ทริปนี้เราวางแผนไว้ข้ามปีกันเลยทีเดียว ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม วางแผนบริหารร่างกายและพละกำลังให้เหนื่อยล้าน้อยที่สุด ส่วนตัวผมเองไปมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนมกราคม 2540 ครั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ครั้งนี้ เลือกช่วงหยุดยาววันมาฆบูชา 8 – 10 กุมภาพันธ์ 2563 เพราะไม่อยากเสียวันลา อากาศเย็นเล็กน้อยพอดี ๆ  ไปครั้งนี้ถือว่าไปดูการเปลี่ยนของภูกระดึงในรอบเกือบ 10 ปี ไป 3 ครั้ง บรรยากาศ 3 แบบ เมื่อปี 2540 ราคาสัมภาระกิโลกรัมละ 15 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 30 บาท ตามจุดทางเดินหลาย ๆ  จุด มีการทำบันได หรือจุดตัดให้เดินได้สะดวกมากขึ้น รีวิวนี้เน้นภาพบรรยากาศนะครับ  เราพร้อม  ลูกหาบพร้อม  ร่วมเดินทางกับเรากันเลย           

การเตรียมตัวเบื้องต้นสำหรับคนที่ไม่เคยไปนะครับ
1. เตรียมร่างกายให้พร้อม ออกกำลังกายให้เพียงพอว่ากล้ามเนื้อเราพร้อมที่จะสู้ การเดินทางคร่าว ๆ ขาขึ้น – หลังแป – ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 9 กม. ตื่นเช้าอีกวันไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นไป – กลับ ประมาณ 4 กม.(โดยประมาณนะครับ เป็นการเดินรอบ ไม่ได้กลับทางเดิน) เดินรอบภูกระดึง ประมาณ 20 กม. และขาลงอีก รวมเบ็ดเสร็จ 3 วัน 2 คืน ต้องเดินราว ๆ 40 – 44 กม. (เราวัดจากแอพพลิเคชั่น บางทีเดินไปเดินมาภายในศูนย์บริการลืมปิดแอพ555)
2. อาหารการกินมีบริการตลอดทางตามซำหลัก ๆ เช่น ซำแฮก ซำกอซาง  ซำกกหว้า ซำกกโดน   ซำแคร่
3. ไฟฉาย เอาไว้ส่องทาง หรือใช้ไฟโทรศัพท์ก็ได้ตามสะดวก
4. รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่สวมใส่สบาย ใส่บ่อย ๆ ไม่แนะนำรองเท้าใหม่นะครับ การเดินทางไกลๆ รองเท้าจะบีบ รัด กดปลายเท้า รองเท้ากัด อย่าลืมรองเท้าแตะ เอาไว้ใส่ลำลองเดินเล่นในศูนย์บริการ

อัตราค่าบริการ
     - ค่าเข้าอุทยาน คนละ 40 บาท
     - ค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท/คืน/คน
     - ราคาเต็นท์ 2-3 คน 225 บาท/คืน
     - ค่าประกันคนละ 10 บาท
     - ค่าจ้างลูกหาบกิโลกรัมละ 30 บาท
     - หมอนใบละ 10 บาท/คืน
     - แผ่นรองนอนแผ่นละ 20 บาท/คืน
     - ถุงนอน 30 บาท/คืน
     - ผ้าห่มผืนใหญ่ 50 บาท/คืน ผืนเล็ก 30 บาท/คืน
     - จักรยานล้อเล็ก 360 บาท ล้อใหญ่ 410 บาท
สัญญานโทรศัพท์มีทุกเครือข่าย การชาร์จแบต สามารถชาร์จได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเสียค่าบริการครั้งละ 20 บาท พาวเวอร์แบงค์ 40 บาท ร้านค้าชาร์จฟรี
เมื่อติดต่อจัดการลงทะเบียนสัมภาระเรียบร้อย  ร่างกายพร้อม  ออกสตาร์ทกันเลย  เราออกจากจุดเริ่มต้นประมาณ  9  นาฬิกา (เวลาเฉลี่ยในการเดินทาง  4 - 5  ชั่วโมง แล้วแต่ใครจะพักนาน) ระยะทาง ตามป้ายเลยครับ

เส้นทางครึ่งกิโลเมตรแรก  เป็นการไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ  แนะนำไม่ต้องเร่งนะครับ จะทำให้เราเหนื่อยมาก เดี๋ยวหายใจไม่ทัน

ช่วงนี้เส้นทางจะกว้าง เดินตามสะดวกครับ ค่อย ๆ ไป นี่แค่เริ่มต้น

ช่วงปางกกค่าเป็นทางเดินบันได

ก่อนถึงซำแฮกประมาณ  200 - 300  เมตร  จะเป็นทางชันอีกครั้ง ไม่ต้องเร่งเครื่องนะครับ  เดี๋ยวจะไปนั่งหอบแฮก ๆ ที่ป้ายเอานะ

แน่ะ ยังมีรอยยิ้มอยู่  เรายังไม่แฮก ๆ นะ    

บรรยากาศช่วงแรก  จะเป็นป่า แห้งแล้งตามภาพเลยครับ ใบไม้ร่วงหมด อากาศถือว่าไม่ร้อนมากนัก  แม้ว่าจะแดดจัด  

บรรยากาศร้านค้าที่ซำแฮก

มาถึงซำแฮก  กินอะไรก็อร่อยไปซะทุกอย่าง  แตงโมความหนาบางขึ้นอยู่กับระยะทางและความสูง ความอร่อยคงเดิม

นั่งพักพอประมาณ  เราเดินทางต่อผ่านซำบอน  ซำกกกอก สภาพแวดล้อมยังไม่ค่อยแตกต่างกัน เป็นป่าไม้แห้งแล้ง ทางชันเป็นช่วง แต่ไม่มากนัก     

แล้วก็มาถึงซำกอซาง  จุดบริการร้านค้าให้นักท่องเที่ยวได้พักกัน  อร่อยทุกอย่างครับ     

แตงโม ก็ยังเป็นผลไม้ยอดฮิดสำหรับนักเดินทาง  พักพอหายเหนื่อย  เริ่มทางเดินกันต่อ    

มาถึงจุดบริการร้านค้าริมทางอีกซำกกหว้า  ต่อด้วยซำกกโดน  แวะกินทุกจุด  อิ่มแล้วไปต่อ  พักนานไม่ได้  กล้ามเนื้อจะล้า ค่อยเดินไปเรื่อย ๆ     

หลังจากซำกกโดนไป  จะเป็นป่าดงดิบ  มองเห็นต้นไม้สีเขียวสบายตา  ร่มรื่น  ไม่ค่อยร้อนแล้ว   

มาถึงจุดร้านค้าจุดสุดท้ายก่อนขึ้นหลังแป  และเส้นทางต่อจากนี้ไป  โหดสุด ๆ บริหารพละกำลังให้ดีครับ พักเอาแรง     

สำหรับเราฝากอาหารเที่ยงไว้จุดนี้ อาหารย่อยแล้ว สู้กันต่อไป อีกกิโลเมตรกว่า ๆ ทางแคบ ชัน         

และแล้วเวลาประมาณ  14.00  น.  เราก็มาถึงหลังแป   

บรรดารถบรรทุก  เทียบท่ารอลูกหาบเพื่อขนส่งสัมภาระต่อไปที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีก  3  กิโลเมตร    

ดูบรรยากาศเข้าคิวรอถ่ายภาพ "ผู้พิชิตภูกระดึง"      

ลิ้งค์การเดินทางของเรา  ตั้งแต่ออกเดินทางจนถึงหลังแปครับ 
ภารกิจยังไม่จบครับ  ต้องรีบทางต่อเพื่อไปเช็คอินเต็นท์ เครื่องนอนที่เราได้จองไว้ก่อนขึ้นมา ต่อไปเป็นทางราบตลอด  3.5  กิโลเมตร    ต้นสนคู่ในตำนาน         

บรรยากาศระหว่างทาง

ต้นสนเดี๋ยวกลางทางในตำนาน    

บรรยากาศศูนย์บริการฯ วังกวาง  ครับ  เวลาประมาณเกือบ ๆ บ่ายสาม แล้ว ติดต่อภารกิจให้เสร็จเรียบร้อย  ส่วนของเราสัมภาระมาถึงประมาณ 17.00 น. ถ่ายภาพ  ชาร์จกล้อง  โทรศัพท์ ให้เรียบร้อยขณะที่รอ    

คืนนี้พระจันทร์เต็มดวงครับ เนื่องในวันมาฆบูชา  เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง 22.00  น.  เจ้าหน้าที่ประกาศงดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เสียงเพลง เสียงดนตรี เพื่อให้ทุกท่านได้พักผ่อน  ราตรีสวัสดิ์  เจอกัน 05.00 น. ณ ศูนย์บริการฯ เพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ ผานกแอ่น

ขณะนี้เวลา  06.09  น.  (ตามเวลากล้อง)

เวลา  06.45  น.  พระอาทิตย์ขึ้นมาให้ยลโฉม  ถ่ายได้ถ่ายเอา  ไม่รู้ใครเป็นใคร เช้านี้บอกเลย  11  องศาครับ  หนาวเย็นมาก  ข้าพเจ้าอยากสัมผัสอากาศหนาวก็เลยไม่ใส่เสื้อกันหนาว  (ลืมมมมมเอาไปจากบ้าน)

จากนั้นเหล่านักสู้ก็ทยอยเดินทางกลับฐาน  ทานอาหารเช้า  ก่อนจะออกไปสู้ต่ออีก  20 กว่่ากิโลเมตร  ระหว่างทาง  ก็มีวิวสวย ๆ ให้เราได้ถ่ายภาพกัน

ขณะที่กลับไปเอาอุปกรณ์ได้เวลาเคารพธงชาติพอดี

เริ่มออกจากศูนย์บริการฯ  ประมาณ  09.45  น.  ถือว่าออกตัวช้าพอสมควร  เพราะเรารู้ว่าระยะทางมันยาวไกล  ขอบคุณภาพแผนที่  www.sabuy.com  สำหรับทริปเราเดินทางเข้าวงในดูสภาพน้ำตกหน้าแล้ง  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่มีน้ำ  เพราะเจ้าหน้าที่เขาแจ้งให้ทราบแล้ว ไหน ๆ มาแล้ว  ก็ต้องเดินให้ทั่ว เราใช้เส้นทาง  น้ำตกวังกวาง - น้ำตกเพ็ญพบ - เพ็ญพบใหม่ - โผนพบน้ำตกถ้ำใหญ่แล้ววนออกมาเส้นกลางไปทางสระอโนดาต - น้ำตกถ้ำสอเหนือ - ผาหล่มสัก

ระหว่างทางไปน้ำตกวังกวาง  ยังไม่มีอะไรน่าสนใจ

เห็นซากน้ำตกนิดเดียว เราไม่ได้เก็บภาพ  เดินทางต่อไป

มีสีเขียวสลับน้ำตาลบ้าง   เพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง ถึงแล้วป้ายน้ำตก555

ตัวน้ำตกอยู่ด้านหลัง  มีเพื่อน ๆ นักท่องเที่ยวกำลังพักผ่อนกัน ด้านใน  เดินกันต่อไปที่น้ำตกโผนพบ (เขาเล่าว่า โผน กิ่งเพชร  คือคนมาพบน้ำตกนี้) ระหว่างทางก็พอมีจุดถ่ายภาพบ้าง

ละแวกนี้เป็นป่าดงดิบขนาดย่อม ยังพบความอุดมสมบูรณ์ของพืชขนาดเล็กที่ดำรงชีวิตอยู่ได้

ระหว่างทางไปน้ำตกถ้ำใหญ่  พบความอุดมสมบูรณ์ ลำธารขนาดเล็กที่พอมีน้ำหล่อเลี้ยงให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ได้พึ่งอาศัยกันและกัน

ใบเมเปิ้ลร่วงกันหมดแล้ว และแล้วก็ถึงน้ำตกถ้ำใหญ่

ป้ายเตือนช้างป่าออกหากิน คลิปการเดินทางช่วงที่ 2  

เรามุ่งหน้าเข้าทางสายกลาง  แหม ยังกะนักบวช ลักษณะเป็นป่าสน  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภูกระดึง

บอกให้รู้ว่ายังไหว

ถึงช่วงป่าสนสลับทุ่งหญ้าแห้ง พบเพื่อนร่วมทางเป็นระยะ

ผ่านทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งภูกระดึง  ฉากหลังเป็นทิวสนให้เราได้เชยชม

ต่อกันไปสระอโนดาต วิวข้างทาง สวยงามตามท้องเรื่องภูกระดึง

เป็นจุดแวะพักรองท้องกันสำหรับคนที่ออกมาสาย  เราก็เช่นกันเพราะนี่ก็บ่ายโมงกว่าแล้ว ยังดีที่ติดของกินมาด้วย  รองท้องไปก่อน เป้าหมายหลักข้าวเที่ยงอยู่ที่ผาหล่มสัก  แล้วอีกกี่โมงจะถึงเนี่ย

เส้นทางจากสระอโนดาต - น้ำตกถ้ำสอเหนือ   ใครว่าภูกระดึงไม่มีรถ  เถียงเลย  

ให้บริการเฉพาะผู้ที่ไม่ไหวจริง ๆ กับผู้ที่มีภาระ  นับถือน้องตัวเล็ก  เก่งมากครับตอนเดินขึ้นมาพร้อมกัน  สงสัยได้เวลานอนของน้องพอดี

เลยน้ำตกถ้ำสอเหนือไปเล็กน้อย  จะเห็นดอกกุหลาบพันปี  บานสะพรั่ง กับพันธุ์พืชขนาดเล็ก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่านี้

เราก็ไปเรื่อย ๆ เหมือนรถขายโอ่ง  มาถึงจุดนี้  บ่งบอกแล้วว่าอีกไม่นานจะถึงผาหล่มสักแล้ว

เรามาถึงผาหล่มสักประมาณบ่ายสามโมง พักทานข้าวเที่ยงประมาณครึ่งชั่วโมง  อีกครึ่งชั่วโมงจองคิวถ่ายแลนด์มาร์คแห่งภูกระดึง "ผาหล่มสัก"

ตอนนี้ก็สี่โมงกว่าแล้ว เร่งฝีเท้าเพื่อให้ถึงที่พักไม่เกิน 2 ทุ่ม บวกลบเวลากับการแวะถ่ายภาพ ริมทางก่อนถึงผาแดง

ได้จุดแวะพักเหมาะ  ลานผาเหยียบเมฆรอชมตะวันตกดินกัน

ยังพอมีแสง เราพยายามไปให้ได้ทุกหน้าผา "ผานาน้อย"

เดินกลับแบบพอมีแสงรำไรจากแสงไฟของเพื่อนร่วมทางจากผาหมากดูก มืดคาตา พอได้แสงจันทร์สาดส่องอยู่บ้างเป็นระยะ  เราเร่งฝ้เท้าเดินบ้าง วิ่งบ้าง ถึงที่พักเกือบ 2 ทุ่ม ชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ทานข้าว  นอน  เพื่อเตรียมตัวลงเขาอีก 9 กม.  สวัสดีเช้าวันใหม่ แนะนำตื่นขึ้นรีบอาบน้ำ ล้างหน้า ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย  แล้วเก็บสัมภาระไปจุดตรวจเช็คสำหรับลงทะเบียนกับลูกหาบ เอาอุปกรณ์ที่จำเป็นเท่านั้นไว้กับตัว เสร็จแล้วค่อยไปทานข้าวเช้าก่อนเดินทาง  เพื่อที่เวลาลงถึงที่ทำการอุทยาน  เราจะได้ไม่ต้องรอลูกหาบนานเกินไป  

ขากลับคิวแน่นเหมือนเดิม

ขาลงเราใช้เวลาเดินทางจากหลังแปถึงที่ทำการประมาณ  3  ชั่วโมง 

คลิปการเดินทาง

ภาคจบ

Khundet

 วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 15.01 น.

ความคิดเห็น