คืนนี้ผมประหยัดค่าโรงแรมด้วยการนอนบนรถประจำทางในการเดินทางไปไจซาลเมอร์ (Jaisalmer) เมืองชายแดนที่ประชิดติดกับประเทศปากีสถาน

รถประจำทางของอินเดียนั้นไม่ใช่รถที่ปรับเบาะให้เอียงได้แบบรถทัวร์วีไอพีบ้านเรา แต่เป็นรถที่สามารถนอนได้จริงๆ โดยเขายกเตียงพร้อมที่นอนบางๆไปติดตั้งอยู่เหนือที่นั่ง ดูแล้วน่านอนชะมัด แต่อย่าเพิ่งอิจฉาผมไปหละ เพราะตั๋วแบบเตียงนอนนั้นเต็ม เหลือแต่ตั๋วแบบนั่ง คืนนี้ผมจึงต้องนั่งหลังขดหลังแข็งไปจนเช้า

จากพุชการ์สู่ไจซาลเมอร์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานที่หากหลับสนิทแค่ตื่นเดียวก็ถึง แต่คืนนี้ช่างเป็นคืนที่ทรมานเหลือเกิน เพราะไจซาลเมอร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียนั้นเป็นเขตทะเลทราย ในเวลากลางคืนอากาศจึงหนาวเย็นยิ่งนัก ประกอบกับการไม่อยากแบกสัมภาระระหว่างการเดินทางให้มากนัก ผมจึงมีเสื้อกันหนาวบางๆเพียงตัวเดียว หนาวเข้ากระดูกขนาดนี้ผมจึงต้องรื้อเสื้อทุกตัวในเป้ขึ้นมาสวมใส่เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ก็ไม่พอที่จะต้านความหนาวได้ จึงต้องนั่งตัวสั่นเป็นเจ้าเข้าจนถึงเช้า

ภาพป้อมปราการขนาดมหึมาปรากฏให้เห็น อันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าขณะนี้ได้มาถึงไจซาลเมอร์แล้ว ทันทีที่ก้าวลงจากรถ ผมก็ถูกห้อมล้อมด้วยเหล่านายหน้าเกสท์เฮ้าส์ที่ชักชวนให้ไปพัก ปกติแล้วผมมักจะปฏิเสธแล้วเลือกเดินหาที่พักเอง แต่สภาพร่างกายที่สั่นเป็นเจ้าเข้าเช่นนี้ ทำให้ผมเดินตรงไปขึ้นรถของนายหน้าอย่างว่าง่าย ราคาที่พักเป็นเท่าไหร่ค่อยว่ากัน เพราะตอนนี้ขอรับไออุ่นจากฮีตเตอร์ภายในรถก่อนดีกว่า

ที่พักที่นายหน้าเสนอนั้นแค่เดินทะลุตรอกแคบๆก็ไปโผล่ที่ใจกลางเมืองไจซาลเมอร์แล้ว สะดวกต่อการเดินเที่ยวชมเมืองดี และแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าห้องที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงามในสไตล์แขกอาหรับจะราคาแสนถูกแค่คืนละ 100 รูปีเท่านั้น

แต่ช้าก่อน ของดีไม่มีถูก ของถูกไม่ได้มาง่ายๆ เพราะค่าที่พักที่แสนถูกนี้ต้องแลกมาด้วยการซื้อทัวร์ทะเลทรายที่แพงลิบในราคาถึง 860 รูปี บวกลบคูณหารระหว่างงบประมาณกับความอยากขี่อูฐท่องทะเลทรายแล้ว ผมก็ตกลงใจที่จะซื้อทัวร์ทะเลทรายและพักที่นี่ เจ้าของเกสท์เฮ้าส์จึงสมนาคุณด้วยการเลี้ยงไจ๋ร้อนๆเพื่อให้ผมดับความหนาวสั่นที่ดาดฟ้าของเกสท์เฮ้าส์ จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองไจซาลเมอร์ที่ละเลงสีเหลืองแกมน้ำตาลไปทั้งเมือง เพราะนอกจากป้อมปราการแล้ว เหล่าบ้านเรือนหลังน้อยก็ล้วนสร้างจากอิฐสีเหลืองแกมน้ำตาล อีกทั้งภูเขาสูงใหญ่ที่โอบล้อมก็ล้วนเป็นสีเดียวกัน

ไจซาลเมอร์เป็นเมืองสุดท้ายชายแดนทางภาคตะวันตกของรัฐราชสถาน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตทะเลทรายอันเป็นเส้นทางคาราวานเชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับดินแดนเปอร์เซีย ตัวเมืองไจซาลเมอร์อันเป็นโอเอซีสกลางท้องทะเลทรายที่กว้างใหญ่แห่งนี้ จึงเจริญขึ้นมาจากการเก็บภาษีจากกองคาราวานที่ผ่านเส้นทาง นำพาความมั่งคั่งให้กับมหาราชาแห่งราชวงศ์ราชภุทานา (Rajputana) ทำให้เมืองนี้ถูกตั้งเป็นราชธานีตั้งแต่ปีพ.ศ.1699 ถือว่าเป็นราชธานีที่เก่าแก่ที่สุดกว่าราชธานีใดในแผ่นดินราชสถาน

เพราะเหตุที่เป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศปากีสถาน ทำให้ประชากรมีรูปร่างหน้าตากระเดียดไปทางแขกอาหรับ โดยมีผิวขาวและดวงตาที่คมคาย อย่างเช่นเหล่าเด็กน้อยที่ผมแวะทักทายล้วนมีหน้าตาและผิวพรรณผุดผ่องต่างจากเด็กอินเดียส่วนใหญ่

ตรอกเล็กๆเรียงรายไปด้วยบ้านเรือนที่สร้างด้วยรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์นำพาผมมาที่จัตุรัสคานธี (Gandhi Chowk) นอกจากเหล่าวัวที่เดินอย่างขวักไขว้ ในฐานะพาหนะของเทพเจ้าของชาวฮินดูแล้ว ที่นี่ยังคลาคล่ำไปด้วยร้านค้าและผู้คน

ผมเดินซอกแซกตามตรอกซอกซอยเพื่อชมร้านค้าและวิถีชีวิตของผู้คนไปเรื่อยๆจนเข้าสู่เขตป้อมไจซาลเมอร์ (Jaisalmer Fort) ที่มีกำแพงสูงใหญ่ และหอคอยเพื่อการรบมากถึง 99 หอ

แม้ผมจะเข้ามาในเขตของป้อมปราการแล้ว แต่วิถีชีวิตของผู้คนและร้านรวงก็ยังไม่หายไปไหน เพราะป้อมไจซาลเมอร์นี้มีลักษณะแตกต่างจากป้อมแห่งอื่นๆในราชสถานตรงที่ภายในป้อมปราการไม่ใช่มีแต่พระราชวังของมหาราชา แต่ยังมีวัดและบ้านเรือนของประชาชนตั้งแต่ครั้งแรกสร้างจวบจนปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมากว่า 850 ปี แต่ประชากรราว 1 ใน 4 ก็ยังคงใช้ชีวิตภายในป้อมปราการแห่งนี้ ป้อมไจซาลเมอร์จึงเป็นป้อมปราการที่ยังคงมีชีวิตและสีสันของผู้คน มิใช่ป้อมปราการที่ถูกปรับปรุงเพื่อการท่องเที่ยวจนไร้ซึ่งชีวิต

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.33 น.

ความคิดเห็น