มีเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาในการเดินทางไปทุ่งไหนหิน ผมจึงขอใช้เวลาในช่วงเช้าที่ฟ้ายังไม่สางนี้สัมผัสความเป็นไปของวิถีชีวิตชาวโพนสะหวัน ซึ่งแม้จะเป็นเมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง แต่ก็เป็นเมืองที่ไม่ได้มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่เหมือนเช่นเมืองหลวงของแขวงอื่นๆ เพราะเมืองโพนสะหวัน แต่เดิมเป็นเพียงชุมชนเล็กๆมีชื่อว่าเมืองแปก

คำว่า “แปก” นี้หมายถึงต้นสน เพราะเหตุที่มีต้นสนสองใบขึ้นอยู่ทั่วเมือง โดยทางการลาวได้สร้างเมืองนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนเมืองคูน เมืองหลวงเดิมที่พังพินาศจากไฟสงครามจนมิอาจพลิกฟื้นให้กลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ ทุกวันนี้ ระเบิดที่ถูกทิ้งในเมืองคูนและเมืองต่างๆทั่วแขวงเชียงขวางยังถูกเก็บกู้ไม่หมด แต่สำหรับเหล่าซากระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คน ได้ถูกนำมาใช้เป็นตอหม้อบ้าน เสาค้ำยันต่างๆ รวมถึงกระถางต้นไม้และเครื่องประดับตามโรงแรมและร้านค้าทั่วเมืองโพนสะหวัน แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็นหัวรถถัง ที่ถูกแปรสภาพไปเป็นสุ่มไก่!

แม้โพนสะหวันจะเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่เมืองแห่งนี้ก็มีขนาดใหญ่โตมิใช่น้อย เพราะชาวไทพวน ประชากรดั่งเดิมของเมืองคูน ได้ถูกอพยพมาตั้งรกรากใหม่ที่เมืองแห่งนี้

ทุกเช้าในตลาดโพนสะหวันจึงคราคล่ำไปด้วยชาวไทพวนที่ออกมาจับจ่ายทั้งของสดและของแห้งสำหรับนำกลับไปประกอบอาหารที่บ้าน แต่สำหรับอาหารปรุงสำเร็จที่มีขายนับสิบๆร้านคงหนีไม่พ้นเฝอ แม้จะยังไม่เบื่อในรสชาติ แต่มื้อนี้ผมขอเปลี่ยนรสชาติของชีวิตด้วยการลิ้มลองบันกวน ซึ่งมีวิธีการทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่หม้อของที่นี่ปากใหญ่ชะมัด บันกวนหรือข้าวเกรียบปากหม้อของชาวไทพวนจึงมีขนาดใหญ่และแป้งหนานุ่ม สำหรับไส้ประกอบด้วยหมูกับถั่วผสมปนกัน แล้วโรยหน้าด้วยหอมเจียวที่ส่งกลิ่มหอมชวนให้ลิ้มลอง จนผมต้องลิ้มลองไปถึง 3 ชิ้นใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสังเกตมากกว่าความอร่อยคือช้อนที่บรรดาร้านค้าใช้ เนื่องจากมีความหนาและทำจากวัสดุที่แปลกกว่าช้อนทั่วไป เพราะทำมาจากโลหะซึ่งเคยเป็นปีกของเครื่องบินอเมริกาที่ถูกยิงตกในสมัยสงครามอินโดจีน

ผมเดินสวนกลับเหล่านักเรียนที่ต่างเดินหรือไม่ก็ปั่นจักรยานไปยังโรงเรียน ส่วนผมก็กำลังไปเรียนเหมือนกัน หากแต่เป็นการเรียนนอกสถานที่ ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางเท่านั้น

หลังจากเมื่อค่ำวันวานได้ตัดสินใจซื้อทัวร์ไปเที่ยวทุ่งไหหินกับเมืองคูน แทนการจ้างรถสามล้อเครื่อง เนื่องจากคำนวณราคาดูแล้ว การเดินทางคนเดียวโดยการจ้างรถสามล้อเครื่องนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการไปกับทัวร์ ที่แบ่งค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างผู้ร่วมเดินทางคนอื่นถึง 2 เท่าตัว ในเวลานี้ผมจึงกลับมาที่หน้าบริษัททัวร์ตามเวลาที่นัดไว้ และนั่นคงเป็นข้อจำกัดที่ผู้เดินทางคนเดียวจำเป็นต้องยอมรับหากคิดจะควบคุมค่าใช้จ่าย

หลังจากที่รับผมขึ้นรถแล้ว คนขับรถตู้ก็ตระเวนไปรับผู้ร่วมเดินทางทีเหลือตามที่พักต่างๆ การเดินทางของผมในวันนี้จึงได้เพื่อนร่วมทางหน้าใหม่เป็นชาวอังกฤษ ชาวออสเตรเลีย และชาวญี่ปุ่น รวม 8 คน ซึ่งระหว่างการเดินทางนั้น คุณป้าชาวอังกฤษซึ่งน่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี ก็เริ่มนินทาอเมริกาในกรณีสงครามอินโดจีนให้เหล่าผู้ร่วมเดินทางฟัง จึงทำให้ไกด์ชาวลาวถูกแย่งหน้าที่ไปชั่วขณะ

แล้วเราก็เดินทางมาถึงสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศลาว ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องโลก นั่นคือ ทุ่งไหหิน โดยยังไม่มีผู้ใดสามารถไขปริศนาของสาเหตุในการเกิดขึ้นของไหหินเหล่านี้ แม้ปัจจุบันทางการลาวจะเปิดให้เที่ยวชมได้เพียงแค่ 3 ทุ่ง เนื่องจากได้กู้ระเบิดบนเส้นทางเที่ยวชมจนปลอดภัยแล้ว หากแต่ในพื้นที่เชียงขวางนั้นยังมีทุ่งไหหินที่เก็บงำปริศนาแห่งอดีตอีกนับร้อยทุ่ง!

เราเริ่มสัมผัสปริศนาแห่งอดีตกันที่ทุ่งไหหินหมายเลข 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด คำว่าใหญ่นี้ไม่ใช่แค่เฉพาะความกว้างของทุ่งที่มากมายไปด้วยไหหินกระจัดกระจายสุดลูกหูลูกตา หากแต่ยังหมายถึงขนาดของไหหินแต่ละใบ ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์โดยมีความสูงเกือบเท่าตัวคน

ดูจากไหหินที่กระจายเต็มลานกว้างแล้ว นักโบราณคดีส่วนใหญ่ต่างสันนิษฐานกันว่าเกิดจากการสร้างด้วยฝีมือมนุษย์มากกว่าการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเนื่องด้วยลักษณะที่เป็นไหซึ่งภายในกลวง ข้อสันนิษฐานจึงแตกออกเป็นสองเสียง บางก็ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นไหเหล้า ในการฉลองชัยชนะของขุนเจือง นักรบตามตำนานพื้นบ้านของชาวลาว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เห็นทีเหล่านักรบในตำนานคงได้เมากันข้ามเดือนข้ามปี เพราะไหแต่ละใบนั้นมีขนาดใหญ่โต แค่ใบเดียวก็คงกินได้ทั้งหมู่บ้าน นี่แค่ทุ่งไหหินหมายเลข 1 แห่งเดียวก็มีไหหินนับร้อยใบ แล้วเชียงขวางมีทุ่งไหหินเช่นนี้อีกร่วมร้อยทุ่ง เห็นทีคงได้เมากันทั้งประเทศเป็นแน่

ส่วนข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งเชื่อว่า ไหหินเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิและข้าวของเครื่องใช้ของผู้เสียชีวิต ซึ่งดูจะมีความน่าเชื่อถือกว่า เพราะมีการค้นพบเศษกระดูกและเครื่องมือ เครื่องประดับบรรจุอยู่ในไหหินเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงเช่นนี้ ทุ่งไหหินแห่งนี้ก็คือสุสานของบรรพบุรุษชาวเชียงขวาง และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้กลายเป็นสุสานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อลูกระเบิดจำนวนมากถูกทิ้งกระหน่ำลงมาจากท้องฟ้าเบื้องบน

จากทุ่งไหหินแห่งที่ 1 เราไปกันต่อที่ทุ่งไหหินแห่งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองโพนสะหวันไปทางเมืองคูน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่หากเทียบกับแห่งที่ 1 แต่ตัวทุ่งนั้นก็ตั้งอยู่บนเนินสูงที่ปกคลุมไปด้วยต้นสนสองใบ หรือ ต้นแปก ต้นไม้ที่เป็นเหมือนดัชนีแสดงระดับความสูงเกิน 1,000 เมตรของสถานที่นั้น ซึ่งนอกจากการได้สัมผัสไหหินที่มีอายุราว 3,000 ปีแล้ว ยังได้ชื่นชมธรรมชาติอันงดงามของเมืองโพนสะหวันซึ่งเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่โดยมีแนวขุนเขาโอบล้อมอยู่รอบด้าน

เราไปกันต่อที่ทุ่งไหหินแห่งที่ 3 ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ การเข้าชมทุ่งไหหินแห่งนี้ต้องเดินไกลสักหน่อย เนื่องจากต้องผ่านผืนนาของชาวบ้าน แม้จะแอบรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เห็นความเขียวสดของผืนนา เนื่องจากได้ผ่านการเก็บเกี่ยวไปแล้ว แต่ก็ยังดีใจที่ได้เห็นว่าควายในประเทศลาว ยังมีงานทำ มิต้องตกงานเหมือนควายในประเทศไทย

ทุ่งไหหินแห่งที่ 3 นี้มีขนาดเล็กที่สุด โดยมีไหหินอยู่แค่ไม่กี่ใบตั้งรวมกลุ่มกันอยู่ในบริเวณแคบๆที่ถูกกั้นไว้ด้วยรั้วไม้ไผ่ แต่อากาศที่เย็นสบายแม้จะเป็นเวลาใกล้เที่ยง ก็ทำให้บรรดานักท่องโลกที่ต่างมาพบกันเพราะจุดหมายในการเดินทางเหมือนกัน ได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในการเดินทาง ท่ามกลางไหหินที่ในเวลานี้ได้แปรสภาพเป็นเสาหินในการนั่งพิงหลังของแต่ละคน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.30 น.

ความคิดเห็น