ไม่ไกลจากพระราชวังมีสวนกุหลาบ (Gulab Bagh) สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2393 ภายในมากไปด้วยดอกกุหลาบหลายพันธุ์ที่ต่างแข่งกันเบ่งบาน

ในระหว่างที่ผมกำลังชื่นชมดอกกุหลาบอยู่นั้น ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งก็เดินมาดูดอกกุหลาบใกล้ๆผม พร้อมพูดภาษาอินเดียที่ผมฟังไม่เข้าใจ แต่มีอยู่คำหนึ่งได้ยินชัดเต็ม 2 หู นั้นคือคำว่า “กุหลาบ” จนผมต้องหันไปถามเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ผมได้ยินนั้นคือคำนี้จริงๆ ซึ่งนั่นทำให้ผมได้รู้ว่า คำว่า “กุหลาบ” ที่คนไทยใช้เรียกชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอินเดีย เหมือนเช่นคำอีกมากมายที่เราบอกว่าเป็นคำในภาษาไทย ก็ล้วนเป็นคำที่มาจากภาษาอินเดียแทบทั้งนั้น ซึ่งนั่นรวมถึงตัวอักษรด้วย โดยในช่วงที่เดินทางอยู่ในราชสถาน เคยมีชาวอินเดียเดินเข้ามาดูหนังสือภาษาไทยที่ผมอ่าน ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าคนต่างชาติเช่นผมกำลังอ่านหนังสืออินเดีย แต่เมื่อเห็นหนังสือที่ผมอ่านแบบชัดๆ เขาจึงพูดว่าอักษรภาษาไทยนั้นเหมือนอักษรอินเดียมากๆ นอกจากศาสนาพุทธที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนไทยกับคนอินเดียแล้ว ภาษาจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนสองเชื้อชาติที่ผูกพันกันตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน

นอกจากทะเลสาบพิโคลาแล้ว เมืองอูไดปู้ร์ยังมีทะเลสาบขนาดใหญ่อีกหนึ่งแห่ง คือ ทะเลสาบฟาเทห์ ซาการ์ (Fateh Sagar Lake) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง เมื่อกางแผนที่ขึ้นมาดูผมก็บอกกับตัวเองว่าสองขานี้สามารถพาผมเดินลัดเลาะไปตามบ้านเรือนเพื่อยลทะเลสาบแห่งนี้ได้ไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงๆกว่าผมจะเดินไปถึงจุดศูนย์กลางในการชมทะเลสาบก็ทำให้ผมเกือบถอดใจอยู่หลายครั้ง

ก่อนที่ใจจะถูกถอด ภาพผิวน้ำใสสะอาดที่มีภูเขาสูงใหญ่เป็นฉากหลังก็เผยโฉมให้เห็นแบบเต็มๆ โดยตำแหน่งศูนย์กลางของทะเลสาบนั้นมีเกาะขนาดเล็กที่ถูกปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสวยลอยน้ำ นามว่า สวนเนห์รู (Nehru Park) ซึ่งสวยงามมากจนอยากไปสัมผัสใกล้ๆ แต่ติดอยู่ที่ว่า เรือในการพาไปชมสวนนั้นจะออกก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป ในราคา 300 รูปี แต่ท่าเรือในเวลานี้ช่างเงียบเหงายิ่งนัก ทำให้ผมหมดหวังที่จะหาผู้ใดมาช่วยหารค่าโดยสาร

แม้ไม่มีโอกาสนั่งเรือข้ามผืนน้ำไปเดินเล่นบนสวนลอยน้ำก็ไม่เป็นไร เพราะฟากตรงข้ามของท่าเรือมีอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ นั่นคือสวนอนุสาวรีย์ของมหาราชาประทีป สมารัค (Maharana Pratap Smarak) พระองค์ทรงครองราชย์ตั้งแต่สมัยที่อูไดปู้ร์ยังคงเป็นอาณาจักรมีวาร์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2115 โดยเป็นมหาราชาที่อยู่ในความทรงจำของชาวอูไดปู้ร์ เพราะพระองค์สามารถตั้งทัพขึ้นรับการเข้าโจมตีของมหาราชาอัคบาร์ แห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งถ้ายังจำกันได้ มหาราชาอัคบาร์พระองค์นี้เอง ที่ทรงยกทัพมายึดเมืองแอจเมอร์ หากแต่พระองค์ไม่สามารถยึดอาณาจักรมีวาร์ได้สำเร็จ ชาวเมืองอูได้ปู้ร์จึงสร้างอนุสาวรีย์ของมหาราชาประทีป สมารัค ขึ้นบนเนินเขาโมติ มากริ (Moti Magri) เพื่อระลึกถึงความสำเร็จของพระองค์ในการต้านกองทัพอันยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โมกุล โดยสร้างเป็นรูปปั้นทำด้วยทองแดง ในท่าทรงม้าศึก ณ ตำแหน่งจุดศูนย์กลางของสวนอันกว้างใหญ่

นอกจากอนุสาวรีย์ของมหาราชาประทีป สมารัคแล้ว ภายในสวนแห่งนี้ยังมีอนุสาวรีย์ของมหาราชาอีกหลายพระองค์ พร้อมทั้งมีหอแห่งวีรษุรุษ (Hall of Heros) โดยภายในจัดแสดงอาวุธยุคโบราณและภาพวาดของเหล่ามหาราชาแห่งอาณาจักรมีวาร์ ซึ่งหน้าตาดุดันทุกพระองค์

แต่สำหรับคนต่างถิ่นที่ไม่อยากลึกซึ้งในประวัติศาสตร์มากนัก สามารถเลือกที่จะไปชมทิวทัศน์ ณ ตำแหน่งสูงสุดบนเนินเขาโมติ มากริ เพื่อชมทะเลสาบฟาเทห์ ซาการ์ที่งดงามและกว้างไกลสุดสายตา ในเมื่อความงามปรากฏชัดอยู่เบื้องหน้า โดยที่ไม่ต้องไปดิ้นรนแสวงหาที่ไหน ผมจึงขอปล่อยใจให้เคลิ้มฝันไปกับความงามของทะเลสาบจวบจนแสงสุดท้ายหายลับไปจากขอบฟ้า

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 11.36 น.

ความคิดเห็น