จากท่าเรือ เต็งเนา พาเราผ่านคลองสายเล็กออกสู่ทะเลสาบอินเล ทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่ถูกโอบกอดด้วยขุนเขาสูงทะมึน โดยมีแผ่นฟ้าสีครามคลี่ตัวปกคลุม ซึ่งในเวลานี้ฝูงนกนางนวลนับร้อยๆตัวต่างโผบินจับจองพื้นที่กว้างของแผ่นฟ้า

รีสอร์ทหรูบนผิวน้ำหลายหลังค่อยๆเผยโฉมให้เห็น กระตุ้นต่อมความอยากให้ออกอาการ แต่ค่าห้องพักที่สูงลิ่วก็ทำให้อาการนั้นทุเลาลง โดยบอกตัวเองแบบพวกองุ่นเปรี้ยวว่า รีสอร์ทหรูเหล่านั้นเป็นแค่เพียงภาพมายาที่ถูกแต่งเติมขึ้นมาภายหลัง หากแต่ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้านี่สิ คือของจริง ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาเพื่อให้ได้เห็นด้วยสายตาตัวเอง นั่นคือ การเล่นบัลเลย์บนผิวน้ำ หรือการพายเรือด้วยขาของชาวอินทา ชนเผ่าผู้ตั้งรกรากรอบทะเลสาบอินเล ตั้งแต่สมัยที่ชื่ออินเลยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ร้อยกว่าปีก่อน พ่อค้าชาวทวาย 4 คนได้อพยพมาตั้งชุมชนที่ริมทะเลสาบแห่งนี้ โดยตั้งคนละหมู่บ้าน รวมเป็น 4 หมู่บ้าน จึงทำให้ทะเลสาบแห่งนี้ได้ชื่อว่า อินเล อันแปลว่า บึงสี่หมู่บ้าน แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินรอบทะเลสาบ ประกอบกับเวลาที่ผ่านไป จาก 4 หมู่บ้านได้ขยายเป็น 32 หมู่บ้าน และจากที่มีเพียง 4 คนที่รู้จัก ในวันนี้ทะเลสาบอินเล ได้เป็นที่รู้จักของนักเดินทางทั่วทุกมุมโลก ว่าเป็นทะเลสาบงามที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 900 เมตร ในขณะที่ความลึกของน้ำในทะเลสาบนั้นแค่ 2-6 เมตรเท่านั้น

เต็งเนาชะลอความเร็วของเรือ เพื่อให้เราได้ชมวิธีการพายเรืออันแสนพิสดารของชาวอินทา โดยขาข้างหนึ่งยืนอย่างมั่นคงบนหัวเรือ ในขณะที่ขาอีกข้างตวัดไม้พาย โดยใช้มือข้างเดียวกัน เป็นตัวคุมทิศทาง ทำให้ในช่วงเวลาที่มือและขาตวัดไม้พาย จึงเป็นช่วงท่าที่งดงาม ดุจการเล่นบัลเลย์บนผิวน้ำใสสะอาด ที่พลิ้วไหวเป็นละลอกคลื่น ตามจังหวะการพาย

ไม่ใช่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้น ที่สามารถพายเรือด้วยท่วงท่าเช่นนี้ แต่เด็กชาวอินทาก็สามารถพายได้อย่างงดงามไม่แพ้กัน ซึ่งว่ากันว่า เด็กชาวอินทาสามารถว่ายน้ำเป็นก่อนที่จะอ่านหนังสือเป็นเสียอีก เพราะคำว่า อินทา มีความหมายว่า ลูกแห่งทะเลสาบ

จากผืนน้ำอันกว้างใหญ่ เต็งเนาเบนหัวเรือสู่ลำคลอง จากเรือนับสิบๆลำที่ถูกแจวด้วยขา เปลี่ยนเป็นเรือแจวด้วยมือ นับร้อยลำจนเต็มลำคลอง ภายในเรือแต่ละลำเต็มไปด้วยผัก ผลไม้ ดอกไม้และของที่ระลึกนานาชนิด ใช่แล้วเรากำลังเข้าสู่ตลาดน้ำขนาดใหญ่แห่งทะเลสาบอินเล

ยวามา (Ywama) คือชื่อตลาดน้ำแห่งนี้ แม้ดูๆไปแล้วอาจจะไม่ต่างจากตลาดน้ำดำเนินสะดวก ที่กระแสการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่เคยเป็นอยู่ ให้กลายเป็นสิ่งที่ได้เห็น จึงทำให้สินค้าภายในเรือส่วนใหญ่คือของที่ระลึกที่นำมาขายให้นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ของเก่าแบบเก่าจริงๆ และแบบทำให้ดูเก่า แต่หากสังเกตให้ดี จะพบว่า ยังคงมีสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหลายชนิด ที่ชาวบ้านริมทะเลสาบ นำมาซื้อหากันเอง เฉกเช่นชีวิตในอดีตที่ผ่านมา



เหมือนเป็นโปรแกรมที่ถูกกำหนดไว้ สำหรับการนั่งเรือล่องทะเลสาบ นั่นคือการพาไปซื้อของที่ระลึก แต่หากไม่คิดอะไรมาก ก็อาจมองในแง่ดีว่า นี่คือโอกาสได้สัมผัสงานฝีมือของชาวบ้าน โดยเต็งเนาพาเราแวะ 2 แห่ง คือที่ Mya Hintha เป็นบ้านทำเครื่องเงิน และเครื่องทอง เขาสาธิตวิธีการหลอมเงินให้เราดู แม้จะสวยงามเพียงใด แต่ดูแล้วก็อดเป็นห่วงระบบทางเดินหายใจของเหล่าคนงานไม่ได้ เพราะต้องสูดไอโลหะทุกวี่วัน โดยไม่มีอุปกรณ์ใดป้องกัน ของสวยงามนี้จึงแลกมาด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ลงของผู้ผลิต



ดูเหมือนเต็งเนาจะรู้ใจกระเป๋าสตางค์ของเรา ที่ไม่คู่ควรกับสินค้าเงินๆทองๆเท่าใดนัก จึงพาเราไปที่ Khit Sunn Yin โดยเป็นบ้านทอผ้า นอกจากผ้าไหมและผ้าฝ้ายแล้ว ที่นี่ยังมีผ้าที่ทอจากใยบัว โดยแม่เฒ่าจะตัดลำต้นของบัวเป็นท่อนๆ แล้วบรรจงสาวใยบัว โดยไม่ให้ขาด จากนั้นจึงนำมาปั่นหมุนเป็นเส้นด้าย ดูช่างเป็นงานที่ต้องใช้ความอุตสาหะมิใช่น้อย


ผมเดินชมการปั่นด้ายและการทอผ้าจนในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าฝ้ายตัวสวย มาเป็นของฝากชิ้นแรกสำหรับตัวเอง ในราคาเพียงตัวละ 4 เหรียญสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนพี่สาวคนขาย จะไม่ได้ใส่ใจกับกำรี่กำไรมากไปกว่า การอยากให้ผู้มาเยือนได้ซื้อผ้าทอชิ้นงามติดไม้ติดมือกลับไปเป็นที่ระลึก

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 14.45 น.

ความคิดเห็น