุดท้ายแห่งการเดินทาง

ก่อนที่ความรู้สึกแย่ๆจะก่อตัวมากไปกว่านี้ เสียงหวูดรถไฟก็คำรามมาแต่ไกล ตู้โดยสารที่แทบปราศจากผู้โดยสาร พาผมผ่านความมืดของสองข้างทาง หลังจากฟังเสียงฉึกฉักของรถไฟเพียงไม่นาน ภาพอันคุ้นตาของสถานีรถไฟนิวเดลีก็ปรากฏให้เห็น ผมลงจากรถไฟ แล้วขึ้นสะพานลอยข้ามรางรถไฟ เพื่อไปออกที่หน้าสถานีอย่างคนคุ้นเคย เหล่าออโต้ริกซอว์เรียกให้ผมใช้บริการ แต่เมินเสียเถอะ ในเวลานี้ผมรู้ว่าผมต้องแบกเป้เพื่อไปหาที่พักที่ไหน

แม้ร่างกายจะเหนื่อยขนาดไหน แต่ก็เป็นอย่างนี้ทุกทีเมื่อชีวิตยังอยู่บนการเดินทาง เพราะหลับเพียงแค่ 4 ชั่วโมง ผมก็พาชีวิตออกไปแต้มสีสันต่อ

บอกตามตรงเลยว่า นอกจากป้อมแดงแล้ว ผมนึกไม่ออกเลยว่าในเดลีมีสถานที่สำคัญอะไรให้เที่ยวชมบ้าง แต่เมื่อกางแผนที่เส้นทางเดินรถไฟฟ้า Metro ออกมา ใจก็เต้นระทึก พร้อมกับตาที่แทบถลน เพราะนอกจากป้อมแดงแล้ว เดลียังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกหลายแห่ง กระจายเต็มแผนที่ และที่ถูกใจผมเป็นที่สุดคือแต่ละแห่งนั้นสามารถเดินทางอย่างสะดวกและแสนประหยัดด้วยรถไฟฟ้า Metro

หลังจากฝากเป้ไว้กับพนักงานโรงแรมเป็นที่เรียบร้อย ผมก็ไม่รอช้าที่จะเดินจ้ำอ้าวฝ่าฝูงชนที่กำลังเริ่งรีบออกไปทำงานในยามเช้าสู่สถานีรถไฟนิวเดลี เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้า Metro ซึ่งหากเราเดินทางไปหลายสถานที่ด้วยรถไฟฟ้า Metro ขอแนะนำว่าให้ซื้อบัตรแบบ One Day Card ในราคา 100 รูปี จะสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องต่อแถวยาวเหยียดเกือบทุกครั้งในการซื้อตั๋ว

สถานที่แรกที่ผมตั้งเป้าหมายในการไปเยือนคือ อักซาร์ดัม (Akshardham) เพราะสถานที่แห่งนี้คือสถานที่ที่หรั่งชวนผมไปตั้งแต่วันแรกที่เหยียบแผ่นดินอินเดีย แต่เป็นเพราะในเวลานั้นร่างกายเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางและการตะรอนหาที่พัก ผมจึงปฏิเสธโดยเลือกกลับไปนอนสลบที่ห้องพักแทน

จากสถานีนิวเดลี ผมนั่ง Metro สายสีเหลืองไปที่สถานี Rajiv Chowk จากนั้นต่อสายสีน้ำเงินข้ามแม่น้ำยมุนาสู่ปลายทางที่สถานีอักซาร์ดัม ที่ประตูทางเข้ามีวัดฮินดูเล็กๆตั้งอยู่ แต่ถึงจะเล็กก็เล็กแบบพริกขี้หนู เพราะตามเสา เพดานและผนังหินอ่อนสีขาวนั้นมากไปด้วยงานแกะสลักละเอียดยิบของเหล่าเทพเจ้าและนักบวชในศาสนาฮินดู จนแทบจะหาพื้นที่หินอ่อนเรียบๆที่ไร้การแกะสลักไม่พบ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะเข้าชมงานแกะสลักที่ยิ่งใหญ่อลังการกว่านี้หลายเท่าของอักซาร์ดัม แต่แล้วน้ำย่อยที่เพิ่งถูกหลั่งก็ถูกเรียกให้ไหลย้อนกลับแทบไม่ทัน เมื่อป้ายที่ประตูทางเขียนว่า “ปิดวันจันทร์” ปรากฏให้เห็นเต็มสองตา

ไม่แน่ใจว่าเดินทางจนลืมวันลืมคืน หรือจงใจไม่ยอมรับในสิ่งที่เห็น ผมจึงหยิบปฏิทินขึ้นมาดูแล้วดูอีกว่าวันนี้เป็นวันอะไร สุดท้ายก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ ว่าวันนี้คือวันจันทร์ แต่คนอย่างผมไม่มีทางเดินคอตกอกหักกลับไปง่ายๆหรอก อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงที่แล้ว ผมจึงตรงเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่พร้อมชักแม่น้ำคงคา ยมุนา สินธุ บวกกับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงจนครบ 5 สายเพื่อโน้มน้าวใจเจ้าหน้าที่ให้ผ่อนปรนคนไกลเช่นผมให้ได้เข้าชมอักซาร์ดัมเป็นบุญตาสักครั้ง แต่เจ้าหน้าที่หน้าเข้มนี้ใจแข็งยิ่งกว่าหิน เพราะนอกจากส่ายหน้าพร้อมโบกมือไม่ให้เข้าแล้ว ยังเดินไปชี้ที่ป้ายอีกว่า ไม่เห็นหรือไงว่าปิดวันจันทร์

ผมเดินคอตกไปบนถนนสายหลักเพื่อหามุมชะเง้อมองอักซาร์ดัมแบบไกลๆ ซึ่งในเวลานี้ไม่ใช่เพียงแค่ผม แต่นักท่องเที่ยวหลายคนที่อยู่ในอาการอกหักเช่นเดียวกับผมก็กำลังทำเช่นเดียวกัน เพราะแม้จะมองจากระยะไกล แต่ความยิ่งใหญ่และงดงามของอักซาร์ดัมก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะอักซาร์ดัมอันหมายถึงศาสนสถานิรันดร์กาลของพระเจ้า ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู ถูกรับรองโดยกินเนสส์บุ๊คว่าเป็นวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ความใหญ่โตของอักซาร์ดัมในแง่มิตินั้น วัดความสูงของวิหารที่รายล้อมไปด้วยยอดโดมขนาดใหญ่ได้ถึง 109 เมตร แม้จะเป็นสิ่งก่อสร้างยุคปัจจุบันที่เพิ่งสร้างเมื่อปีพ.ศ.2543 แต่รูปแบบการสร้างนั้นถูกสร้างด้วยศิลปะอินเดียโบราณ โครงสร้างทำจากหินทรายสีชมพูกว่า 6,000 ตัน โดยปราศจากโครงสร้างโลหะ และที่สำคัญงานแกะหินนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือการแกะสลักของช่างถึงเจ็ดพันคน หากทัชมาฮาลคือสิ่งก่อสร้างที่ถูกจัดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในแผ่นดินอินเดียยุคอดีต อักซาร์ดัมแห่งนี้ก็คงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในแผ่นดินอินเดียยุคปัจจุบัน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.50 น.

ความคิดเห็น