เขื่อนขุนด่านปราการชล เขาช่องลม อำเภอองครักษ์ น้ำตกสาริกา เป็นสถานที่แรก ๆ ที่ผู้คนนึกออกเมื่อพูดถึงจังหวัดนครนายก หนึ่งในจังหวัดที่ตั้งอยู่กลางประเทศไทย

.

หลายคนรวมทั้งตัวเองไม่เคยรู้ว่าในนครนายกมีหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอพยพมาจากลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเราเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความโด่ดเด่นเฉพาะตัว กลุ่มชาติพันธุ์ที่ชื่อว่า "พวน"

.

กาลเวลากว่า 2 ศตวรรษไม่สามารถทำลายอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาวพวนได้เลย พวกเขารักษาขนบธรรมเนียมประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น และยังปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับสังคมไทย เป็นที่มาของคำว่า ชุมชนไทยพวน (ถ้าอยู่ลาวก็จะเป็นลาวพวน)

ชุมชนไทยพวนมีประมาณ 15,000 คน มี 4 ตำบลอาศัยอยู่ในอำเภอปากพลี นครนายก

ฉันกับเจียง เพื่อนใหม่ชาวเปรู จากโครงการ Thailand Village Academy เดินทางไปยังอำเภอปากพลีเพื่อผันตัวเป็นลูกสาวไทยพวนเป็นเวลาเกือบ 1 อาทิตย์ เรา 2 คนมีความสนใจคนละด้าน เจียงชอบประวัติศาสตร์ ศาสนา และการเต้น ส่วนฉันชอบภาษา วัฒนธรรม และผู้คน แต่สิ่งหนึ่งที่เราชอบเหมือนกันคืออาหาร! โอเค..งั้นเที่ยวง่ายละ

พวกเราพักกันที่เกาะหวายโฮมสเตย์ ตำบลเกาะหวาย (หัวละ 250 บาทพร้อมกาแฟ + แครกเกอร์ตอนเช้า) บ้านของพ่อประทีปและแม่สุรีย์ผู้ใจดี ดูแลพวกเราเหมือนลูก พวกเราก็ปฏิบัติตัวเป็นลูกที่ดี ช่วยล้างจาน (บางวัน)

วันแรกฟิตมากตื่นเช้ามาตักบาตร แต่หลัง ๆ ไม่ไหวเพราะแต่ละวันพวกเราจัดเต็มทั้งวัน บุกนู่นชมนี่ทำนั่น ทุกวันออกจากที่พักเช้าและกลับค่ำ ๆ เดินทางโดยรถยนต์ รถวิถีถิ่น และจักรยาน

พวกเราเข้าพิธีบายศรี "สู่ขวัญ เอิ้นขวัญพวน" จะมาเป็นลูกสาวบ้านเขาก็ต้องขออนุญาตกันก่อน ชาวบ้านชวนพวกเรากินอาหารว่างไทยพวน ในจานมี ไข่เค็มสูตรใบเตย กล้วยหอม กาแฟอุ่น ๆ ดูแล้วไม่ค่อยเข้ากัน แต่พอทานพร้อม ๆ กัน อ้ำ..อร่อย

เมื่อความสนใจร่วมคืออาหาร พวกเราจึงไล่ศึกษาสูตรอาหารและของหวานไปทีละอย่าง เช่น ไข่เค็มสูตรใบเตย ขนมข้าวกระยาคู-ป้าหนู ข้าวจี่พวน-ครูสุภาพ และขาดไม่ได้ปลาดู-ครูหลอด

ก่อนมาเที่ยวฉันทำการบ้านหาของกินเด็ด ๆ และก็ไม่ผิดหวังปลาดูแซ่บหลาย วันที่พวกเราไปบ้านครูหลอด ได้ลองทำปลาดูและกินข้าวผัดปลาดู + เครื่องเคียง โอ้โห..ขอโหวตเมนู ข้าวผัดปลาดู ให้เป็นที่หนึ่ง! จะบรรยายรสชาติก็จะหาว่าเกินไป ต้องมาลองเอง

ฉันสังเกตการแต่งกายของชาวไทยพวน ผู้ชายผูกผ้าขาวม้าที่เอว ผู้หญิงใส่สไบเบี่ยงบ่า แล้วอยากลองใส่บ้าง..

ฉันขอยืมสไบและผ้าถุงของแม่รีย์ เพื่อจัดไทยพวนแฟชั่นวีคของตัวเอง ติดใจผ้าถุงจนต้องไปตามหาแหล่งผ้าทอมือไทยพวนปากพลี ณ ศูนย์ภูมิปัญญามนุษย์ วัดบ้านใหม่ ซื้อลาย "ทางน้ำไหล" มา 1 ผืน (2 เมตร) 600 บาท

พ่อทีปเล่าว่าชาวไทยพวนนับถือ ผี พราหมณ์ พุทธ

ดังนั้นชาวไทยพวนนิยมสร้างวัด เรียกได้ว่า 1 วัด 1 หมู่บ้านเลยทีเดียว พวกเราเยี่ยมชมวัดวาอารามแทบทุกวัด เช่น วัดท่าแดง-วัดแรกของชาวไทยพวน วัดตะเคียนทอง-ขอพรหลวงพ่อยิ้ม วัดเกาะหวาย-สักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง

เจียงผู้ชื่นชอบพุทธศาสนามาก ขนาดที่ว่าเข้าไปสักการะสถูปเจดีย์พระบรมสาริกธาตุกุสาวดี ที่วัดปทุมวงษาวาส (วัดบ้านใหม่) แล้วน้ำตานางคลอเบ้า นางบอกสัมผัสได้ถึงบางสิ่ง ฉันนี่ขนลุกซู่

ชาวไทยพวนมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเองนั่นคือ "ภาษาพวน" เคยเห็นอักษรเขียน ดูอ่านยาก แต่ภาษาพูดฟังแล้วคุ้นหู (ด้วยความเป็นคนโคราช..บ้านเอง) ในระหว่างที่อยู่ในชุมชน ฉันเลือกฝึกพูดภาษาพวน จะฝึกเฉย ๆ ก็ดูจะง่ายไปซะหน่อย ต้องมีการให้คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน

(รอชมแบบทดสอบหลังเรียนในตอนท้ายของบทความนะคะ)

ตอนไปเที่ยวสวนทองมล ศูนย์เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของพี่มล ณ ตำบลหนองแสง สวนเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ มีตั้งแต่ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักจุลินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่ พืชสมุนไพร ทำถ่าน ฯลฯ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทุกอย่างในสวนเป็นแบบพอมีพอกินพอเพียง ถ้าเหลือก็แบ่งปัน

หลังจากเรียนรู้กรรมวิธีเกษตรอินทรีย์นานา ก็ไปเก็บหน่อไม้ ฝัก ดอกอัญชัน ไข่ไก่ สำหรับประกอบอาหารเที่ยง ใช้กระต่ายขูดมพร้าวกันเลย เป็นอาหารมื้อสุขภาพ กินแล้วรู้สึกว่า ปลอดภัยเพราะปลอดสารพิษ

หาอาหารดี ๆ ใส่ท้องแลัว พวกเราก็ออกตามหา อากาศคลีน ๆ ให้ปอดกันบ้างที่สะพานดอนยายแม๊ะ ตำบลหนองแสง สูดอากาศเข้าไปให้เต็มปอด ก่อนที่จะต้องกลับไปสู้รบกับPM 2.5

ก่อนวันสุดท้ายพวกเราแวะเที่ยวนอกรั้วบ้านพวน ไปถ่ายรูปบน เขื่อนขุนด่านปราการชล แวะ ราวิน โฮม คาเฟ่ เครื่องดื่มหลักร้อย วิวหลักล้าน มีระเบียงชมวิวบนชั้นสอง วิวท่ามกลางธรรมชาติสีเขียว มีทิวเขาใหญ่อยู่อีกด้านของขอบฟ้า


และไปขี่ ATV แถวคลองมะเดื่อ (1 คัน / 1คน รอบละ 400 บาท) ความมันส์ไม่ต้องพูดถึง นี่ขนาดขี่ครั้งแรก ต่อไปจะฝึกยกล้อ จริง ๆ แพลนไปล่องแก่งด้วยแต่โชคร้าย ไปถึงเย็นเกิน เขาหยุดปล่อยน้ำ

คืนสุดท้าย พ่อทีปกับแม่รีย์จัดดินเนอร์ปาร์ตี้ให้ 2 ลูกสาวพวน ชาวบ้านมากมายที่พวกเราเคยพบเจอก็แวะมาหา แวะมาอวยพร อบอุ่นมาก ๆ พวกเขาบอกว่า สูเจ๊ามาเฮาดีเจอ สูเจ๊ากลับไปเฮาคึดฮอต ฉันแอบน้ำตาไหลทุกครั้งที่ผู้เฒ่าผู้ใหญ่ให้พร

และแล้วแบบทดสอบหลังเรียน วิชาภาษาพวน ก็มาถึง..

ชุมชนไทยพวนนี่ครบเครื่องจริง ๆ ขนาดพวกเราทั้ง 2 คนมีความชอบแตกต่างกัน ยังสามารถเที่ยวได้ครบตามที่ต้องการ แถมยังได้รับมิตรภาพและความอบอุ่นจากชาวบ้านไทยพวน

ขอขอบคุณโครงการ Thailand Village Academy สำหรับทริปครั้งนี้ พวกเราไม่เพียงหลงรักชาวไทยพวนและจังหวัดนครนายก พวกเราหลงไหลการท่องเที่ยววิถีชุมชนไปแล้ว เจียงถึงขั้นคิดจะย้ายมาอยู่ไทย ส่วนฉันวางแพลนเก็บตกล่องแก่งเดือนพฤษจิกา

...ต่อจากนี้ถ้าพูดถึงนครนายก ชุมชนไทยพวนจะเป็นเรื่องราวแรกที่ฉันนึกถึงและคิดถึง...

PS. Thank you for the grateful opportunity, so happy to be surrounded by awesome people. I have learned how valuable authenticity is.

สโรซ่า

 วันพฤหัสที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 00.55 น.

ความคิดเห็น