อู่ฮั่น อู่อารยธรรมของชาวฮั่น

 การเดินทางของผมยังไม่จบสิ้น เป้ใบเดิมจึงถูกแบกขึ้นหลังอีกครั้ง เพื่อพาตัวเองขึ้นรถไฟไปยังอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย (Hubei)

อู่ฮั่นเกิดจากการรวมกันของ 3 เมืองโบราณ ประกอบด้วย อู่ชาง (Wuchang) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแยงซี สร้างขึ้นในสมัยสามก๊ก มีหอนกกระเรียนเหลืองเป็นจุดศูนย์กลาง สำหรับอีก 2 เมืองตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแยงซี มีแม่น้ำฮั่น ซึ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแยงซี บริเวณใกล้ๆกับหอนกกระเรียนเหลืองเป็นเส้นแบ่ง คือ ฮั่นโขว่ (Hankou) ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำฮั่น ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อราว 400 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการคมนาคมโดยเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติเทียนเหอ(อู่ฮั่น) สำหรับฝั่งใต้ของแม่น้ำฮั่นเป็นฮั่นหยาง (Hunyang) ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์สุ่ย และได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเป็นจุดศูนย์กลางของการค้าตั้งแต่เมื่อ 1,800 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นชื่ออู่ฮั่นจึงมีที่มาจากชื่อเมืองโบราณทั้ง 3 เมืองที่กล่าวมา

เสียงกึกกักของรถไฟสงบลงที่สถานีรถไฟอู่ชาง หนึ่งในสถานีรถไฟภายในเขตตัวเมือง เมื่อไม่มีเพื่อนร่วมทางที่รู้ใจ ผมจึงต้องวางแผน ดำเนินการและตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง ภารกิจแรกที่ผมต้องทำเมื่อเดินทางมาถึงอู่ฮั่น คือการจองตั๋วรถไฟสำหรับเดินทางไปยังเมืองต่างๆตามแผนที่วางไว้เสียแต่วันนี้ ความพลุกพล่านของผู้โดยสารในสถานีรถไฟ คือสิ่งที่ผมเตรียมใจไว้แล้วว่าต้องเจอ และด้วยการที่แบกเป้ท่องเมืองจีนด้วยตัวเองหลายครั้ง จึงมีประสบการณ์ว่าการซื้อตั๋วรถไฟโดยที่พูดภาษาจีนไม่ได้นั้นยากลำบากเพียงใด ยิ่งเดินทางคนเดียวเช่นนี้ความลำบากจึงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ครั้งนี้ผมจึงเตรียมการมาอย่างดี ด้วยการพิมพ์ตารางรถไฟจีนมาจากเมืองไทย แล้ววงหมายเลขขบวน เมืองต้นทาง เมืองปลายทาง และเขียนวันเวลาเดินทางมาเสร็จสรรพ จากนั้นก็ยื่นสิ่งที่เตรียมมาให้เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว เจ้าหน้าที่รับไปดูแล้วก็พูดว่า “ฮ่อๆ” เป็นอันเข้าใจตรงกัน ไม่ถึง 5 นาที ตั๋วรถไฟสำหรับการเดินทางไป ไคฟง กับซีอาน ก็อยู่ในมือผม โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษามือให้ยุ่งยาก

จากสถานีรถไฟอู่ชาง ผมโดยสารรถเมล์สาย 511 เพื่อไปยัง Path finder Youth Hostel ในย่าน ผิงเซียเจี้ย (Pangxiejia) โดยเป็นยูธโฮสเทลเพียงแห่งเดียวในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งผมจองผ่าน Internet ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง พอขึ้นบนรถปุ๊บ ผมก็ไม่รอช้าที่จะกวาดตามองผู้โดยสารแทบทุกคนบนรถ เพื่อดูว่าใครน่าจะพอสื่อสารภาษาอังกฤษกับผมได้บ้าง แต่เมื่อสนทนาพร้อมยื่นแผนที่ที่พักออกไป สิ่งที่ได้รับคือการส่ายหน้าและความเงียบงัน แต่สุดท้ายแล้ว ความโชคดีในการเดินทางยังคงอยู่เคียงข้างผม เพราะก่อนที่รถเมล์จะเลยจุดหมาย อาเจ้ที่ยืนโหนรถเมล์อยู่ใกล้ๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนไม่สนใจว่าผมจะเดินทางไปไหน ก็บอกผมด้วยภาษามือว่าป้ายหน้าคือจุดหมายที่ผมต้องลง

แม้จะลงถูกป้ายและมีแผนที่อยู่ในมือ แต่กว่าจะหาที่ตั้งของยูธโฮสเทลพบ ผมก็เดินต้องเดินวนไปวนมาอยู่หลายรอบ เพราะยูธโฮสเทลนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ริมถนน แต่อยู่หลังวิทยาลัยศิลปะอู่ฮั่น โดยมีป้ายเล็กจนแทบมองไม่เห็น ระหว่างที่เดินหายูธโฮสเทลอยู่นั้น ผมก็สังเกตผู้คนและบ้านเรือนไปเรื่อย แม้วิถีชีวิตและบ้านเรือนของผู้คนที่นี่จะไม่มีอะไรแตกต่างจากเมืองใหญ่ๆในประเทศจีน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดูแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือสะพานลอย เพราะนอกจากลักษณะการสร้างที่ไม่ลาดชัน โดยด้านข้างของบันไดทำเป็นทางลาดที่สะดวกต่อการเข็นรถจักรยาน หรือลากกระเป๋าเดินทางแบบมีล้อเลื่อนแล้ว บรรดาสะพานลอยของเมืองนี้ยังเป็นเหมือนสวนหย่อมลอยฟ้า เพราะตลอดแนวสะพานมีไม้ดอกในกระถาง ที่ต่างออกดอกผลิบาน สร้างความสดชื่นให้กับท้องถนน

เมื่อเห็นป้ายบอกทางสู่ยูธโฮสเทล ผมก็แทบวิ่งเข้าหาเพื่อปลดเป้ออกจากบ่า บรรยากาศและการออกแบบของยูธโฮสเทลที่นี่มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากยูธโฮสเทลหลายแห่งที่ผมเคยพัก เพราะไม่ใช่เพียงมีงานศิลปะแบบแปลกๆตั้งกระจัดกระจายอยู่ในสวนหย่อมด้านหน้า แต่ภายในยังมากไปด้วยงานศิลปะเต็มผาผนังโดยบางรูปก็ดูสวยดี แต่หลายรูปดูแล้วก็ยากเกินเข้าใจ จึงไม่รู้ว่าเป็นเพราะตั้งอยู่หลังวิทยาลัยศิลปะอู่ฮั่นหรืออย่างไร จึงทำให้ที่นี่เป็นเหมือนที่รวมผลงานของเหล่าศิลปิน

เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ห้องพักที่จองไว้จึงยังคงเป็นห้องนอนรวม ที่มีเตียง 2 ชั้นจำนวน 6 เตียงตั้งอยู่ในนั้น ในเวลานี้ไม่มีใครอยู่ในห้อง แต่ก็มีสัมภาระกองอยู่บนเตียง อันเป็นเครื่องหมายว่าเตียงนี่มีเจ้าของแล้ว แม้ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของกองสัมภาระนั้นบ้าง แต่คืนนี้ผมคงได้ทำความรู้จักกับพวกเขา และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางตามประสานักเดินทางแนวประหยัดเหมือนๆกัน

หลังจากจัดแจงนำเป้ใส่ไว้ในล็อคเกอร์ตามหมายเลขที่ระบุไว้บนกุญแจเรียบร้อยแล้ว ด้วยการเดินทางแบบพักน้อย เที่ยวเยอะ ผมจึงไม่เสียเวลาอยู่ในยูธโฮลเทลให้มากนัก โดยตรงเข้าไปขอแผนที่เมืองอู่ฮั่นจากเจ้าหน้าที่ทันที

จากแผนที่พบว่า ยูธโฮสเทลแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของสถานที่สำคัญหลายแห่ง วันนี้มีเวลาเหลืออีกราว 3 ชั่วโมงก่อนที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผมจึงเลือกไปสถานที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอู่ฮั่น นั่นคือหอนกกระเรียนเหลือง ริมแม่น้ำแยงซี

รถเมล์สาย 584 จากหน้ายูธโฮสเทลพาผมเดินทางสู่จุดหมาย ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแยงซี รถเมล์ก็จอดส่งผมลงที่หน้าทางเข้า หอนกกระเรียนเหลือง (Yellow crane tower) หรือชื่อภาษาจีนคือ หวงเห่อโหลว (Huang He Lou) นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยซุนกวนในยุคสามก๊ก เมื่อปีพ.ศ.766 เพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์แห่งเมืองอู่ชาง ตั้งแต่ก่อนที่จะสถาปนาเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก

ไม่ใช่เป็นแค่หอสังเกตการณ์ เพราะความงดงามของหอนกกระเรียนเหลืองยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับกวีหลายต่อหลายคน ในการแต่งบทกวีชื่นชมความงามของหอแห่งนี้ พร้อมทั้งฝากผลงานอันเป็นต้นแบบของบทกวีไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ แต่ความงามนี้ก็ไม่อาจคงอยู่ได้อย่างจีรัง เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หอที่สร้างจากไม้ก็ค่อยๆทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามหอนกกระเรียนเหลืองก็ผ่านการบูรณะมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้ความงดงามได้กลับมาดังเดิม จนเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาในสมัยราชวงศ์ชิง หอนกกระเรียนเหลืองก็ถูกเผาอย่างย่อยยับจนไม่อาจบูรณะขึ้นมาได้ ที่เห็นในปัจจุบันนั้นถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดด้วยโครงสร้างคอนกรีตและโลหะ แต่ยังไว้ซึ่งรูปแบบเดิมที่สวยตระการตา พร้อมด้วยสวนสวยและสิ่งก่อสร้างอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระฆังขนาดยักษ์ที่สูงใหญ่กว่าคนถึง 2 เท่า หรือพลับพลาเมฆขาวที่ถูกจัดวางภูมิทัศน์ของสวนสวยได้อย่างลงตัว จนทางการจีนจัดให้หอนกกระเรียนเหลืองแห่งนี้ เป็น 1 ใน 3 หอสวยที่สุดในแผ่นดินมังกร (อีก 2 แห่งคือ หอเอี้ยหยาง ในมณฑลหูหนาน กับ หอเถิงหวังเก๋อ ในมณฑลเจียงซี)

หลังจากเดินไปตามขั้นบันไดที่ทอดขึ้นเนินเขาริมแม่น้ำแยงซี ภาพของหอนกกระเรียนเหลืองขนาดใหญ่สูง 51 เมตร แบ่งออกเป็น 5 ชั้น สีเหลืองอร่ามก็ตั้งตระหง่านให้เห็น รูปปั้นนกกระเรียน 2 ตัวยืนบนหลังเต่า อันหมายถึงความเป็นมงคลตั้งโดดเด่นที่ด้านหน้าทางเข้า ผมเดินตรงเข้าสู่ภายในหอแล้วขึ้นไปตามขั้นบันไดที่ทอดตัววกวนไปมา แต่ละชั้นจัดแสดงภาพวาด งานจิตรกรรม ที่มีชื่อเสียงของศิลปินหลายยุคหลายสมัย จนถึงชั้นบนสุด ณ ความสูงนี้ในอดีตซุนกวนเคยใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ข้าศึกที่จะบุกเข้าโจมตีเมืองอู่ชาง โดยมีแม่น้ำแยงซีเป็นเหมือนปราการขวางกั้น แต่ปัจจุบันได้กลายจุดชมวิวเมืองอู่ฮั่นที่ดีเยี่ยม ด้วยฐานะที่เป็นเมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย มองไปโดยรอบจึงพบแต่อาคารสูงที่กำลังผุดตัวขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ด้วยแรงเร่งของกระแสเศรษฐกิจในฐานะหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกยุคปัจจุบัน และเมื่อมองไกลออกไปข้ามพ้นยอดสูงของเหล่าอาคาร สิ่งที่สองสายตาได้สัมผัสคือทิวทัศน์อันงดงามของแม่น้ำแยงซีเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

จากหอนกกระเรียนเหลือง ผมเดินลัดเลาะสู่ริมแม่น้ำแยงซี สายน้ำไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใด ยิ่งใหญ่สักแค่ไหนก็ยังคงไว้ด้วยคุณสมบัติจริงแท้อันเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจแปรเปลี่ยน นั้นคือการไหลไปอย่างไม่หวนกลับ ชีวิต เวลา และการเดินทางก็เช่นกันที่ยังคงรักษาคุณสมบัตินี้ไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง 

ภายใต้บรรยากาศที่รถราวิ่งกันขวักไขว่ ผู้คนเร่งรีบเดินทางกลับที่พัก ผมปล่อยร่างกายให้หยุดพัก ปล่อยความคิดให้ไหลไปตามเวลาที่ล่วงเลยผ่านไปกับทิวทัศน์ที่แสนงดงาม เวลาผ่านไปพระอาทิตย์กำลังทำหน้าที่สุดท้ายของวันด้วยการลาลับขอบฟ้าพร้อมทอแสงสีส้มสะท้อนเงาลงสู่แม่น้ำแยงซี จนเกิดเป็นประกายระยิบระยับก่อนที่จะค่อยๆหายลับไปในความมืด นั่นเป็นสัญญาณที่บอกให้ผมพาตัวเองกลับสู่ที่พักก่อนที่สายลมหนาวจะมาเยือน

ชีวิตเริ่มขึ้นอีกครั้งในเช้าวันใหม่ ผมเลือกที่จะปลุกความสดชื่นให้กับชีวิตด้วยการไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่สวนสาธารณะตงหู (Dong Hu) หรือทะเลสาบตะวันออก การเดินทางนั้นแสนง่ายเพียงแค่นั่งรถเมล์สาย 14 ซึ่งมีสถานีต้นทางอยู่ใกล้ๆโฮสเทลไปจนสุดสายก็จะถึงสวนสาธารณะแห่งนี้

สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นริมทะเลสาบตงหู ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอู่ฮั่น กินพื้นที่กว่า 33 ตารางกิโลเมตร โดยแตกแขนงมาจากแม่น้ำแยงซีที่ไหลผ่านใจกลางเมือง นอกจากตงหูแล้ว เมืองอู่ฮั่นยังมีทะเลสาบอีกราว 10 แห่ง ทำให้เมื่อรวมพื้นที่แล้ว เมืองอู่ฮั่นนี้มีพื้นที่ทะเลสาบมากถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ จึงไม่แปลกเลยที่เมืองแห่งนี้จะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวฮั่นมาตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน

เหมือนชาวจีนจะพร้อมใจมาสูดอากาศสดชื่นที่สวนสาธารณะแห่งนี้เช่นเดียวกับผม ที่นี่จึงคึกคักไปด้วยผู้คน ทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ หลายคู่ หลายครอบครัวมาเดินเล่น นั่งเล่นใต้เงาไม้ใหญ่ที่ตั้งเรียงรายรอบทะเลสาบ ส่วนใครใคร่อยากลอยล่องอยู่เหนือผิวน้ำ ก็มีเรือถีบหัวเป็ดไว้ให้ออกแรงถีบ หรือจะนั่งเรือโบราณที่มีคนพายให้ก็เข้าที แต่สำหรับผมเลือกที่จะเดินเลียบเลาะไปตามขอบทะเลสาบ หลบไปนั่งพักใต้เงาไม้ใหญ่เพื่อทอดสายตามองทิวทัศน์ที่กว้างไกลบ้าง เดินทอดน่องดูวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบของผู้คนบ้าง เพียงแค่นี้ก็เป็นความสุขง่ายๆที่ทำให้ชีวิตคนเดินทางเช่นผมได้ผ่อนคลาย

พักกายเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาพักใจด้วยการไปไหว้พระกันบ้าง ใครมาเยือนอู่ฮั่นแล้วไม่ได้ไปวัดกุยหยวน (Guiyuan) ก็เหมือนยังมาไม่ถึงอู่ฮั่น เพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดในศาสนาพุทธ นิกายมหายานที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในอู่ฮั่น ตั้งอยู่ในเขตฮั่นหยาง ทางทิศใต้ของแม่น้ำฮั่น

สำหรับคนต่างถิ่นที่ยึดการเดินทางด้วยรถเมล์เช่นผม การไปวัดกุยหยวนนั้นไม่ง่ายเลย เพราะไม่มีรถเมล์วิ่งผ่านหน้าวัด แต่จากข้อมูลที่หามา รถเมล์สาย 584 ซึ่งเมื่อวานผมใช้บริการไปหอนกกระเรียนเหลืองนี่แหละที่วิ่งเฉียดทางเข้าวัดมากที่สุด แต่พอข้ามแม่น้ำแยงซี ผมก็เริ่มจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าขณะนี้รถวิ่งไปตามถนนเส้นใดในแผนที่ จนเมื่อรถข้ามแม่น้ำฮั่น ซึ่งเป็นแม่น้ำสายเล็กๆที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแยงซี ผมก็รีบเดินไปหาคนขับ เพราะเริ่มรู้สึกว่าจะเลยตำแหน่งที่ตั้งของวัดแล้ว โดยโชว์รูปวัดกุยหยวนให้คนขับดู ว่าต้องการไปวัดนี้ คนขับจึงจอดให้ลงป้ายถัดไป พร้อมชี้นิ้วบอกให้ผมเดินย้อนกลับ เป็นอันเข้าใจว่าผมเลยทางเข้าวัดแล้วจริงๆ

ผมเดินข้ามแม่น้ำฮั่นกลับทางเดิม บริเวณนี้มีคอนโดมิเนียมที่เพิ่งสร้างเสร็จตั้งอย่างโดดเด่น แผนที่ในมือเริ่มใช้ประโยชน์ไม่ได้ อีกทั้งปากที่เคยเป็นแผนที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทาง ก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล เพราะเดินไปถามคนแถวนั้น 3 คน บอกทางไปวัดไม่ตรงกันสักคน สุดท้ายคนที่ 4 ที่ผมเดินเข้าไปถามทาง กลับไม่บอกว่าวัดกุยหยวนต้องไปทางไหน แต่แนะนำวิธีไปที่แสนง่าย ซึ่งผมกลับไม่นึกถึงในเวลานั้น นั้นคือการนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง!

นั่นสิ วิธีง่ายๆแบบนี้ทำไมผมถึงไม่นึกถึง อีกทั้งค่าโดยสารก็แสนถูกเพียงแค่ 7 หยวนเท่านั้น ระหว่างนั่งก็สังเกตทางไปเรื่อย จะได้ไม่มีปัญหาเวลากลับ แต่แทนที่จะใช้ถนนสายหลัก มอเตอร์ไซด์รับจ้างกลับพาลัดเลาะเข้าไปในสวนสาธารณะและตรอกซอกซอยที่ซับซ้อน ในเวลานั้นผมจึงรู้สถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ว่า ขากลับได้หลงทางแน่ๆ

ชื่อวัดกุยหยวน มีความหมายว่า พระสูตรในพระพุทธศาสนา เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในอู่ฮั่น สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.2201 ในสมัยปลายราชวงศ์หมิง ต่อเนื่องมาถึงต้นราชวงศ์ชิง โดยยังคงไว้ด้วยเหล่าวิหารตั้งแต่สมัยเริ่มสร้าง วัดแห่งนี้จึงเดินทางผ่านกาลเวลามากว่า 300 ปี

ภายในวัดมากไปด้วยเหล่าวิหารตั้งเรียงรายล้อมรอบบึงน้ำใส วิหารหลังใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระศากยมุนี สำหรับวิหารหลังอื่นๆ ภายในมากไปด้วยเหล่าพระพุทธรูปที่งดงาม ไมว่าจะเป็นพระอมิตพุทธ เหล่าพระโพธิสัตว์ในนิกายมหายาน และพระ 18 อรหันต์

เหล่าวิหารที่กล่าวมาคือสิ่งก่อสร้างดั่งเดิมของวัด แต่สำหรับสิ่งก่อสร้างที่เพิ่งสร้างไม่นาน แต่กลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของวัดไปเสียแล้ว นั่นคือรูปปั้นขนาดใหญ่ของพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่มีความสูงกว่า 20 เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางลานกว้าง ในเวลานี้มีชาวจีนแวะเวียนมาสักการะจำนวนมาก ควันธูปจากแรงศรัทธาจึงพัดขึ้นสู่ท้องฟ้าเบื้องบนอย่างไม่ขาดสาย เหมือนเป็นการสืบอายุของวัดแห่งนี้ให้ยืนยาวต่อไป

ขามานั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ขากลับหน้าวัดกุยหยวนไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างสักคัน ผมจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการเดิน ช่วงแรกๆก็พอจำทางได้ แต่ยิ่งเดินไปไกลเส้นทางก็ยิ่งไม่คุ้น ตรอกซอกซอยปรากฏให้เห็นเต็มไปหมด ครั้นจะถามชาวจีนก็มีอุปสรรคเรื่องการสื่อสาร แล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่าผมได้ถ่ายรูปคอนโดมิเนียมที่ตั้งริมแม่น้ำฮั่นไว้ จุดนี้เป็นจุดที่รถเมล์สาย 584 จอดให้ผมลง จึงยื่นกล้องถ่ายรูปให้ชาวจีนเพื่อถามว่าจะไปยังสถานที่ในรูปต้องไปทางไหน ในที่สุดผมจึงสามารถเดินทางกลับไปยังป้ายรถเมล์สาย 584 ได้สำเร็จ

เวลาในการเที่ยวชมเมืองอู่ฮั่นของผมสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ จากยูธโฮสเทล ผมใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินไปยังสถานีรถไฟฮั่นโขว่ ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของเขตฮั่นโขว่ เหนือแม่น้ำฮั่น เพื่อเดินทางด้วยรถไฟไปยังเมืองไคฟง ได้ยินชื่อเมืองนี้แล้ว เชื่อว่าหน้าท่านเปาบุ้นจิ้นคงลอยมาอยู่ในความนึกคิดของใครหลายคน แล้วเพียงชั่วข้ามคืน ผมก็จะเดินทางไปคารวะเท่าเปาถึงสถานที่จริงที่ท่านเป็นเจ้าเมืองเมื่อกว่าพันปีที่ผ่านมา

ข้อมูลการเดินทางและเข้าชม

หอนกกระเรียนเหลือง

- รถเมล์ที่ผ่านหอนกกระเรียนเหลือง คือ สาย 10, 61, 64, 108, 401, 402, 411, 413, 584 และรถรางสาย 1, 4

- เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 80 หยวน

สวนสาธารณะตงหู

- สวนสาธารณะตงหูตั้งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางเขตเมืองอู่ชาง ไปทางตะวันออกราว 3.5 กิโลเมตร รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 8, 14, 36, 102, 108, 401, 402, 411, 413, 515, 537, 578, 605, 701 และ 712

- เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. ไม่เสียค่าเข้า

วัดกุยหยวน

- รถเมล์ที่ผ่านวัดกุยหยวนคือ สาย 401

- เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 10 หยวน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.58 น.

ความคิดเห็น