ความพลุกพล่านของผู้คน ทั้งที่เพิ่งลงจากรถไฟ และที่กำลังขึ้นรถไฟ นำมาซึ่งความสับสน จนเราเลือกไม่ถูกว่าควรเดินไปทางไหนดีเพื่อพาตัวเองออกจากสถานีรถไฟกรุงย่างกุ้ง

รถแท็กซี่หลายคันต่างเรียกให้เราใช้บริการ แต่เราเลือกเดินไปถามทางจากชาวพม่าที่เดินผ่านมา เพื่อไปยังย่านสุเล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองย่างกุ้ง โดยอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟมากนัก

หลังจากการสอบถาม และเริ่มจับทิศจับทางได้ เราก็เดินขึ้นสะพานที่ทอดข้ามรางรถไฟ ซึ่งจริงๆแล้ว จากชานชลามีทางต่อเชื่อมออกสู่สะพานแห่งนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเดินออกมานอกสถานีเหมือนกับที่เราทำ และด้วยความสูงของสะพานแห่งนี้ ทำให้เรามองเห็นตัวเมืองย่างกุ้งที่กำลังเติบโต ตามทิศทางของโลกธุรกิจ โดยมีอาคารสูงหลายแห่งที่ผุดขึ้นมาอย่างโดดเด่น จนบดบังวัดวาอาราม และเหล่าเจดีย์ที่ยังคงมีอยู่มากมาย และกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของอดีตเมืองหลวงแห่งนี้

สิ่งที่พบเมื่อเข้าสู่ย่านสุเล คือบรรดาอาคารเก่าแก่ยุคล่าอาณานิคม ที่มีมากมายจนเต็มสองฝั่งถนนทั้งสี่สายที่พุ่งตรงสู่สุเลพยา เจดีย์อันเป็นจุดศูนย์กลางของย่านธุรกิจ

เราเดินชมเหล่าอาคารเก่าแก่ ที่มีส่วนผสมอย่างลงตัวของความงาม กับ ความคลาสสิค ไม่ว่าจะเป็น ศาลาว่าการเมืองย่างกุ้ง (City Hall) สถานศึกษา หน่วยงานราชการ ตลอดจนอาคารห้างร้าน ล้วนคงมนต์เสน่ห์ โดยอาคารที่ดูโดดเด่นที่สุดในย่านนี้เห็นจะเป็น อาคารศาลฎีกา (High Court Building) ซึ่งเป็นอาคารสีแดงขนาดใหญ่ สูง 3 ชั้น หลังคาของมุมทั้งสี่ สร้างเป็นรูปโดม ซึ่งสิ่งที่ทำให้อาคารนี้โดดเด่นกว่าอาคารอื่น คือ หอนาฬิกาทรงสูง ซึ่งสร้างเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร โดยในวันนี้มีธงชาติพม่าผืนใหญ่โบกไสว แทนธงชาติอังกฤษเจ้าอาณานิคมเดิม ผู้เคยเข้ามาปกครองและสร้างอาคารเหล่านี้

จากความคลาสสิคของเหล่าอาคาร ที่สร้างตามสไตล์โคโลเนียล เราเปลี่ยนมาจ้องมองเจดีย์สีทองนามว่า สุเลพยา (Sule Pya) ที่อังกฤษเจาะจงเลือกให้เป็นจุดศูนย์กลางเมือง โดยเริ่มสร้างถนนในรูปแบบตารางหมากรุก จากจุดเริ่มต้นที่สุเลพยาแห่งนี้ จึงทำให้สุเลพยานอกจากเป็นเจดีย์สีทองที่งดงามแล้ว ยังเป็นย่านธุรกิจและจุดต่อรถประจำทาง ซึ่งหากเทียบกับเมืองไทยแล้ว สุเลพยาคงไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมากนัก

เราเดินผ่านบรรดาร้านค้าทั้งแบบอาคารพาณิชย์และเหล่าแผงลอยที่ตั้งเรียงรายบนถนนรอบสุเลพยา โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ชาวพม่าเดินจับจ่ายซื้อหากันจนแทบไม่เหลือทางเดินบนฟุตบาท

แล้วในความพลุกพล่านของผู้คน มีชายชาวพม่าหลายคนเดินมาทักทายเราทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยชายเหล่านั้นทักทายด้วยคำพูดที่เหมือนกันว่า “Change money” ซึ่งส่วนใหญ่ให้อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่าทุกเมืองที่เราผ่านมา คือ 1200 จ๊าต ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทำให้รู้สึกเสียดายที่ก่อนออกมาจากพะโคได้แลกเงินมาจากร้านอาหารชาวจีนเสียเยอะ คิดแล้วเราขาดทุนไปคนละหลายพันจ๊าต ครั้นจะแลกเพิ่มก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้หมดหรือเปล่า จึงคิดว่า ไว้เงินจ๊าตหมดค่อยมาแลกเพิ่มดีกว่า แต่เอาเข้าจริงๆ ในวันพรุ่งนี้ที่เงินจ๊าตเกือบหมดกระเป๋า กลับไม่มีใครเดินมาทักทายด้วยคำพูดที่ว่า “Change money” เลยสักคน

เป้บนหลังได้ย้ำเตือนความหนักให้กับแผ่นหลังมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นต้องหาที่พักเพื่อปลดเป้บนหลังลงเสียที ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า กว่าเราจะได้ที่พัก เราต้องแบกเป้เดินไปตามตรอกซอกซอยต่างๆจนเกือบรอบสุเลพยา ซึ่งกินเวลาไปร่วมชั่วโมง จนสุดท้ายจึงได้ที่พักที่การ์เด้นเกสท์เฮ้าส์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมของสุเลพยาพอดี

ราคาห้องคืนละ 10 เหรียญสหรัฐที่เราเสียไปนั้น นอกจากเป็นค่าที่พักแล้ว ตำแหน่งอันเป็นที่ตั้งของเกสท์เฮ้าส์แห่งนี้ ยังให้ของกำนัลแก่ผู้มาพักคือ การได้ชื่นชมความงามของสุเลพยา ในระยะประชิด โดยปราศจากสิ่งใดมาบดบัง เราจึงได้ชื่นชมความงามของสุเลพยา เจดีย์ที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีความงามในทุกช่วงเวลา ทั้งในเวลารุ่งเช้าที่พระอาทิตย์ค่อยๆฉายแสง จวบจนเวลาค่ำ ที่องค์เจดีย์อาบไปด้วยแสงไฟจนเหลืองอร่าม ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดมิด

หลังจากปลดเป้ลงจากแผ่นหลัง เราก็เดินออกจากเกสท์เฮ้าส์ขึ้นสะพานลอย ที่นอกจากจะใช้ข้ามถนนแล้ว สะพานลอยทั้ง 4 แห่งที่สร้างรอบสุเลพยา ยังทำทางเชื่อมต่อเข้าไปยังลานด้านในขององค์เจดีย์ ภายในนั้นมากไปด้วยพระพุทธรูปที่ประดิษฐานโดยรอบ 

เย็นนี้เรามีเวลาเหลือค่อนข้างมาก จึงชวนกันไปเดินชมสวนมหาบานดูรา (Mahabandoola) ซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลฎีกา ภายในสวนมากไปด้วยมวลหมู่ต้นไม้และดอกไม้ที่ปลูกล้อมรอบอนุสาวรีย์แห่งอิสรภาพ (Independence Monument) เราเข้าชมเพียงไม่นาน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ออกมา เนื่องจากเป็นเวลาปิดทำการ ซึ่งถือว่าปิดเร็วมาก เพราะนี้ยังไม่ 6 โมงเย็นเลย สำหรับสาเหตุนั้นอาจเป็นเพราะ ระบบไฟฟ้าในพม่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ภายในสวนสาธารณะจึงปราศจากแสงไฟ ในเช้ามืดวันกลับ ในขณะที่เรานั่งรถแท็กซี่ไปสนามบินมิงกะลาดง เราจึงพบเห็นชาวพม่าจำนวนมากออกมาวิ่งจ๊อกกิ้งกันบนท้องถนน เพราะบนท้องถนนนั้นเป็นสถานที่สาธารณะเพียงแห่งเดียวที่มีแสงไฟ

ด้วยความที่เหมือนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่หัวมุมถนนที่วนรอบสุเลพยาจึงมากมายไปด้วยชาวพม่าที่มายืนรอรถเมล์ และนอกจากผู้คนแล้ว บริเวณนี้ยังมากไปด้วย Roadside Restaurant

อย่าพยายามแปลให้ปวดหัวเลยครับ เพราะผมหมายถึง ร้านอาหารริมถนน ไม่ว่าจะเป็นร้านขายซามูซา พร้อมสารพัดของทอด ร้านจิ้มจุ่ม ที่มีทุกชิ้นส่วนของหมู ตั้งแต่เนื้อหนังยันเครื่องใน ร้านนิ้วคลุก ที่ยังคงใช้มือเปล่าๆที่ปราศจากถุงมือคลุกข้าวในกะละมังอย่างเมามัน แต่ที่เห็นจะมีมากและขายดีที่สุด คือ โมกิงฮา หรือ ขนมจีนพม่า ที่แต่ละร้านล้วนมีลูกค้านั่งกันเต็มร้าน ผมจึงไม่รอช้าที่จะตรงเข้าไปลิ้มลองความอร่อย (ส่วนแท่ง เลือกที่จะนั่งมองผมกิน) โดยผมสั่งแบบพิเศษ จึงมีไข่ต้มมาให้อีก 1 ฟอง อร่อยแบบเบาๆท้อง จึงจ่ายไปแบบเบาๆ แค่เพียง 450 จ๊าตเท่านั้น

อิ่มแล้วจึงชวนแท่งไปที่ตลาดโบโจ๊ค อองซาน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของสุเลพยา เพียงแค่ 2 ช่วงตึก โดยเป็นแหล่งรวมงานฝีมือและของฝาก แต่น่าเสียดายที่ตลาดแห่งนี้เปิดขายเฉพาะตอนกลางวัน ไม่เป็นไร ไว้พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ก็ได้

ดูจากแผนที่แล้ว ไม่ไกลจากตลาดโบโจ๊ค อองซานเป็นย่านไชน่าทาว์น แท่งจึงเริ่มคิดถึงเมนูอาหารจีน กะว่าจะกินให้เต็มอิ่ม เพราะสู้อุตส่าห์เก็บท้องไม่ยอมกินโมกิงฮากับผม แต่ไชน่าทาว์นของกรุงย่างกุ้งนั้นผิดจากที่เราคิดแบบหน้าเป็นหลังมือ เพราะไม่มีร้านอาหารจีนเลยสักร้าน โดยมีเพียงร้านค้าประเภทอาคารพาณิชย์อยู่ไม่กี่ร้าน ซึ่งในเวลานี้ แต่ละร้านพร้อมใจกันปิด บรรยากาศไชน่าทาวน์ในย่างกุ้ง จึงเต็มไปด้วยความเงียบเหงา

พลาดหวังทั้งตลาดโบโจ๊ค อองซาน และไชน่าทาวน์ เราจึงเดินคอตกกลับย่านสุเล ซึ่งผมไม่เท่าไหร่ เพราะกินโมกิงฮารองท้องมาแล้ว แต่แท่งนี่สิ เย็นนี้ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องใหญ่ๆใบนี้เลย เมื่อผ่านร้าน Innwa Cold Drink ซึ่งมีวัยรุ่นนั่งอยู่เต็มร้าน แท่งจึงไม่รอช้าที่จะชวนผมเข้าไปนั่งกินเบเกอรี่และไอศกรีมในร้าน

เบเกอรี่ร้านนี้รสชาติอร่อย แถมราคาถูกมาก อย่างขนมเค้กตกชิ้นละ 300-400 จ๊าตเท่านั้น ส่วนไอศกรีมก็รสชาติใช่ได้ จนแท่งถึงกับเอ่ยปากชม ว่านี่สิถึงเรียกว่าไอศกรีม ไม่ใช่น้ำแข็งบดใส่สีแบบที่พุกาม ซึ่งในเวลานั้นผมไม่รู้เลยว่า นอกจากไอศกรีมรสช็อตโกแลตแล้ว ผมยังกินความประมาทเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งกว่าผมจะรู้ตัว ก็ในเวลาที่ความประมาทนั้นได้แผลงฤทธิ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น

เรายังไม่ยอมให้ค่ำนี้ผ่านไปอย่างง่ายๆ จึงเดินเตร็ดเตร่บริเวณย่านสุเล ซึ่งมีแผงขายเสื้อผ้าตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน ดูแล้วชวนให้นึกถึงย่านนานา ต้นถนนสุขุมวิทยิ่งนัก ที่นี่มีเสื้อผ้าตั้งแต่มือ 1 ไปจนถึงมือ 3 วางจำหน่าย (หรืออาจจะมีถึงมือ 4 มือ 5) โดยมีชาวพม่ามาเลือกซื้อกันอย่างคึกคัก แต่คนที่ดูคึกคักมากกว่าใคร เห็นจะไม่พ้นบรรดาคนขาย ที่สามารถตะโกนเรียกลูกค้าด้วยเสียงอันดัง โดยไม่ต้องพึ่งโทรโข่งให้เปลืองแบตเตอรี่

แล้วเราก็ปิดท้ายค่ำนี้ด้วยการเดินเข้าไปสำรวจสินค้าในซุเปอร์มาเก็ตถึง 2 แห่ง นอกจากน้ำเปล่าที่หิ้วติดมือมาคนละ 2 ขวดแล้ว ผมยังได้นมเปรี้ยวมา 1 กล่อง แต่นมเปรี้ยวที่ผมซื้อมานี้ ไม่ใช่นมเปรี้ยวรสชาติทั่วๆไปแบบที่มีขายในเมืองไทย เพราะมันคือนมเปรี้ยวรสทุเรียน (อ่านถูกแล้วครับ นมเปรี้ยวรสทุเรียนจริงๆ) ผมลองดื่มแค่คำเดียว ก็รู้ในเหตุผลว่าเหตุใด ผู้ผลิตนมเปรี้ยวเมืองไทย จึงไม่คิดผลิตนมเปรี้ยวรสนี้ออกมาวางจำหน่าย

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.56 น.

ความคิดเห็น