ความเชื่อของสังคมล้านนา ชาวเชียงใหม่มีความเชื่อผูกพันแนบแน่นกับพุทธศาสนามาช้านาน เมืองเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณ จึงมีวัดที่สวยงามเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง วันนี้พาตามรอยละครพีเรียตฟร์อมยักษ์ รากนครา ที่เห็นตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ฉากที่สวยงาม มีวัดงามของเชียงใหม่ถึง 4 แห่ง ปรากฏอยู่ในละคร มาตามรอยกันค่ะ ^^


วัดป่าดาราภิรมณ์

วัดแรกที่พาตามรอยคือ วัดป่าดาราภิรมณ์ ตั้งอยู่ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (อยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ริม) วัดนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี นับได้ว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งที่ 7 ในจังหวัดเชียงใหม่ นามของวัดนี้ถูกตั้งขึ้นตามพระนามของเจ้าดารารัสมี พระราชชายาของร.5 ค่ะ วัดมีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมแบบศิลปะทางล้านนา วัดนี้ปรากฏอยู่ในฉากเมืองมัณฑ์ ที่เจ้านางมิ่งหล้าเดินทางไปถวายเครื่องบรรณาการค่ะ

พระวิหารหลวง ของวัดป่าดาราภรมณ์ เป็นศิลปล้านนา จำลองมาจากหอคำของเจ้าหลวงเชียงใหม่ในสมัยโบราณค่ะ

ฉากเมืองมัณฑ์

พระพุทธมหาธรรมมิกราชเจ้า พระเจ้าธรรมจักรพรรดิ์ พระประธานบนพระวิหารหลวงหอคำ

มณฑปพระจุฬามณีศรีบรมธาตุ (หอแก้ว) ยอดมณฑปเป็นรูปทรงปราสาทเจดีย์ มีขนาดสูงจากฐานถึงยอดฉัตร 39 เมตร เป็นศิลปะล้านนาไทยผสมสกุลไตค่ะ



งานออกแบบสถาปัตยกรรมวางผังยึดเอาอคติความเชื่อในจักรวาลทางพระพุทธศาสนา โดยสมมุติเอามณฑปเป็นเขาพระสุเมรุ หลักของจักรวาล


โดยแต่ละชั้นของมณฑปเปรียบเหมือนสวรรค์วิมานต่างๆค่ะ


บรรยากาศรอบมณฑบงดงามค่ะ





รอบฐานเจดีย์จะมีมีสัตว์ในจินตคติล้านนา เช่น สิงห์ คชสีห์ ล้อมรอบ




 

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส)

วัดเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงาม เป็นวัดที่ถือว่าเป็นสุดยอดของสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดค่ะ ตั้งอยู่ที่ ซอย 3 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์) “ต้นเกว๋น” หรือ “ต้นมะเกว๋น” เป็นคำเมืองที่ใช้เรียก “ต้นตะขบป่า” ค่ะ ในอดีตวัดนี้เป็นที่พักของขบวนช้าง ขบวนม้า จากขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองมาที่เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระธาตุ จากความสวยงามจึงถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครหลายเรื่องค่ะ เช่น ยามเมื่อดอกรักบาน รอยไหม เพลิงพระนาง รวมทั้งละครเรื่องรากนคราด้วยค่ะ ^^  ภาพเต็มวัดในลิ้งนี้ค่ะ https://th.readme.me/p/30261

ในบริเวณวัดจะพบ ศาลาจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ เป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาแบบโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด ทรงคุณค่าและงดงามมาก จนสมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 และจากความงดงามนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ค่ะ


ในรากนคราถูกใช้เป็นฉากสถานที่ถ่ายทำเมืองเชียงเงิน และพิธีส่งสการพระศพเจ้าอุปราชสิงห์คำ(พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพของทางล้านนา) รวมทั้งพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าหน่อเมือง


บันได 'มกรคายนาค' ซ้ายขวา

พระประธานในวิหารไม้ประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ในละครเป็นฉากที่เจ้าหน่อเมืองเจ้าอุปราชคนใหม่แห่งเชียงเงิน ต้องเดินทางมาเชียงใหม่ เพื่อทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อหน้าพระประธานองค์นี้ค่ะ

วัดผาลาด (สกทาคามี) ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ ทางขึ้นไปพระธาตุดอยสุเทพค่ะ มีพื้นที่ทั้งหมด 237 ไร่ วัดมีความสงบสวยงาม ร่มรื่น สงบ งดงามแบบศิลปะการสร้างแบบพม่าค่ะ หน้าฝนงดงามมากเป็นวัดเล็กๆที่ซ่อนตัวอยู่ในแมกไม้ ถูกใช้เป็นฉากเปิดตัวเจ้าสุขวงศ์กลับบ้านเกิดในเรื่องรากนคราค่ะ

รูปปั้นนรสิงห์ ภายในวัด คนโบราณสร้างนรสิงห์เอาไว้อารักขาศาสนสถาน เพราะกลัวอมนุษย์จะมาทำลาย


พระเจดีย์ทรงพม่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ประดับลายปูนปั้นยักษ์



ผางประทีป ทางเหนือนิยมจุดเป็นพุทธบูชาค่ะ


หอวิปัสนากรรมฐานหรือวิหารพระพุทธรูปห้าพระองค์ พระวิหาร ตั้งอยู่กลางวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่า หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปนกยูง ประดับกระจกสีฟ้าเขียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบชาวลั้วะ




ด้านหลังวัดบริเวณน้ำตก สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ได้สวยงาม^^




วัดอุโมงค์

วัดสุดท้ายที่จะพาตามรอยละครรากนครา คือ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) วัดอุโมงค์สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราว พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา บริเวณวัดร่มรื่นสวยงาม

บริเวณด้านหน้าอุโมงค์ มีอนุสาวรีย์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

เจอแม่หญิงงามเลยขอแชะรูปสักหน่อย^^ เข้ากับบรรยากาศละครพอดี

ที่เห็นในฉากละครรากนคราเป็นบริเวณอุโมงค์ของวัดที่เจ้านางแม้นเมืองมากราบพระ อุโมงค์ในวัดอุโมงค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย จึงชื่อว่า วัดอุโมงค์เถรจันทร์ หรือ วัดอุโมงค์ ในที่สุด ชาวล้านนาจะสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น ถ้าเราเดินลอดอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ เราจะได้สัมผัสถึงความเงียบสงบ และศิลปะพุทธแบบลังกาวงศ์ที่สวยงาม

ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องเชื่อมต่อกันได้

เดินขึ้นไปนสมัสการเจดีย์ด้านบนของอุงโมงค์

ขึ้นไปด้านบนของอุโมงค์ จะเป็นเจดีย์ใหญ่แบบลักกาวงศ์ ตั้งอยู่เด่นสง่าสวยงาม

เจ้าถิ่น^^

บันไดนาคเพื่อขึ้นไปนมัสการเจดีย์ที่ชั้นบน ถ้าไม่เข้าอุโมงค์ จะเดินขึ้นไปนมัสการเจดีย์ได้ค่ะ

ขอบคุณที่เข้าชมเจ้า ^^

ฝากติดตามเพจท่องเที่ยวเล็กๆด้วยนะคะ เพจ: ไปแอ่วกัน Fun Trip

ไปแอ่วกัน Fun Trip

 วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560 เวลา 10.51 น.

ความคิดเห็น